Priyapachara
นางสาว ปรียาพัชร ตุลาเนตร

ประสบการณ์ปัญหาการเรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษของเด็กไทย


การเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับวัย โดยเร่งพัฒนาการของเด็กมากเกินไป ถือเป็นการเรียนแบบลัดขั้นตอน ทำให้ฐานความรู้ของผู้เรียนไม่แน่น ทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายการเรียนที่หนักเกินไป ไม่สามารถเก็บเรื่องที่เคยเรียนมาเป็นประสบการณ์ที่ตนเองไก้เรียนรู้ไปแล้วได้ ส่งผลให้เมื่อไปเรียนวิชาใดๆ เรื่องใดๆ ผู้เรียนไม่สามารถคิดตาม และเชื่อมโยงเอาประสบการณ์ที่ควรจะมีเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆไปใช้ได้ ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง ก็เหมือนการไรท์ข้อมูลลงแผ่นซีดี ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลไว้ในแผ่น เมื่อนำไปเปิดในคอมพิวเตอร์เราก็ควรที่จะเรียกใช้ข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเปิดได้ตลอดเวลา จริงๆแล้วสมองของคนเรามีความสามารถและซับซ้อนกว่าคอมพิวเตอร์และแผ่นซีดีเสียอีก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เด็กเองก็ไม่สามารถเก็บข้อมูล และผู้สอนเองก็ไม่สามารถจัดสภาพแวดล้อมพอที่จะสร้างความคงทนในการเก็บข้อมูลลงสมองเด็กได้ จึงไม่สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้ได้เลยเมื่อต้องการ
                ผู้เขียน ปรียาพัชร  ตุลาเนตร  เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2555

 

          ไม่ว่ายุคสมัยใด ภาษาอังกฤษก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเด็กไทย ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สนุก ท้าทาย สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ในหลายประเทศ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่ไม่ใช่กับเด็กไทย เพราะอะไร

          อาจจะเพราะการเรียนการสอนที่ไม่มีความเป็นธรรมชาติ โดยลืมธรรมชาติในการเรียนภาษาไป ควรโทษผู้สอนอย่างเดียวหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ ต้องโทษสิ่งที่เรียกว่า สภาพแวดล้อม และการเรียนการสอนทั้งระบบ ตัวผู้เขียนเองก็สอนภาษาอังกฤษมากว่า 10 ปี นอกระบบโรงเรียน ที่เรียกว่า "การกวดวิชา" หรือ "การสอนติว" ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับนักเรียนนักศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับ ประถมศึกษา ไปจนถึง ระดับปริญญาโท จากหลากหลายสถาบัน ได้ทราบการเรียนของผู้เรียน กระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคน รวมทั้งการเรียนการสอน การคิดคะแนนของแต่ละสถาบัน ได้มีโอกาสสอนทั้งแบบเดี่ยว เป็นกลุ่มใหญ่ แบบห้องเรียน และสอนแบบห้องประชุมใหญ่เกือบทั้งระดับชั้น ถ้าไม่ได้มีโอกาสสอนแบบนี้ ผู้เขียนคงไม่มีโอกาสได้ทราบว่า ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร

          ฉะนั้นจะโทษครูผู้สอนในระบบโรงเรียนเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะภาษาอังกฤษก็เหมือนๆกับวิชาอื่นๆที่ตามหลักสูตรกำหนดให้ครูผู้สอนต้องจัดการเรียนการสอน และผู้เรียนต้องเรียน เนื้อหาที่อัดแน่น จนทำให้ครูผู้สอนไม่ว่าวิชาใดๆจำต้องสอนพอให้เด็กรู้ พอให้ได้เป็นพื้นฐาน และครบตามหลักสูตรที่ถูกกำหนดให้สอน โดยไม่ได้มีเวลาเพียงพอที่จะสามารถวัดเด็กได้รอบด้าน และบังเอิญทักษะทางภาษานั้นมีหลายด้านเสียด้วย เช่น การอ่าน การเขียน ไวยากรณ์ การฟัง และการเรียนภาษาที่สองยังต้องเพิ่มคำศัพท์เข้ามาอีก จึงเห็นได้ว่า เพียงแค่สอนให้ทัน ให้ครบทุกเรื่องตามเนื้อหาหลักสูตรที่ควรจะเรียนรู้ก็ยากเต็มทีแล้ว การจะไปวัดทุกทักษะแทบเป็นไปไม่ได้ ทีนี้ปัญหาการอ่านภาษาอังกฤษและภาษาไทย มันอยู่ที่ แทบจะทุกรายที่อ่านและสะกดคำภาษาอังกฤษได้ยากลำบาก มักจะเป็นผลมาจากการสะกดคำภาษาไทยได้ยากด้วยเช่นกัน เป็นสิ่งที่ผู้เขียนทำการทดสอบด้วยตนเองมาหลายต่อราย หลายรุ่น หลายปี มาแนวนี้เหมือนกันทุกรุ่น ทุกปี บางรายเรียนถึง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับปริญญาตรีแล้ว ก็ไม่เคยรู้มาก่อนด้วยว่า ตนเองมีปัญหากับการอ่านภาษาไทย และการสะกดคำภาษาไทย

          สิ่งที่สำคัญดังที่ได้กล่าวมานี้ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องกล่าวย้อนไปถึงเรื่องการเรียนการสอนอ่านภาษาไทยสำหรับเด็กๆตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาที่เพิ่งเริ่มทำการสอนอ่านกันบ้างในวัยเด็กของผู้เขียน เริ่มฝึกอ่าน ฝึกสะกดคำ ตามช่วงวัยที่เหมาะสมคือระดับชั้น ป.1 ในวัยนี้เป็นที่ทราบว่าพัฒนาการยังอยู่ในช่วงที่พัฒนาได้ดี และเร็ว ถ้ามีการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เหมาะสม คือการฝึกเด็กให้มีกิจกรรมที่พัฒนาการทางสมองครบทุกด้าน โดยจัดกิจกรรมทางการเรียนการสอน ให้มีทั้งกิจกรรมฝึกคิดและให้เด็กได้มีโอกาสสร้างจินตนาการกับสิ่งที่เรียน  เน้นทางศิลปะ พลศึกษา ดนตรี หรือนับเลขง่ายๆ (สิ่งเหล่านี้ล่ะค่ะ ที่เรียกว่าการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ ความจริงแล้วผู้เขียนก็อยากเขียนอธิบายแบบนี้ค่ะ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กสามารถอ่านได้เข้าใจ เพราะมันเป็นศัพท์ทางการศึกษามากเกินไป ผู้เขียนก็ไม่ใคร่อยากใช้ แต่ถ้าไม่ใช้ มันก็ต้องเขียนยาวแบบนี้แล) ในวัยนี้เราไม่ควรเน้นวิชาการ หรือลงเนื้อหาวิชาการกับเด็กมากเกินไป จนเหมือนเป็นการยัดเยียด ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ไม่ว่าจะของเล่น เครื่องเล่น การคิด การเล่นบทบาทสมมติกับเพื่อน การฝึกรำ การฝึกเปียโน ทั้งหมดมีงานวิจัยรองรับว่าสามารถช่วยให้เด็กมีสมาธิขึ้น คิดสร้างสรรค์ดีขึ้น และผลการเรียนดีขึ้น แต่ผลการวิจัยไม่ได้ให้ผลแบบเดียวกันนี้กับการปล่อยให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ และดูทีวีทั้งวะน

          ในรุ่นคนเป็นพ่อเป็นแม่ลองคิดย้อนกลับไปสิว่า เราเรียนฝึกเขียนอ่านภาษาไทยกันมาอย่างไร เริ่มจากค่อยๆฝึกท่อง ตัวอีกษร ก ถึง ฮ ใช่หรือไม่ แล้วจึงมาเรียนรู้หลักการสะกดคำ มีพยัญชนะต้น มีสระ มีตัวสะกด นำมารวมกันเป็นพยางค์ เป็นคำให้เราเปล่งเสียงออกมา เป็นคำอ่าน มีมาตราตัวสะกด แม่กก แม่กด แม่กม แม่กน เป็นต้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงปริญญาตรี สะกดคำภาษาไทยไม่ได้ ผู้เขียนไม่กล้าคาดเดาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ หรือกี่เปอร์เซ็น แต่บอกได้คร่าวๆว่ามีเป็นจำนวนมาก โดยที่ตัวเด็กเอง พ่อแม่ ครูผู้สอนอาจจะไม่รู้ถึงจุดนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะถ้าดูและวัดกันจากเกรดเฉลี่ยวิชาภาษาไทยที่เด็กได้ ก็อยู่ในเกณฑ์ 3-4 จากระดับเกรด 4 สกอร์

          ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนให้ผู้เรียนอ่านคำภาษาอังกฤษ Earth ผู้เรียนเริ่มเงียบ โอเคไม่เป็นไร เรามาฝึกสะกดคำภาษาอังกฤษกันใหม่ได้ ในบางคำ แต่ทั้งที่คำนี้ถือเป็นคำคุ้นเคย ไม่ใช่คำศัพท์ยากแต่อย่างใด ทั้ง Earth และ World ก็อ่านไม่ได้ทั้งสองคำ คำว่า "Earth" ตัวผู้สอนช่วยกันไล่ เขียนเป็นภาษาไทย ได้ว่า "เอิร์ท" (เพราะต้องคงไว้ซึ่งทับศัพท์ทางภาษา) จนได้ภาษาไทยออกมาแล้ว เด็กอ่านคำภาษาไทยนั่นว่า "แอน" อ่านต่อไปอีกว่า "เอก" เดาต่อไปอีกว่า "เอิก-เอิร์ก"  ผู้เขียนเริ่มแปลกใจแล้วว่าทำไมจึงไม่ตรงมาตราตัวสะกดเสียที  เลยถามไปว่า "ท" ซึ่งเป็นตัวสะกดในคำนี้ อยู่แม่อะไรในมาตราตัวสะกด  เด็กตอบว่า "แม่กก" แล้วทำไมจึงอ่านว่า "แอน" ถ้าเป็นแม่กก แล้ว "น" อยู่แม่อะไร เด็กตอบว่าแม่ "แม่กด" เป็นแบบนี้อยู่หลายต่อหลายราย ทดสอบทุกรายที่อ่านสะกดคำภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็มาจากที่สะกดคำภาษาไทยไม่ได้ด้วย

          แล้วอย่างนั้นทำไมยังเห็นเด็กอ่านหนังสือเรียน อ่านการ์ตูนได้เจื้อยแจ้ว นั่นก็เพราะเด็กเรียนรู้จากกระบวนการจำ อ่านได้จำได้เฉพาะกับคำที่เจอบ่อยๆ พบบ่อยๆ และต้องสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด เช่น ก น ด บ ว ถ้าเปลี่ยนตัวสะกดไปเป็น ต ท ย จ ภ ผ ช เด็กจะเริ่มมีปัญหาหยุดชะงัก มันเป็นที่มาของการทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่แตกฉาน ไม่รู้ความหมายของคำ เพราะขนาดสะกดยังมีปัญหาแล้วภาษาไทยเองก็มีการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆออกมาเป็นจำนวนมาก และไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ทำให้เด็กสะกดคำลำบาก เวลาที่ต้องอ่านหนังสือสอบ แบบอ่านในใจ เด็กก็จะอ่านข้ามตัวที่สะกดไม่ได้ และเด็กไม่รู้ความหมาย ครูไม่รู้ พ่อแม่ก็ไม่รู้ และตัวเด็กเองก็จงใจข้าม พ่อแม่บางคนจึงคาดหวังว่าลูกขยัน ลูกต้องได้ ลูกต้องเก่ง ผลการสอบที่ออกมาน้อย อย่างน่าผิดหวังเพราะเหตุนี้ล่ะค่ะ ฉะนั้นเมื่อมาอ่านวิชา สังคมศึกษา กฏหมาย เศรษฐกิจ พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ และชีววิทยา ซึ่งวิชาเหล่านี้มีศัพท์เฉพาะเป็นจำนวนมาก ทำให้เด็กจำความหมายของแต่ละคนได้ยากยิ่งเหลือเกิน จึงอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถคิด ไม่สามารถจินตนาการตามไปกับเรื่องที่กำลังอ่านได้ การที่เด็กจะเข้าใจเนื้อหาที่อ่านก็เป็นไปอย่างยากลำบาก มันมีที่มาจากเหตุนี้ค่ะ  เพราะในทางวงการศีกษาแล้ว เชื่อว่า สมองและความฉลาดของมนุษย์ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

          แล้วทำอย่างไร เด็กบางคนจึงได้เกรดออกมาดี นั่นคือ สำหรับเด็กที่มีความขยันและพยายามมากหน่อย ก็จะช่วยเหลือตัวเองโดยการอ่านหลายรอบ ซ้ำๆ นั่นคือ "การท่องจำ" หลายคนจะสงสัยว่า แล้วมันไม่ดีหรือ ที่เด็กขยันอ่าน ขยันท่อง ตอบได้เลยว่า ดีค่ะ แต่มันใช้ได้กับการอ่านเพื่อทำเกรดที่โรงเรียนได้เท่านั้น จะเกิดปัญหากับตัวเด็กเองระยะยาว  เมื่อต้องพบกับข้อสอบวิเคราะห์ ข้อสอบจากส่วนกลาง ข้อสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อต่างๆ หรือแม้แต่อ่าน ข่าวสาร รอบตัวจากสื่อต่างๆ เพียงเท่านั้นเด็กก็จะเข้าใจได้ยากแล้ว  เนื่องจากสิ่งที่ท่องมาโดยไม่มีความเข้าใจ จะไม่สามารถเชื่อมโยงไปใช้ หรือนำไปวิเคราะห์ข้อสอบอื่นๆได้เลย แม้ข้อสอบนั้นจะเป็นภาษาไทยก็ตาม

 

          จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเรียนรู้ของเด็ก ปัญหาการเรียนการสอนในปัจจุบัน ที่มีการปรับหลักสูตรใหม่ ให้มีการเร่งพัฒนาการของผู้เรียนมากเกินไป จากที่ควรจะเรียนรู้ตัวอักษร สระ ตัวสะกด กลับกลายเป็นต้องมาสอนอ่านกันเป็นเรื่องเป็นราว เป็นเรื่องยาวๆกันตั้งแต่อนุบาลเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นการเร่งพัฒนาการของผู้เรียนมากเกินไป เสมือนเป็นการลัดขั้นตอน ทำให้ฐานของผู้เรียนไม่แน่น จนกลายเป็นปัญหากับการเรียน เขียน อ่าน วิชาภาษาอังกฤษและวิชาอื่นๆไปด้วย นอกจากนั้น ยังทำให้เด็กยังคิดจะหาทางลัดทุกอย่างไม่ใช่เฉพาะการเรียน วิชาภาษาอังกฤษเด็กยังต้องมาถามวิธีลัด ทำให้ตัวเองเก่งขึ้นในบัดดล ตอบได้เลยว่า มันไม่มีหรอกค่ะ ภาษาต่างๆ ถือเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน อาศัยการเก็บประสบการณ์ ไม่มีครูคนไหนมีวิธีลัด สูตรลัด และไม่สามารถสอนใครให้เก่งขึ้นทันตาภายในระยะเวลาอันสั้นด้วยพื้นฐานความรู้น้อยนิด ทำให้เกิดคำถาม สำหรับครูรุ่นเก่า หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง หลายๆท่านที่สนใจการเรียนของลูกๆ เมือลองเปิดหนังสือหรือกระกระเป๋าของลูกๆแล้วพบว่า เด็กอายุเพียงแค่อนุบาล กับ ป.1 ต้องอ่านต้องเรียนกันขนาดนี้แล้วหรือ จะเร่งรัดให้อ่าน ให้เขียนได้เร็วไปเพื่ออะไรกัน? ถ้าเด็กอ่านออกเสียงได้เป็นนกแก้วนกขุนทองได้ตั้งแต่อนุบาล แล้วอย่างไร? เด็กสามารถเข้าใจเรื่องที่อ่าน และนำไปใช้ได้หรือ นี่ต่างหากคือนัยสำคัญของการเรียนรู้ตามวัย 



ความเห็น (5)

สำหรับน้องๆนักเรียน นักศึกษาที่อ่านเรื่องนี้แล้ว ก็รอติดตาม การสอนวิเคราะห์บทความต่อนะคะเป็นความสามารถด้านการอ่าน ต่อไปค่อยเป็นภาษาอังกฤษ ไม่รู้จะทันสอบกันมั้ย

คาดว่าทันโควตา ของแต่ละสถาบัน ซึ่งไม่ได้มีวิเคราะห์มากค่ะ และทันสอบ GAT ส่วน โควตา นิติศาสตร์ มธ กับ smart I ที่ต้องใช้เนื้อหานี้จริงๆ ไม่แน่ใจว่าทันรอบสุดท้ายหรือไม่ ใครทราบแจ้งข่าวที

ขอบคุณ อ. ธ.วั ช ชั ย ที่มาติดตามกันค่ะ

@ปณิธิ ภูศรีเทศ : ขอบคุณที่มาติดตามกันค่ะ

Like if you like liking likes liking like like likers liking like like liked like liking likes.

 ลูกชายพี่เขียนประโยคนี้ไว้ แปลไงดีเอ่ย..

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท