๘๓.เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บล๊อกเกอร์ GotoKnow : พลังการเรียนรู้จากหัวใจและปลายนิ้ว


เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มบล๊อกเกอร์จำนวน ๑๓ คนจากหลายแห่งของประเทศ ที่บ้านของอาจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นการนำเอาประสบการณ์ในด้านการเป็นผู้เอื้ออำนวยกระบวนการเรียนรู้ หรือการเป็นวิทยากรกระบวนการ เพื่อเคลื่อนไหวกระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานอยู่ในสาขาการทำงานต่างๆ ว่ามีการดำเนินการและก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มีนัยสำคัญต่อสิ่งต่างๆอะไรและอย่างไร GotoKnow และ Useable Lab สามารถเป็นช่องทางเชื่อมโยงพลังของปัจเจกในการขยายผลและปฏิบัติการเชิงสังคม ให้ความริเริ่ม ความสร้างสรรค์ บทเรียน องค์ความรู้และภูมิปัญญาการปฏิบัติ จากปัจเจกและกลุ่มคนจำนวนเพียงเล็กน้อย ให้สามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาวะของชุมชนใระดับต่างๆได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งให้การเรียนรู้ต่อสภาวการณ์ของสังคมไทยและความเชื่อมโยงอันกว้างขวางกับความเป็นจริงของสังคมโลกทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างไร

กลุ่มบล๊อกเกอร์ที่เข้าร่วมเวที จำนวน ๑๓ คน ซึ่งต่างก็เป็นคนทำงานจากหลายสาขาและมาจากหลายแหล่งของประเทศ คือ

  • รองศาสตราจารย์นายแพทย์จิตเจริญ ไชยคำภา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : JJ
  • อาจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : นายเต็มศักดิ์  พึ่งรัศมี
  • อาจารย์นายแพทย์สกล สิงหะ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : Phoenix
  • ดร.อโณทัย โภคาธิกรณ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : โอ๋-อโณ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : ธวัชชัย ปิยะวัฒน์
  • ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : จันทวรรณ ปิยะวัฒน์
  • คุณพนัส ปรีวาสนา นักกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : แผ่นดิน
  • ดร.ยุวนุช ทินลักษณ์ นักวิชาการอิสระ : คุณนายดอกเตอร์
  • คุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์ นักพัฒนายุทธศาสตร์องค์กร บริษัทปูนซีเมนต์ไทย : คนดอย
  • เนรศ หอมหวล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปากพะยูน จังหวัดพัทลุง, เครือข่ายคนทำงานสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน : วอญ่า 
  • คุณจตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร นักวิชาการอิสระและนักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล : จตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล : วิรัตน์ คำศรีจันทร์
  • คุณธวัช หมัดเต๊ะ ที่ปรึกษาพัฒนาการเปลี่ยนแปลง (Change and Empowering Officer) สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาสังคม หรือ สคส : ธ วั ช

กลุ่มบล๊อกเกอร์ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ต่างเป็นผู้มีแนวการเขียนและปฏิบัติการเชิงสังคมโดยใช้บล็อก GotoKnow เชื่อมโยงบทบาทตนเองกับสังคมวงกว้างในขอบเขตที่มีความเป็นสาธารณะที่ใหญ่กว่าภายในองค์กรเชิงเดี่ยว สานสำนึกสาธารณะของตนเองเข้ากับความเป็นสาธารณะที่ข้ามขีดจำกัดได้ด้วยตนเองได้อย่างกว้างขวาง มีบทบาทในการทำงานที่ไม่เพียงกล่าวได้ว่ามีภูมิรู้และมีความโดดเด่นในสาขาวิชาชีพของตนเท่านั้น ทว่า มีลักษณะที่เหมือนกันทุกคนคือ มีความสามารถเชื่อมโยงบทบาทการทำงานเข้ากับการสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมอย่างกว้างขวางในหลายมิติของชีวิต ทั้งการทำงานและการดำเนินชีวิต ผสมผสานไปด้วยการเรียนรู้และพัฒนามรรควิถีแห่งการอุทิศตน การพัฒนาและยกระดับโลกด้านในของตนผ่านการทำงานเพื่อผู้คนด้วยความสามารถฝในการปฏิบัติของตนตลอดเส้นทางชีวิต หากจะกล่าวว่าต่างมุ่งปฏิบัติเข้าถึงธรรมผ่านการทำงานก็คงจะได้

ทุกท่านทำงานอยู่ในหลายสาขา ทั้งในสาขาสุขภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข เทคนิคการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ การบริการ การวิจัย การศึกษา การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ การพัฒนาระบบปฏิบัติการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนากิจการนักศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น การสื่อสารวิทยาศาสตร์ การพัฒนาความรู้และการจัดการความรู้ในสังคมไทย ต่างมีความรอบรู้ และมีประสบการณ์ทำงานด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เป็นวิทยากร และเป็นวิทยากรกระบวนการหลายระดับในสาขาการทำงานของตน เปรียบเสมือนหนังสือตำราที่มีชีวิตเล่มใหญ่หลายเล่ม ที่เดินเข้ามาสู่เวทีสานความรู้และหลอมรวมบทเรียนอันหลากหลาย ให้เป็นภูมิปัญญาปฏิบัติชุดหนึ่งของสังคม

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้วิธีที่เรียบง่าย สบายๆ ช่วยกันทำและช่วยกันดำเนินการ ใครสามารถเป็นผู้นำและแบ่งปันวิธีการที่ดีในแต่ละขั้นตอนใดได้ก็ช่วยนำเสนอและดำเนินการให้กับเวที ทีมงานของ GotoKnow และ Useable Lab คอยทำงานจัดการและอำนวยความสะดวกอยู่เบื้องหลัง พร้อมกับนั่งสังเกตการณ์เรียนรู้ไปด้วยอยู่ตลอดกระบวนการ

                         

รูปแบบและกระบวนการ : เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ใช้เวลา ๑ วันเต็ม ๐๙.๐๐-๑๗.๓๐ น. โดยใช้รูปแบบนั่งล้อมวงสนทนา ประกอบด้วยกระบวนการต่างๆที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้พัฒนาการไปเองได้อยู่ตลอดเวลา โดยสรุปคือ

  • สร้างจุดหมายร่วมสำหรับเวที : นำเข้าสู่รายการ บอกกล่าวความเป็นมา และจัดวางบรรยากาศการสนทนาให้มีความสบาย เป็นตัวของตัวเอง และให้พลังแก่การแแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดย คุณจตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร และอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์
  • เตรียมตนเองให้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้เป็นกลุ่ม : ทำสมาธิแบบ Guided Meditation เพื่อทำจิตใจให้ละเอียด แยบคาย มีกำลังต่อการนำมาใช้ทำงานสร้างสรรค์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที โดยมีอาจารย์นายแพทย์สกล สิงหะ อาสาเป็นผู้ดำเนินการให้เวที
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเสริมพลัง : นั่งสนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างต่อเนื่อง
  • สานเครือข่ายสังคมและสร้างโอกาสแก่ผู้คน : จัดให้มีนวดแผนไทยให้ผู้ร่วมเวทีได้ใช้บริการ และหลังเสร็จสิ้นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วก็มีการเชิญบล๊อกเกอร์ในภาคใต้ให้ได้มาพบปะสังสรรค์กัน
  • ระดมทุน : ร่วมกันระดมทุนเพื่อมอบให้แก่แนวคิดการเป็นสะพานบุญของ ดร.ยุวนุช ทินลักษณ์ หรือคุณนายดอกเตอร์ ไปสนับสนุนการสร้างวัดและสถานปฏิบัติธรรมในชุมชนนาแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กลุ่มบล๊อกเกอร์และผู้เข้าร่วมเวที นอกจากล้วนเป็นผู้คุ้นเคยกับวิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแนวทางดังกล่าวนี้มากเป็นอย่างยิ่งแล้ว ก็เป็นผู้มีท่าทีของผู้เปิดกว้างต่อการเรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลาย ทำให้กระบวนการต่างๆดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนกลุ่มผู้คนที่นั่งสนทนากันบนชานเรือนและลานกว้าง รู้จักหวะของกันและกัน รับและส่งประเด็นกันได้อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมหลายมิติ

ตามประสบการณ์ของผู้เขียนแล้ว เรื่องราวและเนื้อหาสาระที่ได้นำมาสานกันขึ้นเป็นความรู้การปฏิบัติที่เกิดขึ้นในเวทีนี้ หากใช้รูปแบบจัดเป็นหัวข้อและเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาบรรยาย แม้จะจัดเป็นเวิร์คช็อปหลายวันและใช้ผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมเวทีนี้สัก ๒ เท่า ก็เชื่อว่าจะไม่สามารถครอบคลุมสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นจากเวทีคร้งนี้ซึ่งทั้งมีความรอบด้านและลงลึกไปจนถึงมีกรณีตัวอย่างจากการปฏิบัติให้เข้าถึงได้อย่างลึกซึ้งได้อยู่ตลอดเวลา เป็นเวทีหนึ่งที่กลุ่มผู้สร้างการเรียนรู้ไปด้วยกันมีประสบการณ์กว้างขวางและล้วนเป็นผู้เรียนรู้ที่มีพลังมากอย่างยิ่ง

                        

สถานที่และ Setting : GotoKnow ขอใช้บ้านของอาจารย์หมอเต็มศักดิ์ พึ่งรัศมีเป็นแหล่งจัดเวทีพบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครั้งนี้ อาจารย์หมอเต็มศักดิ์เป็นครูแพทย์ที่บุกเบิกการแพทย์และการดูแลรักษาผู้ป่วยในบั้นปลายของความเจ็บป่วยขั้นวิกฤติหรือ Palliative Care ของประเทศด้วยการผสมผสานศาสตร์ของการดูแลบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ สุขุม มีความสงบเยือกเย็น นอบน้อม อ่อนโยน ท่านปลูกบ้านอยู่ท่ามกลางแมกไม้ไกลออกไปจากย่านความแออัด เป็นบ้าน ๒ ชั้นเล่นระดับเป็นเรือนหมู่เครื่องไม้ถือปูนทรงปั้นหยา โปร่งโล่ง ออกแบบพื้นที่ีใช้สอยและตบแต่งทุกมุมอย่างมีศิลปะ เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมรอบข้างอย่างกลมกลืน เปิดทางให้ลมพัดผ่านกรูเกรียวได้รอบด้าน ไม่มีเหล็กดัดและรั้วลวดหนาม ตาลตัวเมียสองต้นลูกแก่เต็มทะลายขึ้นอยู่ข้างบ้าน ห้องประชุมในบ้านที่ออกแบบไว้รองรับการใช้สอยสำหรับทำงานเชิงสังคมขนาดกำลังพอเหมาะสำหรับคน ๒๐ คน ให้บรรยากาศและจัดวางพื้นที่อย่างเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งของเวทีนี้และกลุ่มอย่างนี้

                        

อาจารย์นายแพทย์สกล สิงหะ และ อาจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาพลังการเรียนรู้ออกจากภาวะด้านในของมนุษย์ โดยเฉพาะในสาขาการแพทย์และการดูแลรักษาผู้ป่วยในบั้นปลายของภาวะความเจ็บป่วยขั้นวิกฤต วิธีคิดสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้เพื่อจัดกระบวนการและเป็นวิทยากรกระบวนการพาผู้คนให้สามารถเข้าไปมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในระดับที่ลึกซึ้งได้นั้น ต้องอดทน เข้าใจ มุ่งให้เกิดความงอกงามและการยกระดับทางจิตใจ หากกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทางการศึกษาไม่สามารถยกระดับจิตใจได้ก็ไม่มีความหมาย ดังนั้น วิทยากรกระบวนการจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อการส่งเสริมผู้คนให้เกิดการเรียนรู้ที่ยากและลึกซึ้งกว่าการเป็นครูที่ใช้วิธีสอนถ่ายทอดความรู้

                         

ดร.อโณทัย แบ่งปันในความเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักเทคนิคการแพทย์ที่ใส่ใจสรรพสิ่งทั้งมวลที่กว้างไกลกว่าห้องแล็บ รวมทั้งเปิดกว้างต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ปัจเจกได้จากประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์และบทเรียนในชีวิตของผู้คนในชนบท คุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์ แบ่งปันการใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยแนวคิดวิธีจัดองค์กรเรียนรู้แบบ Project-Based และการสร้างประสบการณ์ตรงเพื่อเกิดการเรียนรู้จำเพาะตนขึ้นภายในตนเองในแนวทฤษฎีการสร้างความรู้ Constructivism Learning การพัฒนาการเรียนรู้ต้องมุ่งบรรลุยุทธศาสตร์ขององค์กร และวิทยากรกระบวนการต้องมีความรอบรู้ สะสมเทคนิคและเครื่องมือหลากหลายเพื่อเลือกใช้อย่างเหมาะสมโดยมีวาระของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง รวมทั้งการใช้ชุมชนเป็นแหล่งให้ประสบการณ์เพื่อสร้างคนทุกกลุ่มของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย

                        

คุณธวัช หมัดเต๊ะ จาก สคส.แบ่งปันประสบการณ์และการตกผลึกแนวคิดในการเป็นวิทยากรกระบวนการซึ่งดำเนินการกับกลุ่มคนที่หลากหลายสาขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับผู้บริหารและผู้กำกับกลไกสำคัญในองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ลักษณะกลุ่มคนอย่างนี้ จะมีความชัดเจน เรียนรู้เร็ว ความคิดแม่นยำ แหลมคม เข้าใจและต่อยอดความคิดกันได้ง่าย ทว่า มักไม่ค่อยมีเวลาม่ีส่วนร่วมในกระบวนการให้ต่อเนื่อง อีกทั้งถูกงานประจำดึงความสนใจให้กลับไปสู่งานที่รับผิดชอบได้ง่าย ความเป็นวิทยากรกระบวนการจึงต้องมีศิลปะในการออกแบบกระบวนการและจัดการสิ่งต่างๆได้หลายได้ ต้องมีความสามารถในการเรียนรู้และสรุปประเด็นต่างๆได้เร็ว รอบด้าน และมีข้อมูลความรู้ที่ดี คุณพนัส ปรีวาสนา หรือคุณแผ่นดิน แบ่งปันประสบการณ์ในการดูแลนิสิตเหมือนกับดูแลสังคมที่กว้างใหญ่และมีความหมายมากกว่าเป็นเพียงกิจกรรมนักศึกษานอกห้องเรียน การเป็นวิทยากรกระบวนการที่ใช้ทำงานได้วางอยู่บนทรรศนะต่อการจัดการความรู้จากประสบการณ์ด้วยการเล่าเรื่อง ชีวิตและประสบการณ์ของปัจเจก รวมทั้งปรากฏการณ์ทางสังคมมีเรื่องเล่า การจัดกระบวนการต้องมุ่งส่งเสริมให้นิสิตและผู้คนที่เราพาเรียนรู้สามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆออกมาเรียนู้และแบ่งปันกันด้วยการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นวิถีความรู้ในสังคมมุขปาฐะและเป็นพื้นฐานการเรียนรู้โดยมีความเป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์

                        

                        

คุณเอก จตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร นอกจากเป็นหลักในการโยนประเด็นและจัดวางบรรยากาศให้วงสนทนาเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีความสุขได้อย่างน่าชื่นชมมากแล้ว ก็ร่วมแบ่งปันประสบกาณ์และทรรศนะต่างๆจากการทำงานเหมือนกับเป็นภารกิจแห่งชีวิต การเป็นวิทยากรกระบวนการนั้นเป็นกระบวนการที่สะท้อนออกมาจากภาวะด้านในของปัจเจก วิทยากรกระบวนการจึงต้องมีการพัฒนาโลกด้านในตนเองให้อิ่มเต็ม มีควมสุขอยู่กับตนเอง สิ่งที่ส่งออกไปจึงจะสามารถเป็นเงื่อนไขแวดล้อมให้ผู้อื่นมีพลังต่อการเรียนรู้และงอกงามเติบโต การทำงานต้องให้มีความกลมกลืนเป็นหนึ่งกับความเป็นตัวตนของตนและมุ่งเน้นความเป็นทีมที่เป็นส่วนผสมความหลากหลายและเติมเต็มส่วนขาดของกันและกัน มีท่าทีของการเป็นผู้เรียนรู้และเปิดกว้าง นอบน้อมถ่อมตน และอุทิศตน

                        

รองศาสตราจารย์นายแพทย์จิตเจริญ ไชยคำภา หรือหมอ JJ นอกจากในเวทีก็มีบทบาทในการเป็นวิทยากรกระบวนการอยู่นตัวเองผ่านการเป็นสภาพแวดล้อมและความเป็นกัลยาณมิตรที่เอื้อต่อบรรยากาศแห่งความรักความเมตตาต่อกัน อาจารย์เป็นครูแพทย์ที่มีความอาวุโส ทรงคุณวุฒิ มกด้วยประสบการณ์ รวมทั้งผ่าร้อนผ่านหนาวในชีวิตการทำงานที่ต้องริเริ่ม บุกเบิก และฝันฝ่ามาอย่างต่อเนื่องยาวนานในโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยในภูมิภาคของประเทศ การแผ่พลังความอ่อนโยน เอื้ออาทร และเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดอยู่โดยรอบ ทำให้กลุ่มวิทยากรกระบวนการในเวทีมีความอุ่นใจ ขณะเดียวกัน ก็นำเอาประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรกระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้และยกระดับเชิงคุณภาพของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๒๐ ปีมาร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปัน วิทยากรกระบวนการในบริบทดังกล่าวต้องใช้การทำอย่างเป็นภารกิจของชีวิต อุทิศตนอย่างมุ่งมั่นทุ่มเท อดทนต่ออุปสรรคปัญหา ต้องสร้างเครือข่ายผ่านการเรียนรู้และเชื่อมโยงการทำงานให้เกื้อหนุนส่งเสริมกัน นำอยู่ข้างหลัง ขับเคลื่อนและเป็นสภาพแวดล้อมให้ผู้คนเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ

                        

                        

ดร.ยุวนุช ทินลักษณ์ หรือคุณนายดอกเตอร์ มีประสบการณ์ในการสร้างกระบวนการเพื่อสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่สำคัญใน ๒ ส่วนคือกระบวนทรรศน์ทางวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคนิควิธีที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง วิทยากรกระบวนการต้องมุ่งให้ผู้คนเข้าถึงระบบวิธีคิดซึ่งเป็นทรรศนะแม่บทของ Practical Wisdom หรือภูมิปัญญาปฏิบัติซึ่งลึกซึ้งมากกว่ามิติความรู้ และความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องซึ่งจะไม่มีความแยกส่วนเด็ดขาดจากระบบความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การผสมผสานวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องมิใช่เพียงการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นส่วนเสริม แต่วิทยาศาสตร์ต้องเข้าไปเสริมความจำเพาะของภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการจัดกระบวนการนั้น วิธีการที่เข้าถึงจิตใจ ก่อให้เกิดความเบิกบาน รื่นรมย์ใจ ต้องเน้นการได้จิตใจที่ละเอียดประนีตซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้กิจกรรมและวิธีการที่ให้ความสนุกครึกครื้นแต่ขาดความลึกซึ้งแยบคาย

                         

                        

                        

ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ แม้จะอยู่ในช่วงที่คนที่รักและคนรอบข้างขอให้ถอยห่างออกจากงานที่เกินขีดจำกัดของสุขภาพเพื่อฟื้นฟูตนเองในช่วงที่ทุกอย่างได้กลับสู่ภาวะปรกติเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็หาโอกาสแวะเวียนมาร่วมสนทนาแบ่งปันกับหมู่มิตรและผู้ที่ผูกพันเป็นญาติทางวิชาการกันอยู่เป็นระยะๆ อาจารย์แบ่งปันทรรศนะและประสบการณ์ในการริเริ่มและบุกเบิกสาขาวิชา Computer Science 

ในวงวิชาการของประเทศไทยและในวงวิชาชีพต่างๆนั้น มักคุ้นเคยกับสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ไม่เข้าใจและไม่เห็นความแตกต่างระหว่างธุรกิจคอมพิวเตอร์กับสาขา Computer Science ในการริเริ่มการวิจัยและพัฒนาเวทีทางวิชาการ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาให้แพร่หลายในสังคมไทยจึงมีข้อจำกัด การทำงานในระยะที่ผ่านมาจึงวางอยู่บนพื้นฐานของการมีใจรักและมุ่งมั่นสร้างสิ่งที่สังคมขาดแคลน

อาจารย์ให้ความสนใจต่อการมองไปข้างหน้าโดยมุ่งเชื่อมโยงระบบปฏิบัติการของ GotoKnow เข้ากับเว็บระดับโลก รวมทั้งตั้งคำถามอยู่กับตนเองอยู่เสมอว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่สามารถมี Search Engine เป็นของตนเองและเป็นที่นิยมระดับโลกบ้าง

                        

ผมได้มีโอกาสพบปะและคารวะอาจารย์ Umi แห่งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และได้เว้าลาวกับท่านด้วย ม่วนหลาย

                        

การพบปะสังสรรค์กันทำให้สนุกอย่างมีความหมายไปด้วยโดยจัดให้เป็นกิจกรรมระดมทุน ร่วมทำบุญกับโครงการสะพานบุญของ ดร.ยุวนุช ทินลักษณ์ เพื่อนำไปสนับสนุนชุมชนบ้านนาแพรกสร้างวัดและสถานที่ปฏิบัติธรรมที่สามีของท่านและโดยการประสานงานของท่าน ได้ไปช่วยชุมชนออกแบบทางสถาปัตยกรรมให้มีความกลมกลืนกับชุมชนและวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การออกแบบ จัดวาง และทำให้ทุกอย่างเป็นโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติการเชิงสังคมได้อยู่ตลอดเวลา เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สะท้อนอยู่ในบทเรียนจากประสบการณ์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีนี้แทบจะทุกคน

                        

เฒ่าวอญ่า : นเรศ หอมหวล แบ่งปันประสบการณ์ที่เสมือนกับเดินทางไกลตลอดห้วงชีวิต กระบวนการเรียนรู้ การอ่าน การทำงานอาสาชุมชน การสัมพันธ์กับเพื่อน หมู่มิตร สมาชิกในครอบครัว ตลอดจนประชาชนและผู้คนรอบข้าง เหล่านี้ เป็นมิติหนึ่ของชีวิตจิตใจในความเป็นวิทยากรกระบวนการ การมีสภาพแวดล้อมที่สร้างเสริมกำลังใจ นับแต่เพื่อน ลูก ภรรยา ตลอดจนเครือข่ายบล๊อกเกอร์และเครือข่ายที่พานพบจากการทำงาน เป็นวิทยากรกระบวนการที่เกื้อหนุนและเอื้ออำนวยการเรียนรู้อย่างมีพลังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งปวง

ประชาชนและชุมชนต้องเคลื่อนไหวกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม ต้องเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์จากความทรงจำชาวบ้าน เมื่อมีประสบการณ์ระดับหนึ่งก็ต้องมุ่งยกระดับให้นำเอาประสบการณ์มาเรียนรู้และพัฒนาวิธีสร้างความรู้ที่เหมาะสม วิทยากรกระบวนการจะช่วยให้ชุมชนพัฒนาตนเองและบันทึกความรู้จากประสบการณ์ตนเองได้เป็นอย่างดี

บทเรียนและการเรียนรู้แบบครูพักลักจำจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้

การแบ่งปันประสบการณ์และนำเอาบทเรียนที่สั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเวทีครั้งนี้ ผู้เขียนได้ความประทับใจและได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของกลุ่มบล๊อกเกอร์ GotoKnow มากมาย ซึ่งบางส่วนก็อยากตั้งเป็นข้อสังเกตและบันทึกแง่มุมที่น่าสนใจไว้บางประการ ดังนี้

  • สำนึกต่อสังคมและความเป็นพลเมือง : ประสบการณ์ในการเป็นวิทยากระบวนการในสาขาวิชาชีพของบล๊อกเกอร์ทุกคนมีลักษณะร่วมกันในความเป็นผู้ใส่ใจต่อสังคม มุ่งเชื่อมต่อกับสังคมด้วยการเป็นผู้ริเริ่มและลงมือปฏิบัติในเงื่อนไขชีวิตและการงานของตน แนวคิด และวิธีทำงานต่างๆมักสะท้อนความใส่ใจต่อการร่วมสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวม
  • ความเป็นวิทยากรกระบวนการด้วยจิตวิญญาณและมรรควิถีแห่งชีวิต : ทุกคนมีลักษณะร่วมกันในการให้ความสำคัญต่อการมีความรู้ที่เป็นตัวของตัวเอง บ่มสร้างพลังทางปัญญาปฏิบัติที่เข้มแข็ง มีความแจ่มชัดในสิ่งที่ตนเองมุ่งปฏิบัติและเรียนรู้ แข็งแกร่ง แต่อ่อนน้อมถ่อมตน มุ่งพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งพลังอำนาจภายนอกที่จะทำให้ไม่สามารถพึ่งตนเองทางการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ความริเริ่มด้วยตนเองหลายสิ่งที่ทำด้วยความสำนึกว่าจะก่อเกิดผลดีต่อผู้อื่น สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องบนเส้นทางชีวิตและการงาน
  • พลังใจและพลังสนับสนุนในครอบครัวและคนใกล้ชิด : ทุกคนมีแรงสนับสนุนอยู่เบื้องหลังในลักษณะที่คล้ายกัน เช่น จากแม่ ลูก ภรรยา สามี พี่น้อง เครือญาติ และผู้คนที่เคารพนับถือกันในชุมชน ทั้งในแง่การให้ความเข้าใจ การให้กำลังใจ การเป็นเพื่อนร่วมคิดและร่วมริเริ่มทางการปฏิบัติบนวิถีชีวิตตนเอง
  • ความมีประสบการณ์ทางสังคมและประสบการณ์การใช้ชีวิต : ทุกคนจะมีพื้นฐานของการเป็นผู้มีประสบการณ์ต่อสังคมและเป็นผู้มีโอกาสในการเผชิญชีวิตที่ต้องนำตนเอง ในระหว่างการศึกษาเล่าเรียนก็จะเป็นนักกิจกรรม เป็นผู้นำ มีความเป็นตัวของตัวเอง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาชีพของตนและการเคลื่อนไหวกับภาคสาธารณะ ซึ่งเป็นไปได้ว่าความเป็นวิทยากรกระบวนการในอีกมิติหนึ่งก็สื่อสะท้อนถึงขั้นตอนของการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นผู้มีประสบการณ์และอิ่มตัวต่อการใช้ชีวิตเพิ่มมากยิ่ง 
  • การมีประสบการณ์กระทบถึงจิตใจและทรรศนะวิถี : ทุกคนจะมีขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งในชีวิตที่ได้เกิดประสบการณ์ตรงที่แรงพอต่อการก่อให้เกิดความสะเทือนใจทั้งในเชิงบวกและเชิงลบอย่างลึกซึ้ง ทำให้ทรรศนะพื้นฐานต่อตนเอง ความหมายแห่งชีวิต และต่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางเข้าใจชีวิตและมีความเชื่อมั่นในตนเอง
  • ความมีวิธีคิดในการหาประสบการณ์การเรียนรู้ : ทุกคนมีลักษณะร่วมกันที่น่าสนใจมากอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ จะมีวิธีคิด ความรู้ และความสามารถอธิบายออกมาจากจุดยืนของตนเองได้อย่างเป็นระบบจากประสบการณ์ชีวิตและการงาน หาความหมาย คุณค่า และแง่มุมที่ให้การเรียนรู้จากสิ่งต่างๆได้อยู่ตลอดเวลา
  • ความมีรสนิยมต่อการอ่าน ศิลปะ และวรรณกรรม : ทุกคนมีนิสัยติดตัวและเป็นผู้มีรสนิยมต่อการอ่าน การซาบซึ้งต่อศิลปะ สื่อศิลปะ ภาพยนต์ งานวรรณกรรม รวมทั้งงานสร้างสรรค์เพื่อหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณและสติปัญญาความตื่นรู้ด้านในของมนุษย์ มีทรรศนะวิพากษ์ต่อการเสพและบริโภคสิ่งสร้างสรรค์ของมนุษย์ ทำให้สามารถสร้างทรรศนะ ความรู้ และประเด็นการคิดเชื่อมโยง ที่ก่อให้เกิดพลังการคิดที่รอบด้าน เป็นกลุ่มคนที่มีพลังความเป็น Art and Media Literacy เป็นอย่างยิ่ง
  • ความมีอุดมคติต่อชีวิต สังคม และการทำการงาน : ต่างมีโลกทัศน์และชีวทัศน์จำเพาะตน สามารถสื่อสะท้อนความเป็นชีวิตจิตใจและการอุทิศตนต่อการทำงานในสาขาวิชาชีพของตนด้วยกรอบการคิดเชิงอุดมคติ ซึ่งโดยมากก็จะต่างออกไปจากกระแสหลักของสังคม ทำให้มีมิติการเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มหรือทำอย่างแตกต่างในสาขาวิชาชีพของตนในระดับต่างๆ
  • พื้นที่การมีบาทและเคลื่อนไหวสังคม : มีพื้นที่การเชื่อมโยงบทบาทตนเองที่ผสมผสานทั้งในชีวิตส่วนบุคคล ในองค์กรการทำงาน และในสังคมวงกว้าง ทั้งโดยการปฏิบัติและโดยผ่านเว๊บบล๊อก
  • การทำงานระดับออกแบบทางวิธีคิด : ทุกคนจะมีความสามารถทำงานเชิงออกแบบวิธีคิดในเงื่อนไขแวดล้อมที่หลากหลาย บนพื้นฐานความรู้และทฤษฎีการปฏิบัติทั้งจากประสบการณ์ตนเองและจากการศึกษาค้นคว้าอย่างรอบรู้
  • ความสามารถสร้างความรู้เพื่อใช้ปฏิบัติ : จะเป็นผู้สังเคราะห์บทเรียนจากการปฏิบัติและสามารถบันทึก ถ่ายทอด สะสม ในแนวทางของตนได้อยู่เสมอ
  • การเรียนรู้และสะสมเครื่องมือการทำงานที่หลากหลาย : จะเป็นผู้มีประสบการณ์ต่อการใช้เครื่องมือและเทคนิควิธีการทำงานที่หลากหลาย สะสมเป็นคลังประสบการณ์ เข้าถึงเหตุผลและหลักการเบื้องหลังได้อย่างเป็นระบบ ทำให้เป็นผู้มีเทคนิคและวิธีทำงานที่ยืดหยุ่น หลากหลาย

บทบาทของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในลักษณะนี้ของเครือข่ายบล๊อกเกอร์ในอีกแง่หนึ่งที่สำคัญมากก็คือการเป็นเวทีสร้างคนจากหลากหลายสาขาอาชีพให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งระดับวิธีคิดและระดับปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งของการประมวลผลประสบการณ์ของคนทำงานและสร้างความรู้ขึ้นมาใช้สำหรับเป็นแนวคิดชี้นำการปฏิบัติและเพิ่มพูนเป็นพลังความริเริ่มอันหลากหลาย สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันของสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 432094เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2011 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (40)

มาชม....ชื่นความงดงาม....ที่ถือเป็นแบบอย่างของคนคิดดีเพื่อส่วนรวมนะคะ.....

มาชม

คนดังของชาวเราGotokhow  ครับผม

หายเหนื่อยรึยังครับ...

ยินดีที่ได้รู้กันครับผม

รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ไปร่วม แต่ก็ยินดีมาก ๆ ครับ  ที่เสียดายมาก ๆ คือ ไม่ได้เจอคุณธวัช

เพราะจากกันนับสิบปี เจอกันครั้งสุดท้ายในงานให้การศึกษาอบรมผู้นำสหกรณ์โครงการของ มูลนิธิแฮนไซเดล ของ ดร.เปรม บุญเรือง

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

หนูรีแวะมาเยี่ยม หายเหนื่อยแล้วยัง อย่าลืมพักผ่อนน่ะค่ะ

ยินดีและดีใจที่ได้เจอตัวจริงเสียงจริง ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์

เคยวาดหวังและคุยกับอาจารย์ ขจิตว่า  มีโอกาสจะแวะไปเวทีหนองบัวหนองบัวโมเดล คือชุมชนสุขภาวะที่วาดหวังครับอาจารย์

The art of instruction that strikes a balance between learning content and learning process is also referred to as the art of facilitation. "To facilitate" means "to make easy". The effective adult instructor has to be an effective facilitator.Thank you for all Facilitator >

Jatuporn Wisitchotiaungkoon

ยิ่งฟังท่านอื่นๆ สะท้อนเรื่องเล่า ยิ่งทำให้ตัวเองเห็นร่องรอยการเดินทางของตัวเองชัดขึ้น ทั้งในระยะทางและรอยเท้าที่ประทับลงบนเส้นทางว่าหนักหรือเบาสักแค่ไหน

งานครั้งนี้, ผมเห็นตัวตนของตัวเองชัดมากขึ้น และที่สำคัญเห็นเรื่องราวของตัวเองที่ละม้ายคล้ายอาจารย์ฯ อยู่หลายเรื่อง ทั้งในเรื่องชุมชนและบ้านเกิด

ผมมีความสุขมากครับ -

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์..

งดงามมาก ๆ ค่ะ..ขอบพระคุณค่ะ..^_^

 

ธรรมมะจัดสรรให้ 13 คน มาพบกัน ทุกคนล้วนมีประวัติความเป็นมาสุดยอด

เป็นวิทยากรกระบวนการหลายระดับในสาขาการทำงานของตน เปรียบเสมือนหนังสือตำราที่มีชีวิตเล่มใหญ่หลายเล่ม ที่เดินเข้ามาสู่เวทีสานความรู้และหลอมรวมบทเรียนอันหลากหลาย ให้เป็นภูมิปัญญาปฏิบัติชุดหนึ่งของสังคม

สวัสดีค่ะ

เห็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นกันเอง

มีโอกาสได้พบ อ. JJ แล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้พบท่านอื่นๆเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ..เป็นอีกเวทีหนึ่งแห่งความอบอุ่นด้วยมิตรภาพและการ ลปรร.ที่สะท้อนพลังแห่งความสุขและการให้ที่ต่อเนื่องนะคะ..รออ่านเนื้อหาค่ะ..

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

หนูดีใจมากๆ ที่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้และได้พบกับอาจารย์ในกิจกรรมครั้งนี้ค่ะ แต่ว่าแอบเสียดายอย่างนึง ลืมขอถ่ายรูปคู่กับอาจารย์ เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกค่ะ ^_^

ขอบคุณอาจารย์มากๆ นะคะ ที่ได้มอบความกรุณาในการเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ค่ะ

ขอบคุณเรื่องราวดี ๆที่อ..นำมาล่าและสรุปให้อ่าน และมองเห็นภาพแต่ละท่าน

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ประทับใจมากเลยละครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ Umi ครับ
กลับไปถึงบ้านก็สบายๆครับอาจารย์
ดีใจที่ได้คารวะอาจารย์และได้งานนี้ได้ทำสิ่งดีๆด้วยกันเยอะแยะเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณกัลกีครับ
คุณธวัชมีประสบการณ์ตลอดชีวิตการทำงานที่ดีมากจริงๆ
วิถีการทำงานก็น่าชื่นชมมากครับ

สวัสดีครับอาจารย์วิรัตน์

  เป็นการรวมปราญผู้มีความรู้จริงๆ ครับ  เป็นเวทีแห่งความรัก ความอบอุ่นของชาวเราอีกเวลาที่น่าประทับใจมากครับ

อ่านแล้วเหมือนลอยถอยออกจากวง หรี่ตาลงข้างหนึ่ง ปรับ focus ลึกทะลุลงไปในตัวตนของบุคคลเลยครับ ยังกับฉากในภาพยนต์ matrix ที่พบว่าผู้คนที่แท้นั้น ร่างกาย ตัวตน ก็ประกอบด้วยคลื่นรหัสต่างๆวิ่งวนเวียนไปมา (ฉากเกือบสุดท้ายที่ Neo "เห็น")

ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เกิด เกิดขึ้น และกำลังจะเกิด โดยเฉพาะจากบทความนี้เป็นการ "ช้อน" หลัง ws ที่งดงามมากครับ

อาจารย์เขียนได้สมกับที่ทำงานวิเคราะห์วิจัยทางสังคมมากๆเลยค่ะ ประทับใจตั้งแต่นั่งฟังอาจารย์เล่าเรื่องและวิธีคิด วิธีมองสิ่งต่างๆ เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้รับรู้

เข้าใจแล้วว่าทำไมหนังสือที่อาจารย์เขียนจึงทำให้เราอ่านได้เพลิดเพลิน มีจิตวิญญาณแทรกอยู่ทุกตัวอักษร ขอบคุณมากๆค่ะสำหรับบันทึกดีๆที่อ่านแล้ว เราผู้โชคดีได้อยู่ในเหตุการณ์เหมือนได้ถอดวิญญาณออกมาดูตัวเองและเพื่อนผู้ร่วมวงทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง

ขอขอบคุณดอกไม้จากทุกท่านครับ
จากอาจารย์ณัฐพัชร์  ดร.โอ๋-อโณ
อาจารย์ ดร.จารุวัจน์ อาจารย์  Bee Man
พี่ใหญ่-นงนาท สนธิสุวรรณ  ท่านอาจารย์ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์
วอญ่า คุณเอกจตุพร คุณครูคิม (หมู่นี้พี่คิมหายไปไหนหรือเปล่าครับ?)
สีตะวัน  คุณแก้ว-อุบล จ๋วงพานิช คุณประกาย
อาจารย์ umi และยอด Knowledge Worker : คุณมะปรางเปรี้ยว

ขอบพระคุณทุกท่านมากเลยครับที่แวะเวียนมาฝากข่าวคราวและสนทนากัน
ตั้งแต่กลับจากหาดใหญ่แล้วก็ยังไม่มีจังหวะได้หยุดตั้งหลักหายใจหายคอเลยละครับ
เข้ามาเขียนบันทึกถ่ายทอดไว้ได้วันละทีละนิดแต่เดาไม่ออกเลยครับว่าเขียนไปถึงไหนแล้ว
เพราะพอโพสต์แล้วมันก็จะหายไปเลย จะโผล่ให้เห็นอีกก็ในวันรุ่งขึ้น
หรือเมื่อเว้นไปสัก ๑-๒ ชั่วโมงแล้วเข้ามาดูใหม่ ซึ่งบางครั้งมันก็หายไปเลย
ความที่เสียดายข้อมูล บางทีก็เลยต้องก็พยายามหลายรอบเพื่อบันทึกไว้ให้ได้
แต่ไม่มีจังหวะต่อเนื่องที่จะได้เข้ามาตอบเลยครับ กะว่าพอมีจังหวะก็จะเข้ามาคุยครับ

สวัสดีครับหนูรีครับ
ประทับใจและขอชื่นชมหนูรีมากเลยนะครับ
ฟังเรื่องราวของหนูรีแล้วเหมือนกำลังเดินไปในแนวความพอเพียงในชีวิตเลยนะครับ
ขอให้มีกำลังใจและมีเรื่องราวงดงามมากมายมาแบ่งปันอยู่เสมอนะครับ

สวัสดีครับเฒ่าวอญ่าครับ
เฒ่าวอญ่านี่สุดยอดมากจริงๆครับ ทั้งชีวิต การงาน
และการไหลประสบการณ์ชีวิตออกมาเผื่อแผ่แบ่งปันกับผู้อื่น
เป็นหนังสือมีชีวิตที่มีเสน่ห์และน่าอ่านอย่างไม่รู้เบื่อ
ประทับใจความเป็นผู้เรียนรู้และมีชีวิตแบบอุดมคติของเฒ่าวอญ่ามากเลยครับ

สวัสดีครับคุณเอกจตุพร
งานนี้หากเป็นการแสดงคอนเสิร์ตออเครสตร้า
ก็ต้องขึ้นเครดิตไตเติ้ลว่าคุณเอกจตุพรเป็นคอนดัคเตอร์
และ ดร.จันทวรรณ กับ ดร.ธวัชชัย เป็นทีมอำนวยการเวที
ทำให้มีความไพเราะ ผสมผสาน กลมกลืน และลงตัวมากอย่างยิ่ง
เยี่ยมมากครับ ขอชื่นชม

สวัสดีคับคุณแผ่นดินครับ
รู้จักทางบันทึกก็ชื่นชมคุณแผ่นดินมากเลยนะครับ
พอไปเจอตัวจริง ก็ยิ่งประทับใจ ทึ่ง
และต้องขอชื่นชมคุณแผ่นดินมากเข้าไปอีก อีกหลายเท่า
เป็นคนหนุ่มสาวจากชนบทที่น่าภูมิใจ
และเป็นคนทำงานสนับสนุนทางวิชาการในมหาวิทยาลัย
ที่สุดยอด เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่พึงประสงค์มากเลยนะครับ
ขอคารวะและขอเป็นกำลังใจครับ

สวัสดีครับคุณสีตะวันครับ
งดงามมากครับ กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังด้วยครับ
จะหาจังหวะนำมาเล่าถ่ายทอดไว้ด้วยครับ

สวัสดีครับคุณแก๋ว-อุบลครับ
ทุกอย่างดูจะสุดยอดไปด้วยเลยละครับ
การต้อนรับและสันถวะกัน สถานที่ บรรยากาศ สภาพแวดล้อม
รวมทั้งอาหาร ซึ่งเตรียมอาหารของทางใต้
แต่ด้วยรสชาติที่อย่างเราๆกินแล้วไม่อ้าปากเป่าลมผงาบ-ผงาบ
พิพิถันต่อการจัดวางองค์ประกอบต่างๆดีมากเลยครับ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
หากคุณณัฐรดาได้ไปเห็นสถานที่ คือบ้านของอาจารย์หมอเต็มศักดิ์ที่ใช้จัดประชุมครั้งนี้แล้วละก็ ต้องชอบงานศิลปะ และการตบแต่งอย่างมีศิลปะ ซึ่งจะทำให้มีหัวข้อได้คุยแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆกันอย่างไม่รู้เบื่อเลยละครับ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
ตอนนี้เวทีคนหนองบัวจะไปร่วมจัดนิทรรศการร่วมกับเทศกาลงานประจำปี
ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่หนองบัวและหลวงปู่ฤาษีนารายณ์แล้วนะครับ
ได้คุยและเตรียมการกับอาจารย์พนม ผอ.โรงเรียนบ้านหนองไผ่แล้ว
นิทรรศการส่วนหนึ่งก็จะเป็นผลจากคุณูปการของพี่ใหญ่และมูลนิธิสยามกัมมาจล
ที่ได้ให้หนังสือไปเผยแพร่และสนับสนุนให้มีโครงการดีๆที่จะนำไปนำเสนอได้
ต้องขอขอบพระคุณพี่ใหญ่มา ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับมะปรางเปรี้ยวครับ
หายเหน็ดเหนื่อยกันบ้างแล้วหรือไม่นะครับ
ผมได้ความประทับใจมากด้วยเช่นกันครับ
มะปรางเปรี้ยวและทีมก็เป็นความประทับใจมากครับ
เป็น Knowledge Workers ที่น่าชื่นชมมากอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับคุณประกายครับ มานั่งเล่าถ่ายทอดสู่กันฟังนะครับ
ดีใจครับที่ได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจด้วยกันและเข้ามาแบ่งปันทรรศนะกันครับ

สวัสดีครับอาจารย์คุณหลวงเวชการครับ
ในเวทีนี้ การแบ่งปันบทเรียนของอาจารย์หมอเต็มศักดิ์และอาจารย์หมอสกล
หากอาจารย์คุณหลวงเวชการอยู่ด้วย ก็จะต้องเป็นที่สนใจอย่างที่สุดเป็นแน่แท้

สวัสดีครับอาจารย์หมอ Phoenix ครับ
อาจารย์สะท้อนทรรศนะอย่างกับมือวาดภาพด้วยเลนส์กล้อง ผมชอบอ่านงานเขียนของอาจารย์ที่ทำให้ได้ทั้งเนื้อหาและอรรถรสทางศิลปวรรณกรรม ผมเคยออกปากกับน้องๆว่าอาจารย์หมอท่านนี้เขียนหนังสือถ่ายทอดด้านความละเอียดอ่อนของผู้คนและเรื่องราวต่างๆดีจัง พอได้รู้จักตัวตนและความเป็นมาบนเส้นทางชีวิตของอาจารย์ รวมทั้งส่วนหนึ่งที่กำลังดำเนินไปช่วยกันกับอาจารย์หมอเต็มศักดิ์แล้ว ก็เลยหมดความสงสัยครับ สุดยอดจริงๆครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.โอ๋-อโณครับ
ประทับใจที่ได้เจอและได้คารวะตัวจริงอาจารย์ครับ
งดงามและมีพลังชีวิตดีจริงๆครับ ขอบพระคุณทุกสิ่งอย่าง
ทั้งต่ออาจารย์และหมู่มิตรชาว มอ.มากเลยครับ
หากอาจารย์ได้มีโอกาสไปประชุมและทำงานที่กรุงเทพฯ
ก็ขอให้ผมได้มีโอกาสสันถวะบ้างนะครับ

กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ เป็น เวที ที่สองที่เราได้ ลปรร ร่วมกัน นับว่าเป็นโชคและวาสนาครับ รอไว้ NKM6 นะครับ

  • ผมไล่อ่านบันทึกของแต่ละท่านแล้ว เห็น..มุม..ที่เกิดจากการมองที่ต่างกัน แล้วยิ่งเติมมุมของตัวเองให้กว้างขึ้น ขอบคุณอาจารย์มากครับ
  • ไม่อยากให้จับผมเข้าไปรวมอยู่ในกลุ่ม Fa เลยครับ มันเขินๆพิกล ผมทราบแค่ว่า ทาง G2K มาขอใช้สถานที่เท่านั้น

ขอขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากคุณ mee pole 
อาจารย์หมอ JJ และเฒ่าวอญ่าครับ

งานนี้ต้องขอน้อมคารวะท่านอาจารย์หมอ JJ เป็นอย่างยิ่งเลยครับ
อาจารย์เล่าแบ่งปันประสบการณ์ครั้งนี้ทั้งน่าตื่นเต้น ประทับใจ น่าทึ่ง
ที่เหนืออื่นใดคือสปิริตที่มีอยู่ตลอดเวลาต่อผู้คนและสังคมครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอเต็มศักดิ์ครับ
ทำให้นึกเห็นภาพบุคลิกอันแสนสุภาพและถ่อมตนของอาจารย์ได้เป็นอย่างดีเลยครับ
ดีใจที่ได้รู้จักและได้คารวะอาจารย์มากเลยครับ
ชอบบรรยากาศบ้านอาจารย์มากอย่างยิ่งครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ การที่นุชมีโอกาสได้พบกับทุกท่านในครั้งนี้ได้เรียนรู้มากมายและได้รู้จักแต่ละท่านในมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เป็นความรื่นรมย์ของชีวิตนะคะ การที่รู้สึกว่าได้อยู่ในแวดล้อมของคนดีเช่นนี้นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะพบได้ง่ายๆนะคะ กล่าวได้ว่าครบมิติ ความรู้ ความดี ความงามค่ะ

อีกทั้งยังหวังว่าจะได้มีโอกาสพบอาจารย์อีกโดยจะพยายามให้คนข้างกายได้อยู่ด้วยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางในการทำงานกับชุมชน

วันที่ ๖ เมษายน ขอเรียนเชิญอาจารย์ที่โครงการนาธรรมบ้านแพรกด้วยค่ะ หากอาจารย์ไม่ติดธุระที่ไหน คุณเอกก็จะไปค่ะ

สวัสดีครับท่าน ดร.ยุวนุชครับ
ประทับใจเรื่องราวของ ดร.ยุวนุชและสามีมากครับ
ช่างเป็นคู่หูที่เหมาะแก่การทำงานเชิงสร้างสรรค์มากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท