เป็นไทยในหนานหนิง (๑) เรียนรู้วิธีทำเกี้๊ยว (มรดกทางวัฒนธรรมของชาวจีน)


เกี๊ยว เป็นอาหารประจำชาติที่ชาวจีนภาคภูมิใจ ทำมาจาก “แป้งสาลี” ปลูกกันมากในแถบเหนือของจีน ในอดีตนิยมรับประทานกันในงานมงคลต่างๆ ด้วยวิธีการของการ “นึ่ง-ต้ม-ทอด”

การมาเยือนมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ในครั้งนี้  ผมและทีมงานนำพาการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ (๔ ภูมิภาค) มาร่วมเฉลิมฉลองวันครบรอบการก่อตั้งสถาบันขงจื้อมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครบ ๕ ปี ...

ถึงแม้กิจกรรมหลักจะเป็นการสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับ “สถาบันขงจื้อ”  รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยมีความประสงค์ที่จะร่วมกันพัฒนานิสิตนักศึกษาผ่านกระบวนการทางการศึกษาร่วมกัน 

แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการนำเอา “ศิลปะและวัฒนธรรม” มาแลกเปลี่ยนร่วมกันเป็นอย่างยิ่ง  ยังผลให้ผมและทีมงานต้องยกวง “โปงลาง” ข้ามขอบฟ้ามายังเมืองจีน ภายใต้ชื่อโครงการที่ผมเคยได้คิดและออกแบบไว้เมื่อหลายปีที่แล้วว่า “โครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมสานสัมพันธ์นิสิตนักศึกษาสู่การเปิดโลกทัศน์ใหม่ ครั้งที่ ๓” 


ภายหลังการแสดง “วงโปงลาง” ในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ เสร็จสิ้นลง นิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อีกมากมาย อาทิ การเรียนรู้วิธีทำ “เกี๊ยว”


เบื้องต้นวิทยากรบอกเล่าให้เรารับรู้ว่า “เกี๊ยว”  เป็นอาหารประจำชาติที่ชาวจีนภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง  โดยเกี๊ยวทำมาจาก “แป้งสาลี”  ปลูกกันมากในแถบเหนือของจีน ในอดีตนิยมรับประทานกันในงานมงคลต่างๆ  ด้วยวิธีการของการ “นึ่ง-ต้ม-ทอด”

นอกจากนี้ยังบอกเล่าให้รู้ว่าในอดีตนั้นนิยมทำเกี๊ยวด้วยมือ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกี๊ยวมีรสชาติที่อร่อย แต่ปัจจุบันมีเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต ยังผลให้รสชาติแตกต่างไปจากอดีต แต่ตอบสนองความสะดวกและรวดเร็วได้อย่างเห็นได้ชัด

 

การฝึกทำเกี๊ยวในครั้งนี้  นิสิตได้ลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่การนวดแป้ง  การหั่นแป้งและบดแป้งเป็นแผ่นๆ เพื่อรองรับไส้ซึ่งมีส่วนผสมหลักจากแครอท รากบัว(ผสมเนื้อหมูที่บดละเอียด) และผักกาดขาวที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

ตลอดระยะเวลาของการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงนั้น  วิทยากรได้ให้ความอนุเคราะห์ทั้งศาสตร์และศิลป์วิธีทำเกี๊ยวอย่างจริงใจ ไม่ละเลยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ส่วนผสมของการทำไส้  การห่อไส้  การทอด การนึ่ง การต้ม การทำน้ำซุป  หรือแม้แต่การปรุงรสด้วยน้ำจิ้มทั้งที่เป็นซอส หรือซอสพริก


ในช่วงของการห่อไส้เกี๊ยวนั้น  วิทยากรอธิบายให้นิสิตใช้น้ำเปล่าแตะบางๆ บริเวณขอบของแผ่นแป้งเพื่อม้วน หรือปิดเข้าหากันอย่างเบาๆ ซึ่งโดยปกติเมื่อแป้งโดนน้ำแล้วจะอ่อนตัวและมีความเหนียวนิดๆ ช่วยให้เราบีบขอบของแผ่นแป้งนั้นๆ ให้ปิดสนิทได้ง่ายขึ้น  แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้มีความหนามากนัก เพราะจะทำให้เกี๊ยวที่ผ่านกระบวนการแล้วแข็งจนรับประทานยาก หรือหากม้วน หรือปิดไม่พอเหมาะ ก็จะทำให้เกี๊ยวไม่เป็นแผ่น ไส้ที่ห่อไว้ในแผ่นแป้งก็จะทะลักหลุดออกมาได้ในที่สุด

การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในครั้งนี้  ผมสังเกตเห็นความกระตือรือร้นของนิสิต  เกือบทุกคนมีปฏิกิริยาต่อการเรียนรู้ที่ชัดเจน

  • หลายคนจดบันทึกขั้นตอนการทำอย่างละเอียด 
  • บางคนพยายามจดศัพท์ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการสื่อสาร
  • ขณะที่หลายต่อหลายคนขลุกอยู่กับกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ อย่างสนุก
  • แต่ทุกๆ คนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เคยแต่ซื้อทาน  แต่ไม่เคยรู้และเห็นกระบวนการทำ “เกี๊ยว” เลยแม้แต่ครั้งเดียว”
     

 

ครับ, นี่จึงเป็นประสบการณ์แรกของนิสิตที่ได้ลงมือทำเกี๊ยวด้วยตัวเอง บางคนถึงขั้นออกแบบเกี๊ยวเป็นรูปจานบิน  เป็นรูปดวงจันทร์ครึ่งเสี้ยว  หรือแม้แต่ออกแบบเป็น “ไข่ดาว” ก็มีเหมือนกัน

สำหรับผมแล้ว  ผมถือว่านี่เป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากการเรียนรู้ในเรื่อง “ศิลปะการแสดง” แล้ว  ยังได้เรียนรู้ ”มรดกทางวัฒนธรรม” ผ่าน "การกินอยู่" ของชาวจีนอย่างใกล้ชิด  ซึ่งเกี๊ยวที่ว่านี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกเนรมิตขึ้นในสมัยราชวงศ์ถังถึงราชวงศ์ฮั่น


 

 


กรณีดังกล่าว  ผมเชื่อว่านิสิตหลายต่อหลายคนคงหวนคิดไปถึง “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ที่เมืองไทยเป็นแน่  เพราะเกี๊ยวที่ว่านี้คือส่วนประกอบอันสำคัญของ “บะหมี่” นั่นเอง

เกี๊ยวที่ห่อไส้แล้วนำไปทอดนั้น คนไทยเรียกว่า “เกี๊ยวซ่า”  ซึ่งนิยมใส่ไข่ลงไปในแป้ง เมื่อนำไปทอดแล้วเกี๊ยวจึงมีคุณลักษณะสำคัญคือเป็น “สีเหลือง”  ชวนรับประทาน

 

ครับ-นี่คือการเรียนรู้เล็กๆ ของการเดินทางไกลในครั้งนี้
นี่คือวิถีชีวิตการกินอยู่ของนิสิตที่มา “เป็นไทยในต่างแดน”
ผมเชื่อว่าพวกเขาจะมีความสุขกับการเรียนรู้ที่ว่านี้อย่างแน่นอน
และกิจกรรมที่ว่านี้  คงช่วยสะกิดให้พวกเขาหวนคิดถึง “อาหารอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทย” บ้างกระมัง !


หมายเหตุ
๑.โครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมสานสัมพันธ์นิสิตนักศึกษาสู่การเปิดโลกทัศน์ใหม่ ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๘-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
๒.นิสิตที่เข้าร่วม ประกอบด้วยชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง,นิสิตโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม,นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
๓.มหาวิทยาลัยมหาสารคามลงนามความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี  เพื่อจัดตั้งสถาบันขงจื้อที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามครั้งแรกในปี ๒๕๔๕

 

หมายเลขบันทึก: 471118เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2011 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

วัฒนธรรม นึ่ง-ต้ม-ทอด อยู่ในสายเลือดชาวจีนโดยแท้คะ

ทำให้นึกถึง ขนมจีบคุณยาย ขึ้นมาเลย

กิจกรรมการเรียนแบบนี้ มีความสุขและได้ความ "ฉลาดทางวัฒนธรรม" ไปในตัวเลยนะคะ

  • โอโห ไปหลายวันเลยนะครับ
  • จำได้ว่าเพื่อนจากมหาวิทยาลัยกุ้ยโจ
  • เคยทำให้กินอร่อยดี
  • รออ่านอีกครับ

สวัสดีครับ คุณ ป.

เป็นโอกาสอันดีของนิสิตที่ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง และเรียนรู้ในอาหารการกินที่เป็น "มรดกทางวัฒนธรรมของชาวจีน"  ได้รู้กระทั่งว่าการทำเกี๊ยวนั้น  ในเมืองจีน หรือในบางชุมชนจัดเป็นเทศกาลเลยด้วยซ้ำไป

ผมยังยืนยันว่า กลับถึงเมืองไทย  คงชวนให้นิสิตได้หวนกลับไปดูตัวเอง  ดูบริบทสังคมตัวเองบ้าง  อย่างน้อยก็คงมองทะลุไปถึง "ภูมิปัญญา" ของเรื่องเหล่านั้นบ้าง ไม่ใช่แค่บริโภคๆ  (ข้าวสุก-ปลาตาย)  แต่ไม่รู้ที่มาที่ไป  เหมือน "กินปลา แต่ไม่เคยเลี้ยงปลา หรือจับปลา" นั่นเอง

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

อากาศที่นี่เย็นลงทุกวัน  ปรับตัวกันทุกวัน ...คิดถึงเมืองไทยกันไม่เว้นแม้แต่นาทีเดียว...

ที่นี่กินผักกันเยอะมาก  มีเผือก มัน ข้าวโพดต้มและปิ้งร้อนๆ วางเรียงรายตามถนน  ชวนให้คิดถึงสมัยเด็กๆ ที่ไปเลี้ยงวัวแล้วก่อไฟไล่ความหนาว กุดเอามันสำปะหลังมาเผากินร้อนๆ แทนข้าว...

ยิ่งเดินทาง ยิ่งรักชีวิตตัวเองมากครับ -

รักษาสุขภาพนะครับ

 

 

อรุณสวัสดิ์ในวันดี ดี ค่ะ... ...

  • เกี้ยวน้ำร้อน ๆ สักถ้วยนะคะในช่วงเวลาที่อากาศเย็น ๆ ...
  • ...ขอให้ทีมงานเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพค่ะ
  •  ... ดูแลสุขภาพคือกั่นเด้อจ้า...^_^

สวัสดีครับ พี่สีตะวัน

เพิ่งกลับมาถึงบ้าน-มหาสารคาม เมื่อครู่เองครับ (01.00 น.) เหนื่อยน่าดูกับการเดินทางอันแสนไกล แต่ก็สุขใจกับหน้าที่และการได้กลับถึงบ้าน...

ครับ ยิ่งเดินทาง ยิ่งรู้สึกรักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง..

สวัสดีครับท่านอาจารย์แผ่นดิน

เรียนรู้วิธิการทำนา กับการทำเอง

วิธีอาจไม่แผก แต่วิญญาณของทำนาเองมันเรียนรู้ด้วยทำ เมื่อนั้นแหละจะสอนให้รู้จักคุณค่าของเม็ดข้าว

ชาวนา(ไม่ใช่ผู้จัดการนา)รู้คุณค่าข้าว

ผู้จัดการนารู้คุณค่าผลผลิต

ชาวจีนรู้คุณค่าเกี๊ยว

หวัดดีค่ะ เราขื่อโบว์ ตอนนี้แยู่ที่หนานหนิง คนไทยคนไหนอยู่หนานหนิง แอดเมลมาคุยกานนร้า... *-*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท