น้ำใจ"คนค่าย" หลากสู้"น้ำท่วม"


น้ำใจ"คนค่าย" หลากสู้"น้ำท่วม"

น้ำใจ"คนค่าย" หลากสู้"น้ำท่วม"

จะมัวคิดเรื่องอื่นคงไม่ได้เพราะสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้เป็นทั่งวิกฤติและกระแส ที่ทั้งคนรุ่นใหม่-เก่า ทุกแขนงอาชีพต่างลงแรง ร่วมด้วยช่วยกันคลี่คลายปัญหาตามความถนัด

ไม่เว้นกระทั่งเยาวชนที่เคยผ่านกิจกรรม กลุ่มค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเคยหนึ่งเคยถือจอม-เสียม กางแผนที่ร่วมพัฒนาชุมชน เน้นการสร้างสุขแบบมีสุขภาวะ หากแต่ในช่วงที่ “น้ำมาก”กว่าปีก่อนๆ ดั่งที่เป็นอยู่ บทบาทอาสาสมัครช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมคืออีกหน้าที่ที่พวกเขาเต็มใจรับและลองเรียนรู้ไปกับมัน



การรวมตัวประจำปีใน “มหกรรมค่ายสร้างสุขสัญจร ตอน บทเรียนนอกรั้วมหาวิทยาลัย” ที่ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อ17-20พฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงดูคึกคัก และมีรายละเอียดมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะ “ตั้งวง”ถกเถียงถึงเนื้อหาในงานค่ายแล้ว กับปัญหา “เฉพาะหน้า” อย่างการช่วยเหลือ-ฟื้นฟูพื้นชุมชนก็นำมาวางบนโต๊ะสนทนาเช่นกัน

รวมไปถึงกิจกรรมเองก็น่าสนในกว่าครั้งก่อน ด้วยเยาวชนกว่า 180 ร่วมกันเขียนป้ายเชิญชวนรับบริจาคช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม และในช่วงเช้า ณ ห้างสรรพสินค้ากาฬสินธุ์พลาซ่า มีขบวนกลองยาว และการถือป้ายรณรงค์ เดินขบวนไปรอบๆ เมือง ก่อนจะได้ยอดบริจาคถึง 11,500 บาท

“ไม่ว่าจะออกค่ายพัฒนา สร้างสุขภาวะชุมชน หรือลงพื้นที่ซับน้ำตาเยียวยาจากเหตุการณ์น้ำท่วม ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน เมื่อหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ อย่างหนัก จึงมีการพูดคุยกับเยาวชนในเครือข่ายกิจกรรมค่ายอาสาฯ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในรูปแบบต่างๆ โดยมีกระบวนการทำงานในหลักเดิมคือให้ชุมชนมีส่วนร่วมในความเป็นอยู่ของตัวเองและใช้เครือข่ายเดิมที่มีอยู่” ตั้ม-ธนภัทร แสงหิรัญ ที่ครั้งหนึ่งก็เคยร่วมลงพื้นที่ออกค่ายสร้างสุข


เมื่อต้องเปลี่ยนจากค่ายพัฒนามาทำงานเฉพาะหน้าภายใต้ชื่อ “ศูนย์คนรุ่นใหม่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ตั้ม บอกว่า มีหลักไม่ต่างกับการทำงานค่ายด้วยต้องประเมินศักยภาพชุมชน ความพร้อมของชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือประเมินความช่วยเหลือที่มีอยู่แล้ว ก่อนจะคิดว่ามีอะไรที่ยังขาดเหลืออยู่บ้าง ทั้งนี้พวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งโรงครัวชุมชนขึ้น เพราะเห็นว่าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อีกระยะหนึ่ง ผนวกกับความมั่นคงทางอาหารการกินก็เป็นเรื่องที่ชุมชนสามารถผนึกพลังร่วมกันได้

“จะออกค่ายหรือทำศูนย์ช่วยน้ำท่วม แต่มีหลักเดียวกับการทำค่ายคือเราต้องการช่วยเหลือสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผมและเพื่อนเพิ่งเคยผ่านสถานการณ์และลงมือทำงานในภาวะเช่นนี้ก็จริง แต่ก็คิดในแง่บวกว่ามันจะเป็นโจทย์ให้เราฝึกทักษะในการทำงานพัฒนาต่อไป” ตัวแทนเยาวชนที่กระโจนจากเด็กค่าย มาเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์ประสบภัยฯว่า



ทั้งนี้เครือข่ายศูนย์คนรุ่นใหม่เพื่อผู้ประสบภัย จะไปอาศัยฐานช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ อาทิ จ.อยุธยา ชัยนาท นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ซึ่งการช่วยเหลือนั้นมี 3 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย การช่วยเหลือเฉพาะหน้า (แจกถุงยังชีพ) การทำครัวช่วยให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งรัฐ และการทำงานจะมีเครือข่ายเอ็นจีโอเพื่อมองถึงแนวทางการพัฒนาหลังน้ำลด ซึ่งกิจกรรมในส่วนนี้จะดึงอาสาสมัครจากเยาวชนในค่ายต่อเนื่องและค่ายฟื้นฟูเข้าร่วมด้วย

และสำหรับงานฟื้นฟูนั้น “สุริยา ปะตะทะโย” อีกหนึ่งเยาวชนจากค่ายอาสาฯ ที่ทำงานด้านการฟื้นฟูในพื้นที่น้ำท่วม บอกที่มาว่า เป็นผลพวงมาจากช่วงสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 53 ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งในช่วงนั้นถือเป็นโครงการเฉพาะกิจ และเน้นการฟื้นฟูในส่วนของโรงเรียน ชุมชน กระทั่งการฟื้นฟูจิตใจ ด้วยการพูดคุยและจัดกิจกรรมสันทนาการ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกงานฟื้นฟูจึงเป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะทำร่วมกัน

“การฟื้นฟูก็เหมือนค่ายสร้างสุข และค่ายต่อเนื่อง เพราะเน้นการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ทำยังให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ ในปีนี้กำลังมีการคุยกันว่าแต่อาจแยกเป็น 2 ส่วน คือการฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับความเสียหาย ตามอาคารบ้านเรือน และฟื้นฟูจิตใจ แต่อาจจะมีการวางแผนระยะยาวด้วยการเก็บข้อมูลว่าเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมได้อย่างไร เพื่อหาแนวทางการป้องกัน ให้ชุมชน ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากกว่าเดิม”

 

สอดคล้องกับที่ วีรินทร์วดี สุนทรหงส์” ผู้จัดการโครงการ ที่ขมวดประเด็นว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เป็นวิกฤติก็จริง แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่จะให้เยาวชนร่วมช่วยเหลือสังคม โดยการช่วยเหลือและเตรียมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยในรูปแบบต่างๆ ผ่านการทำกิจกรรมค่ายฟื้นฟูและศูนย์เยาวชนช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพิ่มเติมจากงานพัฒนาชุมชนผ่านค่ายอาสาและค่ายต่อเนื่องที่ทำอยู่แล้ว งานที่เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์เช่นนี้จึงเหมือนการต่อยอดและฝึกทักษะและต่อยอดกระบวนการคิดในหลายรูปแบบกับเยาวชน
เมื่อกับกิจกรรมที่ต่อยอดผนวกกับการทำค่ายอาสาฯ ที่มีอยู่เดิม นั่นย่อมทำให้เกิดการร้อยรัดกันระหว่างเยาวชนจิตอาสา เกิดการสร้างระบบอาสาสมัครของเยาวชน พร้อมการสร้างฐานข้อมูลอาสาสมัครเยาวชนทั่วประเทศ

กิจกรรมที่เยาวชนร่วมขับเคลื่อนนั้น ยังเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ต่างๆที่หน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีอยู่ในท้องถิ่นมีอยู่แล้ว เกิดการบูรณาการร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดภัยพิบัติและรับมือสถานการณ์ที่ไม่ปกติอื่นๆเกิดขึ้นอีกในอนาคต


เหมือนกับการที่เยาวชนร่วมสร้างความพร้อมชุมชนในมิติต่างๆตามแต่รายละเอียดรายทาง แต่ทั้งหมดมีการทำค่ายฯและจิตอาสาเป็นจุดเริ่มต้นไม่ต่างกัน

 

คำสำคัญ (Tags): #กระจายสุข
หมายเลขบันทึก: 473446เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาร่วมชื่นชมคนจิตอาสาร่วมด้วยช่วยกันฟื้นฟู สู่ชีวิตที่เป็นสุขค่ะ..

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471847

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท