ชีวิตที่พอเพียง : 67. เป็นบรรณาธิการวารสาร


          ปี ๒๕๒๓ ผมเป็นอาจารย์ธรรมดา (ไม่มีตำแหน่งบริหาร) ที่คณะแพทยศาสตร์  มอ.    กำลังขมักเขม้นทำวิจัยในชุมชนโดยรอบอำเภอหาดใหญ่     ตอนนั้นผมหายใจเข้าออกเป็นงานวิชาการ งานวิจัย     (ที่จริงผมเป็นอย่างนี้มาจนเดี๋ยวนี้)

          วันหนึ่งตอนปลายปี ๒๕๒๓ หรือต้นปี ๒๕๒๔ ผมไปบอกรองอธิการบดี ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ว่าปล่อยให้ "วารสารวิชาการ" ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  อยู่ในสภาพอย่างที่เห็นได้อย่างไร     มันไม่ใช่วารสารวิชาการ (journal) แต่เป็นนิตยสาร (magazine)     เพราะเรื่องที่ตีพิมพ์เป็นเรื่อง แนะนำวิธีแปรงฟัน    ท้องผูกแก้อย่างไร  ฯลฯ     คือเป็นความรู้ทั่วๆ ไป ที่ไปลอกๆ เขามา     ไม่ใช่ความรู้ที่ได้มาจากการวิจัยของตนเอง ไม่เป็นความรู้ใหม่

         ดร. นักสิทธ์บอกว่า ไม่มีคนเป็นบรรณาธิการที่เข้าใจ และพร้อมจะเป็นบรรณาธิการ    "คุณหมอช่วยเป็นให้หน่อยได้ไหม"     ดร. นักสิทธ์ปล่อยหมัดน็อค    

         เทวดาดลใจให้ผมตอบว่า    ผมยินดีทำให้ระยะหนึ่ง เพื่อวางรูปแบบไว้     โดยมีเงื่อนไข ๓ ข้อ
            (๑) ทำเป็นวารสารวิชาการคุณภาพสูง  มีระบบ peer review ที่เข้มงวด     ต้องไม่มีการขอร้องวิ่งเต้นให้ช่วยพิมพ์ผลงานคุณภาพต่ำ "เพื่อเอาไปขอตำแหน่งวิชาการ"
            (๒) ต้องรับประกันว่ามีเงินงบประมาณให้ปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ต่อเนื่อง    สำหรับพิมพ์วารสารปีละ ๔ ฉบับ  ฉบับละ ๑,๐๐๐ เล่ม    พิมพ์ด้วยระบบ Compugraphic ซึ่งในขณะนั้นโรงพิมพ์ที่มีระบบนี้ในจังหวัดสงขลามีอยู่ที่เดียว    เป็นระบบที่ทันสมัย ตัวอักษรคมชัด เล่นแบบตัวอักษรได้มากมาย     และบรรจุเนื้อหาในหนึ่งหน้าได้มากกว่าระบบเรียงพิมพ์มาก
            (๓) ต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับปริญญาตรี หนึ่งคน มาทำหน้าที่ประจำทำงานนี้อย่างเดียวเต็มเวลา     มานั่งทำงานอยู่กับผม     และต้องเป็นคนที่ผมเลือกแล้วว่าใช้ได้    และต้องไม่มีหัวหน้าของเขามาเรียกไปใช้งานอื่นเป็นอันขาด
         ถ้าตกลงตามนี้ผมก็ยินดีทำหน้าที่ให้ระยะหนึ่ง

         โชคดีที่ ดร. นักสิทธ์ ตกลง เราจึงมี วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นที่เชิดหน้าชูตา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนถึงบัดนี้เป็นปีที่ ๒๘ แล้ว      ผู้สนใจดูได้ที่   www.psu.ac.th/PresidentOffice/EduService/journal/firstpage.htm  

         คงต้องยกรายละเอียดไปเล่าอีกตอนหนึ่ง    โดยขอย้ำว่า เคล็ดลับในการทำวารสารวิชาการให้มีคุณภาพและยั่งยืนนั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำที่มีทักษะในการทำหน้าที่บรรณาธิการประจำ     และต้องมีเงินงบประมาณในการจัดพิมพ์    เมื่อเราพิมพ์รูปเล่มออกมาสวย    สาระของเนื้อในมีคุณภาพ    ผ่านการประกันคุณภาพด้วยระบบ peer review ที่ดี    ก็จะมีคนส่งต้นฉบับมาลง     พอต้นฉบับดีๆ เข้ามา ก็จะเกิดวงจรเสริมแรง ดึงดูดต้นฉบับดีๆ เข้ามามากขึ้น

        ที่จริงผมมีบทบาทเป็นบรรณาธิการอยู่ไม่ถึงปี     คนที่ควรได้รับเครดิตมากกว่าผม คือ ศ. ดร. ไพศาล เหล่าสุวรรณ กับคุณนิรันดร์ สุมาลี    ซึ่งจะยกไปเล่าตอนต่อไป

วิจารณ์ พานิช
๑ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 39148เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2006 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท