ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๒. สงสารประเทศไทย หน่วยราชการอ่อนแอลงอย่างน่าตกใจ


 

ในเวลา ๒ วัน ผมสะเทือนใจจากการทำงานที่ไร้คุณภาพของเจ้าหน้าที่ราชการถึง ๒เหตุการณ์    จึงนำมาปรับทุกข์สู่กัน     วันที่ ๔ ก.. ๕๖ ผมไปร่วมประชุมปรึกษาหารือ เรื่องแนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษาแบบ eLearning หรือ online learning  ในรอบการประเมินรอบที่ ๔   ที่ สมศ. ตามที่เล่าในบันทึกที่แล้ว    โดยมีรถและคนขับรถไปด้วย    คนขับรถของผมบอกว่า เจ้าหน้าที่ของ สมศ. ประทับตราให้จอดเพียง ๒ ชั่วโมง   เพราะอาจารย์มาประชุม ๒ ชั่วโมง”    ผมบอกคุณศุภชัย ผู้เชิญผมไปร่วมประชุม   ว่าเขาประทับตราให้เพียง ๒ ชั่วโมง    แต่การประชุมเลย ๒ ชั่วโมงไปแล้ว เวลานั้น ๑๒.๓๐ น.   หาเจ้าหน้าที่คนนั้นไม่พบ ไปกินอาหารเที่ยง    ผมจึงต้องจ่ายเงินค่าจอดรถเกินเวลาไป ๓๐ บาท    เป็นการจ่ายชดเชยการทำงานไม่มีคุณภาพของเจ้าหน้าที่ของ สมศ.

เวลาพบเรื่องแบบนี้ ผมจะนึกตำหนิผู้บริหารหน่วยงานในใจ    ว่าไม่เอาใจใส่ฝึกพนักงานระดับล่าง ให้ทำงานแบบมีวิจารณญาณเป็น   คนเหล่านี้จะเป็น ปรอทวัดความสามารถของผู้บริหาร ในด้านการจัดการ    เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ผมเป็นผู้บริหาร จะได้รับการฝึกหรือพัฒนาเรื่องทำนองนี้เป็นอย่างดี   และกลายเป็น corporate culture  ที่สะท้อนการทำงานอย่างมีคุณภาพ แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ    และเป็นการฝึกคนให้มีนิสัยที่ดีติดตัวไป เป็นคุณแก่ชีวิต

เช้าวันที่ ๕ ก.ย. ๕๖ มีแฟ้มเสนองานมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล   โดยผมทำงานบนรถ (เวลามีคนถามว่า ออฟฟิศของผมอยู่ที่ไหน คำตอบคือ บนรถ’)    มีหนังสือมาจาก สกอ. ๒ เรื่อง เรื่องแรกเลขที่ ศธ 0506(5) 993  ลงนามโดยรองเลขาธิการ   เรื่อง ขอความร่วมมือชะลอการเปิดหลักสูตรและสถานศึกษานอกที่ตั้ง    ผมอ่านแล้วบอกตัวเองว่า นี่คือการทำงานแบบไม่ใช้หัวคิด   ส่งเอกสารแบบไม่สนใจหน่วยงานที่เป็นฝ่ายรับ    เป็นวิธีทำงานที่ผมสอนลูกน้องตลอดมาเกือบ ๔๐ ปี ว่าอย่าทำงานแบบนี้    คนที่เป็นฝ่ายรับจะรู้สึกดูถูก   ว่าทำงานโดยไม่รู้จักฝ่ายรับ หรือไม่สนใจ   ผมบอกลูกน้องว่าหากทำงานแบบนี้ เอาลิงหรือเครื่องจักรมาทำก็ได้    เพราะไม่ต้องใช้หัวคิด

คือเรื่องหลักสูตรและสถานศึกษานอกที่ตั้ง มหาวิทยาลัยมหิดลไม่ทำ    เป็นที่รู้กันทั่ว    เพราะเราเคร่งครัดด้านคุณภาพ  

เรื่องแบบนี้ ผมอ่านว่าเป็นกระจกสะท้อนคุณภาพของฝ่ายบริหาร    คิดแล้วสงสารประเทศไทย

 

หมายเหตุ

       บันทึกนี้เขียนบนรถยนต์ ระหว่างเดินทางไป สำนักงานใหม่ของ สสส. ที่ซอยงามดูพลี เช้าวันที่ ๕ ก.ย.    พอไปถึง เจ้าหน้าที่ต้อนรับเห็นคนแก่ และเหลียวซ้ายแลขวาหาอะไรสักอย่างก็เข้ามาต้อนรับ   ทำให้ผมยิ่งเห็นความแตกต่างระหว่างหน่วยงานที่ล้าหลังกับหน่วยงานที่มีระบบการจัดการดี   

     และวันที่ ๖ ก.. ผมก็ได้รับ อีเมล์ จากเจ้าหน้าที่ของ สมศ. ขอเลขบัญชีธนาคารเพื่อโอนค่าเบี้ยประชุมให้    นี่ก็เป็นตัวอย่างการทำงานที่ไม่เอาไหน   ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่   ทำงานน้อยให้เป็นงานมาก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ย. ๕๖   ปรับปรุง ๖ ก.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 550678เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ด้วยความคารวะ อาจารย์นะครับ
  • ผู้บริหารบางท่าน บางหน่วยงาน ท่านฉลาดลึก แต่ฉลาดไม่กว้าง
  • ไม่ได้ใส่ใจหรือสนใจอะไรนอกจาก กฏ กติกา ที่ไม่ยืดหยุ่่น
  • ไม่ได้ใช้ จิตสำนึก ในการบริหาร ครับ

ถูกต้องที่สุดเลยค่ะ เพราะผู้บริหารสมัยใหม่จะสั่งกันอย่างเดียว

 

“ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำงานน้อยให้เป็นงานมาก” เห็นภาพชัดเจนมากค่ะ น่าสนใจเหมือนกันว่ากระบวนการเลือกคนเข้ารับราชการ และก้าวหน้าในระบบ อาจมีข้อผิดพลาด ทำให้พบว่า หลายคนคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ พัฒนาไม่เป็น ในงานของตน หลายครั้งที่เห็นน้องใหม่มาด้วยอุดมการณ์ แต่พอทำงานไปไม่นานก็เป็นเหมือนกันไปหมด สบาย…สบาย เป็นกลไกเอาตัวรอด…แล้วก็กลับมาสู่ “ธุระไม่ใช่…” ลองถามกลับไปว่า…ถ้าเป็นบ้านหรือกิจการของคุณเอง จะทำแบบนี้ไหม

เคยติดตามชีวิตราชการของ จนท.บางคนที่มาทำงานเหมือนไม่มีสมอง(ขออภัยค่ะ รุนแรงไปหน่อย) แต่มีกิจการส่วนตัว ที่มีแผนการบริหารจัดการเป็นอย่างดี พบว่า เหตุที่ไม่แสดงศักยภาพ เนื่องจากหัวหน้าไม่ปลื้มคนที่เก่งกว่า ทุกวันนี้เขาก็ขอเกษียรณก่อนอายุไปแล้ว

อ่านต่อเนื่องมา รู้สึกว่าอาจารย์สะเทือนใจมากๆๆๆ… รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท