การปั่นกระแสการศึกษาพระธรรม - ต้องศึกษาจากพระไตรปิฎกเท่านั้น


ไม่กี่วันมานี้ ได้โทรศัพท์คุยกับเพื่อนหญิงคนหนึ่ง เธอว่า หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ล้วนแล้วแต่ใช้ไม่ได้ ต้องศึกษาจากพุทธวจนะ หรือ ศึกษาจากพระไตรปิฎกเท่านั้น

ผู้เขียนมองว่า ความเห็นของเธอมีทั้งเรื่องที่ดี และ เรื่องที่ควรพิจารณา

ที่เธอเห็นเช่นนั้น ก็เพราะระยะนี้มีการปั่นกระแสว่า ชาวพุทธต้องศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกเท่านั้น ไม่ควรศึกษาจากแหล่งอื่น เพราะแหล่งเหล่านั้นเป็นการแต่งคำอธิบายใหม่โดยสาวก ไม่ใช่เป็นพุทธพจน์ บางท่านผู้ปั่นกระแสถึงกับยกหนังสือที่พระเถระอันเป็นที่เคารพขึ้นมา (เช่นสมเด็จพระสังฆราช) แล้วให้ความเห็นว่า หนังสือเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่แต่งคำอธิบายใหม่โดยสาวกชั้นหลัง

อีกทั้งยังปั่นกระแสว่า ไม่ควรเชื่อถืออรรถกถา เพราะเป็นคำอธิบายของสาวกเช่นกัน

เกี่ยวกับกระแสที่กำลังมีการปั่นกันอยู่นี้ ขอเรียนแยกเป็นประเด็นดังนี้

๑หนังสือที่วางขายในท้องตลาดล้วนใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการแต่งคำอธิบายขึ้นใหม่โดยสาวกชั้นหลัง

ในบางครั้ง การใช้ถ้อยคำที่ไม่ต้องตรงตามศัพท์นักก็จำเป็นเนื่องจากการแปลภาษาบาลีมีการแปลหลายแบบ เช่น แปลยกศัพท์ คือ ยกธรรมบทบทหนึ่งหรือหลายๆบทขึ้นมา แล้วแปลเป็นภาษาไทยให้ตรงกับบาลี แปลโดยพยัญชนะ คือแปลแบบยกศัพท์ เพียงแต่ไม่ต้องเขียนคำแปลแบบบาลีตัว ไทยตัว และแปลโดยอรรถ คือ แปลให้เป็นภาษาที่คนทั่วไปอ่านแล้วรู้เรื่องโดยให้มีเนื้อความคงตามความเดิมไว้

เช่น ประโยค กาลํ อาคเมถ

หากแปลยกศัพท์ จะแปลว่า (ตุมฺเห) อ.ท่าน ท. กาลํ ยังกาล อาคเมถ จงให้มา ฯ

แปลโดยพยัญชนะ ก็ว่า อ.ท่าน ท. ยังกาล จงให้มา

แปลโดยอรรถ จะแปลว่า ท่านทั้งหลาย จงรอก่อน

จะเห็นว่าในพระไตรปิฎกแปล ก็มักแปลโดยให้ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจ รู้ความในสิ่งที่บันทึกไว้

ดังวลี ยังคำนิมนต์ให้อยู่ทับหากเราไม่แปลเป็น รับนิมนต์ ผู้อ่านที่เป็นบุคคลในยุคปัจจุบันคงยากจะเข้าใจภาษาในยุคพุทธองค์ได้

ดังนั้นเราคงบอกไม่ได้ว่า การแปล ยังกาลจงให้มา เป็น รอก่อน นั้น เป็นการแปลแบบ สาวกบัญญัติศัพท์หรือบัญญัติคำอธิบายใหม่

มีความต่างของคำ ๒ คำ ที่น่าสนใจคือ ปฏิสัมภิทา และ สัทธรรมปฏิรูป

ปฏิสัมภิทาคือ ความแตกฉาน, ความรู้แตกฉาน,ปัญญาแตกฉานดีโดยต่าง มี ๔ คือ

๑อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ หมายถึง เมื่อได้ยิน หรือ ได้อ่านหัวข้ออะไร ก็สามารถอธิบายเนื้อความได้

๒ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม หมายถึง เมื่อได้อ่าน หรือ ฟัง อะไร ก็สามารถสรุป รวมลงเป็นหัวข้อใหญ่ได้

๓นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ คือ ภาษา คือความสามารถในการใช้ภาษาที่สละสลวย

๔ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ หมายถึงการสามารถสื่อสารแล้วผู้อื่นเข้าใจ ตอบข้อสงสัยของผู้อื่นได้ หรือก็คือการนำความรู้ออกมาสู่การประยุกต์

ซึ่งปฏิสัมภิทา ก็คือชื่อหนึ่งของปัญญานั่นเอง

ในพุทธกาล บางครั้งพระพุทธองค์ตรัสเพียงหัวข้อ แล้วก็เสด็จเข้าพระคันธกุฏี เหล่าภิกษุยังไม่เข้าใจ ก็พากันไปไต่ถามพระเถระผู้ที่ได้รับการยอมรับ เช่น ไปถามพระสารีบุตรบ้าง พระมหากัจจายนะบ้าง พระเถระเหล่านั้น ก็อธิบายความหมายของข้อธรรมให้เข้าใจ เหล่าภิกษุแม้จะเข้าใจแล้ว ก็ยังพากันไปขอการรับรองจากพระพุทธองค์อีก พระพุทธองค์ก็ทรงตอบว่า พระเถระที่ไปถามนั้น เป็นบัณฑิต หากภิกษุมาถามพระองค์ พระองค์ก็จะตรัสตอบใจความเดียวกัน (เข้าใจว่าพระองค์คงสนับสนุนให้เกิด สากัจฉา คือ การไต่ถามเพื่อให้ได้ทราบความตามที่สงสัย อันเป็นปัจจัยที่นอกจากจะให้เกิดสัมมาทิฏฐิแล้ว ยังช่วยให้ทรงจำเนื้อความได้ง่ายขึ้น นานขึ้นอีกด้วย)

ทรงยอมรับปฏิสัมภิทาของสาวก ไม่ได้ตรัสว่าสาวกบัญญัติคำอธิบายใหม่แต่อย่างใด

หรืออย่างในธรรมบท ก็มักพบว่า เมื่อพระภิกษุรูปใดบรรลุอรหันต์ ก็มักบรรยายว่า บรรลุอรหันต์พร้อมกับได้ปฏิสัมภิทา ๔ ด้วย เนื่องจาก ปฏิสัมภิทา ๔ เป็นสิ่งจำเป็นในการเผยแพร่พุทธศาสนา

ส่วนคำว่า สัทธรรมปฏิรูปนั้น หมายถึงสัทธรรมเทียม การบิดเบือนสัทธรรมที่พระพุทธองค์นำมาแสดงให้เป็นอย่างอื่น เช่น ตรัสว่า ธรรม*ทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็กลับกล่าวว่า ธรรมบางธรรมเป็นอนัตตา บางธรรมไม่เป็นเช่นนั้น เช่น บางธรรมเป็นอัตตาบ้าง เป็นอนัตตาบ้าง ไม่เป็นทั้งอนัตตาและไม่เป็นทั้งอัตตาบ้างดังนี้เป็นต้น

หากเราไม่แยกการกล่าวถึงพระธรรมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ และ ด้วยสัทธรรมปฏิรูปออกจากกัน เราคงพลาดโอกาสการเรียนรู้คำบรรยายจากพระเถระที่ทรงความรู้ไปอย่างน่าเสียดายเพราะการที่เข้าใจผิดไปว่า การอธิบายด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เป็น สัทธรรมปฏิรูปไปนั่นเอง

Tiny_img_5194

๒ไม่ควรเชื่อถืออรรถกถา เพราะเป็นการบรรยายโดยสาวกชั้นหลัง

อรรถกถาหมายถึงวาจาเป็นเครื่องกล่าวซึ่งเนื้อความ จึงเป็นการอธิบายพุทธพจน์ หรือ คำที่เข้าใจยาก ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผู้ที่นับได้ว่าเป็นผู้รจนาอรรถกถาเป็นท่านแรก คือพระสารีบุตร ซึ่งต่อมาได้จัดคัมภีร์ที่ท่านรจนาให้รวมเข้าไว้ในพระสุตตันตปิฎก

จะเห็นว่าพระเถระผู้สังคายนาพระไตรปิฎกเองก็ยังยอมรับอรรถกถาในแง่ที่ว่า เป็นประโยชน์ ช่วยให้ศึกษาพระไตรปิฎกได้ง่ายขึ้น

แม้ว่าอรรถกถาจารย์จะมีการแต่งศัพท์ใหม่ขึ้นใช้ (เช่น ขณิกสมาธิ) แต่คำที่ท่านแต่งก็คล้อยตามความในพระสูตร เนื่องจาก วัตถุประสงค์ของท่านก็เพื่อจะให้คนรุ่นหลังเข้าใจเนื้อความในพระไตรปิฎกได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

คงต้องแยกให้ออกระหว่างการแต่งคำบรรยายเพื่ออธิบายคำยาก กับ การแต่งคำบรรยายใหม่ที่มีเนื้อความขัดกับเนื้อความในพระสูตรออกจากกัน ไม่เช่นนั้น เราอาจไม่สามารถแปลพระไตรปิฎกครบทุกบทได้

เนื่องจากเวลาที่เราอยู่ อยู่ห่างจากพุทธกาลนับพันปี แม้จะมีหลักไวยากรณ์ให้ใช้เป็นหลักในการแปลภาษาบาลี แต่บางคำ ก็ไม่สอดคล้องกับหลักไวยากรณ์ จนทำให้ไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ อรรถกถาจารย์ท่านจึงแต่งอรรถแก้บทไว้ให้ชนรุ่นหลังเข้าใจ

ดังนั้น หากเราใช้พระไตรปิฎกบาลีโดยไม่ใช้คำแปลจากบทแก้ของอรรถกถาจารย์ บางครั้งเราจะแปลบางบทไม่ได้ หรือถ้าเราใช้พระไตรปิฎกแปลภาษาไทย แม้ว่าบางท่านจะกล่าวว่าไม่ควรเชื่อถืออรรถกถา แต่การที่ท่านใช้พระไตรปิฎกแปล ท่านก็รับคำแปลอันเป็นอรรถกถาที่ผู้แปลนำมาใช้ในการแปลอยู่ดี

การสร้างความเห็นให้คล้อยตามว่าควรศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกนั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะก่อนหน้านี้ พระไตรปิฎกถูกมองว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ควรเก็บไว้บูชาในตู้พระคัมภีร์ พระไตรปิฎกในบางที่ จึงได้รับการกราบไหว้ มากกว่าการเปิดออกอ่าน (ดูเหมือนท่านพุทธทาสจะเป็นท่านแรกๆที่เห็นความสำคัญของการศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎก)

แต่การแสดงความเห็นว่า ต้องเป็นการศึกษาจากพระไตรปิฎกเท่านั้น ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่าน จะใช้วิจารณญาณในเรื่องนี้ก่อนตัดสินใจว่าควรเชื่อตามหรือไม่

หมายเลขบันทึก: 502401เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2012 06:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อรุณสวัสดิ์ค่ะคุณพี่ณัฐรดา

มาน้อมรับคำอธิบายเพื่ิอพิจารณาค่ะ ขอบพระคุณบทความที่ช่วยอธิบายความให้กระจ่างชัดขึ้นค่ะ

สงบ สุข ในวันอาทิตย์นะคะ

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านบทวิจารณ์ดี ๆ ได้แง่คิดครับ

การศึกษาและเรียนรู้อะไรต่าง ๆ มากเกินไปทำให้คนเรามองสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นสองนะครับ ดีหรือไม่ดี เชื่อหรือไม่เชื่อ ศรัทธาหรือไม่ศรัทธา แต่ที่แท้ที่จริงแล้วทุกสิ่งนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวคือความจริง

ถ้าเรามองหญิงและชายเป็นคนเดียวกันได้ ธรรมะก็เป็นอย่างนั้นละครับ

พี่ณัฐรดา มาไขข้อข้องใจได้ถูกจังหวะดีแล้ว เมื่อคืนที่ผ่านมาผมใช้เวลาศึกษาข้อโต้งแย้งของผู้รู้ทางธรรม 2 ท่าน (ยาวเหยียด) บน OKNation  Blog เรื่องราวนำให้ผมต้องไปศึกษาเรื่อง “พุทธวจน”

ผมถึงกับต้องนั่งฟัง ธรรมบรรยายจาก พระอาจารย์ท่านหนึ่ง บน youtube ประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า เมื่อผมมาพิจารณา...... ด้วยความรู้ด้านปริยัติที่ไม่มีเลยของผม มันยากที่จะกล่าวในความเห็นแย้งในบางเรื่อง ในความเห็นตามในบางเรื่อง .....

กระแส “พุทธวจน” มีมาเมื่อไร ผมไม่ทราบ เพราะผมเพิ่งมาเจอมาคืน (555....คุยเรื่องธรรมะ ถ้าฮา..ดังเดี๋ยวโดนผู้ใหญ่ดุ หุหุ)

แต่พี่ณัฐรดาได้ตอบในสิ่งที่ผมตอบด้วยถ้วยคำบรรยายไม่ได้.....:):)

อาจารย์หมอเคยสอนผมมาว่า.......การที่เราเข้าไปชี้ว่าสิ่งที่ เขา (เช่นเพื่อนสนิทของเรา) ที่ไปยึดถือ คำสอนของครูบาอาจารย์ที่เขากราบไหว้อยู่นั้น ว่าเขากำลังไปผิดทาง....... ผิดวัตถุประสงค์ของหลักธรรมคำสอน.....  เราทำเช่นั้นกลับมีผลกระทบ สะท้อนกลับ......  เขาจะต่อต้าน ปิดประตู ปกป้องแนวความคิดนั้นอย่างเหนียวแน่น ปกป้องครูบาอาจารย์ของเขา...... นั้นเท่ากับว่าเราอาจจะกำลังพลัดให้เขาคนนั้น ถอยถลำลึกให้ไปยึดถือคำสอน การปฏิบัติ  ที่ไม่ถูกมากยิ่งขึ้น.............. เราทำได้เพียงนำเสนอข้อมูลอีกแง่ให้เขาพิจารณาเอง......”ถ้า” เขาเห็น เขาก็จะ “รู้เอง”  ...................

ระยะหลังๆ บางครั้งเรื่องปฏิบัติ ปริยัติ เข้ามาให้ผมเลือกเสมอ..... (มาก่อกวนมากกว่ามาเกื้อกูล)  โดยส่วนตัวผมว่าเดินตามทางครูบาอาจารย์ที่ถูกทางไปก่อน.......ปริยัติค่อยตามมา...........  รู้ปริยัติมากหรือน้อยไป...”ธรรม” ที่จะไปยึดติด  “มานะ” ที่อาจมีมา....อยากทำให้เราเกาะหลุดจากสิ่งเหล่านั้นยากยิ่งขึ้นไปอีก   .....     

ปัญหาอาจไม่ได้มาจากหนังสือ แต่ปัญหามาจากการที่เราได้ทำตามคำสอนหรือเปล่า ได้ปฏิบัติหรือเปล่าครับ เป็นบทความที่ดีมากครับ ขอบคุณครับ

บางทีบางเรื่องฟังจากหลายแหล่งข้อมูล ก็ทำให้เขวเหมือนกัน เลยไม่รู้จะเชื่อใครดีนะคะ นอกจาก เราจะประสบพบเจอด้วยตัวเราเอง ถึงจะเชื่อว่าจริงหรือไม่จริง

สวัสดีครับ

เรื่องนี้ควรจะได้พูดคุยกันในบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้สนใจธรรมะนั้นมีหลากหลายระดับความรู้ พื้นความรู้ก็แตกต่างกัน ถ้าเรียนธรรมะต้องอาศัยพระไตรปิฎกอย่างเ้ดียว คงจะแย่สำหรับคนส่วนใหญ่

เรื่องที่ว่าควรใช้ควรไม่ใช่พระไตรปิฎกนั้น บางฝ่ายมองสุดโต่งเกินไป ควรพิจารณาด้วยทางสายกลาง

ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้ว สาธุชนส่วนใหญ่ก็ต้องเรียนธรรมะโดยอาศัยอรรถกถาอยู่ดี อยู่ที่ว่าอรรถกถาของใคร สมัยไหน เท่านั้นเอง... เนื่องจาก แม้จะมีการแปลพระไตรปิฎกด้วยภาษาปัจจุบัน แต่โครงสร้างของคัมภีร์ไม่ได้เหมาะกับการอ่านสำหรับผู้คนทุกระดับความรู้นั่นเอง.

ขอบคุณทุกท่านมากค่ะ

ทั้งท่านที่แวะมา ท่านที่มอบดอกไม้ และท่านที่ฝากความเห็นไว้

เรื่องนี้มองว่าอันตรายค่ะ หนังสือบางเล่มที่พระเถระไทยรจนาไว้ได้ดีจนได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา (เช่น คู่มือมนุษย์ ของท่านพุทธทาส เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต) หากเราเชื่อตามกระแสนี้ เราก็อาจจะมองข้ามหนังสือเหล่านั้นไป

ก็คงกลายเป็นว่า ชาวต่างชาติรู้เรื่องดีๆที่พระเถระในบ้านเราศึกษาแล้วนำมาเรียบเรียงเผยแพร่ แต่ชาวไทยเองกลับไม่สนใจเรียนรู้เพราะความเข้าใจผิด

อยากรบกวนท่านที่เห็นด้วยกับบทความนี้ ช่วยกันเผยแพร่การ "ทวนกระแส" นี้จังค่ะ

เป็นข้อคิดความเห็นที่ดีมากครับ ชวนคิดต่อ

ขอบคุณ คุณ Blank ค่ะ ที่มาเยี่ยมกัน

ชอบภาพที่นำมาฝากจังค่ะ

คนไทยโดยส่วนใหญ่แล้ว ใหลตามกระแสโลกแม้แต่ตัวผมเอง แต่วิธีพุทธก็เช่นกัน โดยเฉพาะสงฆ์แล้ว กฎและข้อห้าม 227 ข้อ ยังเพี้ยน และเปลี่ยนไปเยอะ ขาดหลักการดูแลและเอาจริง ยกตัวอย่างนะครับ เช่นพระบิณฑบาตรห้ามให้พร แก่ผู้ที่ไม่ได้ป๋วยนั้น....ผิดทุกกฎ (นั้นจริงหรือไม่ โปรดดูก่อนจากพระไตรปิฎก) ...แต่ก็ให้พรกันอย่างเป็นวัตรและปฏิบัติกันอย่างจิรงจังไปแล้ว....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท