เรียกน้ำย่อย บอกข่าวชาว “สุขแท้ด้วยปัญญา”


เรียกน้ำย่อย บอกข่าวชาว “สุขแท้ด้วยปัญญา” ด้วยเครือข่ายพุทธิกาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตรียมเปิดรับผู้สนใจเขาร่วมโครงการสุขแท้ด้วยปัญญาปี4 ในช่วงมกราคม 55


แต่ก่อนเข้าสู่กิจกรรมตอนต้นปี ช่วงส่งท้ายปีเช่นนี้ ทีมงาน “กระจายสุข”ขอบอกเรื่องเล่าผ่านตัวอักษรกับหนังสือ “เปลี่ยน เป็น สุข ประสบการณ์ 30ชีวิตบนเส้นทางสุขแท้ด้วยปัญญา” ที่จะพาผู้อ่านไปสู่เรื่องเล่า และบทเรียนจากถ้อยคำนักทำกิจกรรมหลากหลายที่ค้นพบความสุขระหว่างการทำงาน จนก่อเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่หนทางที่ดีขึ้น ทั้ง ชาวบ้านแกนนำชุมชนที่ค้นพบวิถีพอเพียง นักเรียนที่อาสาใช้ชีวิตคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย กระทั่งบัณฑิตหนุ่มที่ละทิ้งอัตตาด้วยค้นพบว่ามีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

รู้กันดีว่าความสุขแท้จะเกิดขึ้นได้นั้น ล้วนมาจากทัศนคติที่ถูกต้อง รู้เท่าทันความจริงของชีวิตและโลก สามารถคิดถูก คิดชอบ และรู้จักแก้ทุกข์ได้ด้วยปัญญา เหตุนี้การดำเนินชีวิต ถูกต้อง ดีงาม พร้อมกับเริ่มรู้จักการเป็นผู้ให้เริ่มทำความดี เพื่อคนอื่นหรือส่วนรวมบ้าง จึงประหนึ่งการฝึกฝนเพื่อตามหากุญแจสำคัญให้เกิดสุขภาวะทางปัญญา แบบง่ายๆ ดั่งที่พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา และภิกษุนักคิด นักเขียน ที่เฉียบคมที่สุดแห่งยุคสมัย บอกว่า

“มนุษย์ทุกคนล้วนมีความใฝ่ดีอยู่ในจิตใจ แต่สาเหตุที่บางคนไม่สามารถนำพาชีวิตไปในทางที่ดีงามดังใจปรารถนาได้ เป็นเพราะความใฝ่ดีนั้นไม่ได้รับการหนุนเสริม จึงถูกความเห็นแก่ตัวครอบงำ หรือถูกพลังฝ่ายลบชักนำไป ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่สร้างปัญหาทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น” (บางส่วนในคำนำ)


หรือคำบอกเล่าจากปากคนธรรมดาๆ ที่กิจกรรม “สุขแท้ด้วยปัญญา”ได้พาไปพบสิ่งดีๆในชีวิตจนทำให้วันเวลาที่เหลือมีคุณค่ามากกว่าที่เคยเป็น

“กลับมาบ้านเริ่มขายของเลย ขายโทรทัศน์ยี่สิบเก้านิ้ว ซื้อเครื่องเล็กลง ขายตู้เย็นเพราะมีไว้แค่แช่น้ำเย็น อยากกินน้ำเย็นก็ไปซื้อน้ำแข็ง เครื่องซักผ้ามีประโยชน์แต่ทำให้เราขี้เกียจ เลยขายไปถูกๆ เตารีดก็ไม่ได้รีด ผมทยอยขายจ่ายหนี้จนหมด แล้วขายรถไปเวลาไปประชุมก็ขับมอเตอร์ไซค์หรือนั่งรถประจำทางแทน เสื้อผ้าก็ไม่ต้องรีดเพราะคุณภาพไมได้อยู่ที่เสื้อกางเกงแต่อยู่ในผลงานที่ทำ” ภานุมาศ วงไอศูรย์ จาก “ปลดหนี้-เปลี่ยนตัวเอง สุดยอดรางวัลชีวิต” (น.50)

“ครั้งหนึ่งพระไพศาล (วิสาโล) เคยบอกว่าการปล่อยให้จิตว่างเป็นความสุข ผมค้านในใจทันทีเลยว่าถ้าผมคิดเยอะแล้วมีความสุข ผิดตรงไหน แต่ถ้าล่าสุดผมคิดมากเกินไปจนต้องไปหาหมอ หมอบอกว่าคุณเป็นคนเก่งแต่คิดเยอะเกิน เลยได้ย้อนคิดว่าการปล่อยว่างบ้างก็ดี เลยลองปล่อยบางกิจกรรม แต่ผมที่ได้กลับดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ” ว่าที่ร้อยตรีสุรวุฒิ เพ็งป่าแต้ว จาก “ในวันที่หยุด “ฉายเดี่ยว” (น.126)


“การทำเพื่อสังคมไม่ใช่เพียงแค่การบริจาคด้วยตัวเงินและสิ่งของ แต่เป็นไปตามหลักธรรมที่ว่าให้คิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง ซึ่งมันสื่อสังคมนั้นไม่ใช่แค่ให้สังคมในสิ่งที่เราให้ได้เท่านั้น แต่มันคือการที่เราต้องพยายามอย่างเต็มที่ ทั้งความรู้ ความเอาใจใส่ หรือการแนะแนวทางที่ทำให้ผู้อื่นตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง”อุบลรัตน์ นำนาผล จาก “ประโยคสั้นๆกับการผันเปลี่ยนชีวิต” (น.202)

“คนที่ทำงานมามากอย่างผมมักจะ “ติดดี” หรือ “ติดเจ๋ง” แท้จริงแล้ว “ความพอดี”ต่างหากที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ต้องทำตัวให้นำพร่องแก้วเพื่อที่จะเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด” เชิดพงษ์ แก้วเอ้ย จากนักสร้างเสียงหัวเราะ ผู้เดินทางสู่ภายใน (น.138)

ทั้งนี้สำหรับ “สุขแท้ด้วยปัญญา”นั้น เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้าง ทัศนคติ 4 ประการ อันเป็นพื้นฐานสู่สุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยนำทางชีวิตไปสู่ความสุข โดยการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญานี้ต้องควบคู่กับการพัฒนาสังคม ให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงชุมชน ที่พร้อมจะที่จะก้าวไปสู่การเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ


เกร็ดความรู้

สำหรับทัศนคติ 4 ประการ ที่จะนำพาไปถึงความสุขที่แท้จริงนั้นประกอบไปด้วย

1. การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง

การคิดถึงแต่ตนเอง ทำให้จิตใจคับแคบอัตตาหรือตัวตนใหญ่ขึ้น ทำให้ถูกกระทบหรือเป็นทุกข์ได้ง่ายขณะเดียวกันก็เป็นคนสุขยาก เพราะได้เท่าไรก็ไม่พอใจเสียทีใน ทางตรงข้ามการคิดถึงผู้อื่น ช่วยให้ตัวตนเล็กลงเห็นความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไรก็ยิ่งมีความสุข เพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วยกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสุขของเราย่อมไม่แยกจากความสุขของผู้อื่น  

2. การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว

วัตถุนั้นให้ความสุขเพียงชั่วคราวแต่ก่อให้เกิดภาระทางจิตใจต่าง ๆ มากมายการยึดติดความสุขทางวัตถุทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์แท้จริงที่มาแห่งความสุขนั้นมีอยู่ มากมายและสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่น ความสุขจากมิตรภาพ จากความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่นจากการทำงาน จากการทำความดีและจากสมาธิภาวนา เป็นต้น การตระหนักว่าความสุขมีหลายมิติและสามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ จะช่วยให้มีสุขได้ง่ายขึ้นและเป็นสุขที่ยั่งยืน 

3. การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค

การหวังลาภลอยคอยโชคหรือการหวังความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อยเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและสังคมการหันมาตระหนักว่าความสุขเกิดขึ้นได้จาก ความเพียรพยายามของตนทำให้ความสุขอยู่ในอำนาจของเราเองและทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชควาสนาหรือหันเข้าหาวิธีการที่เป็นโทษเช่น อบายมุข การพนัน และการฉ้อโกง

4. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล

แม้คนทุกวันนี้จะคิดเก่ง แต่ก็มักเอาอารมณ์เข้ามาเจือปนทำให้มองคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างตนเอง การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยคำนึงถึง เหตุผลยิ่งกว่าอารมณ์จะช่วยให้มองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้านสามารถแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่าง “ถูกใจ” กับ “ถูกต้อง” ได้ซึ่งช่วยให้สามารถคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลต่อส่วนรวม อีกทั้งยังสามารถลดทอนอคติ นำไปสู่การเป็นอยู่ด้วยปัญญา และสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง

 

สถานที่ติดต่อเครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม 

45/4 ซ.อรุณอมรินทร์ 39 (เหล่าลดา) ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

โทร.02-882-5043, 02-882-4387, 086-300-5458 / โทรสาร 02-882-5043, e-mail [email protected]

คำสำคัญ (Tags): #กระจายสุข
หมายเลขบันทึก: 473442เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท