จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ศิลปศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอิสลาม


นักศึกษากลุ่มหนึ่งมาพบผม เพราะอยากให้ผมเขียนบทความลงวารสารของชุมนุม ผมเลยเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพื่อให้หลายต่อหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อนๆ ต่างศาสนิก ที่มีข้อสงสัยว่า วิชาการต่างๆ มีสอนในมหาวิทยาลัยอิสลามได้อย่างไร ไม่ขัดแย้งกันหรือ และนี้คือคำตอบสั้นๆ จากผมครับ

            ตั้งแต่สมัยเรียนจนมาถึงสมัยทำงาน ผมต้องตอบคำถามๆ หนึ่งหลายครั้งทีเดียว คำถามที่ว่าคือ คำสอนในศาสนาอิสลามยังใช้ได้กับสภาพสังคมปัจจุบันอีกเหรอ?หรือคำถามในทำนองเดียวกันที่ว่า เคยเจอหรือเปล่าว่าคำสอนของศาสนาอิสลามขัดกับความรู้ที่ปรากฏชัดในสมัยปัจจุบัน? แล้วถ้าเจอว่ามันขัดแย้งกันคุณจะเชื่อใคร? ยิ่งตอนนี้ผมรับอามานะห์ในตำแหน่งบริหารของคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในสถาบันที่ใช้ชื่อว่าเป็น วิทยาลัยอิสลาม และกำลังจะเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยอิสลาม ก็เกิดคำถามใหม่ขึ้นมาว่า ศิลปศาสตร์ไม่ขัดกับหลักการศาสนาหรือ? ไปด้วยกันได้อย่างไร?

            คำถามที่ผมนำเสนอไว้ข้างต้น หลายคนอาจมองว่าเป็นคำถามธรรมดาๆ ไม่เห็นจะยากเลยที่จะตอบ และคำตอบก็แสนจะง่าย คือ หลักคำสอนของอิสลามใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย และไม่มีความรู้ใดที่จะมาขัดแย้งกับหลักคำสอนของอิสลามได้ แต่สำหรับผมในอดีต ผมคิดว่าการตอบคำถามนี้ยาก เพราะถ้าแค่พูดออกไปด้วยคำตอบที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คนที่ได้ฟังก็แค่พยักหน้า แต่เขาอาจจะไม่เชื่อในคำตอบก็ได้ หรือไม่ก็อาจจะมีคำถามอีกมากมายตามมาอีกด้วยความไม่แน่ใจในคำตอบที่เราตอบเขาไป แต่ปัจจุบันนี้คำตอบของคำถามเหล่านี้ไม่ได้ยากสำหรับผมและอีกหลายคนแล้ว เพราะเพียงแค่ชี้ไปที่วิทยาลัยอิสลามยะลา ก็เป็นคำตอบที่เพียงพอแก่คำถามเหล่านั้นแล้ว

            เมื่อครั้งเริ่มแรกที่ผมเข้ามาทำงานที่วิทยาลัยอิสลามยะลา ผมได้รู้ว่า เป้าหมายของที่นี้ คือ สร้างบัณฑิตที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและความรู้ โดยนำเอาคำสอนของศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เดิมทีมีเพียง 2 สาขาวิชา คือ หลักการศาสนาอิสลาม (อูศูลุดดีน) และนิติศาสตร์อิสลาม (ชารีอะห์) แต่ตอนนี้มีทั้งภาษาอาหรับ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคาร ภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือแม้กระทั้งวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากคำถามที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นเป็นข้อสงสัยในใจของคุณเหมือนกัน คุณคงจะต้องสงสัยเพิ่มเติมว่า สาขาวิชาประเภทนี้มาอยู่ร่วมกับอูศูลุดดีนและชารีอะห์ได้อย่างไร            ถ้าเรามองย้อนกลับไปยังสมัยท่านศาสดา (ขอความจำเริญจงมีแด่ท่าน) จะพบว่า ท่านศาสดา(ขอความจำเริญจงมีแด่ท่าน)ไม่ได้สั่งสอนให้บรรดาซอฮาบะห์ของท่านจับเจ่าอยู่แต่ในมัสยิด แต่ท่านกระตุ้นให้ซอฮาบะห์ออกไปทำมาหากินเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวและให้ถือว่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของอีบาดะห์ (การเคารพภักดีต่อพระเจ้า) นอกจากนี้ท่านยังใช้ให้ซอฮาบะห์บางท่านที่มีทักษะทางภาษาให้เรียนรู้ภาษาต่างๆ เพิ่มขึ้น และยังใช้ให้บรรดาเชลยที่มีความรู้ทำการสอนเยาวชนมุสลิมเพื่อเป็นค่าไถ่ตัว (แน่นอนว่าเชลยเหล่านั้นไม่สามารถสอนศาสนาให้กับเยาวชนมุสลิมได้แน่ เพราะเขาเป็นผู้ปฏิเสธศาสนา) ซึ่งนั่นก็ชี้ให้เห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นและศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มุสลิมเรียนรู้ในทุกๆ ความรู้ที่มีประโยชน์ เพียงแต่คำว่าประโยชน์ในที่นี่ไม่ใช่เพียงประโยชน์บนโลกนี้เท่านั้น หากแต่ต้องเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าที่ถาวร

            แต่เดิมความรู้ที่เราถูกสั่งถูกสอนมาล้วนแล้วแต่เป็นการเอาแนวคิดของตะวันตกมาสอน จนทำให้เรารู้สึกว่า ศาสนาก็คือศาสนา โลกก็คือโลกไม่เกี่ยวกัน เรียนศาสนามากๆ ทำให้ล้าสมัยและอดตายในที่สุด ดังนั้นถ้าจะเป็นคนที่ฉลาดอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุขก็ต้องเรียนสายสามัญให้สูงๆ เรียนจนชาวบ้านเรียกว่าเป็นด็อกเตอร์ยิ่งดี แต่ทั้งนี้ต้องแลกกับความรู้เรื่องศาสนาน่ะ เพราะสองอย่างนี้เรียนด้วยกันไม่ได้ คนละแนวทางกัน มีหลายคนที่เชื่อตามแนวคิดนี้และส่งลูกส่งหลานเรียนตามก้นตะวันตก จนกระทั่งลูกหลานได้ดิบได้ดีถ้วนหน้า แต่จะหวังให้ลูกหลานตนเองขอดุอาให้เมื่อตนเสียชีวิตไปก็หวังไม่ได้เสียแล้ว และก็มีอีกหลายคนที่ปฏิเสธแนวทางดังกล่าว จึงไม่ยอมให้ลูกหลานเรียนสายสามัญ ส่งให้เรียนแต่ศาสนา จนบางครั้งทำให้เสียโอกาสดีๆ ในสังคมไป

            ที่นี่ ที่วิทยาลัยอิสลามยะลาแห่งนี้ เป็นเครื่องหมายยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต เป็นศาสนาที่สมบูรณ์ สร้างให้คนทุกคนอยู่บนโลกนี้และโลกหน้าได้อย่างมีสุข เหมือนอย่างที่เราเฝ้าขอดุอาจากอัลลอฮ์ทุกครั้งหลังละหมาด พระเจ้าของฉัน ขอนำมาให้ฉันการอยู่บนโลกนี้อย่างสงบสุข(ฮาสานะห์) และในโลกหน้า (อาคีเราะห์ )ก็ขอให้ฉันมีอยู่อย่างมีความสงบสุขเช่นกันเราพิสูจน์ให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า ความรู้ในอิสลามนั้นเป็นความรู้ที่ถูกต้องเที่ยงแท้เพราะเป็นความรู้ที่พระเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์และทุกสรรพสิ่งเป็นผู้ประทานให้ สามารถที่นำมาเพื่อให้ความเจริญให้เกิดขึ้นแก่มนุษยชาติได้ นอกจากนี้ความรู้ในอิสลามยังพร้อมให้ทุกคนได้สัมผัสและทดสอบถึงสัจจะธรรม และเราเชื่อว่าทุกความรู้ที่แท้จริงจะนำไปสู่การเพิ่มเติมศรัทธาที่มีต่ออัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งผู้ทรงยิ่งใหญ่

            ดังนั้นมิติแห่งการจัดการศึกษาของสถาบันแห่งนี้จึงเป็นมิติของการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ในศาสตร์ทุกสาขา และสร้างความกระจ่างให้กับทุกปรากฏการณ์ด้วยหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม สร้างให้คุณธรรมอยู่คู่กับความรู้ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นศิลปศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่จะต้องมีสำหรับสถาบันอุดมศึกษาอิสลาม เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของหลักคำสอนของศาสนาอิสลามแล้ว ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชาติมุสลิมในการแสวงหาความรู้ที่แท้จริง

หมายเลขบันทึก: 56538เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 อัสสาลามุอะลัยกุม

ผมได้เขียนที่เราคุยกันวันก่อน ให้พิจรณาเข้า planet yic ด้วย 

http://gotoknow.org/blog/tanyongsrong/56660 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท