กระจายอำนาจอย่างไรจึงจะไม่เละเทะ


ต่อให้เขาบริสุทธิ์ใจเพียงใดแต่ถ้าขาดความรู้-ประสบการณ์ที่เพียงพอ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำสิ่งเพี้ยนๆให้เกิดขึ้นได้เสมอ

    กลับบ้านที่ไชยาเที่ยวนี้มีเรื่องดีๆที่ปฏิบัติต่อกันในหมู่ญาติและมิตรสหายหลายเรื่อง  ความอบอุ่น  ความมีน้ำใจยังอุดมสมบูรณ์เต็มที่  แต่ก็มีบางเรื่องที่ทำให้ต้องฉุกคิด และยังหาคำตอบที่ลงตัวไม่ได้  เป็นเรื่องของสาธารณชนครับ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

    เรื่องแรกได้แก่เรื่องการทำมาหากินและเสวยประโยชน์อันมิชอบในหมู่นักการเมืองระดับท้องถิ่น พวกอบต.ทั้งหลายนั่นแหละครับ  ได้ฟังเรื่องซ้ำๆเกี่ยวกับการ แบ่งกันกิน อยู่เสมอ  รวมไปถึงการใช้อำนาจ อิทธิพลเพื่อข่มเหง เบียดเบียนชาวบ้าน .. ขอไม่ลงรายละเอียดครับ  แต่ก็มักไม่พ้นประเภทก่อสร้างโน่น  ต่อเติมนี่  วางแผนของบประมาณมาทำอะไรบางอย่างพร้อมๆกับวางแผน จัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ที่ไม่ค่อยสะอาดให้กันในหมู่พวกของตัวในลักษณะที่ผู้คนทั่วไปรับรู้ได้ไม่ยาก  แต่ไม่อยากให้ชีวิตต้องเสี่ยงหรือพบความลำบากก็เลย "ไม่พูดดีกว่า" อำนาจที่กระจายออกไปสู่ท้องถิ่นก็เลยกลายเป็นอำนาจที่เอื้อผลประโยชน์อันมิชอบให้แก่กลุ่มคนที่อ้างว่าอาสาเข้ามาทำงานเพื่อชุมชนครับ

    ที่ผมว่ามาทั้งหมดน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วแผ่นดิน มากบ้าง น้อยบ้าง  และเชื่อว่าที่เขาทำดีด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน  คำถามก็คือ ทำอย่างไร การกระจายอำนาจจึงจะไม่เป็นการกระจายโอกาสให้เกิดการโกง กิน กัน อย่างที่ผมได้รับรู้มา

    อีกกรณีหนึ่งขอยกตัวอย่างของจริง ตรงๆมาเสนอเพื่อให้เกิดความคิด เพื่อการแก้ไข และป้องกันครับ  งานนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการหาประโยชน์โดยมิชอบของใคร  แต่ผลที่ปรากฏผมว่าเสียหายยิ่งใหญ่  และน่าจะเพราะเรื่องการกระจายอำนาจเช่นเดียวกัน 

    ผมไม่สบายใจทุกครั้งที่กลับบ้านเกิดที่ไชยา  แล้วพาหลานไปวิ่งเล่นที่ชายหาดแหลมโพธิ์ที่พุมเรียง  ปกติแล้วทะเลแถวอ่าวบ้านดอน  รวมมาถึงแถวไชยานั้น  ชายฝั่งจะเป็นดินเลน มีป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา ที่สมบูรณ์มาก แต่ก็ได้อย่างเสียอย่างครับ  คือแถบนั้นเราจะไม่ค่อยมีหาดทรายสวยๆ เพื่อการลงเล่นน้ำทะเลอย่างที่อื่นๆ  เช่น ประจวบฯ ชุมพร  สมุย นครฯ หรือสงขลา  แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ไชยา เรามีหาดที่แหลมโพธิ์ ซึ่งหลายปีก่อนมีการสร้างสะพานให้รถวิ่งข้ามปากแม่น้ำไปถึงชายหาดได้โดยสะดวก  ไม่ต้องล่องเรือมาจากตลาดพุมเรียงอย่างที่พวกผมเคยทำเมื่อสมัยต้องไปอยู่ค่ายพักแรม ตอนเรียนลูกเสือเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม  ตอนนั้นเราอึดกันไม่น้อย  เดินเท้าจากไชยาไปพุมเรียงราว 8 กม. แล้วล่องเรือต่อเพื่อไปค้างแรมบนแหลมโพธ์ 1 คืน  แหลมโพธิ์ตอนนั้นมีหาดทรายขาวสะอาด  ทอดยาวไกลให้เราได้วิ่งเล่น ไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือบ้านเรือนผู้คน ยกเว้นบ้านชาวประมงที่อยู่ริมฝั่งสองสามหลังเท่านั้น 

    กาลเวลาผ่านไป  ความสะดวกสบายของถนนหนทาง และการสร้างสะพาน ทำให้คนไปถึงแหลมโพธิ์ได้โดยง่าย จึงได้มีการปรับปรุงบริเวณ มีการสร้างอาคาร ร้านค้า ร้านอาหารให้เห็นระเกะระกะอยู่ทั่วไป  มีการสร้างที่อาบน้ำ มีห้องสุขา  มีสวนหย่อมที่ดูเหมือนร่องรอยของความหวังว่าอยากทำให้สวยงาม  มีสายไฟ สายโทรศัพท์ที่เดินไว้อย่างน่ารำคาญสายตา เชื่อมโยงระหว่างเสาไฟฟ้า ที่ปักขนานไปตามถนน ตามแนวชายหาดนั่นเอง  ที่ร้ายที่สุดคือการเปิดตลาดนัดขนาดใหญ่บนพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง บนพื้นดินที่ฝุ่นคลุ้ง ดูไกลๆเหมือนค่ายอพยพ  ระเกะระกะไปด้วยผ้าพลาสติก กันแดดที่ทำเป็นหลังคา ใช้เชือกขึงและปักหมุดกับพื้นดิน  สูงๆ ต่ำๆ อยู่เต็มบริเวณ  บดบังทัศนียภาพชายฝั่งได้หมดจดจริงๆ .. อย่าว่าผมปากเสียเลยครับ .. มันไม่ควรจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เลย

     จากสภาพแหลมโพธิ์ที่ได้เปลี่ยนจากสวยงามในอดีต มาเป็น เละเทะในปัจจุบัน  ผมเดาเอาว่าส่วนสำคัญน่าจะเป็นเพราะการกระจายอำนาจเช่นกัน  กระจายอำนาจไปให้อบต.ทำกันเองใช่หรือไม่  แล้วภาพรวมเกี่ยวกับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวของทั้งจังหวัด เป็นอย่างไร มีคณะไหนดูแลหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมยังไม่รู้  แต่ถ้าปล่อยอิสระให้แต่ละอำเภอ แต่ละอบต. ไปคิดละเลงกันเองอย่างอิสระล่ะก็  ผมว่าไม่เข้าท่า  เพราะต่อให้เขาบริสุทธิ์ใจเพียงใดแต่ถ้าขาดความรู้-ประสบการณ์ที่เพียงพอ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำสิ่งเพี้ยนๆให้เกิดขึ้นได้เสมอ  ทำไปโดยความตั้งใจดี  แต่ไม่มีความรู้  สุดท้ายเราก็ต้องสูญเสียสิ่งดีๆ สิ่งสวยงามไปอย่างน่าเสียดาย ...

  • แหลมโพธิ์เป็นสมบัติของคนพุมเรียง  หรือเป็นของคนไทยทั้งประเทศ 
  • จะทำแหลมโพธิ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ร่มรื่น สะอาด สะดวก สบาย ได้อย่างไร 
  • ใครควรเป็นผู้กำกับดูแล หรือจะปล่อยให้เขาทำกันในกลุ่มเล็กๆ ตามยถากรรม

    สรุปก็คือผมอยากถามรวมๆว่า กระจายอำนาจอย่างไรจึงจะไม่เละ  นั่นเอง .. ครับผม ... อิ อิ อิ

หมายเลขบันทึก: 256190เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2009 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ปัญหาเหล่านี้คงเจอะเจอกันไปทั่วแล้วละมังคะ ไม่เฉพาะแต่ที่ไชยา
  • จนหลานสาวที่บ้านป้าแดงก็บ่นว่า บ้านเราไม่น่าอยู่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
  • ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

กราบเรียน ท่านพี่ ต้องปลุก และ ปลูก จิต สำนึก ที่ ตัวเจ้าของ อะ ท่าน

กระจายอำนาจให้ผู้ที่หิวโหยอยู่ มันก็ตกถึงท้องถิ่นหรือประชาชนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรอกท่าน

แต่ถ้าจะให้มองลึกลงไปอีก แล้วใครเลือกเขาเข้ามาพัฒนาท้องถิ่น

ก็ประชาชนที่นั่นแหละท่าน ในเมื่อประชาชนตรงนั้นไม่เดือดร้อนที่จะสำนึกรักษ์

สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว แล้วจะให้ใครที่ไหนไปรักษา

ผู้นำท้องถิ่นคือตัวจักรสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น

ท่านเลือกอย่าไรก็ได้อย่างนั้น นี่คือสัจจธรรม

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะท่านอ.

...

ปูก็สงสัยเหมือนกันค่ะ รวมไปถึง หลักเกณฑ์หรือปัจจัยอะไรบ้าง ในการการกระจายงบประมาณ การลงโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละจังหวัด

น่าจะพิจารณา ปรับเปลี่ยน ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ไม่ใช่ดูเฉพาะจำนวนประชากร ขนาดพื้นที่ เท่านั้น   

นี่ยังไม่รวม การพัฒนาที่เน้นลงงบ แต่ไม่คำนึงถึงผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีก มากหลาย

สงสัยว่า ถึงคราต้องปรับเปลี่ยนใหญ่อีกแล้วนะคะ :) เพราะกลไกการเมืองระบบเก่าที่ผ่านมา มีอะไรๆ ที่ลึกๆ ที่เราปชช. ตาดำๆ ไม่รู้อีกมากมายเลยนะคะ :) หุ หุ

แต่รู้สึกว่า จะเริ่มๆ โผล่ๆ มาเมื่อไม่นานนี่เองค่ะ :) เดี๋ยวก็คงได้กระจ่างกัน แบบไม่น่าเชื่อ :)

"""

 

ในทางกายภาพ แก้ได้ไม่ยากครับ

แต่ในทางค่านิยมจิตสำนึกนั้น  ยากยิ่งเหลือทนครับ  สำคัญคือ คนเราไม่ค่อยตระหนักว่า เป็นเจ้าของร่วม..

ครับ ถนนนำพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนและผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้  แต่นั่นก็หมายถึงความสะดวกสบายที่เราโหยหา  แต่จะดียิ่งหากเราใช้ความสะดวกสบายบนพื้นฐานที่พออยู่-พอเพียง

ขอบคุณครับ

...ต่อให้เขาบริสุทธิ์ใจเพียงใดแต่ถ้าขาดความรู้-ประสบการณ์ที่เพียงพอ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำสิ่งเพี้ยนๆให้เกิดขึ้นได้เสมอ...

หากไม่นับเรื่องความโลภ ประเด็นนี้เกิดขึ้นในทุกส่วน ทุกวง ของสังคมไทยนะคะอาจารย์ แม้แต่ในวัดวาอาราม

การกระจายอำนาจโดยปราศจากกรอบหรือแนวทางที่เป็นระเบียบเป็นผลเสียมากกว่าผลดี อย่างน้อยข้อกฏหมายน่าจะยังมีอยู่เพื่อให้สามารถเข้าไปจัดการได้ตั้งแต่แรกในขั้นวางแผนนะคะ แปลกใจที่ต่างประเทศเขาจัดการได้อย่างไร สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติของเขาจึงมีความใส่ใจธรรมชาติมากกว่าประเทศของเราเสียอีก

สวัสดีครับ

  • ขอบคุณ pa_daeng ... ใช่ครับเห็นอยู่ทั่วๆไป หลายพื้นที่เลย
  • ขอบคุณ ท่าน JJ ... ใช่ครับ ปลุก-ปลูกจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญ  แต่ที่หวั่นๆก็คือช่วยกันพัฒนาแบบรู้เท่าไม่ถึงการครับผม
  • ขอบคุณ คุณ จินตนา คงเหมือนเพชร ... เลือกเพราะเกรงใจ เลือกแบบไม่ต้องใช้ปัญญา ดูเหมือนว่าเป็นกันทั่วไปนะครับ
  • ขอบคุณ ครู poo ... เห็นด้วยว่า คงต้องปรับรื้อขนานใหญ่ครับ อะไรๆถึงจะดีขึ้นได้บ้าง
  • ขอบคุณ ท่าน ประจักษ์~natadee ... ใช่ครับ คุณธรรม จริยธรรม .. หากขาดไป พร่องไป  พัฒนาวัตถุอย่างไรก็ไม่พ้น ผลประโยชน์พวกที่มีอำนาจ
  • ขอบคุณน้อง แผ่นดิน ... ใช่ครับ ค่านิยม-จิตสำนึกนั้น  ยากยิ่งที่จะกู่กลับมาได้ทัน .. คนเราชินกับความง่าย
  • ขอบคุณท่าน คุณนายดอกเตอร์ ... ใช่ครับ ไม่เว้นแม้ในวัดในวา

สวัสดีค่ะ อาจารย์เป็นอย่าไรบ้างค่ะ

หนูก็เพิ่งกลับมาจากไชยา

ได้แวะไปแหลมโพธิ์มาค่ะ

ถ้าทุกภาคส่วนมีความร่วมมืออย่างใจจริง

คงเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์ที่สุดค่ะ

เรียนท่านอาจารย์

ชาวท้องถิ่น(อบต.)

ไม่มีความรู้ ประสบการณ์ไม่เพียงพอ น่าจะไม่ใช่ แต่ถ้ามองถึง ความอิสระในการใช้จ่ายงบประมาณแล้วอิสระจริงๆ

มีอิสระเฉพาะการใช้จ่ายเงินรายได้

แต่ถ้าเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐแล้ว มักจะมีวัตถุประสงค์ให้ใช้จ่ายตามนโยบายทั้งนั้น โดยไม่มองว่าปัญหาแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน

ดังนั้นท้องถิ่นที่ก้าวหน้าก็มักจะเป็นท้องถิ่นที่สามารถพัฒนารายได้ของท้องถิ่นนั้นๆ

ที่สำคัญ ผู้นำท้องถิ่นมาโดยประชาชนซึ่งส่วนมากไม่ได้เป็นนักพัฒนาตัวจริง แต่เป็นนักพัฒนาแบบญาติเยอะ(กระจายออำนาจให้....) นี่คือท้องถิ่น.

อาจารย์หนูมีบล๊อกแล้ว ววว ......เย้ ๆๆ

ขอบคุญอาจารย์นะคะที่แนะนำบล๊อกดี ๆๆ มีประโยชน์

มันแตกต่างจาก hi5 ตรงที่ มีแต่ปัญญาชน

อิอิ.........และหนูก้อจะแนะนำให้พ่อใช่

เพราะพ่อหนูก็เป็นครู เพื่อจะได้สิ่งดี ๆๆ จากเว๊ปนี้

หนูก๊มือใหม่ยังไม่ค่อยเข้าใจกับการใช้

ยังไงอาจารย์ก็ไปติติง แนะนำด้วยนะคะ

((กราบขอบพระคุณอย่างสูงส่งเลยค่ะ))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท