แนวคิดเรื่องการศึกษาใหม่


การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

            ตอกย้ำปรับโครงสร้างเขตพื้นที่ฯ ล้มเหลว สพฐ.ย้อนกลับสู่ระบบเก่าทบทวนปรับจำนวนเขตพื้นที่ฯ ใหม่ให้ทุกจังหวัดมีเขตมัธยม และประถม เหตุพบโครงสร้างปัจจุบันมีปัญหาบริหารจัดการ เล็งเปิดหน่วยบริการระดับอำเภอ เตรียมศึกษาก่อนชงบอร์ดสภาการศึกษา ม.ค.55 เห็นชอบและประกาศ 

           นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.จะทบทวนจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 2 ประเภท คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่ปัจจุบันมี 42 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) มี 183 เขต รวมเป็น 225 เขต ทั้งนี้ เพราะ สพฐ.ได้ติดตามการบริหารงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า โครง สร้างของเขตพื้นที่การศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สะดวกต่อการบริหารจัดการ และการประสานงานติดต่อระหว่างสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะ สพม.บางแห่งมีขอบเขตการดูแลสถานศึกษาในหลายจังหวัด สถานศึกษาที่อยู่ไกล ต้องใช้เวลาเดินทาง ดังนั้น สพฐ.จึงมีแนวคิดที่จะปรับเพิ่มจำนวน สพม.เป็นจังหวัดละ 1 เขต พร้อม ปรับลดจำนวนของ สพป.ลง ในบางจังหวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่มากอาจจะเหลือเพียง สพป.เดียว นอกเสียจากจังหวัดที่มีขนาดกลาง และขนาดใหญ่อาจจะต้องมีจำนวนมากกว่า 1 เขตเพื่อให้การดูแลนั้นครอบคลุม 

             “จังหวัดใดที่มี สพป.มากกว่า 4 เขตขึ้นไปนั้นถือว่าเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมานั้นมี สพป.มากที่สุดถึง 7 เขต แต่จังหวัดขนาดเล็กนั้นจะมีเขตพื้นที่เดียวเท่านั้น แต่ในจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่นั้น อาจมีการตั้งหน่วยบริการย่อยระดับอำเภอขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้สถานศึกษาและครูไม่ต้องเดินทางไกล อาจมอบหมายให้รอง ผอ.เขตพื้นที่มาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหน่วยบริการระดับอำเภอนี้ แต่จะไม่มีการตั้งตำแหน่งใหม่ หรือเพิ่มอัตรากำลังขึ้นมารองรับหน่วยบริการระดับอำเภอนี้ ให้ใช้วิธีบริหารจัดการโครงสร้างภายในเขตพื้นที่แทน”เลขาธิการ กพฐ. กล่าว 



นายชินภัทร กล่าวต่อว่า เรื่องการปรับจำนวนเขตพื้นที่การศึกษานั้น จะต้องมีการศึกษาวิจัยให้ชัดเจนและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ เพราะ สพฐ.ต้องการจะคงจำนวนของเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมดไว้ให้ใกล้เคียงจำนวนใน ปัจจุบัน 225 เขตมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดภาระในการเพิ่มบุคลากร และงบประมาณ จากนั้น สพฐ.จะสรุปพร้อมทำรายละเอียดเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาในเดือนธันวาคม เสร็จแล้วประมาณเดือนมกราคม 2555 จึง นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาการศึกษา เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานพิจารณาและเป็นผู้ลงนามในประกาศกระทรวง ต่อไป 

อนึ่ง ในอดีต กระทรวงศึกษาธิการ เคยกำหนดโครงสร้างให้มี สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัด และประถมศึกษาจังหวัด ดูแลโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัด และมีประถมศึกษาอำเภอ เป็นหน่วยย่อยดูแลโรงเรียนประถมศึกษาในอำเภอ

หมายเลขบันทึก: 465406เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2011 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท