"รถกับข้าว" กับวัฒนธรรม "ซื้ออยู่ ซื้อกิน"


เมื่อก่อนบ้านเรามี "ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ" ปลูกข้าว เก็บผัก หาปลา มาทำอาหาร

เมื่อสักครู่นี้ประมาณเวลา 04.30 น. ผมได้ยินเสียงเปิดประตูห้องชั้นบน และสักพักแม่ผมก็เดินลงมา

"แม่ตื่นเช้าจัง" ผมยังไม่ได้นอนเลย

แม่ก็เลยบอกว่า วันนี้สั่งขนมถ้วยฟูเขาไว้

ซักพักก็มาครับ "ขนมถ้วยฟู" (สีสันน่ากลัวจังครับ)

ตอนแรกผมก็งง ๆ ครับ ว่าใครที่ไหนจะเอาขนมมาส่งตั้งแต่ไก่โห่ขนาดนี้ แต่พอเดินเข้าไปรับขนมหน้าบ้านก็ต้องตกกะใจกับความคึกคักของ "รถกับข้าว" มากมาย จอดเต็มหน้าบ้านไปหมดเลยครับ บัดนั้นเมื่อจ่ายเงินค่าขนมถ้วยฟูเสร็จ ก็ต้องรีบเดินกลับมาคว้ากล้องเดินออกไปถ่ายรูปในทันที

 

บ้านผมอยู่ในตลาดครับ อยู่ห่างจากธนาคารไม่กี่สิบเมตร เมื่อก่อนพ่อผมก็ทำงานอยู่ธนาคารนี้แหละครับ และแถว ๆ นี้ก็เต็มไปด้วยร้านโชว์ห่วยและร้านค้าขายส่งมากมาย รถกับข้าวกว่า 40 คันในแต่ละวันที่ต้องมาซื้อของและรับของบริเวณตลาด

"รถกับข้าว มาแวะซื้อของ"

ซื้อแล้วไปไหน

"เข้าไปขายในชุมชน"

ความเจริญและความสะดวกสบายกำลังจะเข้าไปเคาะประตูถึงหน้าบ้าน

วัฒนธรรมไทย "ทำอยู่ ทำกิน" กำลังถูกทดแทนด้วย การ "ซื้ออยู่ ซื้อกิน"

พ่อค้า แม่ค้า ก็ค้นหาวิธีทำมาหากิน โดยมุ่งเป้าไปที่การตอบสนองความสะดวกสบาย ในการเพิ่มอุปสงค์และความต้องการของพี่น้องต่าง ๆ ในชุมชน

พ่อค้า แม่ค้า ทำอาชีพ "หาเงิน หาทอง"

พี่น้อง ชุมชน ทำอาชีพ "ซื้ออยู่ ซื้อกิน"

ความยากจน เกิดจาก รายได้ของคนไทยน้อยลง?

หรือว่า

ความยากจน เกิดจาก ค่าใช้จ่ายของคนไทยมากขึ้น?

เมื่อก่อนบ้านเรามี "ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ" ปลูกข้าว เก็บผัก หาปลา มาทำอาหาร

ในปัจจุบัน ทำงาน หาเงิน ซื้อข้าว ซื้ออาหาร ทำทุกอย่างเพื่อ "ซื้อ" ซื้อทั้งอยู่ ซื้อทั้งกิน มีรายได้เท่าไหร่ถึงจะพอ เมื่อทุกอย่างเราได้แต่ซื้อ

เมื่อสิ่งเสนอมาพบกับสิ่งสนอง ทุกอย่างก็ลงตัวและดูทีท่าจะขยายวงใหญ่ขึ้น

ตลาดในชุมชน ถึงทดแทนด้วยรถกับข้าว มีทั้งรถกระบะและรถมอเตอร์ไซด์ หรือบางที่เรียกว่า "รถโชว์เล่" มีตระกร้าพ่วงท้าย มีกับข้าวถุงเล็กถุงน้อยเต็มคันรถ

ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ที่เคยปลูกไว้ข้าง ๆ บ้าน ผักสวนครัวรั้วกินได้

จะปลูกกันไปทำไม

บาทสองบาทก็ซื้อได้ ไม่ต้องปลูกให้เสียเวลา

วัฒนธรรมแห่งความสะดวกสบายที่แฝงมากับระบบทุนนิยมนี้ กำลังกลืนกลินวัฒนธรรมของเราทีละนิด ทีละนิด

โดยเฉพาะ "เด็กรุ่นใหม่" วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา

รีบกิน รีบใช้ รีบไป รีบมา รีบมาก ๆ ทำไม่ไหว ซื้อง่าย ๆ "ดีกว่า"

 

ระบบการค้า และระบบเศรษฐศาสตร์ที่ลืมนึกถึงเรื่อง "ของเสีย" ที่จะก่อให้เกิดขยะอย่างมากมายในชุมชน 

 

การตลาดเชิงรุก ที่เดินเข้าไป "บริการ" ท่านถึงหน้าประตูบ้าน

ตลาดและร้านโชว์ห่วยในชุมชนจะอยู่ได้หรือไม่ นั่นก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งมีต้นเหตุจาก "ตลาดเคลื่อนที่" เหล่านี้

ตลาดที่ไม่ต้องเสีย "ภาษี"

ภาษีการค้า ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน

ต้นทุน และความได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน....

ร้านค้าที่ดำเนินการตลาดเชิงรับ เปิดร้านรอให้ลูกค้าเดินเข้ามา

รถค้าที่ดำเนินการตลาดเชิงรุก เปิดท้ายส่งตรงถึงหน้าประตูบ้าน

และปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย

ปัญหาที่แลกมาด้วยความสะดวกสบาย

ปัญหาที่เหมือนเป็นปัญหาเล็ก แต่นี่แหละคือ "ต้นเหตุแห่งปัญหา"

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการดำเนินชีวิต 

แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีครับ

ทำน้ำยาซักผ้า ปลูกผัก ใช้ปุ๋ยชีวภาพ OTOP วิสาหกิจชุมชน Q มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชุมชน ทอผ้า รักษาสิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ห้ามชุมชนเข้าไปทำมาหากิน แต่ให้คนภายนอกเข้ามาท่องเที่ยว เหยียบย่ำ และย่ำยี สิ่งต่าง ๆ ในชุมชน เหรอครับ?

"นโยบายแบบโดด ๆ มีแต่ต้นไม้ แต่ไม่มีป่า ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ"

"ขาดซึ่งระบบนิเวศทางสังคม แบบระบบนิเวศแบบผู้นั่งรอรับความเอื้ออาทร" 

"ระบบเมื่อไหร่จะทำให้ฉัน"

ระบบที่สร้างและเสริมความอยากที่อยู่บนพื้นฐานของความสะดวกสบายของมนุษย์

ใครบ้างล่ะที่ไม่อยากสบาย

สิ่งอำนวยความสะดวก ของอำนวยความสะดวก และ "อาหารอำนวยความสะดวก"

ลัทธิบูชาเงินและสังคมบ้าบริโภค ที่เน้นในการกระตุ้นการสร้าง GDP สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นให้ชุมชน "ใช้จ่ายเงิน"

ซื้อ ๆ ๆ ๆ และซื้อ โดยไม่คำนึงถึงระบบ "วิถีชีวิต"

ไม่มีซื้อ ก็ "ยืม"

ยืมไม่ได้ ก็ "กู้"

กู้ไม่ได้ ก็ "ขาย"

ขายไม่ได้ก็ "ขโมย"

ปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย

ที่ดิน ตกไปอยู่ในมือของ "นายทุน"

หนี้สินที่ใช้กันไม่มีวันจบสิ้น กู้หนี้มาใช้หนี้ หมุนวนกันไปอย่างไม่รู้ว่าวันใดจะใช้หนี้กันหมด

ผักที่ผัด ปลาที่ทอด น้ำที่กิน น้ำพริกที่ตำ ข้าวทุกเม็ดที่หุง ได้มาจากการ "ซื้อ"

 หน่วยงานต่าง ๆ ของบประมาณ ส่งโครงการไปแก้ (สร้าง) ปัญหา

เก็บข้อมูล จัดเวที ทำกรณีศึกษา สร้าง Model จัดซื้ออุปกรณ์ อบรมการประกอบอาชีพ ศึกษาวิจัย 

"เห็นใจชุมชนจังเลย"

เข้าใจชุมชนกันเถอะครับ อย่าเห็นใจเขาเลย

เขาถูกเห็นใจมานานมากแล้ว 

"ปล่อย" ให้เขาได้ลืมตาอ้าปาก และยืนด้วยตนเองบ้างเถอะครับ

"ปล่อยให้เขา มิใช่ ช่วยให้เขา" ไม่มีใครช่วยกันได้ตลอดหรอกครับ การช่วยมิใช่ทางออกที่ยั่งยืน

"ปล่อย" ให้เขามีชีวิต มีเวลาประกอบอาชีพ เวลาทำมาหากิน เวลาที่จะอยู่กับครอบครัว เวลาที่จะนั่งสูดลมหายใจแล้วนึกย้อนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นมาและเป็นไป 

"ปล่อย" ให้ใจเขาของล่องลอยไปในวิถีแห่งความเป็นไทย

"ปล่อย" ให้ตัวของเขาได้สัมผัสพื้นดินของประเทศไทย ที่มีความเป็นไท

"ปล่อย" ให้ทุกสรรพสิ่งได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ตามวิถีแห่งความถูกต้องและเหมาะสม

ชีวิตใคร ใครก็รัก

"ปล่อยบ้างเถอะครับ"

แก้แบบไม่ต้องแก้ แค่ทำหน้าที่ (หลัก) ของตนเองให้ที่สุด

แล้วทุกสรรพสิ่งจะเข้าสู่จุด "สมดุล"

สมดุลแห่งสมดุล

หมายเลขบันทึก: 50156เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 05:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
เข้ามาทักทายค่ะ และขอบคุณค่ะกับสิ่งสะกิดใจจากเพื่อนชาว G2Kคนนี้ พักผ่อนบ้างนะคะ เป็นห่วงค่ะ

ตอนนี้เข้าใจ ว่าอาจารย์ปภังกร ติดเครื่องแล้ว...ผมเข้าใจว่า อะไรก็ฉุดอาจารย์ปภังกรไม่อยู่ครับ พี่พัชรา

ให้กำลังใจครับ...เราไปด้วยกัน 

  • พักผ่อนบ้างนะครับ รถขายของที่อาจารย์เล่าผมได้ยินเขาเรียกว่า "รถพุ่มพวง" ครับ
  • เรายังมีสิ่งที่ต้องคิด ต้องทำเพื่อสังคมนี้อีกมากมาย เฉพาะเท่าที่อาจารย์เล่ามาก็หนักและใช้เวลามากครับ
  • แต่เราคงต้องช่วยกันในทุกๆ ส่วน ตามบทบาทและหน้าที่ของตนและเชื่อมกันเป็นเครือข่าย
  • ตามบทบาทหน้าที่อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะส่วนมากยังติดกรอบฯ ต้องคิดและทำออกนอกกรอบไปด้วย
  • เริ่มต้นอาจที่จุดเล็กๆ สร้างความยั่งยืน และค่อยๆ ขยายวงออกไป
  • ผมทำทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการครับ เพราะวิธีแก้มีหลายทาง แต่มีความเชื่ออยู่นะครับว่า ชุมชนที่เข้มแข็งด้วยตนเองยังมีอยู่มากในบ้านเรา รอการเข้าไปเรียนรู้และนำไปสู่การ ลปรร.ในวงกว้างต่อไป
  • ขอส่งแรงใจมาให้ครับ
  • ทึ่งในความคิดของอาจารย์ค่ะ
  • แต่ฟังดูเครียด...เครียด นะคะ
  • สังคมเปลี่ยนไป สภาพการดำเนินชีวิตจึงเปลี่ยนด้วย
  • ที่บ้านของดิฉัน คุณพ่อยังปลูกมะกรูด มะนาว กล้วย มะละกอ พริก มะเขือ ฯลฯ กินเอง แต่ก็มีบ้างที่ซื้อตามรถที่เขามาเร่ขายค่ะ
  • ที่จริงถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็ดีนะคะ เห็นการปรับตัวของชาวบ้านอีกแบบหนึ่ง...ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์นะคะ...เพราะหลายส่วนที่อาจารย์สะท้อนในเรื่องนี้เป็นความจริงค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ ที่ถ่ายทอดเรื่องดี ๆ มาให้อ่านและจุดประกายความคิดอยู่เสมอ
  • ใคร ๆ ก็อยากให้อาจารย์พักผ่อนบ้าง....ท่าทางว่าช่วงนี้อาจารย์จะมีงานเยอะ
  • ขออนุญาตเป็นกำลังใจให้อาจารย์อีกสักคนนะคะ

ขอบคุณมากนะครับ ที่เล่าเรืองราวดีๆ ให้ฟัง

ตอนเด็กๆ ย่าผมมักจะบอกว่า การซื้อกับข้าวถุงแสดงว่าเรามักง่าย ขี้เกียจ ไม่ยอมทำกับข้าว อีกอย่างถ้าไม่ทำกับข้าว และผีบ้านผีเรือนจะกินอะไร  แม้ไม่ทำกับข้าว อย่างน้อยก้ต้องก่อไฟในเตาทิ้งไว้

แต่เดียวนี้ บางครั้งผมก็ต้องพึงพารถกับข้าวนะ เพราะมันสะดวก และอีกอย่าง ผมพบว่า การซื้อกับข้าวถุงทำให้เราไม่ต้องเครียดกับการคิดว่า วันนี้จะซืออะไรมาทำกับข้าวดี (เหมือนผลักภาระ แต่มันเป็นเรืองจริง) มีงานวิจัยนะว่า การคิดหาของมาทำกับข้าว เป็นส่วนหนึ่งของความเครียดในชีวิตประจำวัน

ไม่เชื่อ ลองถามแม่บ้านทั้งหลายดูนะครับ

อาจารย์ พี่เข้ามาทักทายนะ มีประโยคมาฝาก เก็บมาจากนวนิยายรัก ความรักแม้เริ่มต้นเพียง 1% แต่ถ้าหมั่นเติมเต็มทุกวันไม่ท้อถอย ถึงแม้ว่าจะไม่เต็ม 100% อาจเพิ่มเพียง 1% หรือ99% แต่มันก็เพิ่มขึ้นนะ ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องความรักนะ แต่จะบอกการทำงานนะ ก็เหมือนความรักไง เพิ่ม 1% ก็พอแล้ว (ภาษานักบัญชี การแสดงความคิดเห็นก็ต้องเป็นตัวเลขนะจ๊ะ)

 อ่านแล้วกระชากความคิดมากเลยครับ เพราะผมเจอสภาพนี้ตั้งแต่เด็กจนโตเหมือนกันเลยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ

การซื้อข้าวกินพูดไปก็เข้าตัวครับเพราะผมก็ซื้อกินเช่นกัน

แต่หลังจากเพาะกายมาสักระยะ จึงเข้าสู่ระบบโภชนาการนักเพาะกายไปด้วย

ถึงได้รู้ว่าพวกมืออาชีพจะทำอาหารเอง!!

ถ้าไม่มีเวลาก็จะจ้างพ่อครัวหรือเข้าร้านอาหารที่ทำพิเศษต่างหากสำหรับพวกนักเล่นกล้ามเพราะต้องการสารอาหารพิเศษที่ครบถ้วน

ที่พูดมาไกลนี้เพราะอยากบอกว่า ทุกวันนี้ผมและอีกหลายๆ ท่านฝากชีวิตไว้กับแม่ค้าที่ขายกับข้าว คิดว่าคุ้มไหมครับ

ความพอเพียงกับ(สาร)อาหารนั้นเป็นเรื่องสำคัญ อย่าสั่งแต่อาหารสิ้นคิดนะครับ เดียวจะขาดสารอาหารบางตัวจนเป็นโรคไป (ทุกวันนี้เราขาดผักจนโรคอ้วนถามหากันใหญ่)

กระเพราไข่ดาวทีนึงคร้าบ

 

วัฒนธรรมแปลว่าการปฏิบัติที่พัฒนาแล้ว แต่การซื้อกินน่าจะเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงหรืออย่างมากก็ประเพณีมากกว่านะครับ

ผมก็กำลังมองเรื่องนี้เหมือนกัน

เราเริ่มมาจาก

๑. การหาอยู่หากิน ในยุคโบราณที่ทรัพยากรยังสมบูรณ์

๒. การทำอยู่ทำกิน ในยุคพัฒนาการเกษตรแบบยังชึพ พึ่งพาตนเองได้

๓. การทำกินเหลือขายจนทรัพยากรพื้นฐานเสื่อมโทรม เริ่มพึ่งภายนอก ที่ทำให้ระบบทุนทางทรัพยากรและสังคมเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เพราะเท่าไหร่ก็ไม่ทันใจการขาย

๔. การทำขายซื้อกิน ที่เน้นการพึ่งพาภายนอกอย่างรุนแรง แทบจะไม่เป็นตัวของตัวเอง ทุกอย่างเสื่อมโทรม ทั้งธรรมชาติและสังคม

๕. การยืมอยู่ยืมกิน ที่ไม่มีอะไรเป็นฐานมีแต่เอาอนาคตมาใช้ ทั้งอนาคตของตนเองและผู้อื่น อันนี้แหละที่น่ากลัวที่สุด ที่ทางรัฐบาลพยายามอย่างสุดแรงในทุกเรื่องที่จะ "แปลงสินทรัพย์ให้เป็นหนี้" ไม่รู้จะทรมานกันไปถึงไหน แค่นี้ก็ยังไม่สะใจท่านอีก ผมยังนึกไม่ออกว่าต่อไปจะเป็นอะไร ใครคิดออกช่วยบอกด้วยครับ

จริงๆแล้วไม่อยากได้ยินคำตอบหรอกกลัวจะร้ายกว่านี้  

แต่ถ้าเราปรับมาหาเศรษฐกิจพอเพียงคงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่คิดออกตอนนี้

  • เห็นไม๊ล่ะ...เป็นเพราะหายหน้าหายตาไปตั้งนานสองนาน อัดอั้นล่ะสิ
  • กลับมาคราวนี้ เลือดในกายพุ่งพล่าน ปานปรอทจะแตก
  • เหตุมาจากขนมถ้วยฟู 2 ถุงแท้ๆ เลยเชียว..

                                         

  • ขอบพระคุณคุณพัชราเป็นอย่างสูงครับที่เข้ามาเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจเสมอมาครับ
  • ขอบพระคุณสำหรับความห่วงใยอย่างสูงครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้จงสถิตกับท่านตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณอาจารย์จตุพรมาก ๆ ครับ
  • ตอนนี้เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ครับ
  • พร้อมที่จะสู้ทุกสถานการณ์ครับ
  • อาจารย์กลับมาพร้อมเหมือนเดิมแล้วใช่ไหมครับ
  • มาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนี้ร่วมกันนะครับ
  • ขอพลังแห่งศรัทธาจงสถิตอยู่กับท่านตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณมาก ๆ เลยครับพี่วียรยุทธสำหรับความห่วงใยครับ
  • "รถพุ่มพวง" ใช่เลยครับ ผมลืมคำนี้ไปสนิทเลยครับ
  • รถโชเล่ รถพุ่มพวง พี่พอทราบที่มาของชื่อไหมครับ
  • หลาย ๆ สิ่งที่พี่พูดมามีประโยชน์มาก ๆ เลยครับ
  • วิธีการเดียวอาจจะไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป ต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างเช่นที่พี่บอกครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้และปัญญาจงสถิตกับท่านพี่ตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณคุณปวีณาเป็นอย่างสูงเลยครับ
  • สำหรับผมไม่มีปัญหาเลยครับ สิ่งที่ไม่เห็นด้วย เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ๆ เลยครับ เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยต่อยอดให้ผมและทุก ๆ ท่านได้ไปคิดต่อได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยครับ
  • ที่เครียด ๆ กันบันทึกนี้ก็เพราะว่า เริ่มเห็นสภาวะการถูกกดขี่และการหาประโยชน์จากกลุ่มคนภายนอกเข้าไปเยอะมากครับ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่
  • ชุมชนต้องปรับตัวอย่างมากเลยครับ ปรับตัวแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวน่ะครับ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับสำหรับการแลกเปลี่ยนที่ดี ๆ และทรงคุณค่ายิ่งนี้ครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้และปัญญาจงสถิตกับท่านตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณอย่างยิ่งเลยครับคุณคนไกล
  • ผมมิได้มีเจตนาว่าคนในชุมชนมักง่าย หรือขี้เกียจอย่างไรเลยครับ เพราะปัจจุบันผมก็ซื้อกับข้าวถุง และอาหารกล่องทานเป็นประจำอยู่เช่นเดียวกันครับ
  • จุดประสงค์หลัก ๆ ของบันทึกนี้มีอยู่สองประการครับ
  • ประการแรกก็คือ จะชี้ให้เห็นถึงกลุ่มธุรกิจที่เข้าจัดสรรสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามมาน่ะครับ
  • ประการที่สองก็คือ การแก้ไขปัญหา ก็จะถูกมองว่าเป็นปัญหาของคนในชุมชน แต่บางครั้งหน่วยงานก็ลืมมองที่ต้นเหตุ ที่เข้าไปยื่นข้อเสนอต่าง ๆ แบบเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะลืมนึกผลที่ตามมา ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือเรื่องขยะน่ะครับ
  • สำหรับประเด็นการทำกับข้าวแล้วเพิ่มความเครียดนี่ เป็นประเด็นที่น่าคิดมาก ๆ เลยครับ ถ้าคิดได้อย่างไรแล้วจะนำมาเขียนเป็นบันทึกแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมนะครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้และปัญญาจงสถิตกับท่านตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณอย่างยิ่งเลยครับพี่อิ๋วที่เข้ามาทักทายและเก็บสิ่งที่ดี ๆ มาฝากด้วยครับ
  • แหม เดี๋ยวนี้อ่านนิยายรักด้วย
  • เป็น 1% ที่มีคุณค่ายิ่งเลยครับ
  • สำหรับเรื่องที่คุยค้างกันไว้นั้น ไม่ได้ท้อหรอกครับ แต่ขอถอยหลังเข้าคลองกลับมาคิดถึงที่มาที่ไป เพื่อวางแผนและเดินไปอย่างมั่นคงครับ
  • ตอนนี้ก็ได้คำตอบมาหลาย ๆ ตัวด้วยกันครับ อันหนึ่งก็คือ เรื่องของ R2R เป็นประโยชน์มากครับ
  • ถ้าอย่างไรมีโอกาสไปอุตรดิตถ์ จะขออนุญาตไปเสวนาฉันกัลยาณมิตรกับพี่อีกนะครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้และความเพียรจงสถิตกับพี่ตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณท่านจันทร์เมามายมาก ๆ ครับ
  • เรื่องซื้อกับข้าวกิน ก็เข้าตัวผมเหมือนกันครับ
  • เป็นปัญหาโลกแตกเลยครับ เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันเลยครับ
  • ดังเช่นที่ผมเคยปุจฉาเรื่องคนซื้อกับตลาดใครเกิดก่อนกันน่ะครับ
  • แต่ปัญหาหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากรถพวกนี้มีมากมายมหาศาลเลยครับ ทั้งคนซื้อ ที่ถูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยตรง และอีกอย่างหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปก็คือ ตลาดและร้านค้าต่าง ๆ ในชุมชน ที่ถูกฆ่าและกลืนกินโดยปริยายครับ
  • เราเคยมีประเด็นเรื่อง ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่กันมามากมาย เดินขบวน ร้องเรียนกันมาก็มาก
  • ปัจจุบันรถเหล่านี้ "ร้าย" ยิ่งกว่าห้างค้าปลีกเหล่านั้นหลายเท่าเลยครับ เข้าไปทำลายแบบเคาะประตูบ้านเลย
  • ทำลายที่อยู่บนพื้นฐานของความสะดวกสบาย
  • สำหรับอาหารสิ้นคิดนั้น เป็นอาหารที่ผมชอบมากเลยครับ "ผัดสิ้นคิด" ผัดกระเพราไก่ไข่ดาว ได้อ่านบันทึกของคุณจันทร์เมามายหลาย ๆ ชิ้นที่พูดถึงเรื่องอาหารแล้วก็ขยาดอาหารสิ้นคิดนี้ไปเหมือนกันครับ
  • ขอขอบพระคุณอีกครั้งครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้และสุขภาพดีจงสถิตกับท่านตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณท่าน ดร.แสวงมาก ๆ เลยครับ
  • เป็นการเติมเต็มที่ทำให้ผมเข้าในถึงความเป็นไปในยุคต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และโดยเฉพาะความแตกต่างของประเพณีกับวัฒนธรรมครับ
  • สำหรับทางออกนั้น ก็คิดเช่นเดียวกันท่านอาจารย์ครับ ตอนนี้ก็พยายามที่จะหาวิธีการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่นี้ก็ลองใช้ตนเองวิเคราะห์และสังเคราะห์หาวิธี ปัจจัยและดัชนีชี้วัดครับ
  • ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ
  • แหม ป้าบวมกับท่านmoomi ทายแม่นเหมือนตาเห็นเลยครับ
  • ตอนนี้เลือดรักชาติพลุ่งพล่านแทบจะระเบิดออกมาเลยครับ
  • แต่ขนมถ้วยฟูไม่ค่อยกล้าทานเท่าไหร่ครับ เห็นสีแล้วน่ากลัว
  • รอทานข้าวผัดของป้าบวมที่บางขวางดีกว่าครับ
  • คิดถึงทุก ๆ ท่านมากเลยครับ
  • ขอพลังแห่งความรักจงสถิตอยู่กับเราตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณอาจารย์จันทรรัตน์มากครับ
  • ผมก็ชอบแนวความคิดของท่านดร.แสวงเช่นกันครับ ท่านมาเติมเต็มและต่อยอดได้อย่างดียิ่งเลยครับ
  • ขอบพระคุณทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้และปัญญาจงสถิตกับทุก ๆ ท่านตลอดไปครับ

สวัสดีค่ะ

เพิ่งเข้ามาครั้งแรก

ตอนนี้กำลังทำสัมนาเรื่อง "ครัวรถเร่"หรือ "รถกับข้าว" ในจังหวัดเชียงใหม่

ไม่นึกว่าที่อื่อนก็มีด้วย แถมเรียกไม่เหมือนกันซะอีก

เพิ่งรู้ว่ามีชื่อเรียกว่า "รถพุ่มพวง"ด้วย

ข้อมูลของอ.เป็นประโยชน์มากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท