เรื่องราวอันทรงพลังของ "หมอนิล" ที่เล่าโดย "หนุ่มเมืองจันท์" สร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่ง


ถ้าเรารู้ว่าเราจะตายอย่างไร ... เราจะรู้ว่าเราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร

บทความหนึ่งในหนังสือ "คำถามสำคัญกว่าคำตอบ" ของ "หนุ่มเมืองจันท์" อ่านแล้วประทับใจและเกิดพลังแห่งแรงบันดาลใจมาก โดยปกติ อ่านหนังสือของ "หนุ่มเมืองจันท์" ชอบในความช่างคิด คำคม หรือความอารมณ์ดีที่ดูต่อเนื่อง ฮาเฮ เป็นหลัก

แต่บทความนี้เป็นบทเรียนที่เป็นความรู้สึกใหม่ คือ "พลัง"

บทความนี้มี "พลัง" กระตุ้นต่อมที่อยู่ข้างในได้เป็นอย่างดี

"หมอนิล" คือ คนที่ "หนุ่มเมืองจันท์" เขียนถึงไว้ในบทความบทนี้

ผมเคยดูรายการที่ไปเจาะชีวิตส่วนตัวของหมอนิลที่ Thai PBS ครั้งหนึ่ง แต่นี่ก็นานแล้ว จนกระทั่งได้มาอ่านบทความของหนุ่มเมืองจันท์บทนี้

ผมชอบในวิธีคิดและมุมมองนอกกรอบของ "หมอนิล"

ผมชวนอ่านแล้วกันนะ ;)...

"หนุ่มเมืองจันท์" เขาเล่าไว้แบบนี้ครับ ...

 

 

หมอนิล

 

 

อยากเห็น "เรือนพักผู้ป่วยหลังใหม่" ของ "โรงพยาบาลเกาะยาว" จังเลย !!!

เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นของผมอ่านบทสัมภาษณ์ "หมอนิล" มารุต เหล็กเพชร ในนิตยสาร "ขวัญเรือน" จบลง

 

 

จากนั้นก็เริ่มค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของ "หมอนิล" คนนี้จาก "เจ้าพ่อกูเกิล"

โหย...ยิ่งอ่านยิ่งชอบ

"โรงพยาบาลที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่จะอบอุ่นที่สุดในโลก"

นี่คือ คำจำกัดความของโรงพยาบาลเกาะยาวที่ตั้งอยู่ในเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา

ตามปกติโรงพยาบาลขนาดเล็กที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข คือ โรงพยาบาลขนาด ๑๐ เตียง

แต่โรงพยาบาลเกาะยาว ตอนนี้มีแค่ ๕ เตียง

 

เขามีแผนจะสร้าง "เรือนพักผู้ป่วย" แห่งใหม่ ด้วยแนวคิดใหม่

"หมอนิล" บอกว่าการออกแบบโรงพยาบาลแบบเดิม ไม่ช่วยให้กระบวนการเยียวยาเกิดขึ้นได้ เพราะรักษาแต่ "ไข้" ไม่ได้รักษา "คน"

"วิถีแบบเอเชีย คือ เรามีญาติจำนวนมากที่มาเฝ้าไข้ เราจึงเห็นญาติคนไข้ผลัดเปลี่ยนมานอนเฝ้าอยู่ใต้เตียงโรงพยาบาล"

นอกจากนั้นพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายควรเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล ตั้งแต่การรับขวัญเด็กเกิดใหม่จนถึงการตายอย่างสงบและมีญาติพร้อมหน้าพร้อมตา

"แต่เราไม่เคยออกแบบพื้นที่ไว้รองรับ"

"เรือนพักผู้ป่วยแห่งใหม่" จึงเริ่ม "คิดใหม่" ตั้งแต่ "เตียงคนไข้"

ทำไมต้องเป็นเตียงที่มีราวเหล็กกั้น

"หมอนิล" เคยมีประสบการณ์ตรงในการยืนตรวจคนไข้บนเตียงที่โรงพยาบาล กับการนั่งตรวจไข้ที่นอนอยู่บนฟากที่บ้าน

แค่ "การยืน" กับ "การนั่ง" ความรู้สึกก็แตกต่างกันแล้ว

ส่วนในเรือนพักก็จะมีพื้นที่ให้ญาตินอนพักได้

มีสวนสมุนไพร มีสวนครัว และมี "ห้องครัว" ให้ญาติทำอาหารกิจกันได้

อาจจะมีห้องสวดมนต์ หรือ ห้องละหมาด ถ้าชาวบ้านต้องการ

เมื่อญาติมาเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ทุกคนควรได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า อ้วนเกินไปหรือเปล่า

หรืออยู่ว่าง ๆ ก็ลองห้องอบสมุนไพร ช่วยกันก่อฟืน

 

ที่โรงพยาบาลจะมี "แฟ้มครอบครัว" จะบันทึกข้อมูลสุขภาพของทุกครอบครัว

"เราดูได้ว่าภรรยาของเขาเพิ่งคลอดลูก แม่เขาเป็นเบาหวานเดือนที่แล้วยังไม่ได้มารับยา ลูกคนโตยังไม่ได้มาฉีดวัคซีน บรรยากาศของการรักษาจะเต็มไปด้วยการพูดคุย ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพซึ่งกันและกัน"

ไม่แปลกที่ "หมอนิล" จะบอกว่า โรงพยาบาลแห่งนี้เป็น "โรงพยาบาลที่เล็กที่สุดในประเทศไทย"

แต่จะ "อบอุ่นที่สุดในโลก"

 

ทั้งหมดไม่ใช่ "ภาพฝัน" ที่นั่งคิดและจินตนาการเอา

แต่เป็น "เป้าหมาย" ที่อยู่บน "ขั้นบันได" แห่งความเป็นจริง

"หมอนิล" เป็นคนหนุ่มอายุเพียง ๓๒ ปี

เขาตัดสินใจมาประจำที่โรงพยาบาลแห่งนี้ทั้งที่ตอนนั้นเป็นเพียง "สถานีอนามัย"

ทำงานที่นี่มา ๘ ปีแล้ว

เขาทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด เดินเยี่ยมผู้ป่วยตามชุมชน ทำให้ "หมอนิล" รู้จักคนไข้แทบทุกคน

"การสร้างสุขภาพที่ดีที่เกาะยาว ผมไม่ได้คิดถึงเข็มฉีดยา แต่ผมคิดถึงสังคมที่เป็นสุข และผมสร้างสังคมที่เป็นสุขด้วยตัวผมเองคนเดียวไม่ได้"

"โรงพยาบาล" กับ "ชุมชน" จึงต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

ชาวบ้านที่เกาะยาวเป็นคนเดินมาบอก "หมอนิล" เองว่า เขาอยากสร้างโรงพยาบาลของเขาเอง

ทุกปีจะมีการหาจัดงานการกุศลเพื่อหาทุนปรับปรุงโรงพยาบาล

ค่อย ๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย

จนวันนี้ "หมอนิล" และชาวบ้านเริ่มคิดการใหญ่

ชุมชนเกาะยาวใหญ่ร่วมกับสถาปนิกกลุ่ม CROSSs ทีมสถาปนิกอาสาที่นำโดย "ชวณัฐ ล้วนเส็ง" และเพื่อน ๆ G4 Architect ออกแบบ "เรือนพักผู้ป่วย" แห่งใหม่

"เรือนพักผู้ป่วย" ที่ผมอยากเห็นมาก !!!

ใช้งบประมาณ ๑๔ ล้านบาท

อ่านรายละเอียดโครงการน่ารักโครงการนี้ได้ที่ http://kohyaoproject.wordpress.com

  

"หมอนิล" บอกว่าสิ่งที่หมอทุกคนควรระวังคือ "ความเคยชิน"

"หมอมักจะชินกับสิ่งที่ต้องทำซ้ำ ๆ กัน และตอบสนองด้วยความเคยชิน ทำมันจนกลายเป็นทักษะและแบบแผนตายตัว"

"อย่าลืมว่าแม้จะเป็นโรคเดียวกันก็จริง แต่คนไข้เป็นคนละคน อย่าลืมว่าความตายก็เหมือนกัน แต่คนตายเป็นคนละคนกัน พอถึงจุดหนึ่งหัวใจเราจะด้านชา มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวของคนไข้แต่ละคน"

  

"หมอนิล" เป็นคนคิดนอกกรอบ

เมื่อเขาพบว่าที่เกาะแห่งนี้มีคนจำนวนมากเป็นอัมพฤกษ์และอัมพาตที่ต้องการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง

"หมอนิล" แก้ปัญหาด้วยการส่ง "หมอนวดพื้นบ้าน" ไปฝึกเพิ่มเติมกับ "นักกายภาพบำบัด"

"เราเรียกพี่คนนี้ว่า นักกายภาพบำบัดชุมชน"

ครับ แผนกกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ "โรงพยาบาล"

แต่อยู่ที่บ้านทุกหลังที่มีคนไข้

 

"หมอนิล" ใช้ชีวิต ๕ วันกับอาชีพ "หมอ" ที่ "เกาะยาวใหญ่"

และใช้ชีวิตในวันหยุดที่ "ภูเก็ต" กับร้านหนัง (สือ) ๒๕๒๑ ของเขา

"หมอนิล" เป็นนักอ่าน เป็นนักเขียนมือรางวัลเจ้าของนามปากกาว่า "นฆ ปักษนาวิน"

ทำหนังสั้น ชอบงานศิลปะ

 

 

เขาบอกว่า อาชีพหมอทำให้เขาเห็น "คนตาย" เยอะ

"ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตของเราไม่ได้ยาวอย่างที่เราคิด ถ้าเราอยากทำอะไรก็ให้รีบทำเลย ให้รีบหาความสุขให้เจอว่าคืออะไร"

และ "ความสุข" ที่ตัวเขาค้นเจอก็คือ การได้ทำงานโรงพยาบาลที่เริ่มต้นจาก ๐ เห็นโรงพยาบาลเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และยังได้ทำงานด้านการเรียน ทำงานศิลปะที่เขารัก

 

"ผมไม่ได้ทำเพื่อคนอื่น ส่วนหนึ่งที่ผมทำเพราะอยากจะมีวิถีชีวิตแบบนี้ ทำเพื่อความสุขของตัวเอง"

"สิ่งที่ผมทำไม่ได้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ใครอยากทำก็ลองดู อย่าไปสร้างภาพว่าเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่"

 

ตอนอายุ ๒๐ ปี "หมอนิล" บอกว่า เขาเคยคิดว่าจะต้องสร้างอะไรไว้ให้กับโลก

"พออายุถึงตอนนี้ผมกลับไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว สิ่งยิ่งใหญ่สำหรับมนุษย์คือสิ่งที่เล็กน้อยที่สุด...

...คือ การมองหน้าตัวเองในกระจกแล้วไม่อายเด็กอายุ ๒๐ คนนั้น"

เขาย้ำอีกครั้งว่า "ผมโชคดีที่มีโอกาสเห็นความตายมากกว่าคนปกติ"

...ถ้าเรารู้ว่าเราจะตายอย่างไร

เราจะรู้ว่าเราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร

 

........................................................................................................................................

 

ผมอ่านบทความบทนี้จบ

ผมรู้สึกหัวใจเต้นแรง อยากนำเสนอบทความดี ๆ บทนี้ทันที

ผมมีพลังมากมายเกิดขึ้น

ผมรู้แล้วว่า การทำความดีมีคุณค่ามากมายแค่ไหน

เราไม่จำเป็นต้องทะเยอทะยานอยากเป็นคนมีชื่อเสียง

เป็นคนใหญ่โต เป็นคนที่ใคร ๆ อยากรู้จัก

เพียงแค่ (แอบ) ทำความดีเล็ก ๆ ไว้โดยไม่ต้องบอกใคร

แค่นี้ก็มีความภาคภูมิใจและคุณค่าในตัวเองมากมายมหาศาลแล้ว

โดยไม่ต้องการฟังคำเยินยอจากใคร

 

ท่านคิดอย่างไร เหมือนผมไหม แลกเปลี่ยนกันครับ

ขอให้ทุกท่านช่วยกันความดีนะครับ

สังคมของเรา ประเทศของเราจะน่าอยู่มากขึ้นอีกเยอะเลย

 

บุญรักษา คนดีทุกท่านครับ ;)... 

 

........................................................................................................................................

 

ขอบคุณงานเขียนดี ๆ จาก ...

 

หนุ่มเมืองจันท์ (นามแฝง).  คำถามสำคัญกว่าคำตอบ.  พิมพ์ครั้งที่ ๒.  กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๓.

 

 

หมายเลขบันทึก: 448784เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2011 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีค่ะอาจารย์ มาติดตามอ่านบันทึกมากมายที่ตามไม่ทัน เพราะไม่ได้เข้ามาบ่อยๆ ยังคงมีสาระน่ารู้และน่าสนใจเหมือนเดิม อยากให้มีคนแบบหมอนิลมากๆ สังคมของเรา ประเทศของเราจะน่าอยู่มากขึ้นอีกเยอะเลย...ชอบค่ะ

สวัสดีครับ คุณครู Rinda ;)...

ไม่ได้พบกันนานนะครับ สงสัยว่า คุณครู Rinda อาจจะไปอยู่แถว ๆ facebook หรือเปล่าครับ ... ผมไม่ได้เข้าหลายเดือนแล้วครับ แต่อยู่ที่ gotoknow นี่บ่อยกว่า อีกทั้งยังต้องตรวจงานนักศึกษาฝึกสอนอีกด้วยครับ

บทความนี้มี "พลังแห่งความดี" ครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

  • เพียงอ่านสาระสำคัญที่ท่านอาจารย์ถอดความหมายมาก็มีพลังและกำลังใจในการดำเนินชีวิตอยู่แล้วค่ะ
  • คนที่เคยสัมผัสหรือใกล้ชิดความตายบ่อย ๆ หรือไม่บ่อยแค่เป็นคนสำคัญที่สุดสำหรับเขา จะเข้าใจดีว่าความตายใกล้ตัวมาก และดำเนินชีวิตด้วยการทำความดีในแบบที่ตนให้คุณค่า วิธีการทำดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
  • รู้สึก "ศรัทธา" ท่านผู้กล้า และผู้ทำความดีทุกท่านค่ะ 

เป็นบทความที่ดีมากเลยครับ

อาจารย์เทวดา 

...ถ้าเรารู้ว่าเราจะตายอย่างไร

เราจะรู้ว่าเราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร

ขอบคุณบันทึกดีๆ นี้ค่ะ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya ;)...

เมื่อคนเราใกล้ชิด "ความตาย" แต่ไม่ต้องถึง "ความตาย" ก็คือ "ความทุกข์"

"ความทุกข์" ทำให้คนเราเริ่มตระหนักถึงสิ่งที่เป็น "สัจธรรม" หรือ "ความจริง"

ว่า คนเราต้องเกิดมา ต้องการอะไรกันแน่ "ความสุข" หรือ "ความทุกข์"

"การทำความดี" อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกต้อง ที่ทำให้เรามีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

พร้อม ๆ กันนั้น "ความสุข" ที่เป็นพลังบวก เป็นความอิ่มเอิมใจจะเกิดขึ้น

ขอบคุณมากครับ ;)...

ขอบคุณ นางฟ้า ชาดา ที่แวะมาให้กำลังใจกันเสมอนะครับ ;)...

  • ข้อความ..."หมอนิล" บอกว่าการออกแบบโรงพยาบาลแบบเดิม ไม่ช่วยให้กระบวนการเยียวยาเกิดขึ้นได้ เพราะรักษาแต่ "ไข้" ไม่ได้รักษา "คน"...ทำให้นึกถึงคำพูดของ นพ.ประเวศ วะสี ที่พูดว่า "ที่หมอรักษาคนไข้ไม่หาย เป็นเพราะหมอรู้จักแต่ "โรค" แต่ไม่รู้จัก "คน" และก็นำไปพูดกับนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (5 ปี) ว่า...   "ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ครูสอนนักเรียนไม่ได้ผล เพราะครูรู้แต่ "หลักสูตร" แต่ไม่รู้จัก "ผู้เรียน" 
  • และที่หมอนิลบอกว่า "ผมไม่ได้ทำเพื่อคนอื่น ส่วนหนึ่งที่ผมทำเพราะอยากจะมีวิถีชีวิตแบบนี้ ทำเพื่อความสุขของตัวเอง" ก็ทำให้นึกถึงคำพูดของประธาธิบดี USA ท่านหนึ่งที่จอดรถไปช่วยหมูที่ติดอยู่กับเล้า ว่า "ผมไม่ได้ทำเพราะสงสารหมู แต่ทำเพื่อตัวเอง ถ้าไม่ทำคืนนี้ผมจะนอนไม่หลับเพราะนึกเห็นแต่ภาพหมูร้องครวญคราง"
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกที่มีคุณค่านี้ค่ะ

ความคิดเห็นของท่านอาจารย์ ผศ. วิไล แพงศรี มีคุณค่ามากครับ

ได้มองเห็นแนวความคิด ได้มองเห็นโลกที่สวยงาม ได้มองวิธีคิดของคนดี

ขอบคุณครับ ;)...

พี่เห็นด้วยว่าเรื่องเล่ามีชีวิตแบบนี้ให้ข้อคิดมากมาย เป็นทั้งตัวอย่างและแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยม โดยเราไม่ต้องพูดอะไรมาก

พี่ยังได้ชมคลิปการมอบรางวัลคนเล็กเคลื่อนโลก และได้ชมคลิปที่คุณศิลาใช้เปิดตอนทำอบรมที่ชะอำ การเสวนาคนเล็กเคลื่อนโลกที่สวนโมกข์ กรุงเทพ ผู้เข้าร่วมอบรมท่านหนึ่งได้ชมและสะท้อนตนเองผ่านกิจกรรมการเล่า "ความภูมิใจของฉัน" ว่า ทำให้มองเห็นตัวเองว่าหากไม่ได้ระวัง มีความละเอียดมากขึ้นการดำเนินชีวิต ก็จะเห็นแต่ความภูมิใจที่ตัวเองทำเพื่อตัวเอง เช่นความสำเร็จต่างๆ แต่เมื่อชมคลิปวิดีโอนี้ทำให้ได้คิดว่า ตัวเองจะต้องทำอะไรๆโดยนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น

ผมเห็น อาจารย์นพลักษณ์ ๙ เล่าให้ฟังอยู่ว่า ได้นำ "ฅนเล็กเคลื่อนโลก" ที่ผมนำเสนอไว้ไปลองใช้และได้กระตุกฉุกคิดของคนหลาย ๆ คนให้ได้มีโอกาสมองตัวเองกว่าที่ตนเองจะเคยนึกถึงได้

จริง ๆ ก็เห็นพี่นุชอยู่ในงานนั้นด้วย ก็อยากทราบความรู้สึกของพี่นุชอยู่พอดีเลย

ขอบคุณครับ พี่นุช คุณนายดอกเตอร์ ;)...

อาจารย์ค่ะ

หนูรู้สึกถึงพลังเหล่านั้นเช่นกันค่ะ หนูเองเคยมีโอกาสไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนชาวเกาะยาวน้อย จ.พังงา (มีเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่) วิถีชีวิตของผู้คนชาวเกาะยาวเป็นไปโดยเรียบง่าย แต่ความเรียบง่ายนั้นมีสเน่ห์ที่ชวนให้ค้นหาอย่างยิ่งค่ะ ความมีน้ำใจ ไมตรี เป็นพื้นฐานของคนทุกคนที่นั่นค่ะ

อ่านแล้วชื่นชมในความคิดและสิ่งที่หมอนิลกระทำ สิ่งที่ทำออกมาจากหัวใจและทำให้ผู้อื่นมีความสุขจะเกิดพลังที่ยิ่งใหญ่เสมอคะ บันทึกนี้ของอาจารย์ได้ช่วยกระตุ้นพลัง และก่อเกิดแรงใจให้หนูอีกเช่นเคยคะ ขอบคุณนะค่ะอาจารย์ ^^

ขอบคุณมากเลย น้อง อาร์ม ที่หนูได้เล่าเรื่องแลกเปลี่ยนในวิถีชีวิตของคนที่สวยงาม อันเป็นหลักฐานและพยานที่แท้จริง ทำให้บันทึกนี้สมบูรณ์มากขึ้น

ขอ "พลังแห่งความดี" จงอยู่ในตัวหนูตลอดไปครับ ;)...

มีความสุขกับงานที่ทำ ความสุขจากตัวเราก็จะ "ล้น" ไปเผื่อแผ่คนรอบข้าง

ขอบคุณบทความดีดีคะอาจารย์

--- ^.^ ---

น้อง พิมพ์ดีด ... หนูสบายดีหรือเปล่าครับ

เราไม่ได้พบและคุยกันนานนะ

นานมากเสียด้วย ;)...

สบายดีคะอาจารย์ และหวังว่าอาจารย์สบายดีเช่นกันนะคะ

หายหน้าหายตาไปนานมากคะ

มัวแต่มีความสุขกับงาน

ให้เวลากับงานมากกว่าให้เวลากับตัวเองไปเสียนาน

เลยห่างหายไปนานเลยคะ

มีความสุขกับทุกวันนะคะ

ขอบคุณมากคะ

---^.^---

ยินดีด้วยครับ น้อง พิมพ์ดีด ;)...

น่าจะสัก 3 ปีได้แล้วมั้งครับ

ทำงานอยู่ใกล้ ๆ แถวนี้เนาะ

มีความสุขทุกวันเช่นกันครับ

ขอบคุณครับ ;)...

ความคิดดี ๆ อาจจะไม่มีใครได้รับรู้มากนัก ถ้าปราศจากคนดีๆ ที่ช่วยกันถ่ายทอด

ขอบคุณคนดี ทุกคนค่ะ

ขอบคุณครับที่คุณครู นางสาวรัตน์นรี วโรสุข เข้ามาเยี่ยมอีกครา ;)...

อ่านแล้วเป็นปลื้มกับชาวบ้านเกาะยาวใหญ่ค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่งเจ้า เหมือนคนดีๆ หลายๆ ที่ปิดทองหลังพระ :)  

 ทำความดีเล็ก ๆ ไว้โดยไม่ต้องบอกใคร

แค่นี้ก็มีความภาคภูมิใจและคุณค่าในตัวเองมากมายมหาศาลแล้ว

โดยไม่ต้องการฟังคำเยินยอจากใคร

 

ประเทศไทยมี "คนดี" แบบนี้อยู่มากมายครับ คุณ Poo ;)...

ทั้งเป็น "ต้นแบบ" ทั้งเป็น "แรงบันดาลใจ"

ขอบคุณมากครับ ;)...

มันคือเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตของคนทำงานจริงๆ แต่มันจะเกิดขึ้นได้จริง ในพื้นที่เล็กๆ และอบอุ่น เฉกเช่นคำพูดของหมอนิล หากว่าเมื่อที่นั้นเติบโตมากมาย ความอบอุ่นเหล่านั้นจะมีสิ่งใดมาแทนที่ เราต้องไม่กลัวไปก่อนใช่ไหม ขอให้ความอบอุ่นเหล่านั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและเติมเต็มความเข็มแข็ง ให้กับชุมชนแห่งนั้น และขอให้มีหมอนิล คนใหม่เกิดขึ้นมากมาย

ขอบคุณมากครับ คุณพยาบาล Nursing Administration ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท