การเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่สอง เคล็ดไม่ลับของอาจารย์กวดวิชา


ผมเคยเรียนกวดวิชา 

  ในบทที่แล้ว ผมเล่าเรื่องครูสอนภาษาอังกฤษของผมแนะนำให้อ่านหนังสือมากๆและผมอ่านหนังสือมากอยู่แล้ว คืออ่านหนังสือของ ป.อินทรปาลิตคาดว่าหากนำทุกเล่มที่เคยอ่านมาวางซ้อนกันน่าจะสูงท่วมหัว เมื่อเตรียมตัวมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ(พ.ศ.2497) ซื้อหนังสือทบทวนวิชาชั้นมัธยม4-5-6 ทุกเล่มเท่าที่จะหาได้มาอ่าน จึงบ่นว่ามากไม่ได้เพราะวางซ้อนกันสูงประมาณฝ่ามือเท่านั้น 

  เวลาอ่านทำใจเหมือนอ่านหนังสืออ่านเล่นส่วนไหนตรงกับที่ครูสอนแล้ว เข้าใจแล้วก็จำได้ว่าเข้าใจแล้ว ส่วนไหนที่เป็นเรื่องใหม่น่าสนใจก็ทำความเข้าใจกับเรื่องใหม่(การทำความเข้าใจก็คือการคิด การคิดทำให้จำได้ตามข้อสามของหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ในWhy Don’t Students Like School?) เมื่อเข้าใจเห็นอีกก็จำได้ โดยไม่ต้องท่อง(ข้อสอบปรนัยน่ารักตรงนี้)

เมื่อมาถึงกรุงเทพ แวะไปเที่ยวเสาชิงช้าเห็นโฆษณากวดวิชาเข้าโรงเรียนเตรียมฯที่วัดสุทัศน์ก็ไปสมัครเรียนกับเขาบ้างอาจารย์กวดวิชาท่านสอนดีจริงๆ เพราะท่านสอนเรื่องที่สมควรรู้ (และสมควรออกเป็นข้อสอบ) ทั้งนั้น แต่ทุกเรื่องที่ท่านสอนผมก็เคยเรียนหรือเคยอ่านมาแล้วไม่มีอะไรใหม่เลยข้อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯปีนั้นเป็นครั้งแรกที่เป็นแบบปรนัยอ่านข้อสอบแล้วรู้สึกว่าคุ้นเคยกันดีทุกข้อ คือเหมือนกับที่อาจารย์กวดวิชาท่านสอนและก็เหมือนกับที่ผมอ่านหนังสือเตรียมตัวมา

สรุปง่ายๆว่า ข้อสอบดีคือออกเรื่องที่สมควรออกสอบ และเรื่องที่สมควรออกสอบก็คือเรื่องที่สมควรรู้อาจารย์กวดวิชาท่านเลือกสอนเฉพาะเรื่องที่สมควรรู้ ดังนั้นเคล็ดไม่ลับของอาจารย์กวดวิชาคือท่านรู้เรื่องที่สมควรรู้ในวิชาที่ท่านสอน ดังนั้น ถ้าเรารู้เรื่องที่สมควรรู้ในวิชาที่เราเรียนเราก็ไม่ต้องอาศัยอาจารย์กวดวิชาและการเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดีอย่างหนึ่งก็คือ การอ่านมากๆ และการทำความเข้าใจกับเรื่องที่สมควรรู้ของวิชานั้น 

ผมก็เคยสอนกวดวิชา 

  เมื่อหกปีมาแล้ว(พ.ศ.2550)ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งมีลูกเรียนแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิตกำลังจะสอบวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของแพทยสภารู้สึกหวั่นวิตกพอสมควรได้ขอร้องให้ผมช่วยติววิชานี้ให้ในส่วนที่ว่าด้วยระบบทางเดินอาหารเพราะเห็นว่าผมเป็นแพทย์ทางนี้โดยมีตัวอย่างข้อสอบเก่ามาให้ดูด้วย ผมอ่านข้อสอบเหล่านั้นแล้วก็ตอบรับว่ายินดีมีข้อแม้เพียงว่าให้ชวนเพื่อนมาด้วยอย่างน้อยสัก15 คน (จะได้คุ้มเหนื่อย)เหตุผลหนึ่งที่ผมรับปากติวให้เพราะชอบใจที่ข้อสอบดีปีต่อมานักศึกษาแพทย์รุ่นที่ตามมาก็ขอให้ผมติวให้อีกพร้อมด้วยข้อสอบชุดใหม่ แล้วก็อีกปีหนึ่งต่อมาถึงปีที่สามผมก็ประกาศว่า ปีต่อไปผมไม่ต้องติวให้อีกแล้วนะ ไม่ใช่เบื่อ แต่ไม่จำเป็นต้องมีผมแล้วบอกแล้วว่าข้อสอบดีตามดูมาสามปีก็รู้แล้วว่าวิชานี้ออกข้อสอบได้เพียงแค่นี้แหละ ของดีๆมีไม่มาก (รวบรวมได้ 65 ข้อ) นี่คือเรื่องที่สมควรรู้ในวิชานี้เมื่อรู้แล้วก็ไม่ต้องมีติวเตอร์หรืออาจารย์กวดวิชาเพราะข้อสอบของแพทยสภาเป็นข้อสอบดี หากปีต่อๆไปจะมีแปลกๆเพิ่มขึ้นมาก็ไมน่าจะเกินข้อสองข้อไม่ควรห่วงใยให้ลำบากโดยใช่เหตุเพราะฉะนั้นเก็บไฟล์สไลด์ที่ผมเขียนอธิบายข้อสอบเหล่านี้ไว้ให้รุ่นน้องต่อๆไปเปิดดูแค่นี้ก็พอ เอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นดีกว่า  

ข้อสอบดี

ข้อสอบดี น่าจะมีองค์ประกอบสองข้อคือหนึ่ง ข้อสอบออกในเรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบ และสอง ข้อสอบนั้นมีคณะกรรมการดูแลการออกข้อสอบ(ก็เพื่อให้ข้อสอบออกในเรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบ)

  ประมาณ 30ปีมาแล้ว ผมเคยเป็นกรรมการจัดเตรียมข้อสอบรวบยอดสำหรับนิสิตแพทย์จุฬาฯปีสุดท้ายเราต้องเตรียมคลังข้อสอบไว้ประมาณ 500 ข้อเพื่อจะได้เลือกมาใช้ครั้งละ 100 ข้อโดยขอข้อสอบที่เคยใช้สอบนิสิตมาแล้วจากภาควิชาต่างๆ แน่นอนว่าได้มาเกินกว่า 500ข้อ กรรมการช่วยกันอ่าน อ่านไปปรึกษากันไป แล้วแบ่งเป็นสามกอง คือกองหนึ่งดีใช้ได้เลย กองสองดีแต่ควรปรับแก้ก่อนใช้ กองสามไม่ไหวไม่น่าถามหรือไม่รู้ว่าถามอะไรกันแน่อาจารย์ยังตอบไม่ตรงกันเลยผลปรากฏว่าที่ใช้ได้เลยมีแค่ร้อยเศษๆ ปรับกองที่สองมาเพิ่มแล้วก็ได้ราวสองร้อย ยังห่างไกลเป้าหมายห้าร้อยเราจึงขอร้องผ่านภาควิชาให้อาจารย์ช่วยออกข้อสอบให้ใหม่อีกสักรอบก็ได้มาอีกกว่าร้อย แต่ส่วนมากก็ซ้ำหรือคล้ายกันมากกับของเดิมจึงได้เพิ่มจริงๆอีกไม่กี่สิบข้อ ผมย้อนกลับไปดูข้อสอบเก่าๆของตัวเองผมรับผิดชอบเรื่องท้องเดิน ดีซ่าน และแผลเป็บติก ที่ภาควิชาขอข้อสอบจากอาจารย์ปีละสามครั้งเพราะสอบนิสิตปีละสามรอบในช่วงเวลาสิบกว่าปีผมก็น่าจะมีข้อสอบหลายสิบข้อแต่ในความเป็นจริงผมก็ไม่ต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่ข้อสอบของผมวนเวียนอยู่เรื่องละไม่เกินสองสามข้อเรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบมันมีอยู่แค่นั้นจริงๆ เรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบหรือน่าออกสอบคืออะไรคือเรื่องที่สำคัญหรือเรื่องที่สมควรรู้ อย่างไรเรียกว่าสำคัญ สำคัญหนึ่งคือเป็นหลักการสำคัญของวิชานั้นสำคัญสองคือมีความสัมพันธ์กับวิชาอื่น และสำคัญสามคือมีโอกาสที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในวิชาชีพที่ผมออกเป็นข้อสอบเกือบทั้งหมดคือประเด็นที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ประเด็นอื่นสำคัญก็จริงแต่ตรงไปตรงมาง่ายเกินกว่าที่จะเป็นข้อสอบ(แต่เมื่ออยากได้ข้อสอบเพิ่มจึงนำสี่ข้อมารวมกันเป็นข้อเดียวแบบ Multiple true false ทำให้ยากขึ้นหน่อยค่อยสมศักดิ์ศรีนิสิตแพทย์)

 

  เรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบควรจะเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องที่สมควรรู้แม้วิทยาการด้านการออกข้อสอบจะยังไม่ก้าวหน้าพอที่จะออกข้อสอบให้เป็นไปตามเรื่องสมควรรู้ได้หมดแต่ก็สามารถทำให้อยู่ภายใต้กรอบของเรื่องที่สมควรรู้

เป็นที่น่ายินดีว่าการสอบสำคัญๆจะมีกรรมการดูแลการออกข้อสอบ จึงมั่นใจได้พอสมควรว่า ข้อสอบได้ออกในเรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบ

เรื่องที่สมควรรู้ 

เมื่อกว่าสี่สิบมาแล้ว(พ.ศ. 2508) ผมเรียนวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียอยู่หนึ่งเทอมการสอนเป็นการบรรยายล้วนๆ นักเรียนประมาณ 200 คน มีคนไทยราว 5-6คน เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งเป็นแพทย์รุ่นพี่ (ศาสตราจารย์นายแพทย์เสกอักษรานุเคราะห์) ผมทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดที่อเมริกาหนึ่งปีก่อนไปเรียนจึงฟังบรรยายภาษาอังกฤษพอเข้าหูแต่พี่เสกได้ทุนจากสภากาชาดไปเรียนเลย ในระยะแรกจึงฟังด้วยความลำบาก พูดง่ายๆว่าจดไม่ทันจึงมาขอยืมสมุดจดของผมไปลอก พอเห็นสมุดของผมก็ร้องลั่น “อะไรวะมีแค่นี้เองรึ” คำอุทานข้างต้นเป็นเหตุให้ผมหยุดคิดถึงสิ่งที่ปฏิบัติมาว่าถูกต้องดีแล้วหรือการบรรยายหนึ่งชั่วโมงผมจดได้ราวครึ่งหน้า หนึ่งหน้าก็เรียกว่ามากแล้วนานๆจึงจะมีสองหน้า จบเทอมสมุดเล่มเดียวจึงยังเหลือหน้าว่างอีกมาก เพราะผมจดแต่เรื่องที่สมควรรู้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบ และผลการสอบก็อยู่ในอันดับสิบห้าคนแรก

  ย้อนหลังไปสมัยเป็นนักเรียนแพทย์ ก่อนวันสอบไล่ผมกับเพื่อนอีกคน ชวนกันไปดูหนังเป็นที่หมั่นไส้ของเพื่อนๆที่นั่งดูหนังสือกันจนดึก ผมไม่ได้ขี้เกียจครับ ผมทบทวนคำบรรยายวิชาที่จะสอบเสร็จเรียบร้อยแล้วอยากเรียนอย่างไม่เดือดร้อนก็จดเฉพาะเรื่องที่สมควรรู้ซิจะได้เป็นการเรียนที่ง่ายสนุก (หรืออย่างน้อยก็ไม่เครียด)และจำได้ดี (อย่างน้อยก็ตอบข้อสอบได้) 

  ประสบการณ์ล่าสุด ผมอ่าน Why Don’t Students Like School? มี 9บท 228 หน้า ผมจดเรื่องที่สมควรรู้ (อาจจะนำไปใช้) ได้ 8 หน้าครึ่งในสมุดขนาดเดียวกับหนังสือ เท่ากับประมาณบท (เรื่อง) ละหน้า   

  สรุปอีกทีด้วยหลักจิตวิทยาการเรียนรู้จากWhy Don’t Students Like School? ว่า ความจำของเรามีจำกัด จึงควรเลือกจำเฉพาะเรื่องที่สมควรรู้ (เป้าหมายของการเรียนรู้) โดยเลือกทำความเข้าใจ (เลือกคิด) ในเรื่องที่สมควรรู้ก็จะจำได้ดีทำให้ตอบข้อสอบได้ (เป้าหมายระยะสั้นซึ่งในมุมมองนักเรียนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด) หน้าที่อย่างหนึ่งของครูคือการออกข้อสอบให้ตรงกับเรื่องที่สมควรรู้ เรื่องที่สมควรรู้ได้แก่ หนึ่งหลักการเฉพาะของวิชานั้นสองหลักการที่สัมพันธ์กับวิชาอื่น และสามหลักการที่จะนำไปใช้ประโยชน์

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

26 มกราคม 2556

หมายเลขบันทึก: 517519เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2013 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆนะคะ 

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ ชอบเหลือเกินค่ะเพราะเรื่องหลักการออกข้อสอบยังไม่เคยได้อ่านที่ไหนมาก่อนเลยค่ะ และเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งของครู ดูเหมือนว่าข้อที่ยากที่สุดเห็นจะเป็นการออกข้อสอบให้สัมพันธ์กับวิชาอื่นค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่ถ่ายทอดกลยุทธยอดเยี่ยมนี้ค่ะ ใช้ได้ทั้งในบทบาทของผู้เรียนและผู้สอนเลย ขอบคุณ อ.จัน ที่เลือกมาเป็นบันทึกแนะนำนะคะ มีคุณค่ามากๆ

 ขอบคุณท่าน อาจารย์หมอมากๆ ค่ะ .... 


 - หนึ่งหลักการเฉพาะของวิชานั้น

 - สองหลักการที่สัมพันธ์กับวิชาอื่น และ

- สามหลักการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ..... 

.... เป็นข้ออนะนำที่ดี มากๆนะคะ ...โดยเฉพาะหลัก  "สาม"

"เรื่องที่สมควรรู้ (เป้าหมายของการเรียนรู้) โดยเลือกทำความเข้าใจ (เลือกคิด) ในเรื่องที่สมควรรู้ก็จะจำได้ดี ทำให้ตอบข้อสอบได้ (เป้าหมายระยะสั้น ซึ่งในมุมมองนักเรียนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด) หน้าที่อย่างหนึ่งของครูคือ การออกข้อสอบให้ตรงกับเรื่องที่สมควรรู้ เรื่องที่สมควรรู้ได้แก่ หนึ่งหลักการเฉพาะของวิชานั้น สองหลักการที่สัมพันธ์กับวิชาอื่น และสามหลักการที่จะนำไปใช้ประโยชน์"  ถูกใจมากกับข้อความนี้ค่ะ คือความเข้าใจที่คงทนของการออกแบบการเรียนรู้ในปัจจุบันนี้นะคะ

ขอบคุณคะอาจารย์ อ่านแล้วได้แรงบันดาลใจมาสรุปเป็นข้อสังเกตพร้อมตัวอย่างสำหรับ นศพ./แพทย์ประจำบ้านด้วยคะ

 

ลักษณะโจทย์ดีและยาก มักประกอบด้วยความสามารถในการคลี่คลายปัญหาคือรู้ Priority problem and Why, How, What
1.Priority problem = อ่านโจทย์จบแล้วสามารถ parapharse จนนึกภาพออกได้ว่า ใคร-มาทำอะไร-ที่ไหน
  Why/Objective = ทำไมเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญต้องรู้  วินิจฉัยใดที่ส่งผลต่อ line of management หรือความปลอดภัยของผู้ป่วย 
2.How/Concept  = วิธีหรือข้อมูลที่ช่่วยให้ได้วินิจฉัยออกมา
3.What/Improtant fact = ข้อมูลที่สำคัญเพื่อตัดสินใจให้การรักษา

ยกตัวอย่าง ปัญหาเรื่อง "เวียนหัว"
โจทย์ :  ชายอายุ 65 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการเวียนศรีษะ ตาลาย เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยเล่าว่ามองภาพเห็นซ้อนและสั่นไหว เวลาเดินโคลงเคลง
ไม่มีหน้ามืดตอนลุก การได้ยินปกติ ไมมีคลื่นไส้อาเจียน รักษาโรคลมชัก ด้วยยา Phenytoin มา 30 ปี
ตรวจร่างกาย พบ Horizontal และ veritcal nystagmus การเดินเป็นแบบ wide-based gate การตรวจ cranial nerve ปกติ
การส่งตรวจใดช่วยในการรักษาผู้ป่วยรายนี้ที่สุด
1. EKG
2. EEG
3. Otoscope
4. Phenytoin level

การวิเคราะห์โจทย์
1. Priority problem : 'Vertigo' in middle age man underlying epilepsy
  ประเด็นสำคัญของ vertigo คือไม่พลาดการวินิจฉัย celebrellar infarction เพราะเมื่อบวมจะกดทับก้านสมอง ทำให้เสียชีวิตได้
  กับเนื้องอกของเส้นประสาทหู Schwannoma CN VIII
2.  Concept สำคัญที่เกี่ยวข้องคือ vertigo คือ
  จากสมอง Celebrella คือ Central vertigo
  - จากหู labyrinth คือ Periphearl vertigo
  -จากเส้นประสาทหู 
  ส่วนที่ทำให้คิดถึง  central vertigo มากขึ้นคือ
  1.Cardiovascular risk factors
  2.Celebrellar sign = Vertical nystagmus,Diplopia, Dysmetria
  3.Brain stem sign * แต่ ถ้ามี Hearing loss นึกถึง Shwannoma
3.ผู้ป่วยรายนี้ เข้าได้กับ Cerebellar vertigo
  ซึ่งข้อมูลควรรู้คือระดับยา Phenytoin ที่สูงเป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อ Cerebellar ได้
 คำตอบที่ถูกคือ ข้อ 4
 คำตอบ ข้อ 1  และ 2  เป็นการทดสอบ การรู้จักนิยามปัญหา 'รู้สึกโคลงเคลง' เป็น vertigo มิใช่่ หน้ามืด (lightheadess) หรือ ลมชัก (seizure)
 คำตอบ ข้อ 3 ทดสอบความสามารถแยก central กับ peripheral vertigo


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท