๖๕๘. อ่านกันหรือยัง : ลูกอิสาน


บทที่ ๕ บ่าวสาวเกี้ยวกัน

           เมื่อเล่าแล้วก็ต้องเล่าให้จนจบเล่ม แต่จะเล่าอย่างย่อให้สั้นสุด ๆ  อยากจะได้รับการแลกเปลี่ยนจากชาวอิสานหรือผู้เชี่ยวชาญมาก ๆ เพราะบางคำที่เป็นตัวสีแดง มีความสำคัญและมีความหมายมาก  หลายคำยายคิมยังไม่รู้จักความหมาย ไม่เข้าใจ และไม่เคยเห็นค่ะ

           พ่อผ่ามะตูมเก่งกว่าแม่ไม่มีรอยแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหมือนแม่ หยิบช้อนเปลือกหอยช้อนเม็ดมะตูมที่เป็นยางเหนียวออกมาจนหมดทั้งสองฝา   แล้วขูดเนื้อในออก  ล้วงข้าวในกระติ๊บวางลงไปในฝามะตูมให้เข้ากันทั้งสองฝาส่งให้ยี่สุ่นกับบุญหลายกิน เพราะน้องเบื่อปลาร้าตัวเก่า

         มะตูมมีต้นเดียวในวัด ถ้าปีไหนไม่แล้ง หลวงพ่อจะไม่เอาไว้ให้สุก ท่านจะเอาลูกอ่อน ๆ มาฝานตากแดดหมดเลย

         ถึงเอื้อยคำกองจะมีผิวคล้ำ ก็ดูเต่งตึงไปทุกส่วน ทรงผมเซียงเกิ้ลเห็นจอนผมบาง ๆ รับกับตุ้มหู้สีเหลืองเล็ก ๆ

บทที่ ๖ ชูสาว

         เสียงของป้าขาวมาเรียกพ่อให้เปิดประตูไว ๆ เมื่อพ่อเปิดประตู ป้าขาวจงบอกพ่ออย่างตื่นเต้นว่า "ควายเขามาเข้าสวนเราแล้ว พ่อบักคูนเอ๋ย" ... ก็ควายของลุงเมฆ...ยังอยู่ในห้องอีคำกองนั่นแหละ  พ่ออีคำกองถือพร้าขวางประตูไว้แล้ว และให้ข้ามาบอกพี่น้อง

       ย่าบอกว่า "ชายหญิงจะเป็นผัวเมียกันมีอยู่ ๓ อย่างคือสู่ขอกันแล้วแต่งตามประเพณี  กับชวนกันหนี และชูกันอย่างทิดจุ่นชูคำกองนี่แหละ"

      คูนถามพ่อว่าทิดจุ่นซื้อเอื้อยคำกองเป็นเมียเพียงเงิน ๓ บาทกับไก่เพียง ๑ ตัวหรือ  พ่อบอกไม่ใช่  ของนั้นเป็นของให้ผีเรือน การเป็นผัวเมียนั้นเขาเป็นกันด้วยใจ

บทที่ ๗ งานสงกรานต์

       วันนั้นแม่พาคูนกับน้อง ๆ เดินเที่ยวในบ้าน ก็ไม่มีใครอยู่เรือนกันจริง ๆ นอกจากเด็กจะพากันยิงลูกสะบ้า เขกหัวเข่ากัน และมีผู้บ่าวสาวไล่รดน้ำกันสองสามคู่

       หนุ่มสาวรดน้ำพระพุทธรูปใต้ต้นฝบโพธิ์หัวโกร๋น  เด็กหลายคนพากันลอดเข้าไปอาบน้ำที่ไหลลงข้างล่าง คูนไม่ได้อาบน้ำมาหลายวัน จึงคลานเข้าไปอาบน้ำกับเพื่อนๆ

       คูนตื่นเต้นมากเมื่อพ่อบอกว่าจะพไปเข้าโรงเรียน...พ่อเอาเสื้อเชิ้ตสีขาวหนีบจักแร้มาจริง ๆ พ่อบอกว่าซื้อมาจากร้านญวนราคา ๑๐ สตางค์

       ผู้หญิงคนหนึ่งถามหลวงพ่อว่า "ทำไมแล้งนานเหลือเกิน"...หลวงพ่อบอกว่า"ไม่รู้สิ  บางคนว่าผู้หญิงบ้านเราทำผิด  บอกแล้วจะเลิกทำไหม"

       เสียงผู้หญิงด้านหลัง  ตอบพร้อมกันว่า "เลิกอีหลี ..ก็ผู้หญิงมีลูกมีผัวแล้วพากันยืนเยี่ยวทุกคนนี่"

        หลวงพ่อหันมาทางคูนแล้วบอกว่า "ดูหน้าตาซื่อ ๆ เหมือนม้าของหมอลำ ชื่ออะไรนะบักหำน้อย...เป็นนักเรียนแล้วอย่าเอากาบหมากมาใส่ในกางเกงรองก้นนะ ... หลวงพ่อไม่มีเงินเดือนจำไว้...เกลียดอะไรมากที่สุด"

       คูนหันไปมองท้องฟ้า เห็นฟ้าสีแดงแกมเหลืองจึงหันมาตอบหลวงพ่อว่า "เกลียดฟ้าครับ  ...  มันไม่ให้ฝนตก มันมีแต่แล้ง"

        หลวงพ่อให้ลุกขึ้นยืนและหวดด้วยไม้เรียว ๑ ที..."...ต่อไปอย่าเกลียดฟ้า ฟ้าไม่เคยลงโทษใคร"

บทที่ ๘ เข้าโรงเรียน

       คูนถามพ่อว่านั่นเขาทำขัวไปไหน พ่อบอกว่าขัวไปถาน..ถานหนึ่งสำหรับพระและจัวน้อย อีกถานหนึ่งสำหรับนักเรียน  ...ที่วัดนี้ไม่มีสังกะสีน้อย นอกจากทิดฮาดจะมาช่วยเป็นครั้งคราว

       ต้นสะโกหรือต้นฉำฉานี้  พ่อบอกว่าแก่นของมันเบากว่าไม่อื่น ๆ เกี๊ยะที่ทิดฮาดใส่ก็ทำมาจากไม้สะโก

บทที่ ๙ หลวงพ่อเคนอาละวาด

       แต่นี้ไปไผสิมาโรงเรียนต้องส่องแว่นเสียก่อน ไผมีขี้มูกแห้งติดต่อตามร่องแก้มกับมือสิถูกเฆี่ยน ๑๐ ที"

         จันดีบอกว่า "นี่จอมโพนจอมใหญ่อยู่กลางนากู"  คูนบอกว่า "ครูบ่ให้วาดในกระดานของครูบ่มี"  จันดีเถียงว่า "แต่นาของกูมีกูต้องวาด"

       ครูทองบอกว่า "ทุกคนวาดได้ดี ยกเว้นของจันดีใช้ได้ แต่วาดรูปจอมโพนลงไปถือว่าผิด  ผิดที่ทำเกินครูสั่ง ยอมรับผิดบ่"

       บันทึกนี้เล่าแค่นี้ก่อน  กัลยาณมิตรท่านใดเข้ามาอ่าน โปรดเติมเต็มให้กับถ้อยคำสำนวน โดยเฉพาะตัวสีแดง ว่าคืออะไรบ้าง ยังจำกันได้ไหม และเด็กรุ่นใหม่ยังรู้จักกันหรือเปล่า "ภาษาอื่นไม่แข็งแรงก็ไม่เป็นไร แต่ภาษาถิ่นของเราก็ไม่ควรอ่อนแอ" จริงไหมคะ

 

หมายเลขบันทึก: 406437เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2010 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีครับพี่คิม...

จอง ๑ เล่มนะครับ

อ่านแล้ว อยากเขียนเรื่องห้วยปลาหลดในทำนองนี้บ้าง

มาแล้ววววเจ้าประจำ.....

เหมือนได้เรียนภาษาอีสานไปด้วยในตัว  บางคำก็เหมือนภาษาทางเหนือจนพอจะเดาได้ว่ามันคืออะไร 

ลูกสะบ้าเสียงจะคล้ายๆกันคือลูกมะบ้า  แล้วเหรียญสิบสตางค์ก็เคยเห็นที่มีรูแล้วเขาร้อยเอาไว้เป็นพวง

ต้นฉำฉาก็เรียกต้นฉำฉามานานแล้ว  นึกถึงตอนเด็กๆไปห้อยโหนที่กิ่งฉำฉาบ้านเพื่อน  โดนหมาไล่งับก้น...หนุกหนานๆ

แต่  เกี๊ยะ  ที่เอามาเป็นเชื้อไฟ   ได้มาจากต้นสนค่ะ

อากาศเย็นๆ  เอาขิงร้อนๆมาส่งค่ะพี่คิม..

  • สวัสดีครับ ยายคิม
  • เคยได้ยินชื่อ แต่ยังไม่ได้อ่านครับ
  • ต้องหามาอ่านบ้างแล้วครับ
  • อากาศหนาวแล้ว ครูคิมรักษาสุขภาพด้วยครับ

เรียน ยายคิม ครับ

ในฐานะ "ลูกอีสาน" คนหนึ่ง รู้สึกภูมิใจทุกครั้ง

ที่มีคนกล่าวถึงวรรณกรรมที่กล่าวถึงอีสาน

เช่น เรื่องผู้ใหญ่ลีกับนางมา ที่คุณกาญจนา เขียน

หลายสิบปี ตอนที่มาทำงานที่บ้านผมเอง ที่จังหวัดชัยภูมิ

 

เรื่อง ลูกอิสาน ก็เช่นเดียวกัน

เป็นอมตะของวรรณกรรมของประเทศไทยก็ได้ครับ

เป็นหนังสือ 1 ใน 100 เรื่อง ที่คนไทยควรอ่าน

เป็นหนังสือที่พิมพ์นับครั้งไม่ถ้วน และแปลเป็นภาษาอื่น ๆ เกือบร้อยภาษา

เมื่อนำมาทำหนัง ก็ได้ทั้งเงิน และกล่อง

กวาดรางวัลมากมาย ทั้งในประเทศไทย และประเทศนอก

 

ขอบพระคุณยายคิมที่นึกถึง

ขอบคุณแทนคนอีสาน  และคนไทยทุก ๆ คน ครับ 

 

สวัสดีค่ะน้องหนานเกียรติ

ตื่นนอน อาบน้ำมาตอบเม้นท์และจะไปอ่านคำสารภาพของมารีอังดรัวแน็ต  เป็นรอบที่ ๓ เหมือนกัน

ดึก ๆ จะมาเล่าลูกอิสานต่อค่ะ

เห็นด้วย เชียร์ และสนับสนุน "คิดแล้วทำ คือความสำเร็จ" นะคะ

ตอนนี้นับนิ้วรอไปเก็บบรรยากาศ  ห้วยปลาหลด ไปเยี่ยมน้องเหมยซานด้วย คงจะโตขึ้นมากแล้ว

อยากได้จักรยานเพิ่มอีกสักคัน ตอนนี้ก็เหลือ ๒ คัน บริจาคไปแล้วคัน ๑๘ เกียร์เสือภูเขา

สวัสดีค่ะน้องkrugui Chutima

แต่ละภาษาเป็นเสน่ห์ของท้องถิ่นนั้น ๆ ถือเป็นเอกลักษณ์ค่ะ ยายคิมมีความสุขมากหากเจอเด็กอิสาน เด็กเหนือ เด็กใต้ เด็กสุพรรณ พูดภาษาของตนเอง

ต้นฉำฉา ภาษาอิสานเรียกสะโกค่ะ

เหรียญสิบสตางค์ เคยเห็นบ้านคุณย่าเก็บไว้ให้ลูกหลานดูค่ะ

เกี๊ยะ  ในเรื่องนี้หมายถึงรองเท้าที่ทำด้วยไม้ เหมือนชาวเวียตนามสวมใส่ค่ะ

เรื่องโหนต้นไม้ เคยกันทุกคนนะคะวรรณกรรมวัยเด็ก ไม่มีใครจะมาซนเท่ากับเด็กชาวค่ายฯ ค่ะ

ขอขอบคุณสำหรับเครื่องดื่มแก้วนี้นะคะ มากด้วยน้ำใจ อิ่มด้วยไมตรีค่ะ

สวัสดีค่ะน้องฐานิศวร์

มาช้าไป เพิ่งแจกหมดที่คนเบอร์ ๑ เป็นคนสุดท้ายค่ะ ไม่เช่นนั้นยายคิมส่งไปให้ได้อ่านได้เลย

น้องตอ้งไปหาฉบับที่เขาเขียนว่า "ฉบับนักเรียน" ราคาจะถูกเป็นพิเศษค่ะ  อ่านแล้วมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะคะ

สวัสดีค่ะคุณทิมดาบ

ยายคิมดูหนังมาทุกเรื่องเหมือนกัน  ยังไม่ประทับใจค่ะ ลูกอิสานต้องทำหนังถึง ๓ ภาคจึงจะสมบูรณ์

หากยายคิมมีตังค์สักร้อยล้าน จะสร้างหนังลูกอิสานให้ชาวอิสานชมฟรีค่ะ

อ่านผู้ใหญ่ลีกับนางมา  ก็ทำให้เข้าอกเข้าใจและรักท้องถิ่นและภูมิปัญญามากขึ้นนะคะ  เป็นแบบอย่างของความรัก ความสามัคคีที่ดีมาก ๆ

ลืมถามว่า...น้ำท่วม เป็นอย่างไรบ้างคะ ขอเป็นกำลังใจในการฟื้นฟูนะคะ

สวัสดีค่ะพี่คิม

ลูกลาว..เอ๊ย..ลูกอิสานคนนี้ดีใจที่ได้อ่านบันทึกนี้นะคะ...แต่ศัพท์บางคำลูกอิสานก็วินตึ๊บเหมือนกันคร๊า....ก็ได้อ่านมาบ้างแล้วค่ะ..วันนี้มาชวนไปชมการสวนสนามที่เกาหลีเหนือค่ะ....http://gotoknow.org/blog/0815444794/406303

สวัสดีค่ะน้องกานดา น้ำมันมะพร้าว

ขอขอบคุณค่ะ

ยายคิมไม่เคยเห็นและไม่รู้จักค่ะ  จะติดตามไปเรียนรู้ที่บันทึกน้องดานะคะ

สวัสดีค่ะน้องมาตายี

ยายคิมไม่มีความสุขเลยนะคะ  ที่เห็นลูกหลานอิสาน วินหรือมึนตึ๊บกับภาษาท้องถิ่น

แล้วจะติดตามไปชมเรื่องเล่าจากเกาหลีเหนือนะคะ  ขอขอบคุณค่ะ

-สวัสดีครับยายคิม.....

-"ลูกอีสาน" ชอบอ่านมาก.....ครับ....

-อ่านกี่รอบก็ยังได้บรรยากาศ....บ้าน ๆ

-ได้ซื้อเก็บไว้ 1 เล่ม....

-ว่าง ๆ หยิบมาอ่าน.....ชอบ "บักคูน" ครับ...555

-ขอบคุณนะครับ......

-"ข้าวเกรียบโป่ง" บักคูน...คงจะ.....ชอบ......555555

สวัสดีค่ะคุณเพชรน้ำหนึ่ง

บักจันดี  ถูกใจยายคิมมากกว่าค่ะ เพราะบักจันดีเป็นคนนอกกรอบ  มีความคิดเป็นของตนเอง  ไม่เกรงกลัวใคร มีความเป็นผู้นำสูงค่ะ

รออ่านต่ออีกนะคะ ยายคิมจะเก็บมาเฉพาะข้อความที่มันน่ายั่วยุน้ำลายค่ะ  แต่มันก็น่าอ่าน น่าสนใจตลอดทั้งเล่มค่ะ

ขอบคุณค่ะ..พี่ใหญ่มาเรียนรู้จากเรื่องเล่าง่ายกว่าอ่านเอง (แอบเอาเปรียบ)..

ทรงผมเซียงเกิ้ลเห็นจอนผมบาง ๆ รับกับตุ้มหู้สีเหลืองเล็ก ๆ

 

คำนี้คาดว่าน่าจะมีอิทธิพลมาจากภาษาอังกฤษ Single ซิงเกิ้ล--เซียงเกิ้ล นะครับ ที่ทำการเพี้ยนเสียงให้เข้ากับการออกเสียงของท้องถิ่น แม้กระทั่งในภาษาไทยยังมีตัวอย่างอื่นๆครับ เช่น

  • น้ำมะเน็ต มาจาก เลมอนเนด Lemonade
  • ท้าวทองกีบม้า ที่เป็นผู้ทำขนมหวานจากไข่แดงพวกทองหยิบทองหยอดฝอยทองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็มาจากคำว่าชื่อ แมรี กีย์มาร์ Mary Geymar
  • ชาวโปรตุเกส ก็แปลงเสียงมาจาก ปอร์ตูกีส Portuguese

ในภาษาญี่ปุ่นก็ยังมีคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษด้วยนะครับ เช่น

  • テレビ   อ่านว่า Terebi ซึ่งแปลว่าโทรทัศน์หรือ Television

ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าเป็นคำยืม loanword โดยอังกฤษก็มีการยืมคำหลายๆคำมาใช้พูด ยกตัวอย่างบางคำที่คนไทยเราเองก็รู้จักนะครับ เช่น

  • Chauffe คือพนักงานขับรถหรือ โชเฟอร์ นั่นเองครับ
  • Chic คือความมีรสนิยม ในภาษาอังกฤษก็ใช้ chic เช่นกัน  
  • Grand prix คือรางวัลใหญ่ ภาษาไทยเรียกการแข่งขันรถครั้งใหญ่ว่า กรังด์ปรีซ๊
  • Nouveau คือความใหม่ ศิลปินวงนูโว มีชื่อมาจากภาษาฝรั่งเศส

ขอเสริมนิดหนึ่งจากตรงนี้นะครับ

ต้นสะโกหรือต้นฉำฉานี้  พ่อบอกว่าแก่นของมันเบากว่าไม่อื่น ๆ เกี๊ยะที่ทิดฮาดใส่ก็ทำมาจากไม้สะโก

 

คำว่า "ฉำฉา" เป็นคำภาษาไทยกลาง ส่วนคำอีสานเรียกว่า "สำสา" หรือ "ซำสา" คนอีสานมักใช้เสียงหนักในหลายๆคำ เช่น "แก่วบอง" ซึ่งหมายถึง แจ่วบอง ในสำเนียงภาคกลาง ถ้าสังเกตุอีสานพื้นบ้านจริงๆเวลาพูดจะใช้คำว่า แก่ว มากกว่า แต่ภาษาเขียนหรือภาษาไทยกลางเรียกเสียงเบากว่าว่า แจ่ว

 

ขออนุญาติเสริมเท่านี้ก่อนนะครับ บาย บาย

ครูสัญชัย

สวัสดีค่ะคุณพี่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

ยายคิมคัดมาเฉพาะสำนวน เนื้อความที่น่าจะยั่วยุน้ำลายค่ะ แต่สรุปแล้วทุกตัวอักษรมีคุณค่ามากค่ะ

จะคัดมาให้อ่านจนจบเล่มค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์สัญชัย ฮามคำไพ

หากเปลี่ยนสถานภาพแล้ว ผู้หญิงก็คงไม่สามารถใช้ทรงผม เซียงเกิ้ลนะคะ  นึกถึงทวดค่ะ ทวดเรียกตำรวจว่า police และเรียกกรุงเทพว่า bangkok (บางกอก)

ท้าวทองกีบม้า...อ่านประวัติแล้วทำให้ทราบว่าขนมไทย ๆ ที่ทำจากไข่และอบนั้น ไม่ใช้ไทยเป็นต้นตำรับ 

หลายคำที่คนไทยใช้...เช่นโซฟา คิว  ซิการ์  เลน  ฯลฯ  แต่ยายคิมเป็นครูภาษาอังกฤษที่ไม่นิยมค่ะ  จะสอนเด็กเสมอว่าอันไหนเป็นภาษาของเรา อันไหนไม่ใช่

ตอนอยู่ที่บ้านไผ่  มีคนพูดว่า "ไปขอนแจ่นกันไหม" (ขอนแก่น) แก่วบองแซบหลาย  ผู้ได๋บ่ได้กิน  อย่าฟ่าวตายเด้อ  แม่โผมาจะบ่เอิ้น

ขอขอบคุณอาจารย์มากนะคะที่มาเติมเต็มค่ะ

เรื่องคำยืมนั้น ผมมองว่าครูสามารถปล่อยให้ผู้ใช้สามารถเลือกสรรได้อย่างเสรีไปเถอะครับ เชื่อว่าภาษาแสลงมันสามารถมีวิวัฒนาการเกิดขึ้น-ดับไปในตัวของมันได้ครับ ข้อคิดสำคัญ คือ นักเรียนรู้หมดทั้งสองด้าน คือ ความหมายด้านไทยและคำใช้ภาษาต่างประเทศ

อีกประการหนึ่ง ภาษามันคือวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดได้ กล่าวคือ เป็นการสะท้อนวิถีของช่วงระยะเวลาใด/หนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น คำว่า จิตอาสา ก็เป็นคำใหม่ที่พูดบ่อยๆในช่วงนี้ สะท้อนถึงกระแส ค่านิยมในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งที่สังคมแสดงออก ส่วนในวงการโรงเรียน มีคำว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้ เข้ามาแทนที่ หมวด จะเห็นได้ว่าแม้กระทั้งในภาษาไทยเราเองก็ยังมีวิวัฒนาการในการใช้คำอยู่เรื่อยๆ

การกลืนทางภาษา ประเด็นนี้ผมมองได้หลายแง่มุม ในเชิงภาษาศาสตร์ มีคนเชื่อไหมว่า ภาษามันฆ่ากันได้ โดยเฉพาะภาษาถิ่นถูกภาษากลางฆ่าตายไปหลายโอกาศ ยกตัวอย่าง ในภาคเหนือการอู้คำเมืองเป็นของหายาก ในภาคอีสานการเว้าภาษาลาวใน รร. คือ ความขบขัน ภาษาหลักถูกยกให้มีสถานะสูงกว่า มีเกียรติกว่า ส่วนภาษาถิ่นถูกซ่อนไว้ในโอกาศท้องถิ่น นอกโครงสร้างราชการ เพราะปัจจัยหลักมาจากระบอบการปกครองรวมศูนย์ที่มาจากกรุงเทพฯ ดังนั้น การปกป้องอัตลักษณ์ของภาษาถิ่นจึงควรพิจารณาไว้

กลับมาที่เรื่องคำบ้าง ปัจจุบันหลายๆสิ่งถูกเรียกตามแหล่งที่มาของมัน เช่น โชฟา คงจะต้องเรียกตามแรกเห็นที่ต้นตำหรับเรียกว่า sofa ส่วนคำว่า คิว ก็มาจากการเข้าคิว (ผมเองก็นึกคำไทยยากสำหรับตัวอย่างนี้) ภาษาอังกฤษคือ  queue ก็หมายถึงการเข้าแถวของคน ต่อคิวหรือต่อแถวก็สามารถเข้าใจตรงกัน ซิการ์ มาจากสินค้าต่างชาติ cigar ที่วัฒนธรรมไทยไม่มีของอย่างนี้ จึงต้องใช้มันตามที่เป็นมา 

ชาววังในราชสำนักมีการประดิษฐ์คำใหม่เพื่อใช้เรียกกันในหมู่ชนชั้นสูงและเผยแพร่ใหม่ในรูปแบบคำสุภาพ เช่น

  • ดอกสามหาว - -- ดอกผักตบ (คาดว่าคิดมาจากกริยาการตบที่มีฝ่ามือประกบกับวัตถุ เช่นในยามที่หาวก็จะใช้ฝ่ามือตบปากเบาๆ)
  • รากดิน ---- ไส้เดือน (คาดว่าคงจะนิยามตามใจให้มันดูเป็นส่วนหนึ่งของพืช ไม่อยากคิดถึงไส้ที่ดูน่าเกลียด)
  • สุนัข --- หมา (สุ คือ งาม นัข คือเล็บ สุนัข แปลว่าศัพท์เล็บงาม คงจะนิยามใหม่ตามสิ่งที่ตนเห็นแล้วผนวกกับภาพที่อยากให้เป็น)
  • ผักทอดยอด ---- ผักบุ้ง (นิยามจากอาการของการเติบโตของผักที่มีการยืดยาวออกไปเรื่อยๆทางยอด)
  • ผักรู้นอน ---- ผัดกระเฉด (นี่ก็อีกคำที่นิยามจากกริยาท่าทางของพืช)

เราเห็นได้ว่า แค่ตำที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆรอบตัวมันยังสามารถใช้หลากหลายกับสิ่งๆเดียวกัน เพียงเพราะว่าคนมองเป็นคนละคน แต่บางกลุ่มมีอิทธิพลเชิงฐานอำนาจในการบัญญัติศัพท์และกำหนดใช้ตามแบบอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนว่า ภาษาและสังคมมันทำงานด้วยกันเสมอ

 

 

มาเสริมเรื่องศัพท์วัยรุ่นนิดหนึ่งครับ คนรุ่นหลังเขาก็สามารถสร้างวิวัฒนาการทางภาษาได้โดยการบัญญัติศัพท์ที่ใช้สื่อสารในสถานการณ์เฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นด้วยกันเอง หรือคิดคำเพื่อให้เข้ากับสมัยใหม่ๆ ตัวอย่างเช่

เฟค  = การหลอกตัวเอง

สุดตีน = ที่สุดของที่สุด

เหียก = หน้าตาขี้เหร่มากๆ

สะแอ๋ง = ชอบสอดเรื่องชาวบ้าน

ชิลๆ = ง่ายๆ สบายๆ

ต๊ะต่อนหยอน = รากศัพท์มาจากภาษาเหนือ หมายถึงชิลๆ เวอร์ชั่นคำเมือง

ไม่ไหวจะเคลียร์ = ไม่อยาก/ขี้เกียจอธิบายแล้ว

 

-------------------

แถมตัวอย่างอีก 35 คำนะครับ

ศัพท์ใหม่วัยรุ่น

----------------------

 

สัญชัย

เกิดอาการติดมันส์ กับภาษาไทยวิบัติ (ที่กลุ่มอนุรักษ์เรียก) หรือ ภาษาเด็กแนว (ที่คนรุ่นใหม่ทำการทดลองกับภาษา) อยากเสริมให้เกิดความรู้ทั่วไปทั้งกลุ่มครูและผู้ใหญ่ ผมคิดว่าผู้อ่านใน gotoknow น่าจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มครูที่ต้องสัมผัสกับนักทดลองทางภาษาโดยตรงในโรงเรียนอยู่เสมอๆ ตอนนี้ภาษาเขียนถูกนำมาทำการทดลองมากขึ้น ทำให้เห็นความผิดแปลกของการเขียนคำในรูปแบบใหม่แต่ยังสื่อความหมายเดิมอยู่ เช่น

  • "คนเราทามรัยรุอยุแก่จัย" --- "คนเราทำอะไรรู้อยู่แก่ใจ"
  • "เข้ามาโหน่ยจิ๊เพิ้ลๆมีเรื่องอยากห้ายช้วยโหน่ย" --- เข้ามาหน่อยสิเพื่อน ๆ มีเรื่องอยากให้ช่วยหน่อย

ผมคิดว่าหากเราเข้าใจและรู้เท่าทันภาษาที่เกิดขึ้นก็ย่อมสามารถนำให้เราเข้าใจเด็กและเยาวชนในทุกวันนี้มากขึ้น ผมเชื่ออย่างหนึ่งนะครับ ความเข้าใจจากครูนำมาซึ่งความรักจากเด็ก ถ้าเด็กเกิดความรักในสิ่งไหนแล้ว เขาก็ย่อมจะสามารถไปในทิศทางที่ครูเห็นว่าดีได้ ปัญหาของภาษาวิบัติ คือ ครูไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ทำให้เด็กไม่อยากจะอวดของเล่นทางภาษาที่เขามี มันก็ของของเล่นๆเท่านั้นเองครับ ผมเชื่อว่าถ้าเด็กแยกแยะการนำภาษาวิบัติมาใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลายได้ ก็น่าจะโอเคนะครับ เอาล่ะคงจะพักเรื่องภาษาศาสตร์ไว้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวทำให้ ลูกอีสาน เป็นกระทู้ออกนอกอ่าวไป ขอโทษครูคิมมากครับ

สัญชัย

------------------------

ศึกษาเพิ่มเติม

ภาษาวิบัติในไร้สาระนุกรม

http://th.uncyclopedia.info/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4

ศัพท์เด็กแนวทุกวันนี้

http://www.thaistep.com/board/index.php?topic=4148.0

 

ตัวอย่างการใช้ภาษาวิบัติในราชการสมัยก่อน

สวัสดีค่ะอาจารย์สัญชัย ฮามคำไพ

อาจารย์มาแบบ  ชิลๆ  ต๊ะต่อนหยอน  ยายคิมขอบอกว่าภาษาใหม่ ๆ มัน "กิ๊บเก๋" นะคะ

ใน ๓๕ คำเคยได้ยินเป็นส่วนมากค่ะ...ตัวเองอย่ามาบิ้วล์  เขานะ ได้ยินสาวประเภทสองคุยกันค่ะ

ภาษาใช้ในการสื่อสาร  วันก่อนที่ห้างได้ยินสาวงามนางหนึ่งคุยโทรศัพท์ผ่านหูยายคิมไป ได้ยินชัดเจนว่า

"No No No.....I care you, care you . Now I sick sick I sick. You can buy I  every day.  แต่เขาก็สื่อสารได้  ใช่ไหมคะ

เด็กของยายคิมชั้นมัธยมต้น เขาเขียนบรรยายครอบครัวของเขาว่า " My family lives under the mountain and deep forest. ในความเข้าใจภาษาอังกฤษแล้วหวาดเสียวมากนะคะ

แต่ยายคิมให้คะแนนเขานะคะที่เขาสามารถ และมีความพยายามที่จะเขียนบรรยาย  มีเยอะเลยค่ะ สนุกมากกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับภาษา

ขอขอบคุณค่ะที่นำภาษามาให้คนแก่พูดเล่นได้เยอะเลย

สวัสดีค่ะอาจารย์สัญชัย ฮามคำไพ

ขอขอบคุณกับตัวอย่างภาษาไทยในสมัยก่อน  จะเห็นว่าได้รับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามาตามลำดับนะคะ

สังเกตแล้วคล้ายกับภาษาลาวนะคะที่สะกดกันตามตัว ตามเสียง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท