ลองคิดลองเชื่อมให้เกิด “ดี” ที่ชุมชน


ชุมชนเป็นเสมือนพื้นที่แสดงผลลัพธ์ของระบบต่างๆ ในสังคมว่าทำงานได้ดีเพียงไร

ชุมชนเป็นเสมือนพื้นที่แสดงผลลัพธ์ของระบบต่างๆ ในสังคมว่าทำงานได้ดีเพียงไร ก็ดูได้จากชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนซึ่งนับวันจะได้รับการตอบสนองจาก อปท. มากกว่าระบบราชการส่วนกลางที่รวมศูนย์และยึดมั่นในกฎระเบียบแบบตายตัว มากกว่าเหตุผลความถูกต้อง ตัวอย่างเช่น รมว.ท่านหนึ่งยืนยันว่า ตามระเบียบของกระทรวงท่าน แม้ผู้ตายจะเป็นคนก่อเหตุระเบิดให้เกิดความเสียหายรุนแรงจนมีคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตาย ก็ยังจะได้รับเงินชดเชย แปลง่ายๆ ว่าถ้าไม่ให้ ก็ผิดระเบียบ ไม่ทราบ think tank ของพรรคที่ท่านสังกัดจะคิดอย่างไรนะ  แต่ประสาประชาชนคนธรรมดา ตอนที่เราได้ยินท่าน (ออก TV) บอกอย่างนี้ เราคนหนึ่งล่ะที่ไม่อยากเสียภาษี ณ บัดเดี๋ยวนั้นเลย เพราะเท่ากับเราจ่ายเงินภาษีเพื่อสนับสนุนการก่อการร้าย ให้คนร้ายปฏิบัติการได้อย่าง happy ไม่ต้องห่วงครอบครัวล่ะสิ   

มีผู้นำชุมชนท่านหนึ่งบอก “ชุมชนจะเข้มแข็งถ้าราชการอ่อนแอ ถ้าราชการเข้มแข็งชุมชนก็อ่อนแอ” สะท้อนนัยยะว่าชาวบ้านมองระบบราชการอย่างไร ที่ว่ามานี้ไม่ใช่นินทาเอามัน แต่เพื่อสื่อว่า ระบบราชการมีข้อจำกัดที่ต้องทำตามระเบียบโดยเฉพาะระเบียบการเงินซึ่งจะว่าไป อปท.ก็อยู่ในสภาพเดียวกันแต่อาจคล่องตัวกว่าหน่อย  ความร่วมมือจากภาคเอกชนไม่ว่าเป็นแบบบุคคลหรือองค์กรจะช่วยเสริมจุดอ่อนตรงนี้ได้ ช่วยให้กลไกในระดับพื้นที่หรือชุมชนทำงานได้มีประสิทธิภาพ ตรงทิศ และบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น   ส่วนงบภาครัฐก็ไว้ใช้ตามขั้นตอนตามระเบียบไป  พยายามเชื่อมโยงเป็นกรอบแนวคิดกลไกเชิงโครงสร้างในระดับชุมชนดังภาพข้างล่าง(http://gotoknow.org/file/phenkhael/view/640680) ขอย้ำว่าเป็นตัวร่างเท่านั้นเองอาจประกอบด้วย แนวคิดปรัชญา โครงสร้างและบทบาทคณะกรรมการบริหารโรงเรียนดีที่ชุมชน กองทุน และงบประมาณภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  

โครงสร้างที่จำเป็นเพื่อการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลคือ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนดีที่ชุมชน ซึ่งมีบทบาทหลักๆ คือ กำหนดเป้าหมาย/ยุทธศาสตร์/แผนงาน/บริหารจัดการ/และกำกับให้เป็นไปตามแผนงาน บริหารงบกองทุนโรงเรียนดีที่ชุมชน และรายงานผลการดำเนินงานต่อชุมชน/ผู้บริจาค/และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง     

องค์ประกอบคณะกรรมการฯ มาจากทุกภาคส่วนในชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเช่น ตัวแทน ร.ร. (ครู 2 คน, ร้านค้าใน ร.ร.1 คน)  ตัวแทนชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน1 คน, ร้านค้าใกล้ ร.ร.1 คน)  ตัวแทนผู้ปกครองเด็ก (ชั้นอนุบาล-ป.3, 1 คนและ ป.4-6, 1 คน)  ตัวแทน อบต./เทศบาล 1 คน  และตัวแทน สอ./รพ.สต. 1 คน   

สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการคือ โรงเรียน 

แม้ภารกิจหลักของโรงเรียนคือ การจัดการเรียนการสอนซึ่งจะดำเนินไปได้ด้วยดีต้องมีระบบสนับสนุนเช่น โครงสร้างพื้นฐาน  สุขภาวะ/ความเป็นอยู่    สุขภาพ/พัฒนาการเด็ก   การโภชนาการเด็ก   ห้องสมุด/สื่อโสตฯ/IT  ทุนการศึกษา  

แหล่งงบประมาณภาครัฐได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ  อปท. และมีงบประมาณส่วนหนึ่งจาก สปสช. หรือ อปท. ผ่านกองทุนสุขภาพตำบล และการจัดบริการโดยหน่วยบริการปฐมภูมิเช่น สอ./ PCU/ รพ.สต. 

ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากระบบการศึกษาที่พัฒนาคือ เด็กมีสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ และคุณธรรมด้วย   สำหรับบุคคล/องค์กรที่บริจาคนอกจากจะมีความภาคภูมิใจที่ร่วมกันช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร ปกติได้หนึ่ง  ดูรายชื่อในกรณีขอลดหย่อนสองเท่าได้ที่ http://gotoknow.org/file/phenkhael/1for2school200853.xls

ขอเชิญชวนช่วยกันเสนอความเห็นว่า จะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร ในฐานะปัจเจก  ที่ไม่ปล่อยให้เป็นภาระภาครัฐฝ่ายเดียว   

เพ็ญแข ลาภยิ่ง

4 พ.ย. 2553

บันทึกต่อไป: หาพื้นที่ให้เกิด “ดี” ที่ชุมชน

หมายเลขบันทึก: 406436เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2010 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นการสร้างสังคมจากฐานรากครับหมอ

ขอบคุณที่ให้ความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท