A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ลูกเสือ..กิจกรรมเก่า.แม้ยังไม่แก่ แต่น่าเสียดาย... (ตอนที่ ๒)


กิจกรรมลูกเสือแสนสนุก และท่้าทาย แต่น่าเสียดายที่สะดวกและสบายเกินไป..

          ในกรุงเทพฯ มีข่าวนักเรียนตียกพวกตีกันบ่อยขึ้น  เด็กวัยเรียนแข่งซิ่ง (Racing)กันมากขึ้น แล้วนักข่าว ผู้คนทั่วไปก็วิจารณ์ถึงความเลวร้ายกันอย่างเซ็งแซ่  แต่ข่าวก็ไม่ซาลง

          ในต่างจังหวัด ข่าวนักเรียนเอาแบบดารา หญิงตบตีกันแย่งชิงชาย ชายเป็นกะเทย (Tutsie) มากขึ้นและแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง ข่าวก็มากขึ้นทุกวัน นักข่าวและผู้คนก็วิจารณ์เซ็งแซ่ไม่แพ้ข่าวจากกทม.แต่ข่าวร้ายเหล่านั้นก็ไม่ซาลง เช่นกัน มิหนำซ้ำกลับเป็นค่านิยมใหม่ ชายกะเทย หญิงหงส์หยก

          มองผิวเผิน ก็คล้ายกับเด็กวัยเรียนเหล่านี้ มีเวลาว่างมากเกินไป หรือไม่ก็ใช้เวลาว่างในทางที่ผิด เมื่อทำผิดก็ถูกลงโทษ เป็นคดีความบ้านเมืองบ้าง เข้าสถานกักกันบ้าง หรือไม่ก็กลายเป็นหัวโจก  ร้อนถึงทหารต้องแบกหน้าที่ดัดสันดานทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ เพื่อจะให้เยาวชนเหล่านั้นเป็นคนดี เป็นพลเมืองอย่างที่ควรจะเป็น   

          ในวูบหนึ่งของความคิดจากค่ายพักแรมลูกเสือ เราคิดถึงการใช้เวลาของลูกเสือในค่ายพักแรม ลูกเสือต้องจัดระเบียบตัวเอง ต้องแบ่งงานกันทำ ต้องรับผิดชอบต่อคนอื่นๆ  เพียงชั่วระยะเวลาสามคืนสีวันที่อยู่ร่วมกัน มีแบบอย่างของ “สิ่งที่ควรทำ”  “สิ่งที่ไม่ควรทำ” เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาลูกเสือเหล่านั้นตลอดเวลา หมูใดผู้กำกับรู้ทัน สอนเป็น ก็หยิบมาเตือนและสอน  หมู่ใดผู้กำกับรู้ไม่ทัน ก็สอนไม่เป็น ลูกเสือหมู่นั้นก็เป๋ งานก็รวน  เพียงชั่วเวลาไม่ถึงชั่วโมง ผลงานก็แสดงผลกรรมออกมาด้วยตัวของมันเอง 

          ในค่ายพักแรมลูกเสือ อุดมด้วยครูและผู้กำกับที่ผ่านร้อนหนาวมามากมาย บางคนผมก็สองสีแล้วด้วยซ้ำ บางคนคุณวุฒิมากถึงสี่ท่อน บางคนคุณวุฒิทางการศึกษาก็สูงถึงมหาบัณฑิตหรือดุษฎีบันฑิต หากจับเอาสิ่งที่ควรและไม่ควร มาแนะนำกันในช่วงของอยู่ร่วมกัน กินนอนด้วยกันก็คงดีใม่น้อย “ตีเหล็กกำลังร้อน” “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าทำเอง”  น่าจะบอกถึงการสอน และการใช้งานในชีวิตจริง ๆกับงานลูกเสือได้อย่างชัดเจน  งานก็บอกถึงคุณภาพคน  คนก็บอกถึงคุณภาพงาน แต่เดี๋ยวนี้ เราก็ไม่เห็นการหุงหาอาหารกันเอง การดูแลความเป็นอยู่ อาบน้ำอาบท่ากันเอง หรือกระทั่งการใช้วิชาลูกเสือที่เรียนกันตั้งหลายเล่มก็แทบไม่ได้ใช้เลยในการพักแรม  และคงเป็นเรื่องขำกลิ้งแน่ๆ  ถ้าหากการเข้าค่ายพักแรมของลูกเสือ ปรากฏว่าลูกเสือหุงข้าวไม่เป็น หรือตั้งเต๊นท์ไม่ได้  หรือฝนตกแล้วหลบฝนไม่พ้น

 

          ไม่ว่าแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  จะทรงวางไว้เช่นไร แต่สิ่งที่เราได้พบแก่ตัวเองก็คือ กิจกรรมลูกเสือนั้น ขัดเกลานิสัยของเยาวชนได้แน่นอน และยังขัดเกลานิสัยของผู้กำกับด้วย นิสัยเหล่านี้ หากฝึกได้จนเป็นนิสัยก็คงติดตัวมาถึงความประพฤติในชีวิตประจำวันได้ด้วย “จงเตรียมพร้อม” เสียชีพอย่าเสียสัตย์” “บริการ”  ถ้าได้ทำตามแบบอย่างของกิจกรรมลูกเสือให้จริงจัง ลูกเสือก็จะกลายเป็นพลเมืองที่มีวินัย มีคุณค่า และมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

          นักเรียนยกพวกตีกัน ทหารก็เข้าไปเข้าค่ายอยู่ร่วมกัน  นักเรียนหญิงชายที่ตบตีกัน ติดยาเสพย์ติด หรือมีปัญหาเรื่องอื่นใด  ก็มักถูกนำไปเข้าค่ายอบรม  ในทางกลับกันถ้าหากเราเข้มงวด ทำให้ค่ายพักแรมของลูกเสือ เป็นค่ายที่เข้มข้น แข็งขัน ปัญหานักเรียนและเยาวชนที่กำลังปวดหัวอยู่นี้ น่าจะลดลง และเราคิดว่าน่าจะดีและประหยัดเงิน กว่าเอานักเรียนหรือเยาวชนเหล่านั้นไปเข้าค่ายทหาร  คิดอย่างเลวร้าย อย่างไรเสียก็ต้องถูกเอาไป “เข้าค่าย” อยู่แล้ว  ก็ปรับยุทธวิธีของลูกเสือให้การเข้าค่ายมันทันสมัย ใช้คุ้มค่า น่าจะดีกว่า

          เสียดายแต่ทุกวันนี้ ไม่รู้ว่าแนวคิดใดทำให้กิจกรรมลูกเสือที่สนุกสนาน ท้าทายความรับผิดชอบ ทดสอบคุณค่าความเป็นคนในตนเอง กลายเป็นความสะดวกสบายแบบงานรวมกลุ่มชุมนุมสังสรรค์ (Party) มากเกินไป

          กิจกรรมที่มีคุณค่า จึงกลายเป็นกิจกรรมที่เสียเงินและเวลาเปล่า อย่างน่าเสียดาย...

หมายเลขบันทึก: 502398เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2012 04:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2012 04:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท