สาก แห : การสร้างขวัญกำลังใจของชาวบ้านเพื่อผ่านวิกฤติอันสืบเนื่องมากับการเกิดและพัฒนาการของชีวิต


เมื่อวานได้อ่านบันทึกยายธี กล่าวถึงการอยู่ไฟสมัยก่อนว่า ตัวท่านเคยเห็นคนคลอดลูก นอนอยู่ไฟ แล้วใกล้ๆคนนอนอยู่ไฟนั้นมีสากกะเบือหักวางอยู่ข้างๆกายด้วย คนเฒ่าคนแก่อธิบายว่าเพื่อป้องกันผีมาเอาเด็กไป ท่านบอกว่าตอนนั้นฟังแล้วก็เฉยๆไม่ได้สงสัยอะไร แต่เริ่มมาสงสัยเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ท่านก็เลยมีคำถามฝากผู้อ่านว่าใครมีข้อมูลเรื่องนี้ช่วยนำมาแบ่งปันกันบ้าง ทำนองนั้น

อาตมาไม่เคยได้ยินมาก่อน จึงลองหาข้อมูลแต่หาไม่ได้ พอดีวันนี้(๑๖พ.ค.๒๕๕๔)ตอนสายๆมีเด็ก ม.๔ มาเยี่ยมหลวงตาที่อยู่กุฏิเดียวกัน เด็กคนนี้วาดเขียนได้ จึงขอให้ช่วยวาดภาพคนอยู่ไฟ

ก็บังเอิญอีก ได้คุยกับหลวงตาถามท่านว่าเคยได้ยินเรื่องนี้ไหม ท่านบอกว่าเคยเห็นเคยทำมาแล้ว นอกจากเรื่องสากกะเบือแล้วยังมีเรื่องแหครอบคนอยู่ไฟอีกเรื่องหนึ่งด้วย ข้อมูลที่เด็กได้มาเป็นสำนวนคำพูดของหลวงตาดังนี้

 

อยู่ไฟ : วาดภาพโดย ณรงค์ งามขำ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

"คนอยู่ไฟเหตุที่ใช้แหครอบไว้ ก็เพื่อป้องกันผีที่จะมาเอาเด็กเกิดใหม่ไป เพราะว่าสมัยก่อนนั้น ภูตผีมันเยอะ จึงต้องหาอะไรมาเป็นเครื่องป้องกันไว้ เพราะคนโบราณนั้น ท่านมีคำพูดที่ศักดิ์สิทธิ์ หมายถึงท่านจะนำวัตถุอะไรมาใช้ วัตถุนั้นๆ ก็ถือว่าใช้ได้ เป็นเครื่องป้องกัน และที่ใช้สากกะเบือวางไว้ข้างกายหรือข้างกองไฟ ก็เพราะคนโบราณเชื่อว่าสากกะเบือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ป้องกันสิ่งไม่ดีได้ ใช้ทำพิธีแก้คุณไสยต่างๆได้"

....................................................................................................................................................................

หมายเหตุและเชิงอรรถบันทึก :

๑. บันทึกนี้มาจากการการรวบรวมข้อมูลไว้ในบันทึกเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว ในบล๊อก เวทีคนหนองบัว  http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/295169  บันทึกรวบรวมเพื่อสะสมข้อมูลต่างๆไว้โดย พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) วัดศรีโสภณ ตำบลเสือลากหาง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

๒. ภาพประกอบวาดจากการบอกเล่าและให้ข้อมูล ผู้วาด : นายณรงค์ งามขำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

๓. การเกิดหัวข้อความสนใจ การเก็บข้อมูล การค้นหาแหล่งข้อมูล การวาดรูปนำเสนอประกอบการบันทึก มีความเป็นเครือข่ายเรียนรู้และชุมชนการเรียนรู้ด้วยกันของคนจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย การผุดประเด็นความสนใจจากยายธี สังเกตและรวบรวมข้อมูลโดยท่านพระอาจารย์มหาแล แหล่งข้อมูลจากพระชาวบ้านซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าของชุมชนในชนบท มีเด็กรุ่นหลังร่วมเรียนรู้และแสดงผลข้อมูลด้วยการวาดรูป จากนั้น บันทึกเผยแพร่และถ่ายทอดไว้ในเครือข่ายจัดการความรู้ของระบบ GotoKnow โดยพระอาจารย์มหาแล

หมายเลขบันทึก: 439532เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2011 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ

ได้อ่านบันทึกของคุณยายธีเหมือนกันค่ะ   ทำให้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาเรื่องการอยู่ไฟ หมอตำแย และความเชื่อเรื่องที่คุณยายธีเขียนน่าสนใจมากนะคะ

วัดของพระคุณเจ้า อยู่ห่างจากบ้านพี่คิมประมาณ ๑ กม.กว่า ๆ ค่ะ  อยู่ถนนเดียวกันและฝั่งเดียวกันค่ะ

การที่เด็กรุ่นหลังให้ความสนใจภูมิปัญญาเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรภูมิใจและให้การสนับสนุนนะคะ

  • สวัสดีครับ อาจารย์วิรัตน์
  • มาร่วมเป็นกำลังใจครับผม

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

การอยู่ไฟ และความเชื่อทางภาคใต้ก็คล้ายๆกัน และสิ่งหนึ่งคือไม้ที่ใช้ในการก่อไฟให้กับคนอยู่ไฟ มีไม้บางชนิดที่มีข้อห้ามใช้สำหรับก่อให้หญิงอยู่ไฟ หากเป็นไม้ชายเลน ไม้ตะบูน ยายห้ามใช้

หากเป็นไม้ บกก็จำพวกไม้ที่มีความคันในเนื้อไม้ เช่น ไม้สะทัง ไม้พันตันพวกนี้

เห็นทีจะต้องสอบถามมาเพิ่มเติมในภูมิปัญญาแห่งการอยู่ไฟ...

การทำแห :

แหเป็นเครื่องมือหาปลาที่ทำได้ยากกว่าเครื่องมืออย่างอื่น ในการใช้ก็ต้องการทักษะการทอด รวมทั้งทักษะความรู้เกี่ยวกับปลาและแหล่งที่สามารถทอดแห ภูมิประเทศ ลักษณะลำน้ำ รวมทั้งสามารถอ่านข้อมูลโดยรอบเพื่อคาดประมาณสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็น เช่น ต้องสามารถมีวิธีรู้ได้ว่าแหล่งน้ำสำหรับหาปลาในแหล่งนั้นๆ ลึกเกินไปสำหรับทอดแหแบบเหยียบหรือไม่ น้ำระดับลึกไหลและเป็นอันตรายทั้งต่อแหและตนเองหรือไม่ ลักษณะของแหล่งน้ำและการผุดของปลา จะมีปลาขนาดที่เหมาะสมสำหรับการใช้แหหรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือที่บ่งชี้ความมีฝีมือในการหาปลาและความสามารถเป็นคนทำมาหากินอยู่ในตัว

แหมีลักณะนามว่า 'ปาก' เมื่อได้แหใหม่มาสักปากหนึ่ง ก็จะมีการคิดค้นเทคนิคและวิธีการไปตามความเชื่อของชาวบ้านที่แตกต่างหลากหลายกันไปด้วยเหมือนกัน เช่น

  • นำไปฝังในดินโคลนใต้ท้องน้ำที่ลึกและเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมประมาณ ๖-๗ วัน จากนั้นก็จะนำมาล้าง และสีเชือกที่ใช้ถักสานแหก็จะกลายเป็นสีน้ำตาลทึบ รวมทั้งมีน้ำหนัก เมื่อทอดลงสู่น้ำก็จะมีสีกลืนไปกับน้ำและจมลงอย่างเร็วมากกว่าแหใหม่ๆที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการอย่างนี้
  • ย้อมด้วยมะเกลือและลูกตะโกแช่หมักในน้ำที่ใส่ในภาชนะให้ท่วมปากแห แช่แล้วตาก สลับกันไปมาหลายๆครั้ง ก็จะได้ปากแหสีออกดำ แหที่ทำสีดำ เชื่อว่าจะเหมาะกับแหตาที่มีห่างๆ ซึ่งเป็นแหสำหรับการทอดปลาที่ใหญ่ในน้ำลึก
  • แช่ในเลือดควาย,วัว จากนั้นนำไปตากแล้วนำไปแช่ในโคลนอีก ๖-๗ วัน โดยเชื่อว่าจะทำให้เชือกแหเกาะแน่น มีน้ำหนัก ทำให้ 'หมาน' หรือทำให้มีวิญญาณของการล่า ทำให้ติดปลามาก
  • แหเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่ชาวบ้านจะหวงแหน ให้ความสำคัญ ไม่เดินข้ามและไม่กระทำในลักษณะละทิ้ง ไม่ดูดาย ต้องเก็บรักษาและพิถีพิถันในการดูแลมาก

สวัสดีครับพี่ครูคิมครับ แถววังทองนี่ผมมีญาติพี่น้องผู้หลักผู้ใหญ่รุ่นเก่าก่อนอยู่ด้วยเหมือนกันนะครับ เมื่อก่อนนี้มักได้ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

สวัสดีครับคุณฐานิศวร์ครับ
ขอบคุณอย่างยิ่งที่แวะเวียนเข้ามาทักทายกันครับ
ขอเป็นกำลังใจคุณฐานิศวร์ด้วยเช่นกันครับ

สวัสดีครับวอญ่าครับ
แถวทางใต้นี่ภูมิปัญญาชาวบ้านหลากหลายและเยอะมากเลยนะครับ
เมื่อตอนได้คุยกับวอญ่าที่ไปนั่งถอดบทเรียนกันที่บ้านอาจารย์หมอเต็มศักดิ์ เล่าให้ฟังเรื่องความเชื่อในการทำเครื่องรางของขลังและเครื่องมือลงอาคมกันคนขโมยผลไม้ในสวนของคนรุ่นเก่าๆผสมผสานกันแบบไทยปนมุสลิมแล้วสนุกมากเลยละครับ มันงดงามและสะท้อนความเป็นชีวิตที่ต้องเรียนรู้และเผชิญการเปลี่ยนแปลงไปตามกำลังตนเองของมนุษย์ดีครับ

เคยเห็นการย้อมแหด้วยลูกมะเกลือสีดำใช่ไหมครับ แต่ผมมีคำถาม เคยได้ยินว่าใช้สาก และแหกันปอบ แต่สงสัยว่าทำไมต้องใช้สากหัก ครับ...

ÄÄ....สวัสดีค่ะ..คุณวิรัตน์ คำศรีจันทร์...ยายธีสนใจเรื่องของ..ไม้ที่ทำฟืนในการอยู่ไฟ..ที่ท่าน..วอญ่า..เขียนเล่า...กับ..ความเป็นมาของ..คำว่า..อยู่ไฟ..(ได้ยินมาว่า..เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพมดลูก..สมัยนั้น..ที่ยังไม่มีวิธีการสมัยใหม่...สาก(หัก)คงจะหาง่ายกว่าฟืนทั่วๆไป..อาจจะใช้เป็นฟืนไปด้วยในตัว..."แอบคิดเอาเอง..อิอิ"...ที่อยากรู้มากๆเวลานี้...เด็กสมัยนี้..เข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างไร..เป็นต้นว่าความเชื่อถือ...(ไสยศารต...และความโบราณ..ของความรู้..) เป็นต้น.

ใช้แหดักนี่พอจะเคยได้ยินเหมือนกันครับอาจารย์ขจิตครับ ยิ่งแถวบ้านผมนี่ เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีกระสือ ปอบ ผีกองกอย และสารพัดผีนี่ เยอะจริงๆครับ เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านเชื่ออย่างจริงๆจังเสียด้วย แต่ทำไมต้องใช้สากหักนี่จำไม่ได้เลยว่าเคยได้ยินไหม แต่รวมๆแล้วก็ไม่รู้เลยละครับ ทั้งของอาจารย์กับของยายธีเลยครับ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท