เลือกตั้งผู้นำนิสิต : การเรียนรู้ที่มากกว่าการมาใช้สิทธิ์และชั่งวัดด้วยผล "แพ้-ชนะ"


ผมอยากเห็นนโยบายที่เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงรุกที่หลากหลายและบูรณาการ ไม่จมอยู่กับงานประเพณีอันหมายถึงรับน้อง-กีฬาฮาเฮเสียทั้งหมด ผมอยากเห็นกิจกรรมเสวนา กิจกรรมเชิงรุกสู่ชุมชน กิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ต่อและมหาวิทยาลัยสังคม หรือแม้แต่กิจกรรมที่ตอบโจทย์เรื่อง “สวัสดิการของนิสิต” ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้นิสิตได้มีที่เหยียบยืนในมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักของเขาเอง

อีกไม่กี่วัน (3-4 กุมภาพันธ์ 2556)  จะเป็นวันที่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามต้องแสดงพลังเกี่ยวกับประชาธิปไตยในรั้วมหาวิทยาลัย  ด้วยการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งองค์กรนิสิตที่ประกอบด้วย  สภานิสิต  องค์การนิสิต  สโมสรนิสิตคณะ




จะว่าไปแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้  เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สอดรับกับนโยบายสถานศึกษา 3 ดี (3D) ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้เมื่อปี 2552  เพื่อมุ่งเน้นให้แต่ละสถานศึกษาทุกระดับ ทุกสังกัดได้ใช้เป็นกลไกในการบ่มเพาะ กล่อมเกลา ปลูกฝัง และปลุกจิตสำนึกเพื่อเติบโตเป็นบัณฑิตที่มีทักษะ “เก่ง ดี มีความสุข” และมีภาคภูมิใจในความเป็นไทย คือ

1 ด้านประชาธิปไตย  (Democracy)  ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องประชาธิปไตย  มีระบบการดำเนินงานขององค์กรนิสิตนักศึกษาในสถาบันการศึกษา  ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์หลากรูปแบบ  เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องจิตสำนึกของความเป็นชาติ  มีความรู้ความเข้าใจในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  รวมถึงการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารจัดการศึกษา

2 ด้านคุณธรรมจริยธรรม และความเป็นไทย (Decency)   ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ในทางศาสนา  มีกระบวนการหนุนเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและชุมชน  (บวร : บ้าน วัด โรงเรียน)  ตลอดจนการมุ่งปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษามีความตระหนักในเรื่องวิถีชีวิตความเป็นไทย  มีค่านิยมและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย  และดำเนินชีวิตตามครรลองของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

3 ด้านภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด  (Drug – Free)  ได้แก่  การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับมหันตภัยของยาเสพติด หรืออบายมุขต่างๆ  ที่กัดกร่อนและทำลายคุณภาพชีวิตของผู้คนและสังคม  มีระบบคัดกรองกลุ่มเสี่ยงภายในสถานศึกษา  มีกิจกรรมสร้างสรรค์หลากรูปแบบควบคู่ไปกับการสร้างแกนนำเพื่อต้นต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาและชุมชน




โดยส่วนตัวแล้วผมถือว่าการเลือกตั้งองค์กรนิสิต  ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะระบบและกลไกของการปลูกฝังเรื่อง “จิตสำนึกแห่งประชาธิปไตย”  เท่านั้น  หากวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นได้ว่า  ภายใต้การขับเคลื่อนต่างๆ ทั้งในกลุ่มผู้สมัคร หรือนิสิตทั่วไป  ล้วนเกี่ยวโยงกับประเด็นอื่นๆ อย่างเสร็จสรรพ  ยกตัวอย่างง่ายๆ ในเชิงอุดมคติเลยก็คือเรื่องคุณธรรม จริยธรรม  ที่อาจสะท้อนในมุมของการซื่อสัตย์สุจริต  การไม่ใส่ร้ายป้ายสีทีมคู่แข่ง  การพึ่งพากัน การให้อภัยกัน  เป็นต้น

นอกจากนี้หากมองลึกไปสู่กระบวนการหาเสียงนั้น  ในบางกลุ่มก็นำเอามรดกวัฒนธรรมทางสังคมไทยมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย  เช่น  กลอนลำ ผญา  ดนตรี  การแต่งกาย  หรือแม้แต่การอาสาลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นนี้  ก็ถือเป็นเรื่องจิตอาสาที่จะรับใช้สังคมไปในตัว  รวมถึงการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคมควบคู่กันไป  ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ค่อนข้างครอบคลุมนโยบาย 3D  ได้อย่างน่าสนใจมิใช่ย่อย

ครับ - การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้หลากเรื่องราวจริงๆ  ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะสถิติการมาหย่อนบัตร   ไม่ชี้วัดกันแค่ผลแพ้ชนะ   เมื่อถอดรหัสดีๆ  จะเห็นได้ว่า  กิจกรรมเช่นนี้ได้สร้างคนอย่างน่าสนใจ  แต่นั่นต้องหมายถึงมีระบบการรองรับ-ดูแลอย่างดียิ่ง  มิเช่นนั้นก็จะออกทะเล  และกลายเป็นการกล่อมเกลาในทิศทางที่บิดเบี้ยวอย่างน่าเสียดาย




ปีนี้เท่าที่สังเกต  พบว่าการออกแบบป้ายประชาสัมพันธ์ของแต่ละกลุ่มมีความโดดเด่นและน่าสนใจมาก  ดูมีสีสันหลากตา  มีหลากรูปแบบให้สะดุดตาสะดุดใจมิใช่ย่อย มีทั้งการนำเสนอภาพรวมของทีม  (ดรีมทีม)  มีป้ายเจาะจงจุดขายว่าที่นายกองค์การนิสิตโดยตรง  เช่นเดียวกับการแยกป้ายประชาสัมพันธ์รายบุคคล  เพื่อให้เห็นเชิงลึกว่าในแต่ละทีมมีใครบ้าง  และแต่ละคนนั้น  เคยทำอะไรมาบ้าง-

ผมว่านี่เป็นพัฒนาการหนึ่งในกระบวนการประชาสัมพันธ์การหาเสียงของว่าที่องค์การนิสิต  ยิ่งมาเห็นบุคลิกการถ่ายภาพของแต่ละคนแล้ว  ยอมรับเลยว่า เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ละปีอย่างสิ้นเชิง  ภาพหลายภาพดูน่ารัก ใสๆ โพสท่าราวกับดารา ศิลปิน  ทำเอาผมงง และขำๆ ว่า “นักกิจกรรมสายพันธุ์ใหม่”  ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ  เพราะแทบไม่มีภาพมาดนิ่ง ขรึมขลัง น่าเกรงขามอีกแล้วก็ว่าได้


  


ครับ,  สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเป็นผลพวงของการเรียนรู้จากการสร้างสื่อหาเสียงในระดับชาติเลยก็ว่าได้  เพราะภาพที่ถ่ายออกมานั้น  ดูมีลีลาไม่เป็นทางการ  มียิ้มแย้มแยกเขี้ยวไปในที  บางภาพถึงขั้นหอบกีตาร์มาด้วย  บางภาพก็ชี้โน่นชี้นี่ไปต่างๆ นานา   ราวกับตั้งใจขายฝัน  ชวนดูเดือนดูดาวไปพรางๆ นั่นเอง... (ดูแล้วผ่อนคลาย และได้ยิ้มได้หัวเราะไปด้วย) 


การเห็นป้ายรณรงค์ของปีนี้  ชวนให้ผมคิดถึงอดีตของการสร้างสือการหาเสียง   แต่ก่อนเน้นการเขียนป้ายจริงๆ  เขียนป้ายคัตเอาท์ (ลายมือสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง)   เขียนป้ายผ้าผูกโยงไว้ตามต้นไม้  ตึกเรียน และโรงอาหาร   มีวาดรูปเหมือนและรูปล้อเลียนขำๆ   ทำแผ่นพับโรเนียวแจกจ่าย  บางทีก็นำ "เสื่อ"  มาเป็นฉากปิดประกาศป้ายต่างๆ  เช่าสามล้อมาถีบหาเสียง  ฯลฯ


ในเชิงกลยุทธการออกแบบสื่อการเลือกตั้ง  ผมถือว่าประสบความสำเร็จไม่ใช่ย่อย  สามารถสร้างสีสัน สร้างการตื่นตัวในวงกว้างได้รวดเร็ว  ทำให้นิสิตรับรู้ในชั่วข้ามคืนว่าจะเลือกตั้งวันไหน  (เลือกพรรคที่ใช่ เลือกคนที่ชอบ) และนั่นอาจรวมถึงการปลุกเร้าให้นิสิตหันกลับมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนของตนเองให้มากกว่าทุกๆ ปี




อย่างไรก็ตาม  สำหรับผมแล้ว  ผมไม่ได้ให้ค่าความสำคัญกับเรื่องสื่อมากกว่าเรื่องนโยบาย หรือวิธีการขับเคลื่อนหาเสียงของแต่ละพรรคของแต่ละกลุ่ม  เพราะสองประเด็นหลังนั้น  ผมถือว่าเป็นหัวใจหลักของการพัฒนานิสิตอย่างแท้จริง เป็นการพัฒนาทักษะ หรือติดอาวุธทางปัญญาให้กับนิสิตอย่างเข้มข้น

ผมปรารถนาเห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม  สอดรับกับทิศทางของมหาวิทยาลัย  ปรารถนาให้นโยบายที่แตะต้องสัมผัสได้  มีแนวโน้มของการเกิดได้จริงและเกี่ยวโยงสนิทแน่นกับเรื่อง “นิสิต”  มากกว่าขายฝัน ลมๆ แล้งๆ หรูหรา อลังการ แต่ไกลเกินความจริง   (ที่นิสิตจะก้าวย่างเข้าไปสร้างหรือพลิกเปลี่ยน)

ครับ,ผมอยากเห็นนโยบายที่เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงรุกที่หลากหลายและบูรณาการ  ไม่จมอยู่กับงานประเพณีอันหมายถึงรับน้อง-กีฬาฮาเฮเสียทั้งหมด  ผมอยากเห็นกิจกรรมเสวนา  กิจกรรมเชิงรุกสู่ชุมชน  กิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ต่อและมหาวิทยาลัยสังคม  หรือแม้แต่กิจกรรมที่ตอบโจทย์เรื่อง “สวัสดิการของนิสิต” ไปพร้อมๆ กัน  เพื่อให้นิสิตได้มีที่เหยียบยืนในมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักของเขาเอง

และนอกจากนั้นก็ปรารถนาที่จะเห็นรูปแบบหรือวิธีการของการ “หาเสียง” อย่างสร้างสรรค์  มีการประยุกต์เอาศิลปะแขนงต่างๆ มาเป็นกลไก หรือเครื่องมือในการหาเสียง  มีวาทกรรมชวนคิดตาม  มีสำนึกร่วมในการสร้าง “วัฒนธรรมการหาเสียง” อย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน  ไม่สาดสีสาดโคลน  รวมถึงการร่วมแรงใจช่วยปลุกเร้าให้นิสิตทั่วไปได้ตระหนักในเรื่อง “สิทธิและหน้าที่”  โดยพุ่งเป้าไปเรื่อง “หน้าที่”  ให้มากกว่าการพุ่งเป้าให้เรียกร้อง “สิทธิ”  จนลืมคิดคำนึงถึงบริบทหรือวัฒนธรรมองค์กร หรือวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน




ครับ,  ยอมรับว่าสุขใจไม่ใช่ย่อยกับปรากฏการณ์สร้างสื่อรณรงค์เพื่อหาเสียงของนิสิต  ซึ่งดูสะดุดตาสะดุดใจ  ชวนตระหนักถึงหน้าที่  ทั้งการไปใช้สิทธิ์ และการรับผิดชอบต่อนโยบายที่แถลงไปต่อสาธารณะ

และคงมีความสุขมากมายก่ายกอง  หากนิสิตทะลักมาทำหน้าที่ด้วยการออกมาหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงให้มากๆ  เพราะมันจะช่วยบ่มเพาะสู่ความรับผิดชอบต่อการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติต่อไป 


แน่นอนครับ,  การอาสามาเป็นผู้นำก็ถือว่ามีจิตอาสาที่ยิ่งใหญ่แล้ว  เพราะไม่ใช่แค่เรียนกับเรียนแต่ไม่สนใจสังคม  ยิ่งหากสร้างวัฒนธรรมการหาเสียงที่สร้างสรรค์ร่วมกันได้  ยิ่งต้องปรบมือและเชิดชูให้ดังๆ  รวมถึงเมื่อชนะเลือกตั้งแล้วทำตามนโยบายที่บอกกล่าวไป  ก็ยิ่งต้องให้กำลังใจกันมากๆ

ส่วนผู้แพ้เลือกตั้งก็ยังเป็นส่วนหนุนเสริม  ทำหน้าที่ในบริบทของตนเองต่อไป  ไม่ใช่แพ้เลือกตั้งก็โวยวาย ฟูมฟาย ฟาดงวงฟาดหางไม่รู้แพ้รู้ชนะ  แถมยังเก็บตัวและจากหายไปจากแวดวงอย่าไม่แยแส

เช่นเดียวกับนิสิตทั่วไปที่มาใช้สิทธิ   ก็ไม่ควรคิดว่าบทบาท หรือหน้าที่ของตนเองได้เสร็จสิ้นแค่การหย่อนบัตรในคูหาเท่านั้น   แต่ควรตระหนักว่าต้องมีการติดตามการทำงานของผู้นำที่ตนเองเลือกเข้าไป  พร้อมๆ กับการให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ  ไม่ใช่ผลักเป็นภาระของผู้นำแต่เพียงฝ่ายเดียว


หมายเลขบันทึก: 518202เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

..... ประชาธิประไตย .... เริ่มจากในรั้วมหาลัย ..... เป็นการปฏิบัติจริงๆ ก่อนจะออกมา .... ทำงานจริงๆๆ นะคะ นิสิตได้ ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกจิตใจ นะคะ ...

ใช่ครับ พี่ Dr. Ple

เน้นหนักๆ แน่นๆ เลยครับ คือ

ฝึกจิตใจ 

ขอบคุณครับ

โปสเตอร์สวยงามครับ เมื่อเทียบกับที่มอผม ;)...

...เน้นความรับผิดชอบในหน้าที่ มากกว่า เรียกร้องในสิทธิ

ภารกิจ... “นักกิจกรรมสายพันธุ์ใหม่” 

รอติดตามตอนต่อไป... น่าชื่นชม ชื่นใจจังค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

เป็นรูปแบบที่น่าสนใจมากค่ะ..สร้างความตื่นตัวในประชาธิปไตยจากรากฐานของชีวิตที่คิดดี..ทำดี..มีคุณธรรม..เพื่อสังคมเป็นสุข..

สนามทดลองความเป็นผู้นำ ผู้ตาม ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ในรั้วมหาวิทยาลัยครับ

นับเป็นความยิ่งใหญ่ที่เกิดได้จากป้ายหาเสียง

อยากให้เด็กๆได้เป็นผู้นำแบบใหม่สักที

มา ชม การเลือกตั้งค่ะ  ท่านอาจารย์

ชอบการนำเรื่องศิลปะวัฒนธรรมไปประยุกต์ใช้ในการเลือกตั้งครับ ดูเป็นธรรมชาติดี  

เป็นเหมือนเวทีจำลองในการเลือกตั้งระดับชาติเลยนะครับ

ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่นี้ด้วยนะครับ

ประชาธิปไตย..งดงามเสมอค่ะ

ชื่นชอบและชื่นชม การเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติคะ 3D  สอนน้อย เรียนรู้มาก

ชื่นชมกลุ่มที่ลงสมัครเลือกตั้งคระกรรมการบริหารองค์การนิสิตค่ะที่ปัจจุบันนี้มีกลุ่มนิสิตที่ลงสมัครเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งกลุ่ม  ถึงแม้จะมีการผลัดเปลี่ยนกันก็ตาม     ในฐานะผู้ดูแลก็ได้เห็นพัฒนาการในการหาเสียง  พร้อมทั้งมีการชูนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง      แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาด้านจิตสำนึกในการมาเลือกตั้งอีกพอสมควร   แต่ยังไงก็ต้องขอชื่นชมนิสิตทุกคนค่่ะที่ยังทำกิจกรรมกันอย่างเข้มแข็งเพื่อพัฒนาองค์กรของเราต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท