"วนไป วนมา" กับการคิด


หลากหลายความคิด หลากหลายวิธีการ หลากหลายการปฏิบัติ หลากหลายการสนทนา จึงทำให้ยากต่อการสรุปความที่เข้าใจ

การจัดการความรู้...เพื่ออะไร?

เป้าหมายการจัดการความรู้...ที่ต้องการคืออะไร?

   เป็นประเด็นคำถาม ที่ควรทบทวนและทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า "เราใช้การจัดการความรู้ เพื่ออะไร"  และ "เรากำลังดำเนินการจัดการความรู้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอะไร"  เพราะมิเช่นนั้นการปฏิบัติและหลักการก็จะเกิดความไขว้เขวได้

   กรมส่งเสริมการเกษตร มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมอาชีพการเกษตรให้กับเกษตรกรให้บรรลุผล โดยทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยี  ให้คำปรึกษาแนะนำ  และส่งเสริมการเรียนรู้  มีวิธีการทำงานที่ยึดโครงสร้างการปฏิบัติการจากกอง/สำนัก  เขต  จังหวัด  และอำเภอ ในการโยงใยหรือเชื่อมโยงสู่เกษตรกรในรูปแบบของการทำงานกับกลุ่มอาชีพเป็นหลัก  แต่สถานการณ์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี  การสื่อสาร  ข้อมูล  และสภาพความเป็นอยู่ จึงเป็นปัจจัยเหตุที่เจ้าหน้าที่เกิดการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริง เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงานกับเกษตรกร  ใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูล  ใช้อีเมล์เพื่อติดต่อประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน  และใช้แผนที่เพื่อหาพิกัดความเสียหายจากน้ำท่วม/ฝนแล้ง  และใช้กลุ่มเกษตรกรเพื่อถ่ายทอดความรู้

   ความน่าจะเป็น ในการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่จึงอยู่ที่การปรับตัวของหน่วยงานทุกระดับเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนความเป็นจริงในเชิงรูปธรรม เช่น 

          1)  มีการสร้างทีมพี่เลี้ยงเพื่อช่วยดำเนินงานในด้านการปฏิบัติ โดยนำมาทดแทนการนิเทศงาน 

          2)  มีการใช้เวทีการเรียนรู้/ เวทีการปฏิบัติงานระดับหน่วยงาน โดยนำมาทดแทนการติดตามงาน

          3)  มีการพัฒนาเครือข่ายในการปฏิบัติงาน เข้ามาทดแทนการประเมินผลงาน

   แต่ความสำคัญของการปฏิบัติงานก็จะอยู่ที่ "คลังข้อมูล" เป็นหลักโดยเฉพาะ  1) รู้ความต้องการของลูกค้า (เกษตรกร)  2) รู้ทิศทางการทำงานของคู่แข่ง  3) รู้เทคโนโลยี/วิชาการ/องค์ความรู้ที่จะนำมาใช้สนับสนุน  4) รู้ความเปลี่ยนเปลี่ยน/เหตุการณ์ของตลาด  และ 5) รู้วิธีการทำงานส่งเสริมฯที่ควรจะเป็น สิ่งดังกล่าวเป็น กรอบในการหาคำตอบให้กับองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ในอาชีพการเกษตรของเกษตรกร และการดำเนินชีวิตของงานส่งเสริมการเกษตรที่หมุนเวียนการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

   ฉะนั้น คำตอบของ "การจัดการความรู้ที่ดำเนินการอยู่นั้น...ต้องการให้เกิดอะไรขึ้น" จึงไม่มีสูตรตายตัวที่เป็นคำตอบว่า "KM ต้องเป็นแบบนั้น  KM ต้องเป็นแบบนี้"  เพราะเรากำลังขีดเส้นให้ KM เดินโดยเดินตามสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องการให้เป็นหรือต้องการเห็น แล้วจึงจะเรียกว่า ใช้ KM ได้ประสบผลสำเร็จ ความยากของการจัดการความรู้จึงอยู่ที่ "การเรียนรู้" เพราะเป็นการเรียนรู้ถึง ความรู้สึกของตนเองที่ต้องการนั้นคืออะไร  ความต้องการที่วางไว้จะขวนขวายให้เกิดขึ้นได้อย่างไร  และเมื่อได้รับแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป

   ความผลิกผันของการจัดการความรู้ จึงอยู่ที่

          1) ความพยายามที่จะทำความเข้าใจกับ KM โดยการหาคำตอบว่า "ถ้าทำแบบนี้นี่คือ KM" ในการใช้ KM ต้องเดินแบบนั้น ต้องเดินแบบนี้ซิถึงจะถูกต้อง  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเกร็งของผู้ปฏิบัติ/ผู้ใช้ KM

          2) จัดหาโอกาสให้กับผู้ปฏิบัติได้ทุกเหตุการณ์ โดยพยายามทำความเข้าใจกับผู้ใช้ KM มากกว่าให้ผู้ใช้ KM มาทำความเข้าใจกับความต้องการ  เพราะการเรียนรู้ KM ยิ่งเปิดโอกาส  ยิ่งเปิดช่องทางการสนับสนุน  ยิ่งเปิดเนื้อหาและเวทีให้ได้เรียนรู้ที่หลากหลาย  ก็จะทำให้การจัดการความรู้ค่อย ๆ เข้าสู่การทำงานส่งเสริมการเกษตรได้รวดเร็วขึ้น

          3) การจัดการความรู้ ไม่ต้องสนับสนุนมาก  เพียงแต่ต้องพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจกับผู้ใช้ KM ว่า "จริง ๆ เขาต้องการอะไรกันแน่"  เพราะเจ้าหน้าที่ คือ ลูกค้าที่ต้องการได้รับการสนับสนุน ทีมงาน/คณะทำงาน เป็นผู้ศึกษาค้นหาวิธีการทำงานมาช่วยในการปฏิบัติ  และหน่วยงานย่อยทุกระดับร่วมมือกันหาเทคโนโลยีในการทำงานที่ได้ผลให้กับองค์กร

   ดังนั้น "หลุม KM " จึงพร้อมที่จะให้ผู้ใช้ KM ได้เดินไปตกหลุมกันอย่างง่ายดายทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะถ้าคิดว่า "เรารู้เรื่อง KM ดี...รู้เรื่อง KM ได้ถูกต้อง" ก็นั่นแหละเป็นหลุม KM ด้วยเช่นกัน  เพราะหมายความว่า เรากำลังต้องการเป็นผู้อธิบาย KM  แทนที่จะเป็นผู้ใช้ KM หรือบริหารจัดการ KM  การทบทวนตนเอง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากต้องใช้เชิงสังคม และศาสตร์และศิลป์อยู่ตลอดเวลา.

  

หมายเลขบันทึก: 273687เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ น้องจือ

การเรียนรู้ หากเข้าใจว่าคืออะไร มันคงไม่ยุ่งเหมือนทุกวันนี้ที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเรียนรู้จริง ๆ รอบ ๆ ตัวก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น คนคอเดียวกันเมื่อเจอกันเขาเรียนรู้ในทุก ๆ ด้านของเพื่อนที่พบเจอ จะด้วยวิธีแบบใดก็ตามทำให้เขาอยู่ร่วมกันได้และคุยกันอย่างสนุกและถูกคอ เรียนรู้เพื่อน เรียนรู้สถานที่ เรียนรู้เวลา เรียนรู้งาน เรียนรู้เพื่อนร่วมงาน เรียนรู้ความที่ควรจะเป็น เรียนรู้และเข้าใจความเป็นจริง ความเป็นธรรมชาติไม่ใช่ปรุงแต่ง KM จึงจะใช้ของจริงของแท้

ถ้าทำ KM เพื่อให้ได้ทำ KM ก็ยากที่จะเป็น KM จริง ๆ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องมือนี้ ถ้าทำ KM แล้วรู้สึกเหนื่อยทั้งใจและกายแสดงว่ามันไม่ใช่แน่นอนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท