รื้อถอนความคิดเดิม เพิ่มศักยภาพคนทำงานประเด็น "การถอดบทเรียน"


เราถอดบทเรียนเป็นอยู่แล้ว แต่ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความเป็นธรรมชาติ ทำให้คนถอดก็เกร็ง คนถูกถอดก็เกร็ง ไม่มีความสุข ทำไปงั้นๆ ได้ข้อมูลมากมาย แต่ก็ดูแห้งแล้ง

ปัญหาของการจัดอบรมการถอดองค์ความรู้กับการนำไปใช้จริง ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาในระดับบุคคล หรือองค์กรที่ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน เท่าที่ผมมีประสบการณ์ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

หากจะจัดอบรม ประเด็นถอดบทเรียน หรือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ อาจต้องวิเคราะห์ใหม่ว่า เราต้องการผลสัมฤทธิ์อะไร? และ กระบวนการน่าจะเป็นอย่างไร? ออกแบบให้เหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพื่อความคุ้มค่าในการดำเนินการ

ซึ่งเราอาจต้องรื้อถอนความคิดเดิมออก เพื่อ สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ

ผมขออนุญาตนำอีเมลที่เขียนมาแลกเปลี่ยนกับผมประเด็นที่ผมเกริ่นมาข้างต้น เพื่อประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่คิดจะจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยการอบรม ได้แลกเปลี่ยนกันครับ

อย่างน้อยมุมคิดแบบนี้ที่ผมนำเสนอ เป็นสิ่งที่ผมพบเจอตามประสบการณ์การทำงานของผม ในแวดวงการจัดการความรู้

 

ชื่อ: .................................
อีเมล: ………[email protected]
หัวเรื่อง: ปรึกษาการจัดWS_KM
ข้อความ:

คุณเอกครับ
ผม................... ทำงานอยู่ พอช.ครับ


พอช.สนใจจะเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะการสนับสนุนชุมชนนักปฏิบัติ “การสนับสนุนการถอดบทเรียนจากการปฏิบัติ”
ผมเห็นว่าคุณเอกมีประสบการณ์ตรงเรื่องชุมชน
น่าจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้
ทางเราตั้งใจจะจัดWS วันที่ ๒๕- ๒๖ พย. ๕๒


จึงอยากปรึกษาหารือครับ
ตั้งใจว่าจะแบ่งเป็น ๒  ช่วง คือ

  • ช่วงแรกเป็นแนวความคิด KM และชุมชนนักปฏิบัติ
  • ช่วงที่ ๒  เป็นการฝึกปฏิบัติการถอดบทเรียนและบันทึกใน Blog เช่น G2K



ขอปรึกษาหารือด้วยครับ

 

สวัสดีครับ ..... 

ผมขอแสดงความยินดีด้วยครับ สำหรับการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ของ พอช.

ผมดูโจทย์ที่ต้องการและเชื่อมโยงกับเวลา(๒ วัน) แล้ว  ผลสัมฤทธิ์ที่จะได้รับภายในเวลา ๒ วัน น่าจะอยู่ที่ “การติดอาวุธ”  มากกว่าครับ

เท่าที่ผมมีประสบการณ์ไปพูดคุยเรื่องการถอดบทเรียนกับหลายหน่วยงาน และผ่านประสบการณ์ของผมเอง

สิ่งสำคัญก็คือ เราเรียนรู้วิธีวิทยามากมายครับ เรื่องของการถอดบทเรียนแต่ การลงมือถอดบทเรียนจริงๆ เราทำตามทฤษฏีกันเป๊ะๆเลย มันแข็ง มันติดกรอบวิธีการไปหมด ขาดเสน่ห์ ขาดความเป็นธรรมชาติ ทำให้บทเรียนที่ได้ ก็ไม่ได้ลุ่มลึกมีพลังพอที่จะเป็นความรู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคมใหม่ๆได้ 

ผมลองวิเคราะห์ดูนะครับ ปัญหาก็คือ เราถอดบทเรียนเป็นอยู่แล้ว แต่ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความเป็นธรรมชาติ ทำให้คนถอดก็เกร็ง คนถูกถอดก็เกร็ง ไม่มีความสุข ทำไปงั้นๆ ได้ข้อมูลมากมาย แต่ก็ดูแห้งแล้ง 

ปัญหาอีกเรื่องก็คือ การนำองค์ความรู้ที่ถอดมาสู่การนำเสนอต่อสังคม หรือ มาใช้งาน เราขาดทักษะการนำเสนอ ผมหมายถึงการเขียนเรื่อง การคิดเชิงระบบ การนำเสนอเรื่องเล่าที่เร้าพลัง  ส่วนใหญ่เลยไม่มีทักษะตรงนี้ครับ ทำให้งานที่ดี ความรู้ที่ดี ไม่เอื้อให้นำไปใช้ต่อมากนัก เรียกได้ว่า เรามีศาสตร์ในการถอดบทเรียน แต่เราขาดศิลปะการนำเสนอความรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจของคน 

โจทย์ของ พอช....และ เวลาที่จัด Work Shop  ๒ วัน ก็เหมือนกับการจัด Work Shop  ทั่วไปครับที่มีเวลาประมาณนี้ หากต้องการผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (Learning outcomes) ที่จะให้คน พอช. เป็นนักถอดบทเรียนที่ดี และ ติดอาวุธให้ต้องคิดกระบวนการใหม่ให้เหมาะสมกับเวลาที่มีอยู่

ผมเห็นด้วยครับ ต้องปูพื้นด้วย KM และ ให้คุย KM แบบง่ายๆนะครับ ให้เข้าใจได้เลย ไม่ใช่ KM ที่นักวิชาการชอบ บรรยาย มัน เพิ่มความ งง และ ดู ขลัง จนดูว่าศาสตร์ KM มันยากเสียจริง

เราควรปูพื้นด้วย การ Sharing การถอดบทเรียน ที่เราเคยทำในพื้นที่ ทำอย่างไร? ได้ผลอย่างไร?  แบบไหนที่ทำแล้วดี แบบไหนที่ทำแล้วฝืด ผมคิดว่าหากเรามาระดมความคิดกัน เรื่องราวเหล่านี้ จะทำให้ คนมาร่วม Work Shop  ได้อะไรมากกว่า จะมาฝึกถอดบทเรียนในวันที่ ๒ เพราะมันกว้างมากเรื่อง “การถอดบทเรียน”

ส่วนเรื่องการเขียน Blog ก็ คือ การเขียนบล็อก ก็ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการนำเสนอยุคใหม่ ถือว่าเป็นประเด็นเสริมก็แล้วกันครับผม

กระบวนการคิดทั้งหมดที่ผมนำเสนอตรงนี้ ยังไม่ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายคือใครนะครับ? แต่คิดว่าเป็นคนทำงานของ พอช. ที่มีศักยภาพในชุมชน ที่มีความสามารถระดับหนึ่งอยู่แล้ว และการอบรมครั้งนี้เป็นการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพ (Capacity building) ของคนทำงาน

อย่างไรก็ตามครับ  สามารถแลกเปลี่ยนได้นะครับ ผมเขียนตามประสบการณ์ที่เคยเจอมา และ คิดว่า หากเราจะทำ Work Shop  เราน่าจะคิดแบบนี้ ส่วนกระบวนการโดยละเอียดนั้นต้องว่ากันอีกที

 

 

ขอบคุณมากครับ

เอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๑๔ ตค.๕๒

ศาลายา

 

 

หมายเลขบันทึก: 305963เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • อ่านจบแบบเร็วมากค่ะ สงสัยเพราะผู้เขียนเขียนเข้าใจง่าย...
  • ขออนุญาตแลกเปลี่ยนแบบเพิ่งคิดเร็ว ๆ สด ๆ ร้อน ๆ อาจจะผิดพลาดไปบ้างก็รบกวนแนะนำด้วยนะคะ
  • ปัญหาการฝึกฝนผู้ถอดความรู้ที่ได้เคยไปร่วมกระบวนการมาคือการขาดทักษะการจับประเด็น...พูดง่าย ๆ ก็คือแม้จะผ่านการอบรม KM มาแล้วหลายครั้ง แต่ในเรื่องการจับประเด็นแล้วเป็นกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคนที่จะต้องผ่านการปลูกฝังมาอย่างยาวนาน...
  • ขอฝาก hot issue นี้ไว้ให้คุณเอกหาวิธีแก้ไขสำหรับบางท่านที่อยากฝึกฝนการถอดความรู้แต่ยังไม่มั่นใจ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกรณีนี้ด้วย แล้วเราคงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรื่องนี้กันต่อค่ะ ขอไปท่องตัวบทก่อนนะคะ นักกฎหมาย เขาห้ามลืมทบทวนตัวบทกฎหมายค่ะ มิฉะนั้นอาจโดนถอนใบอนุญาตว่าความ อิอิอิ

ปัญหาการฝึกฝนผู้ถอดความรู้ที่ได้เคยไปร่วมกระบวนการมาคือการขาดทักษะการจับประเด็น...พูดง่าย ๆ ก็คือแม้จะผ่านการอบรม KM มาแล้วหลายครั้ง แต่ในเรื่องการจับประเด็นแล้วเป็นกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคนที่จะต้องผ่านการปลูกฝังมาอย่างยาวนาน...

ประเด็นนี้ ใช่เลย ครับ อ.ศิลา

มาฟังวิทยากรคุยกัน น่าสนใจมากค่ะ พี่แก้วจะได้นำไปใช้เป็นบทเรียน

พี่แก้วมีประสบการณ์ในเวทีมากมาย มีประเด็นไหนที่แตกต่าง แลกเปลี่ยนได้เลยครับ

 

สวัสดีครับ ;)

อาจารย์นพลักษณ์ ๙ บอกว่า อ่านจบแบบเร็วมาก แต่ผมต้องตรงข้ามกับอาจารย์ไว้ก่อน คือ อ่านช้ามากและเข้าใจน้อย ด้วยประสบการณ์ในเรื่องนี้มีน้อย

แต่ผมได้เคยเห็นวิธีการนี้หลายครั้งในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น

เขาเดินตาม "วิถีวิทยา มหาองค์กร อมรตัวเอง" ... เปรียบเหมือน ครูเปิดหนังสือสอนตลอดคาบ แถมทำเสร็จหมดหน้าที่ ก็ไม่มี ถอดบทรงบทเรียนอะไร จบแล้วจบไป ไร้ประโยชน์เหลือเกิน เสียดายงบ และสงสารคนมาถูกดึงความรู้ออกมา

เวลาไปนั่งดูองค์กรที่มีศักยภาพดี ๆ มักจะอิจฉาว่า โหย ไมเราไม่เป็นแบบนี้บ้างหว่า

แต่ที่คุณเอกได้บรรยายมา มันคือ "การปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ โดยไม่ยึดตัวบทกฎระเบียบในตำรามากเกินไป"

ทำยาก ต้องอาศัยประสบการณ์ จึงมีหนังสือเชิญมาขอความช่วยเหลือนั่นเอง

แฮะ แฮะ อ่านผ่าน ๆ แบบสแกนเร็ว จับความหมดหรือเปล่าก็ไม่ทราบครับ

มามีส่วนร่วมครับ อิ อิ ;)

คุณเอกครับ

     เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ   เปิดเทอมเร็วๆนี้ ผมมีนัดถอดบทเรียนกับคุณครูคณะหนึ่ง   ยอมรับว่าประสบการณ์ยังน้อยมากครับ  ก็ขอมาศึกษาจากคุณเอกนี่แหละครับ

    เราถอดบทเรียนเป็นอยู่แล้ว แต่ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความเป็นธรรมชาติ ทำให้คนถอดก็เกร็ง คนถูกถอดก็เกร็ง ไม่มีความสุข ทำไปงั้นๆ ได้ข้อมูลมากมาย แต่ก็ดูแห้งแล้ง 

               ได้ผลอย่างไรแล้วจะนำมา ลปรร ครับ

                               ขอบคุณครับ   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท