เศรษฐธรรมในมิติความสุขมวลรวมประชาชาติ


          ในช่วงปลายทศวรรษที่ ๒๐ บนพื้นพิภพโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจในการวัดการพัฒนาของประเทศที่ไม่ได้เน้นตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic product : GDP) แต่เพียงอย่างเดียว แต่หันกลับมาเน้นทางด้าน ความสุข

   -    ในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. ๒๕๔๑ การประชุมระหว่างประเทศเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดโดยโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ที่กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีการอภิปรายและหยิบยก ความสุขมวลรวมประชาชาติ(Gross Domestic Happiness : GDH) ขึ้นมาสัมมนาในครั้งนั้นอย่างจริงจัง

   -   ในช่วงเดือนมีนาคมปี พ.ศ. ๒๕๔๒ การประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวางแผนงาน เพื่อพิจารณาแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติจะสามารถเชื่อมโยงกับดัชนีชี้วัดการพัฒนาของมนุษย์ (Human Development Index : HDI) ซึ่งโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNDP) พัฒนาขึ้นได้หรือไม่

           นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกประเด็น ความสุขมวลรวมประชาชาติ ขึ้นมาเป็นหัวข้อในการเสวนาในหมู่แวดวงของนักวิชาการทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก อีกหลายต่อหลายครั้ง

 

           ความสุขมวลรวมประชาชาติ ถือได้ว่าเป็นแนวความคิดทางปรัชญาที่ริเริ่มโดยพระราชาธิบดีจิกเม ซิงเก วังชุก (Jigme Singge Wangchuck) กษัตริย์แห่งภูฐาน เมื่อกว่า ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา พระองค์ได้ทรงประกาศว่าวัตถุประสงค์สูงสุดของรัฐบาลภูฐานก็คือ การส่งเสริมความสุขของประชาชน ดังพระราชดำรัสที่ว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญยิ่งกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับความสุขมากกว่าความอุดมมั่งคั่งของวัตถุในทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสวนกระแสกับแนวคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

           

         ความสุขมวลรวมประชาชาติในทางเศรษฐธรรม

         ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) คือ ความสุขโดยรวมของคนในชาติทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินชีวิตตามวิถีทางแห่งทฤษฎีใหม่ หรือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ที่มุ่งเน้นให้บรรลุความสุขร่วมกันของคนในสังคม ตามแบบฉบับของเศรษฐกิจที่มีความพอประมาณทำอะไรไม่เกินตัว กินพอดี อยู่พอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นรวมทั้งไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ใช้หลักความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ วิธีการ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ จากการดำเนินเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

         โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์   จะได้ว่า

 

      ความสุขมวลรวมประชาชาติ   =  ความสุขบนวิถีของความพอประมาณ, ความสุขบนวิถีของความสมเหตุ

                                               สมผล, ความสุขบนวิถีของความสมดุลของความสัมพันธ์ในมิติด้านต่าง ๆ

                                               และความสุขบนวิถีของการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ          

 

         ๑. ความสุขบนวิถีของความพอประมาณ  

                ความพอประมาณ คือ เป็นความพอดีที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรือ ไม่สุดโต่งทั้งสองด้าน และที่สำคัญในความพอดีที่มีอยู่หรือได้มานั้นต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น เป็นความพอดีที่ตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรมและคุณธรรมเป็นสำคัญ หรือถ้ามองอีกมิติหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความพอประมาณ เป็นการดำเนินชีวิติเพื่อให้บรรลุสู่ความสุขที่เนื่องกับ สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) เป็นไปในลักษณะของการประกอบอาชีพที่สุจริตรวมทั้งมีการบริหารจัดการรายรับ รายจ่ายและหนี้สินอย่างมีความเหมาะสมตามสภาวะฐานะของตน   

                   

        ๒. ความสุขบนวิถีของความสมเหตุสมผล

             ความสมเหตุสมผล เป็นหลักของการใช้หลักเหตุผลที่ก่อให้เกิดความเป็นประโยชน์ในทุก ๆ มิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงความเหมาะสมขององค์ประกอบเหล่านั้นเป็นสำคัญ หรือ ความสมเหตุสมผล นั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วย

             - ความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ เป็นการจัดลำดับความสำคัญในการตัดสินใจของทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในประเด็นที่มองถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมี ผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

            - ความสมเหตุสมผลในกระบวนการดำเนินการ เป็นการคำนึงถึงความเหมาะสมของวิธีการและขั้นตอนของการดำเนินการต้องโปร่งใส ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเองและที่สำคัญต้องยึดหลักธรรมาภิบาล

            - ความสมเหตุสมผลในด้านผลกระทบหรือต้นทุนทางสังคม เป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักของความสมดุลและดุลยภาพโดยรวมของมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง

              หลักของการใช้เหตุผลในการตัดสินใจไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมในทุกมิติของสังคม โดยต้องคำนึงถึงความสมเหตุสมผลเป็นที่ตั้งนั้น ถ้าหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเป็นกระบวนการของขั้นตอนการตัดสินใจที่จะกระทำและจะส่งผลกระทบในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมในอนาคต หรือเป็นการตัดสินใจและกระทำที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาแล้วและส่งผลกระทบในด้านเป็นประโยชน์ของสังคมในปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับ สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)  สัมมาวาจา (วาจาชอบ)  สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)นั่นเอง

 

         ๓. ความสุขบนวิถีของความสมดุลของความสัมพันธ์ในมิติด้านต่าง ๆ

                ความสมดุลของความสัมพันธ์ในมิติด้านต่าง ๆ คือ เป็นความสมดุลทางหลักความคิด ความสมดุลทางหลักการพูด ความสมดุลทางหลักกาปฏิบัติ รวมถึงความสมดุลในมิติ   อื่น ๆ ซึ่งเมื่อความพอเพียงเป็นการไม่ไปเบียดเบียดตัวเองและคนอื่น รวมทั้งการไม่ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุดหนุน ส่งเสริม เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการดำเนินความสัมพันธ์ที่แสวงหาประโยชน์ส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อนำไปสู่จุดสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แทนการนำไปสู่จุดวิกฤติเป็นไปในลักษณะของความสมดุลที่เกี่ยวเนื่องกับ สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) นั่นเอง

                                                                                                               

          . ความสุขบนวิถีของการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ

           การสร้างภูมิคุ้มกัน คือ ความสามารถในการรองรับหรือรับมือกับสภาวการณ์ ความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ความพอเพียง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จึงได้รับผลกระทบไม่มาก และสามารถกลับสู่จุดสมดุลได้อย่างรวดเร็ว เป็นไปในลักษณะที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ สัมมาสติ (ระลึกชอบ) นั่นเอง

        

              ความสุขมวลรวมประชาชาติในทัศนะแห่งเศรษฐธรรมก็คือ การดำรงชีวิตที่ประยุกต์ใช้ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งเน้นในความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและสังคม โดยที่ในสภาวะแห่งความพอเพียงดังกล่าวก็เนื่องกับอริยมรรคมีองค์ ๘ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ) ที่ถือเป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งเป็นมรรคานำพาไปสู่ความศานติสุขในสังคม

 

             ในองค์ประกอบของความสุขมวลรวมประชาชาติที่เกี่ยวเนื่องกับอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นสิ่งสำคัญคือ เป็นการอธิบายเพื่อให้เห็นถึงตัวเด่นที่ชัดเจนในแต่ละสภาวะของความพอเพียง (พอประมาณ สมเหตุสมผล สมดุล และภูมิคุ้มกัน) แต่สาระสำคัญอยู่ที่ ในทุกองค์ประกอบล้วนต้องมี สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) และสัมมาสติ (ระลึกชอบ)มาเป็นกรอบใช้ควบไปในองค์มรรคทั้งหลาย กล่าวคือ ความเพียรพยายามคอยเกื้อหนุนปลุกเร้าไม่ให้ย่อท้อในการพิจารณาและกระทำในแนวทางที่ถูกต้องแห่งสภาวะ (ธรรม) ตามจริง รวมทั้งต้องมีสติกำกับดูแลทำให้ไม่ลืมเลือนหรือสับสนหลงทางในการบริหารกระบวนการของความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งในกระบวนการแห่งความสุขมวลรวมประชาชาติ อาจกล่าวโดยสรุปลงไปดังภาพได้ว่า  

 

 

 

       ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          ๓ ห่วง   คือ  พอประมาณ  มีเหตุผล และ มีภูมิคุ้มกันในตัว 

          ๒ เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม

 

หมายเลขบันทึก: 550685เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

 

.... ดีใจที่ได้อ่านผลงาน ... บันทึกดีดีนี้ ค่ะ ..... ขอบคุณค่ะ

 

ได้อ่านธรรมมะบวกเศรษฐศาสตร์เลยครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่หลักปฏิบัติดีๆเช่นนี้ค่ะ

...มุมมอง..ของ..สิทธารถะ...สมัยใหม่..เสมอ..(จริงๆ)..นะเจ้าคะ...ยายธีค่ะ

ขอบคุณ : อาจารย์P'Ple อาจารย์ขจิต อาจารย์พี่ใหญ่ อาจารย์พจนา และคุณยายธี มากครับ ที่แวะมาให้กำลังใจ

ขอบคุณ : กำลังใจจากทุกท่านที่มอบผ่านดอกไม้นะครับ

พอจะเข้าใจบ้าง  ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท