ทบทวนเรื่อง “การส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย”


ทบทวนเรื่อง “การส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย”

บทความฉบับที่สอง สืบเนื่องจากบทความฉบับแรกที่ผู้เขียนได้ให้การช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่ถูกส่งตัวออกไปนอกประเทศ จึงทบทวนในประเด็นเรื่องการส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศ

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล    ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๒๑ น.

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๑.๓๓ น.

http://www.gotoknow.org/posts/553265

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/ทบทวนเรื่อง-การส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย/762493400442811

----------------------------------------------------------------------

 

--------------------------------------

๑. บทนำ

--------------------------------------

 

          สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสให้คำปรึกษาชาวต่างชาติในประเด็นเรื่องกฎหมาย  คนเข้าเมืองของประเทศไทยในส่วนของ “การส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย” สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบเรื่อง สามารถอ่านได้จาก “ขอพื้นที่เล็กๆเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองกับคนต่างชาติรายหนึ่ง[๑]

          ผู้เขียนจึงได้ทบทวนประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย อันจะประเด็นที่เกี่ยวข้องสามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นกฎหมายไทย และกลุ่มที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคี

 

--------------------------------------

๒. กลุ่มที่เป็นกฎหมายไทย

--------------------------------------

 

          เมื่อกล่าวถึง การเข้าเมืองและส่งตัวบุคคลออกนอกประเทศ ย่อมหนีไม่พ้น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ขอกล่าวถึง สถานะความเป็นคนต่างชาติก่อนว่าในมุมมองของกฎหมายไทย คนต่างชาติหรือที่พูดกันว่า คนต่างด้าว หมายถึงอะไร

 

๒.๑ ความหมายของ “คนต่างด้าว”

          ในประเด็นนี้ คำว่า “คนต่างด้าว” เท่าที่ผู้เขียนพบและเห็นว่าน่าจะยึดได้เป็นสำคัญ ปรากฏอยู่ใน ๒ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งได้แก่ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งให้นิยามเอาไว้ดังนี้

          มาตรา ๔ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ บัญญัติไว้ว่า

                    “ในพระราชบัญญัตินี้

                    “คนต่างด้าว” หมายความว่า ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย”

          มาตรา ๔ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติไว้ว่า

                    “ในพระราชบัญญัตินี้

                    “คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย”

          สิ่งนี้คือ ความละเอียดรอบคอบของกฎหมายไทย จะสังเกตได้ว่า ถ้อยคำในทั้งสองพระราชบัญญัติแทบจะเหมือนกันเลยทีเดียว ต่างกันเพียงว่า ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองให้หมายความถึง บุคคลธรรมดาเท่านั้น ส่วนตามพระราชบัญญัติสัญชาติ หมายความได้ทั้งบุคคลธรรมและนิติบุคคลด้วย ซึ่งถูกต้องแล้ว เนื่องจากทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลก็สามารถมีสัญชาติได้ทั้งคู่ แต่ในส่วนของการเข้าเมืองย่อมมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น แม้จะเป็นนิติบุคคลต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยก็ตาม แต่กฎหมายไทยก็ให้ดูที่ตัวนักลงทุน เพราะหากเราพูดถึงการส่งตัวคนต่างด้าว ก็หมายถึง การส่งตัวบุคคลธรรมดากลับออกไปนอกประเทศ ไม่ใช่ส่งนิติบุคคลออกไปนอกประเทศ

 

๒.๒ การส่งตัวคนต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายไทยหรือต่างประเทศออกไปนอกประเทศไทย

          (๑) สาเหตุ

          สาเหตุที่จะพิจารณาให้คนต่างด้าวที่เป็นบุคคลธรรมดากลับออกไปนอกประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายกรณีตามหมวด ๒ ว่าด้วยการเข้าและออกนอกราชอาณาจักร มาตรา ๑๒ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

          “มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร

          (๑) ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและยังสมบูรณ์อยู่ หรือมีแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเช่นว่านั้นจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศหรือจากกระทรวงการต่างประเทศ เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องมีการตรวจลงตราสำหรับคนต่างด้าวบางประเภทเป็นกรณีพิเศษ

          การตรวจลงตราและการยกเว้นการตรวจลงตราให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

          การตรวจลงตราตาม (๑) ให้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          (๒) ไม่มีปัจจัยในการยังชีพตามควรแก่กรณีที่เข้ามาในราชอาณาจักร

          (๓) เข้ามาเพื่อมีอาชีพเป็นกรรมกร หรือเข้ามาเพื่อรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยไม่ได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ หรือเข้ามาเพื่อทำงานอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

          (๔) วิกลจริตหรือมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          (๕) ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน หรือปฏิบัติการอย่างอื่นตามวิชาการแพทย์เพื่อป้องกันโรคติดต่อตามที่กฎหมายบัญญัติและไม่ยอมให้แพทย์ตรวจคนเข้าเมืองกระทำการเช่นว่านั้น

          (๖) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดที่ยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง

          (๗) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

          (๘) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิง หรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

          (๙) ไม่มีเงินติดตัวหรือไม่มีประกันตามที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา ๑๔

          (๑๐) รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา ๑๖

          (๑๑) ถูกรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศเนรเทศ หรือถูกเพิกถอนสิทธิการอยู่อาศัยในราชอาณาจักรหรือในต่างประเทศมาแล้ว หรือถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร โดยรัฐบาลไทยเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีได้พิจารณายกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

          การตรวจวินิจฉัยโรค ร่างกายหรือจิต ตลอดจนการปฏิบัติการเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ให้ใช้แพทย์ตรวจคนเข้าเมือง

          สังเกตได้ว่า มีเหตุจำนวนมากที่ประเทศไทยกำหนดให้สามารถส่งตัวบุคคลต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร

          (๒) การออกนอกราชอาณาจักร

          สำหรับวิธีการออกนอกราชอาณาจักร  ก็ขึ้นอยู่กับกรณีๆไป เช่น

          - จะต้องเดินทางออกตามช่องทางที่กำหนดไว้ให้ เช่น ตามด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามเวลาที่กำหนดตามหมวด ๓ ว่าด้วยพาหนะ มาตรา ๒๓ ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

          “มาตรา ๒๓ เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ จะต้องนำพาหนะเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

          - หากอยู่ในระหว่างที่รอการส่งกลับ คนต่างด้าวก็จะต้องมาพบเจ้าหน้าที่ตามสถานที่และเวลาที่กำหนดเพื่อรายงานตัว หรืออาจถูกกักตัวไว้ก็ได้ตามหมวด ๒ ว่าด้วยการเข้าและออกนอกราชอาณาจักร มาตรา ๑๙ ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

          “มาตรา ๑๙ ในการตรวจและพิจารณาว่าคนต่างด้าวผู้ใดต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้นั้นไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ที่เห็นสมควร โดยให้คำรับรองว่าจะมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบคำสั่งตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดก็ได้หรือถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรจะเรียกประกันหรือเรียกทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดตามที่เห็นเหมาะสมเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

          เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของบุคคลนั้นอาจเป็นประโยชน์แก่กรณีที่สงสัยให้มาสาบานหรือปฏิญาณตนและให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้

          ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าคนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการอันระบุในมาตรา ๑๒ (๘) หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนั้น หรือหญิงหรือเด็กคนใดเข้ามาเพื่อการเช่นว่านั้น พนักงานเจ้าหน้าที่อาจอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรได้ชั่วคราวโดยสั่งให้บุคคลดังกล่าวมารายงานตน และตอบคำถามของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือจะสั่งให้ไปรายงานตนและตอบคำถามของเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่ผู้นั้นอาศัยอยู่ ตามระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดก็ได้ แต่ระยะเวลาที่กำหนดให้รายงานตนและตอบคำถามต้องห่างกันไม่น้อยกว่าเจ็ดวันต่อครั้ง

          ซึ่งประเด็นตามมาตรา ๑๙ นี้เป็นประเด็นที่ผู้เขียนเพิ่งพบเจอมาเมื่อสัปดาห์ทีผ่านมากับกรณีชาวปาเลสไตน์เข้าเมืองมาและอยู่เกินระยะเวลาที่กำหนด (over stay) ไว้ตามกฎหมาย (หาอ่านเพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ที่ขึ้นไว้ด้านบน)

          - หากเป็นคนต่างด้าวประเภทที่ได้ทำความผิดอาญาประเภทอื่นๆ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศด้านอื่นๆ แม้ว่ายังจะไม่มีหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็อาจใช้วิธีประสานงานกับสถานทูตเพื่อขอให้ยกเลิกหนังสือเดินทางแล้วขอให้เดินทางออกนอกประเทศทันทีก็ได้ตามหมวด ๒ ว่าด้วยการเข้าเมืองและออกนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา ๑๖ ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

          “มาตรา ๑๖ ในกรณีที่มีพฤติการณ์ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่ประเทศหรือเพื่อความสงบเรียบร้อย วัฒนธรรมหรือศีลธรรมอันดี หรือความผาสุกของประชาชน ไม่สมควรอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดหรือจำพวกใดเข้ามาในราชอาณาจักร รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวผู้นั้นหรือจำพวกนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรได้”

 

๒.๓ การส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

          ประเด็นเรื่องการส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๕๓-๕๖ หมวด ๖ ว่าด้วยการส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ดังนี้

          (๑) คนต่างด้าวประเภทที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงตามมาตรา ๑๒(๗)(๘)หรือ(๑๐) หรือนำเงินเข้ามาลงทุนโดยฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ วรรค ๒ โดยการไม่แสดงฐานะการเงินตามระเบียบที่กรรมการกำหนด หรือเป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุก ยกเว้นความผิดลหุโทษ หรือไม่สามารถประกอบกิจการเลี้ยงชีพได้เพราะกายจิตพิการฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือมีโรคอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๔๔ หรือเป็นผู้ได้รับโทษฐานนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๔ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๓ หมวด ๖ ว่าด้วยการส่งคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร

          “มาตรา ๕๓ คนต่างด้าวซึ่งเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้วภายหลังปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๒ (๗) หรือ (๘) หรือเป็นบุคคลตามมาตรา ๑๒ (๑๐) หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๔๓ วรรคสอง หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๔ หรือเป็นผู้ได้รับโทษตามมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๔ ให้อธิบดีเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ก็ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อสั่งเพิกถอนการอนุญาตต่อไป”

          (๒) คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการได้รับอนุญาตสิ้นสุดลงหรือถูกเพิกถอนแล้ว ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๔ หมวด ๖ ว่าด้วยการส่งคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร

          “มาตรา ๕๔ คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้

          ถ้ามีกรณีต้องสอบสวนเพื่อส่งตัวกลับตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ในกรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วในระหว่างรอการส่งกลับ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาตให้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวผู้นั้นต้องมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย

          บทบัญญัติในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรก่อนวันที่พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช ๒๔๘๐ ใช้บังคับ

 

๒.๔ กฎหมายที่บัญญัติเรื่องการส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศกรณีเฉพาะ: พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙

          นอกจากบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องของพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแล้วนั้น ยังได้มีพระราชบัญญัติการเนรเทศที่ออกมานานแล้วและยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้

          (๑) สาเหตุให้เนรเทศ

           มาตรา ๕ เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้

          ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

          พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดในเรื่องของ “ความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อย” เช่นกัน แสดงว่า ในประเด็นเรื่องการส่งคนต่างด้าวออกไปนอกประเทศ กฎหมายต่างๆในประเทศไทยได้มีการบัญญัติออกมาอย่างสอดรับกันแล้ว

          (๒) วิธีการเนรเทศ

          ในเรื่องการเนรเทศนั้น ก็ไม่ใช่ว่า จะสามารถขับไล่หรือส่งตัวคนต่างด้าวออกไปนอกประเทศได้โดยง่ายเพียงเพราะเขาทำความผิดเท่านั้น แต่มีกระบวนการหลายขั้นตอนพอสมควรในการส่งบุคคลดังกล่าวออกนอกประเทศ อันได้แก่ การจับกุมและควบคุมตัวผู้นั้นไว้ในที่ใดที่หนึ่งจนกว่าจะมีการจัดการให้เนรเทศ ตามมาตรา ๖ มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการห้ามเนรเทศก่อนครบกำหนด ๑๕ วันนับแต่วันแจ้งคำสั่งเนรเทศให้ผู้ซึ่งถูกเนรเทศผู้นั้นทราบตามมาตรา ๗ มีประเด็นเรื่องสิทธิในการอุทธรณ์ของคนต่างด้าวดังกล่าวตามมาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติดังกล่าว

          “มาตรา ๖  เมื่อได้ออกคำสั่งให้เนรเทศผู้ใดแล้ว ให้รัฐมนตรีหรือเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายสั่งให้จับกุมและควบคุมผู้นั้นไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งจนกว่าจะได้จัดการให้เป็นไปตามคำสั่งเนรเทศ

          ในขณะที่ดำเนินการขอรับคำสั่งรัฐมนตรีเพื่อเนรเทศผู้ใด พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะจับกุมและควบคุมผู้นั้นไว้ก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการจับกุมและควบคุมมาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ในระหว่างที่ผู้ถูกสั่งเนรเทศถูกควบคุมเพื่อรอการเนรเทศเนื่องจากยังไม่สามารถส่งตัวผู้ถูกสั่งเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรได้ หากผู้ถูกสั่งเนรเทศนั้นร้องขอ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งผ่อนผันให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการควบคุมเพื่อรอการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ ทั้งนี้ โดยให้ผู้ถูกสั่งเนรเทศนั้นมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันหรือทำทัณฑ์บนไว้ และให้บุคคลดังกล่าวมารายงานตน ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ระยะเวลาที่กำหนดให้รายงานตนต้องไม่ห่างกันเกินหกเดือนต่อครั้ง

          มาตรา ๗ ห้ามมิให้ส่งตัวผู้ถูกสั่งเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรก่อนครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันแจ้งคำสั่งเนรเทศให้ผู้ซึ่งถูกสั่งเนรเทศนั้นทราบ

          ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ตามความในมาตรา ๘ ให้รอการเนรเทศไว้จนกว่านายกรัฐมนตรีจะได้มีคำสั่ง

          มาตรา ๘ ผู้ถูกสั่งเนรเทศมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้เพิกถอนคำสั่งเนรเทศ หรือขอมิให้ส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งเนรเทศ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งเนรเทศ สั่งผ่อนผันโดยประการอื่นใดหรือสั่งให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ทั้งนี้โดยจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ก็ได้

          แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดนี้ การส่งตัวคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ก็ไม่ได้ทำได้โดยง่ายเพียงแค่พิจารณาตามบริบทของกฎหมายไทย อย่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙ เท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นคนต่างด้าวและประเทศไทยเป็นภาคีในความตกลงระหว่างประเทศจำนวนมากซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการส่งคนต่างด้าวออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องเคารพและปฏิบัติตาม ซึ่งจะกล่าวในบทต่อไป

 

--------------------------------------

๓. กลุ่มที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี

--------------------------------------

 

๓.๑ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights -UDHR)

          “ข้อ ๙ บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้

          ข้อ ๑๓ (๑) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ

          (๒) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกนอกประเทศใด รวมทั้งประเทศของตนเอง และสิทธิที่จะกลับสู่ประเทศตน

          ดังนั้น ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยจึงมีพันธะที่จะต้องแสดงเหตุผลในการกักขัง จับกุม หรือเมื่อจะเนรเทศ ส่งตัวบุคคลใดออกนอกประเทศตามข้อ ๙ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เนื่องจากบุคคล แม้จะเป็นคนต่างด้าวย่อมมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยในแต่ละรัฐ โดยรัฐอาจออกระเบียบและเงื่อนไขในการอยู่ในแต่ละรัฐได้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐตามข้อ ๑๓ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

๓.๒ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

          “ข้อ ๑๒

          ๑. บุคคลทุกคนที่อยู่ในดินแดนของรัฐใดโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการโยกย้าย และเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในดินแดนของรัฐนั้น

          ๒. บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีที่จะออกจากประเทศใด ๆ รวมทั้งประเทศของตนได้

          ๓. สิทธิดังกล่าวข้างต้นไม่อยู่ภายใต้ข้อจากัดใด ๆ เว้นแต่เป็นข้อจากัดตามกฎหมาย และที่จาเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และข้อจากัดนั้นสอดคล้องกับสิทธิอื่นๆ ที่รับรองไว้ในกติกานี้

          ๔. บุคคลจะถูกลิดรอนสิทธิในการเดินทางเข้าประเทศของตนโดยอำเภอใจมิได้

          ข้อ ๑๓

          คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกานี้โดยชอบด้วยกฎหมายอาจถูกไล่ออกจากรัฐนั้นได้โดยคำวินิจฉัยอันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น และผู้นั้นย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้น และขอให้มีการทบทวนเรื่องของตนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือบุคคล หรือคณะบุคคล ที่แต่งตั้งขึ้นเฉพาะการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจโดยได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลจาเป็นอย่างอื่นด้านความมั่นคงแห่งชาติ

          เช่นกัน ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กำหนดให้ รัฐสามารถออกกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการจำกัดการเข้าเมืองของคนต่างด้าวได้หากเป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นและข้อจำกัดนั้นสอดคล้องกับสิทธิอื่นๆที่รับรองไว้ในกติกานี้  นอกจากนั้น ในกรณีที่ประเทศไทยมีความจำเป็นการขับไล่หรือส่งตัวบุคคลต่างด้าวออกนอกประเทศ ก็สามารถทำได้ภายใต้กฎหมาย และต้องชี้แจงเหตุผลด้วยว่าเหตุใดจึงส่งตัวบุคคลดังกล่าวออกจากประเทศไทยด้วยตามข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

๓.๓ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT)

          "ข้อ ๓

          ๑. รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน

          ๒. เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะวินิจฉัยว่ามีเหตุอันควรเชื่อเช่นว่าหรือไม่ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจต้องคำนึงถึงข้อพิจารณาทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการที่มีรูปแบบที่ต่อเนื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐนั้นอย่างร้ายแรง โดยซึ่งหน้า หรืออย่างกว้างขวางด้วย หากมี"

          เมื่อประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวแล้วนั้น ประเทศไทยจึงต้องปฏิบัติตามพันธะกรณีข้อ ๓ ของอนุสัญญาดังกล่าว การส่งตัวคนต่างด้าวออกไปนอกประเทศนั้นจึงสามารถทำได้แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่ขับไล่หรือส่งกลับไปหากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกทรมาน

 

--------------------------------------

๔. สรุป

--------------------------------------

 

          การส่งตัวคนต่างด้าวออกนอกประเทศไทย นอกจากจะมีกฎหมายภายในประเทศอย่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ใช้บังคับแล้วนั้น ก็ยังต้องพิจารณาในส่วนของพันธะกรณีที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในความตกลงระหว่างประเทศต่างๆจำนวนมากซึ่งมีผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และความตกลงอื่นๆอีกมากมายที่ต้องศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะส่งคนต่างด้าวออกไปนอกประเทศ เพื่อที่จะไม่ทำให้ประเทศไทยทำผิดพันธะกรณีอันเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเข้าผูกพัน

 

[๑] ธนภัทร ชาตินักรบ, ขอพื้นที่เล็กๆเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองกับคนต่างชาติรายหนึ่ง, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖, จากhttp://www.gotoknow.org/posts/552790.

 

 

 



ความเห็น (4)

ขอบคุณความรู้ดีดีนี้ค่ะ

ละเอียดมากเลยครับ

มาเขียนบ่อยๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท