ได้มีโอกาสช่วยงานแปลภาษาอยู่เรื่อยๆ แล้วก็นึกได้ว่า ได้คุยกับลูกซึ่งก็ได้มรดกเรื่องนี้ไปจากเราอยู่เหมือนกัน เพราะพวกเขาก็ได้รับการร้องขอให้ช่วยแปลเช่นกัน จำได้ว่าลูกเล่าวิธีแปลซึ่งไม่เหมือนเรา มาทบทวนดูแล้วก็เห็นว่า แสดงว่าแต่ละคนคงมีวิธีเฉพาะตัวของตัวเองจริงๆ
วันนี้เพิ่งแปลงานเสร็จไปหนึ่งชิ้น จากคำพูดภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ครั้งนี้คิดว่าแปลง่าย เพราะใช้เครื่องช่วยค่ะ คือ เนื่องจากเจ้าของเขาเขียนภาษาไทยมาดีแล้ว ทำให้เราอ่านแล้วก็ชอบสิ่งที่เขาเขียนโดยไม่รู้สึกอึดอัดอยากแก้ไข ซึ่งกับบางชิ้นงาน เราจะรู้สึก ซึ่งจะทำให้แปลยากขึ้น แต่งานนี้มีหลายๆคำที่อ่านแล้วยังคิดไม่ออกเป็นภาษาอังกฤษ ก็เลยใช้วิธีแปะลงไปใน Google translation ก่อนให้แปลเป็นภาษาอังกฤษให้ดู แน่นอนว่ากูเกิลจะแปลคำต่อคำ ไม่เป็นประโยคที่ได้ใจความ แต่ดีตรงที่เราจะได้คำศัพท์ภาษาอังกฤษมาให้เรานึกคำอื่นๆที่ความหมายใกล้เคียงหรือตรงกับเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
แล้วเราก็ต้องมาเขียนเอาเองใหม่โดยใช้คำศัพท์ที่กูเกิ้ลให้มาเป็นส่วนช่วย (แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องหาคำ synonym อื่นอยู่ดี เพราะคำของกูเกิ้ลจะไม่ใช่คำที่น่าใช้จริงๆ) ตรงนี้การที่เราอ่านมาก ช่วยได้ เพราะทำให้เรานึกศัพท์ที่ตรงกว่าได้ง่ายขึ้น หรือหาจาก dictionary ก็จะได้คำที่เราคิดว่าตรงกับความหมายที่ภาษาไทยต้องการสื่อมากที่สุดได้
มาคิดทบทวนดูแล้ว สำหรับตัวเองการแปลอังกฤษเป็นไทยง่ายกว่า เพราะตรงไปตรงมา เราแค่ถ่ายทอดออกมาแล้วปรับให้เข้ากับรูปแบบภาษาเรา แต่การแปลไทยเป็นอังกฤษนั้น ยากเพราะเราจะต้องเข้าใจเนื้อความในภาษาไทยให้ดีก่อนจึงจะสามารถถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษให้ตรงกับความหมายที่แท้จริง อาจจะเนื่องมาจากการที่เราจะเขียนและพูดสิ่งที่เราต้องการออกมาเป็นภาษาอังกฤษโดยตรงเลย ไม่ผ่านการแปล แต่ถ้าแปลก็คือสิ่งที่คนอื่นเขียน แล้วเอามาให้เราแปล ถ้าเราไม่ชอบ ไม่เข้าใจในสำนวนภาษาไทยของคนเขียนแล้ว จะยิ่งทำให้เราปรับเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษได้ยากมากขึ้น
คิดไปคิดมา ก็ชักอยากรู้จังว่า วิชาการแปลภาษาเขามีรูปแบบ หลักการหรือไม่ (น่าจะมี) นี่ถ้าไม่ได้เกิดเป็นคนไทย คงเปลี่ยนอาชีพไปเรียนต่อทางภาษาอย่างมีความสุขเป็นแน่แท้เลยนะคะ คิดถึงอาจารย์ฝรั่งสมัยไปเรียนเมืองนอก ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์มาครึ่งชีวิต แล้วก็เปลี่ยนสายไปเรียนการสอนภาษา และมาเป็นครูสอนพวกเราได้เมื่ออายุอีกไม่กี่ปีก็เกษียณได้อย่างมีความสุขมากๆ
บันทึกความคิดไว้แลกเปลี่ยนค่ะ ใครแปลแบบไหน เทคนิคอะไร เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ
สวัสดีครับ
การแปลเขาก็มีหลักการเยอะเหมือนกันครับ ปัจจุบันเปิดสอนกันเป็นล่ำเป็นสัน ;) การแปลระหว่างภาษาที่มีวัฒนธรรมต่างกัน การแปลเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ก็มีหลักแตกต่างกันไป
ผมเคยใช้กูเกิ้ลแปลไทยเป็นอังกฤษบ้างเหมือนกันครับ แต่ไม่ได้แปลทีละยาวๆ ไม่งั้นจะต้องแก้เหนื่อย และนาน
ใช้เฉพาะบางประโยค เพื่อจะได้คำศัพท์ที่รูปประโยคที่เหมาะๆ
มีที่สอนที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าไปอ่าน เรียนรู้วิธีการ หลักการบ้างไหมคะ อ. อยากรู้ว่าถ้าเราได้รู้วิธีตามหลักการแล้วจะช่วยให้เราแปลง่ายขึ้นหรือเปล่านะคะ อาจารย์
ของเอกชน มีอบรมระยะสั้นอยู่เรื่อยๆนะครับ อย่างที่สนพ นานมี หรือ สนพ อมรินทร์จัด แต่เชิญอาจารย์ที่สอนแปลและนักแปลมาเป็นวิทยากร
บางมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตรสั้นสำหรับคนทั่วไปด้วยครับ
(http://www.arts.chula.ac.th/~tran/main/content.php...
ผมว่าสำหรับพี่โอ๋ หาหนังสือเกี่ยวกับการแปลมาอ่านดูก็น่าจะพอเป็นแนวทางได้ครับ
โดยหลักการก็น่าจะช่วยเรื่องการแปลได้ เพราะจะช่วยชี้มุมมองหลายอย่างให้เราเห็นได้รวดเร็วขึ้นครับ เขาจะมีตัวอย่างการแปลที่ดี ที่ไม่ดี การแปลงานวิชาการควรแปลอย่างไร แปลนิยาย หรือจดหมาย ฯลฯ ข้อควรระวัง การใช้พจนานุกรม รวมทั้งการใช้ภาษาไทย หรือสำนวนในต้นฉบับ อะไรทำนองนี้ครับ
หนังสือก็มีหลายเล่มครับ
สัญฉวี สายบัว. หลักการแปล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536. เล่มนี้ผมอ่านนานแล้ว
http://it.nation.ac.th/doc/sujira/Translation_1_-_...
ดร. สุมน อริยปิติพันธ์. หลักการแปลภาษาอังกฤษ. เอ็ม. ไพโอเนียร์อินเตอร์เทรด, บจก., 2005.
การฟัง พูด อ่าน...พยายามเข้าใจเป็นภาษาอังกฤษ ง่ายกว่าแปลเป็นภาษาไทยก่อน...แต่จะยากในการเขียนนะคะ...
ขอบคุณ อ. มากเลยค่ะ ดาวน์โหลดมาอ่านแล้วคร่าวๆน่าสนุกจริงๆค่ะ ส่วนชิ้นที่สองนี่ เข้าใจได้เลยว่าทำไมการเรียนรูปแบบนี้จึงน่าเบื่อนะคะ ขนาดอ่านเฉยๆก็ยังออกแนวเบื่อเลย นี่ขนาดพี่โอ๋นับตัวเองเป็นหนึ่งในคนช่างอ่าน อ่านได้ทุกอย่าง ก็ยังไม่ชอบตำราแนวนี้เลยนะคะ ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมการเรียนในระบบด้วยตำราแบบนี้จึงน่าเบื่อ คิดไปคิดมา ทำไมเรื่องราวภาษาที่อ. เอามาเขียนสอนไว้ในนี้ จึงไม่ดูน่าเบื่อ อ่านได้เรื่อยๆ ขนาดบางเรื่องก็ยากที่จะเข้าใจในการอ่านรอบเดียว แต่ก็ไม่น่าเบื่อ น่าสนใจศึกษาวิธีการสอนของเราเหมือนกันนะคะ
นับเป็นทักษะที่ต้องมีพื้นฐานทางภาษาดีมากๆ...คือ แปลให้ได้ความหมายที่ถูกต้อง + เรียบเรียงถ้อยคำให้ลื่นไหลน่าอ่าน...เป็นกำลังใจให้ค่ะ
พี่ว่า การแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเป็นงานที่ทำให้ดีได้ยากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาวิจัย พี่เห็นอาจารย์ที่จบดอกเตอร์ทางภาษาอังกฤษจากอเมริกา แปลบทคัดย่องานวิจัย อ่านแล้วสื่อความไม่ครบถ้วน บางทีก็ไม่ตรงกับความหมายในต้นฉบับภาษาไทย เพราะขาดความเข้าใจในงานวิจัยประเภทนั้นๆ และภาษาทางการวิจัยที่ใช้
พี่มีประสบการณ์ช่วยน้องๆ หลายคนที่ทำดอกเตอร์ที่ออสเตรเลียแปลงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ มีน้องคนหนึ่งตอนแรกเธอนำข้อเขียนของตนไปให้น้องอีกคนที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษช่วยแปล เมื่ออ่านแล้วเธอก็ยังไม่ชอบใจบอกว่าเหมือนกับสื่อความไม่ค่อยตรงและเขียนยาวไป ตอนแรกพี่ก็ปฏิเสธเพราะกลัวเป็นการเสียมารยาท แต่เธอบอกไม่เป็นไร พี่ก็บอกว่า ถ้าจะให้พี่แปลจริงๆ พี่ไม่ปรับแก้ไขจากที่แปลไว้แล้วนะ พี่จะแปลใหม่เลย แล้วพี่ก็แปลออกมาได้ความยาว 3 บรรทัดครึ่ง จากเดิมที่แปลได้ 7 บรรทัด หลังจากนั้นไม่นาน น้อง (ผู้ชายคนที่ช่วยแปลคนแรก) เดินเข้าไปหาพี่และยกนิ้วให้ บอกว่า ภาษาเขียนพี่วิไลเยี่ยมจริงๆ ทั้งกระชับและสละสลวย ที่พี่ทำได้เช่นนั้น ก็อาศัยจากการอ่ามากๆ เหมือนน้อง ดร.โอ๋นี่แหละค่ะ คือพี่จะนั่งจมอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่ Perth ตลอดเวลาครั้งละประมาณ 3 เดือนที่เดินทางไป เพื่อศึกษาทั้งเนื้อหาของงานวิจัยและสำนวนภาษาที่ใช้ในงานวิจัยของอังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย ว่า ในความหมายเดียวกันนั้น เขาใช้ประโยคภาษาอังกฤษว่าอย่างไรบ้าง แล้วบันทึกไว้ (บางสำนวนก็มีถึง 5-6 รูปแบบประโยคที่ใช้)
พี่เคย Quoted ข้อความใน พรบ.การศึกษาของไทย ฉบับภาษาอังกฤษ (ที่แปลโดย ดร.ทางภาษาจากอเมริกา และผ่านการตรวจแก้ไขโดย Professor จากอเมริกา) ในเค้าโครงงานวิจัยของพี่ แต่ Supervisor ชาวอังกฤษของพี่บอกว่า ข้อความที่ Quoted ไป ใช้ภาษาขัดเขิน พี่ก็จนด้วยปัญญา แต่เค้าโครงโดยรวม ท่านดีดนิ้วให้และบอกว่า Wilai, you are a great doctoral student and will success very well. แต่เมื่อท่านดูแลพี่ได้แค่ภาคเรียนเดียว เพราะเกษียณ (65 ปี) แล้วมหาวิทยาลัยจัดอาจารย์ที่ไม่เข้าใจทั้งเนื้อหาและรูปแบบงานวิจัยที่พี่ทำ ให้คำแนะนำพี่แบบมะงุมมะงาหราอยู่สองปี พี่ก็เลยตัดสินใจไม่ไปต่อค่ะ
เห็นด้วยครับ โดยเฉพาะยากที่สุดตรงที่เราจะต้องเข้าใจเนื้อหาของบทความให้ดีเสียก่อน จึงจะสามารถถ่ายทอดเป็นอีกภาษาหนึ่งได้ตรงเพื่อสื่อความหมายได้ถูกต้องครับ