เหนือวิทยาศาสตร์


ดิฉันบันทึกเรื่องนี้ไว้เพราะดิฉันศรัทธาในคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ หนังสือเล่มเล็กชื่อ "เหนือวิทยาศาสตร์" เล่มที่ดิฉันคัดลอกมาใส่ใน Blog นี้ เริ่มจะเสื่อมสภาพ กระดาษเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เพราะพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ราคาเล่มละ 3 บาท อีกไม่นานคงจะเสื่อมสลายไปจนไม่สามารถอ่านได้ ดังนั้นคำสอนของท่านพุทธทาสอันทรงคุณค่านี้ ต้องรักษาไว้ให้ถาวรสืบไป

ปกนอก : เหนือวิทยาศาสตร์!   *พุทธทาสภิกขุ*

ปกใน : เล่มนี้จัดอยู่ในชุด....คืออะไร?

เวทนา คืออะไร?

เกี่ยวกับปก :

          ให้ชื่อภาพนี้ว่า "ความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์" ที่ใช้คำว่า "วิทยาศาสตร์" ก็เพราะ ทางใจก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุทั่วไป คือ ต้องอาศัยการค้นคว้า พิสูจน์ ทดลอง ด้วยเหมือนกัน 

          ถ้าสิ่งใดเรายังไม่สามารถพิสูจน์  ทดลองได้  แม้จะเข้าข่ายธรรมะ ก็ยังจัดเป็นปรัชญาไป  แต่ถ้าสามารถค้นคว้า พิสูจน์ ทดลอง ได้อย่างประจักษ์ใจ แม้มันไม่เป็นเรื่องวัตถุ แต่ก็แจ่มแจ้งแก่ใจได้ อย่างนี้ก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์ไป

          รูปสลักงาช้าง ที่มีชื่อเสียงชิ้นนี้ ส่อแสดงพริ้มพรายแห่งความเป็นผู้อยู่เหนือโลก เหนือเวทนา เสร็จกิจเกี่ยวกับต้องค้นวิทยาศาสตร์อะไรต่อไปแล้ว

          เรื่องอะไรที่พวกเราต้องวนๆ เวียนๆ พยายามพิสูจน์เพราะยังคลุมเครือ ไม่กระจ่างอยู่นั้น สำหรับพระอรหันต์ เรื่องเหล่านั้นมันได้กลายเป็นสิ่งเปิดเผย ประจักษ์แก่ใจของท่านแล้ว  แทนที่จะเป็นเรื่องปรัชญาที่ทำให้รู้อะไรเพียงเงาๆ แต่มันได้เป็นวิทยาศาสตร์สำหรับท่านไปเสียโดยสิ้นเชิงแล้ว


เหนือวิทยาศาสตร์

พุทธทาสภิกขุ

สำนักหนังสือธรรมบูชา

ของคณะเผยแพร่วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ (ผชป.)

๕/๑-๒  ถนนอัษฎางค์  นครหลวงฯ ๒ โทร. ๒๒๓๕๔๙


คำปรารภ

          ในความรู้สึกของคนเราตามธรรมดาสามัญนั้น  จะรู้สึกว่ามี ตัวเรา  เมื่อรู่สึกไปเองอย่างนั้นคราวใด ก็เป็นอันรู้สึกไปในตัวว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ เป็น เรา ขึ้นมา และยังเหมาเอาเป็น ของเรา ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อีกด้วย เมื่อตากับรูปเป็นต้น มีการมาเจอะ มาบวกกันเข้าแล้ว ก็ก่อให้เกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เป็นประจำวัน แล้วๆ เล่าๆ

          สำหรับผู้ศึกษาธรรมชาติชีวิตจิตใจตามหลักธรรมในพุทธศาสนา และได้จับหลักพบมาเรื่อยๆ เป็นของเรียนรู้เฉพาะตัวเกี่ยวกับกลไกภายในจิต จะรู้แก่ใจว่าที่แท้ "ตัวเรา" จริงๆ นั้นไม่มี มีแต่ "ตัวเรา" ที่เกิดจากการผสมปรุงแต่ง หลังจากรูปเข้ามาพบกับตาเป็นต้นแล้ว  คราวใดมีการผสมครบองค์มันก็บวกผสมกันเป็นผัสสะ  แล้วแปรไปเองเป็น เวทนา ความพอใจ - ไม่พอใจ เป็นต้น แล้วจากนั้นจึงจะเกิดเป็น "เรา" ขึ้นมา เมื่อ "เรา"เกิด  "เรา" รายนี้แหละจะอยู่ได้เพียงระยะหนึ่ง มันก็จำต้องแปรรูป คือ ดับลง  ประเดี๋ยวก็มีการผสมหรือปรุงบวกกันก่อรูปขึ้นอีกซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นเป็นห้วงๆ : เป็นว่าว่างจากตัวเราห้วงหนึ่ง  วุ่นเป็นตัวเราขึ้นมาห้วงหนึ่ง สลับกันไป ไม่มีจบ

          ปัญหาจะเกิดขึ้นต่อไปว่า  ภาวะที่ว่างจากตัวเรา กับที่วุ่นขึ้นเป็น "ตัวเรา"นั้น ห้วงไหน หรืออย่างไหน เป็นของแท้ถาวร อย่างไหนเป็นของเทียม? จากการที่ได้มองด้านในส่องจิต  ศึกษาจิตมาอย่างถูกต้อง จะพบว่า ภาวะที่ว่างจากตัวตนนั่นแหละเป็นของแท้  ส่วนที่วุ่นด้วยตัวตนนั้นเป็นของเทียม  เพราะมันเป็นของเพิ่งผสมปรุงกัน  หลังจากมีการบวก - การพบกัน ระหว่างรูป กับ ตา เป็นต้น  เหมือนทางวิทยาศาสตร์ เอาไฮโดรเย่น ๒ หน่วย บวกเข้ากับอ๊อกซิเย่น ๑ หน่วย น้ำก็เกิดมีขึ้นหลังจากได้ผสมปรับปรุงตัวถูกส่วนถูกจังหวะ

          คำถามจะเกิดขึ้นต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรคนเราจึงจะดำรงจิตให้ว่างจาก "ตัวเรา" ได้? คำตอบก็มีว่า หยุดบวกเสียนั่นเอง เมื่อไม่บวก ไม่ปรุง ไม่เปิดช่วงให้ผสมส่งต่อเป็นทอดๆ ตลอดสาย สิ่งใหม่ที่จะถูกปรุงเป็น "ตัวเรา" อย่างเทียมๆ นั้น มันก็ไม่เกิด

          ถามอีกว่า จะหยุดบวก ได้โดยวิธีใด?  คำตอบก็คือ ขณะมีรูปกับตาเป็นต้น มาพบกัน ให้คุมไม่ปล่อยให้กลไกที่เป็นไปได้องนั้นมันทำหน้าที่อย่างที่เคย ให้เป็นสักแต่ว่ากระทบ ทางตา ให้สักแต่ว่าเห็น ทางหูก็สักแต่ว่าได้ยิน มันก็ไม่เกิดการบวก หรือเท่ากับไม่ปรุงอะไรขึ้นเป็นทอดๆ สิ่งเทียมก็ไม่มี

          เมื่อไม่มีการบวกระหว่างตากับรูป  เช่นเดียวกับไฮโดรเย่นกับอ๊อกซิเย่นไม่ได้ปล่อยให้ผสมกันถูกขนาด ถูกส่วน ถูกจังหวะและอื่นๆ น้ำก็ไม่เกิดขึ้น  สิ่งเทียมที่ปรับปรุงตัวขึ้นมาใหม่ๆ ก็ไม่เกิดมี  นี่แหละ หลักทำกับจิตใจภายในเช่นนี้ ถ้าไม่เรียกว่า "เหนือวิทยาศาสตร์" ก็ไม่ทราบจะเรียกว่าอะไรให้เหมาะกว่า  ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงให้ชื่อว่า "เหนือวิทยาศาสตร์"

         ฉะนั้น  การดำรงจิตให้ว่างจากตัวเรา - ของเรา หรือว่างจาก โลภะ โทสะ โมหะแล้ว สิ่งที่เรียกชื่อเป็นเวทนาและความรู้สึกต่างๆ ก็จะไม่ก่อตัวเกิดเป็นสิ่งเทียม อันเป็นตัวทำให้ยุ่งยาก และเกิดทุกข์ และนั่นแหละคือเหนือวิทยาศาสตร์ เหนืออาการที่จะต้องเป็นไปตามวิสัยโลก  โลกไม่สามารถครอบงำได้อีกต่อไป

          คณะ ผชป. ขออนุโมทนาแด่ทุกท่าน ที่สามารถดำรงจิตให้อยู่เหนือวิทยาศาสตร์หรือเหนือโลกได้ เป็นอย่างสูง

คณะ ผชป.

๕/๑ - ๒ ถนนอัฐฎางค์ นครหลวง ฯ ๒

โทร. ๒๒๓๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 261651เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

เพื่อความสะดวกในการสืบค้น  ขออนุญาตเขียนต่อใน Blog เดียว โดย บันทึกใน กล่องความคิดเห็น

เหนือวิทยาศาสตร์!

(ศึกษา ค้นคว้า ปฏิบัติ เกี่ยวกับเวทนา)

พุทธทาสภิกขุ

บรรยายอบรมพระนวกะในพรรษาปี ๒๕๑๔
ณ สวนโมกข์ ไชยา         ๘ กันยายน ๒๕๑๔

 - ๑ -

          การบรรยายในวันนี้  ก็จะเป็นเรื่องของตัวธรรมะโดยตรงเป็นวันแรก  ดังที่ได้บอกไว้ล่วงหน้าแล้ว เรื่องธรรมะโดยตรงในที่นี้  หมายถึงเราจะไม่พูดเรื่องเกี่ยวกับบุคคล  การบวช หรืออะไร ศาสนาหรืออะไรทำนองนี้  แต่จะพูดถึง หลักธรรมโดยตรงที่พุทธบริษัททั่วไปควรจะทราบ  แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผู้ที่แรกเข้ามาสู่พุทธศาสนา  ฬนส่วนที่เป็นเรื่องธรรมะโดยตรง ไม่ใช่พิธีรีตอง หรือไม่ใช่อะไรทำนองนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่า "หลักธรรมะโดยตรง"

          สิ่งแรกที่สุด และก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือเป็นของทุกสิ่งทุกเรื่อง มีอยู่สิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทราบ แล้วเกินกว่าทราบ  คือจะต้องรู้จัก  ต้องเข้าใจ ต้องถึงกับรู้สึกด้วยใจ  รู้จักมันอยู่ด้วยใจในสิ่งนั้นๆ โดยเฉพาะ สิ่งๆ เดียวที่ว่ามันเป็นทั้งหมด  เป็นทั้งเหตุเป็นทั้งผล  เป็นทั้งอะไรทั้งหมดทุกอย่าง แล้วก็ของเรื่องพุทธศาสนาทั้งหมดที่เราจะต้องเรียนสิ่งเดียวนั้น ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า "เวทนา" (Feeling)

          ตามที่สังเกตเห็น เราไม่ได้สนใจสิ่งที่เรียกว่า "เวทนา" กัน  ในฐานะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  หรือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเพียงสิ่งเดียว  เราจะเห็นเขาพูดถึงกันเพียงเป็นหรือเป็นเพียงสิ่งหนึ่งในหลายสิ่ง  ซึ่งมีความสำคัญเสมอกัน  เดี๋ยวนี้เมื่อได้รวบรวมมาทั้งหมด มาสอบสวนดูเกี่ยวกับพระพุทธภาษิตทั้งหลาย ก็พบที่พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่า สิ่งนี้เป็นต้นเหตุ เป็นต้นเรื่องอะไรทั้งหมดที่จะต้องรู้จัก  ถ้ารู้จักสิ่งนี้ ก็จะเป็นเหตุให้รู้จักสิ่งอื่นหมด ถ้ารู้จักสิ่งนี้ก็จะรู้ธรรมะในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์  คือไม่ต้องฝากไว้กับความเชื่อ เชื่อนั่นเชื่อนี่ ซึ่งมันไม่ใช่หลักทางวิทยาศาสตร์

          วิทยาศาสตร์ในที่นี้  ก็หมายถึงเรื่องที่มันประจักษ์แก่ใจ  วิทยาศาสตร์ทางวัตถุ มันก็ประจักษ์แก่เครื่องทดลองทางวัตถุ  นี่วิทยาศาสตร์ทางจิต  มันก็ต้องหมายถึงที่ประจักษ์แก่ความรู้สึก  โดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น  หรือไม่ต้องใช้เหตุผลอย่างอื่น  นอกจากความรู้สึกที่มันรู้สึกอยู่จริง  บางคนอาจจะคิดว่าเอาสิ่งที่เรียกว่า "จิต"หรือ ความรู้สึกของจิตอะไรมาดูไม่ได้  แล้วก็ไม่จัดเป็นวิทยาศาสตร์  อย่างนี้อยากจะพูดว่า  นั่นมันยังโง่อยู่มาก  เพราะว่าถึงแม้วิทยาศาสตร์ทางฝ่ายวัตถุนี้  มันก็เป็นสิ่งที่เอามาให้ดูไม่ได้อยู่อีกมากมาย  แม้ที่สุดแต่ตัวสิ่งที่เรียกว่า "ไฟฟ้า"  ตัวจริงของไฟฟ้านี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่เอามาดูกันไม่ได้  แต่เราก็รู้จักไฟฟ้า  รู้จักประกอบ รู้จักทำอะไรต่างๆ ตามกฎเกณฑ์นั้นๆ ตามต้องการได้  มันมียกเว้นบางอย่างที่เอามาให้ดูอย่างนี้ไม่ได้  ฉะนั้น  จึงเอาเท่าที่มันจะรู้สึกได้ เห็นได้ เพียงพอแก่ความสำเร็จประโยชน์  ถ้ามีเหตุผลอยู่ที่ความรู้สึก ไม่ใช่เหตุผลตามคำนึง คำนวณ  เดี๋ยวนี้วิชาที่เรียกกันว้า Psycho therapy รักษาโรคด้วยจิต  ด้วยอำนาจจิต หรือด้วยอะไรทางจิต นี้ก็กำลังเจริญแพร่หลาย  แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นการที่เอาจิตมาดูได้  หรือจับตัวจิตมาจัดการอะไรได้  ก็ได้แต่ทำไปตามกฎเกณฑ์ที่ให้เกิดผลตามความรู้สึกที่เรียกว่าจิตเท่านั้นเอง

          สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ทางธรรมะ  ในทางจิตใจนี้มันก็มิได้แต่เพียงอย่างนี้  เท่าที่เรารู้ได้  รู้สึกอยู่เป็นปกติ เป็นประจำวัน  แล้วก็มีเรื่องหรือมีสิ่งที่สืบต่อเนื่องไปจากสิ่งที่รู้จักดีอยู่แล้วนั้นเป็นเรื่องๆ ไป ในลักษณะที่เห็นได้  อย่างนี้ก็ควรจะเรียกได้แล้วว่า  มันเป็นวิธีการตามทางของศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์  หลักธรรมะในพุทธศาสนาที่เป็นตัวพุทธศาสนาที่แท้จริง  ก็ต้องมีลักษณะอย่างนี้  คือ  เป็นไปตามหลักที่เรียกว่าศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์  ทั้งฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิตใจ  ฝ่ายร่างกายนั้นไม่สู้มีความสำคัญอะไร  มันเป็นเหมือนกับภาชนะที่รองรับเรื่องทางจิตใจ  เรื่องทางจิตใจเลยสำคัญเพียงสิ่งเดียว  ในการที่จะต้องศึกษา ค้นคว้า และปฏิบัติ

          ทีนี้จะย้อนไปถึงสิ่งที่เรียกว่า "เวทนา"      เป็นเรื่องสำคัญของทั้งหมด  ซึ่งจะได้อธิบายให้เห็น และก็ยังจะต้องศึกษาต่อไปอีก ไม่รู้จักสิ้นสุดจนกว่าจะหมดกิเลส  เป็นพระอรหันต์จึงจะหมดเรื่องที่เราจะศึกษาอันเกี่ยวกับเวทนา  เวทนา คือ ความรู้สึกที่เราจะต้องรู้สึก กันวันละหลายๆ ครั้ง ภาษาอังกฤษก็แปลกันง่ายๆ ว่า Feeling เฉยๆ  สำหรับคำๆ นี้ พุทธศาสนาแบ่งเป็น :

  1. ทุกขเวทนา
  2. สุขเวทนา
  3. อทุกขมสุขเวทนา

           คือเวทนาที่ทำให้รู้สึกเป็นสุข  เวทนาที่ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์  และเวทนาที่ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์  มีอยู่ ๓ เวทนา เรียกว่า เวทนา เหมือนกัน  ฉะนั้น เราไม่ต้องไปเชื่อตัวหนังสือ หรืออะไรที่อื่น  จะต้องมองดูไปยังสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  ที่เกิดขึ้นแก่เราทุกๆ วัน บางวันมาในลักษณะของความสุข  รู้สึกพอใจ  รู้สึกสบายใจ  อย่างนี้เรียกว่า สุขเวทนา  บางวันก็แย่ บางเวลาก็ไม่พอใจ  อึดอัด เป็นทุกข์ เดือดร้อน  นี้เรียกว่า ทุกขเวทนา  ถ้าไม่ถึงอย่างนั้น  ไม่ชัดลงไปว่าสุขหรือทุกข์  แต่มันยังเป็นความรู้สึกที่มีผลแก่จิตใจ  มีอิทธิพลแก่จิตใจ ในทางที่ให้เกิดความยึดถือด้วยเหมือนกัน  คือ สงสัย  สนใจ  หรือหวังอะไรอยู่  ในเวทนาชนิดนี้  ทั้งที่ไม่ชัดลงไปว่าสุขหรือทุกข์นี้  ก็จัดเป็นเวทนา  มีคนบางคนเมื่อยังไม่เข้าใจ  แล้วก็จะยังไม่เข้าใจ  จะค้านว่าอทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์นี้  ทำไมจึงต้องเรียกว่าเวทนาด้วย? เขาเข้าใจอย่างนั้น

          เดี๋ยวนี้เราอยากจะถือตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา หรือหลักความรู้ของพระพุทธเจ้าว่า ท่านเรียกสิ่งนี้ว่ามันเป็นเวทนาด้วยเหมือนกัน  คือมันเป็นที่ตั้งแห่งความสนใจ จนกระทั่งมีความยึดมั่นถือมั่นได้เท่ากับเวทนา ๒ อย่างข้างต้น คือ สุขกับทุกข์  เพื่อจะจำให้ง่าย  ก็จำตามหลักอย่างนี้ไว้ก่อนก็ได้ว่า  สุขเวทนา  คือความรู้สึกเป็นสุขพอใจยินดีนั้น มันเพิ่มให้เกิดนิสัยสันดานที่จะรัก  ส่วนทุกขเวทนานั้น  มันเพิ่มความรู้สึกนิสัยสันดานที่จะเกลียด  ส่วนอทุกขมสุขเวทนา มันเพิ่มนิสัยสันดานในทางที่จะสงสัย ลังเล

          นี่ต้องไปทำความเข้าใจตอนนี้กันก่อน  ไม่เช่นนั้น จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้  ซึ่งอาจจะกลายเป็นเรื่องหนังสือ  หรือเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อตามคนอื่นอยู่เรื่อยไป  เวทนา แปลว่า ความรู้สึก  : สุขเวทนา คือเวทนาที่มีลักษณะเป็นสุข  ทุกขเวทนา เวทนาที่มีลักษณะเป็นทุกข์  อทุกขมสุขเวทนา  เวทนาที่ไม่อาจกล่าวว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าเรารู้จัก ๒ อย่างแรก  เราก็จะรู้จักอย่างที่ ๓ ได้

          สุขะ  แปลว่า ทนง่ายหรือทนได้อย่างดี  คือชอบทน  สุ แปลว่า ง่ายหรือดี  ขะ  นั้นแปลว่า ทน  สุขะ แปลว่า ทนง่าย ทนได้ ทนอย่างดี แล้วเราก็ชอบทน  ชอบทนอย่างนั้น  ทนรู้สึกอร่อย ทนรู้สึกเป็นสุข ทนรู้สึกโดยเบิกบานสนุกสนาน  นี้เรียกว่า สุขะ  คือ ความสุข

          ส่วนทุกขะนั้น  เราทนยาก  ทนไม่ได้  ทนไม่ค่อยจะไหว  แล้วเราก็ไม่ค่อยอยากจะทน  ใครๆ ก็ไม่อยากจะทนทุกขเวทนา   สุขะ กับ ทุกขะ คู่นี้ อันหนึ่งชวนทน  อันหนึ่งไม่ชวนทน

          อทุกขมสุข ก็คือว่า ยังไม่ปรากฏใน ๒ ลักษณะนั้น  แต่มันก็ยังมีการที่ต้องทน  คือทนข้องใจ ทนสงสัย ทนหวัง ลังเล

          พูดกันง่ายๆ  จำง่ายๆ ก็ไปเทียบกับหลักที่เรารู้กันอยู่แล้วคือเรื่อง โลภะ โทสะ  โมหะ  ๓ อย่างของกิเลสนั้น 

          สุขเวทนา ทำให้เรารัก ให้เราอยากได้  ให้เรากำหนัด ให้เราโลภ ฉะนั้น สุขเวทนา มันเพิ่มนิสัยโลภ

          ทุกขเวทนา  เราไม่ชอบ  เราไม่รัก  เราอยากจะทำลาย  มันก็เพิ่มนิสัยโกรธหรือเกลียด คือ โกรธ โกธะ  โทสะ เพิ่มนิสัยโกรธ

          อทุกขมสุขเวทนา ที่ทำให้เราฉงน  หรือหวัง หรือสงสัย หรือเกี่ยวข้องอยู่ด้วยความสงสัยเรื่องนี้  มันเพิ่มนิสัยแห่งความโง่ คือ โมหะ ไปเที่ยวหลง ไปเที่ยวสนใจ ไปเที่ยวติดใจอยู่ถอนออกไม่ได้  นี้เรียกว่าโมหะ 

           สุขเวทนาเกิดขึ้นทีไรเพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโลภ หรือความกำหนัด  ทุกขเวทนาเกิดขึ้นทีไร เพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโกรธ ความประทุษร้าย คือโทสะ  อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้นทีไร เพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโง่ ความหลงความมัวเมา เขียนเป็นตัวหนังสือสั้นๆ เป็นคู่ๆ ก็ว่า

          สุขเวทนาคู่กับโลภะ   ทุกขเวทนาคู่กับโทสะ   อทุกขมสุขเวทนาคู่กับโมหะ  จริงหรือไม่จริง ต้องไปสังเกตดูด้วยตนเอง

          นี่เรียกว่าการ เรียนธรรมะจากใจ  จากใจจริง  จากความรู้สึกจริงๆ  ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ จากฟังคนอื่นเขาพูด  ต้องไปรู้จักเวทนาทั้ง ๓ นี้ให้ดีเสียก่อน  แล้วสังเกตต่อไปตามหลักว่า อันหนึ่งให้เกิดหรือเพิ่มโลภะ  อันหนึ่งเพิ่มโทสะ  อันหนึ่งเพิ่มโมหะ  นี่เรียกว่ากิเลสประจำวันของเรา  ก็โลภะ  โทสะ  โมหะ นี้อาศัยอยู่บนเวทนา พอสุขเวทนาก็โลภ  แล้วก็เพิ่มนิสัยโลภ  ทุกขเวทนาก็เพิ่มโกรธ  และเพิ่มนิสัยโกรธ  อทุกขมสุขเวทนาก็เพิ่มนิสัยโง่ มัวเมา หลง  นี่อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  ถ้าเข้าถึงเรื่องที่ว่าเล็กน้อยนี้ไม่ได้แล้ว  ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมะในพุทธศาสนา  ก็เรียนจำๆ ลืมๆ จำๆ ลืมๆ แล้วก็ไม่มีทางที่ทจะช่วยให้พ้นจากอันตรายอย่างยิ่งคือกิเลสนี้ได้

          นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  มีอยู่ ๓ ชนิด  ก็ชื่อว่าเวทนาเหมือนกันหมด  สิ่งนี้เป็นต้นตอของทุกอย่างถ้าจะพูดกันไปในแง่ของการที่เป็นเหตุ  เวทนานี้เป็นเหตุให้เกิดอะไรอีกมากมาย เกิดความคิด  เกิดความเห็นผิดเห็นถูก ทิฏฐิต่างๆ ทุกชนิดนี้ก็เกิดมาจากเวทนา  ทุกข์หรือความดับทุกข์อะไรก็เกิดมาจากเวทนา  นี้เป็นในฐานะที่มันเป็นผลขึ้นมา เป็นความทุกข์

          พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า เรื่องอริยสัจจ์นั้นเป็นเรื่องที่พูดไว้สำหรับคนมีเวทนา  สำหรับสัตว์ที่มีเวทนา  ถ้าสัตว์เหล่าใดไม่มีเวทนา  ฟังดูให้ดี  ถ้าสัตว์เหล่าใด คนใด ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียน  ต้องรู้  ต้องปฏิบัติ เรื่องอริยสัจจ์  พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  เรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น ตรัสไว้ บัญญัติไว้สำหรับสัตว์ผู้มีเวทนา 

         ทีนี้สัตว์ไหนบ้างที่จะไม่มีเวทนา  ทุกสัตว์จะต้องมีเวทนา  แต่ท่านตรัสจำกัดชัดลงไปกว่านั้นว่า  กำลังมีเวทนาอยู่  ในระยะกาล ระยะเวลาที่มีเวทนาอยู่  ท่านตรัสอริยสัจจ์สำหรับคนนั้น  เพราะมีเวทนาที่เป็นทุกข์อยู่  คือทุกขอริยสัจจ์  เมื่อเขามีทุกขเวทนาอยู่นั้น  มันต้องเป็นเวทนาที่มาจากตัณหา คือ สมุทยสัจจ์  เพราะว่าเวทนานั้นให้เกิดตัณหา  แล้วตัณหาพาให้เกิดทุกข์  ทีนี้สำหรับการดับทุกข์เสียให้ได้นี่ก็ต้องดับตัณหา จะดับตัณหาได้  ต้องดับอำนาจของเวทนา  มันจึงจะดับตัณหาได้  เวทนาหมดอำนาจ  ตัณหาจึงจะดับ  ตัณหาดับ  ทุกข์จึงจะดับเป็นทุกขนิโรธ

          อริยสัจจ์ข้อสุดท้าย  ที่เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค  ทางแห่งความดับทุกข์นี้  เป็นเรื่องควบคุมเวทนาทั้งนั้น องค์มรรคทั้ง ๘ องค์นี้  เป็นกฎ เป็นแบบหรือการปฏิบัติที่มันจะควบคุมเวทนา  ไม่ให้ลุกขึ้นมาไม่ให้เกิดขึ้นทำหน้าที่  หน้าที่นั้นก็คือทำให้สัตว์เป็นทุกข์  ฉะนั้น เมื่อเรามีทุกข์อยู่  เราจะเกี่ยวข้องกับอริยสัจจ์ทั้ง ๔ 

          ตัวทุกข์นี้เป็นเวทนาอยู่ในตัวแล้ว  ทุกข์นี้มาจากตัณหา  คือความอยาก  ตัณหาก็ต้องมาจากเวทนา  มาจากอื่นไม่ได้  ดับทุกข์ก็ต้องดับตัณหา  กล่าวคือดับอำนาจของเวทนา

          เมื่อเรากำลังมีทุกขเวทนาเราก็มีครบทั้งตัวทุกข์  ตัวเหตุให้เกิดทุกข์  เมื่อนั้นเราต้องการหาความดับทุกข์ ก็ดิ้นรนที่จะหยุดตัณหาเสีย  หรือว่าเมื่อมันไปจนสุดเหวี่ยงของมันแล้ว  มันก็หยุดของมันเองเหมือนกัน  มันจะทุกข์อยู่อย่างนั้นเรื่อยไปไม่ได้  มันก็ตายละ  ถ้ามันทุกข์ไม่มีหยุด

          เรื่องเป็นทุกข์ เป็นร้อน ชนิดไหนก็ตาม  ของใครก็ตาม พอสุดเหวี่ยงเข้า มันก็หยุด  นั่นคือ ตัณหา อุปาทาน ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้น มันคลายไปเอง มันจางไปเอง ขณะนั้นเราก็รู้เรื่องนี้  เรื่องที่ว่าตัณหามันจางไป  ทุกข์มันก็ดับลง  ถ้าว่าเราจะมองดูไปที่อริยสัจจ์ ๔ ก็หมายความว่า พอเราเป็นทุกข์ขึ้นมา  ทนอยู่ไม่ได้  ต้องคิดไปให้ถูกทาง คือมรรคนั่นแหละ แล้วมันก็จะดับทุกข์ได้

          สรุปความว่า เรื่องอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อย่างนี้ จะต้องรู้จักได้จริง  หรือศึกษามันได้จริงก็เฉพาะเมื่อกำลังมีเวทนาอยู่  นั่นจึงกลายเป็นเรื่องที่ทรงบัญญัติไว้  สำหรับสัตว์ผู้มีเวทนาอยู่   นี้ทุกคนก็ทราบอยู่แล้วว่า  เรื่องพุทธศาสนานี้ไม่มีเรื่องอะไร  นอกจากเรื่องความดับทุกข์อย่างเดียว  หรือขยายออกไป  เป็นเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ ๒ เรื่อง  คือตัวทุกข์กับเหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์นั้นก็มี ๒ เรื่อง คือความดับทุกข์กับวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์  ก็กลายเป็น ๔ เรื่อง เป็นอริยสัจจ์ ๔ ขึ้นมา

          นี่คือทั้งหมดในพุทธศาสนา  พุทธศาสนาทั้งหมด มีเพียง ๔ เรื่องนี้  ถ้าย่นก็เหลือ ๒  พระพุทธเจ้าท่านตรัส ๔ เสมอ คือ อริยสัจจ์ ๔  แต่ในที่บางแห่งนั้น  ท่านตรัสแต่เพียง ๒ ระบุว่า เมื่อก่อนก็ตาม เดี๋ยวนี้ก็ตาม ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์  เรื่องอื่นไม่พูด  แต่มันขยายออกไปได้เป็นแปดหมื่นสี่พันข้อ  ตามสมมุติกัน  ไม่มีใครเคยนับ เพียงคาดคะเนกัน  สมมุติกันว่าพระธรรมในพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกทั้งหมดนี้  นับดูจะได้แปดหมื่นสี่พันหัวข้อของเรื่องคือประเด็น  แม้อย่างนั้นก็ยังพูดได้ว่าถ้ามัแปดหมื่นสี่พันจริง  มันก็ไปรวมอยู่ที่คำว่า "เวทนา"  คำเดียว  เป็นเรื่องของความทุกข์  เหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์  ทางถึงความดับทุกข์  เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอริยสัจจ์ ๔ บัญญัติสำหรับบุคคลผู้กำลังมีเวทนาอยู่  พอเขาไม่มีเวทนา  กำลังไม่มีเวทนาอะไร  ตอนนั้นไม่มีเรื่องอริยสัจจ์  พอมีเวทนาขึ้นเมื่อไร  ก็จะมีความจำเป็นที่จะมี  และต้องการเรื่องอริยสัจจ์  แล้วก็มีอริยสัจจ์  นี้จำไว้ทีว่า  หลักอริยสัจจ์ คือตัวพุทธศาสนาทั้งหมดนี้  เป็นเรื่องของบุคคลผู้มีเวทนา  พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้น  นี้เรื่องตัวศาสนาแท้ๆ ก็มีต้นเหตุมาจาก สิ่งที่ร้ายกาจสิ่งหนึ่ง คือเวทนา

         ทีนี้ก็มีแต่จะพูดให้ละเอียดออกไปว่า ทุกข์ เรื่องทุกข์ทั้งหลายมาจากเวทนาอย่างไร  เหตุให้เกิดทุกข์  คือตัณหานี่  อุปาทานนี่  มาจากเวทนาอย่างไร  นี่พูดออกไปมันก็พูดได้มากมาย  ความดับทุกข์  ก็พูดได้ตามแบบของความดับทุกข์  ทางให้ถึงความดับทุกข์  ก็พูดได้ตามแบบของทางดับทุกข์  พูดเรื่องเวทนาได้มากมาย  ซึ่งเราจะต้องค่อยๆ สังเกตไป และพูดกัน

          เฉพาะในวันนี้  อยากจะพูดถึงเรื่องที่เป็นตัวทุกข์  แล้วนั่นเนื่องกันอยู่กับเหตุให้เกิดทุกข์  เพราะฉะนั้นขอตั้งหัวข้อใหม่ว่า  ทุกเรื่องมันจะตั้งต้นขึ้นมาจากเวทนา

          ปัญหาต่างๆ  คำสอนต่างๆ  หลักต่างๆ นี้  มันจะตั้งต้นขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา  เอาพวกที่เรียกว่ากิเลสกันก่อน  กิเลสทั้งหลาย  ที่เป็นตัวกิเลส  ความรู้สึกก็ดี  ที่เป็นแต่เพียงทิฏฐิ  ความคิดความเห็นก็ดี  ล้วนแต่มาจากเวทนา  กิเลสที่เป็นต้นบท แม่บทของกิเลสทั้งหมด  ก็คือตัวกิเลสที่มีชื่อว่าอวิชชา  ทีนี้ดูซิว่าอวิชชามาจากเวทนาอย่างไร  พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า  อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร  หัวข้อนี้ต้องจำไว้ให้ได้ไม่เช่นนั้นมันลืม แล้วมันเลอะกันหมด  มันฟั่นเฟือนกันหมด  อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร  นิวรณ์ก็คือ  ที่เราท่องกันอยู่ในนักธรรมตรีนั่นแหละ  คือ กามฉันทะ  พยาบาท  ถีนะมิทธะ  อุทัธจกุกกุจจะ  วิจิกิจฉา  ๕  อย่างนี้  ซึ่งจะถือว่า ทุกๆ ท่านทราบแล้ว  เพราะเวลาเรียนนักธรรมตรีก็ต้องพบเรื่องนิวรณ์

          นิวรณ์ที่หนึ่ง  กามฉันทะ คือสิ่งที่มากลุ้มรุมจิต ให้มีจิตกลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นกามารมณ์

          นิวรณ์ที่สอง พยาบาท คือความรู้สึกที่มากลุ้มรุมจิต กลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เรียกว่า พยาบาท  คือโกรธ  คือไม่ชอบ คืออึดอัด

          นิวรณ์ที่สามเรียกว่า  ถีนะมิทธะ   ก็คือความรู้สึกที่มากลุ้มรุมจิต  ทำให้จิตมันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เป็นไปในทางแฟบ  ถีนะ นี้ก็แปลว่าง่วงเหงา  มิทธะ  นี้มัน เซื่องซึม  หดหู่  ละเหี่ย  รวมกี่คำก็ตามที มีพูดในภาษาไทย ที่มันเป็นไปในทางที่ให้จิตทรุดต่ำ แฟบลงไป  นี้ก็เรียกว่า  ถีนะมิทธะทั้งนั้น  คำนี้ให้ระลึกถึงบางเวลาเรามีจิตใจที่เศร้าโดยไม่มีเหตุผล  ละเหี่ยละห้อย  มึนชา ง่วงโดยไม่มีเหตุผล  นี่เรียกว่านิวรณ์ตัวที่สาม

          นิวรณ์ที่สี่เรียกว่า อุทัธจกุกกุจจะ     นี่มันตรงกันข้ามคือฟุ้งเฟ้อ  ในเมื่ออันที่สามมันแฟบ  อันที่สี่นี้มันขยายออกเป็นเรื่องฟุ้งเฟ้อ  อุทัธจะ  ว่าฟุ้งซ่าน  กุกกุจจะ รำคาญ  คำแปลนี้ไม่ถูกต้องนัก ชวนให้เขวได้  ไปรู้สึกเอาเองก็แล้วกัน  เพราะการบัญญัติคำแปลนี้มันยาก  ต้องเห็นอกเห็นใจผู้บัญญัติคำแปลทีแรกบ้าง  ไม่มีใครบอก  จะต้องคิด  จะต้องบัญญัติ มันก็มีเขวบ้าง  หย่อนบ้าง  มากบ้าง เราต้องรู้ความหมาย  ถือเอาความหมาย  อุทัธจกุกกุจจะก็คือฟุ้งซ่านไป ฟุ้งแล้วซ่านไป  สองคำนี้พอ  ถีนะมิธะ  ก็ว่าละเหี่ย หดหู่ แล้วแฟบลง หดเข้า  อีกอันมันฟุ้งออกไป  อีกอันมันแฟบเข้ามา  นี่ก็เรียกว่านิวรณ์  พอนิวรณ์ตัวที่ ๔ เกิดขึ้น จิตก็มีลักษณะฟุ้ง คือขยายออก  แล้วก็ซ่านไป

          นิวรณ์ที่ห้า  เรียกว่า   วิจิกิจฉา   คือ สงสัย  ลังเล  การแปลต้องแปลอย่างนั้น  นี่ตามความหมายจริงของมัน  ความรู้สึกจริงๆ ก็คือ  ความที่มันไม่แน่ใจอะไรลงไปได้  ไม่มีศรัทธา  ไม่มีความแน่ใจอะไรลงไปได้  อยู่ด้วยความลังเล  สงสัย  มืดมัว สลัว  มีจิตใจที่ไม่แจ่มแจ้ง แน่นอน ชัดเจนนี้  ลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่า วิจิกิจฉา

          ขอร้องให้ไปทำความรู้สึกกับสิ่งทั้ง ๕ นี้ให้ดี  ทั้งๆ ที่มันเกิดอยู่เป็นประจำทุกวันนี้  แต่ก็ไม่ได้สังเกต  ไม่รู้จัก  ไม่เห็นมันอย่างแจ่มชัด  เพราะว่าเราไม่สนใจกับมัน  มีเรื่องอะไรอยู่บางเรื่องที่มันมีอยู่ในตัวเราแท้ๆ  แต่เราก็ไม่สนใจกับมัน  ไม่รู้จักมัน

          เรื่องนิวรณ์นี้ก็เหมือนกัน เกิดเป็นประจำวัน เกิดอย่างยิ่ง เราก็ไม่สนใจที่จะแยกมันดูว่ามันมีกี่อย่าง  แล้วรู้จักความหมายของคำว่านิวรณ์ ก็คือ กลุ้มรุมจิต  ห่อหุ้มจิต  นิวรณะ  แปลว่า กั้นหรือบัง  เหมือนกับฝา  ฝาเรือนนี้ก็มีความหมายเหมือนกับนิวรณ์  มันกั้นบังสิ่งต่างๆ ไว้  หรือเปลือกหุ้มนี้ มีความหมายของนิวรณ์  มันกั้นบังสิ่งต่างๆ ไว้  อันนี้มันเป็นเครื่องกั้นบังจิตไว้  จิตก็เลยส่องแสงสว่างตามธรรมชาติของจิตไม่ได้  คือจิตจะประภัสสร  จะมีแสงสว่างตามธรรมชาติของจิตไม่ได้  เพราะนิวรณ์มันคอยหุ้มเอาไว้  เดี๋ยวตัวนั้นมา  เดี๋ยวตัวนี้มา เดี๋ยวตัวโน้นมา

          ข้อเปรียบเทียบนิวรณ์เหมือนกับว่า  ของอะไรที่มันมีแสงสว่างหรือมีรัศมี  เช่นว่า เพชร  มีน้ำ มีรัศมีแวววาวอย่างนี้  แล้วมันมีโคลนบ้าง  หรือมีอะไรก็ตามใจ  หลายๆอย่างมาปะเข้าไว้  มันก็ไม่อาจส่องแสง ส่องรัศมีของมันออกมาได้  มันก็ไม่ทำหน้าที่ของมันได้  เหมือนหลอดไฟฟ้านี้  เอาอะไรมาหุ้ม เอาสีมาทา  เอาโคลนมาทา  เอากระดาษมาปิด  อะไรหลายๆ อย่าง  อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ส่องแสงออกมาไม่ได้  คือมันทำหน้าที่ของมันไม่ได้  จิตนี้ก็เหมือนกัน  ถ้านิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมากลุ้มรุมมัน  จิตทำหน้าที่ของมันไม่ได้  นี่มันจะเกิดอวิชชา

          ตรงนี้ก็มีปัญหา  ที่ว่าคนบางคนได้รับคำสั่งสอนแนะนำว่า  อวิชชานั้นคือความโง่มีอยู่เป็นประจำ  มักจะเข้าใจกันอย่างนั้น  ผมก็เคยเข้าใจอย่างนั้น  เพราะเมื่อแรกเรียนนักธรรม  ครูก็สอนอย่างนั้น  แต่พอมาดูในบาลี  คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น  คือพระองค์ตรัสว่า  แม้แต่อวิชชานี้  ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเป็นครั้งเป็นคราวชั่วขณะๆ  ตามเหตุตามปัจจัยของมัน  สิ่งที่เรียกว่า อวิชชานี้  ก็เพิ่งเกิด  เป็นกิเลสที่เพิ่งเกิด  ฉะนั้นถ้าใครจะเข้าใจว่า อวิชชาเป็นของเกิดอยู่ตลอดเวลา ตายตัวแน่นอนนั้น นั่นคือเข้าใจผิด  แล้วยังแถมเป็นมิจฉาทิฏฐิด้วย  คือเป็นสัสสตทิฎฐิที่ถือว่า มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอนถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เกิดดับ

          ถ้ารู้ตามที่เป็นจริงคือถูกต้อง  ก็จะรู้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  แม้อวิชชามันก็เพิ่งเกิด คือเราโง่ต่อเมื่อมีเรื่อง อย่าถือว่าเราโง่อยู่ตลอดเวลา  หรือความโง่นั้นมีอยู่ตลอดเวลา  ขอให้ถือว่าความโง่นี้ก็เป็นสังขารอันหนึ่ง  คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น  แล้วความโง่นี้ก็เพิ่งโง่เป็นเรื่องๆ เรื่องๆ ไป  แล้วแต่อะไรมันจะทำให้เราโง่อย่างไร  ฉะนั้นจึงว่า  อวิชชาก็มีเหตุ มีปัจจัย  และเป็นของเพิ่งเกิด เกิดเรื่อย เหตุปัจจัยที่สำคัญ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า เวทนา  เพราะเวทนา ทำให้เกิดนิวรณ์  หรือเมื่อเกิดนิวรณ์อยู่ย่อมมีเวทนา

          เมื่อมีนิวรณ์ ๕ อย่างนี้  อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่  เมื่อนั้นจะเป็นเวทนา  ที่ทำให้จิตโง่ไปตามนั้น  กามฉันทะ กลุ้มรุมจิต  จิตก็โง่ไปตามแบบกาม  พยาบาท นิวรณ์กลุ้มรุมจิต  จิตก็โง่ไปตามแบบของความไม่ชอบ  ความประทุษร้าย   ถีนะมิทธะ   นิวรณ์กลุ้มรุมจิต  จิตก็โง่ไปตามที่จะแฟบ จะเหี่ยว จะเศร้า  จะละเหี่ยละห้อย   อุทัธจกุกกุจจะ  เข้ามาครอบงำจิต  มันก็โง่ไปทางฟุ้ง    วิจิกิจฉา     ครอบงำจิต จิตก็ไปทางที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร  ไม่รู้ว้าจะทำอย่างไร

          พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  "อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร"   ให้จำประโยคสั้นๆ นี้ไว้  นิวรณ์มาจากเวทนา  ฉะนั้นเวทนาก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดอวิชชา

          ถ้าใครรู้สึกว่ามันผิดกับหลักที่เคยเรียนมาก่อน  หรือกำลังรู้อยู่ ก็ขออย่าเพ่อคิดอะไรมาก  เอาพระพุทธภาษิตที่ผมเอามาเล่าให้ฟังนี้ไปคิด  แล้วการเรียนธรรมะจะเป็นเรื่องจริง  เหมือนเรียนวิทยาศาสตร์  ม่ใช่เรียนอย่างเชื่อตามๆ กันไป ท่องแล้วก็ลืมลืมแล้วก็ท่อง เพราะว่าวิทยาศาสตร์ต้องมีของจริงมาเป็นตัวเรื่อง  แล้วก็ดู ก็เรียน  ก็เห็น  ก็รู้อยู่ที่สิ่งเหล่านั้น  นี่ต้องรู้จักนิวรณ์  พอนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว จะเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง  แล้วจิตจะโง่ไปตามเวทนานั้นๆ  ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร  แม่บทของกิเลส  ของสิ่งที่จะทำความฉิบหาย นั่นคือ อวิชชา  อวิชชาก็มาจากเวทนา  เวทนาเป็นตัวเรื่องที่ทำให้เกิดอวิชชา

           

          ทีนี้ ขยายความออกไปถึงทิฏฐิ ทิฏฐิที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ตาม  ที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็ตาม  มันอาศัยสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  มันจึงเกิดขึ้นได้  สิ่งที่เรียกว่าทิฏฐินี้  ก็แปลว่า ความเห็น  ความเห็นก็เป็นสังขาร คือมีปัจจัยปรุงแต่ง  ดังนั้นความเห็นจึงเปลี่ยนได้  วันนี้มีความเห็นอย่างนี้  พรุ่งนี้อาจมีความเห็นอย่างอื่น  หรือถูกอบรมสั่งสอนมาในลักษณะหนึ่ง  มันก็มีความเห็นอย่างหนึ่ง  ถ้าถูกอบรมสั่งสอนมาในลักษณะอื่น  มันก็มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 

          เราก็ต้องดูไปตั้งแต่ที่มันเห็นชัดๆ ว่า เวทนาเกิดขึ้นทาง ตา หู อะไรก็ตาม  มันทำให้เราเกิดความรู้สึกอันหนึ่งซึ่งมันมีความหมายไปทำนองว่า  นี้คืออะไร?  นี้คืออะไร?  หรือนี้คืออย่างไร?  หนักเข้า  หนักเข้า  มันก็สรุปเป็นความเห็นอันหนึ่งว่า นี้คืออะไร?  นี้คืออะไร?

          มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นเช่นว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่มีที่สิ่นสุด  มิจฉาทิฏฐิต่างๆ ที่รู้จักชิ่อกันมามากแล้วนั่นแหละ  มิจฉาทิฏฐิ ทั้งหมด ก็มาจากเวทนา หากแต่ว่า มันมาลึก มานาน มาไกล ฉะนั้นเวทนาเป็นสิ่งให้เกิดความรู้สึก ถ้าไม่มีเวทนา  ไม่มีความรู้สึก ที่จะรู้สึกต่ออะไร ว่าอย่างไร อะไร  ว่าอย่างไร

          คนที่บัญญัติทีแรกว่าตายแล้วเกิด  หรือตายแล้วไม่เกิดนี่  ความรู้สึกอย่างนั้น มันก็มาจากเวทนาที่มีเป็นประจำ  เวทนาที่เป็นเหตุให้พอใจ  ให้ยึดถือเอานี้  ให้ยึดมั่นถือมั่นเอาเป็นของเรานี้  มันทำให้เกิดความคิด หรือความเห็นว่า อะไรที่เราควรจะเอา  ผลของการที่เราเสวยเวทนามากเข้า  มากเข้า  มากเข้า  มันจะปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความคิดความเห็นอันหนึ่งว่า  "อะไรคือสิ่งที่เราควรจะเอา"    "อะไรคือสิ่งที่เราสั่นหัวไม่อยากเอา"   ความรู้สึกอันนี้  จะมาจากเวทนาทั้งสิ้น  เพราะว่า ไม่มีอะไรที่จะมาครอบงำจิตคนได้ นอกจากเวทนา  เวทนาที่ซ้ำซาก  ซ้ำซาก  มันจะค่อยๆ แยกตัวออกไปว่า  อันนี้เราจะเอา  นี้เราจะไม่เอา

          ทีนี้คนพวกหนึ่งก็จะมีความคิดทำนองว่า  ความเห็นที่ว่าตายแล้วเกิดนี่เราจะเอา  ความเห็นที่ว่าตายแล้วไม่เกิดเราไม่เอา เขาจึงมีทิฏฐิว่า  "ตายแล้วเกิด"

          พวกอื่นตรงกันข้าม เวทนามันคอยทำให้เขาลำบากยุ่งยาก หรือมีลักษณะอย่างอื่น  พวกนั้นก็ชอบไปในทิฏฐิความเห็นว่า  เราจะเอาอย่างว่า "ตายแล้วไม่เกิด"

          มิจฉาทิฏฐิว่า "ตายแล้วเกิด" หรือมิจฉาทิฏฐิว่า "ตายแล้วไม่เกิด"  นี้ มันมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ที่มารู้สึกแก่จิตอย่างซ้ำซาก

          แต่ในกรณีอย่างนี้  พระพุทธเจ้าตรัสลึกลงไปถึงผัสสะ  ผัสสะคือสิ่งที่ให้เกิดเวทนา  เราจะพูดว่าผัสสะก็ได้  พูดว่าเวทนาก็ได้ เพราะว่าเมื่อมีผัสสะแล้ว  ก็ต้องมีเวทนา  เวทนานั้นต้องมีชื่อว่า สัมผัสสชาเวทนา  เวทนาที่เกิดมาจากผัสสะ  สัมผัสทางตาบ้าง  ทางหูบ้าง  ทางลิ้นบ้าง  ทางจมูกบ้าง  ทางกายบ้าง  ทางใจบ้าง  คือไปสัมผัสที่อารมณ์อะไรเข้า  หลังจากผัสสะแล้วก็ต้องมีเวทนา  ฉะนั้น เวทนาจึงมีชื่อไปตามผัสสะว่า จักขุสัมผัสสชาเวทนา  เวทนาที่เกิดจากจักษุสัมผัส  เวทนาที่เกิดมาจากโสตสัมผัส  คือ หู เวทนาที่เกิดจากฆานะสัมผัสคือ จมูก  เขาเรียกว่า เวทนาทั้งนั้น

          บางทีพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้คำว่า "ผัสสะ" บางทีทรงใช้คำว่า "เวทนา" ที่เป็นตัวเรื่อง ตัวการ ตัวที่จะทำให้เกิดอะไรยุ่งยากลำบากนี้  แต่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าเวทนากันให้มันแน่นอน  เพราะมันแน่นอนกว่า มันเป็นความรู้สึกที่ทำให้สุข หรือ ทุกข์  เวทนาอย่างไหนทำให้เราเกิดความคิดขึ้นมาอย่างไร  หนักเข้าก็เป็นทิฏฐิของเรา  เรามีความเห็นอย่างนั้น  เราก็เลยไม่เห็นอย่างอื่น  ไม่ยอมเห็น  ไม่ยอมเชื่อ  ฉะนั้นจึงเกิดทิฏฐิต่างๆ เช่น  ตายแล้วเกิด  ตายแล้วไม่เกิด  หรือว่าเกิดบ้าง  ไม่เกิดบ้าง แล้วก็ตายแล้วสูญ  ว่าโลกเที่ยง  โลกไม่เที่ยง  นี้มันเนื่องกันทั้งนั้น  ว่าสิ่งต่างๆ แน่นอน ยั่งยืน  ความเห็นเหล่านี้  ปรุงมาจากความรู้สึกที่เรียกว่า  เวทนา

          ตรงนี้นึกดูให้ดี  บางคนอาจจะคิดว่า "ความเห็น" นี้มันมาจากการที่เราเล่าเรียนในโรงเรียนเรื่อยๆ มา  เรามีความเห็นอย่างนี้  นั่นแหละแปลว่าเขารู้นิดเดียว  เขาไม่รู้ลึกลงไปถึงว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนั้น  มันทำให้เกิดเวทนา  ที่เราได้เล่าเรียนในโรงเรียนตลอดเวลาทั้งหมดนั้นมันทำให้เกิดเวทนา  คือความรู้สึกที่ถูกใจ  หรือไม่ถูกใจ  หรือยังรู้สึกอะไรไมรู้  อันนี้ต่างหากที่ทำให้ สร้างความเห็นยึดมั่นถือมั่น  อย่างเหนียวแน่นขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้แต่ความคิดเห็น สิทธิเรื่องการเมือง  เรื่องอะไรอย่างโลกๆ  ก็เหมือนกัน  มันก่อรากฐานมาจาก สิ่งที่เรียกว่าเวทนา ที่มันเข้าไปทำให้จิตใจของเรา ชอบ หรือ ไม่ชอบ ตามหลักพุทธศาสนา  หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า มีหลักอย่างนี้

          ทีนี้วิชาสมัยใหม่ของฝรั่ง  หรือของพวกอื่น อาจจะเป็นอย่างอื่น นี้อะไรจะจริง อะไรจะใช้ประโยชน์ได้  ชนิดไหนจะใช้ประโยชน์  ก็ไปคิดดูก็แล้วกัน  พูดสนุกๆ ว่า เหมือนอย่างว่าเราชอบพรรคการเมืองพรรคไหน  เราก็มีทิฎฐิที่เกิดขึ้นว่าเราชอบพรรคการเมืองพรรคไหน จะไปลงคะแนนเสียงให้พวกนั้น  ที่เกิดความชอบที่เป็นทิฏฐิอันนี้ขึ้นมา นี้ก็มาจากเวทนาที่เกิดจากการกระทำของพรรคการเมืองพรรคนั้นก็ได้  หรือแม้ที่สุดแต่ว่า ที่เราไปคิดเข้า แล้วมันเกิดความรู้สึกในใจ เป็นเวทนาก็ได้  อันไหนไปในทางให้เราชอบ เราก็ชอบความรู้สึกอันนั้น  แล้วจึงเกิดความเห็นว่า เราชอบพรรคการเมืองพรรคนี้  แต่คนทั่วไป เขาคงไม่อธิบายอย่างนี้  เขาอธิบายแต่ผิวๆ ว่า ความเห็นของเขานั่นแหละ  ความเห็นของเขา เป็นของคนฉลาด จะตัดสินเอาเองตามความฉลาดของเขา  ว่าพรรคการเมืองนั้นต้องดี  พรรคการเมืองนี้ต้องไม่ดี  แต่ถ้าพูดตามแบบของพระพุทธเจ้าว่า ทิฏฐิอันนี้  เกิดขึ้นมาจากเวทนา  คือมันลึกกว่า  เป็นกำปั้นทุบดิน  เมื่อเราไปนึกถึงการเมืองพรรคไหน  เราสบายใจ  เราแน่ใจ  มันทำให้เราฝังหัวในพรรคการเมืองพรรคนั้น  หรือมีทิฏฐิขึ้นมาว่าพรรคการเมืองพรรคนั้นดีแน่

          นี้ลองคิดดูทีว่า  คำพูดของใครจะเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน  คำพูดของพระพุทธเจ้า หรือว่าคำพูดของคนพวกนั้น  จะเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน  ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  "ทิฏฐิมันมาจากเวทนา  ที่มันประทับใจลงไป  ประทับใจจนเป็นทิฏฐิรูปนี้ขึ้นมา" นี่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ  ในโลกก็ยังเป็นอย่างนี้

          เรื่องทางศาสนา  ทางมิจฉาทิฏฐิมีมากมาย จนถึงกับว่ามี ๖๒ ชนิดโดยละเอียด  โดยย่อก็มี ๒ -๓ ชนิด  เช่นว่า นัตถิกทิฏฐิ  อุจเฉททิฏฐิ  สัสสตทิฏฐิ  ทุกอย่างทุกชนิดของทิฏฐิ  มาจากสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  หรือผัสสะที่ให้เกิดเวทนา

          ทีนี้ก็มาถึงที่สำคัญที่สุด คือ สัมมาทิฏฐิ  ทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้อง  ที่จะเป็นที่พึ่งได้  นี้ก็มาจากเวทนา  แต่มันมาในทางที่ถูกต้อง  การที่จะเกิดความเข้าใจถูกต้องขึ้นมาได้ว่า  อะไรเป็นอะไร  มันต้องมีเรื่อง แล้วเรื่องที่มีขึ้นในใจ ต้องให้เป็นเรื่องเวทนา  เวทนานั้นจะมาทำให้โง่  หรือมาทำให้ฉลาด  คือความเจ็บปวดทุกครั้งสอนให้คนฉลาด  ไม่เท่าไรก็พอที่จะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร ในทางที่ถูกต้อง

          ความเจ็บปวดบางอย่างนั้น  มันทำให้คนเข้าใจผิด หลงโง่ไปเรื่อย  มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ  เช่นเมื่อเกิดความเสื่อมเสียฉิบหายขึ้นในชีวิต  นี่ก็เป็นเวทนาแล้ว คือเดือดร้อนเหลือประมาณแล้ว ถ้ามันเดินไปทางความโง่  ด้วยเหตุปัจจัยอย่างไรก็ตาม  มันก็ทำให้คิดไปว่า ผีเป็นต้นเหตุ เทวดาเป็นต้นเหตุ โชคหรือเคราะห์เป็นต้นเหตุ ดวงดาวเป็นต้นเหตุ อะไรไปทางโน้น

          ถ้าเผอิญเวทนานั้น มันเกิดทำให้ฉลาด ก็เพราะเรามีความฉลาดหรือมีบุญมีอะไร กลับมองเห็นว่า มันเป็นเรื่องของเวทนานั้น  เหตุของเวทนานั้น  คือกรรมเป็นต้น  แล้วก็เหตุปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งนั้นเองที่ทำให้เรามีความทุกข์  นี้ก็เดินถูกทาง  เป็นสัมมาทิฏฐิเห็นว่า "มันไปตามเหตุ มันไปตามปัจจัยโดยเฉพาะของมัน ความทุกข์นี้จึงเกิดขึ้น" จะไม่ถือว่าความทุกข์นี้มาจากเทวดา  มาจากผีสาง มาจากอะไร เหมือนที่เขาถือๆ กันอย่างที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ

          พระพุทธเจ้าท่านยังไปไกลกว่านี้อีก  ในข้อที่ว่า จะไม่ให้ถือทุกอย่างนี้ว่าเป็นตัวตน  แม้ที่มันมาจากกรรม มาจากเหตุของมันโดยตรง ก็อย่าให้ถือว่าเป็นตัวตน  เป็นของตน  ให้ถือว่ามันเป็นเหตุปัจจัย  เป็นธรรมชาติ  เป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างๆ ไป  อย่าถือว่านี้เป็นของเรา  เราทำกรรม  กรรมของเราทำให้เราเป็นทุกข์  อย่างนี้พูดภาษาเด็กๆ  ภาษาชาวบ้าน  ภาษาคนโง่  มีเรา  มีของเรา  เป็นสัสสตทิฏฐิ อะไรทำนองนั้น

           จะพูดให้ถูกตามเรื่องของพระพุทธเจ้าก็คือ  ไม่มีเรา  ไม่มีกรรม  ไม่มีการกระทำของเรา  ไม่มีการรับผลกรรม  "ของเรา" ต้องไม่มีเรา  เหตุปัจจัยมันมีคือ : นั้นคือจิต  นั้นคือร่างกาย  นั้นคือตา หู จมูก ลิ้น กาย  นั้นคือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  มากระทบกันเข้า  เกิดความรู้สึกเป็นวิญญาณ  เกิดผัสสะ  เกิดเวทนา  เกิดความโง่  ยึดถือในเวทนานั้น  เป็นอุปาทาน  เป็นตัณหา  เป็นอุปาทาน  เป็นทุกข์  ความทุกข์เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมี "เรา"  ไม่ต้องมีตัวผู้ทุกข์  หรือเป็นผู้สร้างความทุกข์  หรือผู้ทำทุกข์ให้  ให้ทุกๆตอนเป็นธรรมชาติ  ตามธรรมชาติ เรียกเป็นบาลี อย่างถูกต้องเต็มที่ ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม  คือสิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น  ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน  เป็นเราเป็นของเรา

          ถ้าทิฏฐิมันเดินไปว่าเป็นตน  เป็นของตนนี้  เป็นอัตตานุทิฏฐิ  หรืออัตนียานุทิฏฐิ  ทิฏฐิว่าเรา  ว่าของเรานี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ  มันก็เกิดมาจากเวทนา  ที่ไปหลงในเวทนาใดเวทนาหนึ่งเข้า  แล้วยึดว่าเรา  ว่าของเรา  เป็นความผิดไป  แต่ถ้ามันมาในทางที่ไม่ยึดถืออย่างนั้น  เห็นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างนั้น  มันจะปรุงแต่งกันอย่างนั้น  เกิดอันนั้น  เกิดอันนี้  อย่างนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ  มาจากต้นตอเดียวกันคือเวทนา  ถ้าเดินทางผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ  เดินทางถูกเป็นสัมมาทิฏฐิ

          นี่เท่าที่พูดมานี้  มันก็เป็นเพียงตัวอย่าง  เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นบางส่วนเท่านั้น  ไม่ใช่ทั้งหมด  เพราะว่ามันไม่มีเวลาจะพูดทั้งหมด  จึงพูดว่าเท่าที่พูดมานี้มันเป็นเหตุผลหรือเรื่องราวบางส่วนที่ทำให้เห็นว่า  มันจริงอย่างที่พระพทธเจ้าท่านตรัสว่า  "อะไรๆ นี้มันรวมจุดอยู่ที่เวทนา  มันตั้งต้นอยู่ที่เวทนา"  แล้วมันจะแยกออกไป เป็นมิจฉาทิฏฐิกี่อย่างๆ ก็ได้  หรือเป็นสัมมาทิฏฐิก็ได้  สัมมาทิฏฐินั้นมีเพียงหนึ่งอย่าง  แล้วก็มาจากเวมนาด้วยเช่นเดียวกัน

          ให้ระวังเรื่องเกี่ยวกับเวทนา  ใครจะสอนใครพระพุทธเจ้าก็ช่วยอะไรไม่ได้  นอกจากแนะหนทาง  ส่วนที่จะเล่าเรียนศึกษานี้  ต้องทำเอง  ฉะนั้นก็เสวยเวทนาเข้าไป  เวทนาอะไรมีขึ้นมา  ก็เสวยเวทนานั้น  แต่แล้วก็มีแตกต่างกันอยู่สองอย่างว่า  : ปุถุชน  คนพาล  คนโง่  คนเขลา  นี่มันเสวยเวทนาด้วยความโง่  ส่วนอริยสาวก  ก็เสวยเวทนาด้วยความฉลาด  มีแค่นี้เอง  เพราะระมัดระวังดี  ดูดี

            มันต่างกันมาเสียทีแรกแล้วว่า  ปุถุชน คนพาล  คนเขลานั้น  ไม่ได้เคยฟังธรรมะของพระอริยเจ้า  ฟังแต่ธรรมะของคนคนพาล  ปุถุชน  มิจฉาทิฏฐิ  ส่วนพระอริยสาวกนั้น  หมายถึงผู้ที่ได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า  แล้วก็เป็นผู้มีปัญญา  ถูกนำไปตามคำสอนของพระอริยเจ้า  ตั้งมั่นด้วยดี  ไม่เป็นพาล  ตรงกันข้ามกับปุถุชน  คนพาล  ที่เกิดมาด้วยเหตุอะไรก็ตามใจ  ไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องที่เป็นธรรมะของพระอริยเจ้า   ฉะนั้นใจของเขาก็มีอยู่อย่างหนึ่ง  พอเวทนาเกิดขึ้นนี้  มันก็ต่างกัน  แยกทางกันเดิน

          คนพาลก็เสวยเวทนาด้วยความโง่  อริยสาวกก็เสวยเวทนาด้วยความฉลาด  ฉะนั้นคนพาลจึงเกิดตัณหา  เกิดอุปาทาน  เกิดความยึดมั่น  เป็นทิฏฐิอย่างนั้นอย่างนี้  แล้วก็มีทุกข์  ส่วนพระอริยเจ้านั้น  รู้เท่าทันเวทนา  เพราะได้เรียนมาดี  ได้อบรมมาดี  ได้ปฏิบัติมาดี  จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้น  คือมันเกิดความฉลาด  มันเกิดความรู้เสียว่าอะไรเป็นอย่างไร  อะไรเป็นอย่างไร  เวทนานี้คืออะไร ก็ไม่โง่  ไม่หลงที่จะไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้น  ฉะนั้นจึงไม่เกิดตัณหา  ไม่เกิดอุปาทาน  ไม่เกิดทิฏฐิเห็นผิดที่จะทำให้เกิดทุกข์ได้

เรียน อ.มาลินี ที่เคารพ

ขอบคุณครับ ที่นำเรื่องดีๆมาแบ่งปัน ครับ

          นี่เราทุกคนก็อยู่ในโลก  โลกนี้มีอารมณ์สำหรับมากระทบ ทางตา  ทางหู ฯลฯ  นี้เรียกว่าโลก  โลกนี้พอมากระทบแล้วก็เกิดผัสสะ  เวทนา  เราที่อยู่ด้วยกันในโลก  ทุกคนเสวยเวทนานั้นในลักษณะที่ต่างๆ กันไป  เคยชินไปในทางไหนมาก ก็สะสมความคิดเห็นไปในทางที่จะมีทิฏฐิอย่างนั้น  คนอื่นก็มีทิฏฐิอย่างอื่น  เราจึงพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง  เพราะว่า เราถือเอาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้มันผิดกัน  ผิดกันเป็นพวกๆ ไม่รู้ว่ากี่พวกต่อกี่พวก

          ขอให้เข้าใจไว้ทีว่า  พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ว่า  ทุกอย่างมันไปรวมอยู่ที่เวทนา  ที่มันจะงอกออกไปเป็นนั่นเป็นนี่  เราต้องรู้เรื่องนี้  เราถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นอริยเจ้า  ท่านสอนไว้อย่างนี้  เราได้ฟังแล้วก็มาทำให้มันตรงกับที่ท่านสอนไว้  จะเป็นการลองดูก็ได้  ว่ามันจริงหรือไม่จริง

          เวทนาเกิดแล้ว มันก็ทำให้เกิดความคิดที่เป็นทิฏฐิต่างๆ ได้  เกิดทุกข์ได้ เกิดอะไรได้ แล้วทำให้เกิดอวิชชาได้  เป็นครั้ง เป็นครั้ง เป็นครั้ง ไปจนชิน  ชินเข้า เป็นความเคยชินที่จะเกิดอวิชชาชนิดนั้นมาทันทีทันควัน  จนคนโง่บางพวกเข้าใจไปว่า  อวิชชาเป็นสิ่งที่นอนรออยุ่แล้วในสันดาน  มันกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปอีกแบบหนึ่ง  อวิชชาเพิ่งเกิด  แต่ว่า เกิดเร็วเกินไปจนคนนี้ไม่รู้ว่ามันเพิ่งเกิด  คิดว่ามันเกิดอยู่แล้ว รออยู่แล้ว นอนรออยู่เป็นประจำในสันดาน

          นี่พูดมาตั้งชั่วโมงแทบจะไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร  ถ้าฟังไม่ถูก  ถ้าฟังถูกก็คงจะได้เรื่องสักหน่อยหนึ่งว่า  ทุกเรื่องในโลกนี้  ทุกเรื่องของมนุษย์นี้  จะเป็นเรื่องอะไรก็ตามใจของมนุษย์นี้  มีจุดตั้งต้นหรือจุดสำคัญอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าเวทนา  ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  ทุกอย่างไม่มีความหมาย  แม้แต่โลกนี้ก็จะไม่มีความหมาย  เพราะว่า เราอยู่ในโลกนี้เพื่อแสวงหาสุขเวทนา  อุตสาห์เกิดมา ศึกษาเล่าเรียน  ทำการงานนั่นนี่  จนกว่าจะตาย  เพราะเป็นทาสของเวทนา  ต้องการสุขเวทนา  แต่แล้วเวทนานี้  เป็นเหตุให้เกิดอะไรอีกมากมาย  เกิดความคิดผิด  คิดถูก  ให้มีทุกข์มากขึ้น หรือให้มีทุกข์น้อยลงได้ทั้งนั้น  คือไปผิดก็ได้  ไปถูกก็ได้  แล้วก็มีการเตรียมตัวสำหรับที่จะจัดให้มันเป็นไปในทางถูก

          ทุกครั้งที่เรามีการประสบ  หรือเสวยสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  วันหนึ่งนับไม่หวาดไหว เดี๋ยวตา  เดี๋ยวหู  เดี๋ยวจมูก  เดี๋ยวลิ้น  เดี๋ยวกาย  เดี๋ยวใจ  ชั่วนอนอ่านหนังสือชั่วโมงเดียวนี้  มันมีเวทนาหลายแบบเกิดขึ้น  สลับซับซ้อนกันไป  ถ้าเข้าใจความหมายเหล่านั้น  มันเกิดมาเป็นธรรมารมณ์เข้าไปรบกวนจิตใจ  เป็นเวทนาหลายชนิด

          ทีนี้ถ้าเราไม่อ่านหนังสือ  เราออกไปเดินเล่น  ตาหูก็ไปได้ยิน ได้เห็น ได้อะไร อย่างนั้นอย่างนี้เข้าอีก  มันล้วนแต่เต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  แล้วก็เป็นต้นเหตุให้เกิดอะไรอีกมากมาย  แล้วแต่ว่ามันมีความเหทาะสมของมันอย่างไร  มีเหตุปัจจัยของมันอย่างไร  เราอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่ร้ายกาจที่สุด อันตรายที่สุด คือสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  อย่าไปกลัวเสือ  กลัวผี  กลัวจน  กลัวตาย  กลัวอะไร  จงกลัวพิษร้ายของสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้เถิด  น่ากลัวกว่าสิ่งใดหมด

          ถ้ามองเห็นอย่างนี้ละก็  จะรู้จักพระพุทธเจ้า  จะรู้จักจิตใจของพระพุทธเจ้า  จะรู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้า  เดี๋ยวนี้มนุษย์เราในโลกนี้  ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าน่ากลัวที่สุด  แต่ไปกลัวจน  ที่จริงเขาก็รู้ว่าเขาไม่จน  แต่เขายังไม่มีเกียรติ  เขาก็จะเอาเกียรติ  รวยแล้วยังไม่พอ  จะรวยไม่มีที่สิ้นสุด  เพราะฉะนั้น  ก็เบียดเบียนกันเรื่อย  เพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  ถ้าเขารู้จัก  เขาจะเห็นว่านี่แหละอันตรายที่สุด  เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด  ซึ่งศาสนาทุกศาสนาต้องการจะให้เข้าใจและเอาชนะมันให้ได้

          ผลร้ายจะเกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้  ซึ่งศาสนาคริสเตียนเขาจะเรียกว่า  "ซาตาน" หรืออะไรทำนองนี้  เราเรียกไปตามที่เราอยากเรียกได้เหมือนกัน  สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือสิ่งที่เรียกว่า "เวทนา"  เข้าไปใกล้มัน  หรือไปแตะต้องมันไปเกี่ยวข้องกับมัน  ถูกวิธีหรือผิดวิธี  พอผิดวิธี ก็เป็นอันตรายที่สุด  คือจะโง่ลง  โง่ลง  โง่ลง  โง่ลง  แล้วก็จมลงไปในความโง่  จมลงไปในความทุกข์  อย่างไม่รื้อไม่ถอน  จมลงไปในวัฏฏสงสาร  ตกนรกหมกไหม้เป็นกัปป์เป็นกัลป์ไปเลย  คืออยู่ในความทุกข์  ในดงแห่งความทุกข์ในอะไรแห่งความทุกข์นี้

          นี่ถ้าจัดทำไปในทางถูกต้อง  มันก็ฉลาด  มันก็ไม่ไปหลง ก็ไม่จมลงไปในความเป็นทาสของเวทนา  แต่รู้จักฉลาดขึ้นๆ จนอยู่เหนือเวทนา  กำจัดเวทนาเสียได้  หมายความว่า  กำจัดอิทธิพลหรืออันตรายจากเวทนาเสียได้  ก็ไปนิพพาน  กล่าวคืออยู่เหนือความทุกข์   

          ที่เรียกว่าตกนรกอย่างแสบเผ็ด  ก็เป็นนรกในความหมายธรรมดา  ตกนรกหอมหวน  หอมหวาน  เอร็ดอร่อย ก็เป็นสวรรค์ เรียกกันว่าสวรรค์  สวรรค์ก็คือนรกที่ชวนตก  ไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นนรก  นรกธรรมดาก็คือนรกที่มันแสบเผ็ด นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเวทนาทั้งนั้น  นรก  สวรรค์ นิพพาน ทั้งหมดเกี่ยวกับเวทนา  เป็นต้นเหตุด้วย  เป็นผลด้วย  เป็นผลสุดท้ายด้วย  จนกระทั่งเป็นเวทนาชนิดที่ประเสริฐที่สุด คือเวทนาที่มันรู้สึกไม่มีความทุกข์เลย  นี้เพราะหมดกิเลสแล้ว

          ในลักษณะที่ไม่มีความทุกข์อย่างนั้น  มันไม่ใช่เวทนาอย่างที่กำลังพูด  เป็นเวทนาของผู้ที่ชนะเวทนาแล้ว  ไม่รวมอยู่ในข้อนี้  เว้นไว้แต่จะถือว่า  ความสุขอันนี้เป็นความสุขเกิดมาจากการดับกิเลสได้  ดับทุกข์ได้ เป็นนิพพาน อย่างนี้มันไม่มีเวทนาดึงดูดให้คนปฏิบัติธรรมนี้ก็ได้

          ผู้ที่จะบรรลุเวทนานั้นจริง  คือพระอรหันต์ ไม่รู้สึกเป็นเวทนา  ท่านไม่รู้สึกเป็นเวทนา  รู้เวทนาชนิดที่สักแต่ว่าไม่มีความหมาย  เป็นเวทนาที่ไม่สร้างความยึดมั่นถือมั่นแก่จิตใจได้  ส่วนคำว่า "เวทนา" ในกรณีทั่วไป  หมายถึงเวทนาของคนที่จะไปยึดมั่นในเวทนานั้น  แม้จะยึดมั่นด้วยสติปัญญาธรรมดา  นี้ก็เรียกว่ายึดมั่น  จนกว่ามันจะหลุดพ้นไปเสียแล้วจากเวทนานั้น  จึงจะอยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่น  ฉะนั้นในความถูกต้องนั้น  มันก็ยังมีความยึดมั่นถือมั่นชนิดที่ละเอียด ลึกซึ้ง สุขุม อยู่ด้วยเหมือนกัน

          การปฏิบัติจะต้องค่อยๆ ก้าวสูงขึ้นไป  คือข้ามให้พ้นไป  ข้ามจากความเลวหรือความชั่ว  มาสู่ความดีหรือบุญกุศลก็ตาม  แล้วก็ก้าวข้ามจากความดีหรือบุญกุศลนี้ไปสู่ความที่ไม่เรียกได้ว่าดีหรือไม่ดี  คือไม่มีเหตุที่เป็นที่ตั้งแห่งความดีหรือความไม่ดี   ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสุขหรือความทุกข์  ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ว่าเรา  ว่าของเรา  พอไม่มีเรา ไม่มีของเรา มันก็หมดเรื่องกัน  ไม่มีได้ ไม่มีเสีย  ไม่มีอะไรทุกอย่าง

         

          ตอนนี้มันเป็นสิ่งที่ลึกลับอยู่  คนที่ไม่เคยถึง ก็คิดว่าจะเป็นเวทนาที่ดีที่สุด  ที่เป็นสุขที่สุด ก็อยากจะได้  คนที่ถึงเข้าจริง คือพระอรหันต์ ก็เฉยไปหมด นี่มันเล่นตลกกันอยู่อย่างนี้ ไมรู้สึกเป็นเวทนาชนิดที่เขายึดมั่นถือมั่นกัน  รู้แต่ว่ามันเป็นผลของการกระทบความรู้สึกทางอายตนะ เช่น ใจกับธรรมารมณ์เป็นต้น  ก็เลยเป็นของที่ไม่มีความหมาย ชนะเวทนา อยู่เหนือเวทนาเป็นอย่างนี้

          ขอให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นที่สุด ไปถึงปลายที่สุด ในที่สุดก็มีเวทนาอย่างเดียวเป็นตัวเรื่อง  เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นตัวเรื่อง เป็นเหตุของเรื่อง เป็นผลของเรื่อง เป็นอะไรหมดเลย ฉะนั้นวันนี้  ถ้าว่าฟังอะไรไม่ถูก ก็ขอให้เพียงแต่สนใจสื่งที่เรียกว่าเวทนา  ให้รู้จักมันเหมือนเอามาใส่ฝ่ามือดูได้  ถ้ามันเป็นวัตถุ มันเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จิตใจ  ก็ให้มันรู้ประจักษ์ชัด ด้วยความรู้สึกของจิตใจ  คล้ายกับว่าเหมือนเอามาใส่ฝ่ามือดูได้  จะได้เรียนธรรมะอย่างวิทยาศาสตร์  คือไม่โง่  ไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น  ไม่ต้องเชื่อตามเหตุผลอย่างอื่น  นอกจากเหตุผล กล่าวคือ รู้สึกอยู่ด้วยใจตลอดเวลา  ทุกเรื่องๆ ทุกขั้นทุกตอน  ดังบทว่า สนทิฏฐิโก ที่เราสวดทุกวันนี้ สวด สวาขาโต ภควตาธมโม นี่มีเรื่องมี สนทิฏฐิโก ติดมาแล้ว นี่คือความหมายอย่างนี้  นี่เป็นวิทยาศาสตร์  เรียนด้วยความแจ่มแจ้ง ที่เป็นสนทิฏฐิโก  ให้เห็นธรรมะ  รู้ธรรมะ  เข้าใจธรรมะ  ปฏิบัติธรรมะ  ดับทุกข์ด้วยธรรมะ ในลักษณะที่มันเป็นวิทยาศาสตร์

                                 

                                                   - ๒ -

                                         ๘  กันยายน  ๒๕๑๔

 

          การบรรยายในวันนี้  เป็นการบรรยายต่อไปจากครั้งที่แล้วมา  ดังที่ได้บอกให้ทราบแล้วว่า  เราจะเปลี่ยนเรื่องจากเรื่องสำหรับภิกษุใหม่  มาเป็นเรื่อง "หลักธรรมะ" ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาโดยตรง  ในครั้งที่แล้วมา  เราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า "เวทนา" ในฐานะที่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง  แล้วก็เป็นต้นเหตุของทุกสิ่ง  ที่ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นแก่มนุษย์เรา  แล้วให้มองดูสิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้น  เป็นต้นเหตุให้เกิดสิ่งยุ่งยากแก่มนุษย์เราได้  ในลักษณะที่มันเป็นสิ่งที่เห็นได้จริงๆ ตรงๆ ตามกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์  ดังนั้นเราจึงเรียกการศึกษาชุดนี้ว่า  "การศึกษาพุทธศาสนาตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์"

          นี้ต้องทบทวนดู  ให้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็นตัววัตถุของการศึกษา  การศึกษาตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์  ต้องมีตัววัตถุสำหรับการศึกษา อย่างประจักษ์  คือไม่ใช่เรื่องคำนึงคำนวณโดยเหตุผล  เหมือนกับวิธีของปรัชญา  เราก็ได้พูดแล้วว่า  แม้สิ่งที่เรียกว่า "เวทนา" นั้น  จะเป็นเพียงความรู้สึกในทางจิต  มิได้เป็นตัวเป็นตนอย่างวัตถุ  นี้ก็ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายนามธรรม  ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุ

          เรื่องนามธรรมกับเรื่องวัตถุนี้  มันก็มีอะไรบางอย่างที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่  สำหรับผู้มีปัญญาในทางธรรมะจริงๆ แล้ว จะเห็นว่าเรื่องนามธรรมนั้น  ก็เป็นเรื่องระดับเดียวกันกับเรื่องวัตถุ  ตรงนี้ยากที่ใครๆ จะเข้าใจ หรือมองเห็นได้ทันที  ว่าเรื่องทางจิตใจนั้น  ถ้ามองเห็นชัดเข้าใจแล้ว  มันก็จะกลายเป็นเรื่องวัตถุ  โดยกฎเกณฑ์อย่างเดียวกัน  นี่เป็นเหตุให้เราสามารถที่จะเอาสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  มาเป็นวัตถุสำหรับศึกษาได้  เช่นเดียวกับที่เราจะเอาก้อนหิน  ก้อนดิน  ไม้ไร่นี้มาเป็นวัตถุ  สำหรับศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุ

          อีกทีหนึ่งขอให้ทราบไว้ด้วยว่า  ระบบจิตใจที่เนื่องกันอยู่กับร่างกายนี้  ตามทางธรรมะถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับร่างกาย  ดังนั้นเราจึงต้องมีคำใช้ที่แบ่งแยกกันเด็ดขาด ระบบรูปธรรม คือวัตถุทั้งหลายที่เรียกว่า corporeality  นี่ก็ตามระบบทางจิตที่เนื่องกันอยู่กับร่างกาย ที่เรียกว่า mentality นี้ก็ตาม  ล้วนแต่ถือว่าเป็นเรื่องทางวัตถุทั้งนั้น  ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่สูงขึ้นไปกว่านั้น  คือเป็นเรื่องทางสติปัญญาล้วนๆ  ที่เราเรียกกันว่าทาง spiritual นั่นแหละจึงจะเป็นเรื่องทางที่ ไม่อาจจะเรียกว่าวัตถุ       

          จะยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆว่า  ในทางธรรมะนี้  เรามีเรื่องที่จะต้องเอามาเป็นวัตถุสำหรับการศึกษา ๒ เรื่อง คือเรื่อง กาย กับ จิต กายจะต้องถูกศึกษาเช่นเดียวกับจิต  จิตจะต้องถูกศึกษาเช่นเดียวกับกาย  ทีนี้จะเอาอะไรมาศึกษา?  จิตและกายอันนั้นรู้จักกันหรือยัง?  อันนั้นจะไม่เรียกว่าจิต แต่ว่าจิตนี้มันเป็นคู่กันกับกาย  ถูกศึกษาพร้อมกันไปกับกาย ในลักษณะอย่างเดียวกันกับกาย  เช่น ขันธ์ ๕ : รูปนี้คือกาย,  เวทนา สัญญา  สังขาร  วิญญาณ นี้คือจิต, เอามารวมกันไว้เป็นขันธ์ ๕  แล้วจะเอาอะไรมาศึกษาขันธ์ ๕? เอาขันธ์ ๕ เป็นวัตถุสำหรับการศึกษา

          ที่มันเตลิดขึ้นไปจนไม่มีชื่อจะเรียกนี้  ในภาษาธรรมะเขาเรียกว่า "ปัญญา หรือ ญาณทัสสนะ" หรืออะไรที่มันยิ่งไปกว่าร่างกายกับใจนี้  ทีนี้ก็พอจะเห็นได้ว่า  เรามีสิ่งนี้ที่จะศึกษารูป  ร่างกายในลักษณะที่เป็นวัตถุ  ศึกษาจิต  เรื่องเกี่ยวกับจิต  ในลักษณะที่เนื่องกันอยู่กับวัตถุ เรียกง่ายๆ ว่า ศึกษาเรื่องคน  คนก็มีทั้งกายทั้งจิต  ฉะนั้นคนทั้งคนถูกศึกษา

          ทีนี้สิ่งที่จะมาศึกษามันได้นี้  ก็ต้องเป็นเรื่องที่สูงกว่า  ดีกว่า ๒ สิ่งนี้  นี่ก็แปลว่ามีเรื่องของสิ่งที่สูงไปกว่าร่างกายกับจิตนี้  ซึ่งในภาษาไทยเรา  ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร  ในภาษาบาลีนั้นเขาเรียกว่า เรื่องทางจิต นั่นแหละ  โดยยกเอาจิตที่คู่กันกับกายนี้  เอามาไว้เป็นฝ่ายร่างกายเสีย แล้วก็อย่าลืม  ที่เคยเปรียบเทียบให้ฟังว่า  เพื่อเข้าใจสิ่งทั้ง ๓ นี้ดี  ให้ใช้คำว่า ร่างกาย  จิต แล้วก็วิญญาณ  วิญญาณในที่นี้อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องจิต  ไม่ใช่วิญญาณในขันธ์ ๕  แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร  ก็ต้องยืมคำว่าวิญญาณมาใช้เพื่อเข้ากับคำว่า spiritual ของภาษาสากล อย่างที่เราเรียกตึกนี้ว่า "โรงหนังทางวิญญาณ" นี้  คำว่าวิญญาณนี้ ไม่ใช่จิต มันมีอะไรไกลไปกว่านั้น

          เพื่อให้เข้าใจสิ่งนี้ดียิ่งขึ้น  ชัดเจน ไม่ปนกันยุ่ง  ก็เลยขอยกตัวอย่างให้ฟังว่า  ถ้าเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายนี่  เราก็ไปที่โรงพยาบาลทั่วๆไป  ถ้าเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บทางจิต  เราก็ไปที่โรงพยาบาลปากคลองสาน  หรือโรงพยาบาลอะไรทำนองนั้น  แต่ถ้าเราเป็นโรคทางวิญญาณ  เราต้องไปหาพระพุทธเจ้า  นี่ไปที่โรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า  โรงพยาบาลทั่วๆไป กับโรงพยาบาลทางปากคลองสานช่วยไม่ได้  ต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า  ก็คือศึกษาเรื่องที่มันเหนือจากนั้นไป  รู้ว่า กิเลสคืออะไร  ความทุกข์คืออะไร  อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

          นี้ก็หมายความว่าคนทุกคนในโลกนี้ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังเป็นโรคทางวิญญาณอยู่ด้วยกันทั้งนั้น  แต่เราไม่ถือว่าเขาเป็นโรคกาย  หรือโรคจิต ในระบบ physical หรือ mental นี้ มันยังดีดีอยู่ แต่ระบบ spiritual เสียไปหมด คือ โง่ ใครที่ยังโง่เรื่องความดับทุกข์ โง่เรื่องอะไรนี้ก็เรียกว่ามีโรคทางวิญญาณ

          ในที่นี้จะพูดให้เข้าใจว่า ในภาษาบาลีใช้คำว่า"จิต" แทนคำว่า "วิญญาณ" คำว่าจิตในภาษาไทยเอามาใช้ต่ำเกินไปเสียแล้ว  ใช้ไม่ได้  ต้องใช้คำว่าวิญญาณแทน  นี้อย่าให้มันปนกันยุ่ง  ขอให้รู้ว่าภาษาบาลีใช้อย่างไร  ภาษาไทยใช้อย่างไร  และภาษาที่เรากำลังจะพูดกันนี้ใช้อย่างไร

          นี้เราก็รู้ได้ทันทีว่า  ระบบทาง spiritual นั้น จะเป็นผู้ศึกษาระบบทาง corporeality หรือ mentality เราจึงสามารถศึกษาพุทธศาสนา  โดยเฉพาะเรื่องวิถีทางของความดับทุกข์นี้  ในลักษณะอย่างเดียวกับการศึกษาวิทยาศาสตร์  คือใช้วิธีการอย่างวิทยาศาสตร์  โดยต้องมีอะไรมาวางลง เป็นวัตถุสำหรับศึกษา  แล้วก็ศึกษาให้เข้าใจ  เหมือนที่ได้พูดมาแล้วในวันก่อนว่า  จะต้องเอาตัวสิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้นมาวางลงไปในที่ทดลอง  ในที่ศึกษา ถ้าไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า เวทนา  มันก็ล้มเหลวหมด  คือมันโง่เกินไปที่จะศึกษาอะไรได้  ฉะนั้น จะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เวทนา  ที่เกิดอยู่เป็นประจำวัน ให้รู้จักดีดี  จนเอามาศึกษาในส่วนลึก  ในส่วนที่มันลึกกว่าที่คนธรรมดาเขารู้หรือเขาพูดกัน  มันจึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ทางฝ่ายจิต  หรือฝ่ายวิญญาณ

          จะยกตัวอย่างให้ฟังอีก  ด้วยเรื่องที่เทศน์เมื่อคืนก่อน ว่าความรู้สึกของคนเรา ซึ่งทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายนั้น  ควรจะจัดเป็น ๔ ประเภท จึงจะหมดจด  แต่คนธรรมดาสามัญรู้จักเพียง ๓ ประเภท  อันที่หนึ่งเรียกว่า  รู้สึกว่ากูขาดทุน  อันที่สอง รู้สึกว่ากูเสมอตัว  อันที่สาม เรียกว่า กูได้กำไร  คนปุถุชนธรรมดาเหล่านี้โง่ถึงขนาดที่เรียกว่า ทั้ง ๓ อย่างนี้มันต่างกัน  มันต่างกันอย่างตรงกันข้าม  เรียกทำนองนั้นว่า  อันหนึ่งมันขาดทุน  อันหนึ่งมันกำไร  อันหนึ่งมันเสมอตัว  มันโง่เพราะมันเพียงรู้แต่ ๓ อย่าง  ไม่รู้จักอย่างที่สี่ ที่เรียกว่า "นิพเพธิกะภาคิยะสัญญา" คือความรู้ที่มันจะแทงตลอด ๓ อย่างโง่ๆ นั้น ให้ทะลุเข้าไปว่า มันเหมือนกัน รู้สึกว่าขาดทุน มันก็โง่ชนิดหนึ่ง รู้สึกว่าเสมอตัว มันก็โง่ชนิดหนึ่ง รู้สึกว่ากำไร มันก็โง่ชนิดหนึ่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นความโง่ด้วยกัน

          อันหนึ่งมันให้เกิดเวทนา  เป็นทุกขเวทนา  เมื่อขาดทุน  มันก็เดือดร้อนไปตามประสาทุกขเวทนา  เกิดโทสะ  เกิดโกธะอะไร  ตกนรกไปตามแบบนั้น  อันหนึ่ง รู้สึกว่า ได้กำไร  มันก็สบาย  ดีใจลิงโลด เป็นสุขเวทนา  มันก็โง่หรือบ้าไปตามแบบนั้น  ส่วนที่เสมอตัวนั้น  มันก็ยังเป็นโมหะ ยังสงสัย ยังหวัง ยังอะไรต่อไปอีก  จึงเรียกว่าโง่เสมอกัน  แต่คนธรรมดาไม่รู้สึกอย่างนั้น  เขาจะรู้สึกยินดีเมื่อได้กำไร  แล้วก็เสียใจเมื่อขาดทุน  แล้วก็หวังต่อไปเมื่อมันเสมอตัว  ส่วนเรื่อง นิพเพธิกะภาคิยะสัญญา นั้น มันมาในลักษณะที่บอกว่า รู้สึกขาดทุน นี่ก็ยังโง่  รู้สึกว่าเสมอตัวก็ยังโง่  รู้สึกว่าได้กำไรก็ยังโง่  เพราะคนเหล่านั้นมันโง่ไปตามเวทนานั้นๆ

          ทีนี้ถ้าไม่ให้โง่  ก็หมายความว่า  เมื่อมันมีการขาดทุนเกิดขึ้น  ต้องให้ความขาดทุนนั้น ทำให้เราฉลาดในเรื่องนั้นๆ  ในเมื่อความเสมอตัวเกิดขึ้น  ก็ต้องให้ความเสมอตัวนั้น ทำให้เราฉลาดในเรื่องนั้นๆ  แล้วเมื่อการได้กำไรเกิดขึ้น ก็ต้องให้การได้กำไรนั้น ทำให้เราฉลาดในเรื่องนั้นๆ  คือมันให้ปัญญาทั้งสามอย่าง  ไม่ใช่มาให้ความยินดียินร้าย อันหนึ่งเศร้า อันหนึ่งระเริงเหลิงอย่างนี้

          แล้วลองคิดดู  อันไหนเป็นวิทยาศาสตร์  คนที่เมื่อมันขาดทุนแล้วมันเสียใจ  พอกำไรแล้วดีใจ  เสมอตัวก็หวังต่อไป  อย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่?  ไม่มีลักษณะแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์  คือมันโง่ไปด้วยอำนาจอวิชชา  มีความยึดมั่นถือมั่น  ได้อย่างใจก็ดีใจ  ไม่ได้อย่างใจก็เสียใจหรือโกรธ  ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์มันก็ต้องรู้ว่า  ความรู้สึก ๓ อย่างนี้นั้น  มันสำหรับคนโง่ มีอวิชชา  อุปาทาน  แล้วยึดถือไปแบบหนึ่ง แบบหนึ่ง  แบบหนึ่ง  ๓ แบบ

          แบบของพระพุทธเจ้าถือว่า  มันเป็นปฏิจจสมุปปันธรรมเสมอกัน คือว่า ความรู้สึกที่จะต้องเกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเสมอกัน  เป็นปฏิจจสมุปปันธรรมเสมอกัน  ไม่ควรยึดถือว่า เป็นที่รัก น่าพอใจ หรือน่าโกรธน่าเกลียด น่าอะไร

          นี่คิดดูเถิด  อันไหนมันเป็นวิทยาศาสตร์กว่า  หรือคนไหนมันจะรู้วิทยาศาสตร์กว่า?                      

    ถ้าคนหนึ่งพอขาดทุนแล้วโกรธ  เสียใจ  พอได้กำไรแล้วยินดีเหลิง  เสมอตัวก็หวังต่อไปอีก  นี้คนชนิดนี่น่ะมันอย่างหนึ่ง  ส่วนอีกคนหนึ่งรู้ว่า  มันเป็นเพียงความรู้สึกที่มันเกิดมาจากความปรุงแต่งในจิตใจ  เมื่อมันเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ยินดียินร้าย ไม่ยินดีในส่วนที่ว่าเป็นกำไร  หรือยินร้ายในส่วนที่ว่าขาดทุน  หรือไม่หวังอะไรในส่วนที่เสมอตัว  คงมีใจคอที่ฉลาดขึ้นไปกว่าเดิมอีก

          เมื่อมัน ขาดทุน  ก็รู้ว่า  มันเป็นอย่างนี้  อย่างนี้  อย่างนี้  แล้วก็ต้องเป็นอย่างนี้  แล้วก็เป็นธรรมดา  ก็ไม่ได้เสียใจอะไร  เมื่อได้กำไร  มันก็ต้องพิจารณาดูว่า  มันก็ต้องเป็นอย่างนี้  ตามกฎอย่างนี้ๆ  ไม่แปลกอะไร  แล้วก็ไม่ยินดีอะไร  ที่มันจะได้กำไร  เมื่อเสมอตัวมันก็รู้อย่างเดียวกันอีกว่ามันมีสิ่งต่างๆ แวดล้อมอยู่ ผลมันก็ออกมาอย่างนี้  คือสิ่งที่เรียกว่ามันเสมอตัว

          นี้ก็ระบุกันตรงๆ  ได้เลยว่า  ปุถุชน คนโง่ คนพาล คนเขลา คนหลง ในโลกนี้เท่านั้น  จึงจะมีความรู้สึกว่าได้กำไร  เสมอตัว หรือขาดทุน ส่วนพระอรหันต์จะไม่มีความรู้สึก  ว่าขาดทุนหรือเสมอตัว หรือได้กำไร  เพราะจิตไม่ยึดมั่นในเวทนา  ที่จะเกิดตามเหตุการณ์นั้นๆ  แล้วก็จะไม่เกิดเวทนาด้วย  ถึงว่าพระอรหันต์จะมีการกระทำอะไรลงไปส่วนตัวเอง  ก็ไม่ต้องการอะไรแล้ว  ไม่ได้ทำเพื่อผู้อื่น  จะไม่มีความรู้สึกที่สรุปได้เป็นว่า  ขาดทุน หรือเสมอตัว หรือได้กำไร แต่จะมีความรู้สึกเพียงว่าสิ่งนี้ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้  มันมีสิ่งแวดล้อมมากมายหลายอย่าง  มันเป็นไปตามเหตุ  ตามปัจจัย  แล้วมันก็มีผลขึ้นมาอย่างนี้

          คนโง่พากันเรียกว่าขาดทุน  เรียกว่าได้กำไร หรือว่าเสมอตัวนี้  พระอรหันต์ไม่มีความรู้สึก ๓ ชนิดนี้  แต่มีความรู้สึกอย่างที่ ๔ ที่เรียกว่า  นิพเพธิกะภาคิยะสัญญา นี้ คือมีความรู้สึกที่แทงตลอดความโง่ ๓ ชนิดนั้นได้หมด  ฉะนั้นความโง่ที่เห็นไปว่าได้กำไร  ขาดทุน  เสมอตัว  เลยกระจายสูญหายไปหมด  ไม่เหลืออยู่รอหน้า  คิดดูเถอะใครเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน  ปุถุชนคนโง่  ที่มีความรู้สึก ๓ อย่างนี้  กับพระอรหันต์ที่ไม่มีความรู้สึก ๓ อย่างนี้  ในระหว่างสองพวกนี้  ใครเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่ากัน?

          นี่ถ้าเข้าใจข้อนี้แล้ว  จะเข้าใจได้ทันทีว่าเรียนพุทธศาสนานั้น  ก็เรียนในวิถีทางของวิทยาศาสตร์  เป็นวิทยาศาสตร์  แต่ว่ามันเป็น วิทยาศาสตร์ฝ่ายวิญญาณ ฝ่าย spiritual เป็น faculty  อันอื่น  เอามาเข้ากับชุดนี้ไม่ได้                

          ที่พยายามพูดทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าใจว่า  "เรียนพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์" นี้  ทีนี้ก็บอกให้เลยว่า ถ้ายังโง่  คือยังไม่รู้จักพุทธศาสนา  ก็ไม่อาจเรียนพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์  จะไม่อาจเรียนพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์  แล้วก็จะเข้าใจว่า  พุทธศาสนาเป็นปรัชญาอยู่เรื่อยไป

          ถ้าใครเข้าใจว่าพุทธศาสนาที่แท้จริง  ตัวจริง  ว่าเป็นปรัชญา  คนนั้นยังโง่อยู่  อย่างนี้จะพูดดังๆ ไปตลอดโลกทั้งโลกเลย  ในฐานะที่เราเป็นผู้รับใช้พระพุทธเจ้า  ผู้เป็นเจ้าของพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าท่านตรัสพุทธศาสนา  หรือหลักธรรม  หรือพรหมจรรย์ของท่านไว้  ในรูปของวิทยาศาสตร์คืออริยสัจจ์สี่  ระบุตรงๆ เลย หรือปฏิจจสมุปบาทก็ตาม  แต่เรื่องอริยสัจจ์สี่หรือปฏิจจสมุปบาทนี้  ถ้าใครยังไม่เข้าใจมันจะแสดงอาการสลัว  มืดมัว  เข้าใจไม่ได้  อยู่ในรูปของปรัชญา

          สิ่งที่เรียกว่าปรัชญานั้น  เข้าใจไม่ได้  ไม่มีความแจ่มแจ้ง  ให้เด็ดขาดตลอดเรื่องไปได้  เพียงแต่สรุปว่าเป็นมิติอันใดอันหนึ่ง  เมื่อพอใจแล้วก็ยึดถือไว้  รักษาไว้ปฏิบัติเท่านั้น  ไม่แสดงความแจ่มแจ้งชัดเจนเหมือนกับเอาก้อนดินมาใส่ฝ่ามือดูได้  แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์  มันก็ต้องมีความแจ่มแจ้งชัดเจน  เหมือนกับสิ่งที่เอามาใส่ฝ่ามือดูได้อย่างนี้

          เรื่อง อริยสัจจ์นั้น ถ้าศึกษาถูกวิธีแล้ว  มันจะเป็นวิทยาศาสตร์  ไม่เป็นปรัชญา  ว่ามัน ทุกข์คืออย่างนี้ๆ  เหตุให้เกืดทุกข์คืออย่างนี้ๆ  ความดับสนิทไม่มีทุกข์คืออย่างนี้ๆ  ต้องเห็นชัดอย่างนี้  ถ้าไม่ชัดอย่างนี้มันเป็นปรัชญา  ถ้าชัดอย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์  ฉะนั้น  จำเป็นอย่างยิ่ง  ที่จะต้องรู้จักสิ่งนี้มาตั้งแต่ต้น  โดยเฉพาะคือสิ่งที่เรียกว่า เวทนา  เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  "เราบัญญัติอริยสัจจ์สี่สำหรับบุคคลที่มีเวทนา" คือกำลังมีเวทนา เรื่องของอริยสัจจ์สี่มันจึงมีได้

          ตัวความทุกข์นั้นเป็นเวทนา  แล้วก็ต้องมีตัวเวทนานั้นมาดู  ว่ามันเป็นอย่างไร  ดูด้วยใจให้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร  แล้วมันมาจากอะไร  เห็นชัดเลย  ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น  ไม่ต้องเชื่อครูบาอาจารย์  ไม่ต้องเชื่อหนังสือหนังหา ตำรับตำรา  เพราะมองเห็นได้ด้วยตนเองว่า  ความทุกข์เป็นอย่างนี้  เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้  ทุกข์ไม่มีเป็นอย่างนี้  ทางให้ถึงความไม่มีทุกข์มันเป็นอย่างนี้  มันเห็นชัดเลย

          แม้จะแสดงออกไปให้ละเอียดถี่ยิบ  จนเป็นปฏิจจสมุปบาท  คือว่าตั้งแต่แรกเริ่มจนกว่าจะเกิดทุกข์  แยกออกเป็นตั้ง ๑๑ ตอน อย่างนี้  ก็เหมือนกัน   ถ้าเห็นชัดจะชัดอย่างเห็นวัตถุนี้  เห็นว่าทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างนี้ๆ เลย  เดี๋ยวนี้มันไม่มองเห็น  ฉะนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาท  เลยกลายเป็นเรื่องปรัชญาลึกลับไปหมด  อธิบายกันไปอธิบายกันมา  ในประเทศไทย  ประเทศพม่า  ลังกา  ก็ไม่รู้  เอาประโยชน์อะไรไม่ได้  ไม่มีความชัดเจนอะไรที่ไหน  เพราะมันไม่รู้  เพราะมันไม่เข้าใจ  มันเลยอยู่ในรูปปรัชญา  ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

          นี่เราค่อยๆ ศึกษากันไปให้เห็นชัดว่า  อริยสัจจ์ ๔  นี้ก็ดี  ปฏิจจสมุปบาท ก็ดี  มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์  สำหรับบุคคลผู้เห็นอยู่  เข้าใจอยู่  เห็นแจ่มแจ้งแทงตลอดอยู่  เดี๋ยวนี้มันผิด  มันมีการศึกษาผิดไปตั้งแต่ต้น  ตามหลักที่บอกแล้วว่า  ต้องเอาตัวจริงมาสำหรับศึกษา เช่น ความทุกข์นี้ต้องเอาทุกข์ตัวจริงมาสำหรับศึกษา  ถ้าเอาทุกข์ที่ไม่ใช่ตัวจริง  เอาทุกข์แต่ชื่อมาศึกษา  ไม่มีทางที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้  เป็นแต่ปรัชญาโง่ๆ  มืดๆ ต่อไปอีก

          ยกตัวอย่างข้อแรกที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  ความเกิดเป็นทุกข์  ความแก่เป็นทุกข์  ความตายเป็นทุกข์  อย่างนี้ เขามาอธิบายว่า  ความเกิดนั้นคือออกมาจากท้องแม่หรือได้อัตตภาพ  ได้ขันธ์  ได้อินทรีย์  อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไป  ว่าเกิดจากท้องแม่นั้น  แล้วก็อธิบายชราว่า  ผมหงอก  ฟันหัก  หูหนวก  หนังย่น  อะไรต่างๆเหล่านี้  ไปดูในนิเทสที่เขามีในพระคัมภีร์  อธิบายความตายว่า  มันเคลื่อน  มันตาย  มันเข้าโลงไป  หรือมันทิ้งซากไว้ที่นี่  อย่างนี้เป็นต้น

          ถ้าเอา ๓ อย่างนี้เป็นตัวชาติ  เป็นตัวชรา  ตัวมรณะแล้ว  ไม่มีทางที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า "ความทุกข์" แบบของอริยสัจจ์ได้  ความเกิด  ความแก่  ความตาย  อย่างนั้นมันมีอยู่ตามธรรมชาติ  ตามธรรมดาอยู่ทั่วไป  ไม่เป็นทุกข์  มันจะเป็นทุกข์ก็ต่อเมื่อไปยึด ว่า  ชาติของเรา  ความเกิดของเรา  ความแก่ของเรา  ความตายของเรา  เมื่อใดมันไปโง่ด้วยอวิชชา  ยึดถือตัวตน  ของตนเข้าที่อันใดอันหนึ่งแล้ว  มันก็จะยึดถือว่า "เรา"  ที่เกิดอยู่นี้เป็นชาติของเรา  แล้วเราต้องการจะเอานั่นเอานี่  มีนั่นมีนี่  เป็นนั่นเป็นนี่  นั้นแหละ "ชาติ"  อย่างนี้เป็นชาติฝ่ายวิญญาณ  ต้องใช้คำอย่างนั้น  คือชาติที่ถูกยึดถือว่าเป็นชาติของเรา

          ความเกิดจากท้องแม่  หรือความเกิดธรรมดานี้แหละ  ถ้าเรา ไม่ยึดถือว่ามันเป็นชาติของเรา  มันก็ไม่มีทุกข์  พอยึดถือว่าเป็นชาติของเรา  มันก็มีทุกข์

          ความชราก็เหมือนกัน  ชราแบบไหนๆ  ถ้ามันอยู่ไปตามธรรมดา  มันก็ไม่เป็นทุกข์  ไม่ได้เป็นทุกข์ตามความหมายของอริยสัจจ์  พอว่ามีอวิชชาในใจ  มีความโง่ในใจ  ยึดถือว่าชรานี้เป็นของเรา  แล้วเราเกลียดตัวชรานี้  มันก็เป็นทุกข์ทันที

          ความตายก็เหมือนกันอีก  ความตายเข้าโลงนั่นแหละ ถ้ามิได้ยึดถือ  ว่าความตายนี้ของเรา  เป็นความตายที่จะมีแก่เรา  หรือไม่เกี่ยวกับเราแล้ว  มันไม่เป็นทุกข์  เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรุปไว้ว่า  "สง.ขิเตน  ปญ.จุปาทานก.ขน.ธา ทุก.ขา" เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน  ยึดมั่น  ถือมั่น  ว่าเราว่าของเรานั้นเป็นทุกข์

          นี่ดูให้ดี  ฟังดูให้ดี  เบญจขันธ์ธรรมดานี้ไม่ใช่ทุกข์  ไม่เป็นทุกข์    ขันธ์เฉยๆ ไม่เป็นทุกข์ต้องอุปาทานขันธ์  คือขันธ์ที่กำลังยึดถือ  ว่าเราว่าของเรา  นั่นจึงจะเป็นทุกข์  จำไว้ให้ดีว่า  คำว่า "ขันธ์" กับคำว่า "อุปาทานขันธ์" นี้  ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

          ขันธ์  ขันธ์ ๕ นี้ เมื่อกำลังไม่ได้ถูกยึดถือด้วยอุปาทานแล้ว ไม่เป็นทุกข์  มันเกิดอยู่ได้ตลอดเวลาเหมือนกัน  แต่พอมันปรุงไปถึงขนาดว่ายึดถือเป็นเรา  เกี่ยวกับเรา  มันจะเป็นทุกข์ทันที  ฉะนั้นคำว่า ความเกิด  ความแก่  ความตาย  ก็เหมือนกัน  ถ้าไม่ถูกยึดถือว่าของเรา  ก็ไม่เป็นทุกข์

          ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  ความเกิดเป็นทุกข์  ความแก่เป็นทุกข์  ความตายเป็นทุกข์  หมายความเอาเมื่อถูกยึดถือแล้ว  ทำไมไม่แถมคำว่า "ถูกยึดถือแล้ว"  เข้าไป?  ก็เพราะว่า  ตามธรรมดาคนทุกคนในโลกนี้  ยังเป็นคนโง่  ยังเป็นปุถุชนอยู่  จะต้องยึดถือความเกิด  ความแก่  ความตาย  ว่าเป็นของเราทั้งนั้น  ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสแต่เพียงว่า  ความเกิด  ความแก่  ความตาย  เป็นทุกข์  เพราะว่าถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น  มันไม่มีความหมายเป็นความเกิด  แก่  ตาย ของใคร  ปุถุชนนั้นยังยึดถือ  เพราะฉะนั้น  ปุถุชนจึงกลัวทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับความเกิด  ความแก่  ความตาย

          ทีนี้เพื่อจะให้เข้าใจ  จับฉวยได้ง่ายเข้า  ผมจึงผูกคำพูดขึ้นมาให้ฟังง่ายๆ ว่า "ปัญหาที่เกี่ยวกับ  ความเกิด  ความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  นั้นแหละเป็นตัวทุกข์"  คำว่า  "ปัญหา"  นี้มิใช่คำถาม  ปัญหาคือสิ่งที่ทำความยุ่งยากลำบากให้แก่จิตใจ ที่เกิดมาจากการที่จะต้องเกิด  ต้องแก่  ต้องตายนี้  มันเป็นทุกข์  เมื่อเรายึดถือว่าชาติ เราอยากจะเกิดอยู่  เราก็ไม่อยากตาย  ทั้งนั้นแหละ  แล้วเราจึงกลัวตาย  เราจึงเป็นทุกข์  เราก็ไม่อยากแก่  เมื่อไม่ยึดถือความแก่เข้า  มันก็กลัวความแก่  ความแก่นั้นก็ทำให้เป็นทุกข์  ถ้าเข้าใจที่พูดมาแล้ว  จะเข้าใจได้ทันทีว่า  ความเกิด  ความแก่  ความตาย ที่ถูกยึดถือว่า "เรา" หรือว่า "ของเรา"  นั้นแหละจะเป็นทุกข์

 

          ทีนี้เราไม่ได้เอาตัวความเกิด  ความแก่  ความตาย ที่กำลังยึดถืออยู่นั้น มาเป็นวัตถุสำหรับศึกษา หูของเราได้ยินว่า : ความเกิด ความแก่ ความตาย อธิบายไว้อย่างนั้น  เราก็ไปเอาเท่าที่ได้ยิน  หรือในหนังสือ  หรืออะไรมาศึกษา  ทำอย่างนี้จนตาย  ก็ไม่ใช่เรื่องอริยสัจจ์  ไม่เป็นเรื่องอริยสัจจ์เกิดขึ้น  ไม่ได้ศึกษาอริยสัจจ์  เพราะว่าเรื่องอริยสัจจ์ เขาพูดกันถึงเรื่อง ความเกิด ความแก่ ความตาย  ที่ถูกยึดถือ  ว่าตัวเรา ว่าของเรา คือรวมอยู่ในคำว่า : สง.ขิเตนปญ.จุปาทานก.ขน.ธา  ต้องเอาอันนั้นมาศึกษา

          เราจึงต้องเอาปัญหาเกี่ยวกับความเกิด  ความแก่  ความตาย ในตัวเราจริงๆ ในความรู้สึกของเราจริงๆ มาเป็นตัววัตถุสำหรับศึกษา  สิ่งที่จะมาเป็น Object  นั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวัตถุสิ่งของ มันเป็นอะไรก็ได้ที่ใช้เป็น object สำหรับศึกษา  เมื่อใดเรากำลังมีทุกข์  มีทุกข์หนักอยู่ด้วยความยึดถือในความเกิด  หรือทุกข์หนักอยู่ด้วยความยึดถือในความเกิด  หรือทุกข์หนักอยู่ด้วยความยึดถือในความแก่  หรือทุกข์หนักอยู่ด้วยความยึดถือในความตาย  ทั้งๆ เรายังไม่ทันตายเลย  แต่ยึดถือแล้วมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน  ฉะนั้นให้เอาความรู้สึกเป็นทุกข์อันนี้มาเป็นตัวศึกษา  ทำอย่างนี้แหละจะมีอริยสัจจ์  แล้วจะเป็นการศึกษาอริยสัจจ์อย่างวิถีทางของวิทยาศาสตร์  ซึ่งเอาตัวจริง ของจริงมาดู  มาเห็นกันเถอะ

          ถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็เป็นปรัชญา  คือคำนวณเอาตามที่ได้ยินได้ฟัง ว่าความเกิดมันต้องเป็นทุกข์แน่  ความเจ็บมันต้องเป็นทุกข์แน่  ความตายมันต้องเป็นทุกข์แน่  หรือเอาตามที่ว่า  เมื่อไม่สบายมันก็เป็นทุกข์ ความแก่มันก็เป็นทุกข์ อย่างนี้มันเป็นทุกข์ทางวัตถุ  ทางร่างกาย มันก็ไม่ถูกเพราะว่า  ถ้าไม่ยึดถือ มันไม่เป็นทุกข์ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว  จะไม่ยึดถือความเกิด ความแก่ ความตายนี้ แม้ร่างกายมันจะแก่  จะตาย  มันก็ไม่มีความทุกข์  แต่ปุถุชนคนธรรมดาเที่ยวยึดถือไปหมด  ยึดถือกว้างไกลออกไปอีก มันก็เป็นทุกข์ไปหมดเหมือนกัน

          ถ้าเราจะศึกษาอริยสัจจ์ข้อที่หนึ่งว่า ความทุกข์ เรื่องความทุกข์ก็ต้องเอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โสกะ ปริเวทะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส  อย่างใดอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดอยู่จริง  กำลังยึดถืออยู่ ว่าเป็นทุกข์ของเรา  เราแค้นใจ เราร้อนใจ เราเหี่ยวแห้งใจ อะไรก็ตาม แล้วก็ไปยึดถือความรู้สึกนั้น  ว่าเป็นเรา  ว่าเป็นของเรา  หรือเรากำลังมีความรู้สึกนั้น  นั่นต้องดูให้ถูกตัวความยึดถือเสมอไป

          ความเจ็บที่ร่างกายนี้  ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์  ต่อเมื่อยึดถือจึงจะเป็นทุกข์  แม้จะเอามีดมาเชือดอย่างนี้มันก็เป็นเวทนาชนิดหนึ่ง  ซึ่งถ้ายึดถือ  ก็เป็นทุกข์ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์แต่ตามปกติคนจะยึดถือ คนโง่จะต้องยึดถือ คนปุถุชนจะต้องยึดถือ  คนธรรมดาจะต้องยึดถือ ฉะนั้นเลยเจ็บสองซ้อน  เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  คนโง่คนหนึ่งถูกยิงด้วยศรลูกหนึ่งแล้ว เจ็บแล้ว แล้วถูกยิงด้วยศรอีกลูกหนึ่ง ตามมาอีก  แล้วถูกอีก แล้วมันก็เจ็บอีก มันเป็นสองซ้อน แล้วมันจึงเจ็บเต็มที่  ถ้ายิงมาลูกหนึ่ง ถูก แล้วก็ยิงลูกทีหลังไม่ถูก มันก็เจ็บเพียงส่วนเดียว

          อธิบายว่า การที่ถูกมีดตัดเนื้อนี้มันก็เจ็บส่วนหนึ่ง  ทีนี้ถ้ายึดถือว่าเราเจ็บ ของเราเจ็บ  รู้สึกว่าเราเจ็บ ความเจ็บของเรา มันจะเจ็บเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง  ซึ่งส่วนหลังนี้มากที่สุด  ส่วนแรกนั้นเล็กน้อย  จะใช้คำว่า ไม่ระคายขนก็ได้คือมันไม่เผาหัวใจ  ถ้าเรายึดถือว่า นี้ความเจ็บของเรา เราถูกฟัน เราถูกฆ่า เราถูกอะไรแล้ว  มันก็เจ็บชนิดที่มหาศาล  นี่คือความต่างกัน  ระหว่างความเจ็บที่ถูกยึดถือ กับความเจ็บที่ไม่ถูกยึดถือ

          ความเจ็บที่ถูกยึดถือนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ในอริยสัจจ์สี่ของพระพุทธเจ้า  ในคำว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โสกะ ปริเวทะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส อย่างหนึ่งอย่างใดในชื่อเหล่านั้น  แต่ต้องยึดถือด้วย เช่นคำว่า ทุกข์ ทุกขะ ทุกข์ใจ โทมนัส ทุกขะรี้เป็นทุกข์กาย  โทมนัสเป็นทุกข์ใจอย่างนี้  ร่างกายถูกทำให้เจ็บ อย่างนี้ก็เป็นทุกข์กาย  แล้วก็ต้องยึดถือด้วย  มันจึงจะตรงตามคำว่าทุกข์ ในอริยสัจจ์สี่นั้น

          ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ยังโง่ ไม่สามารถจะเอาตัวทุกข์จริงๆ มาเป็นวัตถุสำหรับศึกษาแล้ว ก็ไม่อาจจะศึกษาพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ได้  ก็ได้แต่ศึกษาไปอย่างหลับหูหลับตา  อย่างคนเชื่อ อย่างมีความเชื่อ นี้ก็ไปอย่างหนึ่ง  ถ้าศึกษาคำนึงคำนวณไปตามเหตุผล ไม่มีตัวจริงมาแสดงจริงๆ นี้ก็เป็นเรื่องปรัชญาบ้าๆ บอๆ ไป  พูดได้มาก เรียนได้มาก นึกได้มาก แต่ไม่มีการดับทุกข์เลย  นี่เรียกว่าเรียนพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์  มันจึงจะเป็นพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า  ถ้าเรียนเรื่องเดียวกัน  แต่เรียนในรูปของปรัชญา  วิถีทางของปรัชญา  หรือสักแต่ว่าเป็นลัทธิแห่งความเชื่อ นี้เป็นไปไม่ได้  เป็นไปไม่ได้ที่จะถึงตัวพุทธศาสนาและดับทุกข์ได้  มันก็เป็นอะไร เปะๆ ปะๆ เล็กๆ น้อยๆ ไปอย่างนั้น  พอปลอบใจให้มีทุกข์น้อยลงหน่อยก็ได้  แต่ในที่สุดก็ต้องมีความทุกข์ต้องร้องไห้กัน  อะไรกันไปตามเดิม

          เราจะต้องรู้จักตัวทุกข์  คือความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น ในความรู้สึก ที่ถูกยึดถือว่าเป็นของเรานี้  ซึ่งรวมเรียกสั้นๆว่า เวทนา  มีชื่อใดบ้างในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องรู้จักสิ่งนั้นๆ  ในชื่อนั้นๆ อย่างถูกต้องตามตัวจริง  คือมีตัวจริงมาดูเลย ไม่ใช่มีแต่ชื่อ  เช่นว่า กิเลส ก็มีกิเลสจริงๆ มาดู  ว่าตัณหานี่ก็มีตัณหาจริงๆมาดู  ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด

          เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักสิ่งที่เราเรียกมันว่ากิเลส เพราะว่าเราไม่รู้จัก  แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า เวทนา  คืนก่อนได้พูดแล้วว่าทุกอย่างต้องตั้งต้นมาจากเวทนา  ต้องมีต้นตออยู่ที่เวทนา พอมีเวทนา  เป็นสุข ได้กำไร  นี้มันก็มีความโลภ  คือกิเลส, หรือมีความยินดี  หลงใหล คือกิเลส,  มีอวิชชา  คือความโง่  คือกิเลส, ก็แปลว่าสุขเวทนานั้นมันทำให้เกิดความโลภ ความหลง มันเกิดอนุสสัยที่เรียกว่า ราคานุสัย คือความเคยชินในการที่จะรัก จะโลภมากขึ้น

          ถ้าขาดทุนก็มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น  มันก็เกิดกิเลส คือโทสะ หรือโกรธะนี้  นี่เกิดกิเลสมาจากเวทนา  คือทุกขเวทนา  เพราะว่ามันขาดทุน  รู้สึกว่ากูขาดทุนแล้ว  มันก็เป็นทุกข์แล้ว  มันก็เกิดปฏิฆะ คือไม่ชอบ  เป็นความโกรธ เป็นความขัดแค้นในใจ  แล้วมันก็เพิ่มความเคยชิน  ที่จะเป็นอย่างนี้เข้าไปอีก  เข้าไปอีกทุกทีไป  เรียกว่า ปฏิฆานุสัย

          ถ้ามันมีเวทนา ที่เกิดมาจากความเสมอตัว  คราวนี้เสมอตัว มันก็ก่อโมหะ หรือความฉงน หรือความสงสัย หรือความหวังที่จะทำอะไรต่อไป  จะให้ได้กำไร

          เวทนาเกิดได้จากการขาดทุน  จากการกำไรและจากการเสมอตัว  อันหนึ่งเป็นสุขเวทนา  อันหนึ่งเป็นทุกขเวทนา  อันหนึ่งเป็นอทุกขมสุขเวทนา  แต่แล้วมันก็เป็นเวทนาเหมือนกัน  ต้องเอาเวทนานี้มาใส่ฝ่ามือดูเลย  นี้ใช้คำพูดอย่างภาพพจน์  มันเป็นนามธรรม  เอามาใส่ฝ่ามือดูจริงๆ ไม่ได้  แต่ว่าเราต้องรู้จักมัน  เหมือนกับเราเอาก้อนกรวดมาใส่ฝ่ามือดู  แล้วเราก็รู้เราเห็นชัดอย่างนี้

          ขอให้ไปสนใจกับสิ่งที่มันเป็นวัตถุอันแรก เป็นต้นตออันแรก  สำหรับศึกษาพระธรรม  ศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นตัวจริง  คือศึกษาโดยวิถีทางของสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์

          เอาละทีนี้ก็เป็นอันว่ายุติไว้ที่ตรงนี้ ว่าต้องมีเวทนามาสำหรับศึกษา ต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  เวทนามันมาจากการกระทบของอายตนะ ก็เลยต้องรู้ไปถึงสิ่งที่เรียกว่า "อายตนะ" อายตนะข้างใน เราเรียกว่า โลกข้างใน  อายตนะข้างนอก เราเรียกว่า โลกข้างนอก

          อายตนะข้างใน ที่เราเรียกว่า โลกข้างใน ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ๖ อย่างนี้ ที่มันอยู่ข้างในสำหรับจะรู้สึก  นี่เราเรียกว่าโลกข้างใน  อายตนะภายใน ๖ ที่เรียนนักธรรมตรีอยู่ทุกวันนี้ก็มี นี่เรียกว่าโลกข้างใน  อายตนะข้างนอก โลกข้างนอก ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์; รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์; ๖ อย่างนั้น  มันโลกข้างนอก

          รูป โลกข้างนอก ก็คู่กับตา ที่เป็นโลกข้างใน เสียงก็คู่กับหู จมูกก็คู่กับกลิ่น ลิ้นก็คู่กับรส สัมผัสผิวหนังก็คู่กับกาย  ความรู้สึกในใจก็คู่กับใจนี้  นี่โลกข้างนอกกับโลกข้างในนี้  มันจะเป็นต้นตอของสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ดังที่พระบาลีว่า เมื่อรูปกระทบกับตา หรือตากระทบกับรูป  ก็จะเกิดจักขุวิญญาณขึ้น  คือวิญญาณทางตาเกิดขึ้น  นี่การประจวบกันของสิ่งทั้ง ๓ นี้คือ ตากับรูป กับจักขุวิญญาณ ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ การประจวบกันของของ ๓ อย่างนี้  เรียกว่า "ผัสสะ" ผัสสะในความหมายทางภาษาธรรมมะ คือ ผัสสะ ทางจิต ทางวิญญาณ

          เมื่อมีผัสสะ เข้าแล้ว ไม่ต้องสงสัย จะต้องมีเวทนา : มีเวทนาที่พอใจ ก็เรียกว่า สุขเวทนา เวทนาที่ไม่พอใจก็เรียกว่าทุกขเวทนา ที่เป็นกลางๆ ก็เรียกว่าอทุกขมสุขเวทนา  นี่เวทนานี้จะเป็นตัวร้ายกาจ  เป็นตัวอะไร ทุกอย่างทุกสิ่งที่มันจะทำให้เกิดความทุกข์  พอถูกยึดมั่นจะเกิดรู้สึกเป็นทุกข์ทันที  ถ้าไม่ยึดมั่นมันก็เป็นเวทนาที่ไม่มีความทุกข์ ที่มันจะเลือนลางหายไป

          สมมุติว่าเราเห็นดอกไม้สวยๆ อย่างนี้  หรืออะไรสวยก็ตามใจ  ให้มันสวยก็แล้วกัน ถ้าเห็นแล้วแล้วไป มันก็ไม่มีเรื่อง มันเป็นเวทนาที่ไม่ถูกยึดถือ ทีนี้ถ้าว่ามันสวยแล้วก็ยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่ง  เป็นเวทนาที่ถูกยึดถืออย่างนี้  นี้ต้องเป็นทุกข์ ต้องเป็นเวทนาที่ทำให้เกิดกิเลส  และเกิดทุกข์ เมื่อตาเราเหลือบไปเห็นอะไรสวยนั้นน่ะ  มันก็ยังมีทางที่ว่า จะแยกกัน  ว่าจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ  เพราะบางเวลาเราเห็นดอกกุหลาบสวยดอกหนึ่ง มันก็เฉยของมันได้ แต่บางเวลา เราคิดมาก คิดหลายอย่าง คิดไปในทางยึดถือ จะเอา จะเป็น จะเข้าไปเกี่ยวข้อง ในฐานะเป็นตัวกู  ของกู  นี้มันก็ต้องเป็นทุกข์แล้ว  ทีนี้ไม่ใช่เห็น  ดมมันเลย  ว่ามันหอม  หรือไม่หอม  ไปดมมันเลย  ถ้ามันเป็นกุหลาบที่หอม มันก็ต้องมีเวทนาทางจมูก  ทางฆานะสัมผัสนี้  หอมเฉยๆ ก็แล้วไป แต่ถ้าหอมแล้วยึดถือ คิดอย่างนั้นอย่างนี้  มันก็ต้องเป็นเวทนาที่ถูกยึดถือ  แล้วก็จะต้องเป็นทุกข์

          ต้องพยายามศึกษาวัตถุอย่างนี้  วัตถุของเรื่อง ตัวเรื่อง อย่างนี้  ให้เข้าใจเสียก่อน  ให้รู้จักเวทนา  ที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรืออทุกขมสุข  ที่เกิดขึ้นจากการสัมผัส  ทางตาบ้าง  ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง จนเข้าใจแจ่มแจ้งดีว่าเป็นอย่างไร  ในวันหนึ่งๆ อันไหนยึดถือแล้วเป็นอย่างไร  อันไหนไม่ยึดถือแล้วเป็นอย่างไร  ด้วยตา  ด้วยหู  ด้วยจมูก  ที่มันจะมองเห็น  หรือจะได้ยิน  หรือได้ดมอยู่ ทุกวันๆ นี้ บางทีของสิ่งเดียวกันนี้  ดอกไม้ดอกนี้ หรืออะไรอันนี้ เห็นคราวหนึ่งไม่ได้ยึดถือเลย  เห็นอีกคราวหนึ่งยึดถือเอาเป็นเอาตาย  นี้มันแล้วแต่สิ่งแวดล้อม หรือเหตุปัจจัยอย่างอื่นหลายอย่าง  ฉะนั้นเราจะต้องศึกษาจนให้รู้ว่า ที่ถูกยึดถือนั้นคืออย่างไร  ที่ไม่ยึดถือนั้นคืออย่างไร  แล้ววัตถุที่ถูกยึดถือ กับวัตถุที่ไม่ถูกยึดถือ มันต่างกันอย่างไร  อันไหนมันเกิดเป็นไฟขึ้นมาเผาจิตใจของเรา ส่วนอันไหนมันไม่มีอะไร มันเฉยไปตามเดิม 

          โลกข้างนอกทุกอย่างมันจะมีอะไร  มันจะมีกี่ร้อย กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านอย่าง มันสรุปอยู่ในคำ ๖ คำ ว่า : เป็นสิ่งที่เห็นด้วยตา สิ่งที่ดมได้ด้วยจมูก ที่ได้ยินได้ฟังทางหู  แล้วรู้รสได้ด้วยลิ้น แล้วรู้ได้ด้วยสัมผัสผิวหนังทั่วทั้งตัวนี้  หรือว่ารู้ด้วยใจคิดนึกนี้ ในโลกนี้มันมีมากมายหลายล้าน และไม่รู้ว่ากี่ล้านล้านสิ่ง  แต่มันสรุปเหลือเพียง ๖ สิ่ง เท่านั้น ข้างในก็เหมือนกัน  มันต้องมี ๖ สิ่งเท่ากัน  จึงจะเป็นคู่รับอารมณ์เหล่านั้นได้ครบถ้วน  ทั้งหมดนี้เพื่อเกิดสิ่งสิ่งเดียว คือ เวทนา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นอทุกขมสุขบ้าง


          คำเหล่านี้เคยได้ยินแล้วทุกคน  เชื่อว่าเคยได้ยินได้ฟัง ได้เรียนในโรงเรียน ในอะไรแล้วทุกคน เชื่อว่าได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ไม่เชื่อว่าจะเข้าใจ  แล้วก็ยิ่งไม่เชื่อว่า จะรู้จักสิ่งเหล่านี้ดี  มันเพียงแต่เรียน แล้วก็จำได้ แล้วก็พูดได้ เทศน์ได้ นี้มันก็ไม่พอ  มันเป็นนกแก้วนกขุนทองไปเท่าไรก็ได้  นี่เรียกว่า  ยังไม่ได้เรียนพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์  เรียนอย่างบ้าๆ บอๆ นกแก้วนกขุนทองพูดได้  เทศน์ได้ไปอย่างนั้น


          ถ้าจะเรียนกันอย่างวิทยาศาสตร์  ก็ต้องเรียนกันอย่างที่เขาเรียกว่า  ทำกรรมฐาน  ทำวิปัสสนา  ทำอะไรอย่างนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ  ทำกรรมฐาน  ทำวิปัสสนาบ้าๆ บอๆ ไปตามแบบอย่างนั้นก็มี  ทำกรรมฐานก็ต้องหมายถึงการทำกรรมฐาน  ทำวิปัสสนาที่ถูกต้อง ที่มันตรงตามที่มันเป็นจริงนี้ : ว่าเวทนาเป็นอย่างไร นี่ก็ต้องรู้จัก ให้เกิดความยึดถืออย่างไร ก็ต้องรู้จัก แล้วเกิดทุกข์อย่างไร ก็ต้องให้รู้จัก


          ถ้าว่าเป็นรายละเอียดกัน  ก็ต้องว่าตามหลักของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง มีว่า : ถ้าตากระทบรูป เป็นต้น เกิดจักขุวิญญาณ  ความประจวบเหมาะของสิ่งทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า ผัสสะ  เมื่อมีผัสสะ  แล้วก็มีเวทนา  มีเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเกิดตัณหา  คือความอยากชนิดใดชนิดหนึ่ง  กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหาก็ตาม  ความอยากชนิดใดชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับเวทนานั้นแหละ เวทนานั้นมันให้เกิดตัณหาอย่างนี้  ตัณหานี้เมื่อมีรู้สึกอยาก  แล้วจะมีอุปาทาน  คือตัวกูนี้เป็นผู้อยาก  ผู้ต้องการ  นี่เรียกว่า ตัณหาให้เกิดอุปาทาน  อุปาทานให้เกิดภพ  คือตัวกูชนิดหนึ่งขึ้นมาแล้ว  พอมันเต็มที่ก็เรียกว่าชาติ  คือตัวคนนั้น ที่เกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนั้น  คือมีความรู้สึกอย่างนั้น  กำลังยึดถืออะไรอยู่นี้


          นี้ปัญหาเรื่องชาติมันก็เกิดขึ้น  การเกิดมาจากท้องแม่ มันไม่หยุดอยู่เฉยๆแล้ว  มันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา  คือเป็นความทุกข์ขึ้นมา  ทีนี้ความชรามันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา  เราไม่อยากแก่  เราไม่อยากตายไปจากสิ่งที่กำลังรัก  กำลังหลง กำลังยึดถือ  หรือว่าถ้าตัณหามันเป็นไปในทางกลับตรงกันข้าม คือวิภวตัณหา มันก็อยากตาย  ไม่ชอบสิ่งที่เรียกว่าความเกิด  ความแก่ แล้วมันก็อยากตาย อย่างนี้เป็นต้น


          ตัณหานั้นได้แยกไว้ถึง ๓ อย่าง คือ : กามตัณหา ตัณหาในทางกามารมณ์  ภวตัณหา  ตัณหาในทางที่จะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  แล้วก็วิภวตัณหา  ตัณหาในทางที่จะไม่เป็น คือไม่อยากจะอยู่ ไม่อยากจะมี ไม่อยากจะเป็น อยากจะไม่มี  อยากจะไม่เป็น  เช่น อยากตายเป็นต้น  นั้นก็เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น  แม้จะคนละแบบ  คนละแบบ  คนละแบบก็เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น


          แต่ถ้าพูดลัดๆ  สั้นๆ  เร็วๆ  อย่างในเรื่องอริยสัจจ์สี่  อย่างที่เรียนกันอยู่ในชั้นต้น  ขั้นแรกเรียนก็ว่า พอมีตัณหาก็เกิดทุกข์  พูดอย่างนี้เลย  ทุกข์เกิดมาจากตัณหา  ตัณหาก็มาจากผัสสะทางอายตนะ  เกิดเวทนา เกิดตัณหา  แล้วก็เกิดเป็นทุกข์ นี่พูดรวบรัดสั้นๆ อย่างนี้  อย่างในเรื่องอริยสัจจ์ก็ว่า  ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์  นี่พูดสั้นเพียง ๒ สิ่ง หรือ ๒ คำ เท่านั้น  แต่ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท มันขยาย ๒ คำนี้  ออกไปเป็น ๑๑ คำ  มันก็เท่ากันเท่าเดิม  เพียงแต่พูดให้มันละเอียด  ให้คนที่อยากจะศึกษาอย่างละเอียดได้เห็นชัดเข้า

ขอบคุณสำหรับแสงสว่างในกระทู้นี้ค่ะ ถือวิสาสะก๊อปปี้รูปวาดท่านพุทธทาสไปด้วยนะคะ ขออนุญาต และ กราบขอบพระคุณค่ะ บุญรักษา-ธรรมะคุ้มครองท่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท