"ผาตูบ" เรื่องเล่าเร้าพลังจากชุมชน : น่านไดอารี่


เพราะเพียงแค่ประโยคสั้น ๆ ประโยคนี้ประโยคเดียว ก็สามารถถอดความเป็น "ผาตูบ" ได้อย่างมากมายครับ เพราะสอดแทรกไปด้วย "บริบทของชุมชน" ทั้งบริบททางวัฒนธรรม ความเชื่อ ลักษณะทางกายภาพ การย้ายถิ่นฐานของประชากร ประเพณี วัฒนธรรม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างของชุมชนมีที่มาที่ไปครับ

ในช่วงปลายปีก่อน ผมได้มีโอกาสเข้าไปทำงานวิจัยในภายใต้ชื่อ "โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนบ้านผาตูบ ตำบลผาสิงห์ จังหวัดน่าน" โดยความร่วมมือของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตน่ากับองค์การบริหารส่วนตำบลผาสิงห์ครับ

          ในการจัดเวทีวันนั้น เรื่องแรกที่เรามีพูดคุยกันก็คือ "ประวัติศาสตร์ของชุมชน" ครับ โดยคืนนั้นก็ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากท่านเจ้าอาวาสวัดผาตูบ ที่เป็นทั้ง "คุณเอื้อ" ในการให้เราใช้ศาลาของทางวัดในการจัดเวทีชุมชนครั้งนั้น และท่านก็ยังได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของ "บ้านผาตูบ" ให้พวกเราฟังด้วยครับ ความว่า

 

 

คนเฒ่าคนแก่เปิ้นจั้งเล่าว่าพ่ออุ้ยแม่อุ้ยคนบ้านเฮาตี้ฮู้ล่ะ  

        ต๋ามหลักแล้ว ถ้ำผาตู้บเฮาแต้ ๆ เนี๊ยะกะคือว่า อยู่โรงโม่หินอยู่ติดศูนย์วิจัยยางเป๋นพื้นที่ของศูนย์วิจัยยาง 

        ตะก่อนภูเขาหลูกนั้นมันจะสูงขนาดนักนา  ถ้าใผขึ้นไปผ่อหล้าจะหันภูมิทัศน์ในจังวัดน่าน 

        พอดี๋ว่าคนมะก่อนเปิ้นเล่าว่า..อั้น..มีนก..นกหญั๋งเก๊าะ..นกหัสดีหลิงเน๊าะ มาจับอยู่กะเลย  ภูเขานั้นกะเลยตู้บลงมาแฮ๋ม!   เปิ้นกะเลยตั้งจื่อว่าผาตู้บเน๊าะ  

 

       แต่คนเฒ่าเปิ้นกะเล่าว่าอั้นน..  ตะก่อนเปิ้นว่ามีปู่ละหึ่งว่าผาตู้บกั๊บอั้นผาขวาง ปู่ละหึ่งเปิ้นเอาใส่ถุงเสื้อมาอี้หว่ะ  หล่ะกำนี้ อั้น..เปิ้นไปป๊ะใส่อั้นน..นกถัว นกถัวหัวหงอกนั่นน่ะ ตี้บินไปบินม้า เปิ้นกะถาม ปู่ละหึ่งกะถามนกถัวว่าอั้นน.. ลุกนี่ไปเวียงไก๋ก่อ เอี๊ยะน่า..ไปเมืองบ้านเฮาเนี่ยะ นกถัวหัวหงอกกะตอบว่า  ข้าบินมาจนอั้น..  หัวปอหงอกล่ะ  กะหยังบ่ถึงเตื้อ 

ปู่ละหึ่งกะเลยใจ๋อ่อนน่ะ  กะเลยซั๊วะ! หมะผาไว่นี่เฮี๋ยก้อนนึ่ง  แฮ๋มก้อนนึ่งกะบ้านผาขวางนั่นหนะ..  ก่อนมันสูงเน๊าะพอดีนกหัสดีหลิงมาจั๊บจึงตู้บไปซึ่งคนเฒ่าคนแก่เปิ้นกะเลยตั้งจื่อว่าบ้านผาตู้บ ..เน๊าะ

 

 

เรื่องเล่าประวัติความเป็นมาของผาตูบ เป็นภาษาพื้นถิ่นของ ผาตูบจริง ๆ เลยครับ ผมโชคดีที่ คุณปรัชญา ซึ่งเป็นนักศึกษาเอกธุรกิจบริการ กศ.บป. ที่จังหวัดน่าน ได้มีความเพียรในการถอดเทปออกมาทุกคำพูด ทุกสำเนียงครับ วันนั้นผมกับคุณปรัชญาช่วยกันนั่งถอดเทปกัน 4-5 ชั่วโมง กว่าจะได้เป็นข้อความข้างบนออกมาครับ พวกเราก็พยายามถอดออกมาให้ได้สำเนียงคล้ายคลึงที่สุดครับ

เพราะเพียงแค่ประโยคสั้น ๆ ประโยคนี้ประโยคเดียว ก็สามารถถอดความเป็น "ผาตูบ" ได้อย่างมากมายครับ เพราะสอดแทรกไปด้วย "บริบทของชุมชน" ทั้งบริบททางวัฒนธรรม ความเชื่อ ลักษณะทางกายภาพ การย้ายถิ่นฐานของประชากร ประเพณี วัฒนธรรม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างของชุมชนมีที่มาที่ไปครับ

บันทึกมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

 

หมายเลขบันทึก: 39149เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อาจารย์ปภังกร

ได้บรรยากาศ และกรุ่นกลิ่นอายชนบท มากเลยครับ ผมอ่านแล้วเข้าใจดีครับ เพราะเป็นคนเหนือ แต่คนภาคกลางมาอ่านคงจะเข้าใจยากไปนิด

นี่หละครับ ข้อมูลเชิงคุณภาพ ที่ได้จากสนาม เป็นความภูมิใจของผู้ถ่ายทอดด้วยครับ 

ผมชื่นชมอาจารย์มากครับ 

ขอบคุณมาก ๆ ครับ คุณจตุพร

ต้องขอบคุณนักศึกษาและชุมชนทุก ๆ ท่านด้วยครับ เพราะถ้าไม่มีท่านเหล่านั้น ก็จะสำเร็จออกมาไม่ได้เลยครับ

ตำนานความเป็นมาของชื่อ ผาตูบ  ทำให้ผมหวนนึกถึงชีวิตในวัยเด็กครับอาจารย์ปภังกร...ตอนเด็กๆ ครอบครัวของผมจะไปทำบุญช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดน่านแทบทุกปี

เพียงแต่ผมเข้าใจภาษาคำเมืองไม่มากนักครับ ถ้าคุณจตุพร กรุณาช่วยแปลเป็นภาษากลางจะเยี่ยมมากเลยครับ 

ดูเหมือนว่าตำนานทั้งสองเรื่องนี้ นกหัสดีจะเป็นตัวเอกใช่ไหมครับ

ผมลองแปลให้ครับคุณจรัญธร 

 

"ตามหลักแล้ว  จริงๆแล้ว ถ้ำผาตูบ อยู่ตรงโรงโม่หินติดศูนย์วิจัยยาง และเป็นพื้นที่ของศูนย์วิจัยยาง

เมื่อก่อนโน้น ภูเขาลูกนี้สูงมากเลย ขนาดที่ว่าใครจึ้นไปถึงข้างบนเขาก็จะเห็นภูมิทัศน์ของจังหวัดน่าน

มีคนสมัยก่อนเล่าว่ามีนก หัสดี มาจับมาเกาะเขาลูกนี้อยู่ ภูเขาก็เลย ตูบลงมา (ลดขนาดลงมา) ก็เลยเรียกว่า "ผาตูบ" คนเฒ่าคนแก่เขาเล่ามาอย่างนั้น

 สมัยก่อนเขาว่ากันว่า ปู่ละหึ่ง กับผาตูบ ผาขวาง ปู่ละหึ่งนำเอาเขาสองลูกใส่ถุงเสื้อมา แล้วปู่ละหึ่งก็ออกเดินทาง ไปเจอนกถัวหัวหงอกบินไปบินมา ปู่ก็ถามนกถัวหัวหงอกว่า "จากที่นี่ไปในเมืองไกลมั้ย" นกถัวก็ตอบว่า "ข้าบินมาจนหัวหงอกแล้ว ก็ยังไม่ถึงเลย"

ปู่ละหึ่งก็เลย ท้อใจ ก็เลยนำเอาหินผาที่อยู่ในถุงเสื้อ วางหมะลง เป็นผาตูบ อีกก้อนหนึ่งก็นำวางลงเป็น ผาขวาง

สมัยก่อนนี้มันสูงมากเลยนะ พอดีมีนกหัสดี มาเกาะทำให้มันต่ำลง (ตูบลง - ลดระดับลง

คนเฒ่าคนแก่ก็เลยตั้งชื่อให้ว่า บ้านผาตูบ จนมาถึงปัจจุบันนี้"

 แปลจนเหนื่อยเลยนะเนี่ย นี่ขนาดผมเป็นคนเหนือนะครับ บางทีต้องคิดศัพท์ให้เทียบเคียงภาษาไทย บางทีก็ยากครับ เพราะอาจารย์ปภังกร ท่านเขียนเลียนสำนวนดั้งเดิมจริงๆ - - -นี่หละครับแปลสดๆ คิดว่า อ่านพอเข้าใจนะครับ

เข้าใจว่าปู่ละหึ่ง เป็น บุคคลที่มีอิทธิฤทธิ์ แต่ไม่เข้าใจว่า เก็บผาตูบ ผาขวางเอาไปทำไม?

นกถัวหัวหงอก เป็นนกชนิดหนึ่ง ผมนึกชื่อภาษากลางไม่ออก- - เคยเห็นครับ

หากท่านไหนมาอ่านบันทึกนี้ ผิด ตก บกพร่องตรงไหน ช่วยเติมด้วยครับ 

 

ขอบพระคุณทั้งสองท่านมาก ๆ เลยครับ

เป็นการแปลที่เยี่ยมยอดมาก ๆ ครับ

เพราะภาษาที่ท่านเจ้าอาวาสพูด เป็นภาษาพื้นเมืองของทางน่านแท้ ๆ ครับ มีทัพศัพท์ค่อนข้างเยอะครับ

ก็ฝากเช่นเดียวกับคุณจตุพรและคุณจรัณธร ถ้าใครมีประวัติหรือทราบเกี่ยวกับภาษาเพิ่มหรือ และประวัติของปู่ละหึ่ง , นกถัวหัวหงอก ช่วยมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

คุณจตุพรแปลเราทราบให้สดๆ เลย ผมขอบคุณมากครับ

ผมเคยอ่านตำนานล้านนาน ถ้าจำไม่ผิด

  • นกหัสดีหลิง คือ นก หัสดีลิงค์ ที่มักพบในตำนานของล้านนาใช่ไหมครับ

 

เคยฟังนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้เมื่อครั้งเป็นเด็กเหมือนกัน แต่เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่ง แม่เล่าว่าปู่ละหึ่งอยู่ดอยภูคา ใคร่เห็นความอลังการของเวียงนันทบุรีศรีนครน่าน จึงออกเดินทางมาพร้อมกับหาบเขาสองลูกมาเป็นของฝากเมืองน่าน ปู่ละหึ่งรอนแรมข้ามน้ำข้ามเขามาแรมวัน ก็พบนกถัวหัวหงอก(คิดว่าคือนกกระตั้ว)บินวนไปเวียนมา จึงเจรจาความซึ่ง ไดอะลอกเหมือนกันเปี๊ยบ ปู่ละหึ่งถอดใจหันหลังกลับดอยภูคา ทิ้งดอยสองลูกไว้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า ผาตูบและผาสิงห์ เป็นเขาหินปูนซึ่งต่างจากเขาในย่านนั้น แล้ววันหลังจะเข่ามาเล่าให้ฟังอีกนะคะ

ตูบลงมา (ลดขนาดลงมา)

คำว่า ตูบ ผมว่า น่าจะเป็นล้มลงมา มากกว่านะครับ

เคยมีเพื่อนสนิทอยู่บ้านผาตูบ แต่ยังไม่เคยไปที่ยวถ้ำผาตูบเลย อยากไปเที่ยวใหม่

อยากติดต่อกับ เพื่อน กิ๊ก (เพลินจิตร กลิ่นทรัพย์) บ้านผาตูบ ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท