๙๐.น้ำท่วม..มีประเด็นให้คิดและเห็นโอกาสทำอะไรได้บ้าง


แง่บ แง่บ แง่บ ... นี่เป็นพี่หมาโดยสารส่วนตัวของผมฮับ
ต่างฝัน ต่างจุดหมาย ต่างมรรควิถีของชีวิต
แต่ก็ร่วมมือกันได้ฮับ งั่ก งั่ก !!!!
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค

 ผมเองนั้นก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมทุกปีเหมือนกับคนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนเดินเท้าและใช้รถสาธารณะในกรุงเทพฯ บ่อยครั้งที่ต้องเดินย่ำน้ำ เปียกปอนเฉอะแฉะไปครึ่งแข้ง แต่ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากน้ำท่วม น้ำตารินไหลไปกับความเชี่ยวกรากของสายน้ำที่ทำลายผลผลิตในไร่นา คร่าชีวิตผู้คน ล่มบ้านเรือน ชุมชน และหย่อมย่านที่อาศัยทั้งเมือง ให้จมและล่มสลายไปกับน้ำหลาก ผู้คนต่างร่วมแก้ไขปัญหากันไปเฉพาะหน้า

ในแหล่งที่น้ำเอ่อท่วมก็รวมตัวกันพังถนนและประตูปิดกั้นน้ำ ถึงกับก่อตัวเป็นสงครามย่อยๆระหว่างชุมชนที่อยู่ในสภาวการณ์เดียวกันแต่แง่มุมการได้ประโยชน์และเกิดโทษขัดกัน แต่อีกหลายแห่งที่กำลังสร้างถนนและถมคูคลองให้แน่นหนา กินพื้นที่มากกว่าเดิม ก็ยังคงทำไป การมีประสบการณ์ทางสังคม อีกทั้งได้เผชิญวิกฤติร่วมกัน แม้ได้รับรู้พร้อมกัน ทว่า กลับมุ่งประโยชน์ เห็นคุณและโทษต่างกันมากมาย หากให้ลงมติสาธารณะในเรื่องเดียวกันในเวลานี้ ก็คงเหมือนเป็นคนละพวก จึงยากที่สังคมจะมีกำลังคิดแก้ปัญหาเชิงระบบ แต่หากได้ค่อยๆเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สภาวการณ์ที่กำลังประสบร่วมกันทั้งประเทศ ก็จะสามารถเป็นห้องเรียนและครูที่ดีที่สุดของสังคมไทย

 บันทึกนี้จึงขอร่วมนำเอาวิกฤติน้ำท่วม มาคุยกันเพื่อสื่อสารและเรียนรู้ทางสังคม แปรวิกฤติให้เป็นโอกาส ผมเห็นประเด็นทางสังคมประชากรกับกิจกรรมการดำเนินชีวิตบนถิ่นอาศัยบางอย่าง รวมทั้งเห็นความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ของพลเมืองเพื่อเชื่อมโยงตนเองกับถิ่นฐาน ในทุกแห่งหนที่เราได้อยู่อาศัย จึงขอนำมาแบ่งปันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กัน..........

   พลเมืองและกิจกรรมบนถิ่นฐาน : ปัจจัยเอื้อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม  

การขยายตัวของชุมชนและตัวเมืองบนที่ลุ่ม : ในยุคก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี ๒๕๐๔ การก่อตัวของชุมชนจากการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ย่านที่อาศัย แหล่งการค้า และการขยายความเป็นเมืองของสังคมไทย จะเกิดจากแรงขับด้านปัจจัยพื้นฐานเพื่อการผลิตทางการเกษตร การทำนาไร่ การขนส่งผลผลิต การทำมาค้าขายและพัฒนาระบบเศรษฐกิจจากผลผลิตทางการเกษตรที่สืบเนื่องจากการเป็นสังคมอาศัยอยู่กับน้ำ ดังนั้น ชุมชนพื้นฐานและแหล่งการตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานในการก่อเกิดการรวมตัวกันเป็นเมืองหลักต่างๆในประเทศเกือบทั้งหมด ยกเว้นบางส่วนซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆในเขตที่สูง จะก่อตัวขึ้นบนที่ราบลุ่มน้ำที่เป็นแอ่งรองรับน้ำที่ดีที่สุดในอาณาบริเวณโดยรอบของแหล่งนั้นๆ เพื่อมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งสร้างผลผลิต ส่วนที่ดอนก็ใช้เป็นแหล่งตั้งศูนย์กลางชุมชน บ้าน วัด ศาสนสถาน แหล่งใช้สอยส่วนรวม

ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว การอยู่อาศัยแบบดั้งเดิมของชุมชน จึงเป็นการอาศัยอยู่ด้วยกันกับน้ำ แต่เมื่อขัดแย้งกัน ธรรมชาติจะยอมให้ถูกขจัดออกไปจากวิถีสังคมของมนุษย์ หรือชุมชนอยู่อาศัยของมนุษย์จะยอมให้ธรรมชาติขจัดออกไป การคิดแก้ปัญหาเพียงระดับนี้ ก็ย่อมเกิดการปะทะอย่างรุนแรงต่อกันอยู่โดยพื้นฐานแน่นอน แทนความอหังการ์ว่ามนุษย์จะมีภูมิปัญญาเอาชนะธรรมชาติและเป็นนายธรรมชาติได้นั้น มนุษย์กลับต้องมุ่งเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ดังนั้น การแก้ปัญหาและเผชิญทุกข์ภัยต่างๆ หากขาดองค์ประกอบการเรียนรู้ที่จะใช้ภูมิปัญญาจำเพาะกับถิ่นฐานของสังคมไทยเอง ก็เห็นทีจะแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ได้

การถมที่ดินและปิดกั้นทางน้ำ...การพังทลายของดินและการสูญเสียระบบนิเวศจากกิจกรรมของมนุษย์ (Man-Made Land Erosion)  :  โดยพื้นฐานการตั้งถิ่นฐานและก่อเกิดการขยายตัวของชุมชนระดับต่างๆบนแหล่งราบลุ่ม ซึ่งแม่น้ำ คูคลอง หนองน้ำ บึง ทะเลสาบ ล้วนเคยเป็นปัจจัยกระตุ้นการผลิตและก่อเกิดการขยายตัวกิจกรรมที่ซับซ้อนให้เกิดมากยิ่งๆขึ้น

ปัจจัยดึงดูดทางสังคมประชากรดังกล่าว ทำให้หน่วยทางสังคมเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น การถมที่เพื่อสร้างบ้านเรือนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนก็ยิ่งก่อให้เกิดการพังทลายของหน้าดินและระบบนิเวศทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นๆไปในอีกทิศทางหนึ่ง ต่างจากการเกิดพังทลายของดินในแหล่งธรรมชาติ โดยเกิดการเคลื่อนย้ายของดินปริมาณมหาศาล ที่ไม่ได้เป็นการปรับตัวเข้าสู่การรักษาความสมดุลของธรรมชาติ แต่เกิดจากการขนดินจากแหล่งหนึ่ง ไปถมแหล่งการสร้างบ้านเรือนและชุมชนอันเกิดจากกิจกรรมเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์บนที่ราบลุ่มน้ำ

เมื่อมองในแง่ที่เชื่อมโยงกับการจัดการวิธีอยู่กับน้ำ จึงมีความหมายในอีกทางหนึ่งคือ การถมดินเป็นการช่วงชิงพื้นที่รองรับน้ำ พลังการขยายตัวทางสังคมเศรษฐกิจบนแหล่งอาศัยแต่เดิมของสังคมไทยโดยรวม หากยังคงดำเนินไปโดยไม่นำเอาปัจจัยจัดการเชิงระบบเกี่ยวกับน้ำและระบบนิเวศของสังคมลุ่มน้ำในเขตร้อนชื้น เข้ามาคิด ให้สะท้อนสู่ทุกมิติของกิจกรรมสังคมแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม กับความรุนแรงเพิ่มขึ้นของภัยพิบัติจากน้ำท่วม ก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน

โครงข่ายถนนที่ปิดกั้นทางไหลหลากของน้ำหน้าดิน : การเกิดถนนขนาดใหญ่ ในความหมายหนึ่งก็คือการเกิดเขื่อนคูดิน เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายปิดกั้นทางน้ำ เอื้อต่อการเดินทางสัญจรและเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์เป็นหลัก พร้อมกับกระตุ้นการขยายตัวของหน่วยทางสังคม ซึ่งเป็นแรงรุกไล่และขจัดแหล่งรับน้ำไปในเวลาเดียวกัน มากกว่าที่จะเอื้อต่อการจัดการน้ำและปัจจัยเชิงระบบนิเวศบนถิ่นอาศัยต่างๆ ให้เกิดความเข้มแข็งไปด้วย หลายแห่งของประเทศที่เกิดน้ำท่วม มักเกิดขึ้นพร้อมกับการอุทานว่าตั้งแต่เกิดมาและนับแต่จำความได้ ก็ไม่เคยเกิดน้ำท่วม หรือไม่เคยประสบกับน้ำท่วมอย่างที่ตนเองกำลังได้ประสบอยู่เลย ซึ่งแปลว่า มีบางอย่างที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศการอยู่อาศัยและระบบนิเวศของน้ำ ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย จนผู้คน ชุมชน และสังคม กำลังไม่สามารถนำเอาประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ในอดีตมาทำความเข้าใจปัจจุบันได้เสียแล้ว

การขยายตัวของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองใหญ่ในที่ราบลุ่ม : ในภาพรวมของประเทศนั้น การออกแบบเมืองและความเชื่อมโยงกันเพื่อเคลื่อนไหวเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและสังคมวัฒนธรรมของประเทศ นอกจากกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์การบริหารราชการและศูนย์กลางทางด้านต่างๆแล้ว พื้นที่ทั้งประเทศจะแบ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ ๔ ระดับ ประกอบด้วย เขต ๑ แต่เข้มงวดการลงทุนอุตสาหกรรม ๒ ระดับเป็นเขตกรุงเทพชั้นในกับกรุงเทพและปริมณฑล, ส่วนเขตนอกกรุงเทพฯและปริมณฑลไกลออกไปโดยรอบประมาณในระยะ ๑๕๐ กิโลเมตรของกรุงเทพมหานคร จะเป็นเขตการสนับสนุนการลงทุนเขต  ๒ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดและพื้นที่สำหรับลดกำแพงภาษีการลงทุนและได้รับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในการลงทุนทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมากกว่าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อผลักดันความแออัดให้กระจายออกจากกรุงเทพมหานคร, กระทั่งห่างไกลออกไปอีก เป็นเขต ๓ ก็จะได้รับแรงจูงใจเพื่อเกิดการกระจายการลงทุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก ทว่า ยังขาดแคลนระบบขนส่งซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง

เมืองที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกันอยู่ทั่วประเทศในลักษณะดังกล่าวนี้ มีบทบาทเหมือนปมประสาทหรือขั้วเชื่อมต่อกับความเคลื่อนไหวของสังคมในพื้นที่โดยรอบ แผ่ออกไปขับเคลื่อนหน่วยทางสังคมย่อยๆ ที่ผุดอยู่กลางแหล่งซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำและเป็นแหล่งที่เติบโตมาจากแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในถิ่นฐานนั้นๆ เมืองศูนย์กลางและมีความเป็นโหนดเชื่อมโยงเครือข่ายย่อยต่างๆเข้าด้วยกันดังกล่าวทั่วประเทศแต่เดิมมีอยู่เกือบ ๒๐ เมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ หาดใหญ่ สงขลา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต เหล่านี้เป็นต้น เมืองเหล่านี้จะมีเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมอยู่บนที่ลุ่ม ซึ่งแต่เดิมมักก่อตัวมาจากเป็นแหล่งเกษตรกรรมและการทำกินบนถิ่นฐาน

หากมองไปในอดีตเมื่อไม่นาน สัก๑-๒ ศตวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น ก็จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานคร รวมทั้งเขตเมืองใหญ่ในท้องถิ่นต่างๆของประเทศดังที่กล่าวถึงนี้ ก็คือเมืองที่มีศักยภาพและมีพลังอำนาจในการเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นเมืองหลวงในถิ่นนั้นๆด้วย ทั้งนี้ ก็เนื่องจากมีทุนทางระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัจจัยน้ำท่า เหนือกว่าแหล่งอื่นๆนั่นเอง

ดังนั้น หากจัดการกับปัจจัยเรื่องน้ำท่า คู คลอง หนองบึง ให้เป็นปัจจัยความเข้มแข็ง และเป็นแรงขับสะท้อนไปสู่การพัฒนาต่างๆไม่ได้ ทั้งลักษณะการขยายตัวย่านเศรษฐกิจ ที่อาศัย ตลอดจนการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆที่จะนำมาใช้ในกิจกรรมเศรษฐกิจของสังคมบนถิ่นฐานนั้นๆ การตั้งอยู่ในแหล่งต้องอาศัยอยู่กับน้ำ ก็จะกลายเป็นปัจจัยคุกคาม สร้างความเสียหายและกร่อนทำลายตนเองลงทุกปีในฤดูกาลของน้ำ

อีกทั้งเมื่อมองจากความที่โดยศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับพื้นที่ชุมชนบนแหล่งราบลุ่มรองรับน้ำโดยรอบเช่นกันแล้ว ก็จะกลายเป็นเครือข่ายสร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้นทั้งระบบไปด้วยอยู่ตลอดเวลาของเมืองโดยรอบไปด้วย ดังจะเห็นว่า น้ำท่วมหรือการป้องกันกรุงเทพฯให้พ้นจากน้ำท่วม ก็ก่อให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไล่ลงมาตามลำดับ น้ำท่วมเชียงใหม่สร้างความเสียหายและความชะงักงันทางเศรษฐกิจหลายเดือน ก็ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียในการเก็บเกี่ยวและจำหน่ายผลผลิตของคนพื้นราบและเขตพื้นที่สูง กระจายไปในหลายจังหวัด อ่อนไหวไปด้วยทั้งระบบสังคม เหล่านี้เป็นต้น

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บนที่ราบลุ่ม : การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน รวมทั้งการขยายเขตอุตสาหกรรม ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงลักษณะกิจกรรมบนพื้นที่ รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนิเวศอย่างถอนรากถอนโคนครอบคลุมพื้นที่นับหมื่นถึงหลายแสนไร่บนพื้นที่ราบลุ่มน้ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมไปกับการเคลื่อนย้ายดินและวัตถุดิบจากอีกแหล่งหนึ่งไปด้วยในปริมาณมหาศาล เช่น การเกิดบึงและแหล่งน้ำขนาดใหญ่รอบกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพื้นที่เขตเมืองต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งเป็นบ่อดินและแอ่งลึกขนาดใหญ่ไม่มีระบบจัดการ เหล่านี้ แม้จะขาดการศึกษาผลกระทบในภาพรวมของประเทศให้แน่ชัด แต่ก็เห็นได้ว่าก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพขยายตัวอย่างเป็นทวีคูณ ส่งผลให้วิถีชีวิตและกิจกรรมสังคมต่างๆเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งยิ่งเกิดมากขึ้นทั่วประเทศ  

การเปลี่ยนพื้นฐานกิจกรรมเศรษฐกิจสังคมและการสัญจร : แม้จะมีพื้นฐานการเป็นสังคมการผลิตโดยอาศัยปัจจัยเข้มแข็งจากแหล่งน้ำ แต่การเปลี่ยนผ่านตนเองในลักษณะที่กล่าวข้างต้น ก็กำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอีกในทิศทางตรงข้าม เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ ๒๕๔๐ ประเทศไทยก็มีภาคเมืองกับชนบทในสัดส่วนเกือบเท่าๆกัน ในขณะที่รายได้และงบประมาณหลักของประเทศ เกิดจากภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มากกว่าจากภาคเกษตรกรรม เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นพลังการผลิตแบบใหม่ที่อาศัยแรงขับเคลื่อนจากพลังงานน้ำมันมากกว่าน้ำ ดังนั้น ผู้คนและสังคมส่วนใหญ่ของสังคมไทยเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้ ก็เริ่มหันหน้าออกจากลำน้ำและคูคลอง เข้าสู่การดำเนินชีวิตบนถนน

ผมทำวิจัยกับชาวบ้านที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ก็พบแบบแผนการเกิดเศรษฐีรายใหม่กับเกษตรกรยากจนรายใหม่ในแบบแผนที่แสนจะประหลาดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ในอดีตนั้น ครอบครัวที่มีลูกหลานมากและได้แต่งงานเป็นดองกันแผ่ขยายเป็นปึกแผ่น จะทำให้เป็นครอบครัวที่มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ ผู้คนได้อาศัยเป็นที่พึ่ง ให้ความเคารพนับถือ ลูกหลานที่ขยันขันแข็ง รวมทั้งผู้ที่มีความประพฤติปฏิบัติดี จะได้รับการยอมรับผ่านการขยันทำกิน เมื่อแบ่งที่นา ก็จะได้ที่ดินซึ่งมีทำเลเหมาะแก่การใช้ความขยันขันแข็งและเป็นผู้นำของเครือญาติ กล่าวคือ ได้ที่ดินใกล้คลอง แม่น้ำ และแหล่งน้ำ มีเรือและมีอุปกรณ์การทำมาหากินพรักพร้อม ส่วนลูกหลานที่ขาดทักษะและขี้เกียจทำกินนั้น ก็จะได้ที่ดินเพียงเล็กน้อยไกลออกจากคลอง

แต่ต่อมาเมื่อเป็นยุคมีถนนเข้าสู่ชุมชน แหล่งที่ไกลจากชุมชนแต่เดิมก็กลับเป็นแหล่งที่ถนนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเข้าถึงก่อน ผลก็คือ กลุ่มคนที่ร่ำรวยและกลายเป็นคนมั่นคงในสังคมเศรษฐกิจ มีกำลังทำสิ่งต่างๆได้มากกว่า ก็กลับเป็นชาวบ้านที่เคยได้ที่ทางที่ไม่ค่อยดีของในอดีต ส่วนชาวบ้านที่อยู่ติดคลอง ที่เคยเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นผู้มีทักษะทำอยู่ทำกิน ก็กลับเป็นปัจจัยแวดล้อมความเสียเปรียบ ทำนาทำไร่ลำบากยากแค้นกว่าเพื่อน ดังนั้น เสียงของผู้คนต่อปัจจัยเรื่องน้ำในสังคมไทย จึงกำลังเป็นเสียงเรียกร้องของการเชื่อมโยงพื้นฐานตนเองอยู่กับถนนและพลังงานน้ำมัน หลุดออกจากรากฐานการเป็นสังคมพลังน้ำ

การเปลี่ยนสำนึกและวิธีคิดพื้นฐานของพลเมืองไทย : เมื่อเทียบในเชิงกายภาพของพื้นที่แล้ว พื้นที่ป่าเขา แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่แหล่งน้ำ คลอง หนอง บึง ทะเล กว๊าน รวมทั้งแหล่งเกษตรกรรมต่างๆ ก็ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ของเมืองและชุมชนการอยู่อาศัยทุกประเภท แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่จำนวนน้อยในสังคมเมืองนั้น ก็เป็นกลุ่มสังคมที่เข้าถึงสื่อและเชื่อมโยงกับกลไกสาธารณะทุกชนิดของประเทศได้มากกว่า

ขณะเดียวกัน การดำเนินชีวิตและการเคลื่อนไหวกิจกรรมเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนชีวิตประจำวันทั้งหมดของประชาชนที่อยู่เมือง ก็เป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจและวิถีสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่หลุดออกจากรากฐาน แปลกแยกกับน้ำ หันหน้าจากคูคลองสู่ถนน ขึ้นจากเรือสู่รถยนต์ และไม่ต้องการน้ำ กลุ่มเหล่านี้จึงย่อมเรียกน้ำหลากว่า"น้ำท่วม"  ซึ่งดังและมีความหมายต่างจากผู้อยู่บนพื้นที่กว้างใหญ่กว่าทำนาไร่ ที่รอคอยน้ำหลากอยู่ทุกปี 

ดังนั้น ‘น้ำท่วม’ จึงหาใช่ปรากฏการณ์ของฤดูกาลน้ำหลากและการมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์อย่างที่เป็นมาแต่ดั้งเดิมมิติเดียว ทว่า กลับเป็นการให้คุณค่าและความหมายใหม่ ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนสำนึกและวิธีคิดพื้นฐานของพลเมืองไทย ที่เหมือนกับโรคพุ่มพวง หรือกลุ่มอาการต่อต้านภูมิคุ้มกันของตนเอง (โรค SLE : Systematic Lupus Erythematosus Syndrome) โดยให้ความหมายและคุณค่าของสิ่งที่เป็นจุดแข็งของตนเอง ว่าเป็นปัญหาและจุดอ่อนที่ต้องขจัดหรือระดมพลังเข้าทำลายล้าง ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองถอนรากถอนโคนไปถึงระดับสังคมวัฒนธรรมและระดับภูมิปัญญา ที่บ่งชี้ความเป็นตัวของตัวเองเลยทีเดียว

   ปัญหา ผลกระทบ และผลสืบเนื่องที่น่าจะเกิดและเกี่ยวข้องกับน้ำท่วม   

ความสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ : ในแหล่งที่เป็นที่ราบลุ่มรองรับน้ำในอดีต จะเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับการเพาะปลูกและทำเกษตรกรรมที่ดีที่สุดของประเทศและของโลกอีกด้วย ในที่ราบลุ่มภาคกลาง รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลนั้น เป็นแหล่งที่สามารถเพาะปลูกและทำเกษตรกรรมที่ดีที่สุดของประเทศ สามารถทำนา ทำสวน และปลูกพืชผักหมุนเวียนได้ทุกฤดูกาล ในอดีตนั้นผลไม้และพืชผักที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมังคุด ทุเรียน กะท้อน ส้มโอ ส้ม ละมุด เหล่านี้ ล้วนเป็นผลผลิตจากกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่นเดียวกับในชุมชนดั้งเดิมของตัวเมืองต่างๆของประเทศ

แต่ปัจจุบัน พื้นที่อันเหมาะสมที่สุดสำหรับการเพาะปลูกและทำเกษตรกรรม และเป็นแอ่งรวบรวมน้ำท่าอย่างเป็นระบบมากที่สุดโดยกระบวนการธรรมชาติ กำลังถูกแทนที่ด้วยการทำให้เป็นแหล่งอาศัยและสร้างกิจกรรมเศรษฐกิจสังคมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อน้ำและทุนระบบนิเวศบนถิ่นฐานดั้งเดิม

ความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจ : สื่อมวลชนรายงานน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ และประเมินจากแหล่งข่าวว่าน้ำท่วมปีนี้ เพียง ๔-๕ วันของตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ ๕-๖ ร้อยล้าน ที่จังหวัดนครสวรรค์ประเมินว่าเสียหายกว่า ๑ พันล้าน ที่จังหวัดอยุธยาและสุโขทัย ต้องใช้งบประมาณเร่งด่วนจำเพาะการดูแลมรดกโลกในโบราณสถานต่างๆ แหล่งละกว่า ๓ ร้อยล้านบาท รวมความเสียหายอื่นๆแล้วกว่าแหล่งละ ๑ พันล้านบาท อีกทั้งสื่อมวลชนและสังคมภาคส่วนต่างๆ ต่างร่วมกันระดมพลังทรัพยากรทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น เข้าร่วมเผชิญปัญหาและร่วมทุกข์สุขกัน นอกจากนี้ รัฐบาลก็ได้เตรียมจัดงบประมาณจ่ายค่าทดแทนให้เกษตรกรและชาวบ้านโดยประเมินค่าเสียหายจากน้ำท่วมให้ไร่ละ ๒ พันบาท 

หากสมมุติให้ต้นทุนที่ต้องสูญเสียให้จังหวัดละ ๑ พันล้านบาท เพียง ๑๐ จังหวัด ก็ต้องสิ้นงบประมาณไปอย่างต่ำ ๑ หมื่นล้านบาทให้ละลายไปกับน้ำท่วม ๑ ครั้ง เพียง ๑๐ ปีก็นับเป็นแสนล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมากกว่าอย่างประเมินไม่ได้

งบประมาณขนาดนี้ ไม่เพียงจะสามารถระดมไปพัฒนาประเทศโดยแจกแท็ปเล็ตให้เด็กๆคนละ ๑ เครื่องเท่านั้น แต่จะสามารถสร้างโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้อย่างดีสำหรับเป็นแหล่งสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ พร้อมงบประมาณสำหรับบริหารจัดการ ได้หมู่บ้านละ ๑ แห่งเลยทีเดียว ทว่า ทั้งหมดนี้สูญเปล่าไปกับน้ำท่วมทุกปี

ความสูญเสียโอกาสการพัฒนาตนเอง : ในทุกจังหวัดที่เกิดน้ำท่วม จำเป็นต้องสนองตอบต่อความเดือดร้อนของประชาชนจากอุบัติภัยที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะหน้า งบประมาณ กำลังคน และทรัพยากรเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องระดมจากแหล่งต่างๆเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม การตั้งรับและต้นทุนแบบคงที่ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นทุกปีในหน้าน้ำหลาก หลายแห่งเมื่อผ่านฤดูกาลน้ำท่วมแล้ว ก็จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อสร้างถนน โรงพยาบาล โรงเรียน วัด ตลาด ระบบสาธารณูปโภค และแหล่งสาธารณะ เพื่อรอให้ต้องเสียหายจากน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอีก ๒-๓ ปีหรือเพียงใน ๑ ปีต่อมา

การสูญเสียทักษะและภูมิปัญญาของสังคมชาวน้ำ : ขาดเครื่องมือพื้นฐานและวิธีจัดการตนเองสำหรับการดำเนินชีวิตอยู่กับน้ำ, เมื่อน้ำท่วมในแหล่งต่างๆ ก็แทบจะทำให้การดำเนินชีวิตและกระบวนการทางเศรษฐกิจสังคมหยุดนิ่ง ขาดความสามารถดำเนินชีวิตและขาดความสามารถติดต่อกับโลกภายนอก คนส่วนใหญ่กำลังเป็นพลเมืองที่อ่อนแอเพิ่มขึ้นอย่างง่ายดายจากการถูกน้ำท่วม ซึ่งไม่เพียงขาดทักษะในการเผชิญและจัดการปัญหาแบบระดมพลังการพึ่งตนเองเท่านั้น ทว่า แทบจะหมดทักษะการอยู่รอดอีกด้วย

ในอดีตนั้น เมื่อเกิดน้ำหลากมากเกินไป ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆก็จะมีข้าวหนักซึ่งสามารถโผล่พ้นน้ำในชั่ว ๑ คืนและอยู่กับน้ำไป ๓-๔ เดือน ทว่าปัจจุบัน เมื่อเกิดน้ำท่วมทีไร นาข้าวและพืชพันธุ์สำหรับเพาะปลูกในสภาพที่ไม่ต้องการน้ำอย่างเดียว ก็กลับเสียหายล่มจม เทคโนโลยีการผลิตอย่างอื่นที่เคยอยู่ในวิถีภูมิปัญญาของสังคมไทยขาดความสามารถในการจัดการกับลักษณะเฉพาะในถิ่นฐานของตนเสียแล้ว

การขาดการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีเพื่อแปรปัจจัยน้ำให้เป็นพลังการผลิต : วิธีคิดและการขับเคลื่อนสังคมการผลิตที่ติดอยู่กับปัจจัยพื้นฐานที่สุดคือผืนดินและน้ำ แต่กลับเกิดกระบวนทัศน์การพัฒนาตนเอง ตลอดจนเกิดการให้ความหมายไปเสียแล้วว่าการมีแหล่งน้ำ น้ำท่า และน้ำหลากในฤดูกาลที่ควรจะเป็น กลายเป็นปัญหาน้ำท่วม

วิถีคิดดังกล่าวจึงย่อมมุ่งไปสู่การป้องกันและต่อสู้กับน้ำท่วม ขาดวิธีคิดที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีเพื่อแปรปัจจัยเรื่องน้ำให้เป็นพลังการผลิต มุ่งหาทางทำแนวเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา ทำเขื่อนกั้นกรุงเทพมหานครและระบบผลักดันน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพมหานครกับเมืองศูนย์กลางที่อยู่ในภูมิประเทศแอ่งน้ำต่างๆ สูญเสียไปในแต่ละกรณีนับหมื่นนับแสนล้าน ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์พัฒนาวิทยาการและระบบเทคโนโลยีเพื่อรวบรวมน้ำจากส้วม ท่อน้ำทิ้งในเมือง และน้ำทิ้งจากแหล่งต่างๆ อย่างทะนุถนอม เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภค ก่อให้เกิดการทำธุรกิจอีกนับหมื่นนับแสนล้านไปอีกทางหนึ่งเช่นกัน

มลพิษและมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม : แหล่งน้ำและคูคลองในทุกเมือง นับแต่กรุงเทพมหานครและเมืองต่างๆทั่วประเทศ กลายเป็นแหล่งรองรับน้ำเสีย ก่อให้เกิดความเสี่ยง เป็นภาวะคุกคามทางมลภาวะและมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งสะสมสิ่งปนเปื้อน เป็นปัจจัยแวดล้อมความไม่น่าอยู่ของสังคมเมือง ขาดสุนทรียภาพและความรื่นรมย์ รวมทั้งขาดการจัดการเพื่อรักษาความสมดุลของการดำเนินชีวิตของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์

โรคอุบัติใหม่ โรคระบาด และปัญหาสาธารณสุข : ในแหล่งน้ำเน่าเสีย และแหล่งน้ำขัง ในแหล่งอาศัยของเมืองต่างๆ กำลังเป็นแหล่งเพาะและแพร่กระจายโรค ตลอดจนปัญหาสาธารณสุขอย่างใหม่ เช่น การเกิดการแรพ่ระบาดของโรคฉี่หนูซึ่งรุนแรงและแพร่หลายได้มากกว่าในอดีตเพราะแหล่งน้ำขังและแบบแผนการชะล้างมลพิษต่างๆของน้ำหลากหน้าดินไม่มีเหมือนเมื่อก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ ดาราวัยรุ่นดีทูบีซึ่งเป็นที่นิยมของผู้คนอย่างกว้างขวาง ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และตกลงไปในคูน้ำข้างถนน แล้วกลายเป็นเจ้าชายนิทรา ต้องสั่งยากำจัดแบคทีเรียจากต่างประเทศ ครั้งละหลายหมื่นบาท แบคทีเรียดังกล่าว บ่มเพาะตนเองในแหล่งน้ำคร่ำที่น้องเขาตกลงไป แล้วผ่านเข้าไปทางหู จมูก สู่สมอง ต้องยื้อชีวิตไปนับล้านบาทแต่ก็ไม่สามารถรักษาได้ ที่มากไปกว่านั้นคือความเสียใจของพ่อแม่ แฟนคลับตื่นตัวทั้งประเทศ แต่กลับไม่ได้ตื่นตัวต่อมลพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหตุคร่าชีวิตของดาราคนโปรด ปัญหาดังกล่าวเป็นอุบัติการอย่างใหม่ที่สังคมไทยและทั่วโลกไม่เคยมีประสบการณ์ ซึ่งมีแนวโน้มมากยิ่งๆขึ้น

   ประเด็นส่วนรวมเพื่อสะท้อนการเรียนรู้บนวิถีปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วม   

ส่งเสริมการขยายตัวของเมืองและการลงทุนนอกพื้นที่ราบลุ่ม : หากปล่อยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติด้วยปัจจัยอุปสงค์และอุปทาน หรือการเกิดปัจจัยดึงดูดให้เกิดการขยายตัวของเมืองบนถิ่นอาศัยและทำกิจกรรมเศรษฐกิจสังคมต่างๆแล้วละก็ จากที่นำมาทบทวนในข้างต้น ก็จะเห็นว่า ชุมชนและความเป็นเมืองบนพื้นฐานดั้งเดิมนั่นเอง ที่นอกจากจะอยู่ในตำแหน่งแห่งหนของการเกิดปัญหาอยู่ในตนเองแล้ว ก็กลับเป็นปัจจัยดึงดูดให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางสังคมจากโดยรอบ เข้าไปขยายกำลังให้เกิดการสั่งสมปัจจัยกร่อนโอกาสตนเองมากยิ่งๆขึ้น

ดังนั้น แทนที่จะสนองตอบกระแสประชานิยม หรือให้กระแสส่วนใหญ่เรียกร้องการตัดสินใจให้นั้น อาจต้องทำอีกทางหนึ่ง คือต้องสร้างกระแสและพัฒนาการเรียนรู้ของสังคม ให้เกิดพลังเพื่อพัฒนาระบบและมาตรการทุกอย่าง ที่จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนขยายตัวกิจกรรมสังคมเศรษฐกิจ บนที่ดอนและที่สูงนอกเมืองหลักแต่เดิม ที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกและเป็นแหล่งรองรับน้ำน้อยที่สุด หลายประเทศก็คิดสร้างเมืองใหม่ทางอุตสาหกรรมแบบใหม่ๆในทะเลทราย

พัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีการก่อตั้งชุมชนเฉพาะลักษณะถิ่นฐานไทย : บ้านลอยน้ำ ตลาดน้ำ เมืองคูคลอง การจัดสวนน้ำ เรือและระบบขนส่งทางน้ำ เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่สังคมไทยมีภูมิปัญญาของตนเองเป็นพื้นฐานอยู่ไม่น้อย

ปรับปรุงโครงข่ายถนนและสะพานเพื่อเพิ่มทางไหลของน้ำ : อาจจะต้องพิจารณาว่าจะปล่อยให้ถนนพังและสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้พังแล้วพังอีก พร้อมกับกลายเป็นเครือข่ายเขื่อนดินกั้นน้ำทั่วประเทศ ให้ชาวบ้านคนละฝั่งฟากที่ถูกน้ำท่วม กลุ่มหนึ่งอยากระบายน้ำออกเพื่อลดความเสียหาย กับอีกฝ่ายกลัวถูกปล่อยน้ำลงมาท่วม ต้องขัดแย้งกันอย่างรุนแรง บ่อนทำลายความรักความเป็นปึกแผ่นของสังคมไปทุกหย่อมหญ้ามากยิ่งๆขึ้นทุกปี หรือจะยอมลงทุนอย่างขนานใหญ่ ฝังท่อและเปิดถนนต่างๆทำสะพานเป็นระยะๆมากมายเพียงพอ เพื่อขยายทางน้ำ รวมทั้งเทคโนโลยีทำถนนกับคุณลักษณะของซีเมนต์ ซึ่งเน้นการอัดแน่นทึบเหมือนอย่างของต่างประเทศนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถทำให้เป็นรูพรุนและมีพื้นที่อากาศสอดแทรก ๒๐-๕๐ เปอร์เซนต์

ผมเคยใส่ก้อนกรวดและเหรียญเต็มแก้วแล้วลองเทน้ำใส่ลงไปอีก ปรากฏว่าแก้วที่มีกรวดและเหรียญอยู่เต็มนั้น มีที่ว่างสามารถใส่น้ำเข้าไปอีกตั้งครึ่งแก้ว เทคโนโลยีทำวัสดุ ให้เราอยู่ได้และน้ำก็อยู่ได้ น่าจะทำได้

สร้างเขื่อนและระบบจัดการน้ำสู่ทะเลของแม่น้ำทุกสาย : มองประเทศไทยทั้งประเทศเป็นหน่วยจัดการน้ำ ๑ หน่วยเดียวกัน แล้วทำเขื่อนขนาดใหญ่กั้นทะเลกับพื้นที่เหนือปากน้ำ เป็นเขื่อนหลักที่คุมระบบน้ำทั้งหมดของประเทศ จากนั้น จุดเชื่อมต่อของแม่น้ำทุกสายที่ไหลสู่อ่าวไทย ก็มีเขื่อนควบคุมระบบการไหลเหมือนเหมืองฝายขนาดใหญ่ ในแม่น้ำที่แยกย่อยก็มีเช่นเดียวกัน เมื่อถึงหน้าฝนและก่อนฤดูน้ำหลาก ก็คำนวณและออกแบบการบริหารจัดการเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เช่น สูบน้ำจากแม่น้ำทุกสายออกทะเลไปทั้งหมดก่อนครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า ดังนั้น แม่น้ำทุกสายก็พร้อมจะเป็นแหล่งรับน้ำจากทั่วประเทศ ไม่ต้องป้องกันในบางแหล่งและผลักดันให้อีกหลายแหล่งถูกท่วม จากนั้น ก็ทดน้ำจากภาคเหนือและที่ราบสูงตามต้นน้ำต่างๆ เข้าสู่แม่น้ำที่ถูกสูบออก กระทั่งทุกแหล่งมีน้ำเต็มอย่างเดิมเมื่อน้ำหลากสูงสุด

ย้ายเมืองหลวงและเมืองหลักต่างๆของประเทศ : เมื่อถึงระดับหนึ่ง เมืองหลวงและเมืองหลักต่างๆ นอกจากจะจำกัดโอกาสพัฒนาตนเองจนถึงกร่อนทำลายให้ตนเองยิ่งเกิดแรงกดดัน ก็กลับยิ่งดึงดูดทรัพยากรและทำให้เครือข่ายเมืองบริวารยิ่งอ่อนแอ เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ กล่าวจำเพาะความเป็นจุดวิกฤติบนระบบนิเวศและการบริหารจัดการน้ำหลาก น้ำท่วม ของประเทศแล้ว ก็กำลังเป็นเมืองที่เปราะบาง และพาให้หลายระบบแปรปัจจัยที่ควรจะเป็นจุดแข็ง ให้กลายเป็นปัญหา

หลายประเทศใช้วิธีจัดการปัญหานี้ลงไปบนส่วนที่จะส่งผลเชื่อมโยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนโครงสร้างเชิงระบบทุกมิติมากที่สุด นั่นคือ..ย้ายเมืองหลวง เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราคือเมียนมาร์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ต่างก็ย้ายเมืองหลวงและสร้างเมืองใหม่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงข่ายเศรษฐกิจสังคมของประเทศไปทั้งระบบ มาแล้วทั้งนั้น

การย้ายเมืองหลวงกับการทำระบบแม่น้ำทั้งประเทศให้เป็นระบบจัดการน้ำท่วมและเป็นพลังการผลิตของประเทศที่เข้มแข็งยั่งยืน สำคัญมากพอที่จะเป็นชุดวาระทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ชุดหนึ่ง เพื่อยุทธศาสตร์การสร้างสังคมไทยสู่อนาคต รวมทั้งสามารถใช้เป็นประเด็นขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้และเชื่อมโยงสู่การแก้ปัญหาต่างๆของปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆ ที่ควรคิดริเริ่มเพื่อมีส่วนร่วมได้ด้วยตนเอง ของคนทำงานทุกสาขา.

หมายเลขบันทึก: 463845เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2011 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (38)

*ขอบคุณค่ะ เป็นปัญาหาที่ก่อตัวขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆมากมายที่ต่างคนต่างทำ..ต่างคนต่างแก้..ทั้งในระดับชุมชน..ระดับประเทศ..และระดับสากล..จะต้องทุกข์ยากอีกมากเพียงใด..จึงจะรู้สำนึก และร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน..

*ภาพ หมา-ลิง ได้อารมณ์มากค่ะ..พี่ใหญ่ไปมอบดอกไม้ที่ ไฟล์ภาพด้วยค่ะ..ชอบมากเพราะเกิดปีลิง..ต้องพึ่งหลานชาย (เกิดปีหมา)

ผมมีธุรกิจบ้านเช่าหลายหลังที่เมืองเลย มีหลังหนึ่งตั้งอยู่ริมคลองสาขาของแม่น้ำเลย ปลายปีที่แล้วมีการสร้างถนนผ่านคลอง แทนที่จะทำสะพาน กลับใช้วิธีถมแล้ววางท่อให้คลองผ่าน ตอนน้ำน้อยก็โอเค แต่ช่วงที่ผ่านมา น้ำมาก ไหลไม่ทัน ปรากกว่าล้นตลิ่งขึ้นมาท่วมครึ่งหลัง,, ทั้งโคลน ทั้งสีลอก เซงมากเลยครับ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

  • ภาพมุมขวาบนนั่นมิดหลังคาเลยนะครับ
  • แถวบ้านผม ที่บ้านนอก หนองบัว นครสวรรค์ แถวบ้านท่านอาจารย์พนม ผอ.โรงเรียนบ้านหนองไผ่ ซึ่งเป็นน้องรักของพี่ใหญ่อีกท่านหนึ่ง กับเครือข่ายโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงของมูลนิธิสยามกัมมาจลด้วยนั้น บางจ้าวน้ำท่วมนาข้าวล่มจม ต้องร้องให้กลางสายน้ำมา ๒-๓ ปี ปีนี้ก็มาโดนซ้ำอีกจนน้ำตาเหือดแล้วครับ
  • เครือข่ายโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงนี่ คงต้องเรียนรู้การจัดความสมดุลของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมบนถิ่นฐานให้มากๆขึ้นอีกมิติหนึ่งเลยนะครับ

สวัสดีครับบีเวอร์

ผมอยู่แถวคลองทวีวัฒนาของ กทม. คลองซอยเส้นหนึ่งซึ่งมีถนนตัดผ่าน ซีกหนึ่งทำโครงการอนุรักษ์คลอง เทคอนกรีตทำทางเดินเลียบคลอง อีกฝากหนึ่งขนดินมาถมคลองและก่อสร้างเป็นถนนลงไปบนคลองเดิม ทำอย่างกับเพลงของเพลินพรมแดนเลยนะเนี่ย

"มนุษย์กดระเบิดธรรมชาติเพื่อทำลายตัวเอง"

ประเด็นน่าสนใจทั้งนั้นเลยครับท่านพี่ ;)...

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ
เมื่อ ๒-๓ วันมานี้ผมก็ขึ้นมาเชียงใหม่ครับ น้ำท่วมเชียงใหม่เอาเรื่องเลยเหมือนกัน
ที่เชียงใหม่นั้น ผมเคยเห็นแต่น้ำหลากมาวูบใหญ่แล้วก็ผ่านไป
แต่ที่ท่วมหลายๆวันจนเสียหายไปมากมายนี่ ไม่ค่อยได้เห็นเลยนะครับ

  • หลังน้ำลดอยากเห็นการขุดลอกคูคลอง  แม่น้ำที่ตื้นเขิน และไม่มีคนสนใจมานาน น่าจะช่วยให้เพิ่มความจุของน้ำได้ดีขึ้นบ้าง
  • เพราะนครสวรรค์ก็เห็นเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำลด  แถวบ้านแก่ง แม่น้ำปิงก็มีต้นไม้ใหญ่เกิดขึ้นขวางแม่น้ำอยู่

 

หน้าทำนองอย่างนี้ ทำให้นึกถึงชาวบ้านชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่งในหนองบัว คือบ้านห้วยน้อย โดยทุกหลังคาเรือนจะมีเรือ พอน้ำนองก็ได้พายเรือไปนากัน เป็นความสุขอย่างมากของชาวบ้านที่ได้พายเรือไปนา(สังเกตวัยรุ่นอารมรณ์ดีพายเรือไปนา มักร้องเพลงดังลั่นทุ่งอย่างสบายใจ) เพราะสะดวกปลอดภัย และก็ใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกข้าวของได้จำนวนมากอีกด้วย

เช่น ใช้ขนต้นกล้าที่มัดแล้ว(กำกล้า) เพื่อนำไปปักดำ แทนการหาบซึ่งได้น้อยและหนักมาก

นำเรือออกไปหาเกี่ยวหญ้าตามหัวปลวกมาให้ควายที่บ้านก็สะดวก บ้านไหนเลี้ยงหมูก็เก็บผักบุ้งในทุ่งนาใส่เรือกลับมาบ้าน

วัดก็มีเรือ หน้าน้ำพระท่านก็พายเรือไปบิณฑบาตก็สะดวกมาก  ส่วนครอบครัวคนบ้านดอนอย่างครอบครัวบ้านอาตมา มีนาอยู่ที่นั่น แต่ไม่มีเรือใช้

ทั้งครอบครัวน่าจะมีพ่อคนเดียวที่มีประสบการณ์พายเรือเป็น

สวัสดีครับคุณโรงเรียนพ่อแม่

  • คนนครสวรรค์บ้านเราเลยหนาเนี่ย
  • ตามมาด้วยท่านพระอาจารย์มหาแล ท่านก็เป็นคนบ้านเราที่ไปจำพรรษาอยู่ที่พิษณุโลก อีกท่านหนึ่งด้วยเหมือนกัน
  • ขอเสริมแรงความคิดด้วยคนครับ การขุดลอกแม่น้ำคูคลองน่ะครับ เห็นด้วยและขอปรบมือให้กับทุกแห่งที่ทำครับ

 

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

  • นานๆได้เห็นท่าน ไม่ว่าจะในเวทีคนหนองบัวหรือในหัวข้ออื่นๆนี่ ให้แสนดีใจมากเลยนะครับเนี่ย
  • ขอกราบอนุโมทนาสาธุการต่อวัตรปฏิบัติทั้งหลายในพรรษานี้นะครับ
  • ผมนี่ก็คิดว่าตนเองพายเรือเก่งและพายแข็งใช้ได้พอสมควรละครับ มีอยู่ปีหนึ่ง เป็นวันเทศกาลลอยกระทง ที่มหาวิทยาลัยเขาแข่งพายเรือในสระน้ำในมหาวิทยาลัย ผมกับท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์เอี่ยม ทองดี กับ ดร.โสฬส ศิริไสย์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวเรือจัดกิจกรรมเสวนาและกิจกรรมต่างๆที่เป็นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวมหิดลและชุมชนโดยรอบได้มีส่วนร่วมกัน มีกิจกรรมแข่งพายเรือกันด้วย ในที่ทำงานผมพวกผู้ชายก็ไม่ค่อยจะมี ผมก็เลยอาสาลงไปพายเรืออย่างกระหยิ่มยิ้มย่อง กะว่าจะพายโชว์และกะเอาชนะเลยละครับ เห็นเรือลำเล็กนิดเดียว คะเนดูแล้วผมจ้วงสองทีก็ถึงจุดหมาย !!!!
  • ผมลงเรือและกรรมการเป่านกหวีด ผมก็จ้วงอย่างแรง ๒ ทีจริงๆอย่างที่คิดกะไว้ครับ แต่ควั่บแรกห็เป๋ฉีกออกไปทางซ้าย พอจ้วงควั่บสลับไปอีกทางเพื่อตลบหัวเรือกลับ ก็คว่ำเรียบร้อยครับ หลังจากหงายท้องหงายไส้และโผล่ขึ้นมาจากน้ำขึ้นมาดู ...อยู่ที่เดิมครับ เสียชื่อคนเมืองน้ำโหม๊ด   

เมื่อคืนตอนตี 3 มีจุดพลุ ประกาศเตือนให้ขนของ เล่นเอาคนนครสวรรค์ นอนไม่หลับ เพราะน้ำทะลักตรง โรงแรมเป็นหนึ่ง โชคดีที่กั้นอยู่ เพราะระดับน้ำเจ้าพระยาที่กั้นกระสอบไว้สูงมากจนน่าเสียว หากทะลักเข้ามาอีก ไม่อยากจะคิด

สวัสดีครับนพรัตน์ครับ

  • อยากได้บันทึกและสื่อรายงานอย่างนี้ จากคนที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งของนครสวรรค์กับแหล่งต่างๆทั่วประเทศที่ประสบกับน้ำท่วมจังเลยครับ เล่าถ่ายทอดไว้และถ่ายภาพมาถ่ายทอดไว้ก่อน น่าจะเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับใช้ศึกษาและสร้างความรู้ต่อเรื่องต่างๆต่อไปได้ดีนะครับ
  • ผมพอจะจินตนาการตามไปด้วยได้เลยครับ ถนนจากนครสวรรค์ไปชุมแสงและบ้านผมที่หนองบัว ที่ต้องผ่านริมบึงไปเกยชัย คงขาดและพัง บ้านเรือนก็คงท่วมมิดหลังคากันเหมือนเดิม
  • แล้วเวลาน้ำท่วมเยอะๆก็ชอบปล่อยข่าวลือว่าไอ้เข้หลุดที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง หยึยยย
  • ชอบที่อาจารย์เปรียบเทียบ น้ำท่วม เหมือนโรค SLE คะ..สิ่งที่เคยมองเป็นของคู่กัน และเป็นประโยชน์ เมื่อเสียสมดุลกลับกลายเป็นโทษ
  • มองว่า ในระยะสั้น การปรับตัวให้เข้ากับสภาพน้ำเยอะ เช่นปลูกพืชทนน้ำ, บ้านลอยน้ำ, ใช้วัสดุพรุนน้ำ (การทดลองแก้วน้ำ ทำซะเห็นภาพดีจังคะ :-) เป็นโอกาส ดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นบูรณาการณ์ร่วมกับวิทยาการในสถานศึกษา
  • สำหรับโรงเรียนแพทย์ น่าจะได้ลุยเรื่องโรคที่มากับน้ำท่วม อย่างฉี่หนู เชื้อแบคทีเรียเชื้อรา ในน้ำขัง 
  • ขอบคุณบันทึกที่มีคุณค่า ทางปัญญานี้คะ 

Great summary!

We have been ignoring land and water issues (or focusing on gadgets and money) for a long time.

People would now learned the wisdom of living with water and land.

Land and water management and development should be looked at as one integrated ecological system.

Universities can provide knowledge and recommendations to local and national authorities.

Loss of lives, natural resources and infrastructures will recur and more likely more severe.

Perhaps, a people forum of the land and water issues would give a list of priorities of what to do now.

นำนักเรียนโรงเรียนกีฬาไปแข่งเมื่อปี 53 ที่นครสวรรค์เป็นเจ้าภาพ นั่งเรือข้ามฟากมาตลาด ลงเรือแล้วต้องขึ้นบันไดขึ้นไปบนฝั่งเหมือนกับขึ้นตึก2-3ชั้น เลยถามคนขับเรือว่าน้าๆทำไมฝั่งสูงจัง  น้าคนขับเรือบอกว่า โหนี่น้ำลดมันก็สูงอย่างนี้แหล่ะ..แต่เวลาน้ำมานะคุณ ปิ่มฝั่งที่คุณปืนขึ้นไปเลย...บางทีก็ท่วมเข้าไปในตลาด..เพิ่งประจักชัดวันนี้นี่เองค่ะพี่อาจารย์...

สวัสดีครับอาจารย์หมอป.ครับ

มีชาวบ้านอีสาน อย่างน้อย ๓ ราย เล่าให้ผมฟังว่า ญาติของเขาได้เสียชีวิต ที่เกิดจากความเจ็บป่วยต่อเนื่องในระยะเวลาไม่นานจากสาเหตุเพียงเล็กน้อย แต่ต่อมาก็ทำให้ต้องไปโรงพยาบาล คือ โดนหนามตำ ขวดบาด ก้อนหินตำ หรือเกิดบาดแผลตามร่างกายในส่วนที่ไม่สำคัญ เช่น เท้า ขา แข้ง

แต่ต่อมาก็เป็นไข้ ตัวบวมแดง เมื่อไปหาหมอระยะหนึ่ง นอกจากอาการหนักกว่าเดิมแล้ว ก็เกิดอาการตัวลอก และล้มเจ็บทรุดหนัก หมดเงินทองเพื่อการรักษาไปเป็นแสน แต่ที่สุดก็เสียชีวิต ฟังดูแล้วก็คล้ายๆกัน

แม่ผมที่บ้านหนองบัว นครสวรรค์ก็เคยเจ็บป่วยมากในลักษณะนี้เหมือนกันครับ แรกเลยก็โดนหนามตำระหว่างเดินลุยน้ำลงไปเก็บผักหญ้า ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติที่ชาวนาและคนบ้านนอกคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้น เท้าและขาแม่ก็บวมแดง แม่เลยทายาหม่อง แต่ก็ไม่หาย อีกทั้งกลับยิ่งปวด บวม แดง ต้องไปโรงพยาบาลและถึงกับต้องนอนรักษาเลยทีเดียว

มีอุบัติการของโรคและปัญหาสุขภาพ รวมไปจนถึงปัญหาสาธารณสุขหลายอย่าง ที่ยา หมอ พยาบาล กับโรงพยาบาล กำลังรับมือได้ไม่พอ แต่ต้องเปลี่ยนที่วิถีทำมาหากิน เปลี่ยนระบบจัดการชุมชนและสังคมการอยู่อาศัย หน่วยปฏิบัติต่อเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่บนตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่เชื่อมโยงและซับซ้อนไปถึงปัจจัยแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม หรือระบบนิเวศทางสังคมวัฒนธรรมสุขภาพในเงื่อนไขแวดล้อมหนึ่งๆอีกด้วย พลังความรู้และพลังการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกันได้ อีกทั้งใช้ได้จริงในสภาวการณ์ที่เป็นจริง อย่างนี้ คงจะสร้างและทำได้ยากจากความรู้แยกส่วน ต้องสร้างด้วยชุมชน กลุ่มก้อน และเครือข่ายการเรียนรู้ แต่การเดินเข้าหากันของความแยกส่วนในยุคที่สังคมทั่วไปมีแรงกดดันให้ต้องแข่งกันรอด ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

เลยต้องขอแอบชื่นชมและดีใจที่ได้เห็นพื้นฐานอย่างนี้สะท้อนอยู่ในตัวเองอย่างเช่นคุณหมอละครับ ที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางสุขภาพเข้ากับการอธิบายของความรู้ในสาขาอื่นๆได้อย่างกว้างขวาง พูดในภาษาศิลปะก็คือมีความผสมผสานลงตัวทั้ง Hard Sciences และ Solf Sciences อยู่ในตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สร้างยาก แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ของการพัฒนาสาขาต่างๆ

สวัสดีครับคุณ sr ครับ

การลงไปทำงานเชิงพื้นที่กับชุมชน และทำให้การแก้ปัญหาชีวิตการเป็นอยู่ต่างๆ ให้เป็นเหมือนห้องเรียนและมหาวิทยาลัยเปิดไปด้วย คงจะเป็นการช่วยให้ผู้คนสามารถยกระดับการเคลื่อนไหวสังคมร่วมกันในเรื่องใหญ่ๆ ได้ดี จริงจัง ลึกซึ้ง และเข้มแข็ง มากยิ่งๆขึ้นนะครับ

จึงเห็นด้วยมากครับ ที่ทั้งมหาวิทยาลัยและรวมทั้งเครือข่ายนักวิชาการแนวประชาสังคมที่เชื่อมโยงประเด็นกันได้ในเรื่องเหล่านี้แบบข้ามองค์กรและข้ามสาขาได้ จะเป็นแหล่งที่สามารถสร้างความรู้และให้ข้อเสนอแนะต่างๆต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นต่างๆ ผมเองนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายชีวิตการงาน ที่จะสร้างโอกาสทำไปอยู่เสมอๆด้วยละครับ ขอร่วมเป็นแนวร่วมนะครับ

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก
เมื่อเช้านี้เขาบอกว่าสุพรรณบุรีกับนครปฐมอาจจะถูกน้ำท่วม
ตอนนี้เรือลำเก่าแก่ที่เคยเห็นในรูปถ่ายครอบครัวของหนูอ้อย ยังมีอยู่ไหมเนี่ย

สวัสดีค่ะ

"....การขยายตัวของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองใหญ่ในที่ราบลุ่ม..."

จุดนี้มีเกิดขึ้นโดยทั่วทุกจังหวัด

ลำดวนเคยคิดว่าการถมดินในที่ลุ่มของหมู่บ้านต่างๆนี้

จะพ้นน้ำไหมนะ...

และแล้วก็เห็นได้ชัดๆในปีนี้เอง

แม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็ไมรอดเช่นกัน

เราปรับเปลี่ยนธรรมชาติ...

และธรรมชาติกำลังเรียกร้องธรรมชาติกลับคืน...ใช่ไหมคะ

สวัสดีครับคุณครูลำดวนครับ
การสร้างความรู้ในวิถีปฏิบัติที่สะท้อนและเชื่อมโยงความส่วนรวมด้วยกันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
กับการพัฒนาการเรียนรู้ ให้ในหน่วยชีวิตการทำมาหากินต่างๆ
ทั้งในระดับปัจเจก การรวมกลุ่ม ชุมชนระดับต่างๆ รวมทั้งในสื่ออนไลน์อย่างนี้
ก็คงจะเป็นทางหนึ่งสำหรับการมีส่วนร่วมที่ดีอย่างหนึ่งนะครับ ขอเป็นกำลังใจครับ

แม้เราจะไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่าแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ซื้อโต๊ะไม้ตู้ไม้มาใช้เหมือนกัน

เราซื้อกันคนละชิ้นสองชิ้นรวมกันๆเข้าก็....มากมาย

แล้วตอนนี้เราก็นั่งมองน้ำท่วมโต๊ะเตียงตู้เหล่านั้น

เราเองก็มีส่วน...ด้วยเช่นกัน

ไม่มีเหลือแล้วค่า...ว่าจะไปซื้อเรือไฟเบอร์กลาสมาไว้สัก 2ลำ...แต่ที่ตำบลอ้อยอยู่ไม่ท่วมแล้วค่า..

สวัสดีครับคุณ Oraphan ครับ
เห็นด้วยครับ การเห็นว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี่
เป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มการมีส่วนร่วมที่ออกมาจากสำนึกภายในตนเอง
ทำให้ปัญหาต่างๆมีโอกาสระดมพลังช่วยกันแก้ไขได้มากยิ่งๆขึ้นเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก
เรือไฟเบอร์กลาสนี่ก็พายยากน่าดูเหมือนกันนะครับ
เป็นตัวอย่างได้อย่างหนึ่ง ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมเลยนะครับ
คือ... ต้นทุนการดำเนินชีวิตต้องเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง
ต่อไปนี้โครงการซื้อขายบ้านอาจจะต้องบอกว่า มีเฟอร์นิเจอร์ ยาม และแถมเรือด้วย
ถึงจะมีคนสนใจมากกว่าเพื่อน !!!!!

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
ภาพนี้ดูหลุดออกจากความแออัดและคงยากที่จะเกิดน้ำท่วมนะครับ
เป็นเขาที่ยังมีต้นไม้หนาแน่นดีมากเลยนะครับ

น้ำท่วม ..สะท้อนภาพต่างๆมากมาย

โดยเฉพาะ.."การทดสอบหัวใจของคน"

สวัสดีครับคุณครู ป.1 ครับ เป็นการสวัสดียามเช้ากันเลย

  • เป็นบททดสอบที่หนักหน่วงมากเลยนะครับ เมื่อคืนนั่งฟังรายงานข่าวจากวิทยุ มีเหตุการณ์ชาวบ้านทะเลาะกันในเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯนี้เอง กลุ่มหนึ่งที่ถูกน้ำท่วมหลายวันแล้วต้องการเปิดคูกั้นน้ำ ซึ่งก็จะทำให้น้ำต้องทะลักเข้าอีกหมู่บ้านหนึ่ง กลุ่มผู้อาศัยในอีกหมู่บ้านหนึ่งเลยออกมาต่อต้าน ที่สุดต้องให้สื่อมวลชนมาช่วยจัดสถานการณ์ให้ได้พูดคุยไกล่เกลี่ย แล้วประสานงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาระดมความร่วมมือให้ช่วยกันหาทางออก
  • เป็นบททดสอบจิตใจมากอย่างยิ่งของผู้คนที่เผชิญปัญหาด้วยกันนะครับ หลายแห่งก็คงเข้าสู่ปัญหาด้วยต่างก็โมโหโกรธเกรี้ยวในลักษณะอย่างนี้เช่นกัน พอผ่านทุกข์ภัยจากน้ำท่วมไปแล้ว จากที่เคยมีเพื่อนบ้านอยู่ด้วยกัน เลยต่างก็เกิดสภาพแวดล้อมความเกลียดชังกันและกัน น้ำท่วมเลยมากวาดเอาน้ำใจเอื้ออาทรกันให้เหือดหายไปด้วย แย่จังเลยนะครับ
  • การช่วยสื่อสารและเป็นสติในการแก้ปัญหาให้กัน แทนการเสริมและขยายปัญหาในห้วงอารมณ์กดดันให้ทุกข์ร้อนมากมาย เป็นอีกสิ่งหนึ่งหนึ่งที่ช่วยกันทำได้ในที่ซึ่งมีโอกาส
  • ตอนนี้ ทั่วประเทศรายงานการประสบภาวะน้ำท่วมไปแล้วเกือบ ๖๐ จังหวัดจาก ๗๗ จังหวัด และเมื่อเย็นวาน รถโดยสาร บขส.สายเหนือและสายอีสาน ก็ประกาศหยุดเดินรถทุกเที่ยวเป็นการชั่วคราว เพราะถนนแถวอยุธยาขาดและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นี่เป็นอุทกภัยที่หนักและเกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางมากอย่างยิ่งเลยนะครับ

สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดในปีต่อไป หรือขณะนี้ก็คือการผันน้ำออกอย่างรวดเร็ว โฟกัสที่การบริหารจัดการน้ำในสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนี่ก็พูดคุยหรือปรับทัศนคติยากทีเดียว แต่ธรรมชาติของการเอาตัวรอดเค้าก็จะยินดีปรับพฤติกรรมปรับสิ่งต่างๆ ตามแต่ที่เค้าจะปลอดภัยจากนี้ (สังเกตุจากการอ้างประวัติศาสตร์ที่ว่า ตอนปี38 ท่วมแค่นี้เอง ปีนี้น้ำมากกว่าจะเห็นว่าเค้าระวังแค่จุดที่เคยลำบากหนักเท่านั้น) ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ก็น่าจะเป็นแนวนี้และจากแนวอย่างนี้ทางรัฐก็บูรณาการสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกหลักวิชา เพิ่มเติมลงไป ก็จะออกมาในรูปของวิถีวัฒนธรรมไทย ดั่งที่เราเคยภูมิใจ

จากบันทึกที่อาจารย์ได้เขียนมานี่ดีมากๆ เป็นแนววิชาการ แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างใช้เวลามากและยากเย็น ความเห็นผมคิดว่า ทางสายกลางคงเหมาะสมกับทุกๆ ชาติ รวมทั้งชาติไทยด้วยครับ

สวัสดีครับคุณเพชร พรหมสูตร์ครับ

ถูกต้องและเหมาะสมดีแล้วครับที่ตอนนี้ต้องสูบน้ำและผันน้ำออกก่อน และปีต่อๆไปก็เรียนรู้ที่จะป้องกันตนเอง

แต่ใครที่พอจะทำหน้าที่ต่อส่วนรวมได้มากกว่านั้น ก็คงสามารถศึกษาและรวบรวมข้อมูล ให้การเรียนรู้ที่กว้างขึ้นแก่สังคมในสถานการณ์ที่กำลังเจอกับบทเรียนตรงๆด้วยกันผ่านสื่อและแหล่งต่างๆ ไม่ควรไปให้การเรียนรู้ตรงแหล่งน้ำท่วมซึ่งผิดกาลเทศะมากน่ะครับ

บางเรื่อง เป็นประเด็นส่วนรวมของทุกคนและเป็นเป้าหมายระยะไกล อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ครับ แต่สังคมส่วนรวมต้องมองไปข้างหน้าอย่างมีอนาคตร่วมกัน การพัฒนาทางด้านต่างๆจึงจะสามารถสื่อสะท้อนกันและกัน ให้ผู้คนมีความสำนึกพร้อมต่อการระดมพลังความร่วมมือกัน จึงจะทำเรื่องที่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงความซับซ้อนหลายอย่างได้ หาไม่แล้วก็จะต้องปล่อยให้เกิดปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ผู้คนถึงจะเห็นปัญหากันเสียครั้งหนึ่ง พอผ่านไปก็ไม่สนใจและไม่เกิดประสบการณ์สั่งสมอะไรกันอีก

ปัญหาที่เชื่อมโยงกับระบบการเป็นอยู่ร่วมกันหลายอย่างที่ขยายตัวอย่างซับซ้อนมากแล้วในทุกวันนี้ ต้องช่วยกันมองและสื่อสารกับสังคมออกมาจากตำแหน่งที่ตนเองมองเห็นช่วยๆกัน เพื่อรู้จักตัวเองใหม่และมีพลังความเป็นส่วนรวมด้วยกัน เพื่อทำสิ่งต่างๆคนละเล็กละน้อยได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบระบบใหญ่ๆ เมื่อริเริ่มทำอะไรก็จะมีพลังความร่วมมือบนฐานของการได้มีการเรียนรู้ดีๆมาก่อนอยู่เสมอๆ ได้มากยิ่งๆขึ้น

ช่วยกันคิดช่วยกันเติมเต็มหลากหลายอย่างนี้นี่ดีครับ ทำให้เรื่องราวของสังคมมีความเคลื่อนไหวผสมผสานอยู่กับการพูดคุยปรึกษาหารือกันของชาวบ้านทั่วๆไป เป็นความมีสุขภาพดีอย่างหนึ่งของสังคมน่ะครับ

เนื้อหาน่าสนใจมาก เป็นประโยชน์จะได้เตรียมตัวรับสภานการณ์ได้ทันท่วงที

ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่บันทึกวิกฤติและทุกขภาวะจากน้ำท่วม ที่เปรียบเสมือน "แพ้ภูมิตนเอง"

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้จากฐานของปัญหาที่กำลังประสบภัยจากมนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่เหนือการควบคุม และฐานการพัฒนารูปธรรมจากองค์ความรู้ที่ระดมจากการทำงานแบบสหวิชาชีพในแต่ละประเด็นปัญหา

ผมยกตัวอย่างที่เมือง Perth ที่กลุ่มหนึ่งกำลังทำเส้นทางคมนาคมใต้ดิน กลุ่มหนึ่งคัดค้านแต่ไม่สำเร็จว่า ไม่ให้ทำใต้ดินเพราะพื้นดินที่เป็นทรายจะก่อให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำออกจากอุโมงค์ใต้ดินได้ทัน และก็เป็นจริงเมื่อพายุฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมจนรถใต้ดินใช้การไม่ได้ ทั้งสองกลุ่มคนได้ร่วมกันรับผิดชอบในการคิดหาวิธีการที่จะบรรเทาสูบน้ำออกจากใต้ดินและยังคงใช้รถไฟใต้ดินได้ดีโดยไม่กังวล

ผมเห็นด้วยว่า การฝึกทักษะชีวิตด้านการสื่อสารให้เกิดการทำงานเป็นทีมและให้มีใจค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา พร้อมยอมรับสภาวะที่เป็นจริง (เข้าใจภูมิปัญญาของตนเองและผู้อื่น มากกว่า แพ้ภูมิตนเองด้วยการดิ้นรนแก้ปัญหาแบบปิดตา) เป็นสิ่งสำคัญในทุกกลุ่มทุกคณะในชุมชนครับ

ผมกำลังคิดจะ เปิดวิชาทักษะชีวิตเพื่อความสุข สำหรับ นศ.ปีหนึ่งทุกคณะได้เลือกเรียน แนวคิดให้เรียนรู้ความสุขของตนเองและคนในชุมชน เพื่อจุดประกายให้มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาทักษะชีวิตด้านการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหาที่กำลังคุมคามเพื่อนมนุษย์อย่างซับซ้อน ถ้าผมร่างเสร็จ จะขอคำแนะนำจากอาจารย์ด้วยครับ ไว้ผมจะรบกวนถามอีเมล์อาจารย์อีกครั้งครับ

สวัสดีครับคุณครูอุ้ยครับ

  • ขอบคุณที่มาเยือนและเสวนาวิสาสะกันครับ
  • ช่วยกันทำให้ข่าวคราวน้ำท่วม ได้เป็นโอกาสเชื่อมโยงการคิดไปถึงการดำเนินชีวิตของตนเอง กับการปฏิสัมพันธ์และการจัดความสัมพันธ์กับโลกรอบข้าง ผ่านการบริโภคและใช้สอยทรัพยากร การทำมาหากิน การทำที่อาศัย การทำกิจกรรมชีวิตบนถิ่นฐานบ้านเรือน
  • อย่างน้อยก็ได้ความคิดและให้น้ำหนักตนเองได้มากยิ่งๆขึ้นไปอีกว่า การเริ่มต้นนับแต่ทำความประมาณตั้งแต่ในใจตนเอง ออกมาจนถึงการดูแลตนเอง จนเชื่อมโยงไปสู่โลกภายนอกผ่านกิจกรรมชีวิตของเราเองนั้น สามารถมีส่วนต่อการสนองตอบและร่วมดูแลสิ่งที่เราก็ทุกข์ร้อนและคิดว่าเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร
  • และเมื่อต้องการระดมพลังการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วยกันในระดับสาธารณะต่างๆ สังคมก็จะมีพลเมืองที่มีกำลังความรู้ และมีทุนศักยภาพเพื่อการมีส่วนร่วมที่ดีอยู่เรื่อยๆ
  • เหมือนเป็นการช่วยกันทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนและหลักสูตรสหวิทยาการถิ่นฐานไทยศึกษาของมหาวิทยาลัยชีวิตกัน เลยนะครับเนี่ย

สวัสดีครับ Dr.Pop ครับ

จากที่ได้ร่วมกันทำเวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยและได้เห็นฝีมือ ก็ต้องขอชื่นชมว่าอาจารย์เก่งเรื่องการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารสุขภาพ และการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ มากๆด้วยนะครับ มีแนวคิดและมีทักษะการปฏิบัติดีมากเลยละครับ

การสื่อสารในกลุ่มสหวิชาชีพเพื่อสุขภาพ โดยมีความเป็นองค์รวมของผู้ป่วย เป็นตัวตั้งนั้น นอกจากจะช่วยการดูแลรักษาและเสริมพลังการพึ่งตนเองทางการปฏิบัติ เพื่อความมีสุขภาพดีและความมีคุณภาพชีวิตดีของผูั้ป่วย ได้เป็นอย่างดีอย่างหนึ่งแล้ว การสื่อสารในเรื่องเดียวกัน เช่น ความสุข แต่โดยจากหลากหลายมุมมอง หลายสาขาความรู้ หลากประสบการณ์และเงื่อนไขชีวิต ก็จะทำให้เกิดการผุดมิติใหม่ๆที่เกิดจากการได้เปรียบเทียบ ความสุข ด้วยข้อมูลหลายชุด หลายบริบท ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้และทำให้เกิดกระบวนการสร้างความหมายใหม่ๆขึ้นภายในตนเอง ของชุมชนสื่อสารนั้นๆ ซึ่งรวมถึงตัวผู้ป่วยด้วยนะครับ

กระบวนการอย่างนี้ จะทำให้การเจ็บป่วยและกระบวนการปฏิสัมพันธ์เชิงการสื่อสารและเรียนรู้ เป็นกระบวนการยกระดับความลึกซึ้งแยบคายต่อการให้ความหมายภาวะความเจ็บป่วย ความเจ็บไข้ รวมไปจนถึงความหมายของชีวิต แปรวิกฤติความเจ็บป่วยไปสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อสุขภาพตนเอง

ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรสุขภาพ จะสามารถจัดความสัมพันธ์ตนเองกับความเจ็บป่วยและการดูแลรักษาด้วยวิถีการเรียนรู้ มีอิสรภาพทางปัญญาเกิดขึ้นไปบนสถานการณ์การเจ็บป่วยซึ่งเป็นมิติทางกาย ไปด้วย ซึ่งอาจจะเป็นมิติใหม่ๆของงานบริการทางสุขภาพและคงเป็นประโยชน์มากอย่างวิสัยทัศน์ของอาจารย์เลยละครับ

เมื่อคืนผมนั่งดูหนังสือที่อาจารย์เขียน ๒ เล่ม กับหนังสือเรื่องการสาธารณสุขในพุทธธรรม ของ ดร.อุทัย สุดสุข ที่อาจารย์ได้กรุณามอบให้ ก็ได้ปัญญาและได้ความรู้ทางสุขภาพมากมาย อาจารย์มีเจตนารมย์และอุดมคติทำการงานเพื่อสังคมที่งดงามดี และเป็นคนเก่งมาแต่อ้อนแต่ออดเลยนะครับ

เรียน อาจารย์

อยากให้ ครม.มาอ่านบทความนี้จัง... !!!

สวัสดีครับช้างน้อยมอมแมมครับ

ส่วนใหญ่ ทั้งชาวบ้านและ ครม. มักสนใจที่จะดูว่าจะมีเหตุเภทภัยอย่างไรนี่ เขาจะดูจาก อีกาเกาะหลังคาทำเนียบ ลิงปีนทำเนียบ นกพิราบตีกัน พระอาทิตย์ทรงกรด พระจันทร์สีแดงเพลิง ตะกวดกัดกัน มดแดงยกพวกกัดกัน มะพร้าวแตกยอดเป็นพญานาค ๗ เศียร ฯลฯ ที่รู้ได้ด้วยอภินิหารและสามารถตีเป็นหวยได้ด้วย มากกว่าจะใช้สื่ออย่างนี้เสียกระมังผมว่า นี่ได้ข่าวว่า กทม.จะมีพิธีสวดไล่น้ำอีกด้วยนะครับเนี่ย เป็นไปด๊ายยย ย ย  ย !!!!!

สวัสดีค่ะเป็นข้อมูลที่ดีขอนำขอมูลไปให้นักศึกษา ปัญหาใหญ่อยู่ที่อะไรค่ะ

ทำอย่างไรเราจะอยู่บนน้ำได้อย่างมีความสุข

สวัสดีครับอาจารย์มะลิครับ
ขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้ความสนใจแลกเปลี่ยนความคิดกันมากเลยละครับ

ปัญหาที่พอจะอธิบายภายใต้มุมมองนี้ ผมได้กล่าวถึงในหัวข้อแรกแล้วครับอาจารย์ แต่ก็กล่าวถึงปัญหาหลักๆ จำเพาะในมุมมองที่จะนำไปสู่เรื่องการพัฒนาชุมชน วิถีชีวิต ระบบนิเวศ และระบบสังคมบนถิ่นอาศัย กระบวนการเรียนรู้และเคลื่อนไหวการมีส่วนร่วมทางสังคมของปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆ ที่จะสามารถสะท้อนไปสู่สิ่งต่างๆในวิถีชีวิต ผมเคยทบทวนไว้นานแล้ว เพราะเคยตามศึกษางานวิจัยกับวรรณกรรมที่เกี่ยวกับผลกระทบและผลสืบเนื่องในเชิงกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมทางประชากรและความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของพลเมือง ที่เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ดำเนินการขึ้นในสังคมต่างๆ แต่ก็เห็นภาพไม่ค่อยสื่อกับสังคมไทย ต่อมาเลยใช้วิธีลงไปเรียนรู้จากวิถีชีวิตจริงๆในระดับพื้นที่ต่างๆดีกว่า รวมทั้งได้ช่วยกันขุดสระปลูกบัวในบ้าน เพื่อเรียนรู้ด้วยการมีชีวิตร่วมกันกับระบบนิเวศของสิ่งที่อยู่กับถิ่นฐานน้ำอย่างบัวเสียเลย

กระนั้นก็ตาม แนวการศึกษาแบบวิเคราะห์จากระบบใหญ่ๆในระดับมหภาคที่ได้เคยศึกษาดู ก็พอจะทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ในหลายเรื่องอยู่บ้าง อย่างที่นำมากล่าวถึงพอให้เป็นโอกาสได้คิดและนำเอาประสบการณ์ชีวิตมาใคร่ครวญในภาวะน้ำท่วม ทำให้สถานการณ์น้ำท่วม เป็นห้องเรียนถิ่นฐานไปด้วยเสียเลยอย่างในบันทึกนี้แหละครับ

อย่างที่อยุธยานั้น เหตุที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์หนักและวิกฤติมากอย่างยิ่งนั้น หากศึกษาและทำความเข้าใจอย่างที่ผมกล่าวถึงบ้างในข้างต้น ก็ไม่ใช่เพราะความเป็นอยุธยาหรอกครับ แต่อยู่ตรงที่ตรงแนวที่เป็นอยุธยากับนอกเขตปริมณฑลกรุงเทพมหานครนั้น เป็นแนวที่พ้นเขตกรุงเทพฯและเอื้อต่อการลงทุนพัฒนาภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมมากที่สุด...เอื้ออย่างไร ?

หากข้ามมาในเขตที่ใกล้กว่านั้น ก็จะมีต้นทุนที่สูง แต่ถ้าหากไปไกลกว่านั้น ก็จะต้องไกลจากท่าเรือและสนามบิน ขาดถนนและระบบโครงส้รางพื้นฐาน ซึ่งต้นทุนการส่งออกและนำเข้าทั้งวัตถุดิบและสินค้าก็จะสูง เช่น ไกลออกไปจากอยุธยาและสระบุรี ไปแถบภาคอีสาน ที่ดินและการลงทุนด้านแหล่งประกอบการ ก็จะถูกมากครับ ถูกกว่าอยุธยา แต่ต้นทุนค่าขนส่งและระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆมันสูง ดังนั้น ตามแนวเดียวกันนี้รอบกรุงเทพฯ จึงสามารถลงทุนต่ำและแข่งกันให้ได้กำไรมากกว่าแหล่งอื่นๆ ทำให้เต็มไปด้วยเมืองอุตสาหกรรมและการทำให้พื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นแหล่งลงทุนในภาคการผลิตแบบใหม่ หลายแห่งจากที่เคยเป็นที่ลุ่มทำนาและเป็นชุมชนหมู่บ้าน มีประชาชนอยู่ ๗๐-๓๐๐ ครัวเรือน ก็จะกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรขยายตัวขึ้นทันทีเป็นหลายหมื่นและหลายแสนคน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวก่อนล่มสลายในวิกฤติต้มยำกุ้งในช่วง ๒๕๔๐

แต่เนื่องจากการขยายตัวบนพื้นที่เหล่านี้ เป็นการขยายตัวบนปัจจัยการมุ่งลดต้นทุนให้มากที่สุดและเพิ่มผลกำไรทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด เพื่อสามารถแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้มากที่สุดอีกเช่นกัน มากกว่าด้านอื่น เหตุผลว่าได้ลงไปอยู่ในแอ่งรองรับน้ำและแปรพื้นที่ผลิตเกษตรกรรมที่อยู่อาศัยกับน้ำ เลยคงจะไม่ได้นำมาเป็นองค์ประกอบหลักของแผนแม่บทที่ส่งผลต่อการขยายตัวในลักษณะนี้มากเท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อเกิดน้ำหลากที่มากกว่าที่คาดการณ์ทั่วไป ก็เลยไม่มีระบบจัดการเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เพราะต้นทุนด้านนี้ มีแง่มุมอื่นในกระแสหลักมาทำให้ถูกมองข้ามไปว่าเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่ต้องใช้

เมื่อเป็นดังนี้ แนวการอธิบายอย่างหนึ่งที่ผมค่อนข้างเห็นด้วยก็คือ มันเป็นปัญหาของกระบวนทัศน์การพัฒนา ที่แยกส่วนมุ่งให้ได้ตามกระแสการแข่งขันของสังคมเศรษฐกิจกระแสหลักของโลกเพียงบางส่วน แต่ต้องละทิ้งฐานชีวิตและทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวลด้มอบนถิ่นฐาน ไปอีกมากมายหลายส่วน จึงจำเป็นต้องนำมาทบทวนใหม่และเน้นความสมดุลของเศรษฐกิจสังคม กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศถิ่นฐาน รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมเชิงระบบทั้งของท้องถิ่นและสังคมโลกมากขึ้น

แต่ก็ต้องมองหลายมิติครับ ในบันทึกนี้เป็นเพียงเปิดแนวคิดเพื่อให้วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นมีความหมายต่อการเกิดความสนใจเรียนรู้และทำความคิดต่างๆให้มีความเชื่อมโยงกับความเป็นจริงหลายอย่างของสังคมไทยด้วยเท่านั้นครับ เป็นการสร้างแง่มุมเพื่อชวนสังคมเปิดรับข่าวคราวและเผชิญสถานการณ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมด้วยตนเอง ให้ได้การเรียนรู้และเกิดประสบการณ์ทางสังคมร่วมกันใยามนี้ด้วยการมีสติ เพื่อคิดทำสิ่งต่างๆต่อไปให้ดีกว่าเดิม มากกว่าตื่นไปกับเหตุการณ์ต่างๆด้วยอารมณ์และความรู้สึกเหมือนเหตุการณ์ต่างๆเพียงในช่วงวิกฤติ แล้วก็ลืมหายกันไป

ความเสียหายมากมายที่แทบจะประเมินไม่ได้ในครั้งนี้ น่าจะทำให้สังคมทุกภาคส่วนซึ่งต่างก็เกิดประสบการณ์ต่อวิกฤติการณ์ครั้งนี้ของสังคมด้วยกัน มีข้อมูลเชิงสัมผัสให้สามารถใช้อ้างอิงชุดเดียวกัน ได้เกิดพื้นที่ความเป็นส่วนรวมในใจ เพื่อคิดและคุยกันอย่างเปิดกว้างมากกว่าเมื่อก่อน การศึกษา การสร้างความรู้ การสร้างคนเพื่อออกไปเป็นผู้นำการพัฒนาสาขาต่างๆ ก็คงต้องคิดอีกหลายเรื่องมากขึ้น ภายใต้วิกฤติ จึงน่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิม...อย่างนั้นหรือเปล่านะครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท