กรณีศึกษาน้องแอ้สะโม่เคร : ดอกไม้น้อยของอาเซียน


เด็กชายจิตภานุ ฐานะรุ่งอุดม หรือ แอ้สะโม่เคร เด็กชายสัญชาติไทย เลขประจำตัวประชาชน 1-6388-xxxx-xx-x เกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2556 ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง จากแม่ชาวกะเหรี่ยงบ้านก้อเชอ กับพ่อชาวกะเหรี่ยงสัญชาติไทย

                แม่ของแอ้สะโม่เคร คือ นางมะส่าเมี๊ยะ เล่าว่า เธอเข้าไปทำงานเป็นแม่บ้านเลี้ยงเด็ก อยู่แถวพัฒนาการ สุขุมวิท ตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยมีบัตรประจำตัวแรงงานและพาสปอร์ต ได้พบกับ นายวิเชียร ฐานะรุ่งอุดม พ่อของแอ้สะโม่เคร วิเชียรเป็นคนบ้านแม่สองน้อย ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ลงไปกรุงเทพฯ และประกอบอาชีพขายแอปเปิ้ล สาลี่อยู่แถวเยาวราชเมื่อ 4-5 ปีก่อน

                ทั้งสองตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน และย้ายกลับมาทำไร่ข้าวโพดและถั่วลิสงในที่ดินของพ่อของมะส่าเมี๊ยะที่หมู่บ้านก้อเชอ รัฐกะเหรี่ยงฝั่งพม่า ซึ่งติดชายแดนบ้านตะเปอพู ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

                มะส่าเมี๊ยะ ฝากท้องและคลอดที่โรงพยาบาลอุ้มผาง หลังจากได้รับหนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล นายวิเชียรได้ทำการแจ้งเกิดให้กับแอ้สะโม่เครที่สำนักทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผาง ซึ่งเป็นท้องที่ที่โรงพยาบาลอุ้มผางตั้งอยู่ แอ้สะโม่เครจึงเป็นบุคคลสัญชาติไทย แจ้งเกิดในกำหนด

                ภายหลังจากการคลอด พ่อและแม่ของแอ้สะโม่เคร ได้นำบุตรชายข้ามไปเลี้ยงที่บ้านก้อเชอ ทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบงานขึ้นทะเบียนบัตรสุขภาพ ไม่ทราบว่าเด็กแจ้งเกิดและมีสูติบัตรจึงไม่ได้ขึ้นทะเบียนบัตรทอง กระทั่งผู้เขียนซึ่งดูแลงานจำหน่ายทางเวชสถิติ พบว่าแอ้สะโม่เครยังไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพ จึงประสานให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนให้

                กรณีของแอ้สะโม่เคร สะท้อนภาพความเป็นพลเมืองอาเซียน ที่มิใช่เพียงภาพของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงสังคมที่ลึกซึ้ง ทั้งการก่อตั้งครอบครัว สิทธิในสุขภาพ การข้ามไปมาพ่อในฐานะคนไทยที่ทำมาหากินอยู่พม่า และแม่ที่เข้ารับการรักษาที่ฝั่งไทย รวมถึงสิทธิทางการศึกษาในอนาคตอันไม่ไกลของแอ้สะโม่เคร สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องเกิดขึ้น แล้วเราจะเตรียมการรับมือได้อย่างไร

 

บันทึกโดย จันทราภา นนทวาสี จินดาทอง เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2556 เพื่อโครงการศึกษาวิจัยและให้ความ ช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัด ชายแดนในประเทศไทย (มิถุนายน ๒๕๕๕ – พฤษภาคม ๒๕๕๙)

หมายเลขบันทึก: 554464เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2013 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2023 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หายไปนานเลยครับ

ขอบคุณที่ช่วยเหลือแจ้งข่าวดีๆ

ทุกครั้งที่อ่าน

คิดถึงพี่หนานเกียรติ ครับ

อ.แหววขอ ๒ เรื่อง

ในประการแรก ขอให้แมวใช้ชื่อบันทึกว่า "กรณีศึกษาน้องแอสะโม่เคร : ดอกไม้น้อยของอาเซียน" เหตุผลก็เพราะตอนทำบรรณานุกรม จะได้เห็นชัดว่า บันทึกนี้เป็นเรื่องของน้องคนไหน

ในประการที่สอง ขอให้แมวระบุวันเขียนงานเพราะในระบบโกทูโนจะไม่มีการระบุวันที่ชัดเจนค่ะ

ขอบคุณค่ะ

การอ้างอิงจะเป็นอย่างนี้นะคะ

"กรณีศึกษาน้องแอสะโม่เคร : ดอกไม้น้อยของอาเซียน

โดย นางจันทราภา นนทวาสี จินดาทอง

บันทึกภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย-พม่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖

http://www.gotoknow.org/posts/554464"

อ.แหวว หรือ อ.อ้อม หรือ อ.โด่ง คนใดคนหนึ่งจะสรุปสถานะทางกฎหมายของน้องแอสะโม่เครนะคะ

และหากมีเอกสารต่างๆ ของน้องและครอบครัวมาประกอบ อาทิ (๑) ทะเบียนบ้านของน้อง (๒) บัตรทองของน้อง (๓) บัตรโรงพยาบาลของน้อง (๓) เอกสารของพ่อ (๔) เอกสารของแม่

บันทึกของฝ่ายกฎหมายก็จะสร้าง "บทเรียน" สำหรับ "คนสัญชาติไทยในพม่า" ไงคะ

แมวคะ รู้ตัวไหม กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ อ.โด่งจะสร้างหลักสูตรห้องเรียนเพื่อคนสัญชาติไทยในพม่าที่แมวอยากได้ แมวตระหนักไหมเนี่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท