ห้องเรียนรู้ชีวิตพอเพียง


ข้าพเจ้าเป็นเด็กในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ และด้วยความที่เป็นลูกสาวนายทหาร ที่ต้องติดตามครอบครัวแบบระหกระเหิน ไปตามค่ายทหารต่างๆที่พ่อสังกัดอยู่ การเรียนรู้แบบเด็กนักเรียนในระยะต้นๆของชีวิต จึงได้มาจากโรงเรียนที่จัดตั้งโดยกรมกองของพ่อ คือ โรงเรียนสื่อสารสงเคราะห์ (ส.ส.ส) ในเขตดุสิต กทม.

สภาพแวดล้อมของโรงเรียนนี้ในยุคนั้น ติดดินมากๆ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว อุปกรณ์การเรียนหลักสำหรับเด็กอนุบาล คือกระดานชนวนสีดำ และดินสอหิน ไม่มีการแจกหนังสือเรียน ครูจะสอน ก-ฮ ด้วยการจับมือเขียนบนกระดานชนวน และให้การบ้านเขียนเพียงวันละหนึ่งตัวอักษร มีการประกาศยกย่องชมเชยติดดาวเงินสะสมที่หน้าชั้นสำหรับนักเรียนที่เขียนได้ถูกต้องสวยงาม เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่เพื่อนๆ นับเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย ไม่กดดัน แต่สร้างความบันดาลใจให้มีความรับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ

ข้าพเจ้าจำได้ว่า แม่ซึ่งเคยเป็นอดีตครูอาชีพประจำโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ได้ปลีกเวลาว่างจากงานแม่บ้าน มาสอนลูกสาวเพิ่มเติมทุกวัน และยังหัดให้ผสมคำง่ายๆเป็นของแถม สะท้อนความเอาใจใส่ของผู้ปกครองต่อการเรียนของบุตรหลาน ไม่ทอดทิ้งให้เป็นภาระของโรงเรียนเท่านั้น

การเรียนของข้าพเจ้า จึงก้าวหน้ากว่าในห้องเรียนมาก และสามารถสอบขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ในโรงเรียนราชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และได้รับพระบรมราชินูปถัมภ์จากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ส.ผ. เป็นพระนามาภิไธยย่อในพระองค์ท่าน) โรงเรียนนี้มีระบบการเรียนที่พัฒนาในทุกด้านทั้งเชิงวิชาการ และการจัดการชีวิตตามวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ผสมผสานกับความเป็นอยู่ยุคใหม่อย่างมีความสุขด้วยคุณธรรมทั้ง กาย วาจา และใจ

ณ โรงเรียนนี้ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้การเสริมทักษะการใช้ชีวิตในการประกอบการงานอาชีพของกุลสตรีจากพื้นฐานง่ายๆ ไปจนถึงระดับลึกซึ้งซับซ้อน ทั้งงานการครัว การเย็บปักถักร้อย การเข้าสังคมด้วยคุณสมบัติของผู้ดีที่เพียบพร้อมความรู้รอบตัว และมารยาทของการรักสามัคคี รู้จักแบ่งปัน ไม่เอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งชิงดีเด่น ไม่ถือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้งกว่าส่วนรวม

น้องสาวอีกสี่คนของข้าพเจ้า ได้ติดตามเข้ามาเรียนรู้ที่โรงเรียนเดียวกันนี้จนจบขั้นมัธยมศึกษา ได้เห็นแบบอย่างอันมีคุณค่าของคณาจารย์ทุกคนผู้ "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น" .. ดำรงตนอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ทำมากกว่าพูด ยกย่องคนอื่นมากกว่าโอ่อวดตนเอง

ต่อมา ข้าพเจ้าได้ก้าวขึ้นสู่การเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นศาสตร์และศิลป์แห่งการอยู่ร่วมกับคน เป็นหัวใจสำคัญของความสุขในการดำรงชีวิต ด้วยจิตวิทยา และมนุษยวิทยา ให้สามารถจัดการกับวิกฤตของสถานะการณ์ ที่ไม่อาจแก้ไขด้วยความฉลาดทางวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องใช้ความเฉลียวใจในการรู้จักยืดหยุ่นปรับทัศนคติ และจิตสำนึกของความเมตตาประนีประนอมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

การเรียนรู้ ไม่ได้จบที่สถานศึกษาเท่านั้น....สังคมรอบด้าน..เหตุการณ์ผันแปร..วิถีปฏิบัติจริง..คือห้องเรียนรู้ชีวิต ที่ต้องปรับสู่ความพอเพียงอย่างเป็นสุขและยั่งยืน..

โปรดอ่านตอนต่อไปที่บันทึกนี้ คลิ๊กที่ :

http://www.gotoknow.org/posts/507714

ขอขอบคุณน้อง Sila ที่นำไปต่อยอดถอดบทเรียนที่อนุทินนี้ค่ะ :

https://www.gotoknow.org/journals/115402

........................................................................

หมายเลขบันทึก: 504901เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2016 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

"การเรียนรู้ ไม่ได้จบที่สถานศึกษาเท่านั้น....สังคมรอบด้านเหตุการณ์ผันแปร..วิถีปฏิบัติจริง..คือห้องเรียนรู้ชีวิต ที่ต้องปรับสู่ความพอเพียงอย่างเป็นสุขและยั่งยืน.." เห็นด้วย และเป็นจริง...สวัสดีครับ

  • การเรียนรู้เราต้องศึกษาจากสภาพจริง โดยการลองผิดลองถูกแล้วนำปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นไปยิ่ง ๆ ขึ้นค่ะ
  • วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ ปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วต่างกันมากๆ เลยค่ะ วันนี้ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ปีที่แล้วทุกอย่างจมอยู่ในน้ำหมดค่ะ

การเรียนรู้เรียนได้จากประสบการณ์นะครับ

มาเข้า Class ห้องเรียนรู้ชีวิตพอเพียง..กับคุณครูพี่ใหญ่Blank ด้วยคนครับ
พอเพียง..คือสมดุล 
 

ขอบพระคุณคุณครูพี่ใหญ่ครับผม

เป็นห้องเรียน เลิศล้ำ ตามคำพ่อ ให้เพียงพอ ประมาณ การสร้างสรรค์ ให้เพียบพร้อม อิ่มอูม ภูมิคุ้มกัน เป็นห้องเรียน ในฝัน อันโสภา

  • เป็นบันทึกที่ทรงพลัง
  • ผมแนะนำให้นิสิตมาอ่านบันทึกพี่ใหญ่เสมอๆครับ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆครับ
  • สวัสดีค่ะพี่ใหญ่
  • พี่ใหญ่กำลังจะบอกว่าเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตใช่ไหมคะ
  • อาจารย์ขจิตจะพาพวกหนูไปสร้างโรงเห็ดให้นักเรียนในจังหวัดกาญจนบุรีค่ะ
  • ไปวันที่20ตุลาคมนี้ค่ะ
  • ท่านบอกว่าให้หนูไปด้วยเพราะหุ่นน่าไปแบกไม้กับตอกตะปู!!!

 

  • อาจารย์ขจิตบอกว่าพี่ใหญ่เอาเงินรางวัลGTK ให้พวกหนูไว้ทำค่าย
  • พวกหนูขออนุโมทนาบุญกับพี่ใหญ่ด้วยนะคะ
  • อ๋อ เกือบลืมบอกว่าสาวๆสวยแท้หนอ
  • สวัสดีค่ะท่านBlank นงนาท สนธิสุวรรณ
  • ชอบห้องเรียนรู้ ชีวิตค่ะ     
  • ณ โรงเรียนนี้ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้การเสริมทักษะการใช้ชีวิตในการประกอบการงานอาชีพของกุลสตรีจากพื้นฐานง่ายๆ ไปจนถึงระดับลึกซึ้งซับซ้อน ทั้งงานการครัว การเย็บปักถักร้อย การเข้าสังคมด้วยคุณสมบัติของผู้ดีพร้อมแห่งความรู้และมารยาทของการรู้รักสามัคคี รู้จักแบ่งปัน ไม่เอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งชิงดีเด่น ไม่ถือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้งกว่าส่วนรวม
  • สุดยอดเลยค่ะ ขอใช้เวลาค่อย ๆ อ่านอย่างละเอียดหลายรอบก่อนถอดความอีกครั้งนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะที่เขียนบันทึกเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร ๆ หลายคน

ขอบคุณป้าใหญ่ ค่ะ ที่ไม่เพียงเอาประสบการณ์มาเล่า แต่ยังได้ข้อคิดหลายแง่ มุม ในการอยู่การเป็นการใช้ชีวิต...อ่านบทความป้าใหญ่เมื่อไหร่  รู้สึกอบอุ่น...รักป้าใหญ่จัง 

           เป็นการเรียนรู้ที่งดงามมากครับ...อาจารย์พี่ใหญ่

    ขอบพระคุณสำหรับบันทึกดี ๆ ที่อาจารย์พี่ใหญ่มีมาฝากครับ...

เป็นเรื่องเก่า ที่งดงาม อ่านสนุกมาก ครับ เขียนได้ดี จริงๆ ครับ

สวัสดีค่ะคุณพี่ใหญ่

"แบบอย่างอันมีคุณค่าของคณาจารย์ทุกคนผู้ "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น" .. ดำรงตนอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ทำมากกว่าพูด ยกย่องคนอื่นมากกว่าโอ่อวดตนเอง"

เหมือนได้เห็นคุณความดีของครูบาอาจารย์ในตัวคุณพี่ใหญ่เลยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับบทความให้คติดีดีนี้ค่ะ

น้องแว่นทองธรรม../น้องครูลักษณ์..นองผศ.โสภณ../น้องอ.นุ../น้องพิสูจน์..น้องดร.ขจิต../น้องผอ.ไชยันต์../น้องสุทิพย์../น้องหนูรี../น้อง Panda../น้องกล้วยไข่../น้องครูทิพย์../น้องSila../น้องหมอภูคา../คุณยายธี../น้องรศ.ดร.ชยพร../น้องชลัญธร../น้องหยั่งรากฝากใบ../น้องจัตุเศรษฐธรรม../น้องศุภรักษ์../น้อง Tuknarak../น้องKrugui../น้องลมอโศก../น้องโอ๋../น้องเพชร

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่บันทึกนี้ค่ะ

* น้องแว่นทองธรรม..ห้องเรียนรู้ชีวิตเป็นการต่อยอดขึ้นไปอีก ที่ต้องใช้หลักแห่งความพอเพียงสำหรับน้อมนำไปสู่การปฏิบัติที่สร้างความสุขอย่างยั่งยืนค่ะ

 

* น้องครูลักษณ์..ใช่เลยค่ะ..ประสบการณ์และปัญญานำพาการแก้ปัญหาสู่ความสำเร็จที่เหมาะสม..กรณีการเอาตัวรอดจากอุทกภัยครั้งที่แล้ว จะช่วยให้รู้จักการปรับตัวได้ดีขึ้นด้วย

* น้องผศ.โสภณ..มุมมองที่สะท้อนจากชีวิตจริงของแต่ละคน แสดงให้เห็นถึงจุดปรับเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลาแลสถานะการณ์ค่ะ

* น้องอ.นุ..ขอบคุณมากค่ะสำหรับเพลงไพเราะแห่งความหมายอันทรงคุณค่าความพอเพียงจากแบบอย่างของแผ่นดิน..ตามรอยพ่อเพื่อความสมดุลย์ของชีวิตที่ยั่งยืนค่ะ

* น้องพิสูจน์..ห้องเรียนชีวิตแห่งความพอเพียง คือรากฐานของทางออกไปสู่ความสุขสงบร่มเย็นร่วมกันค่ะ

* น้องดร.ขจิต..ยินดีมากค่ะที่แนะนำบันทึกนี้แก่เยาวชน..ขอเล่าจากมุมชีวิตตนเองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียนรู้มาเปึนลำดับ นำสู่การเพียรฝึกปฏิบัติจริงต่อไปค่ะ

* น้องกล้วยไข่..เข้าใจถูกแล้วที่ต้องการสื่อว่า ห้องเรียนรู้ชีวิตแบบพอเพียงมีความต่อเนื่องตลอดไปค่ะ..อนุโมทนาบุญด้วยสำหรับกิจกรรมจิตอาสากับโรงเรียนเช่นนี้ ขอให้กำลังใจกลุ่มคนทำดีเพื่อสังคมค่ะ

* น้องครูทิพย์..ยินดีมากค่ะที่เห็นความสำคัญของห้องเรียนรู้ชีวิคแบบพอเพียง ที่ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งมีความสุขค่ะ

* น้องSila..ขอบคุณที่ให้ความสนใจอ่านเพื่อถอดบทเรียนรู้..ความจริงมีรายละเอียดที่ยังไม่ได้เล่าอีกมาก..เกรงว่าจะยาวเกินไปค่ะ

* น้องจัตุเศรษฐธรรม..การเรียนรู้สู่การปฏิบัติ ย่อมแตกต่างกันไปแต่ละภูมิสังคม..หากแต่มีจุดร่วมของหลักคิดในวิถีพอเพียงแล้ว..ผลได้คือความสุขที่ยั่งยืนนะคะ..

* น้องศุภรักษ์..ขอบคุณที่ชอบเรื่องเล่านี้.. นานๆทีจะเขียนเล่าเรื่องตนเอง เกรงใจคนอ่าน เพราะเรื่องย้อนไปยาวค่ะ..

-สวัสดีครับคุณนงนาท...

-แวะมาเยี่ยมครับ

-หลังจากไม่ได้เข้ามานาน..

-สบายดีนะครับ

-ห้องเรียนรู้ชีวิตพอเพียงของผมปีนี้พาน้อง ๆ กลุ่มยุวเกษตรกรทำนาครับ

-วันก่อนดำนา/ปลูกผัก...

-มีรูปมาฝากครับ..

  • เก็บไว้ในอุทินรอถอดบทเรียนร่วมกับพี่นุชค่ะ
  • http://www.gotoknow.org/journals/entries/115402 เป็นตัวอย่างบันทึกที่งามพร้อมเลยนะคะ

 

     สวัสดีค่ะ...ขอบพระคุณบันทึกที่งดงามและเปี่ยมคุณค่าและแบบอย่างแนวคิดหลักปฏิบัติค่ะ...ทุกครั้งที่เข้ามาอ่านบันทึกหัวใจได้สัมผัสกับความงดงามทั้งกาย วาจา และใจ ทำให้นึกถึงคำว่า"กุลสตรี"ความงามทั้งภายในและภายนอกค่ะ...

...นำภาพผักหวานป่าสร้างป่ามาฝากค่ะ...

 

ทรงคุณค่ามากครับพี่ใหญ่ครับ

 

 

ศ.นพ.วิจารณ์../น้องปริม../น้องนีนานันท์../คุณเพชรน้ำหนึ่ง../น้อง Sila../น้องน้อย../น้องแสงแห่งความดี../คุณJamlong NFE Kalasin../น้องครูทิพย์../น้อง Lecterer

* สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่บันทึกนี้ค่ะ

 น้องปริม..พระคุณครูบาอาจารย์สั่งสอนอบรมด้วยรักและเมตตา ยังจำได้ไม่ลืมเลือน..พี่ยังเพียรฝึกอยู่ทุกวันค่ะ..

น้องนีนานันท์..พี่รำลึกถึงห้องเรียนแห่งความสุขนี้และจำมาเล่าในโอกาสต่างๆเสมอค่ะ

* คุณเพชรน้ำหนึ่ง..ร่วมด้วยช่วยกันบ่มเพาะเยาวชนของเรา ให้มีจิตสำนึกแห่งอุปนิสัยความพอเพียงด้วยการลงมือปฏิบัติเช่นนี้..ย่อมนำความสุขอันมั่นคงค่ะ

น้อง Sila ..ยินดีมากค่ะที่เห็นประโยชน์ในการนำไปภอดบทเรียน..เป็นเรื่องเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของห้องเรียนรู้ในยุคเก่า ที่พัฒนาการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ และการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขค่ะ..รอยต่อที่งดงามของแต่ละช่วงชีวิตที่ผ่านมาจากการเรียนรู้ ก้าวสู่การปฏิบัติจริงในบทบาทต่างๆ ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมของการปรับตัวอย่างสมเหตุผล

น้องน้อย..  ขอบคุณภาพภาพผักหวานป่าสร้างป่า ที่งดงามร่มรื่นน่าไปเยี่ยมเยือนสักวันหนึ่งค่ะ

น้องแสงแห่งความดี..บันทึกชีวิตยิ่งคิดย้อนไป เห็นความสุขแบบดั้งเดิมที่ใกล้ใจอย่างแท้จริงค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท