สภามหาวิทยาลัย 41 : จิตตปัญญาศึกษา


การศึกษาที่มีอยู่ในโลกโดยทั่วไปขณะนี้ ซึ่งเน้นที่การเรียนรู้วิชาความรู้เรื่องต่างๆ อันเป็นเรื่องนอกตัวเท่านั้น แม้มีความจำเป็น แต่เมื่อขาดการเรียนรู้เรื่องในตัว ก็ขาดความสมบูรณ์ เอียงข้าง แยกส่วน เมื่อมนุษย์ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง ก็ทำให้โลกทัศน์และวิธีคิดเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง เกิดความบีบคั้น ทั้งในตัวเองและระหว่างกันในสังคม เป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ในสังคมจนวิกฤต

 

       สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่สนับสนุนเชิงนโยบายให้เกิดกิจกรรมดีๆ ที่ก่อคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง     ในวันที่ ๑๙ กค. นี้ สภามหาวิทยาลัยมหิดลจะพิจารณาเรื่อง การริเริ่ม จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับอุดมศึกษาไทย    และน่าจะได้มีการดำเนินการอย่างกว้างขวางในหลากหลายมหาวิทยาลัย

        จึงขอนำบทความของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ในมติชนฉบับวันนี้มาเผยแพร่ต่อ

 

จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

คอลัมน์ จิตวิวัฒน์

โดย ประเวศ วะสี แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) www.jitwiwat.org

 

ในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2549 จะมีการเสนอโครงการจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยมหิดล

แนวคิดหลักของโครงการการศึกษานี้ ก็คือ การศึกษาที่มีอยู่ในโลกโดยทั่วไปขณะนี้ ซึ่งเน้นที่การเรียนรู้วิชาความรู้เรื่องต่างๆ อันเป็นเรื่องนอกตัวเท่านั้น แม้มีความจำเป็น แต่เมื่อขาดการเรียนรู้เรื่องในตัว ก็ขาดความสมบูรณ์ เอียงข้าง แยกส่วน เมื่อมนุษย์ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง ก็ทำให้โลกทัศน์และวิธีคิดเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง เกิดความบีบคั้น ทั้งในตัวเองและระหว่างกันในสังคม เป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ในสังคมจนวิกฤต

อนึ่ง การขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง ผลักดันให้ผู้คนในปัจจุบันต้องไปหาอะไรมาเติม สิ่งที่หามาเติมคือ หนึ่ง ยาเสพติด สอง ความฟุ่มเฟือย สาม ความรุนแรง ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนอันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ให้ทับทวีมากขึ้น

พฤติกรรมเหล่านี้จะแก้ไม่ได้เลยตราบใดที่มนุษย์ยังขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง หากมีความสมบูรณ์ในตัวเอง มนุษย์จะมีความเป็นอิสระ มีความสุข และมีไมตรีจิตอันไพศาล อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี

และเนื่องจากมีความสุขสมบูรณ์ในตัวเอง จึงไม่มีความต้องการจะไปเอายาเสพติด หรือความฟุ่มเฟือย หรือความรุนแรง มาเติมให้ตัวเองด้วยประการใดๆ

อีกประการหนึ่ง การศึกษาปัจจุบันที่เน้นการเรียนวิชา เกือบไม่มีเลยที่เรียนแล้วเข้าใจเพื่อนมนุษย์และเข้าใจตัวเอง

เมื่อไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์และไม่เข้าใจตัวเอง เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ไม่เข้าใจ แก้ไขไม่ได้หรือแก้ผิดๆ ทำให้ปัญหาหมักหมมเพิ่มพูน นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง ถึงการนองเลือดได้

ความรุนแรงทั้งในประเทศและในโลกเพิ่มมากขึ้นทุกทีอย่างไม่มีคำตอบ และจะไม่มีคำตอบตราบใดที่การศึกษายังเป็นเฉพาะการศึกษาวิชา แต่ไม่ศึกษาให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์และเข้าใจตนเอง

นอกจากนั้น โครงสร้างขององค์กรต่างๆ ทั้งทางการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา ล้วนเป็นโครงสร้างทางดิ่งหรือโครงสร้างเชิงอำนาจ ที่เน้นการใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และการบริหารสั่งการจากบนลงล่าง

ในโครงสร้างแบบนี้ขาดความสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กร การเรียนรู้และความร่วมมือกันจะมีน้อย แต่จะมีการวิ่งเต้นเส้นสาย นินทาว่าร้าย ออกใบปลิว กั๊กข้อมูล แอบแทงข้างหลัง ขาดความสุขความสร้างสรรค์ในความเป็นมนุษย์อย่างน่าเสียดาย เพราะในศักยภาพของความเป็นมนุษย์นั้น มนุษย์สามารถมีความสุขและความสร้างสรรค์ในการทำงานร่วมกันได้

กุญแจแห่งอนาคตของมนุษยชาติจึงอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning) ทั้งในตัวเอง (Personal Transformation) และเชิงองค์กร (Organizational Transformation)

จิตตปัญญาศึกษา คือ การศึกษาที่ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น เกิดความเป็นอิสระ ความสุข ปัญญา และความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

โดยเน้นการศึกษาจากการปฏิบัติ เช่น จากการทำงาน ศิลปะ โยคะ ความเป็นชุมชน การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม สุนทรียสนทนา การเรียนรู้จากธรรมชาติ และจิตตภาวนา เป็นต้น

เป็นเวลาพอสมควร ที่เครือข่ายของคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โครงการจิตวิวัฒน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สถาบันขวัญเมือง จังหวัดเชียงราย โรงเรียนสัตยาไส สถาบันอาศรมศิลป์ แห่งมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และจากที่อื่นๆ อีก รวมทั้งผู้อาวุโสอย่างนายแพทย์ประสาน ต่างใจ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เพื่อขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษา อันเป็นที่มาของโครงการจิตตปัญญาศึกษา ที่จะนำเสนอสภามหาวิทยาลัยมหิดลในวันดังกล่าวข้างต้น

ในโครงการนี้ สมาชิกในเครือข่ายดังกล่าวประมาณ 30 คน จากสาขาวิชาอันหลากหลาย เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ แพทย์ วิศวกรรม การศึกษา ศาสนา สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ เป็นต้น จะพัฒนาตัวเองไปเป็นวิทยากร และเปิดหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญขึ้นไว้ให้สังคมไทยจำนวนมากขึ้นๆ เพื่อไปเป็นกำลังที่จะทำให้จิตตปัญญาศึกษาเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทั่วไปในหลักสูตรการศึกษาทุกประเภทและทุกระดับ

เป้าหมายคือ การที่มนุษย์ทั้งหมดสามารถเรียนรู้เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพื่อความสุขและการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ดังกล่าวแล้ว

หวังว่า การก่อตัวเรื่องจิตตปัญญาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล จะก่อให้เกิดกำลังใจแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะทำทำนองเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ยิ่งทำได้ดีกว่ายิ่งดี เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันในการเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อช่วยให้มนุษยชาติใช้ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ยกระดับตัวเองไปให้พ้นวิกฤตการณ์ของอารยธรรมปัจจุบัน

จิตตปัญญาศึกษาจึงเป็นเรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งที่เพื่อนคนไทยหลายคนร่วมกันรังสรรค์ขึ้นด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์

ขอให้เพื่อนคนไทยและองค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นกระแสใหญ่ของมนุษย์ต่อไปในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 39022เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2006 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ได้ฟังเรื่องดังกล่าวจากการเข้าร่วมกิจกรรม UKM เป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่งครับ

แนวคิดของจิตตปัญญาศึกษามีความน่าสนใจและน่าสนับสนุนให้คนสนใจมากขึ้นให้แพร่หลายด้วยความมุ่งหวังที่ว่าจะเป็นการเติมเต็มจิตใจให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาเขียนไว้อย่างน่าสนใจมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท