HA Forum 11: ตอน 2: การเรียนรู้โดย/อย่าง/กับ "ธรรมชาติ"


การเรียนรู้โดย/อย่าง/กับ "ธรรมชาติ"

บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการเข้าฟัง session ถอดความรู้ SHA โดยอาจารย์เอก และหนานเกียรติ ณ ห้อง SHA ชั้นล่าง ซึ่งพบบรรดาญาติมิตร gotoknow มาฟังกันเนืองแน่นอบอุ่น

สิ่งหนึ่งที่จะการันตีการพัฒนาอย่างยืดหยุ่นและยั่งยืนก็คือการทำองค์กรเป็นองค์กรที่มีชีวิต และคุณลักษณะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต (ชั้นสูง) ก็คือ "การเรียนรู้"

การเรียนรู้ก็ไม่ได้การันตีว่าจะยั่งยืนไปหมด การเรียนรู้ที่แท้จริง ต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติโดยรวม (ซึ่งหมายถึงจะต้องเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อองค์รวม อากาศ น้ำ แผ่นดินไปด้วย) การเรียนรู้ที่แท้ก็คือการสังเกต สังเกต สังเกต กฏที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือกฏแห่งธรรมชาติทั้งปวง ไม่ใช่เรียนรู้กฏที่มนุษย์เองใช้อุปาทาน ใช้เวทนา สัญญาทั้งหลายสรรค์สร้างมาทีหลังให้กลายเป็นเกราะ เป็นกรอบ เป็นฝาชีครอบจิตใหญ่เอาไว้ กระดิกกระเดี้ยอะไรไม่ได้

ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีสนทนากับอาจารย์โกศลและอาจารย์โกเมธ ในเรื่องสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลเพื่อการเยียวยา (จำชื่อ session ไม่ได้แล้ว แต่อะไรทำนองนี้) แต่เดิมผมฟังท่านอาจารย์ทั้งสองตอนไปเดินสาย SHA ด้วยกันมาสี่ภาค ก็รู้สึกอิ่มเอมเปรมปิติปัทสัทธิอยู่แล้ว พออาจารย์อนุวัฒน์ท่านกรุณาให้ผมมาร่วม jam ด้วย ก็ดีใจ มีอะไรจะถามไถ่พูดคุยจะได้ทำกันตรงนั้นไปซะเลย ผมเรียนท่านอาจารย์โกเมธไปว่า ผมไม่มี slides หรือ powerpoint อะไรเลย ขอสะท้อนและแสดงความเห็นอย่างเดียว เรียกว่ามายังไงก็ไปยังงั้น (ฮึ ฮึ มาทราบทีหลังจากสายสืบ บอกว่ามีคนบ่นว่า session นี้จดไม่ได้เลย มันพูดอะไรกันอยู่สามคนก็ไม่รู้ อิ อิ นับว่าบรรลุวัตถุประสงค์ คือความรู้ซึมลงไปแบบเต๋า เพราะอาจารย์ประพนธ์ ผาสุขยืดบอกว่า เต๋าที่แท้ (อมตะ) นั้นไม่สามารถบรรยาย พรรณนาเป็นคำพูดได้!!!)

แน่นอนที่สุดถ้าเราจะเริ่มจาก "ธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์" model ที่เรียบง่ายที่สุดชุดหนึ่งก็คือปัญญาสามฐาน ได้แก่ ฐานกาย ฐานใจ และฐานความคิดนั่นเอง เมื่อนำมาดัดแปลงเป็นภูมิสถาปัตย์เพื่อการเยียวยา ก็อาจจะพอแจกแจงได้คือ

  • ฐานกาย ได้แก่ภูมิสถาปัตย์ที่เกี่ยวกับกิจกรรม การกระทำ และผัสสะทั้งห้าของร่างกาย สำหรับโรงพยาบาล ก็อาจจะมีตั้งแต่ทำเล ที่ตั้ง อาคาร ตึก แผนก เก้าอี้ ห้องตรวจ ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วย
  • ฐานใจ ได้แก่ภูมิสถาปัตย์ที่เกี่ยวกับความรู้สึก อารมณ์ ได้แก่สิ่งกระตุ้นความรู้สึก "สะเทือนใจ" ทั้งหลายแหล่ อาทิ สี รูปภาพ เสียง (ดนตรี หรือเสียงโฉ่งฉ่าง โลหะกระทบกัน) กลิ่น​ (formalin ดอกไม้ ฯลฯ) ภาพวาด ภาพเขียน พระบรมฉายาลักษณ์
  • ฐานความคิด ที่แตะไปถึงความหมาย จินตนาการ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อาทิ สัญญลักษณ์ทางศาสนา พระรูปฯ โต๊ะหมู่บูชา พิธีกรรม ธูป เทียน ดอกไม้บูชาพระ ไปถึงบรรยากาศที่สื่อเรื่องราว อาทิ ห้องคลอด คือห้องแห่งความใฝ่ฝัน

การเรียนรู้ "โดย" ธรรมชาติ นั้น เป็นการที่เรามีสติ ห้อยแขวน และได้รับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด มองเห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง เห็นเหตุและผล เห็นคลื่นกระทบอย่างเป็นเหตุปัจจัย ในสภาวะที่เราผ่อนคลาย เราก็จะเกิดความรับรู้และเรียนรู้ได้มากมาย

แท้จริงแล้วเมื่อคนไข้และญาติมาโรงพยาบาล ประสบการณ์ทั้งหมดจะเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมาก ไม่เพียงต่อคนไข้และญาติ แต่ยังต่อเจ้าหน้าที่ บุคลากร และวงการแพทย์ทั้งหมดก็ว่าได้  ขึ้นอยู่กับเราจะเห็นหรือไม่เห็นนั้นอีกเรื่องหนึ่ง การจัดภูมิสถาปัตย์ให้ประสบการณ์เรียนรู้ครั้งนี้มีความหมายก็เป็นความท้าทายที่น่าสนใจ อุปสรรคในการเรียนรู้ก็คือสิ่งที่เราๆเคยรู้กันมา voice of judgment เสียงแห่งการตัดสิน voice of cynicism เสียงแห่งความคลางแคลงใจ และ voice of fear เสียงแห่งความกลัว

เราใช้ theme ว่าทำโรงพยาบาลเป็นเสมือน "บ้าน" ก็ยังมีวงเล็บ เพราะไม่ใช่ทุกบ้านที่น่าอยู่ คนไข้บางคนติดโรงพยาบาล ไม่อยากกลับบ้านก็มี ฉะนั้นโจทย์ก็ต้องจำเพาะมากกว่านี้ สิ่งที่ต้องการจริงๆก็คือโรงพยาบาลที่มีบรรยากาศเยียวยานั่นเอง

  • บรรยากาศแห่งการเยียวยาตามธรรมชาติของฐานกายก็คือ สถานที่ที่ให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และจริงจังประณีตต่องานที่เราจะทำ ว่าไปตั้งแต่ความสะอาดเรียบร้อยของสถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องไม้ที่แสดงถึงการได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ซ่อมแซมตามเวลาอันควร ห้องทำหัตถการที่แสงสีเสียงเหมาะสม เป็นสัดส่วน คนไข้ถูกนำพาไปยังสถานที่แปลกใหม่น้อยที่สุด เจอคนแปลกหน้าให้น้อยที่สุด
  • บรรยากาศแห่งการเยียวยาตามธรรมชาติของฐานใจก็คือ สถานที่ที่เต็มไปด้วย "นักรักมืออาชีพ" (professional lover) เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม เราอยู่ได้ด้วยการขอหยิบยืม "พลังชีวิต" จากคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ความสัมพันธ์ที่ดี การได้รับการยอมรับ ไปจนถึงที่มีพลังมากขึ้นได้แก่ ความตระหนักรู้ว่าเราถูกรัก และเราสามารถรัก ไว้วางใจ ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อความรู้สึกกลุ่มนี้จะเกิดการเยียวยาขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เหมือนกับที่เราเรียก "Placebo Effect" (Placebo แปลว่า "I shall please" คือเมื่อเราทำให้คนเกิดความพึงพอใจว่าเขาได้รับการดูแลรักษาเยียวยาอยู่ ในร่างกายของเขาจะเกิดกระบวนการเยียวยาขึ้นได้จริงๆ) คนไข้ทุกคนที่กำลังเปราะบางเพราะความเจ็บป่วย จะ "ไว" ในการรับรู้ energy ประเภทความรัก ความเมตตา กรุณา และหวั่นวิตกกังวล ไวต่อการรับรู้ energy ประเภทความเกลียด ความท้อถอย หมดหวัง มากกว่าปกติ ในการจะทำให้บรรยากาศของโรงพยาบาลมีฐานใจที่ดีนั้น เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดบรรยากาศแห่งความรัก ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และไม่ตัดสิน ไม่คลางแคลงใจ

ยกตัวอย่าง ความไว้วางใจนั้น มันตรงกันข้ามกันกับความหวาดระแวง การใช้กฏหมาย การใช้ defensive medicine ฉะนั้น เราจะต้องระมัดระวังเวลาที่จะเกิดกิจกรรมที่อาจจะสื่อไปในทำนองนี่ และควรทำด้วยความ sensitive ให้มากๆ ได้แก่ ตอนจะให้คนไข้่หรือญาติเซ็นชื่อลงในเอกสารอะไรก็ตาม มันมี sense ของการใช้กฏหมาย และการบอกเป็นนัยว่า "แค่พูดนั้นไม่พอ ขอเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย" และการกระทำอย่างเช่น เราบอกพูดว่าอะไร ว่าเราจะทำ จะพูด จะช่วย อะไรให้เขา แล้วเรารักษาคำพูดของเราอย่างเคร่งครัด บอกว่าอย่างไร แล้วก็ทำอย่างนั้น เกิดอย่างนั้น นี่คือการสร้างบรรยากาศแห่งการไว้่วางใจ แห่งความซื่อตรง อันจะเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ

  • บรรยากาศตามธรรมชาติที่เยียวยาฐานความคิด ได้แก่ บรรยากาศที่ "ให้ความหมาย ให้ความหวัง และเน้นความสำคัญของ the source หรือเครื่องยึดเหนี่ยว" เป็นเรื่องสำคัญที่โรงพยาบาลจะมีความรู้เบื้องต้นว่า อะไรเป็น "ต้นทุน" ทางจิตวิญญาณและทางสังคมของพื้นที่ของเรา

หลายๆที่ทำไปแล้วโดยไม่รู้ตัว อาทิ การนำเอาพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มาติดไว้ในที่ที่มีความหมายเทิดทูนบูชา ก็เป็นการ reassure (ได้ระดับหนึ่ง) ว่าองค์กรของเราเน้นและเชื่อในเรื่องอะไร การนำเอาพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์มาติดไว้่ในที่ที่อันควร ก็ช่วยขวัญกำลังใจคนไทยจำนวนมาก การมีสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรม พิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ความเชื่อ ฯลฯ ก็จะช่วยเหลือคนไข้และญาติในทางที่เราเองอาจจะนึกไม่ถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

หมายเลขบันทึก: 344267เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2010 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอบคุณคะอาจารย์ สิ่งดี ที่นำมาเล่าและบอกต่อ

อ่านจากบันทึกอาจารย์แล้ว

  • ได้เรียนรู้จากคนป่วย จำได้ว่าตอนพ่อป่วยนอนอยู่ชั้น 11 พ่อบอกว่า ห้องสีเหลี่ยมที่นอนพักอยู่ หนึ่งเดือน หนึ่งวัน ถึงแม้จะกว้างมาก มีทุกอย่างครบครัน แอร์ ทีวี ตู้เย็น ไมโครเวฟ ห้องน้ำ มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ก็เดินได้ไม่ไกล อยู่ในวงจำกัด เหมือนถูกขังเป็นปี
  • พ่อบอกว่าไม่เอาไม่นอนโรงพยาบาลอีกแล้ว
  • ถ้าโรงพยาบาลปรับภูมิทัศน์ ทำห้องพักพิเศษให้เหมือนบ้าน มีบริเวณหน้าบ้าน หลังบ้าน สวนให้คนไข้ได้มองเห็น เดินออกกำลังกาย น่าจะดี 
  • ห้องพิเศษที่โรงพยาบาลอยู่ชั้นสูงมาก ชั้น 11 12 15 และกำลังจะเปิดใหม่ ชั้น 14 ห้องแต่ละห้อง บริเวณเหมือนโรงแรม  

อาจารย์คะ พอลล่าเฝ้าห้อง SHA 1 ไม่ได้ฟังห้องไหน เลย มาเรียนรู้ จากการเรียนรู้ของอาจารย์ดีกว่า อิอิ

โรงพยาบาลคือบ้านอันอบอุ่น ชนกับอ.ดร.วรภัทร์ มันส์ พอๆกันเลยค่ะ

สวัสดีคะ ท่านอาจารย์

ไม่ทราบว่าทำไม  เข้ามาอ่านของอาจารย์ ช้ากว่าพอลล่าทุกทีเลยคะ

 ชอบใจคำว่านักรักมืออาชีพ มากๆคะ

สำหรับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยานั้น เพื่อให้เกิด การอยู่ด้วยกันในโรงพยาบาลอย่างมีความหมาย  หรือ อาจจะเป้น การอยุ่รอด คือรอดจากการเจ็บป่วย ความเสี่ยงต่างๆ  การอยุ่ร่วม ระหว่างแพทย์ พยาบาล คนไข้ ฉันเพื่อนมนุย์  และอย่อย่างมีความหมายคือ  สิ่งแวดล้อม ที่มีความครบตามสัปปายะทั้ง ๗ นั้น ทำให้ผู้คนพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้นได้ ทั้งผุ้ให้บริการ และผุ้รับบริการ

จะเห็นได้จากตัวอย่างโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัล ในปีนี้คะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์ มากๆคะ ที่เป็นกำลังใจ และชี้นำให้เสมอคะ

 

 

ใจตรงกันกับเเม่ต้อยค่ะอาจารย์ "นักรักมืออาชีพ" (professional lover) พินิจพิเคราะห์ดูให้ดีเเล้ว การที่คนหนึ่งคนจะเป็นนักรักมืออาชีพได้นั้น ต้องประกอบไปด้วยความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจ ถึงจะเรียกว่ามืออาชีพตัวจริง ดีใจที่ได้เจออาจารย์อีกครั้งเเละเเล้วก็ไม่พลาดไปนั่งเกาะติดขอบเวที เพราะฟังอาจารย์ทีไรกุ้งมักจะได้เก็บเกี่ยวสิ่งดีดีกลับบ้านเสมอ เอ๊ย กลับโรงพยาบาลเสมอค่ะ นำภาพมาฝากท่านอาจารย์ค่ะ

สวัสดีครับ คุณประกาย

ผมเล่าในงานนี้ว่า สำหรับห้องพิเศษ เราน่าจะทำอะไรได้เยอะ อาทิ เรื่องอาหารการกิน ที่จริงการกิน ไม่ได้มีความหมายแค่ nutrition หรือสารอาหารเท่านั้น แต่การกินนั้น เป็นศาสตร์ เป็นศิลป เป็นสังคม เป็นวัฒนธรรม เป็นความสัมพันธ์ เป็นสัญญลักษณ์ แม้กระทั่งในระดับจิตวิญญาณ ก็จะมีเรื่องวัฒนธรรมการกินมาเกี่ยวข้อง ถ้าห้องพิเศษสามารถจัด "โต๊ะกินข้าว" ที่คนไข้ที่พอเคลื่อนไหวได้ สามารถนั่งกินข้าวกับลูกกับหลาน แบบล้อมวง แทนที่จะกินบนเตียง ถาดหลุมวางบนโต๊ะเมโยคร่อมเตียง ก็ออกมากินที่โต๊ะกินข้าว น่าจะเป็น homely environment มากกว่า ทำไม่น่่ายากสำหรับที่ก็ไม่ได้ใช้เยอะอะไรนะครับ

พอลล่า

ใครเป็นคนจัดโปรแกรม บังอาจเอาไปซ้อนกับอาจารย์วรภัทร ผมเลยอดฟัง ฮึ่มๆๆๆ (ส่ง VCD มาให้ซะดีๆ) ของพี่โกมาตรก็ไม่ได้ฟัง เพราะจัดชนกับ session ของ ม.อ. ที่พาเอานักศึกษาแพทย์มาแลกเปลี่ยน ผมเลยต้องไปให้กำลังใจเขา อดฟัง highlight ไปหลาย sessions เลยคราวนี้ ไม่งั้นทุกปี ผมจะได้เขียนบทความเรื่องเล่าของพี่โกมาตรนะเนี่ย ปีนี้เลยอด

แม่ต้อยครับ

ความจริงผมชี้ๆไปบนฟ้า แต่คนเห็นดวงดาวน่ะ แม่ต้อย อ.อนุวัฒน์ และทีม สรพ.เองแต้ๆเน้อ

แต่ก็สนุกดี จะชี้ไปเรื่อยๆ อิ อิ

กุ้งนางครับ

ของดีๆ ไว้ได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงานครับ อิ อิ

สวัสดีครับพี่อัจฉรา

ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมเยียนครับ

ตามมาเรียนรู้ต่อครับ

โดนใจความเห็นที่ หกครับ ถ้าจัดห้องพิเศษได้แบบว่าก็น่าดีน่ะครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • ตามมายืนยันและเรียนรู้ค่ะ
  • ปลื้มชาว G2K เป็นที่สุดค่ะ

                   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท