เหนือวิทยาศาสตร์ ๑๑


          ถ้าทิฏฐิมันเดินไปว่าเป็นตน  เป็นของตนนี้  เป็นอัตตานุทิฏฐิ  หรืออัตนียานุทิฏฐิ  ทิฏฐิว่าเรา  ว่าของเรานี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ  มันก็เกิดมาจากเวทนา  ที่ไปหลงในเวทนาใดเวทนาหนึ่งเข้า  แล้วยึดว่าเรา  ว่าของเรา  เป็นความผิดไป  แต่ถ้ามันมาในทางที่ไม่ยึดถืออย่างนั้น  เห็นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างนั้น  มันจะปรุงแต่งกันอย่างนั้น  เกิดอันนั้น  เกิดอันนี้  อย่างนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ  มาจากต้นตอเดียวกันคือเวทนา  ถ้าเดินทางผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ  เดินทางถูกเป็นสัมมาทิฏฐิ

          นี่เท่าที่พูดมานี้  มันก็เป็นเพียงตัวอย่าง  เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นบางส่วนเท่านั้น  ไม่ใช่ทั้งหมด  เพราะว่ามันไม่มีเวลาจะพูดทั้งหมด  จึงพูดว่าเท่าที่พูดมานี้มันเป็นเหตุผลหรือเรื่องราวบางส่วนที่ทำให้เห็นว่า  มันจริงอย่างที่พระพทธเจ้าท่านตรัสว่า  "อะไรๆ นี้มันรวมจุดอยู่ที่เวทนา  มันตั้งต้นอยู่ที่เวทนา"  แล้วมันจะแยกออกไป เป็นมิจฉาทิฏฐิกี่อย่างๆ ก็ได้  หรือเป็นสัมมาทิฏฐิก็ได้  สัมมาทิฏฐินั้นมีเพียงหนึ่งอย่าง  แล้วก็มาจากเวมนาด้วยเช่นเดียวกัน

          ให้ระวังเรื่องเกี่ยวกับเวทนา  ใครจะสอนใครพระพุทธเจ้าก็ช่วยอะไรไม่ได้  นอกจากแนะหนทาง  ส่วนที่จะเล่าเรียนศึกษานี้  ต้องทำเอง  ฉะนั้นก็เสวยเวทนาเข้าไป  เวทนาอะไรมีขึ้นมา  ก็เสวยเวทนานั้น  แต่แล้วก็มีแตกต่างกันอยู่สองอย่างว่า  : ปุถุชน  คนพาล  คนโง่  คนเขลา  นี่มันเสวยเวทนาด้วยความโง่  ส่วนอริยสาวก  ก็เสวยเวทนาด้วยความฉลาด  มีแค่นี้เอง  เพราะระมัดระวังดี  ดูดี

            มันต่างกันมาเสียทีแรกแล้วว่า  ปุถุชน คนพาล  คนเขลานั้น  ไม่ได้เคยฟังธรรมะของพระอริยเจ้า  ฟังแต่ธรรมะของคนคนพาล  ปุถุชน  มิจฉาทิฏฐิ  ส่วนพระอริยสาวกนั้น  หมายถึงผู้ที่ได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า  แล้วก็เป็นผู้มีปัญญา  ถูกนำไปตามคำสอนของพระอริยเจ้า  ตั้งมั่นด้วยดี  ไม่เป็นพาล  ตรงกันข้ามกับปุถุชน  คนพาล  ที่เกิดมาด้วยเหตุอะไรก็ตามใจ  ไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องที่เป็นธรรมะของพระอริยเจ้า   ฉะนั้นใจของเขาก็มีอยู่อย่างหนึ่ง  พอเวทนาเกิดขึ้นนี้  มันก็ต่างกัน  แยกทางกันเดิน

          คนพาลก็เสวยเวทนาด้วยความโง่  อริยสาวกก็เสวยเวทนาด้วยความฉลาด  ฉะนั้นคนพาลจึงเกิดตัณหา  เกิดอุปาทาน  เกิดความยึดมั่น  เป็นทิฏฐิอย่างนั้นอย่างนี้  แล้วก็มีทุกข์  ส่วนพระอริยเจ้านั้น  รู้เท่าทันเวทนา  เพราะได้เรียนมาดี  ได้อบรมมาดี  ได้ปฏิบัติมาดี  จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้น  คือมันเกิดความฉลาด  มันเกิดความรู้เสียว่าอะไรเป็นอย่างไร  อะไรเป็นอย่างไร  เวทนานี้คืออะไร ก็ไม่โง่  ไม่หลงที่จะไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้น  ฉะนั้นจึงไม่เกิดตัณหา  ไม่เกิดอุปาทาน  ไม่เกิดทิฏฐิเห็นผิดที่จะทำให้เกิดทุกข์ได้

หมายเลขบันทึก: 273681เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท