กระบอกขนมจีน หรือ บอกหนมจีน(ภาษาถิ่นใต้) เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับบีบอัดแป้งให้เป็นเส้นขนมจีน กระบอกขนมจีน เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันในแถบภาคใต้ แต่เดิมกระบอกขนมจีนจะทำจากไม้เนื้อแข็ง มีส่วนประกอบหลัก ๒ ส่วน คือส่วนที่ ๑ ตัวกระบอก เป็นไม้ท่อนกลม ตรงกลางเจาะเป็นรูกลวง ใช้ใส่แป้งขนมจีน ส่วนก้นทำจากแผ่นโลหะเจาะรูเล็กๆ เพื่อให้แป้งออกมาเป็นเส้น ส่วนที่ ๒ คือ ส่วนปิดปากกระบอก เป็นไม้ทรงกระบอกทึบตัน ใช้ส่งแรงกดให้ขนมจีนออกมาเป็นเส้นๆ
ต่อมา ได้มีการเปลี่ยนมาใช้ทองเหลือในการทำกระบอกขนมจีนแทนการใช้ไม้เนื้อแข็ง คงเนื่องมาจากว่าทองเหลืองนั้นแข็งแรงและทนทานกว่าไม้ กระบอกขนมจีนที่ทำจากทองเหลืองนั้นมีส่วนประกอบคล้ายๆ กับกระบอกขนมจีนที่ทำจากไม้ คือ มีตัวกระบอก และส่วนที่ใช้ปิดปากกระบอก แต่ก็มีการเปลี่ยนรายละเอียดบางส่วน เช่น ส่วนที่ใช้ปิดปากกระบอกจะทำเป็นเกลียว และมีห่วงใช้ไม้สอดและหมุดอัดแป้ง และการเพิ่มส่วนหูสำหรับใช้ยึดติดตัวกระบอกและส่วนปิดปากกระบอก เป็นต้น กระบอกขนมจีนที่ทำจากทองเหลืองนั้นพบว่ายังคงมีจำหน่ายอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ-วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
การใช้งานกระบอกขนมจีนนั้น จะต้องนำแป้งที่พร้อมสำหรับทำเส้นขนมจีนแล้วมาใส่ลงไปในกระบอกขนมจีน อัดแป้งให้เต็มกระบอก ปิดปากกระบอกและยกกระบอกไปตั้งไว้บนม้าไม้ ซึ่งเจาะรูไว้สำหรับใส่กระบอกขนมจีน ใช้ไม้บิดส่วนเกลียวเพื่อบีบอัดและดันแป้งในกระบอกให้โรยเส้นลงมาที่ก้นกระบอก ด้านล่างกระบอกขนมจีนรองรับด้วยกระทะที่ต้มน้ำร้อนไว้ รอสักพักจนแป้งสุกดีจึงตักเส้นขนมจีนขึ้นมาแช่ในน้ำสะอาด แล้วจึงหยิบเส้นขนมจีนเป็นจับๆ จัดวางเรียงวนไปรอบๆ ตะกร้าหรือภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่จนเต็ม ก็จะได้เส้นขนมจีนที่ใช้รับประทานกับน้ำยาชนิดต่างๆ
ในปัจจุบันการทำเส้นขนมจีนนั้นจะใช้เครื่องจักรแทนการใช้กระบอกขนมจีน ซึ่งจะได้เส้นขนมจีนในปริมาณมากกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า กระบอกขนมจีนจึงกลายเป็น “ของเก่า” ที่หลายๆ บ้านยังคงเก็บรักษาเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นและศึกษากันต่อไป
เอกสารอ้างอิง
เฉลียว เรืองเดช. “กระบอกขนมจีน” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๙. หน้า ๒๑-๒๓.
ทิพวัลย์ พิยะกูล และอุดม หนูทอง. “ขนมจีน” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๙. หน้า ๒๘๖-๒๘๘.
ไม่มีความเห็น