๗. ความงามในความต่าง...Critical and Inspiration Art ในเวที UKM3/2549


......เป็นอีกแนวทางหนึ่งของพลังปัญญาแบบข้ามพ้นถ้อยภาษา ศิลปินและกลุ่มคนวาดรูปที่ทำงานในแนวนี้ในประเทศไทย มีอยู่น้อยคน แต่ก็เข้มข้นและหนักแน่น ....

              ได้มีโอกาสร่วมงานเวที UKM ครั้งที่ 3 ทั้งในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชาวมหิดล..มหาวิทยาลัยเจ้าภาพ  และในฐานะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมเสวนา เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย

             ครั้งนี้ จัดในหัวข้อ การสื่อสารและการจัดการความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่  14-15  กค.49 ที่โรงแรม  เดอะ รอยัล เจมส์  อ.พุทธมณฑล  จ.นครปฐม

 เวทีเรียนรู้ : วิธีที่คนเดินด้วยพลังข้างในที่สะท้อนไปสู่ทุกมิติของงานทางปัญญา

             พวกเรา(ทีมมหิดล) จัดกระบวนการเพื่อให้ทุกมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้  จัดการความรู้บนพื้นฐานประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน พร้อมกับแนะนำ เครื่องมือเชิงกระบวนการคิด คือ แผนภาพการคิด (Mind Mapping) และ การสื่อสาร ในฐานะเครื่องมือจัดการความรู้  เพื่อช่วยเสริมเข้าไปในการจัดการความรู้ ที่นอกเหนือจากการขับเคลื่อนกลุ่มชุมชนปฏิบัติ (Community of Practice) และการเล่าประสบการณ์ที่ภูมิใจ(Story Telling) ซึ่งในเครือข่ายมีภูมิปัญญาปฏิบัติอย่างยอดเยี่ยมมากมายอยู่แล้ว

                     

หน่ออ่อนของธรรมชาติ : การจัดวางด้วยดอกไม้และวัสดุในธรรมชาติจากท้องถิ่น เพื่อสะท้อนการเรียนรู้ชุมชนและสื่อความเป็นองค์รวมของชุมชนด้วยวิธีการทางศิลปะ โดย กลุ่มนักวิจัยชาวบ้านท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเรียนรู้และสร้างความรู้ ปฏิบัติการเชิงสังคมในท้องถิ่น ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม  ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายนักวิจัยบูรณาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นงานจัดวาง ร่วมนำเสนองานเชิงความคิด ในงานเสวนาเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ  ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

            การจัดองค์ประกอบและกระบวนการของเวทีทั้งหมดนั้น  ในส่วนของการเล่าเรื่องต่างๆในความภูมิใจของพวกเราชาวมหิดล คงต้องขอยืมข้อสังเกตของท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ของมหาวิทยาลัยนเรศวร  ด้วยความเคารพ ที่ท่านบอกว่า ชาวมหิดลไม่ได้เล่าเรื่อง  แต่แสดงให้เห็นเลย

            ตรงกับเบื้องหลังการถ่ายทำของคณะทำงานเวทีเสวนา ในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง   เพราะแนวคิดและการนำองค์ประกอบต่างๆมาจัดการทั้งหมดในเวที  ทุกแง่ทุกมุม  ล้วนเกิดจากความพยายามเลือกเฟ้นสิ่งที่จะสะท้อนผลสืบเนื่องจากการพัฒนาแบบข้ามศาสตร์และบูรณาการ  ทั้งการวิจัย การพัฒนาการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม  ซึ่งหลายท่านได้นำมาถ่ายทอดสื่อสารกันเกือบทุกแง่มุมแล้ว

 พื้นที่ทางศิลปะและสุนทรียภาพที่บูรณาการกับการสร้างสรรค์ของมนุษย์

            ทว่า อีกด้านหนึ่ง  ที่ผมอยากนำมาหมายเหตุไว้  ที่นิทรรศการภาพเขียนครับ  โดยเฉพาะภาพของ อาจารย์ไพรวัลย์  ดาเกลี้ยง  (ภาพ..สันติ-สุข) และ อาจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ (ภาพ...สันติภาพ)

            ในจำนวนภาพทั้งหมด  13  ภาพในชุด  ความงามในความต่าง นี้ ถือว่าเป็นภาพเขียนสุดยอดทั้งสิ้น  ทั้งในเรื่องแนวคิด  ความลุ่มลึก และพลังทางศิลปะ แต่เพื่อสามารถลงรายละเอียดบางส่วนได้ จะขอสะท้อนความคิดเป็นพิเศษที่ภาพของอาจารย์ไพรวัลย์ และอาจารย์ถาวร.

             ภาพของอาจารย์ไพรวัลย์นั้น (สันติ-สุข) ถ้าหากติดตามงานของไพรวัลย์  ดาเกลี้ยง มาตลอดกว่า 20 ปีนี้ งานชิ้นนี้ถือว่าตกผลึกความเป็นไพรวัลย์ นับแต่วัยทดลองความคิด แสวงหา กับยามนี้เลยทีเดียว

            ภาพของไพรวัลย์  เป็นภาพหญิงสาวชาวมุสลิม  เป็นภาพครึ่งตัวและเอียง 45 องศาตามเกณฑ์มาตรฐานของการเขียนพอตเตรท ใครเห็นก็คงนึกถึงภาพเหมือน  หรือภาพพอตเตรท แต่ถ้ารู้จักงานของไพรวัลย์  บวกกับการให้สี และการเล่นกับมิติบนระนาบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไพรวัลย์มาแต่ไหนแต่ไร  ก็พอจะรู้ว่าไพรวัลย์กำลังสื่อสะท้อน  บอกเล่าถึงความสะเทือนใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ร่วมของสังคมในกรณีภาคใต้ของประเทศไทย หาใช่ภาพพอตเตรทไม่ 

 ความแตกต่างของสังคมวัฒนธรรมที่เล่าใหม่ด้วยภาษาศิลปะและความงาม

           ภาพหญิงสาว ชาวใต้-มุสลิม สื่อถึงหลายอย่างของภาคใต้ที่มักเปรียบเปรยกันว่า เป็นไข่มุกเอเชีย ไพรวัลถ่ายทอดโดยสิ่งที่คนดูงานของเขารู้ดีว่าไม่มีใครเทียบ คือ การเขียนความมีเลือดเนื้อ ความมีชีวิต  ทว่า  หญิงสาวในภาพของไพรวัลย์...นัยตามองมายังผู้ดู  นิ่งเฉย  ไม่พูดคุย  ไม่เรียกร้อง  ไม่แสดงความทุกข์  ความอ่อนไหว  เงียบงันอยู่เบื้องหน้าผู้ดู

         ยิ่งไปกว่านั้น  ทุกจุดและทั้งภาพของเขา  คุมโทนไว้ทั้งหมดด้วยวิธีที่คนเขียนรูปรู้ดีว่านี้เป็นวิธีของจ้าวพ่อแห่งสี  รู้จักและทำได้ดังใจแบบเข้าถึงวิญญาณของมัน เขาเบรคสีทั้งหมดด้วยวิธีเฉด (Shading)...แทรกสีดำและความหม่นไหม้ลงไปในทุกอณู  ดังนั้น  ความเยาวภาพและพลังสังคมที่สามารถงอกงาม  เติบโต  ประดุจหญิงสาว  แท้จริงบอกเล่าถึงความหม่นหมอง

         ในทางเทคนิคแล้ว  น้อยคนนักที่จะสามารถเล่นเทคนิคนี้ได้เหมือนอย่างไพรวัลย์  เทคนิคนี้คนอื่นอาจใช้เพื่อสื่อความคิดและอารมณ์ภาพในความหมายอื่น แต่ไพรวัลย์เติบโตมาจากมือเขียนภาพแบบเหนือจริง (Surrealism) และโคตรเหมือนจริงตามภาษาของนักศิลปะ (Super Realistic) อีกทั้งเชี่ยวชาญในการผสมผสานการเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างมิติบนระนาบ   เพื่อสื่อสารภาวะทางวัตถุกับจิตใจ  พื้นที่-รูปทรงกับความว่าง ความจริงกับความลวง  ปัจจุบันกับอนาคต  ความทรงจำ  ภาวะไร้สำนึก ...เขาจึงนำมาใช้ได้อย่างลุ่มลึกเกินใคร

         การเล่ารายละเอียดภายใต้น้ำหนักของเงานั้น  โดยปรกติแล้ว  มักต้องการสื่ออารมณ์อันสงบนิ่งเมื่อเรามองย้อนแสง  หากเป็นภาพหุ่นนิ่ง  ก็เป็นภาพที่ต้องการแสดงบรรยากาศและสีสัน  ซึ่งจะต้องเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมด้วยการเติมความคิดเข้าไปด้วย  (สีต่างๆจะถูกเบรคให้หมดค่าสี หรือหมดความเป็นบางสิ่ง (Thing) โดยตัวมันเองเพียงลำพัง

         การที่คนดูสามารถเห็นสีสันต่างๆนั้น เกิดจากการปรุงแต่งทางการรับรู้ของผู้ดูเอง ภายใต้ความแม่นยำในการกุมโทนสีของศิลปิน) เป็นการสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมิติที่แตกต่างด้วยภาพจิตกรรม  ซึ่งเป็นเทคนิคบนระนาบเดียว...

         เป็นโจทย์ที่เล่นยาก คนหัดเขียนรูปเห็นเทคนิคนี้แล้ว จะพูดได้อย่างเดียวว่ามันเป็นเทคนิคของเซียนเขาเล่นกัน

         หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นการจัดวางเล่นกับทิศทางของแสงเงากับมุมมองของผู้ชม ทำให้ภาพบนพื้นที่ขนาดเล็ก กลายเป็นพลังยิ่งใหญ่ เนื่องจากการจัดมุมและพื้นที่ส่วนใหญ่ของเงา จะทำให้ดูประหนึ่งว่ามีเงาทาบทับลงไปบนคนดู จนคนดูไม่รู้สึกถึงความจำกัดของกรอบภาพ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาบนระนาบด้วยเทคนิคของแสง-เงา เช่นภาพ นกแสงตะวัน  ของสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  วิธีสื่อความสัมพันธ์ระหว่างมิติ ที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมด้วย  ด้วยเทคนิคการเขียนแบบ Silhouette ในชุด Such-art Mania  เมื่อสอง-สามปีที่ผ่านมา  ผมได้ไปสัมผัสกับสภาพจริงในการจัดแสดงด้วย ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นการทำ Art Installation ด้วยภาพจิตรกรรม เพื่อสื่อสะท้อนระดับความคิดรวบยอด (Conceptual) ที่ผู้ชมจะต้องร่วมสร้าง

          ภาพของไพรวัลย์  เหมือนภาพจิตรกรรมธรรมดา แต่ถ้าใครสังเกต จะเห็นว่า  กรอบภาพของเขา  เขาเขียนรายละเอียดและคุมน้ำหนักสีไว้  ตรงนี้คือความเป็นไพรวัลย์ในการเล่นกับมิติที่หลากหลายด้วยเช่นกัน  คนดูทั่วไปอาจดูด้วยความเคยชิน มองด้วยกฏเกณฑ์ที่ฝังหัวว่ามันคือกรอบภาพ มีขอบเขตไปโดยอัตโนมัติว่าตรงนี้เป็นภาพ ตรงนี้เป็นกรอบภาพ 

           บางมุมมองก็พอเห็นว่าเป็นรูป และเป็นกรอบ แต่เมื่อมองให้ละเอียดแล้ว  อีกด้านหนึ่งมันก็ต่อเนื่องเป็นภาพเดียวกัน....มันคือความงามของความต่างโดยแท้  ที่ไพรวัลย์เล่าแบบวิพากษ์รากเหง้าทางความคิดของยุคสมัยอยู่ในที  

          สาระของภาพแบบนี้ควรจะเรียกว่า Critic and Inspiration Art เพราะภายในการบอกเล่านั้น มีประเด็นที่มุ่งแสดงทรรศนะที่เห็นต่างจากคนทั่วไปของจิตรกร ซึ่งก็คล้ายกับภาพสงครามกลางเมืองของ ดาลี ภาพแนวนี้ที่คนทำงานศิลปะรู้จักกันดี ซึ่งสื่อสะท้อนถึงความเจ็บปวด อดอยาก คลุ้มคลั่ง โหดร้าย เป็นภาพเหนือจริงแนว Social Criticism เหมือนกัน ทว่า แนวศิลปะวิพากษ์อย่างงานของดาลีนั้น เราจะเห็นว่าวิพากษ์ให้สะเทือนใจและคิดหาทางไปกันเอาเอง แต่ไม่มีแง่มุมที่เสนอทางออกว่าจะต้องมีวิธีมองใหม่ๆอย่างไรด้วยเหมือนของไพรวัลย์ ซึ่งประการหลังนี้ นับว่าเป็นด้านที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้ชมจากทรรศนะของจิตรกร

 ความฝันและมุ่งมั่นใฝ่สันติ เป็นความงามของมนุษย์และสังคม

          ส่วนภาพ สันติสุข  ของถาวรนั้น  จัดว่าเป็นภาพที่ผสมผสานแนวทางของถาวรเอง  กับประเด็นทางสังคม  และข้อเสนอต่อสังคม  ผมเห็นอย่างนั้น

          อาจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์  ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง และ ทวี นันทขว้าง เป็นคนทำงานจิตกรรมแนวพุทธิปัญญา (Intellectualistic) ดูภาพของเขาแล้ว  จะเหมือนกับการเข้าสู่ภาวะการเจริญสติภาวนา จิตใจสงบนิ่ง ดื่มด่ำ หยุดความร้อนใจนานาได้อย่างชงัด งานแนวนี้ ความงามไม่ได้อยู่ในระนาบขององค์ประกอบทางทัศนธาตุเท่านั้น ทว่า ต้องมาจากความรู้ ความคิด มุมมอง ความแตกฉาน และญาณปัญญาด้วย เป็นความงามที่ต้องเห็นและสัมผัสด้วยสติปัญญา

          ถาวรจะสื่อพลังของสันติปัญญาทางการจัดองค์ประกอบ  แสงเงา และสีแบบ Shading  ทวี นันทขว้าง จะสื่อผ่านวัตถุแสดง (Subjects) และบรรยากาศ ไพรวัลย์ จะสื่อผ่านพลังในฝีแปรง ซึ่งต่อเนื่อง  ความนิ่ง ความพากเพียร แน่วแน่ ยิ่งถ้าหากเป็นภาพที่เล่าผ่าน ลำแสงและชีวิตเล็กๆในท่ามกลางซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างแล้ว เราจะเห็นจิตญาณและพลังของเขาในทุกเม็ดทราย 

         ภาพสันติสุข 1 ใน 13 ภาพของชุดความงามของความต่าง มีความพิเศษออกไป

         การจัดองค์ประกอบภาพให้ดูสงบนิ่ง  เป็นจุดแข็งของถาวร  ทว่าภาพสันติสุขนี้  เขาใช้พลังของการจัดองค์ประกอบ  คุม Theme-เรื่องราวของทั้งหมดไว้  ส่วนเรื่องราวของความงามในความต่างนั้น  เขาสื่อสะท้อนด้วยนกกระดาษ...(สันติภาพ  ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงตัวแทนของกิจกรรมการรณรงค์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วม)   กำลังโผบินบ่ายหน้าสู่เส้นขอบฟ้าไกลลิบ   เบื้องล่างเป็นท้องทะเลเวิ้งว้าง    มีสัญลักษณ์ของความหวังและการฝ่าฝันด้วยวิถีแห่งปัญญาตามแนวพุทธปัญญาของเขา คือ ตะเกียงซึ่งมีกรวยแสงนิ่ง-แน่วแน่

          ...สันติภาพ แม้เป็นเพียงความคิด ความใฝ่ฝันร่วมกันของผู้คนในสังคมและมนุษยชาติ  ประหนึ่งเช่นนกกระดาษที่หัวใจและสองมือปั้นแต่ง อีกทั้งเป็นหนทางที่ยาก  ห่างไกลจากความเปลี่ยนแปลงแบบฉาบฉวยของยุคสมัย  ราวการบ่ายหน้าสู่ขอบฟ้าไกลโพ้น  ทว่า มนุษย์พึงมุ่งมั่น  พากเพียร   ขันติ และมีสติ ดังเปลวไฟส่องทางอันแน่วนิ่ง....คล้ายกับการสื่อสะท้อน  ให้ร่วมความคิดไปด้วยอย่างนั้น

            งานของไพรวัลย์และถาวร รวมทั้งงานทั้งหมดในชุด ความงามในความต่าง แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานสื่อและพลังทางศิลปะ   เข้ากับกิจกรรมทางวิชาการ  งานทางปัญญาของสังคม  การเคลื่อนไหวทางสังคม  รวมทั้งการเชื่อมโยงคนรากหญ้าและการลดช่องว่างในสังคม  

            เป็นอีกแนวทางหนึ่งของพลังปัญญาแบบข้ามพ้นถ้อยภาษา  ศิลปินและกลุ่มคนวาดรูปที่ทำงานในแนวนี้ในประเทศไทย มีอยู่น้อยคน  แต่ก็เข้มข้นและหนักแน่น.

หมายเลขบันทึก: 40698เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นวานจิตกรรมที่สวยครับ

น่านับถือ

  • ขอบคุณครับคุณวันครับที่เข้ามาเยี่ยม ทักทาย และสะท้อนความคิดเห็นไว้
  • แต่สนทนาสั้จังเลยนะครับ เลยไม่รู้ว่าหมายถึงรูปที่อยู่ในนี้รูปเดียว หรือรูปเขียนที่ผมยกตัวอย่างไว้ หรือได้มีโอกาสไปดูนิทรรศการผลงานชุดนี้ด้วย
  • ขอบคุณอีกครั้งครับ อย่างน้อยก็เป็นการทำให้ผมกลับมานั่งอ่านและทบทวนเรื่องราวต่างๆอยู่เสมอๆครับ
  • น้องที่ทำศิลปะจัดวางดังรูปถ่ายในบทความนี้ ตอนนี้เธอยิ่งเดินไปในเส้นทางนี้ยาวไกลเข้าไปอีก ไปทำบ้านดินแล้วก็ทำรีสอร์ตเล็กๆอยู่ในแนวชายแดนเมืองกาญจนบุรีโน่นแน่ะครับ แต่ก็ได้ติดต่อและถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ นำความงอกงามและการดำเนินไปของชีวิตมาบอกให้ได้ทราบกันและกันอยู่เสมอครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • ได้ย้อนกลับมาอ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ ต้องอ่านแบบเก็บรายละเอียด เพราะการวิพากษ์งานศิลปะของอาจารย์ ทำให้เกิดความซาบซึ้งเชิงจินตนาการในความงามโดยไม่มีผลงานให้ได้เห็น เป็นความยากอยู่พอสมควรกับคนมีจิตนาการสปีดต่ำของตัวเองค่ะ ..
  • ซึ่งอาจารย์ทำให้ต้องไปรื้อค้นหาหนังสือภาพ ชุด "ศิลปะ กับ วิถีชีวิตชุมชน" ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง มาดู ..
  • ภาพของอาจารย์ถาวรในชุดนี้ ยังคงสะท้อนความสงบนิ่ง แต่ยิ่งใหญ่ในเชิงสุนทรียภาพ ของลุ่มน้ำแม่กลอง ดูกี่ครั้งก็สามารถทำให้เกิดพลังใจค่ะ ..
  • ผลงานของอาจารย์ไพรวัลย์ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ กวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะงานจิตรกรรมระดับชาติ และมีผลงานแสดงในระดับนานาชาติอีกมากมาย .. เห็นเพียงด้านหน้าปกของหนังสือภาพ ก็จำได้ค่ะว่าเป็นผลงานของอาจารย์ไพรวัลย์ ..
  • อาจารย์ค่ะ ... งานจิตรกรรมบัวหลวง ที่เราพลาดไปคราวที่แล้ว ถ้าจำไม่ผิด หมดเขตจัดแสดงผลงานไปแล้วเมื่อวานนี้ (๒๘ กุมภา ๕๓) ค่ะ เสียดายจังค่ะ (คงต้องท่องจำเอาไว้ว่าหอศิลป์ศูนย์สิริกิตต์ ปิดทุกวันพุธ)
  • นอกจากผลงานของศิษย์สำนักมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว .. ผลงานของอาจารย์วิเชษฐ์ จันทรนิยม จากสำนักเพาะช่าง สีน้ำแบบเว้นขาว ก็สวยงามไม่แพ้กัน (ทำให้นึกถึงพี่นิลสมัยนะค่ะ) มาจากสำนักเดียวกันขนานแท้เลยค่ะ ..

  สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ 

ตอนที่เขียนบันทึกและทำหมายเหตุนี้ไว้นั้น ผมยังไม่มีกล้องถ่ายรูปครับ ไม่ใช่สิ มีอยู่ตัวหนึ่งครับแต่เป็นกล้อง SLR อย่างดีที่ใช้ฟิล์ม หากถ่ายแล้วกระบวนการที่ตามมาก็ยุ่งยากโกลาหลมากมาย ตอนนั้นเลยทดไว้ในใจว่าสักวันเมื่อมีโอกาสก็จะไปถ่ายรูปมาจัดภาพประกอบเพิ่มให้อีก ทั้งต้องการสะสมเป็นข้อมูลและเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้อ่าน-ชม เป็นความรู้และความบันดาลใจใหม่ๆของชีวิต  ตอนนี้ไปซื้อกล้องมาแล้วครับ คงมีโอกาสไปถ่ายรูปมาให้ชมไปด้วยนะครับ

                            

                            อ้างอิงภาพ : เสน่ห์เจ้า..สีน้ำ-เจ้าเสน่ห์ โดย nilsamai บล๊อก นิลสมัย : ในเว็บบล๊อก OKnation

                 

                 อ้างอิงภาพ : ผลงานสีน้ำของ วิเชษฐ์ จันทร์นิยม จากการแสดงงานศิลปะของกลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมสากลเพาะช่าง เมื่อปี ๒๕๕๒ ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน ศิลปะและสุนทรียภาพของชีวิตและการงานโดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ บล๊อก ประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา : ในเว็บบล๊อก GotoKnow

งานของนิลสมัยกับวิเชษฐ์ จันทร์นิยมนั้น ผมควรจะมีเก็บสะสมไว้เยอะแยะเลยนะครับ แต่พอค้นหาเพื่อเอามาแบ่งปันกันดูก็กลับไม่ยักกะมีอยู่กับตัวเอง มีแต่หนังสือ สูจิบัตร แต่ผลงานจริงๆนั้นพออยากดู หากเป็นงานของวิเชษฐ์ จันทร์นิยม ผมก็จะวิ่งไปดูที่บ้านเลย ส่วนนิลสมัยนั้นเธอไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ต่างจังหวัดห่างไกล ทว่า ระยะหลังนี้มีงานสีน้ำกับงานเขียนออกมาคึกคัก แล้วก็ทั้งโกอินเตอร์และมีแฟนคลับเป็นคอสีน้ำมากมายแล้วครับ แวะไปชมและคุยกับเธอได้ที่นี่ในบล๊อกโอเนชั่นครับ

งานสีน้ำของนิลสมัย เป็นงานที่ฉับไว ภาษาศิลปะเรียกว่ามีความกล้าและเป็นอารมณ์ของสีน้ำ สะท้อนความเป็นจิตใจที่สบายๆไม่ซับซ้อน สด ใสๆ หากนั่งดูและกำหนดใจไปกับอารมณ์ภาพด้วยก็จะได้ความเรียบง่าย ปลอดโปร่งโล่งใจ

ผมมีงานของวิเชษฐ์มาให้ดูนิดหน่อยเท่านั้นครับ วิเชษฐ์เป็นจิตรกรที่มีผลงานต่อเนื่องและระยะหลังมานี้ก็ทำงานได้หลายแนวและใช้สื่อหลายแบบ ในวงการรับรู้ว่าเขาเป็นมือสีน้ำ แต่ต่อมาก็เล่นสีน้ำมัน แล้วต่อมาก็สีอะครายลิค

งานของวิเชษฐ์เป็นงานที่ผสมผสาน โดยพื้นเพแล้วเขาเป็นคนชนบทและมีเส้นทางการเติบโตที่เข้มข้น ตรากตรำ ทำให้ทั้งหมดสะท้อนอยู่ในงาน สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจและเป็นเนื้อหาของภาพเขียนที่เขาถ่ายทอดมักสื่อสะท้อนความรื่นรมย์ใจของโลกรอบข้าง แม่นยำ เฉียบขาด พร้อมกับเห็นความมั่นคง หนักแน่น และมีทีแปรงที่เห็นแล้วก็ยอม คือ ช่างดูอดทน ต่อเนื่อง หมดจรดทุกจุด รวมทั้งทุกภาพของเขา ทั้งองค์ประกอบ การจัดภาพ และการให้สีสัน แสงเงา ดูแล้วก็มักเห็นภาษาความคิด ปรัชญาชีวิต การสื่อและนำเสนอทรรศนะต่อผู้ชมที่เขาตกผลึกออกมาจากชีวิตในยามนั้น มองอย่างทรรศนะคนดู งานของวิเชษฐ์เป็นงานที่บันทึกและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ดีครับ

งานล่าสุดที่เข้าไปชมวันนี้ค่ะพี่อาจารย์วิรัตน์..ยังเฉียบ..ฉับไวเสมอค่ะ..นิลสมัย...

สวยครับภาพนี้ คุณนิลสมัยเริ่มต้นเขียนสีน้ำที่แปลก เริ่มจากเขียนคนเหมือนก่อนแล้วค่อยมาเขียนทิวทัศน์ โดยทั่วไปแล้วคนจะฝึกมือกับหุ่นนิ่งและทิวทัศน์ก่อน พออยู่มือ อ่านแสงเงาและสีสันแตกฉาน สั่งมือได้และรู้จังหวะของสีน้ำดีแล้ว จึงจะค่อยๆยกระดับไปเขียนคนและคนเหมือน แต่นี่เล่นเขียนคนเหมือนจนปรุหมดแล้ว พอมาเขียนทิวทัศน์ก็เลยสบายนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท