ที่นี่...ไม่ใช่แค่ "ตีกลอง ร้องเต้น"


ไม่ใช่แค่กิจกรรม "ตีกลองร้องเต้น" หรือแม้แต่ "อบรมเรื่องค่านิยมทางสถาบันและสังคม" เท่านั้น หากแต่ปีนี้เราชัดเจนร่วมกันแล้วว่าจะปักธงไปยังการสร้างเวทีให้นิสิตใหม่ได้เรียนรู้ความเป็น "สังคมไทยผ่านความเป็นท้องถิ่นอีสาน"

วันนี้เป็นวันที่คณะกรรมการประชุมเชียร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งประกอบด้วยองค์การนิสิต ชมรมรุ่นสัมพันธ์ และสโมสรนิสิต 18 คณะ จะต้องนำเสนอรูปแบบกิจกรรมของการประชุมเชียร์ ปีการศึกษา 2554

กิจกรรมประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาร่วม "สี่ทศวรรษ"  และที่สำคัญคือที่นี่จะเป็นกิจกรรม "ประชุมเชียร์กลาง" (คลาสกลาง)  อันหมายถึงการนำนิสิตชั้นปีที่ 1 มาร่วมร้องเพลงเชียร์และเรียนรู้ชีวิตร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกคณะ เช่นเดียวกับ "สต๊าฟ" ก็มาจากทุกคณะ โดยแต่ละปีใช้คณะทำงานไม่น้อยกว่า 1,000 คน

ที่นี่จัดกิจกรรมแบบบูรณาการเสมอมา  ไม่ใช่แค่เรื่อง "เพลงสถาบัน"  และไม่ใช่แค่กิจกรรม "ตีกลองร้องเต้น" หรือแม้แต่ "อบรมเรื่องค่านิยมทางสถาบันและสังคม" เท่านั้น  หากแต่ปีนี้เราชัดเจนร่วมกันแล้วว่าจะปักธงไปยังการสร้างเวทีให้นิสิตใหม่ได้เรียนรู้ความเป็น "สังคมไทยผ่านความเป็นท้องถิ่นอีสาน" 

 

 

เหตุที่เกริ่นกล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า  ในปีนี้เรื่องราวประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากทุกจังหวัดจะถูกนำมาผสมผสานเป็นการเรียนรู้ในกิจกรรมประชุมเชียร์อย่างเข้มข้น  นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งพี่สต๊าฟและน้องใหม่ จะต้องรู้เรื่องราวความเป็น "ชาติผ่านท้องถิ่นอีสาน" อย่างมากมาย หรือลึกซึ้งที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถัดจากนั้น  กิจกรรมก็จะยึดโยงให้น้องใหม่เดินทางไปสู่คณะต้นสังกัดและเรียนรู้กิจกรรมสังกัดคณะร่วมกัน  เสร็จจากนั้นก็จะนำพานิสิตลงสู่ชุมชน  ด้วยการให้นิสิตใหม่กับรุ่นพี่ทำกิจกรรมร่วมกับหมู่บ้านรายรอบมหาวิทยาลัยฯ ภายใต้แนวคิดเดิมคือ "หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน"  อันหมายถึงพานิสิตใหม่ไปฝากตัวเป็น "ลูกฮัก" ของชาวบ้าน

กระบวนการดังกล่าว เป็นกลไกหนึ่งในการ "เปิดพื้นที่ห้องเรียน" ให้นิสิตได้เข้าไปเรียนรู้...เป็นกระบวนการของการสร้าง "ห้องเรียนชีวิต" โดยการเปิดหมู่บ้านเป็น "สถานีการเรียนรู้"  พร้อมๆ กับการฝากแฝงแนวคิดของการ "รักท้องถิ่นและการบริการสังคม"

และที่สำคัญคือ เป็นเสมือนการพาน้องใหม่ไปเรียนรู้และเยี่ยมชมกิจกรรมของรุ่นพี่ที่ได้บุกเบิก-นำร่องไว้ในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งบางหมู่บ้านอาจเป็นพิพิธภัณฑ์  แปลงนาโยน  ห้องประชุม  แปลงสาธิตเกษตรพอเพียง  แผนผังหมู่บ้าน ป้ายชื่อหมู่บ้าน  รั้วหมู่บ้าน  สนามกีฬา หรือแม้แต่ต้นไม้ที่ปลูกไว้ในชุมชน ฯลฯ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต : อธิการบดี

.....

ครับ  ทั้งปวงนี้ ผมเพียงแต่กำลังบอกเล่ากับทุกท่านว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เปิดโอกาสให้นิสิตได้ทดลองทำในสิ่งที่เขา "คิด" (ทำในสิ่งที่คิด) และมีกระบวนการกำกับดูแลแบบพี่แบบน้องจากมหาวิทยาลัย ทั้งในระบบของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่

ผมเองก็ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกกับเนื้อหาของนิสิตเท่าที่ควร  เพียงแต่เฝ้ามองและให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ และก่อนวันนำเสนอของวันนี้ก็ได้เชิญแกนนำมาสังเคราะห์งานร่วมกันบ้างแล้ว พร้อมๆ กับการให้กำลังใจและการแนะนำกลวิธีของการนำเสนอเพื่อให้ "บรรลุ" ในสิ่งที่ "คิดอยากจะทำ"

...

ในช่วงที่ท่านอธิการบดี (ผศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต) กำลังให้โอวาทและมอบนโยบายอยู่นี้  มีบางห้วงจังหวะที่ท่านกล่าวถึง "ผม" โดยหยิบยกให้เห็นเรื่องราวสภาพการณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน  ซึ่งก็ชวนให้ผมได้นิ่งคิดและคำนึงถึงเรื่องราวของตนเองในเวทีประชุมเชียร์อีกครั้ง

ครั้งนั้นเป็นปี 2535  ผมเขียนกลอนไว้อย่างดิบๆ ว่า..

พี่รู้ว่าน้องเหนื่อยท้อ
ใยเล่า ต้องรอให้อ่อนล้า
ใยเจ้าไม่ลุกขึ้นมา
ปลุกชีพ วิญญา สถาบัน

คลาสเชียร์ใช่ไร้ในความรัก
สายใยยังทอถักเป็นสายฝัน
บทเพลงที่กู่ก้องร้องทุกวัน
คือเสียงความผูกพัน ระหว่างเรา

น้องเหนื่อย น้องท้อแท้
สองตาพี่ยังแล ทุกย่างก้าว
น้องเหนื่อย น้องล้ม น้องร้าว
พี่เราเร่าร้าว..เจ็บทวี

ใจหนึ่ง เพลงหนึ่งในคลาส
ขับขาน ประกาศศักดิ์ศรี
จากใจ สู่ใจ ไมตรี
ผองเรา น้องพี่ผูกพัน

 

...
หมายเหตุ บทกลอนบทนี้เคยถูกเผยแพร่ต่อเนื่องหลายปี
นักร้องท่านหนึ่ง นำไปทำเป็นเพลง และร้องในมหาวิทยาลัย
หรือสังคมของเมืองมหาสารคามในระยะหนึ่ง

 

หมายเลขบันทึก: 437366เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2011 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งพี่สต๊าฟและน้องใหม่ จะต้องรู้เรื่องราวความเป็น "ชาติผ่านท้องถิ่นอีสาน"

  • ถ้านิสิตที่เรียนในทุกสถาบัน ได้รับการปลูกฝัง การจัดกิจกรรม ให้เขาได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวของท้องถิ่น ศึกษาความเป็นมาของชาติ ผ่านท้องถิ่นของภาคต่าง ๆ เช่นนี้ เชื่อเหลือเกินว่า อาการ "หลงวัฒน์" ของเยาวชนไทย คงลดลงได้มากทีเดียว
  • ขอบพระคุณค่ะ   อือ...อาจารย์จบด้วยบทกลอนที่ไพเราะ ๆ ประทับใจตามเคยค่ะ
  • นำภาพสดชื่น ๆ ดอกไม้ที่กระท่อมอิงจันทร์ มาแลกเปลี่ยนค่ะ

 

รับน้องนี่สำคัญครับ ใช้สร้างชาติได้ ถ้าทำดีดี

เป็นเพลงน่าจะเพราะน่าดูนะค่ะ เพราะเนื้อหาดีมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ..มาชื่นชมกิจกรรมดีๆเพื่อสังคมของน้องๆ..และมีสิ่งดีๆมาฝากค่ะ..

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/435959

บทเรียนในโครงงาน "กล้าใหม่ต้นอ้อ ต่อยอดภูมิปัญญา" (ม.มหาสารคาม)

                       

  *นักศึกษาคณะสถาปัตย์ ม.มหาสารคาม ใช้องค์ความรู้ในห้องเรียน ผนวกกับแนวคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดภูมิปัญญา พัฒนารูปแบบผลิตภัณท์จาก ต้นอ้อ ในหมู่บ้านร่องคำหมี จ.กาฬสินธุ์ เกิดเป็นสีสันลวดลายของผลิตภัณท์เครื่องใช้หลายประเภทที่เป็นเอกลักษณ์และอนาคตของชุมชน และเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค..

                       

 ฉัตรชัย หวังล้อมกลาง หรือ น้องต้อม

"สำหรับผม ความสุขจากการทำงานครั้งนี้ คือการได้สัมผัสของจริงที่ไม่มีในตำราเรียน คือเมื่อก่อนจะเขียนแบบส่งอาจารย์อย่างเดียว ไม่ได้เจอชาวบ้าน แต่จากกิจกรรมนี้ มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้านในสิ่งที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน เหมือนได้มีโอกาสฝึกงาน ก่อนจะได้ออกไปประกอบอาชีพจริง..."

คนอิสานรักถิ่นเกิด...ไม่เคยหลงลืม

เท่าที่รู้จัก...ทุกคนรักษาแบบอย่างของลูกอิสานเสมอ

สวัสดีค่ะ

เปิด"ห้องเรียนชีวิต" โดยการเปิดหมู่บ้านเป็น "สถานีการเรียนรู้..."

เท่ากับว่าอาจารย์จัดให้เขาได้เรียนวิชาชีวิต...ของชุมชนพื้นถิ่น

แล้วเขาจะได้รักพื้นถิ่น ไม่ละทิ้งถิ่น....

ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆค่ะ

สวัสดีครับ พี่ครูอิงจันทร์ ณ กระท่อมอิงจันทร์

ต้องขออภัยอย่างยิ่งเลยครับที่ไม่ค่อยได้ทายทัก  เพราะผมเองว่ายวนอยู่กับการเดินทาง จัดการเรื่องเวลาได้ไม่ดีเท่าที่ควร และการเดินทางในแต่ละเวลาก็ใช้พลังเยอะเหลือทน

...

ล่าสุดผมไปบรรยายที่กรุงเทพฯ ผมเองก็ยืนยันเจตนารมณ์ในทำนองนี้ว่าการรับน้องใหม่นั้น ควรเปิดโอกาสให้นิสิตได้รับน้องนอกสถานศึกษาบ้าง หากแต่ต้องจัดแบบสร้างสรรค์ภายใต้วิธีคิด วิธีการจัดการที่ดีและได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำพาน้องใหม่ไปเรียนรู้ชุมชน  ซึ่งชุมชนที่ว่านั้น ก็เป็นได้ทั้ง "ชุมชนในมหาวิทยาลัย,ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย,..."  ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยต้องสังเคราะห์และค้นหาพื้นที่เหล่านี้ให้เจอ  เมื่อเจอแล้ว ก็จะรู้เองว่ากิจกรรมที่เหมาะกับตัวเองนั้น จะเป็นอย่างไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร ?

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ บีเวอร์

ปีนี้นิสิตใหม่,น้องใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม น่าจะถูกรับน้อง (รับขวัญ)  ในอีกมิติหนึ่ง และนั่นก็หมายถึงว่ามีชุมชนเป็นผู้เข้ามารับขวัญนั่นเอง...และน่าจะเป็นกิจกรรมบูรณาการการเรียนรู้ชุมชนผ่านการเป็น "ลูกฮัก" ...บำเพ็ญประโยชน์ ไปพร้อมๆ กัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

คนที่นำบทกวีไปทำเป็นเพลงนั้น  เคยเป็นนักร้องอาชีพครับ สังกัดค่ายเพลงและมีเพลงฮิตในสังคมเหมือนกัน  ผมเองไม่มีต้นฉบับเพลงนี้เลย แต่กำลังติดต่อขอต้นฉบับมาจัดเก็บเป็นจดหมายเหตุของกิจกรรมของที่นี่

ขอบพระคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท