สอนอย่างมีความสุข (1)


วันนี้สอนเรื่องพฤติกรรมสัตว์ให้กับชั้น ม.5/1ครับ เราเตรียมตัวกันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการแบ่งนักเรียนเป็น กลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน ทั้งหมด 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องออกแบบการทดลองเพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์อะไรก็ได้ที่หาและนำมาโรงเรียนได้อย่างไม่ยากนัก แต่ก่อนอื่นทุกกลุ่มต้องเขียนรายละเอียดส่งล่วงหน้า ว่าจะศึกษาอะไร ปัญหา สมมติฐาน ตัวแปรต่างๆ วิธีการทดลอง อุปกรณ์ที่ใช้ ตารางบันทึกผล เหล่านี้ต้องระบุให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาร่วมกันก่อนที่จะลงมือทำจริง ว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

เหตุเลือกใช้สัตว์ที่สามารถนำมาโรงเรียนได้ เพราะต้องการให้ทำการทดลองพร้อมๆกันในห้อง และในเวลาที่มีอยู่ 2 ชั่วโมง เพื่อให้เพื่อนกลุ่มอื่นๆเรียนรู้ไปด้วย ผมใช้วิธีจัดการเรียนรู้ลักษณะนี้มาหลายรุ่นแล้ว ทุกครั้งนักเรียนจะเอาใจใส่และตั้งใจทดลองร่วมกันเป็นอย่างดี ถ้าได้ทำ เรียนรู้ หรือได้ทดลองด้วยตัวเอง นักเรียนจะชอบและสนใจเป็นพิเศษ เท่าที่มีประสบการณ์ ผมเชื่ออย่างนั้นครับ

เมื่อพิจารณารายละเอียดเอกสารที่แต่ละกลุ่มออกแบบจะศึกษา พบว่าตัวแปรไม่ค่อยถูกต้อง โดยเฉพาะตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ จึงเป็นหน้าที่ครูต้องอธิบายเพิ่มเติมพร้อมยกตัวอย่างประกอบ จากนั้นให้แต่ละกลุ่มนำรายละเอียดกลับไปแก้ไขใหม่ ผลคือทุกกลุ่มเข้าใจดีครับ สังเกตจากไม่มีกลุ่มใดระบุตัวแปรผิดอีกเลย จึงนัดแนะให้เตรียมอุปกรณ์และสัตว์มาทดลองในชั่วโมงถัดไป

กลุ่มนี้สงสัยว่าจิงโจ้น้ำซึ่งเคลื่อนที่อย่างคล่องแคล่วบนผิวน้ำนั้น ถ้าเปลี่ยนเป็นน้ำเฮลท์บลูบอย การเคลื่อนที่จะเปลี่ยนไปอย่างไร ผลปรากฏว่าจิงโจ้แทบจะไม่เคลื่อนที่เลย อาจเพราะความหนืดจนขยับแข้งขยับขาไม่ได้เหมือนปกติ นอกจากนั้นยังพบว่าจิงโจ้จะยกลำตัวไม่ให้สัมผัสกับผิวน้ำเฮลท์บลูบอยด้วย ทั้งๆที่ถ้าเป็นน้ำธรรมดาลำตัวจิงโจ้จะแนบชิด

อีกกลุ่มทดสอบการตอบสนองของเขียด เมื่อถูกฉายด้วยแสงไฟสีสันต่างๆ พบว่าแสงบางสีกระตุ้นให้เขียดบางตัวตอบสนองด้วยการกระโดด แต่บางสีจะไม่มีผลใดๆ

กลุ่มนี้จับไส้เดือนดินมาปล่อยบนผิวดิน แล้วใช้ไฟฉายส่องจับเวลาที่ไส้เดือนดินจะมุดหลบไปอยู่ใต้ผิวดิน เปรียบเทียบกับไม่ใช้ไฟ ผลที่ได้คือ การใช่ไฟฉายส่องทำให้ไส้เดือนดินมุดลงไปใต้ผิวดินเร็วขึ้นกว่าไม่ใช้

กลุ่มนี้จับมดมาขังในกล่องพลาสติกใสซึ่งมองเห็นภายใน แล้วนำน้ำหวานกับน้ำเฮลท์บลูบอยใส่ภาชนะตั้งไว้ให้มดกิน สังเกตเปรียบเทียบว่ามดชอบกินน้ำชนิดใดมากกว่า ทั้งนี้เพราะนักเรียนคิดว่าสีและกลิ่นน้ำเฮลท์บลูบอยจะกระตุ้นหรือดึงดูดมดมากกว่าน้ำหวานธรรมดา แต่ผลกลับเป็นว่า มดกินทั้งน้ำเฮลท์บลูบอยและน้ำหวานด้วยจำนวนหรือร้อยละเท่าๆกัน แสดงว่าสีและกลิ่นไม่มีผลกระตุ้นแต่อย่างใด

อีกกลุ่มนำหอยเชอรี่มาทดสอบ เนื่องจากมีความรู้มาก่อนว่าหอยจะหยุดนิ่งหรือหยุดเคลื่อนที่เมื่อถูกสัมผัส พร้อมกับรีบซ่อนตัวในเปลือก แต่พอทิ้งไว้สักครู่หอยจะออกจากเปลือกแล้วเริ่มเคลื่อนใหม่ นักเรียนจดบันทึกระยะเวลาตั้งแต่หอยหยุดจนกระทั่งเริ่มเคลื่อนใหม่ ในที่สุดพบว่า เมื่อทำเช่นนี้ซ้ำๆ ระยะเวลาที่หอยเริ่มเคลื่อนอีกครั้งจะลดลงๆ นักเรียนบอกน่าจะเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้แบบแฮบิชูเอชัน(Habituation) หรือความเคยชิน

กลุ่มนี้ทดลองสองอย่างเลย อย่างแรกสังเกตพฤติกรรมการกินลูกน้ำของปลาหางนกยูง อีกอย่างสังเกตพฤติกรรมลูกเจี๊ยบเมื่อถูกขังไว้ในกล่องทึบ นักเรียนบอกลูกเจี๊ยบจะร้องดังและถี่ขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ผ่านไป

หลังจากนั้นแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมาเล่าผลการศึกษาให้เพื่อนๆทั้งชั้นฟัง ผมกำหนดว่าประเด็นที่นำเสนอควรประกอบด้วย ทำไมถึงทำเรื่องนี้ มีวิธีทำอย่างไร ผลที่ได้รับ รูปแบบพฤติกรรมสัตว์ที่ศึกษา และได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง เป็นต้น

รู้สึกชื่นใจกับการนำเสนอของแต่ละกลุ่มเป็นพิเศษครับ เพราะตัวแทนที่ออกมาเล่าหน้าชั้นเรียนนั้น ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม อันที่จริงให้นักเรียนออกมานำเสนอออกจะบ่อย แต่ไม่เคยมีครั้งใดรู้สึกพอใจอย่างวันนี้เลย รู้มั้ย? ตอนครูเป็นนักเรียน ครูไม่เคยออกไปเล่าอะไรที่หน้าชั้นได้ดีเท่าพวกเราวันนี้เลย ผมชื่นชมนักเรียนอย่างตรงไปตรงมา

ทุกครั้งที่นักเรียนนำเสนอในลักษณะนี้ จะรู้สึกเองว่า นักเรียนท่องมาพูด พูดตามเอกสารหรือตำรา ซ้ำร้ายกว่านั้นก็อ่านเอาเลย แต่วันนี้ไม่ใช่ นักเรียนพูดจากใจ พูดตามความเข้าใจอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่เตรียมแล้วที่แต่ละกลุ่มต้องคิด วางแผน และดำเนินการเองทั้งหมด ทำให้ทุกกลุ่มกระจ่างในเรื่องที่ทำ การนำเสนอจึงราบรื่นมาก อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

ปกติกระมัง ถ้าเห็นนักเรียนตั้งใจหรือเอาใจใส่ต่อการเรียนดีอย่างนี้ ครูจะรู้สึกดี หรืออิ่มเอมใจ

มิใช่แค่นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข ครูผู้สอนก็สอนอย่างมีความสุขครับ

หมายเลขบันทึก: 452396เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2021 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • ทั้งเด็กทั้งครูทั้งคนอ่านต่างมีความสุข
  • ขอบพระคุณค่ะ

อยากให้เป็นแบบนี้จังเลยครับ

*** ห้องเรียนคุณภาพ...แม้จะใช้ขั้นตอนและใช้เวลาในการเรียนแต่ก็คุ้มค่ากับการปลูกฝังนิสัยช่างสังเกตและมีเหตุผล...เด็กๆจะจำได้ดีและเป็นความรู้ที่คงทน

*** ตอนเรียนชีวะ ม.ปลาย...อาจารย์สั่งให้วัดอัตราการหายใจของลูกไก่...พี่เป็นคนเตรียมไก่ไปจากบ้าน...ไก่ดิ้นหลุดออกไปวิ่งใต้เบาะรถเมล์กว่าจะจับได้...เหงื่อซึม...(เขินหนุ่มๆเทคนิคที่แซวไล่หลังมาว่าโง่กว่าไก่...จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน)...LAB...ชีวะเพลิดเพลินและจำได้ไม่รู้ลืม

*** ต้องแวะมาเรียนทุกบันทึก....ขอบคุณ อ.ธนิตย์

สวัสดีค่ะ

อยากให้ดอกไม้อีกร้อยๆครั้งค่ะ

เป็นการเรียนรู้ที่มีความสุข และได้ความรู้จริงๆเลย

อาจารย์คะ ทำไมอาจารย์ทำได้ดูไม่ยาก

ในขณะที่อีหลายคนไม่ได้ทำ

ลำดวนอ่านแล้วพบว่า....

คุณครู ได้ความรู้ไปพร้อมเด็กด้วยแน่ๆถ้าสอนอย่างนี้

อยากเชิญอาจารย์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูสุพรรณ๒ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

...นักเรียนพูดจากใจ พูดตามความเข้าใจอย่างแท้จริง...

ประโยคนี้ทำให้เห็นบรรยากาศการเรียนรู้ "ที่แท้จริง"  เพราะบอกเราว่า  เด็กๆ เรียนอย่างเข้าใจ  อธิบายได้ด้วยภาษา และ วิธีของตัวเอง

ทดลองง่ายๆ แต่ได้เรียนรู้ทั้ง "วิธีเรียน" และได้ข้อสรุป "ความรู้ใหม่" ด้วยตัวเอง เยี่ยมค่ะ

คนวงนอกอย่างพี่ชื่นชม "ครู" อย่างครูธนิตย์มากจริงๆ อยากเห็นเด็กๆ ได้เรียนในชั้นเรียนแบบนี้กันทุกคน  เพื่อให้พวกเขาได้ลิ้มรสความสุขจากการเรียน  ครูก็จะได้ลิ้มรสความสุขจากการสอน  เพราะมันจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ

ดีใจที่นี้ได้อ่านบันทึกนี้ก่อนไปทำงาน

การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม หรือการปฏิบัติจริง ย่อมช่วยให้นักเรียน "พูดจากใจ..พูดจากความเข้าใจ"

ชื่นชมและให้กำลังใจเหมือนวันผ่านมา ครับ

เยี่ยมมาก เลย อ. ธนิต แต่ว่า ดิฉันมีปัญหา เอารูปลง ไม่ได้ ทำอย่างไรค่ะ เก็บเป็นอย่างไรค่ะ หน้าใหม่มากค่ะ กำลังเรียนรู้

สวัสดีค่ะ น้องธนิตย์

พี่อ้อย รู้มานานแล้วว่า  เรียนรู้อย่างมีความสุข ที่ห้องเรียนของนักเรียน ที่มีครูชื่อธนิตย์

ที่ให้นักเรียนเรียนจากความต้องการ สนใจ และใส่ใจ

อย่าลืมต่อยอดไปจนถึง  Information,Media&Technology Skills นะคะ

ขอบคุณทุกสิ่ง ที่น้องได้ให้  กับทุกคนและครูอ้อยด้วยค่ะ

หวังว่าเราจะได้พบกันอีก ในเวทีต่อไปนะคะ

 

ครู คือ ผู้สร้างโลก ด้วยการสร้างศิษย์..

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้คุณครูนะครับ

สวัสดีครับ แวะมาชื่นชม ครูกับลูกศิษย์ ด้วยคนครับ...

อ่านบันทึกแล้วให้มองเห็นภาพเลยครับ สมแล้วครับที่ครูจะมีความสุข

เพราะขนาดผมเป็นคนอ่านยังอดมีความสุขตามไปด้วยไม่ได้...(จริงๆ นะครับ)

สวัสดีค่ะ

แวะมาชมภาพกิจกรรมดีๆ

พร้อมกับมารับความสุขจากบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ^^

สวัสดีค่ะ

Ico64

 สอนอย่างมีความสุข 'มิใช่แค่นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข ครูผู้สอนก็สอนอย่างมีความสุข

ด้วย' อ่านแล้วมีความสุข ขอชื่นชมค่ะ

ขอขื่นชมคุณครูด้วยคนค่ะ

ปกติกระมัง ถ้าเห็นนักเรียนตั้งใจหรือเอาใจใส่ต่อการเรียนดีอย่างนี้ ครูจะรู้สึกดี หรืออิ่มเอมใจ

มิใช่แค่นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข ครูผู้สอนก็สอนอย่างมีความสุขครับ


ชอบวิธีการสอนของครูค่ะ

ชอบวิธีสอนแบบนี้ของครูครับ....เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท