การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคสังคม-เศรษฐกิจฐานความรู้


พัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต: พัฒนาแรงจูงใจในการเรียนรู้ พฤติกรรมใฝ่รู้ใฝเรียน และทักษะในการเรียนรู้

           ในปัจจุบันซึ่งเป็น  “ยุคสังคม-เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Society and Economy)”  ที่ประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้ "ความรู้ (Knowledge) และภูมิปัญญา (Wisdom) เป็นพลังในการขับเคลื่อนทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้แต่ละประเทศมีการศึกษาวิจัย สร้าง และเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไม่ขาดสาย ความรู้ที่มีอยู่ในตำราจึงล้าสมัยไปในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่เรียนรู้เฉพาะเนื้อหาในตำราและเฉพาะในช่วงเวลาที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษา โดยไม่เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัวในลักษณะของการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ก็จะกลายเป็นคนตกยุค ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคม (Social Contexts) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ และเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปประกอบอาชีพ  ความรู้ที่เรียนมาจากตำราก็จะไม่ทันกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technologies and Innovations) ที่ต้องใช้ในการทำงาน ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทุกประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society)” และการจัดการศึกษาก็ต้องเป็นการพัฒนา “สมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong  Learning Competencies)” ให้กับผู้เรียน เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวให้กลมกลืนกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยตัวเอง   “สมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Competencies)" หมายถึง ลักษณะทางจิตใจ พฤติกรรม และความสามารถที่จะช่วยให้บุคคลเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ลักษณะทางจิตใจ คือ การมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ (Motivation to Learn) ลักษณะทางพฤติกรรม คือ การมีพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity Behaviors) เรียนรู้ในทุกที่ทุกเวลา จากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัว และลักษณะทางความสามารถ คือ การมีทักษะในการเรียนรู้ (Skills of Learning) หรือ "การเรียนรู้วิธีเรียน: Learn How to Learn" (วิไล แพงศรี: 2553:8)

            ยุทธวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการตลอดชีวิต คือ การสนับสนุนให้ผู้เรียน “เรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (Self-directed Learning: SDL)” ซึ่ง “เน้นการสอนวิธีการเรียนรู้มากกว่าสอนความรู้” ตามหลักคิด “Give me a fish and I eat for a day. Teach me to fish and I will eat for a lifetime." (Hiemstra. 2003: Online) หลักคิดดังกล่าว แปลตรงตามตัวอักษรได้ว่า “ถ้าท่านให้ปลาตัวหนึ่งแก่ฉัน ฉันจะกินมันหมดภายใน 1 วัน   แต่ถ้าท่านสอนให้ฉันตกปลา  ฉันจะมีปลากินไปตลอดชีวิต” แต่มีความหมายโดยนัยด้านการเรียนการสอนว่า การสอน “วิธีการเรียนรู้:  How to Learn” ให้กับผู้เรียน จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าการสอน “ความรู้ : What to Learn” ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้เรียนเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ผู้เขียนเองก็เชื่อในแนวคิดดังกล่าวมาแต่แรก และเน้นการสอนวิธีการเรียนรู้มาตลอดเวลากว่า 30 ปีของการเป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา

             ประชาคมโลก ต่างก็ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้ประชาชนของประเทศตน เรียนรู้แแบบเป็นกระบวนการตลอดชีวิตโดยใช้วิธีการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัด “ประชุมนานาชาติด้านการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง: The International Self-directed Learning Symposium)" มาแล้วกว่า 20 ครั้ง แต่สภาพการเรียนการสอนของไทยในทุกระดับและประเภทการศึกษาโดยรวม ยังไม่ได้เป็นไปในแนวทางดังกล่าว ดังผลการวิจัยเรื่อง “การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อสังคมไทย ในศตวรรษที่ 21” ซึ่งสรุปความได้ตอนหนึ่งว่า การเรียนการสอนของไทยในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการศึกษาตลอดชีวิต เพราะไม่ได้ให้เครื่องมือแก่ผู้เรียน เพื่อใช้ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองในภายหน้า ไม่พร้อมที่จะพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติเข้ากับโลกยุคใหม่ คือ มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และมีความสามารถในการจัดการ ยังเน้นการป้อนเนื้อหาความรู้แก่ผู้เรียน ไม่เน้นที่จะฝึกให้ผู้เรียนรู้วิธีแสวงหาความรู้ได้เอง อีกทั้งการวัดผลประเมินผลการเรียน ก็เป็นการวัดความรู้ความจำในเนื้อหาที่ได้เรียนไป ไม่เน้นการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และยังไม่เน้นการประเมินผลตามสภาพจริง   (สุมาลี สังข์ศรี. 2544: 71-74, 109)

            เฉพาะในการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น สำนักนโยบายและแผนอุดมศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (2544: 9) ได้ระบุถึงปัญหาคุณภาพของการอุดมศึกษาของไทย สรุปความได้ว่า อุดมศึกษาไทยกำลังประสบภาวะวิกฤติทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้พัฒนาเชาวน์ปัญญา  เน้นเพียงการท่องจำจากการถ่ายทอดและการสอน แม้จะมีบัณฑิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่มีนักคิดเกิดขึ้นน้อย โดยจุดอ่อนที่สำคัญของการอุดมศึกษา อยู่ที่ความด้อยคุณภาพทั้งของหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอน ภาพที่ชัดเจนของปัญหาคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว จะเห็นได้จาก รายงานการวิจัยเรื่อง “ศักยภาพของนักศึกษาสถาบันราชภัฏ” ซึ่งเป็นการศึกษาศักยภาพของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 (ปีสุดท้ายของหลักสูตร) จากสถาบันราชภัฏทั่วประเทศ โดยการตรวจสอบทักษะสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่  1) ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในอนาคต (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต) อันประกอบด้วย 3 ทักษะย่อย ได้แก่  (1) ทักษะการเรียนรู้  (2) ทักษะการคิด และ (3) ทักษะการสื่อสาร  2) ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย 3 ทักษะย่อย ได้แก่ (1) ทักษะการจัดการ (2) ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และ (3) ขยันอดทน อดออม  ประหยัด และ 3) ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งประกอบด้วย 3 ทักษะย่อย ได้แก่  (1) ควบคุมตนเองได้  (2) มีความรับผิดชอบและมีวินัยในตนเอง และ (3) ช่วยเหลือผู้อื่น  เสียสละ  มุ่งมั่นพัฒนา  ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาโดยรวมมีคะแนนทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในอนาคตต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 2 ทักษะที่ได้รับการตรวจสอบ โดยทักษะย่อยที่มีคะแนนต่ำที่สุดในทักษะการเรียนรู้คือ ทักษะการสื่อสาร และในทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานนั้น นักศึกษามีทักษะการจัดการต่ำสุด (เพ็ญจันทร์ สังข์แก้ว. 2545 : 78-82) จากผลวิจัยดังกล่าว ชี้ว่า นักศึกษาสถาบันราชภัฏโดยรวมจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

            หากพิจารณาแคบลงมา เฉพาะนักศึกษาสถาบันราชภัฏ/มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ผู้เขียนประสบมาด้วยตนเองเป็นเวลานาน พอจะสรุปได้ว่า นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชา (ผู้เขียนมีโอกาสสอนนักศึกษาแทบทุกสาขาวิชา เพราะรับผิดชอบสอนในรายวิชาพื้นฐาน/วิชาศึกษาทั่วไปที่นักศึกษาทุกโปรแกรมวิชา/สาขาวิชาจากทุกคณะจะต้องลงทะเบียนเรียน) ส่วนใหญ่ยังขาดสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าวคือ ในลักษณะด้านจิตใจและด้านพฤติกรรมนั้น นักศึกษายังขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ และไม่มีพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียน จะเห็นได้จากการใช้วิธี “การเรียนรู้เชิงรับ: Passive Learning” คือ รอรับความรู้จากการถ่ายทอดของผู้สอน มากกว่าที่จะศึกษาเอกสารการเรียนมาล่วงหน้า ขาดความสนใจในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัว และขาดการติดตามข่าวสารความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ และในด้านความสามารถนั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ตามที่ต้องการ (แม้จะมีทักษะ IT แต่ส่วนใหญ่จะใช้ได้เพื่อประโยชน์ด้านความบันเทิงและด้านการติดต่อสื่อสารที่หาสาระไม่ได้ แต่เมื่อให้ใช้เพื่อประโยชน์ด้านการเรียนรู้ จะพบว่าขาดทักษะเป็นส่วนใหญ่) ขาดทักษะการเรียนรู้จากการอ่านและการฟังในขั้นความเข้าใจ ขั้นการสรุปความ ขั้นการแปลความ ขั้นการตีความ และขาดทักษะการพูด-การเขียนเพื่อสื่อความคิดความเข้าใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลอื่น อนึ่ง จากการตรวจสอบทักษะการคิดประเภทต่างๆ ได้แก่ การคิดแบบอภิปัญญา (Metacognition) การคิดอย่างมีเหตุุผล  (Rational Thinking) การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) การคิดสังเคราะห์ (Synthetic Thinking) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) และ การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ในทุกๆ หมู่เรียน มีทักษะดังกล่าวใน “ระดับต้องปรับปรุง” เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 

             ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ผู้เขียนจึงเกิดแรงจูงใจที่จะหาแนวทางในการพัฒนาสมรรถภาพในการ เรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับนักศึกษาสถาบันราชภัฏ/มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ให้ได้ผลอย่างแท้จริง จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) เพื่อให้ได้ทั้งรูปแบบ (Model) ขั้นตอนการปฏิบัติ (Stage) และชุดการจัดการเรียนรู้ (Learning Packages) โดยดำเนินการเป็นเวลา 8 ปี จากปี 2545-2552 และใช้เวลาอีก 1 ปี (ปี 2553) ในการเขียนรายงานการวิจัย จุดประสงค์สำคัญที่เขียนบันทึกนี้ขึ้นมา ก็เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการวิจัย กับสมาชิกที่มีความสนใจร่วมกัน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับข้อชี้แนะจากผู้อ่านทุกท่าน เพราะไม่มีรูปแบบ ขั้นตอนและชุดการปฏิบัติใดที่ดีที่สุด ทำนองเดียวกับที่มีคำกล่าวว่า "หนังสือเล่มที่ดีที่สุด ยังไม่มีใครเขียน" ฉันใดก็ฉันนั้น อนึ่ง สิ่งที่นำมาแลกเปลี่ยนใช่ว่าจะใช้ได้เฉพาะในการจัดการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับการศึกษา รวมทั้งระดับการศึกษาปฐมวัยที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการทำวิจัยเรื่อง "การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ" ภายใต้โครงการ "บ้าน-โรงเรียนร่วมใจ" ซึ่งได้ดำเนินการเป็นเวลา 5 ปี (ปี 2540-2544) โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจ เพราะเป็นการบูรณาการการปฏิบัติภารกิจอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา ด้านการผลิตบัณฑิต การพัฒนาครูประจำการ การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และการวิจัยเข้าด้วยกัน  

             บันทึกนี้ จะเขียนโดยซอยย่อยเป็นตอนๆ เริ่มด้วยตอนนี้เป็นตอนที่ 1 ซึ่งจะเกริ่นนำให้ทราบว่า ผู้เขียนได้ดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ (Phases) โดยระยะที่ 1 ได้ปฏิบัติการวิจัยในช่วงปีการศึกษา 2545-2546 งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 56 เรื่องของงานวิจัยที่มีคุณค่าทางวิชาการและมีประโยชน์ในการนำไปใช้พัฒนาการเรียนรู้ (จากงานวิจัยทั้งสิ้น 611 เรื่องที่มีผู้ส่งไปให้คณะกรรมประเมินฯ) และได้รับเชิญให้นำเสนอผลการวิจัยในการประชุมทางวิชาการ "การวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้" จัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2547 ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ ชื่อเรื่องวิจัยคือ "การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Developing Learning Competencies Among Undergraduates Through Classroom Action Research)" การวิจัยในระยะที่ 2 ได้ปฏิบัติการวิจัยในช่วงปีการศึกษา 2547-2548 โดยพัฒนาต่อจากผลการวิจัยในระยะที่ 1 ชื่อเรื่องวิจัยคือ "การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจิตวิทยามนุษยนิยมและจิตวิทยาปัญญานิยม (Developing Lifelong Learning Competencies Among Undergraduates Through Humanistic and Cognitive Psychology-based Learning Management Model)" โดยได้เดินทางไปเสนอผลการวิจัยดังกล่าวในงาน "3rd International Postgraduate Research Colloquium" ซึ่งจัดโดย International Islamic University, Malaysia (IIUM) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (ดังภาพประกอบข้าล่าง)  ส่วนการวิจัยในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการวิจัยในระยะสุดท้ายต่อเนื่องจาการวิจัยในระยะที่ 2 ได้ปฏิบัติการวิจัยในช่วงปีการศึกษา 2550-252 ชื่อเรื่องวิจัย คือ "การวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (Research and Development to Promote Lifelong Learning Competencies Among Undergraduates in Ubon Ratchathanni Rajabhat University)" และได้เขียนรายงานการวิจัยเพื่อสรุปรวบยอดงานวิจัยทั้ง 3 ระยะ ในปีการศึกษา 2553

  

  

  

 

 

               ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้รับความคิดเห็นและข้อชี้แนะ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้อ่านทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับใดก็ตาม หรือท่านจะเป็นครูอาจารย์-บุคลากรทางการศึกษาหรือไม่ก็ตาม เพราะการจัดการศึกษาเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในสังคม ดังสำนวนที่ว่า "All for Education" 

                โปรดติดตามตอนต่อๆ ไป ขอบพระคุณค่ะ 

 

                                                    แหล่งอ้างอิง

นิตยา สำเร็จผล. (2547). การพัฒนาตัวบ่งชี้การเรียนรู้ตลอดชีวิต.  ปริญญานิพนธ์ กศ.ด. (การวิจัย

            และพัฒนาหลักสูตร).  กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, สำนักงาน.  สำนักนโยบายและแผนอุดมศึกษา. (2544). วิสัยทัศน์การพัฒนา

              อุดมศึกษาของแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุมศึกษา ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 – 2549). 

            พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักวางแผนและพัฒนาสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.

เพ็ญจันทร์  สังข์แก้ว.  (2545).  ศักยภาพของนักศึกษาสถาบันราชภัฏ.  วารสารราชภัฏเพชรบูรณ์สาร

            6(1), 78-82.

วิไล แพงศรี. (2547). การพัฒนาสมรรถภาพการเรียนรู้ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยกระบวนการวิจัย

            ปฏิบัติการในชั้นเรียน. ใน เอกสารการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้

              วันที่ 19-20 กรกฎาคม 2547 (หน้า 207-214).  กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.

              . (2549). การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรี

              ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจิตวิทยามนุษยนิยมและจิตวิทยาปัญญานิยม.

            รายงานการวิจัย. อุบลราชธานี: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี. 

              . (2553). การวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต                 

              ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี. รายงานการวิจัย.

            อุบลราชธานี: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

สุมาลี สังข์ศรี. (2544).  การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อสังคมไทย.  รายงานการวิจัย.  กรุงเทพฯ:            

            องค์การค้าของคุรุสภา.

ETUC Executive Committee. (2005). Higher Education in a Lifelong Learning Perspective.

             Retrieved 12 April 2011 from http://www.etuc.org/a/1678. 

Hiemstra,  R. (2003).  Self-directed Learning Web Page. Retrieved January 4, 2003

             from http:// home. twcny.rr.com/hiemstra/sdlhome.html.

Lange, Dirk;  Beutler, Zita; and Heldt, Inken. (2011). Developing Citizens – Paths  

               to Core Competencies Through a Problem-based Learning Project in Civic

               Education. Retrieved 12 April 2011 from http://www.ipw.uni-hannover.de/5556.html.

 

  

 

หมายเลขบันทึก: 434536เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2011 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

รออาจารย์แม่มาเขียนต่อครับ 555

             ดิฉันรู้สึกละอายใจมากที่ตั้งใจจะเขียนบันทึกใน Blog "Learntoknow ตอนที่ 1" นี้ให้เเสร็จหลังสงกรานต์ แต่พอลงมือเขียนบันทึกที่ไร เป็นอันต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้บันทึกไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ อย่างเช่น ถ้าเขียนบันทึกตอนที่อยู่บ้านในเมือง ไม่มีปัญหาการใช้ Internet แต่มีปัญหามีสิ่งอื่นมาแทรกอยู่เรื่อย (บุคคล : เพื่อนบ้าน ญาติ นักศึกษา เพื่อนร่วมงาน คณะ) พอเขียนบันทึกที่ฟาร์มก็จะมีปัญหาการใช้ Internet อย่างเช่นเมื่อคืนนี้ พยายามจะเข้า Web. Blog "Gotoknow.org จาก 5 ทุ่มกว่าๆ จนตี 1 กว่า ๆ แต่ไม่สำเร็จ จึงกราบขออภัยท่านที่กรุณาเข้ามาอ่านบันทึก รวมถึงอาจารย์ลูก ดร. ขจิต ฝอยทอง ที่กรุณาเข้ามาเตือน เมื่อเช้าตอนตี 5 ถึง 6 โมงก็ยังเข้าไม่ได้ ตอนนี้เริ่มเข้าได้ ก็ได้แต่ภาวนาขอให้บันทึกตอนที่ 1 สำเร็จ  

ขอกราบสวัสดี ผศ. วิไล อย่างเป็นทางการครับ

ขอบพระคุณที่เข้าไปเยี่ยมในบล็อกผม และแนะนำบันทึกของอาจารย์ให้ผมตามมาอ่าน ตื่นเต้นครับ อยากอ่านต่อไวๆ ผมว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน เพราะเริ่มเขียนตอนที่หนึ่ง แล้วยังไม่สามารถหาจังหวะปลีกตัวจากภาระอื่นๆ มาเขียนต่อได้เสียที

เห็นด้วยกับอาจารย์มากๆ ในเรื่องการให้เครื่องมือผู้เรียนเพื่อที่เขาและเธอจะได้พัฒนาตนเองไปเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตครับ ความยากของเรื่องการให้ "เครื่องมือ" นั้นเริ่มกันตั้งแต่เรื่องการออกแบบหลักสูตร การฝึกอบรมครูอาจารย์ให้เห็นความสำคัญของการ "ลดการสอน เพิ่มการเรียน(โดยผู้เรียนเอง)" ส่วนครูอาจารย์ก็ผันตัวเองไปเป็นผู้ดำเนินการจัดหาเครื่องมือ ผู้แนะนำชี้แนวทางแทน หลายครั้งผมได้ยินคำว่า ไม่มีเวลา เนื้อหาเยอะอยู่แล้ว สอนไม่ทัน ประมาณนี้บ่อย

ผมไม่ได้มาบ่นหรอกนะครับ เพราะคิดว่าถ้าเรามาเริ่มตั้งต้นออกแบบหลักสูตร วิธีการสอนใหม่ เริ่มวิจัย เก็บข้อมูล และนำเสนอผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเราเองก็น่าจะเพิ่มน้ำหนักในการต่อรองกับข้ออ้างต่างๆ ได้

รออ่านบันทึกของอาจารย์ด้วยใจระทึกครับ

ด้วยความเคารพ

วสะ

     ขอบคุณ ดร.วสะ บูรพาเดชะ มากนะคะ ที่เป็นท่านแรกที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาในบล็อคนี้ ขอใช้คำแทนตัวเองว่า "อาจารย์แม่" อย่างที่ดร.ขจิต เรียก และใช้คำแทนตัวดร.วสะ ว่า "อาจารย์ลูก" อย่างที่ใช้เรียก ดร.ขจิต ก็แล้วกันนะคะ เพราะดูตามปีที่อาจารย์ลูกเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ถ้าอาจารย์แม่แต่งงานตอนจบปริญญาตรี (อายุ 21 ปี) ลูกคนแรกของอาจารย์แม่ก็คงจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอาจารย์ลูกวสะนี้แหละ (แต่อาจารย์แม่มีครอบครัวหลังจบปริญญาโท 1 ปี อีกปีเศษๆ จึงมีลูกคนแรก ที่อยู่ของลูกชายอาจารย์แม่ก็คล้ายๆ ที่อยู่ของอาจารย์ลูก คือภายในรั้วของหมู่บ้านที่เขาอยู่เป็นเขตสมุทรปราการ [บางพลี] แต่นอกรั้วเป็นเขตกทม.) อาจารย์แม่ชอบใช้ชีวิตอยู่กับต้นไม้ใบหญ้า (บันทึกใน Blog "Pridetoknow") แต่ก็มีความสุขที่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Learning Facilitator) ให้กับผู้เรียนในสถาบันอุดมศึกษา (บันทึกใน Blog "Goaltoknow") ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่เตรียมผู้เรียนออกไปทำงานและใช้ชีวิตในสังคม

     อาจารย์แม่ชื่นชมอาจารย์ลูกมากนะคะ ที่เป็น "อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรง" และภูมิใจแทนม.อัสสัมชัญที่มีบุคลากรคุณภาพอย่างอาจารย์ลูก "วสะ" ที่แปลว่าความตั้งใจ (ชื่อเท่ห์ดี) และจากที่ได้อ่านการดำเนินเรื่องและสำนวนเขียนในประวัติของอาจารย์ลูกแล้ว อาจารย์แม่ว่า ถ้าอาจารย์ลูกจะเขียน "Pocket Book" เกี่ยวกับการเรียนและการทำงานของตน แล้วละก็ ตลาดหนังสือเมืองไทยจะได้หนังสือที่อ่านเพลินชนิดวางไม่ลงและยังได้สาระดีๆ อีกด้วย อาจารย์แม่นี่แหละจะเป็นคนแรกที่สั่งจอง 10 เล่ม (ก่อน) ไว้อ่านเองและฝากอาจารย์รุ่นหลังๆ อ่าน จะได้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อพัฒนางานวิชาชีพของตน อาจารย์แม่ไม่ได้พูดเล่นนะคะ ถ้าอาจารย์ลูกเขียนก็เท่ากับเป็นการสนับสนุน "ทศวรรษแห่งการอ่านของคนไทย (ปี 2552-2561)" ไปด้วยในตัว ชื่นชมที่อาจารย์ลูกเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ใช้วรรณยุกต์ไทยได้ถูกต้อง คือ ใช้วรรณยุกต์โทกับอักษรต่ำเพื่อให้ออกเสียงเป็นเสียงตรี คือ "แว้บ" เพราะเดี๋ยวนี้ใช้ผิดกันมาก (แม้แต่ครูอาจารย์รุ่นกลางเก่ากลางใหม่) คือ จะใช้วรรณยุกต์ตรีกับอักษรต่ำซึ่งตามหลักภาษาแล้วไม่สามารถใช้ได้ เช่นเขียนผิดกันว่า "มั๊ย" ถ้าจะให้ถูกต้องเขียน "มั้ย" เหมือนกับคำว่า ไม้ ม้า แม้น มุ้ง ที่ออกเสียงเป็นเสียงตรีแต่ใช้วรรณยุกต์โท

     อาจารย์แม่รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่ที่เห็นในศูนย์รวมข้อมูลแล้วล่ะค่ะ ว่า "คุณแว้บ" แสดงความเห็นในบันทึกของอาจารย์แม่ ("แว้บ" นี่คงจะหมายถึงการคิดคำตอบได้ในทันทีจากการหยั่งรู้ [Insight] ไม่ใช่ "แว้บ" ที่เป็นอาการของอาจารย์บางคนที่เข้าห้องประชุมเพียงครู่เดียวแล้วก็ "แว้บ" หายไปนะคะ) เพราะตั้งแต่เขียนบันทึกนี้ขึ้นมา ก็ยังไม่มีใครแสดงความเห็นเลย ทั้งที่บันทึกอื่นๆ ของอาจารย์แม่ก็มีผู้แสดงความเห็นกันพอสมควร อาจารย์ลูกดร.ขจิตก็แค่มาเตือนให้เขียนต่อ จริงๆ แล้วบันทึกนี้อาจารย์แม่ต้องการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากที่สุด แล้วที่อาจาย์ลูกบอก "รออ่านบันทึกของอาจารย์ด้วยใจระทึกครับ" นี่ อาจารย์แม่สงสัยว่า "ระทึก" ยังไงคะ ทำไมถึงระทึก และขอความรู้ด้วยว่า คำว่าระทึกนี่ที่เมืองมะกันเขาใช้คำว่าอะไร น่าจะเป็นความรู้สึกที่มากกว่า Excited นะคะ

     วันนี้อาจารย์แม่ต้องตรวจเค้าโครงงานวิจัย (เกี่ยวกับการพัฒนาความใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้กับเด็กประถม) ของนักศึกษาป.โทสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา เพราะนัดเขารับความเห็นวันนี้ (ส่งเค้าโครง-รับความเห็นกันทาง e-mail) และยังมีงานด่วนที่ต้องจัดการที่ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" เสร็จแล้วถึงจะเป็นคิวของบันทึกที่สองใน Blog นี้ค่ะ ที่จริงเตรียมมา 2-3 อาทิตย์แล้วล่ะค่ะ แต่อาจารย์แม่เป็นคนคิดเร็วแต่ทำงานช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์จะงุ่มง่ามมาก อย่าลืมติดตามและให้ความเห็นนะคะ เพราะความเห็นของอาจารย์ลูกจะเป็นกำลังใจและเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับอาจารย์แม่

     (อาจารย์แม่สังหรณ์อยู่แล้วว่าจะมีปัญหา เพราะมีอาการไม่ปกติตั้งแต่ที่เริ่มเขียนตอบความเห็นในตอนตี 4 พอตอบจบคลิกบันทึกแล้วก็ไปทำธุระอื่น แล้วถึงกลับมาดู ปรากฏว่าไม่บันทึกให้ และเข้าไปหน้าแสดงความเห็นก็ไม่ได้ ต้องเริ่มเข้าระบบใหม่ ก็พบว่าข้อมูลที่พิมพ์ไว้หายหมด อาจารย์แม่ต้องพิมพ์ใหม่นะคะนี่ วันก่อนเห็นผู้ดูแลเว็บบอกว่ามีบริการ Save Draft อัตโนมัติ อาจารย์แม่ไม่เห็น Save เลย ถ้าอาจารย์ลูกมีคำแนะนำก็ช่วยชี้แนะอาจารย์แม่ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ ...เพี้ยง!...คราวนี้ขอให้บันทึกสำเร็จ)

ได้มาพบขุมทรัพย์ทางปัญญาด้านการเรียนการสอน เข้าแล้วคะ :-) บันทึกอาจารย์มีเอกลักษณ์คือ มีความละเอียด ประณีตในเนื้อหาและการอ้างอิง แสดงถึงความวิริยะเป็นอย่างยิ่งคะ ประทับใจข้อความนี้คะ

 "หนังสือเล่มที่ดีที่สุด ยังไม่มีใครเขียน"

โดยส่วนตัวเชื่อว่า นักศึกษาแต่ละคน เกิดมาด้วยความสามารถที่จะคิดคะ 
คิดโดยเป็นภาพ เป็นจินตนาการ เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ถูก
ต่อมา เพื่อให้อ้างอิง เข้าใจตรงกัน จึงเกิด " ภาษาบัญญัติ" 
แต่ระบบการศึกษา มักให้ "ภาษาบัญญัติ" มากขึ้น
จินตนาการเลยลดลง..

แค่ความเห็นส่วนตัวหนึ่ง ที่อยากแลกเปลี่ยนด้วยความเคารพนะคะ อาจารย์ :-)

 

  • รู้สึกกระดาก กับถ้อยคำของ "อาจารย์หมอ CMUpal Ico48" ที่ว่า "ได้มาพบกับขุมทรัพย์ทางปัญญาด้านการเรียนการสอน เข้าแล้ว" แต่ก็ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่ให้เกียรติมากมายเช่นนี้ แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้นะคะ ว่า ไม่มีอะไรที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด ข้อชี้แนะจากกัลยาณมิตรจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากค่ะ 
  • เมื่อ "GotoKnow.org" ได้ให้ช่่องทางของ KM สมาชิกที่มีจิตสาธารณะอย่างเช่นอาจารย์หมอและท่านอื่นๆ ก็แบ่งปันประสบการณ์และแนวความคิดของตนให้กับสมาชิกอื่น สมาชิกที่เป็นผู้ใฝ่รู้และเปิดกว้างอย่างเช่นอาจารย์หมอและดิฉันเองก็จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปคิดต่อยอดทำให้ 1+1 มีค่ามากกว่า 2 ก็หวังว่าปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์เช่นนี้จะเกิดขึ้นใน "สังคม GotoKnow" ค่ะ
  • เห็นด้วยกับอาจารย์หมอค่ะ ว่า ระบบการศึกษาได้ให้ "ภาษาบัญญัติ" มากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ "จินตนาการ" ของผู้เรียนลดลง ผลการวิจัยก็ชี้ให้เห็นนะคะว่า พอเรียนระดับประถม มัธยมและอุดมศึกษา ระบบการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลการเรียน มักจะทำให้ผู้เรียนคิดอยู่ในกรอบ จึงขาดทักษะและไม่กล้าที่จะคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking) ทำให้ขาดจินตนาการสร้างสรรค์ ดิฉันเองจะชอบให้นักศึกษาทำวิจัยในประเด็นใหม่ๆ แต่หลายท่านกลับสนับสนุนให้นักศึกษาทำวิจัยในประเด็นเดียวกัน ต่างกันเฉพาะกลุ่มตัวอย่าง เพราะสะดวกในการให้คำปรึกษา     

อ่านข้อเขียนของท่านอาจารย์ ทุกตัวอักษร..จนจบ ทำให้ทราบว่า ประเทศไทยยังมีบุคลากรทางการศึกษา ที่มีคุณภาพสูง

ยังคงมีอยู่จริง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท