กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๔๙) : เปลี่ยนนิดเดียว


 

วันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ คาบ ๑-๒ เป็นการ Open Class ครั้งแรกของคุณครูแคท – คัทลียา รัตนวงศ์  

 

วันนี้ตื่นเต้นมากมาโรงเรียนตั้งแต่ตีห้าห้าสิบห้า พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นเลย  พี่ยามหน้าประตูทักว่า “มาคนแรกของโรงเรียนเลย” ถึงแม้ว่าจะเคยยืนสอนต่อหน้าเด็กมาจำนวนเป็นร้อยมาแล้ว แต่การที่จะมีผู้ใหญ่ที่มีความรู้ไม่ต่างจากเรามานั่งดูเราสอน ย่อมเป็นเรื่องพิเศษที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและเป็นกังวลอยู่ไม่น้อย

 

ในช่วงของการคิดแผนการเรียนรู้ครูในทีมมานุษกับโลกที่อยู่ในกลุ่มเรียนรู้เดียวกัน ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด ๖ คน ต่างก็มาร่วมคิดแผนเพื่อการ Open Class ในรอบนี้กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

 

การ Open Class แต่ละรอบ หมายถึงการสอน ๓ แผน โดยวงจรการเรียนรู้ของครูทั้งกลุ่มจะเริ่มตั้งแต่การคิดแผนด้วยกัน  -  การสอน หรือ สังเกตการณ์การสอน – การสะท้อนหลังสอน ที่จะนำไปสู่การ

-          มองหาสิ่งที่สำเร็จ และวิธีการขยายผล

-          สิ่งที่เป็นปัญหาติดขัด และวิธีการแก้ไข

-          ประเด็นเน้นที่จะนำไปพัฒนาในครั้งต่อไป

 

หลังจากการสอนครูทุกคนจะช่วยกันเสนอแนะการสอนของเรา ในวงครูมานุษกับโลกการเสนอแนะมีความเป็นมิตรมากๆ ทำให้เราซึ่งเป็นคนสอนไม่รู้สึกว่าถูกตำหนิจนขาดความมั่นใจ แต่กลับทำให้เรารู้สึกอยากกลับไปแก้มือตลอด 

 

ความรู้สึกที่อยากปรับปรุง เมื่อรวมเข้ากับคำแนะนำดีๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่วงช่วยกันสะท้อนหลังสอนนี้ ก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาแผนในทันที  ทำให้ทั้งตัวเราและครูคู่วิชาได้แผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่กลุ่มช่วยกันพัฒนาไปใช้งานต่อได้เลย

 

การจัดการเรียนการสอนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาจึงเห็นผลทันตา จากการปรับแผนเพียงเล็กน้อย  จากแผนเดิมที่ใช้กับห้อง ๒/๒ ที่มีโจทย์ให้นักเรียนคิดเมนูบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีคุณค่าอาหารครบห้าหมู่ บำรุงคนธาตุลม และแก้อาการหวัด ที่สร้างความท้าทายให้แก่ผู้เรียนด้วยการต้องมาคิดคิดเมนูที่ไม่มีประโยชน์ ให้มีประโยชน์ขึ้นมาให้ได้ 

 

เงื่อนไขคือ ให้เมนูที่คิดขึ้นใหม่นี้มีส่วนประกอบน้อยที่สุด และยังคงให้คุณค่าอาหารครบถ้วน  นักเรียนชั้น ๒/๒ คิดเมนูตามโจทย์ได้ครบถ้วน  และได้ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนกันตามแผนที่วางไว้แต่ต้น

 

แผนการเรียนรู้ที่ปรับปรุงใหม่นี้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมจากแผนการเรียนรู้เดิมคือ การให้นักเรียนใส่ส่วนประกอบให้น้อยที่สุด แต่ยังคงคุณค่าอาหารครบถ้วน

 

เงื่อนไขส่วนที่เพิ่มเติมนี้ ได้มาจากการสะท้อนหลังสอนมีการตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าเด็กได้ทำโจทย์เดิมซ้ำอีกน่าจะดี” ครูแคทกับครูต้องคู่วิชานำข้อสังเกตนี้ไปทดลองปรับทันที โดยให้เด็กที่คิดเร็วสามารถมารับใบงานแผ่นที่ ๒ ไปลองทำอีกครั้งได้ เพราะคนที่คิดส่วนประกอบได้ ๕ ชนิดก็อยากจะทำให้เหลือ ๔ เหลือ ๓ เป็นการสร้างความท้าทายให้กับตนเอง 

 

ในช่วงท้ายคาบเรียนของวันศุกร์ ขณะที่ครูแคทกำลังเก็บของจะออกจากห้อง ปุ้นก็เดินมาหาพร้อมกับพูดว่า “หนูขอเอากลับไปทำที่บ้านอีกได้มั๊ยคะ” ครูแคทถามว่า “แผ่นไหนหรือคะ” ปุ้นตอบว่า “ทั้งหมดเลยค่ะ” เอาแผ่นใหญ่ ๆ (แผ่นที่ครูติดขึ้นกระดานในช่วงแลกเปลี่ยน) ด้วยนะคะ  ครูแคทจึงจัดใบงานให้ ปุ้นยกมือขึ้นไหว้ขอบคุณ แล้วก็เดินถือใบงานเอาไปใส่ในกล่องการบ้าน และก็มีเด็กอีกหลายคนเดินมาขอใบงานเพิ่มเช่นกัน  โชกับฟูกบอกว่า “กลับบ้านจะคิดให้เหลือ ๒ ให้ได้เลย”

 

นอกจากการปรับเปลี่ยนแผนตามคำแนะนำครั้งนี้  ยังมีเรื่องเหนือความคาดหมายเล็ก ๆ ที่ตอนที่คิดแผนครูไม่ได้คาดหมาย นั่นคือ ครูคาดการณ์ไว้รายการอาหารที่นักเรียนน่าจะคิดได้นั้น  มีส่วนประกอบที่น้อยที่สุดน่าจะเป็น ๓ ชนิด

 

แต่นะโม นักเรียนห้อง๒/๓ คิดได้น้อยกว่านั้น ส่วนประกอบของนะโมมีแค่ ๒ ชนิดเท่านั้น คือเส้น และสะระแหน่  พร้อมทั้งยังมีคำอธิบายที่ทั้งครูและเพื่อนต้องยอมรับ  นะโมอธิบายว่าในส่วนประกอบของเส้นให้โปรตีนด้วยเพราะมีส่วนผสมของไข่  เพราะตอนที่คุณแม่กินเจ คุณแม่ไม่กินมาม่าธรรมดาแต่จะกินมาม่าเจ  และเส้นมาม่าก็ให้ไขมันด้วย เพียงเทน้ำร้อนใสลงไปก็จะเห็นน้ำมันลอยขึ้นมาแล้ว... เมื่อนะโมอธิบายจบเพื่อนๆ ปรบมือให้เสียงดัง เมื่อจบคาบครูต้องออกจากห้องมาเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนครูในห้องพักครูชั้น ๒ ฟังด้วยความตื่นเต้น 

 

และอีกเรื่องที่เป็นความคาดหมายแบบแปลก ๆ ขณะคิดแผนว่า “ไม่แน่นะอาจมีเด็กบางคนเอาวิตามินในตู้ยามาใส่ก็ได้” แล้วก็มีเด็กคนนั้นจริงๆ  

 

ในห้อง ๒/๓ ในขณะที่ทุกคนคิดส่วนเมนูอาหารสำหรับคุณครูต้องด้วยโจทย์เดียวกันคือคิดเมนูบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีคุณค่าอาหารครบห้าหมู่ แต่เปลี่ยนเป็นบำรุงคนธาตุไฟ และแก้อาการหวัดนั้น  เอเต้ก็เดินมาถามครูต้องว่า “ครูต้องปวดหัวมั๊ยคะ เจ็บคอหรือเปล่า” ครูต้องตอบว่า “ไม่เจ็บคอค่ะ แต่ปวดหัวนิดๆ” และตอนที่แลกเปลี่ยนนั้น  เอเต้ ก็ยกมือขึ้นบอกว่าตนมีส่วนประกอบที่ต่างไปจากของเพื่อน นั่นคือ ยาแก้ปวด...

 

นี่คงเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ทำให้พอเห็นภาพว่าการทำ LS ส่งผลอย่างไรต่อครูและห้องเรียน ความเปลี่ยนแปลงนิดเดียวที่เกิดจากการมีผู้มาสังเกตการณ์สอนของเรา และ สะท้อนมุมมองต่อกระบวนการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาและเป็นมิตร ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในแผนการสอน แล้วก็ไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ขึ้นในตัวเด็ก และตัวครูเอง

 

นี่เพียงแค่ครั้งที่ ๒ ของการ Open Class เท่านั้นนะคะ...

 

 

คุณครูแคท – คัทลียา รัตนวงศ์ บันทึก

หมายเลขบันทึก: 473452เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 00:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕ ครับ

สวัสดีปีใหม่ค่ะท่านอาจารย์ทั้ง ๒ และผู้อ่านทุกท่าน :)

  • สวัสดีปีใหม่คุณครูใหม่นะครับ
  • ชอบใจรายการอาหารของเจ้าหนูนะโมมากเลยครับ
  • บทบาทในการเป็นสภาพแวดล้อมให้เด็กๆได้งอกงามและเติบโตบนฐานชีวิตตนเอง ของคุณครูและโรงเรียนนี่ ยิ่งใหญ่และงดงามเสมอเลยนะครับ

ขออนุญาตแนะนำบล็อกใน FB นะครับ

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์วิรัตน์

ไม่ได้พบอาจารย์นานแล้วนะคะ อาจารย์แวะเข้ามาทักทายทีไรเป็นต้องมีประเด็นคมๆ พ่วงมาด้วยเสมอเลย

จริงที่สุดเลยค่ะ เรื่องการเป็นสภาพแวดล้อม (และการสร้างเงื่อนไข + ปัจจัย)ให้เขาแต่ละคนได้เติบโตบนฐานชีวิตตนเอง ให้งดงามที่สุด นี่แหละค่ะงานของโรง(สร้างการ)เรียน(รู้)

:)

ครูใหม่

เปลี่ยนทีละนิดค่ะ อาจารย์ เป็นพลังสร้างโลกค่ะ

ขอบคุณค่ะ สำหรับพลังการเปลี่ยนแปลง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท