นาข้าว: ภูมิชีวิตชาวลุ่มน้ำ


เคยมีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่สีเขียว สงวนไว้เพื่อการเกษตรกรรมและให้เป็นพื้นที่รับน้ำมาถึงยุคหนึ่งราวปีพ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมานักการเมือง-รัฐบาลก็แก้กฎหมาย ยกเลิกพื้นที่สีเขียวและ กำหนดให้เป็นพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรม เกิด โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ราวดอกเห็ดแทนที่ทุ่งนาเขียวขจี

คนอยุธยารุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เขารอคอย เตรียมตัวรอต้อนรับด้วยความเบิกบาน เพราะ น้ำหลาก เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติของถิ่นนี้ เป็นฤดูกาล น้ำหลากจะมาใน ช่วงระหว่างเข้าพรรษา มีฝนตกประกอบ

ท้องทุ่ง ท้องนา คูคลองชุมชนรายทาง เคยเป็นที่ต้อนรับน้ำหลากให้พักการเดินทางแล้วค่อยๆล่องลงไปเพื่อออกสู่ทะเล

เคยมีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่สีเขียว สงวนไว้เพื่อการเกษตรกรรมและให้เป็นพื้นที่รับน้ำมาถึงยุคหนึ่งราวปีพ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมานักการเมือง-รัฐบาลก็แก้กฎหมาย ยกเลิกพื้นที่สีเขียวและ กำหนดให้เป็นพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรม เกิด โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ราวดอกเห็ดแทนที่ทุ่งนาเขียวขจี

พื้นที่รับน้ำก็หดหายไปด้วย

แต่ธรรมชาติแห่งฤดูกาลน้ำหลากยังคงมีอยู่ ทว่าวิธีคิดของชาวนายุคพัฒนาและการทำนาเพื่อเน้นการส่งออก ทำให้ นาข้าว แปรสภาพเป็น ภูมิชีวิตที่อ่อนแรง หายใจระรวย และ ป่วยเป็นโรคกลัวน้ำ

กฎหมายนี้ทำให้พื้นที่นาของอยุธยาในปัจจุบัน น้อยลงๆ ในแต่ละปี เพราะได้เปิดช่องให้ใครอยากทำอะไรก็ได้ นา กลายเป็น หมู่บ้านจัดสรรบ้าง เป็น โกดังสินค้า บ้าง เป็นที่ขนถ่าย-เก็บถ่านหินบ้าง ไม่ต้องไปดูไกลเพราะอยู่แถวอำเภอนครหลวง ไม่ไกลจากบ้านผู้เขียนนัก

จะพูดไปไยถึงความดี ความงาม ความรู้-ภูมิปัญญาในการมีชีวิตเป็นสุขในยุคแต่ก่อนเก่า เพราะจะเป็นการบ่น โหยหาอดีตให้คนสมัยใหม่เย้ยเอาในความหลงอดีตเปล่าๆ

หน้าน้ำ มะกอกน้ำแก่จัดพอดี

 

ผู้เขียนนำมาเชื่อมไว้ทานเล่นยามน้ำท่วม เที่ยวนี้เค็มไปหน่อย

 

อย่างไรก็ตามหากมองให้ถึงแก่น ว่าความสุขยามน้ำหลาก เคยมีอยู่จริง และไม่ใช่แค่ความสุขเล็กๆน้อยๆ แต่นั่นคือ วิถีชีวิต

ความรู้ตามภูมิ ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ ก็มีอยู่จริงซึ่งยังมีหลงเหลืออยู่ในผู้คน

เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์ การทำนาแต่ครั้งอยุธยาเป็นราชธานีและมีสถานะเป็นถึง ราชอาณาจักรสยาม นั้น การทำนานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ คนทำนาเพราะต้องทำนา แต่ความสำคัญของการทำนาได้สะท้อนให้เห็นทั้งในประเพณีและราชพิธี ว่าคนยุคก่อนเอาจริงเอาจัง เห็นเรื่องนี้สำคัญเพียงใด

ขอยกเนื้อหาที่ ดร.ธิดา สาระยา เขียนไว้ใน ความนำ: กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา หนังสือ อยุธยา สำนักพิมพ์สารคดี

...หลายท่านคงไม่ลืมคำพูดแบบไทยๆเราที่ว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง พอเดือนอ้าย เดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง” คำนี้สะท้อนภาพของสังคมชาวนาที่ขึ้นอยู่กับความผันแปรของธรรมชาติ น้ำมาก น้ำน้อย มีความหมายยิ่งต่อชีวิตของเขา

เอกสารเก่าของราชอาณาจักรสยามประกอบด้วยใบบอกน้ำฝนต้นข้าวเป็นจำนวนมาก เสมือนข้อมูลทางสถิติที่รัฐเอามาประกอบการพิจารณาว่า จะทำอย่างไรจะสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวนาผู้ปลูกข้าว พิธีกรรมและราชพิธีสั่งสมสืบต่อกันมาทั้งระดับหลวง ระดับราษฎร์ เป็นไปเพื่อการนี้จำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่นอกจากพระราชพิธีในเดือน ๑๑-๑๒ แล้ว รัฐอยุธยายังประกอบ พิธีเรียกลมในเดือนอ้าย อีกด้วย เรียกลมมาไล่น้ำให้ลดลงโดยเร็ว ไม่ให้ข้าวยืนต้นเน่าตาย เมล็ดข้าวในรวงแก่จะร่วงหล่นเสียในน้ำ ชาวนาก็เกี่ยวข้าวไม่ได้เพราะน้ำมาก ความในกฎมณเฑียรบาลเรียกพิธีนี้ว่าไล่เรือ สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีพิธีการนี้แต่เรียก พิธีไล่น้ำ...

หลายท่านคงได้อ่านข่าวว่าในช่วงน้ำท่วมปีนี้แหละ ท่านผู้ว่ากทม. นอกจากจะวางแผนและดำเนินการปกป้องกทม.ไม่ให้น้ำเข้าท่วมแล้ว ท่านยังได้ประกอบ พิธีไล่น้ำ ด้วย แต่ไม่ได้ขอลมไล่น้ำจากนาข้าว ท่านขอแค่ลมมาไล่น้ำไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพชั้นในเท่านั้น แถมยังทำเป็นเรื่องภายเพราะมีเสียงครหาว่าเป็นความงมงาย

ปลาเสือมาว่ายเล่นข้างศาลา

คนต่างจังหวัดอายุรุ่นใกล้หกสิบขึ้นไป ได้ทันมีโอกาสใช้ชีวิตเป็นสุขในหน้าน้ำหลากในท้องนาที่นองไปด้วยน้ำ ก็มีพืชน้ำในนาทั้ง ผักบุ้ง ผักกระเฉด สันตะวา แพงพวย ที่ชูช่อให้พายเรือ เข้าไปเก็บมาทำกับข้าว พี่น้อยแม่บ้านของผู้เขียน เป็นชาวอยุธยา เคยอยู่ที่ อำเภออุทัย เล่าว่า หน้าน้ำพายเรือแหวกต้นข้าวเข้าไปในนา ไปเด็ดยอดผักบุ้งที่ชูช่อสลอน เวลาเด็ดเสียงดัง เป๊าะ ๆ

คนข้างกายก็เล่าว่ามีปลาตะเพียนเกล็ดขาวสะท้อนวับวาวขึ้นมารับน้ำฝนในนายามฝนพรำ และยังมีปลาแขยงปลายข้าวว่ายลัดเลาะกอข้าวที่ออกรวงงาม

เมื่อถึงปลายพรรษา ปลายฝน ต้นหนาว “ลมข้าวเบา” พลิ้วมา อากาศหนาวต้องผิวกายยามพายเรือแหวกต้นข้าวเข้าไปเก็บยอดผักและสายบัวแต่เช้ามืด

มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความอุดมสมบูรณ์ ข้าวปลาอาหาร ริมคลอง ดอกโสน ออกดอกดูเป็นจุดเหลืองๆกระจายระย้าทั้งต้น กวัดไกวไปมาตามสายลม ในน้ำมีปลามากมาย ทั้ง ปลาสร้อย ปลากด ปลาเนื้ออ่อน ปลาดุก ปลาช่อน สารพัดปลา

เมื่อก่อน คนอยุธยามักทำนาปี  น้ำหลากมาไม่ได้ทำลายนาข้าวอย่างยุคนี้ ดังที่พระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย ขำสุข ได้มาเล่าไว้เห็นภาพแจ่มชัดถึงวิถีชีวิตชาวนาในบันทึกก่อนๆของผู้เขียน ขอกราบขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ

Ico48

เจริญพรคุณนายดอกเตอร์

เมื่อวันที่๑๖กันยายน ๒๕๕๔ ได้ไปเยี่ยมคนแก่สองตา-ยายบ้านถูกน้ำท่วมที่ บ้านดอนม่วง อำเภอวังทอง พิษณุโลก หมู่บ้านนี้อยู่หลังวัดที่อาตมาจำพรรษา บ้านคุณยายน้ำท่วมถึงบันไดขั้นที่สาม

ก่อนไปบ้านคุณยายได้แวะไปนาโยมจำรัส เอี่ยมสำอาง ซึ่งเป็นไวยาวัจกรวัดศรีโสภณช่วงเดินทางกลับวัดโยมท่านได้คุยให้ฟังว่า เมื่อสามสิบปีสี่(สิบ?)ปีที่แล้ว เคยทำนาในหนองในบึงที่มี ความลึกของระดับน้ำเป็นวา(๒เมตร)กว่า แต่ข้าวไม่ตาย

ที่ข้าวไม่ตายเพราะ ใช้ข้าวพันธุ์นาเมือง ชื่อ ข้าวขึ้นน้ำ นั่นเอง

ข้าวขึ้นน้ำมีความสามารถในการหนีน้ำได้ดีมากด้วยการยืดปล้องข้าวให้พ้นน้ำเมื่อน้ำท่วม ข้าวชนิดนี้จะใช้ได้เหมาะสมในพื้นที่นาลุ่มที่น้ำท่วมขังมากๆเท่านั้นจึงจะดี ถ้านำไปปลูกในนาดอนมีน้ำน้อย กลับไม่งอกงามเท่าที่ควร คือถ้าน้ำน้อยไปจะได้ผลผลิตต่ำหรือออกรวงได้ไม่เต็มที่

โยมบอกว่าข้าวขึ้นน้ำนั้นเวลาน้ำนองมากๆ แค่วันสองวันจะเห็นต้นข้าวหนีน้ำต้นยาวเหมือนผักบุ้งเลย ข้าวขึ้นน้ำนี้ถือเป็นข้าวหนัก มีอายุเก็บเกี่ยวหลังข้าวเบา ข้าวกลาง เกี่ยวข้าวกลางเสร็จแล้ว ข้าวขึ้นน้ำก็สุกเกี่ยวได้พอดี

ประสบการณ์ของตนเอง ตอนที่อาตมาทำนาที่ บ้านห้วยน้อย อำเภอหนองบัวนครสวรรค์ นั้น(๒๕๒๓-สามสิบกว่าปีที่แล้ว) เนื่องจากพื้นที่นาของอาตมาต่างระดับกัน ถึงสามระดับ ที่โคก-ที่ดอนมากก็ทำข้าวเบา ลาดต่ำลงมาก็ข้าวกลาง ในร่องน้ำลึกหรือในหนองน้ำ ก็ต้องใส่(ใช้)ข้าวขึ้นน้ำจึงจะได้กิน(ข้าวอื่นจมน้ำตายหมด)

คนบ้านอาตมา เรียกคนอยุธยาที่ทำนาว่า"ชาวนาทุ่ง" นาทุ่งตามความเข้าใจของชาวนาอย่างอาตมาก็คือพื้นดินที่นาที่เป็นทุ่งราบเรียบเสมอกัน มองสุดลูกหูลูกตาโดยไม่เห็นต้นไม้หรือหัวปลวกเลยประมาณนั้น

พื้นดินเสมอกันอย่างอยุธยานั้น อันนาใหญ่มากจริงๆ อันนาคือ การแบ่งนาเป็นแปลงสี่เหลี่ยมที่กั้นแต่ละแปลงด้วยหัวคันนา โดยในแต่ละแปลงที่แบ่งแล้วนั้น คนบ้านฉันเรียกว่า "อัน" ที่ อำเภอวังทองเรียกว่า "บิ้ง"

ชาวนาทุ่งนี้ทำข้าวหนัก กว่าจะได้เกี่ยวก็ประมาณ เดือนยี่ เดือนสาม(คือก่อนปี๒๕๒๒,๒๕๒๓ อาตมาบวช) เมื่อข้าวหนักยังไม่ได้เกี่ยว ชาวนาทุ่งก็ว่าง จึงไปรับจ้างเกี่ยวข้าว ในพื้นที่นาดอนที่ทำข้าวเบาที่ข้าวสุกก่อน หลังจากนาดอนเกี่ยวเสร็จแล้ว ก็เป็นเวลาที่ข้าวหนักในนาทุ่งสุกพอดี

ชาวบ้านนาดอนก็ตามไปรับจ้างเกี่ยวข้าวนาทุ่ง สลับกันอย่างนี้ จึงทำให้ชาวบ้านสองกลุ่ม ทั้งชาวนาดอนและชาวนาทุ่งรู้จักกันมีความสัมพันธ์กันในทางที่ดี ไว้วางใจกันและกัน ความสัมพันธ์นี้ทำให้เกิดความเชื่อใจกันผ่านคนที่จัดหาแรงงาน(แขกเกี่ยวข้าว)

ผู้จัดหาแขกเกี่ยวข้าวคนใด ที่ได้แรงงานดี(เกี่ยวข้าวดี ไม่ตัดคอรวงข้าว เกี่ยวข้าวเสมอ) ก็มักจะเป็นที่ต้องการของเจ้าของนาโดยไว้ใจให้หาแรงงาน อย่างนี้ถือว่าเจ้าของนาสบายใจหน่อย

สมัย ลา ลูแบร์ ไม่ทราบว่าชาวอยุธยาใช้ข้าวพันธ์อะไร แต่บันทึกนี้ทำให้อาตมานึกถึงข้าวขึ้นน้ำทันทีเลย

ในปัจจุบันโยมไวยาวัจกรท่านบอกว่าหาไม่ได้แล้ว ข้าวขึ้นน้ำ ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกก็ไม่มีข้าวพันธ์นี้

-------------------

ได้ข้อมูลมาเพิ่มเติมว่า ข้าวขึ้นน้ำ ที่ท่านพระมหาแลฯ กล่าวถึงนั้น คือ ข้าวพันธุ์ฟางลอย ทางอยุธยาน่าจะยังมีพันธุ์ข้าวนี้หลงเหลืออยู่

  •                     
    เห็น ความเข้าใจ ของผู้คนที่ ตีโจทย์ภูมิศาสตร์และการทำเกษตรของตนเองอย่างแตกฉาน
  • เห็น ความสัมพันธ์ของผู้คน ที่แม้จะอยู่ต่างถิ่น ทำนาคนละแบบ แต่วิถีการเกษตรและจังหวะแห่งการเก็บเกี่ยวข้าว-ฤดูกาล ยึดโยงความสัมพันธ์นั้นไว้อย่างงดงาม
  • เห็น การอยู่ร่วมกับน้ำ-ธรรมชาติ อย่างมีความเคารพ และเปี่ยมด้วยมิตรไมตรี

ก่อนมีเขื่อน น้ำหลาก ยังได้นำตะกอนดินอันอุดมสมบูรณ์จากภูเขาทางเหนือมาสู่ท้องทุ่ง ท้องนา

อำนวยให้ อยุธยา นอกจากจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ยังเป็นผู้ส่งข้าวเป็นสินค้าออกไปประเทศต่างๆตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

รัฐบาลได้สร้าง เขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นับว่าเป็นเขื่อนแรกที่สร้างเพื่อเก็บกักน้ำเอื้อให้ชาวนาที่ราบลุ่มภาคกลางทำนาได้ปีละสองครั้ง...ยุคนี้พากันทำนาปีละถึงสามครั้ง

มีผู้กล่าวว่า การสร้างเขื่อนก็คือจุดเริ่มต้นแห่งความเสื่อมสมดุลของระบบนิเวศที่อยุธยามีมาแต่เดิม

ทว่า ...เพื่อการพัฒนา เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ที่มั่งคั่งแบบโลกาภิวัตน์ ใครๆก็ต้อนรับการมีเขื่อน ยิ่งเวลานี้กระแสความต้องการมีเขื่อน คงจะแรงกว่ากระแสน้ำหลากที่มาเสียอีก

ประวัติศาสตร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ให้บทเรียนแล้วว่า เขื่อน ไม่น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหา

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ชี้ว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการบริหารจัดการน้ำด้วยท่าทีใหม่ ต้องอยู่กับน้ำให้ได้ ยังมีวิธีอื่นๆอีกที่สามารถทำให้เราใช้ชีวิตยุคปัจจุบันในยามน้ำมากได้อย่างไม่ทุกข์นักสำหรับคนเมืองหรือถึงขั้นเป็นสุขสำหรับคนต่างจังหวัดที่ใกล้ชิดธรรมชาติก็ย่อมได้

 

 

คนข้างกายยืนยันว่าทางรอดอย่างอยู่ดี มีสุขนั้น เราต้องปฏิวัติวัฒนธรรมอยู่บนฐานที่มั่นคงของเราเอง เขาได้อธิบายชัดเจนถึงแนวทางต่างๆที่เราควรปรับตัวให้สอดคล้องต่อ ภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม และ ชีวิตวัฒนธรรม ซึ่งผู้เขียนอยากบันทึกเก็บไว้ ท่านที่สนใจขอเชิญติดตามอ่านกันได้ค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 465414เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2011 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • พี่นุชครับ
  • สมัยก่อนผมจะท่องตามผู้ใหญ่ว่า
  • เดือนสิบน้ำนอง
  • เดือนสิบสองน้ำคง
  • เดือนอ้ายเดือนยี่
  • น้ำรี่ไหลลง
  • แต่ปีนี้นำคง และไหลแรง แงๆๆ

สวัสดีค่ะ 

Ico64

แวะมาชื่นชมบันทึกที่เขียนได้ดีมากๆค่ะ  นาข้าว: ภูมิชีวิตชาวลุ่มน้ำ... วิถีชีวิตความรู้ตามภูมิ...วิถีแห่งการเกษตร การอยู่ร่วมกับสายน้ำที่ไหลหลากตามธรรมชาติเป็นวัฒนธรรมของคนที่ราบลุ่มภาคกลาง...เป็นบันทึกแห่งความทรงจำที่งดงามค่ะ...

*ขอบคุณค่ะ..ไม่อยากให้ความคิดดีๆอย่างนี้ อ่านกันแต่ชาว G2K ..หากน้องนุชและคนข้างกาย สามารถเผยแพร่ออกสู่ชุมชนชาวเมืองหลวงเก่า และรณรงค์ในวงเล็กๆก่อน และขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เพื่อฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง...คงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง..

*วันนี้ เพิ่งกลับจากงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย..พวกเราในกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ต่างออกความเห็นในเชิงเดียวกันนี้ โดยมีจ.อยุธยาเป็นหัวข้อสนทนา..

..มีฉันทามติตรงกันว่า ในที่สุดแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ จะไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนเพื่อการอุตสาหกรรมอีกต่อไป..อาจมีการขายออกไปในราคาไม่แพงนัก..โอกาสที่จะกลับเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเช่นเดิมน่าจะเป็นที่หวังได้นะคะ

โอ๋ๆ นะคะ อาจารย์ขจิต ฝอยทอง เตรียมพร้อมลุย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อยู่ใกล้

น้ำท่วมใหญ่ปีนี้เป็นเรื่องเหนือการจินตนาการของทุกคน

เป็นห่วงเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องที่อยู่ในกรุงเทพและเขตรอบนอกและ สงสารคนที่ถูกน้ำท่วมเข้าบ้านอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวค่ะ 

บ้านพี่น้ำก็ดูทรงๆ อีกไม่นานส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปซึ่งเป็นชุมชนอยู่หลายหลังคาเรือนคงมีสภาพเป็นน้ำท่วมขัง

อย่างไรก็ตามก็ได้เห็นนวัตกรรมที่หลายแห่งช่วยกันคิดประดิษฐ์ส้วมบำบัดในตัวหลายแบบ เครื่องกรองน้ำแบบไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมัน นับว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยให้เราเตรียมการสำหรับน้ำท่วมครั้งหน้าได้ดีขึ้นนะคะ

ขอบคุณค่ะดร. พจนา แย้มนัยนา ได้ฟังคำบอกเล่ามา รู้สึกว่ามันงดงามจริงๆ ยิ่งได้คุยกับคนข้างกายเขาบอกว่า สิ่งเหล่านี้เราสามารถดึงความรู้ออกมาจากความทรงจำเหล่านี้แล้วนำมาปรับใช้ได้ใหม่ ทำได้จริง โดยเราใช้เทคโนโลยีมาประกอบให้เกิดประโยชน์ สะดวกสบายขึ้น มุ่งที่การการทำให้สิ่งแวดล้อมมีสุขภาพดีและเราก็อยู่ร่วมกับน้ำอย่างเป็นสุขได้

เราเองก็พยายามทำให้ผู้คนได้เห็นค่ะ เพราะแค่พูดไปคนสมัยนี้คงไม่เชื่อ

ขออธิษฐานให้พื้นที่ทุ่งนาเดิมของอยุธยา กลับมาเป็นทุ่งนา-พื้นที่การเกษตรอีกครั้งดังที่พี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ และกลุ่มนักอนุรักษ์มีความเห็นไว้ค่ะ

แนวคิดที่นุชนำมาเขียน นำมาเล่านี้ คนข้างกายก็ได้ดำเนินการเล็กๆ ทำเองไปเรื่อยๆค่ะ เพราะคนอยุธยาส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับที่จะขับเคลื่อนนโยบายได้ก็ไม่ได้สนใจแนวทางอย่างนี้ แปลกมากค่ะที่ผู้คนที่สนใจ กลับเป็นคนนอกพื้นที่

น้ำลด และนุชจัดการความเรียบร้อยที่บ้านเสร็จเมื่อไหร่ ขอเรียนเชิญพี่ใหญ่และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติมาเยือนอยุธยากันสักครั้งดีไหมคะ

ขอบพระคุณพี่ใหญ่ค่ะที่เป็นกำลังใจให้เสมอ

ผมเคยไปอยุธยามาสองปีก่อน  เป็นลูกศิษย์วัดเดินตามพระไปบิณฑบาต ชอบมากๆ มีความรู้สึกเหมือนเราเคยอยู่ที่นั่นมาก่อน

ความจริงความเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมก็หาจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไปไม่

เพราะตามมาด้วยปัญหา  ปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อม  พอมีปัญหามาทีครั้งเดียว

เช่นน้ำท่วม แผ่นดินไหว กำไรหาย มีแต่ความขาดทุน ทิ้งไว้แก่แผ่นดิน

เห็นด้วยกับอาจารย์ ดร ที่น่าจะอนุรักษ์อยุธยาให้เป็นทุ่งนา การเกษตรอีกครั้ง

ตอนนี้ได้ข่าวว่าสารเคมี จากโรงงานต่างๆ เริ่มจะเป็นปัญหาแล้ว

รัฐบาลคงหมดปัญญาแก้  เพราะค่าใช้จ่ายสูงมากครับ

เมื่อน้ำลดลง เราคงได้เป็นบทเรียนสำคัญบทหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยนะครับว่า เราได้เคยย่ำยีบีธาธรรมชาติมากมายแค่ไหน เมื่อเขามาเอาคืน ก็โทษใครไม่ได้ การปรับวิถีชีวิตตนจึงเป็นสำคัญที่สุด

แต่หากคนไทยเป็นคนลืมง่ายแล้ว ... ประวัติศาสตร์ย่อมยินดีที่จะซ้ำรอยเสมอ

ขอให้ปลอดภัยนะครับพี่นุช คุณนายดอกเตอร์ ;)...

ทราบว่าคุณคนบ้านไกลได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดมเหยงคณ์ หากเดินตามพระไปบิณฑบาตย่านนั้นคงได้เห็นวัดกุฎีดาวอยู่เยื้องๆทางเข้าวัดไม่ไกลกันนัก ดิฉันชอบวัดกุฎีดาวมาก ขนาดมีแค่ซาก ยังงามปานนี้ค่ะ วัดที่อยุธยาสวยและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากทุกวัดแต่ชาวบ้านมักไม่รู้สึกภูมิใจเพราะไม่เข้าใจในประวัติศาสตร์ชุมชน/ท้องถิ่นของตัวเอง น่าเสียดายมากค่ะ

วัดที่มีความงามเป็นเลิศ วัดใหญ่ๆ ก็ถูกกระแสการท่องเที่ยวไหว้พระ ๙ วัด ทำให้เป็นได้แค่แหล่งท่องเที่ยวผิวเผิน

อยุธยามรดกโลก เป็นแค่ความคิดของคนส่วนใหญ่ที่จะหากินกับสิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ หาได้มีความรักลึกซึ้งอะไรที่จะทะนุบำรุง คนสมัยนี้อะไรที่ทำแล้วได้เงินง่าย ได้เงินเร็วก็ทำทั้งนั้น เช่นการเอาพื้นที่สีเขียวไปทำเป็นพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม  น้ำท่วมได้เปิดเผยอะไรหลายอย่างค่ะรวมทั้งเรื่องสารพิษ สารเคมีที่ใช้อย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับสิ่งแวดล้อม น้ำเสียและสารพิษที่ไม่ได้เก็บอย่างเหมาะสมจากโรงงานทั้งหลายของนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งก็ได้ถูกพัดพาไปกับน้ำหลากแล้ว

เคยมีคนพูดว่า รัฐบาลทุกยุค เพราะเน้นเรื่องการเมือง จึงมักทำในสิ่งเร่งด่วน แต่ไม่ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เลยเกิดปัญหาสะสม กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ได้ เพราะต้องใช้ทั้งเงินและความทุ่มเท เอาจริงในการแก้ปัญหาระยะยาว

ปัญหาน้ำท่วมต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ที่ความคิดกันก่อน หวั่นๆเหมือนกันค่ะว่าคงไปไม่ถึงไหน ประชาชนจึงต้องปรับตัวและพึ่งตนเองให้ได้มากๆ 

ขอบคุณค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn พี่ว่าคนไทยกับความเป็นคนลืมง่ายนี่คงเป็นไปอีกนานเพราะความเคยชินกับการมุ่งไปข้างหน้าเร็วๆ

เดี๋ยวพอน้ำลด ต่างคนต่างฟื้นฟูบ้านตนเองแล้วก็ไปทำงานเข้าวงจรเดิม

เมื่อคืนพี่ดูข่าวช่องทีวีไทยช่วงข่าวพลเมือง จากอีสานค่ะเขาพูดเรื่องปัญหาน้ำท่วมเหมือนกัน เขาบอกว่าเมื่อก่อนน้ำหลากมาก็แค่หนึ่งหรือสองอาทิตย์น้ำก็ไปหมด หลังๆนี่ท่วมกันเป็นเดือนสองเดือน เขาร่วมกันคิดวิเคราะห์สาเหตุ พบว่า เขื่อนและฝายขนาดใหญ่ๆเป็นตัวขัดขวางไม่ให้น้ำเดินทางสะดวก เขาบอกว่าบรรพบุรุษเขาสอนไว้ว่า อย่าเอาอะไรไปขวางทางเดินน้ำ จะเกิดวิบัติ เป็นอุบายสอนลูกหลานให้รู้จักอยู่กับน้ำหลากเป็น เขาฟันธงว่า เขื่อน และสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ที่อยู่ขวางทางเดินน้ำนี้เป็นปัญหาที่สุดค่ะ เขาร้องขอว่า ผู้มีอำนาจควรคิดให้ดีว่าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือ ที่ปลายเหตุ

ผู้มีอำนาจ กุมนโยบาย มักเป็น นักรบห้องแอร์ (คนข้างกายพี่เรียกค่ะ) จะต่อสู้แก้ปัญหาความเป็นอยู่ปากท้องให้ประชาชนแต่ไม่มีความเข้าใจความรู้ในแผ่นดินเลย

...สวัสดีค่ะ..คุณนุช..ในธรรมชาติ..มี..งู..กับ แขก..อยู่ด้วยกัน..(ถ้า..งู..เข้าไป..อยู่ในห้องแอร์.."แขก"ที่เป็น"นักรบในห้องแอร์"คงจะ..เขียนในกระดาษ..ว่า..ป้องกัน"งู" "ได้..เจ้าค่ะ..ยายธี (แอบคิด..อ้ะ..)...คิดถึงค่ะ..ยายธี

สวัสดีค่ะ พี่นุช

วันที่ผ่านไป...ทำงานไปก็ฟังข่าวน้ำไป

สรุป...ในฐานะประชาชนเลยบริโภคข่าวจน เมาข่าวค่ะ

ต้องบริหารความเครียด...เพราะต้องรีบทำงานให้เสร็จทันเวลา

เมื่อวันพฤหัสบดีหลังจากส่งงานชิ้นสุดท้ายแล้ว

ราวเก้าโมง...ก็ตัดสินใจนำรถไปขอจอดที่ทำงานได้ที่จอดชั้นสาม

...เหลือที่จอดเป็นคันสุดท้ายพอดีค่ะ...^____^

พอคล้อยหลังเจ้าหน้าที่ก็ปิดประตูที่จอดรถใส่กุญแจ เพื่อป้องกันทรัพยฺสินในอาคารจอดรถ

สุดท้ายเจ้าหน้าที่นำถุงทรายมาทำกำแพงสูงหนึ่งเมตรปิดประตูทางขึ้นที่จอดรถอีกที

ที่บ้านยังไม่ท่วมค่ะ

ศึกษาตามข้อมูลสุดท้าย หากน้ำท่วมที่อยู่คิดว่าคงสูงราวเมตรครึ่ง

(แต่ไม่ท่วมก็ดีที่สุดค่ะ)

ส่วนเพื่อนบ้านไม่มีใครระดมซื้อถุงทราย แต่ทุกคนเตรียมยกของขึ้นที่สูงเกินเมตร

หากน้ำมาก็เพียงปล่อยเค้าไป...

ชีวิตริมน้ำชายคลองก็ดำเนินไปตามนี้ค่ะ...

วันนี้..ต้องปรับชีวิต.....นอนกลางวัน และตื่นกลางคืน...แบบ ฮ นกฮูก ตาโต ค่ะ

หากน้ำทรงเมื่อไร..ก็สบายใจ เตรียมพร้อมอยู่บ้านน้ำล้อม

พร้อมด้วยความสุขสงบสบายใจตามที่เตรียมพร้อมไว้อย่างดีแล้ว

เตรียมงาน มาทำต่อที่บ้านแล้วค่ะ.....

หวังว่าพี่นุชและครอบครัว มีสุขภาพแข็งแรง สุขกายสบายใจดีนะคะ

^______^

สวัสดีค่ะคุณยายธี ต้องอ่านปริศนาคุณยายธีหลายรอบกว่าจะเข้าใจ พอ "อ๋อ" แล้วก็หัวเราะหึๆอยู่คนเดียว

อย่างนี้ตามคำโบราณเขาว่าต้องตี...ก่อนใช่ไหมคะ ^____^

สวัสดีค่ะคุณแจ๋ว สองสามวันมานี้พี่ก็ตามข่าวน้ำท่วมกทม.และเขตุรอบๆ เป็นห่วงทั้งญาติและเพื่อนพ้องน้องพี่ ตามประสาคนรู้จักคุ้นเคยสัมพันธ์กัน และเป็นห่วงผู้คนที่ไม่รู้จักในแง่ที่เป็นคนที่ไม่เคยพบเคยเห็นน้ำหลาก ชีวิตคุ้นเคยแต่กับสิ่งสำเร็จรูป ก็จะทุกข์มากกับเหตุการณ์นี้

ป้องกันสมบัติไว้เท่าที่จะทำได้ไม่ประมาทเช่นนี้ดีที่สุดแล้วค่ะ คนที่เข้าใจธรรมชาติก็พอทำใจรับน้ำได้ว่า เขามาแล้วก็ต้องหาทางปล่อยให้เขาไปต่อได้สะดวก การกัก กั้น มีแต่จะทำให้น้ำพลุ่งพล่านฤทธิ์แรงขึ้น ดูจากที่เขาทำแนวกั้นตรงไหนแตกได้ ก็จะพุ่งกระฉูด อะไรก็ยั้งไม่อยู่ เห็นมาเป็นสิบๆที่แล้วก็ยังฝืนทำเช่นนี้อยู่อีก ไม่เข้าใจวิธีคิดของคนยุคนี้ค่ะ

หวังว่าน้ำคงไม่ท่วมทั่วกทม. แม้นว่าหากเขามาเยี่ยมถิ่นคุณแจ๋ว ยิ้มๆรับแล้วก็โบกมือลากันงามๆ เราก็พออยู่เป็นสุขได้

ขอให้บุญรักษาคุณแจ๋วและเพื่อนบ้านนะคะ

ขอสนับสนุนการดำรงตนให้สอดคล้องต่อ ภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม และ ชีวิตวัฒนธรรม

ทางเลือกไม่มาก ทางออก ทางรอดของแต่ละพื้นที่ และโดยรวมของสังคมไทย

ช่วย ๆ กันทำนะคะ เท่าที่เกี่ยวข้อง

แล้วจะคอยติดตาม แลกเปลี่ยนกับอาจารย์นะคะ

(แต่ว่าการจัดผังเมือง วางโซนนิ่ง ผู้กุมอำนาจรัฐ - เศรษฐกิจ น่าจะได้บทเรียนแล้ว และขยับหลังน้ำลด)

ขอบคุณค่ะคุณหมอทพญ.ธิรัมภา กำลังพยายามเรียบเรียงสิ่งที่คนข้างกายพูดให้ฟัง แล้วจะทยอยนำมาแบ่งปันกันค่ะ

แต่ละพื้นที่ต้องเรียนรู้ ภูมิศาสตร์/ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตัวเองนะคะ จะได้มีแผนที่เป็นของตนเองออกแบบ จะรอให้รัฐบาลมาชี้ว่าต้องทำอย่างไรก็จะเข้าอีหรอบเดิม คือ one size fits all แล้วก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า

นำข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่น่าสนใจมากๆมาฝากโยมนุช
พันธุ์ข้าวพื้นบ้านสู้น้ำท่วม…ท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ยังรอด
ที่มาhttp://www.gotoknow.org/blogs/posts/466863

กราบขอบพระคุณท่านพระมหาแล อาสโย ขำสุข โยมได้แวะไปอ่านรอบหนึ่งแล้ว จะแวะไปอ่านอย่างช้าๆอีกครั้ง น่าสนใจมากค่ะ เป็นข้อมูลที่มีคุณค่าจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท