ความสำคัญของจิตวิทยากับการจัดการศึกษา


เป็นการศึกษาวิจัยชั้นเรียน โดยใช้ใบงานให้นิสิตตอบคำถามเกี่ยวกับความสำคัญของจิตวิทยากับการจัดการศึกษา โดยนักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าและแสดงความคิดเห็น และผู้วิจัยได้สรุปประเด็นต่างๆ ในรูปของการวิจัย

ชื่อเรื่อง          ความสำคัญของจิตวิทยากับการจัดการศึกษา

                     ตามทัศนะของนิสิตหลักสูตร

                     ประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู

                     มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

                     วิทยาเขตพะเยา ประกอบรายวิชา จิตวิทยาความเป็นครู

ชื่อผู้ศึกษา      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จักรแก้ว นามเมือง

ปีที่               2552

----------------------------------------------------------------------------------------

บทคัดย่อ

       การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสำคัญของจิตวิทยากับการจัดการศึกษา ตามทัศนะของนิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ประกอบรายวิชาจิตวิทยาความเป็นครู ประชากร ได้แก่ นิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู รุ่นที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๒ จำนวน ๑๑๐ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ใบงาน และใช้การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการศึกษาพบว่า

          1. จิตวิทยากับการพัฒนาหลักสูตร จิตวิทยานำมาพัฒนาหลักสูตร 2 แขนง คือ

             1) จิตวิทยาพัฒนาการ นำมาพัฒนาหลักสูตรในด้าน 1) การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร 2) การกำหนดระยะเวลาความสนใจของเด็กหรือคาบเวลาในการเรียนรู้ 3) การกำหนดเกณฑ์อายุมาตรฐานของการเข้าเรียน ต้องคำนึงถึงความพร้อมของเด็กทั้งทางร่างกายและสติปัญญา 4) การจัดเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งจะต้องยึดลำดับความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความยากง่าย ความสลับซับซ้อนของเนื้อหาทำให้พอเหมาะกับวัยของผู้เรียนด้วย

            2) จิตวิทยาการเรียนรู้ เป็นจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องธรรมชาติ ของการเรียนรู้และองค์ประกอบต่างๆ มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ การคิด และการแก้ปัญหา จิตวิทยาแขนงนี้จะช่วยให้ทราบว่ามนุษย์เราเรียนรู้ได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีปัจจัยอะไรบ้างที่มีอิทธิพลทำให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้เร็วหรือช้า เป็นต้น

          2. จิตวิทยากับการจัดการเรียนการสอน

              1) จิตวิทยากับครู จากทัศนะของนิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู สามารถวิเคราะห์ความสำคัญของจิตวิทยากับครู ดังนี้

                  (1) ช่วยให้ครูสามารถเข้าใจตนเองพิจารณา ตรวจสอบตนเอง ทั้งในด้านดีและข้อบกพร่อง รวมทั้งความสนใจ ความต้องการ ความสามารถ ซึ่งจะทำให้สามารถคิด และตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

                  (2) ช่วยให้ครู เข้าใจทฤษฎี วิธีการใหม่ๆ และสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนนำเทคนิคการใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น ในการเรียนสิ่งที่เป็นนามธรรม ครูจำเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่อประกอบการสอนเข้าใจง่ายขึ้น

                  (3) ช่วยให้ครูเข้าใจธรรมชาติ ความเจริญเติบโตของผู้เรียน และสามารถจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับธรรมชาติ ความต้องการ ความสนใจของผู้เรียนแต่ละวัยได้

                  (4) ช่วยให้ครูเข้าใจและสามารถเตรียมบทเรียน วิธีสอน วิธีจัดกิจกรรม ตลอดจนวิธีการวัดผล ประเมินผลการศึกษา ให้สอดคล้องกับความเจริญเติบโตของผู้เรียนตามหลักการ

                  (5) ช่วยให้ครู รู้จักวิธีการศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อหาทางช่วยเหลือ แก้ปัญหา และส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนให้เป็นไปอย่างดีที่สุด

                  (6) ช่วยให้ครูมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้เรียน มีความเข้าใจและสามารถทำงานกับผู้เรียนได้อย่างราบรื่น

                  (7) ช่วยให้ครูนำความรู้เกี่ยวกับการเรียนและผู้เรียนมาจัดรูปแบบ โดยการนำทฤษฎีและหลักการไปใช้

                  (8) ช่วยให้ครู เข้าใจหลักปฏิบัติ หรือการปฏิบัติตัวในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นตามความเชื่อถือหรือทฤษฎีการเรียนรู้ที่ตนเองเข้าใจและนิยมที่จะปฏิบัติ เช่น การเรียนจากการสังเกตหรือการเลียนแบบ

                  (9) ช่วยให้ครูสามารถตัดสินใจเลือกกิจกรรมและวิธีการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญก็คือ ทฤษฎีการเรียนรู้จะช่วยให้ครูสามารถคาดการณ์ได้ว่า ควรจะปฏิบัติการณ์อย่างไรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

                  (10) ช่วยให้ครูนำความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นไปประยุกต์ใช้ ปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถนำความรู้ไปช่วยในการปรับตัวให้ดีขึ้น   

                  (11) ช่วยให้ครูรู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียนที่ครูต้องสอน โดยทราบหลักพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และบุคลิกภาพเป็นส่วนรวม

                  (12) ช่วยให้ครูมีความเข่าใจพัฒนาการทางบุคลิกภาพบางประการของผู้เรียน เช่น อัตมโนทัศน์ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และเรียนรู้ถึงบทบาทของครูในการที่ช่วยผู้เรียนให้มี         อัตมโนทัศน์ที่ดีและถูกต้องได้อย่างไร

                  (13) ช่วยครูให้มีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อจะได้ช่วยผู้เรียนเป็นรายบุคคลให้พัฒนาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

                  (14) ช่วยให้ครูรู้วิธีจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้เหมาะสมแก้วัยและขั้นพัฒนาการของนักเรียน เพื่อจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจและมีความที่อยากจะเรียนรู้

                  (15) ช่วยให้ครูทราบถึงตัวแปรต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น แรงจูงใจอัตมโนทัศน์ และการตั้งความคาดหวังของครูที่มีต่อผู้เรียน

                  (16) ช่วยครูในการเตรียมการสอนวางแผนการเรียน เพื่อทำให้การสอนมีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้นักเรียนทุกคนเรียนตามศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยคำนึงถึงหัวข้อต่อไปนี้

                        (16.1) ช่วยครูเลือกวัตถุประสงค์ของบทเรียนโดยคำนึงถึงลักษณะนิสัยและความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนที่จะต้องสอน และสามารถที่จะเขียนวัตถุประสงค์ให้นักเรียนเข้าใจว่าสิ่งคาดหวังให้นักเรียนรู้มีอะไรบ้าง โดยถือว่าวัตถุประสงค์ของบทเรียนคือสิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนทราบ เมื่อจบบทเรียนแล้วนักเรียนสามารถทำอะไรได้บ้าง

                         (16.2) ช่วยครูในการเลือกหลักการสอนและวิธีสอนที่เหมาะสม โดยคำนึงลักษณะนิสัยของผู้เรียนและวิชาที่สอน และกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน

                         (16.3) ช่วยครูในการประเมินไม่เพียงแต่เฉพาะเวลาครูได้สอนจนจบบทเรียนเท่านั้นแต่ใช้ประเมินความพร้อมของผู้เรียนก่อนสอน ในระหว่างที่ทำการสอน เพื่อทราบว่านักเรียนมีความก้าวหน้าหรือมีปัญหาในการเรียนรู้อะไรบ้าง

                  (17) ช่วยครูให้ทราบถึงหลักการสอนและวิธีสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพฤติกรรมของครูที่มีการสอนอย่างมีประสิทธิภาพว่ามีอะไรบ้าง เช่น การใช้คำถาม การให้แรงเสริม และการทำตนเป็นต้นแบบ

                  (18) ช่วยครูให้ทราบว่าผู้เรียนที่มีผลการเรียนดีไม่ได้เป็นเพราะระดับเชาวน์ปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น แรงจูงใจ ทัศนคติหรือ อัตมโนทัศน์ของผู้เรียนและความคาดหวังของครูที่มีต่อผู้เรียน

                  (19) ช่วยครูในการปกครองชั้นและการสร้างบรรยากาศของห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้และเสริมสร้างบุคลิกภาพของผู้เรียน ครูและผู้เรียนมีความรักและไว้วางใจซึ่งกันและกันความช่วยเหลือกันและกันของผู้เรียน ทำให้ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่ทุกคนมีความสุขและผู้เรียนรักโรงเรียน อยากมาโรงเรียน

            2) จิตวิทยากับผู้เรียน จากทัศนะของนิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู สามารถวิเคราะห์ความสำคัญของจิตวิทยากับผู้เรียน ดังนี้

                  (1) ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจลักษณะธรรามชาติของมนุษย์ ลำดับขั้นพัฒนาการชีวิตในแต่ละช่วงวัย และทราบถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย

                  (2) ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการยอมรับ เข้าใจตนเองและผู้อื่น เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลในวัยต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถช่วยเหลือบุคคลวัยต่างๆ ในแนวทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

                  (3) ช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี รู้จักจิตใจคนอื่น รู้ความต้องการความสนใจและปรับตัวให้เข้ากับลักษณะเหล่านั้นได้ ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข

 

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 437361เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2011 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาชื่นชมอาจารย์
  • ลองเข้าไปทักทายผู้สอนจิตวิทยาบ้างนะครับ
  • เผื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน
  • ชอบงานวิจัยของอาจารย์

ขอบคุณอาจารย์มาก ผมสนใจทั้งจิตวิทยาและวิจัย คงไปด้วยกันได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท