ความพอดี ความลงตัว ความถึงพร้อมด้วยเหตุปัจจัยเฉพาะตน


ฝนตก ลมฝนพัดกระโชกแรงจนข้าวของปลิวว่อน ใบไม้ขาดวิ่นและเศษสิ่งของที่ปลิวมากับลมลอยเข้าบ้าน ม่านกันแดดชายคาบ้านที่เป็นห้องนั่งทำงานโบกสบัดจนหลุดออกจากแกนยึด แผ่นกระดาษในห้องและข้าวของชิ้นเล็กๆหล่นจากชั้นหนังสือเละเทะ ในจำนวนนั้น ของชิ้นหนึ่งที่หล่นลงมายังพื้น ก็กระทบกับกล่องกระดาษแข็งดังป๊อก แล้วก็ปักคาเด่ สะดุดความสนใจจนทำให้ผมต้องเดินไปมอง เป็นดินสอเท่งเล็กๆ ที่หล่นลงมาจากชั้นหนังสือ ปลายด้านไส้ดินสอที่เหลาไว้แล้ว ปักเข้าไปในเนื้อกระดาษกล่องใส่เครื่องไขตะปูเกลียวไฟฟ้าที่ผมเพิ่งซื้อมา เลยทำให้ดินสอปักเด่ทำมุมประมาณ ๖๐ องศาอยู่บนกล่องกระดาษ

                                     

กล่องกระดาษแข็งอย่างที่เห็นนี้ ขนาดใช้มีดคัตเตอร์กรีดหรือใช้แรงมือของเราเองกำไขขวงกระแทกให้ฉีกขาดไปตามแนวที่ต้องการก็เป็นเรื่องที่ใช่จะทำได้ง่ายๆ แต่นี่ดินสอแท่งเล็กๆเบาๆและไส้ดินสออ่อนๆ อีกทั้งเพียงโดนแรงลมทำให้ปลิวหล่นลงมาจากชั้นหนังสือชั้นที่สองซึ่งสูงจากพื้นสักเมตรเดียวเท่านั้นเอง  ไหงกลับปักเข้าไปในเนื้อกระดาษแข็งและติดตั้งเด่ทำมุมเอียงได้อยู่อย่างนั้น ทุกอย่างช่างมีจังหวะที่พอดีและเป็นความลงตัวเฉพาะสถานการณ์ของมัน ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ ลมพัด ดินสอหล่น กล่องกระดาษแข็งที่วางอยู่นิ่งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย ก็กลับกลายเป็นองค์ประกอบของการเกิดปรากฏการณ์อย่างที่เห็น ที่แม้แต่ฝีมือมนุษย์เองก็ทำไม่ได้ และหากจะจำลองสถานการณ์แบบเดิม เพื่อทำให้เกิดขึ้นอีกก็เชื่อว่าคงเกิดขึ้นได้ยากถึงเป็นไปไม่ได้เลย  

ดินสอที่หล่นลงมา เป็นดินสอที่ผมเสียบเข้าไปในเล่มหนังสือที่วางเรียงอยู่ในชั้นติดผนังในห้องที่ผมใช้เป็นห้องนั่งทำงานที่ต้องค้นคว้าและอ่านหนังสือไปด้วย เสียบพอให้มีปลายโผล่ออกมานิดหนึ่งแล้วก็ใช้แขวนภาพเจดีย์ชเวดากอง งานฝีมือของพม่า ทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีดำโรยด้วยเกร็ดทองขนาดสักครึ่งหนึ่งของแผ่นปฏิทินแผ่นใหญ่ ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ สายแสง แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ท่านได้ซื้อติดมือมาจากคราไปเยือนพม่าเมื่อไม่นานมานี้มาฝากผม ผมได้มีโอกาสเป็นกรรมการควบคุมและกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการศึกษา ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับท่าน ๑ เรื่อง

                                        

ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ สายแสง สำหรับผมนั้น เป็นครูอาจารย์และนักวิชาการแนวคติชนวิทยาที่วิเคราะห์และเชื่อมโยงคติชนวิทยาเข้ากับกระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมได้เป็นอย่างดีที่สุดท่านหนึ่งของประเทศ เป็นคนเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยนเรศวรนับแต่ยุคบุกเบิกก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาในภูมิภาคที่ต่อมาได้ปรับสถานภาพและก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน เมื่อสักกว่า ๑๕ ปีก่อน ผมได้ขอเรียนเชิญท่านจากคณะมนุษยศาสตร์กับดร.มาฆะศิริ เชาวกุล จากคณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ไปนั่งอ่านสังคมและวิถีชีวิตชุมชนของท้องถิ่น ซึ่งผมได้ร่วมเป็นทีมวิจัยเพื่อถอดบทเรียนและวางแนวการทำงานประชาคมอำเภอ ไปนำเสนอเป็นแนวคิดและแนวพัฒนานโยบายให้กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้น ก็ได้เจอท่านในงานอยู่บ้างเป็นระยะๆ เมื่อได้เจอท่านอีกผมก็ขอมอบหนังสือของผมเป็นเครื่องคารวะ ท่านก็มอบภาพเจดีย์เชวดากองนี้ให้แก่ผม

คติชนวิทยา (Folklore) เป็นวิธีการศึกษาแบบแแผนและระบบความคิดความเชื่อของชุมชนและชนกลุ่มต่างๆ ที่สืบทอดไว้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนในรูปแบบต่างๆที่อยู่ในวิถีชีวิตซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆจากจุดยืนของชุมชนที่อยู่ในปรากฏการณ์เหล่านั้นรวมทั้งทำให้สามารถศึกษารวบรวมความสร้างสรรค์อันหลากหลายของมนุษย์ เพื่อได้ซาบซึ้งต่อความงามและการดำรงอยู่ของความแตกต่างหลากหลาย รวมทั้งทำให้ได้ความร่ำรวยทางโลกทัศน์และชีวทัศน์ เพื่อเข้าสู่ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆด้วยชุดภูมิปัญญาและระบบเหตุผลที่วางอยู่บนความเป็นจริง ด้วยบริบทที่แตกต่างกันของมนุษย์ ทำให้เห็นความเป็นตัวของตัวเองของชุมชนและสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ผมศึกษาวิธีคิดและมิติต่างๆในเชิงวิธีวิทยาไว้พอให้ได้ใช้ทำงานของตนเองเท่านั้น ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร

ผมมีครู ที่ทำให้ได้ศึกษาคติชนวิทยาเพื่อเห็นบทบาทความสำคัญและเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์และวิจัยปรากฏการณ์ทางสังคมและประชากรในสังคมเมืองและชนบท เพื่อดำเนินงานทางประชากรศึกษากับการพัฒนาในมิติอื่นๆของสังคม หลายท่านด้วยกัน คือท่านศาสตราจารย์ ดร.จิรโชค วีระศัย ดร.อุทัย ดุลยเกษม ศาสตราจารย์ ดร.เบญจา ยอดดำเนิน แอ๊ตติก

หากนึกถึงงานวิชาการและงานเขียนที่ให้แนวคิดเชิงคติชนวิทยาและสังคมวัฒนธรรมทั้งเมืองและชนบท ทางภาคใต้ผมจะต้องนึกถึงศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ทางภาคเหนือนึกถึงศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ และมาลา คำจันทร์ ทางภาคอีสาน ผมนึกถึงคนวรรณกรรม คำสิงห์ ศรีนอก และคำพูน บุญทวี  ในแวดวงคนหนังสือ ผมก็มักนึกถึงสุจิตต์ วงษ์เทศ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นึกถึงศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ นึกถึงการทรงบันทึกและถ่ายทอดเป็นหนังสือเชิงสารคดีเรื่องเล่า รวมทั้งการถ่ายภาพ การวาดรูป ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี นึกถึงการบันทึก การวาดรูป ถ่ายทอดความประทับใจและการมีประสบการณ์ต่อสังคมต่างประเทศของหมอเจ้าฟ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศก์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นึกถึงรองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม รองศาสตราจารย์ ดร.มรว. อคิน ระพีพัฒน์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล รวมทั้งมักทำให้ผมนึกถึงการเป็นคนแก่และคนที่มีความลึกซึ้งต่อการใช้ชีวิตทั้งในชนบทและในสังคมเมือง หรือคนที่ชีวิตมีเรื่องราว เหมือนหนังสือที่มีชีวิต เป็นผู้ที่ใส่ใจต่อสังคมและธรรมชาติรอบข้าง มีความทรงจำและมีเรื่องราวสร้างสรรค์การสืบทอดสิ่งต่างๆให้กับลูกหลาน

                                       

ลมพัด ดินสอหล่น ปักลงบนกล่องกระดาษแข็ง ทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากพลังของสิ่งเล็กๆ พลังของอิทัปปัจจัยตาและปฏิจจสมุปบาท หรือความมีปฏิสัมพันธ์ผสมผสานเชื่อมโยงและมีพลวัตรสืบเนื่องกันของสิ่งต่างๆ พึ่งพิงอิงกันทั้งสิ่งที่สำคัญและดูเหมือนจะไม่มีความหมายต่อมนุษย์ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุปัจจัยและส่วนผสมที่พอดี ได้ความลงตัว ก็สามารถทำให้เกิดสิ่งที่มีความน่าอัศจรรย์ 

ให้ความคิดได้หลายอย่างว่างานในแนวคติชนวิทยา ก็เป็นงานแนวหนึ่งที่มีความน่าอัศจรรย์เหมือนการปักลงไปบนกระดาษแข็งของไส้ดินสออ่อนๆและด้วยแรงที่หล่นลงมาจากชั้นหนังสือเตี้ยๆเท่านั้นเช่นกัน มีพลังและมีความหมายที่ดำเนินไปอย่างมีพลวัตร ทุกอย่างจะมีคุณค่าและมีความหมายจำเพาะขึ้นมา ก็ด้วยองค์ประกอบและเหตุปัจจัยเฉพาะตนของสิ่งนั้นๆ ซึ่งเราต้องสั่งสมความเป็นศิลปะ รู้จักการจัดองค์ประกอบและปรุงส่วนผสมหลายอย่างเข้าด้วยกันให้เหมาะสมลงตัวในบริบทของมัน ต้องมีชีวิตและไม่หยุดนิ่งตายตัว ใช้ทำงานเชิงสังคมได้เป็นอย่างดีอีกแนวหนึ่ง.

หมายเลขบันทึก: 539390เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)


ท่านพี่ ... สบายดีไหมครับ ช่วงนี้ ;)...

ภาพ บางภาพ..รูปเดียวกัน...มุมมอง..ที่เกิดขึ้น..นั้นอาจ..แตกต่างกัน...(เป็นอย่างนั้นรึเปล่า..คะ..(แอบคิด..ยายธี)

ลมพัด ดินสอหล่น ปักลงบนกล่องกระดาษแข็ง ทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากพลังของสิ่งเล็กๆ พลังของอิทัปปัจจัยตาและปฏิจจสมุปบาท หรือความมีปฏิสัมพันธ์ผสมผสานเชื่อมโยงและมีพลวัตรสืบเนื่องกันของสิ่งต่างๆ พึ่งพิงอิงกันทั้งสิ่งที่สำคัญและดูเหมือนจะไม่มีความหมายต่อมนุษย์ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุปัจจัยและส่วนผสมที่พอดี ได้ความลงตัว ก็สามารถทำให้เกิดสิ่งที่มีความน่าอัศจรรย์ 

ผมชอบถ้อยคำที่อาจารย์เขียนไว้มากเลยครับ

..

หวังไว้ว่า...อาจารย์คงสบายดี

ด้วยความเคารพและระลึกถึงนะครับ


สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ
สบายดีครับอาจารย์ ขอบพระคุณครับ ภาพลีลาวดีของแม่ของอาจารย์ แสงเงานุ่มนวลจนเหมือนได้กลิ่นหอมอ่อนๆไปด้วยเลยนะครับ อาจารย์ก็สบายดีนะครับ ตอนนี้เริ่มย่างเข้าหน้าฝน หากอาจารย์ยังคงต้องไปอยู่โยงกับนักศึกษาในดอยอีก ก็ต้องเตรียมผจญภัยขี่รถเครื่องตากฝนอีกแล้วใช่ไหม

สวัสดีครับยายธีครับ
ขอบพระคุณในการร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนทรรศนะกันครับ เรื่องนี้ เป็นบันทึกเก็บรวบรวมตัวอย่างเอาไว้ศึกษาหรือใช้ประกอบการอธิบายการเข้าสู่การศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆด้วยวิธีคิดเชิงระบบ ที่อธิบายผ่านตัวแปรเชิงเดี่ยวและความสัมพันธ์ของความเป็นเหตุและเป็นผลแบบกลไกเชิงเดี่ยวไม่ได้ แต่ต้องอธิบายผ่านชุดตัวแปรหรือชุดของเหตุปัจจัยหลายๆตัว อีกทั้งมีมิติของการเกิดปฏิสัมพันธ์ ความสืบเนื่อง และความเชื่อมโยงกัน น่ะครับ เรื่องย่างนี้ อธิบายอย่างเดียวก็จะเข้าใจให้ตรงกันได้ยาก ตัวอย่างเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในสิ่งรอบๆตัวเรานี่จะเป็นตัวอย่างได้ดีน่ะครับ

สวัสดีครับคุณแสงห่งความดีครับ
เห็นยอดตำลึงแล้วก็นึกถึงน้ำพริกกับแกงจืดเต้าหู้อ่อนหมูสับนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท