ขอพื้นที่เล็กๆเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองกับคนต่างชาติรายหนึ่ง


ขอพื้นที่เล็กๆเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองกับคนต่างชาติรายหนึ่ง

บทความฉบับแรกที่ผู้เขียนเขียนขึ้นจากการให้ความช่วยเหลือด้านการใช้ข้อมูลกับชาวอเมริกันผู้เป็นทนายของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกักตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๖ น.

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๑.๑๙ น.

 

http://www.gotoknow.org/posts/552790

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/ขอพื้นที่เล็กๆเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเ/759062087452609

----------------------------------------------------------------------

 

--------------------------------------

๑. บทนำ

--------------------------------------

 

          ผู้เขียนเป็นมือใหม่ด้านการเขียนบทความ แต่อย่างไรก็ตามอยากจะเล่าประสบการณ์จากการที่ตนเองได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและช่วยเหลือด้านการให้ข้อมูลกับชาวอเมริกันคนหนึ่งในประเด็นเรื่องกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างหนักพอสมควรกับผู้เขียนเนื่องจากที่ผ่านมา ศึกษากฎหมายคนเข้าเมืองในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังไม่เคยปฏิบัติจริง หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยและพร้อมน้อมรับทุกความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

 

--------------------------------------

๒. ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่ชาวอเมริกันเล่าให้ฟัง

--------------------------------------

 

          มีชาวอเมริกันท่านหนึ่งติดต่อผู้เขียนมาว่าต้องการความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เนื่องจากคนที่เขารู้จัก เป็นชายชาวปาเลสไตน์ถูกกักตัวอยู่ในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วยเหตุที่ทำผิดพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ของไทย ชาวปาเลสไตน์คนนี้เขาได้รับวีซ่าประเภทท่องเที่ยวเป็นเวลา ๖ เดือนในประเทศไทย ซึ่งโดยหลักเขาเข้าใจว่า เขาจำเป็นต้องออกนอกประเทศทุก ๒ เดือนและทำเรื่องกลับเข้ามาใหม่ ซึ่งหลัง ๒ เดือนแรก เขาได้ออกนอกประเทศและกลับเข้ามาใหม่ แต่ในเดือนที่ ๔ คือ ครั้งที่ ๒ เขาไม่ได้ออกนอกประเทศและทำเรื่องขอกลับเข้ามาใหม่ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่จากสำนักตรวจคนเข้าเมืองเข้ากักตัวไว้และเตรียมที่จะส่งชายชาวปาเลสไตน์ผู้นี้ออกนอกประเทศไปยังประเทศซีเรีย (เนื่องจากเขาถือเอกสารการเดินทางจากประเทศซีเรีย)

          แต่ปัญหามีว่า หากเขาถูกส่งตัวไปที่ประเทศซีเรีย เขาจะถูกทรมานเนื่องจากเขาไม่ได้เกณฑ์ทหารในประเทศซีเรีย ดังนั้น ชาวอเมริกันที่รู้จักชาวปาเลสไตน์คนนี้จึงมาขอความช่วยเหลือจากผู้เขียนว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง

 

--------------------------------------

๓. หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามที่ผู้เขียนเข้าใจ

--------------------------------------

 

          การเข้าเมืองเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐและดุลพินิจของรัฐเจ้าของดินแดน ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ได้บังคับให้รัฐต้องรับหรืออนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในรัฐตน รัฐจึงมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในรัฐก็ได้ โดยอาจตรากฎหมายควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าว ซึ่งในประเทศไทย สำหรับกรณีนี้ก็ว่ากันด้วยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งในกรณีนี้ ขอพูดถึงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ (๑) การเข้าและออกราชอาณาจักร  (๒) การเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และ (๓) การส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

 

(๑) การเข้าและการออกนอกราชอาณาจักร

          พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ หมวด ๒ มาตรา ๑๙ และ ๒๐ บัญญัติไว้ว่า

          “มาตรา ๑๙ ในการตรวจและพิจารณาว่าคนต่างด้าวผู้ใดต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้นั้นไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ที่เห็นสมควร โดยให้คำรับรองว่าจะมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบคำสั่งตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดก็ได้หรือถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรจะเรียกประกันหรือเรียกทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดตามที่เห็นเหมาะสมเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

          เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของบุคคลนั้นอาจเป็นประโยชน์แก่กรณีที่สงสัยให้มาสาบานหรือปฏิญาณตนและให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

          ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าคนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการอันระบุในมาตรา ๑๒ (๘) หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนั้น หรือหญิงหรือเด็กคนใดเข้ามาเพื่อการเช่นว่านั้น พนักงานเจ้าหน้าที่อาจอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรได้ชั่วคราวโดยสั่งให้บุคคลดังกล่าวมารายงานตน และตอบคำถามของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือจะสั่งให้ไปรายงานตนและตอบคำถามของเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่ผู้นั้นอาศัยอยู่ ตามระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดก็ได้ แต่ระยะเวลาที่กำหนดให้รายงานตนและตอบคำถามต้องห่างกันไม่น้อยกว่าเจ็ดวันต่อครั้ง

          มาตรา ๒๐ ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กักตัวคนต่างด้าวผู้ใดไว้ตามมาตรา ๑๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นได้เท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี แต่ห้ามมิให้กักตัวไว้เกินสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกกักตัวมาถึงที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นจะยืดเวลาเกินสี่สิบแปดชั่วโมงก็ได้ แต่มิให้เกินเจ็ดวันและให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกเหตุจำเป็นที่ต้องยืดเวลาไว้ให้ปรากฏด้วย

          ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องกักตัวคนต่างด้าวผู้ใดไว้เกินกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีอำนาจกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ต่อไปอีกได้ และศาลอาจสั่งให้มีอำนาจกักตัวไว้เท่าที่จำเป็นครั้งละไม่เกินสิบสองวัน แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ปล่อยตัวไปชั่วคราวโดยเรียกประกัน หรือเรียกทั้งประกันและหลักประกันก็ได้”

          ดังนั้น จึงเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ของสำนักตรวจคนเข้าเมืองในการกักตัวผู้ต้องสงสัยว่าเข้าเมืองโดยทำผิดกฎหมายในประเทศไทย

 

(๒) การเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

          พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ หมวด ๔ มาตรา ๓๔ บัญญัติไว้ว่า

          “มาตรา ๓๔ คนต่างด้าวซึ่งจะเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้จะต้องเข้ามาเพื่อการดังต่อไปนี้

          ...

          (๓) การท่องเที่ยว

          …”

          เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ชาวอเมริกันเล่าให้ฟัง ชาวปาเลสไตน์คนนี้ได้รับ visa แบบ travel visa เป็นเวลา ๖ เดือน จึงสามารถเข้ามาในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๓๔(๓) ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ แต่อย่างไรก็ตามการเข้ามาเป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา ๓๕ ด้วย

          “มาตรา ๓๕ คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๓๔ อธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

          ระยะเวลาที่จะอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรให้กำหนดดังนี้

          …

          (๒) ไม่เกินเก้าสิบวัน สำหรับกรณีตามมาตรา ๓๔ (๓)

          ...

          ในกรณีที่คนต่างด้าวมีเหตุจำเป็นจะต้องอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนดใน (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้อธิบดีเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้ครั้งละไม่เกินหนึ่งปี และเมื่อได้อนุญาตแล้วให้รายงานต่อคณะกรรมการเพื่อทราบพร้อมด้วยเหตุผลภายในเจ็ดวันนับแต่วันอนุญาต

          การขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปแต่ละครั้งให้คนต่างด้าวยื่นคำขอตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงในระหว่างรอฟังคำสั่งให้คนต่างด้าวผู้นั้นอยู่ในราชอาณาจักรไปพลางก่อนได้”

          ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ชาวอเมริกันเข้าใจว่า ระยะเวลาที่จะอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน ๒ เดือน หรือ ๖๐ วันจึงไม่ถูกต้อง เพราะการเข้าเมืองชั่วคราวตามมาตรา ๓๔(๓) นั้น ผู้เข้าเมืองสามารถอยู่ได้ไม่เกิน ๙๐ วัน และถ้ามีเหตุผลจำเป็นที่เหมาะสม ชาวปาเลสไตน์ผู้นี้ก็อาจอยู่ในประเทศไทยเกินกำหนดได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๓๕ วรรค ๒ โดยการร้องขอต้องอธิบดีให้เป็นผู้พิจารณาอนุญาต

 

(๓) การส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

          เรื่องการส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร เป็นไปตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง หมวด ๖ มาตรา ๕๔ ดังนี้

          “มาตรา ๕๔ คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้

          ถ้ามีกรณีต้องสอบสวนเพื่อส่งตัวกลับตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ในกรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วในระหว่างรอการส่งกลับ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาตให้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวผู้นั้นต้องมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย

          บทบัญญัติในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรก่อนวันที่พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช ๒๔๘๐ ใช้บังคับ”

          ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่าชาวปาเลสไตน์ทำผิดกฎหมายในมาตรา ๓๔(๓) ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  เพราะเขาอยู่เกิน ๙๐ วันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ก็อาจส่งผลให้ถูกส่งตัวกลับออกไปนอกประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ บุคคลย่อมไม่ถูกส่งตัวไปเพื่อให้ได้รับการทรมาน ดังที่บัญญัติไว้ในข้อ ๓ ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ดังนี้

          "ข้อ ๓

          ๑. รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน

           ๒. เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะวินิจฉัยว่ามีเหตุอันควรเชื่อเช่นว่าหรือไม่ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจต้องคำนึงถึงข้อพิจารณาทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการที่มีรูปแบบที่ต่อเนื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐนั้นอย่างร้ายแรง โดยซึ่งหน้า หรืออย่างกว้างขวางด้วย หากมี"

          เมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ (CAT) แล้วนั้น และประเทศไทยไม่ได้ตั้งข้อสงวนในข้อดังกล่าว จึงส่งผลให้ ไทยต้องปฏิบัติตามพันธะกรณีข้อ ๓ ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะส่งตัวชาวปาเลสไตน์ไปที่ประเทศซีเรียจึงต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันควรเชื่อเช่นนั้นหรือไม่ว่าหากส่งไปจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมานด้วย หากมีเหตุเช่นนั้น ประเทศไทยจึงไม่สามารถส่งตัวชาวปาเลสไตน์ออกไปยังประเทศซีเรีย (ขึ้นอยู่กับการพิจารณา)

 

--------------------------------------

๔. คำแนะนำของผู้เขียนไปยังชาวอเมริกันผู้นี้เพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกักตัว

--------------------------------------

 

          เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทย แม้จะรับรองปาเลสไตน์ให้เป็นรัฐแล้วก็ตาม แต่สถานทูตและสถานกงสุลในประเทศไทยยังไม่มี ผู้เขียนจึงได้แนะนำให้ประสานงานกับหน่วยงานด้านการทูตและการกงสุลของปาเลสไตน์ที่ใกล้ที่สุด ซึ่งในทวีปเอเชียมีที่ประเทศ Bahrain, Bangladesh, China, India, Indonesia, Iran, Iraq, Japan, Jordan, Kazaktan, Kuwait, Lebanon, Malaysia, North Korea, Oman, Pakistan, Qatar, Saudi Arabia, Sri Lanka, Syria, Turkey, United Arab Emirates, Uzbekistan, Vietnam, และ Yemen ซึ่ง ทางชาวอเมริกันท่านนี้รวมถึงครอบครัวของชาวปาเลสไตน์ประสงค์ที่จะให้ส่งตัวบุคคลดังกล่าวไปที่ประเทศเลบานอนหรือประเทศเวียดนาม ซึ่งก็ต้องติดตามผลต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่ทางชาวอเมริกันท่านนี้และครอบครัวชาวปาเลสไตน์ค่อนข้างพอใจกับการประสานงานจากทางเรา และกระบวนการที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เป็นไปได้ดี ต้องรอผลว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

          ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์แหวว รศ.ดร.พันธฺทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และพี่หมี ชญา ภัทราชัย สำหรับคำแนะนำดีทำให้ผู้เขียนสามารถประสานงานกับชาวต่างชาติได้ด้วยดีครับ

หมายเลขบันทึก: 552790เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2014 00:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจนะคะ เป็นชาวปาเลสไตน์ที่ถือหนังสือเดินทางซีเรีย

น่าจะลองสัมภาษณ์นะคะว่า ความสัมพันธ์กับสองประเทศนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? 

มีความเป็นไปได้ที่จะมีสองสัญชาติไหมคะ

และทำไมจึงสบายใจที่จะไปประเทศเวียดนาม ?

ลองสำรวจจุดเกาะเกี่ยวระหว่างเคสและเวียดนามนะคะ 

กำลังเข้าสู่งานการกงสุลแล้วมังคะเนี่ย ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท