กฎหมายคนเข้าเมือง ศึกษาเฉพาะกรณีการขับไล่บุคคลออกนอกประเทศ (เนรเทศ): เปรียบเทียบกฎหมายไทย (พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙) และกฎหมายระหว่างประเทศ (ร่างข้อบทว่าด้วยการเนรเทศของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)


กฎหมายคนเข้าเมือง ศึกษาเฉพาะกรณีการขับไล่บุคคลออกนอกประเทศ (เนรเทศ):

เปรียบเทียบกฎหมายไทย (พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙) และกฎหมายระหว่างประเทศ (ร่างข้อบทว่าด้วยการเนรเทศของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๕๕ น.

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๙.๓๙ น.

http://www.gotoknow.org/posts/554469

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/กฎหมายคนเข้าเมือง-ศึกษาเฉพาะกรณีการขับไล่บุคคลออกนอกประเทศ-เนรเทศ-เปรียบเทียบกฎห/770937062931778

----------------------------------------------------------------------

 

--------------------------------------

๑. บทนำ

--------------------------------------

 

          หลังจากที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงกฎหมายคนเข้าเมืองของไทยและของกฎหมายระหว่างประเทศไปบ้างแล้วในบันทึกเรื่อง “ทบทวนเรื่อง “การส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย”[๑]

          ผู้เขียนได้รับคำแนะนำที่น่าสนใจจากอ.แหวว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และพี่หมี ชญา ภัทราชัย ในประเด็นเรื่องกฎหมายการเนรเทศซึ่งประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติการเนรเทศเอาไว้แล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๙๙ แต่ในขณะที่คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ ที่รู้จักกันในนาม International Law Commission ได้มาออกร่างข้อบทว่าด้วยการเนรเทศมาเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งในบทความฉบับนี้จะเปรียบเทียบให้เห็นถึงข้อบทหลักสำคัญๆที่มีบัญญัติไว้ในทั้งสองกฎหมาย รวมถึงการบังคับใช้หากมีความจำเป็นต้องส่งตัวบุคคลออกนอกประเทศ โดยจะชี้ให้เห็นว่า ขั้นตอนและวิธีการในการเนรเทศบุคคลออกนอกประเทศเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ทราบว่า ประเทศนั้นๆทำผิดพันธะกรณีในทางระหว่างประเทศหรือไม่

 

--------------------------------------

๒. สาเหตุให้เนรเทศ

--------------------------------------

 

๒.๑ ตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙

          “มาตรา ๕ เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้

          ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

          พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดในเรื่องของ “ความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อย” เช่นเดียวกันกับนพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ (ผู้เขียนเคยแสดงความเห็นเอาไว้ในบันทึกเรื่อง “ทบทวนเรื่อง “การส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย” “แล้ว) แสดงว่า ในประเด็นเรื่องการส่งคนต่างด้าวออกไปนอกประเทศ สามารถทำได้หากเป็นไปเพื่อความจำเป็นที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเท่านั้น อีกทั้งยังได้มีการบัญญัติรับรองไว้ด้วยว่า หากเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดจะห้ามเนรเทศตามความในมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙ แม้ว่าจะมีเหตุจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยก็ตาม ซึ่งหลักการเดียวกันนี้ก็ได้มีการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓๔ วรรค ๒ ว่า “การเนรเทศบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือ ห้ามมิให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้” จึงแสดงให้เห็นว่า กฎหมายไทยห้ามการเนรเทศบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดออกนอกประเทศ

 

๒.๒ ตามร่างข้อบทว่าด้วยการเนรเทศของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

          สำหรับร่างข้อบทว่าด้วยการเนรเทศของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ประกอบไปด้วยมาตราทั้งหมด ๓๐ มาตรา ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับการเนรเทศทั้งหมด โดยผู้เขียนขอหยิบยกในบางประเด็นสำคัญๆที่น่าสนใจมาพิจารณาดังนี้

          ตามร่างมาตรา ๓ ของร่างข้อบทฯดังกล่าว บัญญัติว่า

          “A State has the right to expel an alien from its territory. Expulsion shall be in accordance with the present draft articles and other applicable rules of international law, in particular those relating to human rights.”

          ซึ่งสรุปความได้ว่า รัฐมีสิทธิที่จะเนรเทศบุคคลต่างด้าวออกจากดินแดนของตน ซึ่งต้องมีการปฏิบัติตามร่างข้อบทฯฉบับนี้และกฎเกณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องในทางระหว่างประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สังเกตเห็นได้ว่า ร่างข้อบทของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศก็บัญญัติถึงการเนรเทศคนต่างด้าวออกนอกประเทศเช่นเดียวกันเท่านั้น หาได้บัญญัติรับรองถึงการขับไล่บุคคลสัญชาติของรัฐนั้น ซึ่งถือว่าสอดรับกันกับพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙ ของไทย

          นอกจากนั้น ตามมาตรา ๔ วรรค ๒ ของร่างข้อบทฯ บัญญัติว่า

          “A State may only expel an alien on grounds that are provided for by law, including, in particular, a public order and public security.”

          เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเนรเทศของรัฐที่จะเนรเทศคนต่างด้าวได้เฉพาะในกรณีที่มีสาเหตุมาจากกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย (public order) และความมั่นคงของสาธารณะ (public security) ในส่วนนี้เป็นหลักการเดียวกันกับมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙ เช่นเดียวกัน

 

--------------------------------------

๓. วิธีการเนรเทศ

--------------------------------------

 

๓.๑ ตามพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙

          ในเรื่องการเนรเทศนั้น ก็ไม่ใช่ว่า จะสามารถขับไล่หรือส่งตัวคนต่างด้าวออกไปนอกประเทศได้โดยง่ายเพียงเพราะเขาทำความผิดเท่านั้น แต่มีกระบวนการหลายขั้นตอนพอสมควรในการส่งบุคคลดังกล่าวออกนอกประเทศ อันได้แก่ การจับกุมและควบคุมตัวผู้นั้นไว้ในที่ใดที่หนึ่งจนกว่าจะมีการจัดการให้เนรเทศ ตามมาตรา ๖ มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการห้ามเนรเทศก่อนครบกำหนด ๑๕ วันนับแต่วันแจ้งคำสั่งเนรเทศให้ผู้ซึ่งถูกเนรเทศผู้นั้นทราบตามมาตรา ๗ มีประเด็นเรื่องสิทธิในการอุทธรณ์ของคนต่างด้าวดังกล่าวตามมาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติดังกล่าว

          "มาตรา ๖ เมื่อได้ออกคำสั่งให้เนรเทศผู้ใดแล้ว ให้รัฐมนตรีหรือเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายสั่งให้จับกุมและควบคุมผู้นั้นไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งจนกว่าจะได้จัดการให้เป็นไปตามคำสั่งเนรเทศ

          ในขณะที่ดำเนินการขอรับคำสั่งรัฐมนตรีเพื่อเนรเทศผู้ใด พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะจับกุมและควบคุมผู้นั้นไว้ก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการจับกุมและควบคุมมาใช้บังคับโดยอนุโลม 

          ในระหว่างที่ผู้ถูกสั่งเนรเทศถูกควบคุมเพื่อรอการเนรเทศเนื่องจากยังไม่สามารถส่งตัวผู้ถูกสั่งเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรได้ หากผู้ถูกสั่งเนรเทศนั้นร้องขอ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งผ่อนผันให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการควบคุมเพื่อรอการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ ทั้งนี้ โดยให้ผู้ถูกสั่งเนรเทศนั้นมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันหรือทำทัณฑ์บนไว้ และให้บุคคลดังกล่าวมารายงานตน ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ระยะเวลาที่กำหนดให้รายงานตนต้องไม่ห่างกันเกินหกเดือนต่อครั้ง 

          มาตรา ๗ ห้ามมิให้ส่งตัวผู้ถูกสั่งเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรก่อนครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันแจ้งคำสั่งเนรเทศให้ผู้ซึ่งถูกสั่งเนรเทศนั้นทราบ 

          ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ตามความในมาตรา ๘ ให้รอการเนรเทศไว้จนกว่านายกรัฐมนตรีจะได้มีคำสั่ง 

          มาตรา ๘ ผู้ถูกสั่งเนรเทศมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้เพิกถอนคำสั่งเนรเทศ หรือขอมิให้ส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งเนรเทศ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งเนรเทศ สั่งผ่อนผันโดยประการอื่นใดหรือสั่งให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ทั้งนี้โดยจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ก็ได้”

          สังเกตได้ว่าขั้นตอนในการที่จะเนรเทศบุคคลใดบุคคลหนึ่งออกนอกประเทศได้นั้น ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากต้องพิจารณาขั้นตอนต่างๆตามกฎหมายไทย ซึ่งมีทั้งขั้นตอนในการสอบสวน ตลอดจนสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งในการเนรเทศด้วย ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงกฎหมายอื่นๆประกอบกันอีกด้วย เช่น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศอีกจำนวนมาก

 

๓.๒ ตามร่างข้อบทว่าด้วยการเนรเทศของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

          สำหรับวิธีการเนรเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศดังที่บัญญัติไว้ในร่างข้อบทฯ นั้น มีรายละเอียดค่อนข้างมากและจำกัดกว่ากฎหมายไทยค่อนข้างเยอะมาก เป็นต้นว่า ต้องยึดหลักความสุจริตและเหตุผลที่เหมาะสม ดูความสำคัญของข้อเท็จจริงและสถานการณ์ต่างๆประกอบ รวมถึงการให้คนต่างด้าวได้ทราบถึงสิทธิของตนและตั้งคำถามซึ่งเกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ทำให้เขาอาจถูกเนรเทศได้ ซึ่งก็คล้ายๆกฎหมายของไทย เพียงแต่กฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติเอาไว้เป็นหลักกว้างๆ ตามมาตรา ๔ วรรค ๔ ของร่างข้อบทฯ

          “The ground for expulsion shall be assessed in good faith and reasonably, taking into account the gravity of the facts, in the light of all of the circumstances, including the conduct of the alien in question and, where relevant, the contemporary nature of the threat to which the facts give rise.”

          นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดเพิ่มเติมซึ่งในกฎหมายไทยไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ เป็นต้นว่า การห้ามเนรเทศผู้ลี้ภัย (ตามมาตรา ๕ ของร่างข้อบทฯ) การห้ามเนรเทศคนไร้รัฐ (ตามมาตรา ๖ ของร่างข้อบทฯ) การห้ามเนรเทศบุคคลเป็นกลุ่ม (ตามมาตรา ๘ ของร่างข้อบทฯ) การห้ามเนรเทศโดยใช้กำลัง (ตามมาตรา ๙ ของร่างข้อบทฯ) การเนรเทศเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ตามมาตรา ๑๐ ของร่างข้อบทฯ) เป็นต้น รวมไปถึงสิทธิบางประการของการเนรเทศคนต่างด้าวที่ได้รับการป้องกันซึ่งอยู่ในหมวดที่ ๓ ของร่างข้อบทฯ โดยเน้นไปในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และการคุ้มกันของรัฐที่จะเป็นผู้รับบุคคลเนรเทศด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนจะกล่าวในส่วนต่อไป

          อีกทั้ง ในแง่ของกระบวนการส่งตัวบุคคลออกไปนอกประเทศนั้น ร่างข้อบทฯยังได้กำหนดกฎเกณฑ์หยิบย่อยอีกเป็นจำนวนมากในหมวด ๔ ของร่างข้อบทฯ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิได้รับทราบข้อเท็จจริง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลของคำตัดสินการเนรเทศ สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งเนรเทศ การได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ สิทธิในการได้รับการแปล(ล่าม) สิทธิในการได้ขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษากงสุล และอื่นๆอีกนานัปการ รวมไปถึงการได้รับป้องกันในทรัพย์สินของผู้ที่จะถูกเนรเทศ เป็นต้น

 

--------------------------------------

๔. พิจารณาในกรอบของการทูตและการกงสุล

--------------------------------------

 

๔.๑ ความทั่วไป

          ประเด็นเรื่องการเนรเทศบุคคลออกนอกประเทศเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องทั้งกับอำนาจอธิปไตยของรัฐและความสัมพันธ์ทางการทูตและการกงสุลในทางระหว่างประเทศด้วย ดังนั้นต้องทำให้แน่ชัดว่า บุคคลใดๆทำความผิดหรือปฏิบัติฝ่าฝืนพันธะกรณีในทางระหว่างประเทศจริงๆ มิฉะนั้นอาจมีปัญหาในระดับระหว่างรัฐตามมาในภายหลัง

 

๔.๒ การฝ่าฝืนพันธะกรณีตามกฎหมายไทยและระหว่างประเทศ

          คงเกิดคำถามขึ้นตามมาว่า เมื่อมีพันธะกรณีในทางระหว่างประเทศเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ในเรื่องของร่างข้อบทว่าด้วยการเนรเทศของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแล้วนั้น ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ คำตอบดังกล่าว อาจพูดได้ค่อนข้างลำบากพอสมควรว่าประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามร่างข้อกฎหมายของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ในเบื้องต้น ประเทศไทยควรจะยึดเป็นแนวทางในทางปฏิบัติในการพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งเป็นกฎหมายของไทยเอง เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งในปัจจุบันปีพ.ศ.๒๕๕๗ ผ่านมาแล้วถึง ๕๘ ปี กระบวนการวิธีขั้นตอนต่างๆ ย่อมมีกระบวนการเพิ่มที่มากขึ้นเป็นธรรมดา เพื่อสอดรับกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้ง ร่างข้อบทฯมีเนื้อหาส่วนใหญ่ที่คล้ายกับพระราชบัญญัติการเนรเทศของไทย จึงไม่น่าจะปฏิบัติตามได้อย่างยากนัก

          แต่อย่างไรก็ตาม ร่างข้อบทมีกฎเกณฑ์จำนวนมากที่มีลักษณะเป็นไปในทางระหว่างประเทศเพื่อคงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน หลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิต่อบุคคลซึ่งหากประเทศใดทำผิดในพันธะกรณีย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาในภายหลังไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงโทษทางสังคม (social sanction) มาตรการด้านต่างๆในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่อาจตามมา เป็นต้น

 

๔.๓ ตัวอย่างกรณีศึกษา: การส่งตัวชาวปาเลสไตน์ออกนอกประเทศ (จากบันทึก “ขอพื้นที่เล็กๆเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองกับคนต่างชาติรายหนึ่ง[2]

          ที่ยกในประเด็นนี้มา เนื่องจากผู้เขียนเคยมีโอกาสได้ลงมือสัมผัสงานที่เกี่ยวข้องกับการกักตัวชาวปาเลสไตน์ในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย และพบข้อกฎหมายบางส่วนที่อยู่ในร่างข้อบทฯและน่าสนใจ (สามารถอ่านข้อเท็จจริง ได้ตามลิ้งข้างบน) ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรง ๓ เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

          (๑) ประเด็นเรื่องการกักตัวของผู้ที่จะเนรเทศ

          ตามมาตรา ๑๖ ของร่างข้อบทฯ นั้น บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการของการกักตัว อันสรุปคร่าวๆได้ว่า

          ๑) สามารถกักตัวได้แต่ต้องไม่ใช่เป็นการกักตัวเพื่อการลงโทษและต้องแยกต่างหากจากผู้ที่กระทำความผิดอื่นๆ

          ๒) ระยะเวลาของการกักตัวต้องมีอย่างจำกัด ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความจำเป็นเพื่อพิจารณาในเรื่องของการเนรเทศ หากจะขยายเวลากักตัวต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ศาลหรือผู้มีอำนาจทางตุลาการ

          ๓) การกักตัวต้องกระทำด้วยความระมัดระวังภายใต้กฎหมาย

          ซึ่งตามข้อเท็จจริง เมื่อประมาณ ๒ อาทิตย์ที่แล้ว การกักตัวชาวปาเลสไตน์ที่เข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินกำหนด ก็จะต้องมีการพิจารณาในประเด็นที่กล่าวไว้ข้างต้นอย่างรอบคอบด้วย เพื่อไม่ให้ประเทศไทยทำผิดพันธะกรณีในทางระหว่างประเทศ

 

          (๒) สิทธิพื้นฐานของผู้ที่จะถูกเนรเทศ

          ตามมาตรา ๒๔ ของร่างข้อบทฯ ผู้ที่จะถูกเนรเทศออกไปนอกประเทศก็ต้องได้รับสิทธิต่างๆอันจะสรุปได้ดังนี้

          ๑) สิทธิในการได้รับการแจ้งคำสั่งให้เนรเทศ

          ๒) สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งให้เนรเทศ

          ๓) สิทธิในการรับฟังโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ

          ๔) สิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาเมื่ออุทธรณ์คำสั่งเนรเทศ

          ๕) สิทธิในการยืนยันตัวตนก่อนเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ

          ๖) สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากล่ามในกรณีที่ไม่เข้าใจภาษาที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจใช้

          ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง แม้ชาวปาเลสไตน์ที่เข้าเมืองและอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ก็ต้องได้รับการรับรองว่าจะได้รับสิทธิต่างๆดังกล่าวข้างต้นนี้ เมื่อชาวปาเลสไตน์ได้หาผู้ประสานงานและสอบถามมายังผู้เขียนแล้ว แสดงว่า ชาวปาเลสไตน์ผู้นี้ก็น่าจะได้รับกรปฏิบัติที่ถูกต้องตามพันธะกรณีในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศแล้ว

          (๓) ประเด็นเรื่องรัฐผู้รับตัว

          เมื่อคนต่างด้าวคนใดเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐที่จะอยู่ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกส่งตัวออกไปนอกประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการส่งตัวบุคคลออกไปนอกประเทศก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยรัฐผู้รับด้วย ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในหมวด ๓ ข้อ C ของร่างข้อบทฯ ซึ่งประกอบไปด้วยการส่งไปยังรัฐผู้รับต้องกระทำด้วยวิธีการที่เหมาะสม (มาตรา ๑๘ ของร่างข้อบทฯ) รัฐผู้รับต้องเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติผู้นั้นหรือรัฐใดๆที่มีภาระต้องรับตัวผู้นั้นตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือรัฐที่มีความประสงค์จะรับผู้นั้น (มาตรา ๑๙ ของร่างข้อบทฯ) รัฐผู้รับต้องไม่ใช่รัฐที่อาจจะทำให้ผู้นั้นตกอยู่ในอันตราย (มาตรา ๒๐ ของร่างข้อบทฯ) และรัฐผู้รับต้องไม่ใช่รัฐที่จะทำให้ผู้นั้นถูกทรมาน (มาตรา ๒๑ ของร่างข้อบทฯ)

          ในประเด็นที่ ๓ นี้ ผู้เขียนขอหยิบยกเฉพาะมาตรา ๒๑ มาวินิจฉัยเนื่องจากเป็นสาเหตุหลักที่ตัวแทนของชาวปาเลสไตน์มาปรึกษาผู้เขียน เนื่องจาก เขากลัวว่า ถ้าต้องถูกส่งตัวไปซีเรีย เนื่องจากเขาถือหนังสือเดินทางของซีเรียก็อาจทำให้เขาถูกทรมาน เพราะเขาเป็นชาวปาเลสไตน์

          “Article21 A State shall not expel a person to a State where there are substantial grounds for believing that he or she would be in danger of being subjected to torture or to cruel, inhuman or degrading treatment or punishment.”

          เมื่อพิจารณาจากมาตรานี้แล้ว เห็นได้ชัดว่า หากประเทศไทยจะส่งตัวชาวปาเลสไตน์ไปยังประเทศซีเรียเพื่อให้เขาอาจถูกทรมานนั้นทำไม่ได้ ย่อมขัดต่อพันธะกรณีในทางระหว่างประเทศแน่นอน อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Convention Against Torture) แล้วด้วย ไทยจึงไม่มีทางที่จะส่งตัวบุคคลดังกล่าวไปยังประเทศซีเรียเพื่อให้ถูกทรมานแน่นอน มิฉะนั้น ประเทศไทยอาจถูกตราหน้าว่าทำผิดพันธะกรณีในทางระหว่างประเทศ

 

--------------------------------------

๕. สรุป

--------------------------------------

 

          การที่จะพิจารณาเนรเทศบุคคลใดออกนอกประเทศนั้น ไม่ได้มีขั้นตอนง่ายอย่างที่คิด แต่ต้องผ่านกระบวนการต่างๆมากมายทั้งที่เป็นกระบวนการทางการสอบสวน การให้สิทธิต่างๆที่บุคคลนั้นพึงจะได้ อีกทั้งแม้จะผ่านเกณฑ์ต่างๆให้ส่งตัวบุคคลดังกล่าวออกไปนอกประเทศได้แล้วนั้น การส่งไปยังประเทศผู้รับก็ต้องมีการพิจารณาอีกด้วยซึ่งมีขั้นตอนและข้อจำกัดอีกมากมาย

 

          ผู้ที่สนใจสามารถอ่านร่างข้อทบทว่าด้วยการเนรเทศของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ได้จากลิ้งนี้

http://www.commonlaw.uottawa.ca/index.php?option=com_docman&task=doc_download&gid=5886

 

[๑] ธนภัทร ชาตินักรบ, ทบทวนเรื่อง “การส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย”, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖, จาก http://www.gotoknow.org/posts/553265.

[๒] ธนภัทร ชาตินักรบ, ขอพื้นที่เล็กๆเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองกับคนต่างชาติรายหนึ่ง, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖, จากhttp://www.gotoknow.org/posts/552790.

หมายเลขบันทึก: 554469เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2013 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2014 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สุดยอดสมเป้นลูกศิษย์อาจารย์แหว๋ว มาเขียนบ่อยๆนะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท