ครูทั่วไทย ใช้สื่อสร้างสุขต่างประสบการณ์-ความตั้งใจเดียว


กระจายสุข

ครูทั่วไทย ใช้สื่อสร้างสุขต่างประสบการณ์-ความตั้งใจเดียว

 

“ผลลัพธ์” อาจสำคัญเพราะหมายถึงรูปธรรมและจุดหมายปลายทาง แต่ก็ใช่ว่ามันจะน่าสนใจไปกว่าทุกสิ่ง เพราะระหว่างทาง แต่ละย่างก้าว กระทั่งความผิดพลาดในแต่ละขั้นตอนล้วนมีลักษณะเฉพาะในตัวมัน

เหมือนกับที่ในเรื่องเดียวกัน เมื่อถูกบอกและเผยแพร่ไปในที่หนึ่ง ย่อมแตกต่างกับอีกที่ ด้วยแต่ละที่แต่ละแห่งล้วนมีลักษณะเฉพาะ มีการรับรู้ ดัดแปลง กระทั่งการเลือกหยิบใช้ที่แตกต่าง

กับโครงการอบรมครูต้นแบบ ตามโครงการ (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าก็เช่นกัน เมื่อมีการเดินสายอบรมไปทั่วประเทศตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประสบการณ์ที่ได้ก็ล้วนแตกต่าง


 

“บังอร ผมงาม” อาจารย์ โรงเรียนเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น  

“ ปกติมีการนำสื่อการเรียนมาใช้อยู่แล้วแต่มักจะเป็นสื่อในรูปแบบเดิมๆการอบรมครั้งนี้จึงเหมือนการฝึกทักษะและเปิดโลกทัศน์สำหรับการเลือกสื่อใหม่ๆ เพื่อนำเข้าสู่บทเรียน ทั้งการเรียนวิทยาศาสตร์ หรือกิจกรรมด้านสุขภาพ ส่วนตัวสนใจด้านการทำเกม เนื่องจากในโรงเรียนของตนและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีการจัดค่ายต่างๆอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งค่ายเหล่านั้นก็เปรียบเสมือนบทเรียนนอกห้อง จึงต้องอาศัยเกมและกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างทักษะและให้เกิดความเข้าใจ ประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ได้ช่วยตรงนี้ได้มาก

จากนี้ไปก็ต้องทำการบ้าน เตรียมตัวก่อนล่วงหน้า เพื่อวางแผนว่ากิจกรรมที่เราจะทำนั้นควรจะประกอบไปด้วยสื่อการเรียนการสอนอะไรบ้าง หรืออาจจะให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างสื่อของเขาเอง มีการแบ่งกลุ่มช่วยกันคิดและวิเคราะห์ เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีได้เข้าถึง ทุกโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ และเขาก็สามารถทำสื่อเพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนได้

“จุฑาศิษฐ์ นิติภาค” โรงเรียนเวียงสุวรรณ วิทยาคม จ.นราธิวาส

“สื่อที่เกี่ยวกับการเรียนจะมาทั้งจากครูและนักเรียน เมื่อครูมีทักษะการเลือกใช้สื่อแล้ว ต้องฝึกให้เด็กนักเรียนด้วยเพราะพวกเขาย่อมรู้ดีว่าเพื่อนๆในห้องมีความสนใจในเรื่องใด ปัจจุบันเด็กนักเรียนมีคอมพิวเตอร์ มีการใช้คลิป กระทั่งครูเองก็พยายามมีการสั่งงานผ่านการใช้อีเมล์เพื่อให้เด็กหัดใช้เทคโนโลยี สิ่งนี้ได้เข้ามาทดแทนกับบริบทในภาคใต้ที่เวลาเรียนมีน้อย กิจกรรมที่เด็กนักเรียนทำอยู่บางครั้งก็ไม่สามารถใช้โรงเรียนเป็นสถานที่จนมืดค่ำได้ การใช้สื่อให้คุ้มค่าจึงเกิดประโยชน์กับทั้งตัวเองและครูผู้สอน”



รัชนีกร วานิชสมบัติ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จ.เชียงใหม่

“สังเกตว่าเด็กสมัยนี้จะตื่นเต้นและชอบที่จะเรียนกับสื่อที่พวกเขาสนใจอยู่แล้ว เช่น เพลง คอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นทำให้ครูเองก็ต้องพัฒนาทักษะของตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้

อย่างไรก็ตามในภาคเหนือจะมีนักเรียนที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์อยู่ด้วย และกลุ่มเด็กเหล่านั้นจะมีทักษะด้านการสื่อสารน้อย เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่2สำหรับเขา เราจึงต้องพยายามเป็น2เท่าเพื่อดึงดูดให้เขาเข้าใจในบทเรียนได้ โดยวิธีที่ใช้จะเลือกเพลงหรือคลิปภาพที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ของพวกเขามานำสู่บทเรียน พยายามเอาเรื่องของพวกเขาเป็นจุดดึงดูดความสนใจ ถึงเช่นนั้นกลุ่มเด็กชาติพันธ์มักจะมีความสามารถในด้านงานฝีมือ เย็บปักทักร้อย เราก็จะสื่อที่มีการสอนในเรื่องพวกนี้ให้เขาฝึกฝนพัฒนาตัวเองไปด้วย”



พรรณี วุฒิเดชโรงเรียนวัดลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี  

“การฝึกทักษะใช้สื่อประเภทต่างๆทั้งเพลง คลิปวีดีโอ และเกมนันทนาการเพื่อผนวกเข้ากับการสอนว่า เหมือนเปิดหน้าต่างบานใหม่ เพราะมุมมองของแต่เดิมนั้น มักมองสื่อการเรียนเป็นแค่สื่อวิชาการ จำพวก แผนภูมิ ภาพโปสเตอร์ การติดบอร์ด ภาพเรขาคณิต เท่านั้นและในส่วนนี้แต่ละโรงเรียนก็มีอยู่แล้ว แต่การอบรมนี้บอกเรามากกว่านั้น โดยทุกอย่างเป็นสื่อได้หมด ทั้งคลิปโฆษณาสั้นๆไม่กี่วินาที เพลงลูกทุ่ง หรือเกมนันทนาการที่เคยมองเป็นเรื่องบันเทิงผิวเผิน ดังนั้นโจทย์จะกลับไปอยู่ที่เราเองว่าจะมี กระบวนการจะดึงเรื่องราวที่อยู่ในสื่อนั้นไปเข้ากับบทเรียนได้อย่างไร อาจจะเริ่มจากเล่นเกมสนุกๆนำเข้าสู่บทเรียน หรือจะสอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาเลย ต้องมองให้ลึกขึ้นและหาจุดเชื่อมต่อระหว่างสาระกับความบันเทิง


 

หมายเหตุ

ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ โครงการ (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา โดยจัดกิจกรรมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพแก่ครูต้นแบบให้มีทักษะการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และสร้างความสุขจากทั้งการใช้สื่อเพลง สื่อคลิปวีดีโอ และทักษะการสร้างกิจกรรมกับการเรียนการสอน พร้อมกับการสอดแทรกมิติความสุขใน 4 ด้าน ทั้ง กาย ใจ สังคม ปัญญา เช่น การสอนวิทยาศาสตร์ โดยทำให้เด็กนำหลักเหตุผลในวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาชีวิตได้

โดยแม้โครงการฯจะมีสาระด้านวิทยาศาสตร์เป็นตัวหลัก แต่กิจกรรมจะไม่จำกัดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะองค์ความรู้สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่น ๆ ได้ อาทิ สื่อคลิปวิดีโอหรือเพลงวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายต่อไปที่เรื่องเหตุและผลในวิชาพระพุทธศาสนา การทำความเข้าใจสังคม สุขภาวะทางปัญญา ซึ่งทำกิจกรรมจะสามารถพัฒนาศักยภาพครูต้นแบบได้ประมาณ 200 คนใน 70 โรงเรียน

ทั้งนี้ได้ตารางการจัดอบรมแก่ครูต้นแบบประกอบไปด้วย ในส่วนของพื้นที่ภาคกลางวันที่6-7ตุลาคม ภาคเหนือวันที่13-14ตุลาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือวันที่20-21ตุลาคม และภาคใต้วันที่27-28ตุลาคม

คำสำคัญ (Tags): #กระจายสุข
หมายเลขบันทึก: 473445เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ ที่นำภาพกิจกรรมมาแลกเปลี่ยน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท