อารักขา
กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

โรคเหี่ยวเขียวมะเขือเทศ ที่ริมฝั่งโขงจังหวัดบึงกาฬ


       ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน หลังจากน้ำโขงค่อยๆลดลง พื้นที่ริมฝั่งโขงในตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ จะปรากฏภาพให้เห็นเป็นแปลงพืชผักอายุสั้น หลากหลายชนิด เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ผักกาด มะเขือเทศ ฯลฯ สำหรับมะเขือเทศ เกษตรกรนิยมปลูกมากในเขตนี้ เพราะ มีโรงงานเข้ามาส่งเสริมให้ปลูก และรับซื้อคืน

       เมื่อฤดูกาลผลิต ปี ๒๕๕๕/๒๕๕๖ มีเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศ ได้รับความเดือนร้อนจากปัญหาโรคเหี่ยวเขียว จะต้องขอรับความช่วยเหลือจากทางราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๖ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองบึงกาฬ จำนวน ๘๑ ราย พื้นที่ ๓๐๒.๕ ไร่ วงเงินความช่วยเหลือ รวม ๕๑๑,๒๒๕ บาท (อัตราไร่ละ ๑,๖๙๐ บาท)

โรคเหี่ยวเขียว ซึ่งมักจะเกิดในแหล่งปลูกพืชแหล่งเดิมๆ ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญชนิดหนึ่งของมะเขือเทศ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ลักษณะอาการ จะแสดงอาการเหี่ยวในขณะที่ใบยังเขียว ใบลู่เหี่ยวเป็นบางกิ่งในเวลากลางวัน และฟื้นเป็นปกติในเวลากลางคืน เชื้อจะลุกลามขยายไปกิ่งอื่นๆ อาการรุนแรงจะเหี่ยวถาวรทั้งต้น และยืนต้นตายในที่สุด ทำให้คุณภาพและผลผลิตที่ได้มีปริมาณลดลง

การแพร่ระบาดของโรคโดยอาศัยปัจจัยธรรมชาติ เช่น ลม น้ำ น้ำฝน และส่วนขยายพันธุ์ ที่สำคัญเชื้อสาเหตุทำให้เกิดโรคสามารถอยู่ในดินได้ข้ามฤดู

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากเชื้อสามารถเข้าอยู่ข้ามฤดูในดินได้นานโดยปราศจากพืชอาศัย ทั้งยังมีพืชอาศัยกว้างและมีความหลากหลายของสายพันธุ์ ตลอดจนไม่มีสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ จึงได้แนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติ ดังนี้

๑ ใช้พันธุ์ต้านทาน เสริมความแข็งแรงให้พืช ปรับดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยอินทรีย์

๒. หมั่นสำรวจตรวจแปลง พบต้นเป็นโรคขุดต้นและดินในหลุม รวบรวมออกเผาทำลาย เปิดหน้าดินบริเวณหลุมที่เป็นโรคตากแดดและโรยปูนขาว งดปลูกซ่อม

๓. กีดกันโรคหรือป้องกันไม่ให้เชื้อโรคพืชเข้ามาในพื้นที่ปลูก เช่น กักน้ำหรืองดการให้น้ำแบบไหลบ่า เช็คส่วนขยายพันธุ์ก่อนปลูกว่าปราศจากเชื้อสาเหตุปนเปื้อน

๔. ปลูกพืชอื่นหมุนเวียน หรือควบคุมโรคโดยชีววิธี

๕. เพิ่มปริมาณซิลิกา ให้แก่พืช เพื่อต้านทานโรค โดยใช้ปุ๋ยหมักและแคลเซียม

๖. ฉีดพ่นสารแคลเซียมโบรอนหรือสารแคลเซียมไนเตรต (๑๕-๐-๐)เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับพืช

๗. เมื่อพบมะเขือเทศแสดงอาการของโรคในแปลง ให้ใช้ปูนขาว ๑๐๐ กรัม ผสมปุ๋ยยูเรีย ๑๐ กรัม (๑ช้อนแกง) เพื่อเป็นสารยับยั้งการแพร่กระจายของโรค (ขุดหลุดขนาด ๒๕x๒๕x๒๕ เซนติเมตร กลบดินรดน้ำให้ชุ่ม)

 

                                                                                                                       ภาพ/เรื่อง เกษตรแอมมี่

หมายเลขบันทึก: 553257เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2013 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สงสารเกษตรกร นะคะ ทางการเกษตร(ราชการ) เข้ามาช่วยแนะนำ ช่วยชาวบ้าน จะช่วยให้เขาลอความลำบากลงได้ นะคะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท