มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๒. นวัตกรรมการเรียนรู้


 

ตอนที่ ๑ 

 

สถาบันคลังสมองฯ จัดให้เราไปเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมการเรียนรู้    เราจึงได้ไปเห็นนวัตกรรมการเรียนรู้ หลากหลายรูปแบบ  ได้แก่

 

มหาวิทยาลัย Aston

·        จัดตั้ง Centre for Learning Innovation & Professional Practice (CLIPP)

·        CLIPP เปิดหลักสูตร

-                    An Introduction to Learning and Teaching in HE  จัดฝึกอบรมแก่อาจารย์ใหม่ ของมหาวิทยาลัยแอสตั้นทุกคน

-                    Postgraduate Certificate of Professional Practice in Higher Education   เปิดให้บริการแก่คนทั่วไปทั้งในสหราชอาณาจักร และต่างประเทศ   รวมทั้งกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยดานัง  ประเทศเวียดนามเปิดหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ

-                    RITE (Research Inspired Teaching Excellence) Programme  

·        การเรียนการสอนแบบ CDIO ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์   ที่เขาบอกว่า เป็นการขับเคลื่อนการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อสร้าง the next generation engineers    เป็นรูปธรรมของ Integrated Learning  และ Learning by Doing   รวมทั้งเป็น PBL (Project-Based Learning) ที่ทรงพลังมาก   ผมไปพบรูปธรรมของการเรียนแบบลงมือทำ    แล้วต้องตามด้วยการ เขียนรายงาน ว่าในการปฏิบัตินั้น ได้เรียนรู้และเข้าใจทฤษฎี หรือหลักการอะไรบ้าง    เข้าใจอย่างไรจากมุมของการประยุกต์ใช้ความรู้นั้น    เพื่อให้เกิดการเรียนแบบรู้จริง (mastery learning)   ผมตีความว่า การเรียนแบบ CDIO ก็ตือการเรียนแบบ Active Learning หรือปฏิบัตินำ ทฤษฎีตาม นั่นเอง

 

มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด

·        จัดตั้ง Oxford Learning Institute  ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การสอน และการวิจัย   สำหรับการพัฒนาอาจารย์ของตนเอง   และสำหรับนำไปสู่นโยบาย   เน้นทำงานแบบ มีหลักฐานจากการวิจัยสนับสนุน   เขาบอกว่า สถาบันนี้ทำงานแบบ tailor – made ในบริบทของมหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ดโดยเฉพาะ   ไม่เปิดโอกาสให้คนจากสถาบันอื่น ลงทะเบียนจ่ายเงินเข้ารับการอบรม

·        มีการจัดตั้ง Oxford Hub เป็น SE(Social Enterprise) ทำหน้าที่ดึง นศ. เข้าร่วมทำงานอาสา เพื่อสังคม  โดยที่การทำงานอาสานี้ เป็นการเรียนโดยลงมือทำ ได้ฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ใน บริบทชีวิตจริง    ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้    และการทำงานอาสา จะเป็นการบ่มเพาะ ปลูกฝังนิสัยเห็นแก่ผู้อื่น และแก่ส่วนรวม   ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตที่ดี  

·        มีการจัดตั้งSkoll Centre for Social Entrepreneurship   ขึ้นใน Said School of Business   สำหรับสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านผู้ประกอบการสังคม

 

มหาวิทยาลัย นอร์ธแทมตัน

·        การประกาศตนเองเป็น Social Enterprise ทั้งมหาวิทยาลัย    คือทำงานทุกด้านอย่างมืออาชีพ ผู้ประกอบการ   และด้วยจิตวิญญาณของการทำเพื่อสังคม   ผมมีข้อสังเกตว่า เมื่ออธิการบดี ตัดสินใจกำหนดปณิธานความมุ่งมั่น อย่าง กล้าแตกต่าง”    เขาก็ดำเนินการจัดการ การเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันกับการจัดการการเรียนรู้   ว่าที่เขากำหนดปณิธานเช่นนั้น ในทางปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร   และจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง    ในลักษณะ ทำไปเรียนรู้ไป”    แบบเดียวกันกับที่ผมดำเนินการจัดการ สกว. ยุคก่อตั้ง เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว    และผมตีความว่า เป็นการทำงานแบบ เคออร์ดิค 

·        ในเอกสาร Raising the Bar : Strategic Plan 2010 – 2015 ของมหาวิทยาลัย   บอกเป้าหมายด้านนวัตกรรมการเรียนรู้เป็นนัย ว่า “By placing the student experience at the centre of activity we fulfil our commitment to transforming the lives of those who study and work with us.”   ผมตีความว่า คำว่า  transforming the lives เป็นผลจากการเรียนรู้ ในแนวใหม่ หรือนวัตกรรมการเรียนรู้ นั่นเอง    

 

University College of London

·        ที่เราไปดู เป็นเรื่องนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ   ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ   และการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม    เน้นความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ UCL

 

 

ผมสังเกตว่า มหาวิทยาลัยที่เน้นสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้   หวังผลที่ตัวนักศึกษาในด้านการมีงานทำ (employability) เป็นหลัก   ตามด้วยคุณสมบัติสำคัญๆ อีกหลายอย่าง ได้แก่ การเป็นพลเมืองโลก (global citizenship)  ความรับผิดชอบต่อสังคม   การมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ    และผมตีความว่า การขับเคลื่อน USR (University Social Responsibility) และ SE (Social Entrepreneurship) ของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ  น่าจะมีความหมายลึกๆ อยู่ที่การสร้างทักษะ/คุณสมบัติความเป็นมนุษย์ ที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่    คือคุณสมบัติ มีความคิดเพื่อส่วนรวม เห็นแก่ผลประโยชน์ของสังคม    ไม่ใช่คิดแต่ผลประโยชน์ของตนเอง หรือผลประโยชน์ใกล้ตัว

ตอนฟังเรื่อง UnLtd เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย. ๕๖   ผมเกิดความคิดว่า    น่าจะตีความจากฝั่งมหาวิทยาลัยได้ว่า UnLtd ช่วยสร้าง platform ของนวัตกรรมการเรียนรู้โดยการลงมือทำ (Learning by Doing)    โดยที่การลงมือทำ นั้นช่วยบ่มเพาะจิตสาธารณะ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ   เพิ่มพูนความริเริ่มสร้างสรรค์ของมนุษย์ออกมา    UnLtd จึงทำหน้าที่ทางอ้อม ช่วยส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักร

ผมได้เรียนรู้ว่า สหราชอาณาจักร ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาของประเทศด้วย หลากหลายกลไก   ใช้เครื่องมือหลายตัวในการขับเคลื่อน    กลไกหลักคือ UKPSF   ซึ่งเขาไม่บังคับให้ใช้   แต่มีวิธีจูงใจให้ใช้    และพิสูจน์ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยใดรู้จักใช้อย่างจริงจัง และอย่างมีขั้นตอนที่เหมาะสมต่อ บริบทของตน ก็จะทำให้นักศึกษาได้รับประโยชน์    เกิดความสามารถในการแข่งขันดึงดูดนักศึกษาเข้ามาเรียน    โดยทางหน่วยจัดสรรงบประมาณ (HEFCE, SFC, HEFCW) เขาก็ฉลาด   ว่าการจัดงบประมาณเป็น คูปองการศึกษาให้แก่ตัวนักศึกษา    เอาไปเลือกมหาวิทยาลัยเอาเอง    จะทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว แข่งขันกันด้วยคุณภาพการศึกษา

มีการพูดกันว่า    การที่รัฐจัดสรรงบประมาณแก่มหาวิทยาลัยตามรายหัวนักศึกษา    ทำให้มหาวิทยาลัยมีพฤติกรรมไม่ดี   ไม่เอาใจใส่จัดการศึกษาให้มีคุณภาพ และช่วยเหลือส่งเสริมให้ นศ. เรียนจบตามกำหนดเวลา     ต่อไปจะมีระบบจัดสรรงบประมาณตามจำนวนบัณฑิตที่จบ    โดยจะต้องหาเครื่องมือตรวจสอบด้วย ว่าจบอย่างมีคุณภาพ

กลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ล้ำลึกมาก คือขบวนการ Social Entrepreneurship   ที่ผมตีความว่า เป็นการเรียนรู้ในระดับจิตวิญญาณ (spiritual development)    เปลี่ยนใจคน ๒ ด้าน   คือ (๑) จากคิดถึงแต่ผลประโยชน์ตน    มาคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมด้วย   และ (๒) จากคิดแต่จะเป็นลูกจ้าง หางานทำ    ก็คิดสร้างงานเอง สร้างงานให้ตัวเอง    ซึ่งผมมองว่า สหราชอาณาจักรทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda)    เลยจากการต่อสู้ระหว่างพรรคที่ต่างอุดมการณ์    ไม่ว่าพรรคเลเบอร์หรือพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ต่างก็ขับเคลื่อนวาระแห่งชาตินี้   ทำให้เป็นขบวนการที่มีความต่อเนื่อง    และมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องค่อยๆ ปรับตัว หาทางดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

เขาใช้กลไกภาคเยาวชน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วย    ให้เยาวชนได้ริเริ่มดำเนินการกันเอง    ดังตัวอย่างที่เราไปเห็นคือ Oxford Hub (ขับเคลื่อนจิตอาสา และการเป็นผู้ประกอบการสังคม), NACUE  (ขับเคลื่อนการเป็นผู้ประกอบการ)  

ย้อนกลับมาดูที่บ้านเรา    เมื่อไรเราจะมีวาระชาติ ที่ก้าวเลยการต่อสู้เอาชนะกันระหว่างพรรคการเมือง    หรือระหว่างเจ้าของพรรคการเมือง    และดำเนินการต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งให้แก่บ้านเมืองในระยะยาว    ไม่ใช่บั่นทอนบ้านเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ย. ๕๖  ปรับปรุง ๑๗ ก.ย. ๕๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 550683เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2014 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท