มากกว่ารัก...คุณค่าของกระดาษแผ่นหนึ่ง


เมื่อประมาณหนึ่งทุ่มคืนวาน...ผมได้นอนคุยกันเรื่อยเปื่อยกับแม่

แม่เป็นคนห่วงคนนั้นห่วงคนนี้...อาจเป็นนิสัยของแม่เองหรือนิสัยคนโบราณก็ไม่รู้

แม่บอกให้เอาข้าวเหนียวใหม่ (บ้านไม่ได้ทำนา...แต่ข้าวใหม่ได้จากบ้านน้องเขย) ไปให้คุณยายข้างบ้าน

และน้องข้างบ้านจะรับปริญญาอีกไม่กี่วัน...ฝากผมซื้อของขวัญหรือให้ดอกไม้แสดงความยินดีด้วย

 

เมื่อพูดถึงวันรับปริญญา...

ผมมีโอกาสได้รับปริญญาตรี...ในใจของผมไม่อยากไปรับเลย...เพราะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากมาย...และต้องเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ

ทำไมการรับปริญญาสำคัญมากมายกับชีวิตเราด้วยเหรอ ?

แต่พี่ชายบอกว่า...เตี่ยและแม่อยากให้พวกเรา...ครอบครัวไป เพราะลูกอุตสาห์เรียนจบถึงปริญญาตรี แกเป็นลูกไม่กี่คน...ใน 13 คนที่เรียนจบนะ  

ทำไมแค่ไปรับปริญญาทำให้เตี่ยและแม่ภูมิใจแกลำบากหนักเหรอ ?

 

ผมมากรุงเทพฯ ก่อนครอบครัวหลายวัน เพราะต้องมาซ้อมรับปริญญา...

เตี่ยและแม่ พี่น้องลูกหลาน...เดินทางบนรถตู้ตลอดคืน... ในวันรับปริญญา

เตี่ยและแม่ แต่งชุดที่สวยและหล่อมากสำหรับผม...เพราะผมไม่เคยได้เห็นและคุ้นชิน

แม่นึ่งข้าวเหนียว...ทอดหมู...น้ำพริกปลาร้า....สารพัดอาหาร

พี่น้องลูกหลาน...ตื่นตาตื่นใจกับพิธีรับปริญญา....สีสันกรุงเทพฯ

 

ณ วันนี้ ผมตอบคำถามในใจได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น...

ทำไมการรับปริญญาสำคัญมากมายกับชีวิตเราด้วยเหรอ ?

แต่ส่งหนึ่งที่ผมได้คือ... รูปถ่ายผมและเตี่ยกับแม่ในวันรับปริญญา

มันเป็นใบแรกและใบสุดท้ายของรูปถ่ายที่มีพวกเรา 3 คน อยู่ในเฟรมนั้น

 

เป็นรูปถ่ายใบเดียวของชีวิตของผม

คือ...สิ่งที่...มากกว่ารัก...ที่เตี่ยและแม่ให้ผม

 

.......................

ป.ล. ผมอาจจะมีอารมณ์คล้ายครูของผมก็ได้ครับ...

คุณค่าของกระดาษแผ่นหนึ่ง : วินทร์ เลียววาริณ

 (ข่าวหน้าหนึ่ง  ผลงาน เติมหัวใจใส่ห้องสมุด)

 

ผมบอก พ่อว่าจะไม่เข้าร่วมพิธีรับปริญญาบัตร ผมให้เหตุผลว่า บริษัทในต่างประเทศบอกรับผมเข้าทำงานแล้ว พ่อบอกว่า "ช่างหัวมันปะไร ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แกต้องรับปริญญา"

พ่อไม่สนใจว่าผมต้องเสียค่าเช่าชุดครุย หรือค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยืนกรานคำเดิม "ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แกต้องรับปริญญา"

ผมกับเพื่อนคนหนึ่งตัดสินใจที่จะไม่ร่วมพิธีรับปริญญาบัตร เราไม่เข้าใจว่าทำไมการรับปริญญาจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญนักหนา หัวใจของการเรียนคือความรู้ ไม่ใช่ชุดครุย ดอกไม้ กับกระดาษแผ่นหนึ่ง

ดังนั้นผมจึงเข้าพิธีรับปริญญาบัตร...

พ่อไม่ค่อยมีโอกาสออกจากบ้านมากนัก แต่ก็เดินทางไกลข้ามคืนจากต่างจังหวัดเพื่อที่จะมางานนี้โดยเฉพาะ



ผมก้าวขึ้นเวที เดินตามแถวเพื่อนนิสิตไปทีละก้าว เมื่อเสียงเรียกชื่อของผมดังขึ้น ใจของผมเต้นเร็วขึ้น รู้สึกประหม่าเก้งก้างขณะยื่นมือออกไปรับม้วนกระดาษที่ผมใช้เวลาห้าปีใน มหาวิทยาลัยแลกมา

รูปถ่ายวันรับปริญญาติดบนผนังห้องของพ่อนานจนวันที่พ่อจากโลกไป รูปของชายหนุ่มร่างผอมก้มศีรษะยื่นมือออกรับม้วนกระดาษจากบุคคลผู้ทำให้พ่อ ของผมยืนยันให้ผมต้องรับปริญญาบัตร...

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

อาจจะจริง ปริญญาบัตรไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของการเรียน พิธีรับปริญญามีคุณค่าเพราะผู้ที่ประทานปริญญาบัตรใบนั้นให้เราต่างหาก...

-------------------------------------------------

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 470881เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2011 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นึกถึงกวีบทโด่งดัง ว่า "ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง......" นะครับ

  • ศิลปะประดับดารดาษ
  • พุทธศาสตร์พุทธศิลป์ถิ่นศึกษา
  • อุโบสถหยดย้อยลอยนภา
  • ล่องเมฆากลางม่านวิมานแมน

 

 

  • ใบปริญญาบัตร ก็คือ สิ่งสมมุติ (ในความคิดของพี่นะคะ)...ปริญญา คือ การสร้างให้เกิดความรู้ในตัวของเรา ถามว่า มีค่าหรือไม่...ในสถานการณ์หนึ่ง อาจดูว่ามีค่า แต่อีกสถานการณ์หนึ่ง อาจดูไม่มีค่า เป็นปรัชญาที่มีอยู่ในตัวมันเองค่ะ
  • แต่สิ่งที่อยู่ติดตัวเรา นั่นคือ "ปริญญาชีวิต" ค่ะ เป็นใบปริญญาเต็มใบที่อยู่คู่กับตัวเราไปจนตายค่ะ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ทิมดาบ

บันทึกของอาจารย์งดงามมากครับ ผมเองนั้นมีความเห็นที่สอดคล้องกับท่านอาจารย์บุษยมาศครับ ใบปริญญาเป็นสิ่งที่ประกันว่าเราได้ศึกษาเรียนรู้ (Output) แต่หลังจากได้ศึกษาเรียนรู้มาแล้วเราจะนำสิ่งที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาต่อยอดสร้างคุณค่าให้กับชีวิตของเราและผู้อื่นด้วยวิธีการใด? และอย่างไร? ผลลัพทธ์ที่มีคุณค่าสามารถต่อยอดได้นั้นเป็น (Outcome)

ชีวิตคนในภาคอุตสาหกรรมอย่างผมนั้น พวกเราเข้าใจครับว่าการผลิตสิ้นค้าขึ้นมาสักชิ้นนั้น จะต้องตั้งกระบวนการเริ่มต้นจาก Input เข้าสู่ Process ถึงจะออกมาเป็น "ผลผลิต" นั่นคือ (Output) แต่คนที่เขาทำงาน ทำหน้าที่ผลิต เขาก็รู้แค่นั้น ถือว่าจบความรับผิดชอบของเขา

ผมถามบุคลากรระดับปฏิการเสมอว่า หากสิ่งที่เธอผลิตได้นั้น ลูกค้าไม่ต้องการละจะเกิดอะไรขึ้น? แน่นอนครับลูกค้าเขาก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธ ไม่รับ ไม่ยินยอมจ่ายเงินออกจากกระเป๋าเขาหรอกครับ ถามว่าเพราะอะไร? ก็เพราะผลผลิต (Output) ที่ได้ออกมานั้นมันไม่เป็นไปตาม "มาตรฐาน" คือ ข้อกำหนด ข้อตกลงก่อนเริ่มการผลิต กล่าวโดยสรุป ทำชิ้นงานได้ผลผลิต แต่ไม่สามารถเปลี่ยนผลผลิตให้เป็นเงินได้ ในการประกอบการทางธุรกิจนั้นก็ถือว่าไม่ได้ "ผลิตผล"(Outcome)และไม่มีประโยชน์ แต่กลับเป็น "ความสูญเสีย"(Loss)เพราะต้องเสียเวลามาแก้ไข แก้ไม่ได้ก็ต้องทิ้งไป กลายเป็นเศษซากขยะ (Scrap)ที่ใครๆเขาก็ไม่ต้องการ

ความรู้ที่ร่ำเรียนมาหากไม่สามารถต่อยอดสร้างความดีงามให้เกิดคุณค่าในชีวิตตนเองได้ คงไม่ต่างอะไรจากการได้แต่ Output ที่ปราศจาก Outcome ยิ่งหากใช้ในทางที่ไม่สร้างสรรค์แก่การสร้างคุณงามความดีด้วยแล้ว ชีวิตเราคงไม่พ้นสภาพกลายเป็น Scrap แน่นอนครับ

สำหรับท่านอาจารย์ทิมดาบ สิ่งที่ท่านเป็น สิ่งที่ท่านทำนั้น เป็น Outcome ที่ทรงคุณค่าในจิตใจผมมาก ด้วยความชื่นชมครับ

มันเป็นใบแรกและใบสุดท้ายของรูปถ่ายที่มีพวกเรา 3 คน อยู่ในเฟรมนั้น

...

ขอใช้คำเดียวกับอาจารย์ธนากรณ์นะคะ ว่าเป็นบันทึกที่งดงาม จริงๆ

กระดาษแผ่นหนึ่งที่มีคุณค่าที่สุด เท่าที่ตีความ มิใช่ตัวใบปริญญา หากเป็น ภาพถ่ายที่ถ่ายทอดความรัก ความผูกพัน พลังของครอบครัว
ขอความงานนี้ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นนะคะ 

สวัสดีค่ะ

เข้ามาอ่านบันทึกของคุณหมอทีไร ได้มีซึ้งกลับไปตลอดเลยค่ะ

เป็นอีกคนหนึ่งที่มีรูปครอบครัวพร้อมหน้า ก้อตอนวันรับปริญญานี้แหละค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีดีนะค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ,

ขอบคุณสำหรับบันทึกอันงดงามมากนี้ค่ะ

ดีใจกับคุณหมอด้วยค่ะที่ได้ทำในสิ่งที่ทำให้คนรอบข้างมีความสุข เพราะวินาทีนั้น โอกาสนั้นมันจะไม่ย้อนมาอีกแล้ว แต่มันคือความทรงจำที่ที่งดงามในใจทุกคนเสมอไป

ขอให้มีความสุขกับเย็นวันพฤหัสนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท