ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดอาจตายได้


เมื่อคืนเจ้าต้นไม้ไม่สบายไปนอนโรงพยาบาล อ.จัน ก็ต้องไปเฝ้า ทำให้ผมอยู่บ้านคนเดียว ผมก็ถือโอกาสเถลไถลนอนดึก เล่นโน่นเล่นนี่ไปเรื่อยจนอ่านมาเจอบันทึก "ผลาญเงินของชาติ" ของ อ.หมอวิจารณ์ มือไวเท่าความคิดของผมที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ข้อมูลผู้อ่านอย่างไม่ถูกต้องของบทบรรณาธิการที่เป็นต้นเหตุให้อาจารย์หมอเขียนบันทึกนั้น ผมเขียนความเห็นบอกเล่าในมุมตรงข้ามกับบทบรรณาธิการในบันทึกของอาจารย์หมอทันที

ตื่นเช้ามาวันนี้ก็ย้อนนึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำก่อนนอนทำให้ได้เห็นข้อผิดพลาดของตัวเองอีกข้อนั่นคือ "ผมเชื่อในความถูกต้องจนลืมความถูกต้อง"

ความเห็นของผมอาจจะเป็นความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่รับประกันว่าถูกหลักวิชาการแน่นอน เพราะพูดกันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อมว่าถ้าจะนับหัวนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ผมอยู่ในร้อยอันดับแรกของประเทศแน่นอน เผลอๆ จะอยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับว่าหัวข้อย่อยของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตนั้นคืออะไร (เพราะประเทศไทยเล็กมาก)

นั่นคือ "ความถูกต้องในเชิงวิชาการ" แต่ความถูกต้องเช่นนั้นไม่ได้ทำให้ผู้พูดมีชีวิตอยู่ดีมีสุข เพราะไม่ใช่ "ความถูกต้องในเชิงสังคม"

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันมาก ไม่มีใครอยู่ได้เพียงคนเดียว แม้พระในวัดที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้คนไม่น้อย ดังนั้นเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้เราต้องคำนึงถึง "ความถูกต้องในเชิงสังคม"

สติที่จะคำนึงถึงความถูกต้องในเชิงสังคมนี่ละที่ผมไม่ค่อยมีและเป็นจุดอ่อนที่สำคัญอีกอย่างของผม

ที่จริงแล้วจุดอ่อนนี้เป็นจุดอ่อนที่น่าภาคภูมิใจอยู่เหมือนกัน

วันแรกที่ผมเจอ Prof. Dr. Anthony F. Norcio อาจารย์ที่ปรึกษาของผมที่ University of Maryland, Baltimore County (UMBC) ท่านบอกผมว่า "Call me Tony. My students are my friends." ทั้งๆ ที่ท่านอายุมากแล้ว

แบบฝึกหัดแรกๆ ที่ท่านมอบให้คือการส่ง papers ของท่านที่ตีพิมพ์ในวารสารอย่าง IEEE Transactions ให้ผมแล้วถามว่า "What's wrong with these papers?"

หลังจากเรียนจบแล้ว ผมกลับมาคิดว่าในมุมมองของการฝึกฝนนักวิชาการ นั่นคือการเริ่มต้นของฝึกฝน ในการให้คุณค่าแก่ "ความถูกต้องในเชิงวิชาการ" ที่อยู่เหนืออัตตาของนักวิชาการ

"บอกมาสิว่าฉันผิดตรงไหน? แล้วเราจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน"

เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าในการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยวิจัย หน้าที่ของผู้เรียนคือการพัฒนาจากข้อบกพร่องของคนอื่น ไม่ได้หมายความว่าหาข้อผิดพลาดของคนอื่นเพื่อโจมตีนะครับ แต่ต้อง "พัฒนา" จากข้อผิดพลาดนั้นให้ได้ด้วย แล้วสิ่งที่เราพัฒนานั้นก็จะเป็นสิ่งที่คนอื่นก็จะมาหาจุดบกพร่องเหมือนกัน

วิชาการเขาพัฒนากันอย่างนี้เอง ต่อยอดและเสริมเติมกันและกันจนสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่วัฒนธรรมเช่นนี้ไม่ได้มีในประเทศไทย

หลังจากผมจบมาแล้วผมก็มีเคว้งคว้างอยู่พักใหญ่เพราะความเขลาไม่รู้จัก "ความถูกต้องในเชิงสังคม"

จนผมได้มาเจอ อ.หมอวิจารณ์

ที่ได้ทำงานร่วมกันในแปดปีที่ผ่านมาในโลกออนไลน์ ผมคิดว่าผมเถียง อ.หมอวิจารณ์ แบบที่ผมพึ่งทำไปเมื่อคืนไม่น้อยทั้งในสาธารณะและการสื่อสารส่วนตัว แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลายครั้งผมต้องกลับไปขอโทษอาจารย์ที่ความคิดผมผิด และบางครั้งอาจารย์กลับขอบคุณผมที่ให้ข้อมูลในมุมที่อาจารย์ไม่รู้

ห้าปีกับ Dr. Norcio ต่อด้วยอีกแปดปีกับ อ.หมอวิจารณ์ สอนผมในทักษะสำคัญของนักวิชาการที่น่าภาคภูมิใจ

แต่ทักษะนี้ไม่ได้เป็นทักษะปกติของสังคมไทย

คุณ ป.อินทรปาลิต เขียนติดตลกไว้หนังสือ พล นิกร กิมหงวน ว่า "ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดอาจตายได้"

ผมอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่เคยเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะตีความประโยคนี้ของคุณ ป.อินทรปาลิต ที่สั้นๆ ดูขบขันแต่อธิบายความจริงของวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี

เราเห็นคนไทยที่พูดความจริงจนตัวตายมาไม่น้อย ในขณะคนไทยที่พูดความเท็จกลับอยู่ดีมีสุข

สถานการณ์เช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยคุณ ป.อินทรปาลิต จนถึงปัจจุบันนี้ และคิดว่าจะมีต่อไปในอนาคตอีกนานทีเดียว

ผมเองพูดความจริงจนสร้างปัญหาให้แก่ตัวเองและครอบครัวมาแล้วไม่น้อย แต่ก็ยังไม่หลาบจำว่าฝรั่งไม่เหมือนกับ Dr. Norcio และคนไทยไม่ได้เหมือนกับ อ.หมอวิจารณ์ ทุกคน

ไม่ใช่ว่าเราจะพูดความจริงไม่ได้ แต่ในฐานะคนไทยในประเทศไทย เราต้องฉลาดและรอบคอบที่จะพูดความจริงให้มาก และบางครั้งอาจจะต้องยกสุภาษิตที่เก่าแก่กว่าสมัยคุณ ป.อินทรปาลิต มาเตือนใจ

"พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"

หมายเลขบันทึก: 500810เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2012 07:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • เป๊ะเลย อ.ธวัช
  • น้องต้นไม้หายหรือยังจ๊ะ  
  • เอานี่มาเยี่ยม 

นอกจากจะรู้ความจริงแล้ว อีกจุดที่สำคัญคือ ต้องรู้จักวิธีการนำเสนอความจริงด้วยครับ

เป็นบทความที่ดี ผมเองก็ทำงานกับเครือข่ายนักวิชาการ นักวิจัยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนมาก็จะเกือบสิบปี เห็นข้อขัดข้องหลาย ๆ อย่างในการก้าวไปสู่การพัฒนา อย่าว่าแต่การทำให้เครือข่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศได้จับมือร่วมกันพัฒนา ร่วมกันนำสิ่งที่ดีที่สุด อาจจะไม่ดีที่สุด แต่เหมาะสมที่สุดต่อผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี(กลุ่มชาวบ้าน เกษตรกร) มี 2 อย่าที่พบเจอ

  • นักวิชาการหลายท่าน(ไม่ทุกท่าน) ไม่ได้คำนึงถึงผลของงานวิจัยของตนเองที่นำไปถ่ายทอกให้กับชุมชน เท่าที่ควร
  • กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งผู้ให้เทคโนโลยี(การสื่อสาร เทคนิคการถ่ายทอด การคิดพัฒนางานวิจัยเพื่อชุมชน การประเมินและติดตามผลงานวิจัยของตนเอง

ไม่ต้องหวังว่าจะให้นักวิจัยในแต่ละสถาบันร่วมมือกันทำงาน ก้าวข้ามความเป็นตัวตนของแต่ละมหาลัยเลยครับ เอาแค่ในมหาลัยด้วยกัน คนละคณะก็ยังยากที่จะร่วมมือกันครับ  

อยู่ที่คนจริง ๆ 

ปล. ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับหัวข้อบล๊อคหรือเปล่า

"ใจมนุษย์ .... สุดล้ำ....เหลืดกำหนด"

ขอบคุณบทความดีดี มีคุณค่าค่ะ

สวัสดีค่ะ

โชคดีที่มาอ่านบันทึกนี้ทันเวลา

อ่านจบก็อุทานว่า... เกือบไปแล้วเรา...
ไม่ได้สนใจ "ตำลึงทอง" หรอก แต่คาดหวังว่า "การนิ่ง" ของตนเองจะเป็นประโยชน์มากกว่า "การพูด" ในบางสถานการณ์

ขอบคุณบันทึกที่ช่วยเตือนสติค่ะ

เห็นด้วยกับ อ.จารุวัจน์ มากเลยครับเทคนิค "การนำเสนอความจริง" ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ และก็เป็นข้อด้อยอีกข้อของผมครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์ธวัชชัยนะครับ

ผมเข้าไปอ่านบทความของอาจารย์หมอ บางบทความผมยังรู้สึกไม่เห็นด้วยเลยครับ

ส่วนหนึ่งอาจเพราะเคนที่ให้ท่านเขียน แต่ท่านก็ควรพิจารณาได้ว่าควรหรือไม่

ถ้าเรารู้จริงจึงรับ ถ้าไม่จริงหรือไม่แน่ใจก็ไม่ควรนำมาอธิบายต่อสาธารณะ

อาจเป็นปัญหาได้ ควรไตรตรองให้ถี่ถ้วนก่อนทำอะไรนะครับ

ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นของตนเองค่ะ.. แต่ต้องอยู่บนรากฐานของข้อเท็จจริง

 

จากที่ผมรู้จักอาจารย์หมอวิจารณ์มา ผมมั่นใจว่าท่านเป็นคนเปิดใจครับ ถ้าคุณลูกสายลมมีความเห็นที่แตกต่างก็สามารถให้ความเห็นแก่อาจารย์ท่านได้เลยครับ

. "ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดอาจตายได้" ....ข้อคิดดีมากครับ สวัสดีครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประโยค"เราเห็นคนไทยที่พูดความจริงจนตัวตายมาไม่น้อย ในขณะคนไทยที่พูดความเท็จกลับอยู่ดีมีสุข"

และประโยค"อาจารย์หมอวิจารณ์...ท่านเป็นคนเปิดใจ"

เห็นด้วยกับ อ.ธวัชชัยมากเลยค่ะ พี่เองก็กำลังได้รับผลของความตรงไปตรงมาของตัวเองค่ะ สังคมไทยมีบรรยากาศความคิดที่ทำให้คนตรงไปตรงมาอยู่ไม่ได้เหมือนกัน และท้ายที่สุด พี่ก็โชคดีเหมือน อ.ธวัชชัยที่ได้เจอท่าน อ.หมอวิจารณ์ที่ส่งเสริมความตรงไปตรงมาของเรา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่มีอารมณ์จึงเกิดขึ้น และพาเราทั้งสองฝ่ายไปสู่ความถูกต้องทางวิชาการได้ แบบไม่ต้องอ้อมค้อม

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่ทำให้รู้ว่า เรามีเพื่อนความคิดค่ะ

ว่ากันว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ก็ต้องพูดให้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกคนอีกด้วย ไม่งั้นความจริง ก็จะทำให้คนพูดตาย

แต่เท่าที่เรียนรู้จากที่ทำงานมา จะพูดความจริงให้ตาย ก็ตาย ถึงไม่พูดก็ตายอยู่ดี 55555

จึงต้องเลือกพูด ถึงแม้หลายคนบอกว่า หาเรื่องตาย

  • การตายเป็นความแน่นอนข้อหนึ่งของสรรพสิ่งที่มีชีวิต
  • และการตายมักจะมีสาเหตุของมันเสมอ
  • การพูดความจริงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งในล้านๆสาเหตุ
  • แต่คนที่ไม่พูดความจริงรวมถึงคนที่เอาตัวรอดจากการพูดความจริง บัดนี้ก็ได้ตายไปแล้วนับไม่ถ้วน
  • รวมถึงคนที่ไปทำให้คนที่พูดความจริงได้ตายก็ได้ตายตามไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่
  • หากประชาชนทั้งประเทศไม่พูดความจริง จะไม่มีคนตายกระนั้นหรือ?
  • และหากคนทุกคนต่างพูดความจริงก็จะพากันตายไปทั้งหมดหรือ?
  • ความตายควบคุมคนที่กลัวมัน 

เห็นด้วยครับ สาธุ สาธุ

ต้องขอบคุณท่านผู้เปิดประเด็นให้คิด ได้องค์ความรู้ วิธีคิดที่หลากหลายดีค่ะ ที่ชอบบล๊อกนี้ เพราะเปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่มีผิดถูก แต่ช่วยจุดประกายความคิดของผู้คน เป็นความรู้สึก การรับรู้ต่อเรื่องราวต่างๆ ว่ามีมุมมองที่หลากหลาย แต่ความจริงคือ ความจริง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จมาก่อนข้อจริง 55555

หลายครั้งก้เป็นอย่างที่อาจารย์เป็นคะ มันคงต้องมีบ้าง ในบางโอกาสที่ต้องให้โอกาสผู้อื่นรับรู้ในมุมมองที่แตกต่าง

แม้ว่าหลายครั้งที่ทำไปแล้ว อาจไม่สบายใจ

เหล่าศาสนทูตทั้งหลาย ก็พูดแต่ความจริง และ ท่านๆเหล่านั้น ก็ตายไปแล้วมากมายนัก

จงช่วยกันพูดความจริง อ้างอิงหลักฐานที่ สุจริต ยุติธรรม โต้แย้งมิได้ และที่สำคัญ ควรปลอดผลประโยชน์ที่มีผู้รับ ที่ยอดของผล 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท