กราบสวัสดีงามๆ ญาติพี่น้องและท่านผู้อ่านที่ผ่านมาทุกท่านครับ
จากที่หายไปนานจนหลายๆ คนบ่นจนมาวันนี้คงบ่มอีกเรื่องมาบ่นครับ มีอยู่หลายเรื่องที่จะปล่อยออกทางบล็อกแต่ปล่อยออกไม่ทันครับ ตอนนี้กำลังรอเทคโนโลยีเบรนทูเท็กท์ (Brain to text) อยู่ครับ คือถ่ายความคิดในสมองลงเป็นตัวอักษรโดยไม่ต้องพิมพ์ อิๆๆๆ (ง่อยแน่ๆ ครับ)
หนึ่งช่วงสั้นๆ ที่กลับมาสัมผัสการศึกษาบ้านเราอีกครั้งครับ สิ่งที่ผมเห็นแปลกตาไปมากคือ สำนักติวหรือสำนักขุนสมองด้วยสูตรพิเศษต่างๆ เกิด ขึ้นมากมายในเมืองไทย จนเหลือเชื่อว่าต่อไปในอนาคตอาจจะต้องยุบมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนทิ้งเสีย บ้างเพราะสถาบันติวเกิดขึ้นเกลื่อนประเทศเหลือเกิน ติวกันตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ตอนแรกผมคิดว่าเค้าคงติวกันเพียงแต่ให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่นี่คือเรียนมหาวิทยาลัยแล้วก็ต้องเข้าสถาบันติวกันอีก ผมเลยไม่แน่ใจว่าเราสร้างคนถูกทางแล้วหรือไม่ นักศึกษาหรือนักเรียนหรือนักท่องจำ เราจะมีโอกาสสร้างนักฝัน นักจินตนาการ นักวิทยาศาสตร์กันอย่างไร หรือการติวที่เกลื่อนแบบนี้เป็นการจัดการทางการศึกษาที่ถูกต้องแล้ว? (น่าจะถึงเวลาที่ต้องทบทวน) ที่ผมบ่นแบบนี้ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะผมไม่เห็นว่าต่างประเทศจะมีสถาบันติวกันหนักขนาดนี้ ผมเห็นที่ต่างประเทศมีก็จะมีเพียงแค่ สถาบันสอนภาษา ดนตรี เต้นรำ อะไรทำนองนี้ ซึ่งการศึกษาที่แท้จริงคืออยู่ในโลกความจริง โลกแห่งการเรียนรู้ รัฐจะจัดให้สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งที่มีพร้อมในทางด้านการวิจัยการเรียน การสอน สร้างบรรยากาศให้น่าเรียน น่าค้นหา ค้นคว้าวิจัย แล้วหากในสถาบันการศึกษาไทยต้องสร้างเด็กหรือเพิ่มภาระให้เด็กต้องไปติ วเสริมเพิ่มแล้วคุณค่าขององค์กรการเรียนการสอนแบบประจำจะมีคุณค่าอย่างไรใน ตัวเอง หากถามว่าผิดไหมที่มีสถาบันติวเกลื่อนเมือง ตอบว่าไม่ผิดหรอกครับ ผมกำลังดูเรื่องค่าใช้จ่ายของการผลิตคนสักคนมันสูงมากๆ เลย แล้วผลิตออกมาแล้วคนส่วนใหญ่ก็ต้องไปเป็นลูกจ้างกันต่อไป
ผมไม่เคยพบสถาบันติววิชาคณิตศาสตร์ในเยอรมัน หรือหลายประเทศในยุโรป แต่ผมเจอเมืองไทยเกลื่อน หากมองกลางๆ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหรือมัธยมประถมฯ อาจจะไม่เพียงพอหรือ? หรือว่าหากไม่ไปติวเสริมเราไปสู้คนอื่นไม่ได้ ตกลงเราสร้างคนให้เกิดขึ้นมาเพื่อแข่งขันแย่งชิงโอกาสทางการศึกษากันหรือ แล้วโอกาสในอนาคตคนเราจะแข่งกันจนตายแน่ๆ นี่คืออีกจุดที่คนไทยมักจะทำงานร่วมกันไม่ได้ เพราะในกลุ่มก็มีแข่งกัน แต่หากแข่งกันเชิงสร้างสรรค์ก็จะเกิดผลดีเช่นกัน แต่หากส่วนใหญ่จะแข่งกันเพื่อเอาชนะแล้วเปิดใจแคบปัญหาอื่นก็ตามมาต่อ จะเป็นไปได้ไหมที่จะหากระบวนการเรียนรู้แนวทางใหม่ ให้เด็กเรียนได้ในห้องและนอกห้อง ให้สมดุล ประยุกต์ใช้ให้เกิดการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
อนุบาล … เรียนเพื่อให้ฝึกพูด กล้าคิด แสดงออก เขียนพื้นฐานทางอักษร
ประถม… ปูพื้นฐานการเรียน การฟัง พูด อ่าน เขียน จินตนาการ ให้สมดุล พร้อมที่จะต่อยอดในระดับที่สูงขึ้น ตลอดจนการปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมพื้นฐาน มีตรรกศาสตร์ในระบบคิดมีเหตุมีผล
มัธยม…เริ่มมีการมองแนวทางในการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐาน ปลูกจินตนาการต่อจากประถมฯ และเสริมพื้นฐานอาชีพให้พร้อมที่จะต่อยอดในสายงานต่างๆที่นักเรียนใฝ่ฝัน เน้นการทำงานเป็นทีม รักทีมงาน เข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันเป็นสำคัญ
มหาวิทยาลัย…
ป.ตรี …เรียนรู้ในสิ่งที่มีเชื่อมโยงรอบตัว สร้างสัมพันธ์ระหว่างหนังสือและโลกแห่งความจริงในตัวเอง ชุมชน และสังคมโดยรวมให้เกิด เรียนรู้ให้เข้าใจ ว่ามีอะไรอยู่บ้าง ตลอดจนการปูพื้นฐานให้ เรียนเป็น คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ในกระบวนการต่างๆ
ป.โท…เน้นเรื่องการนำความรู้ที่มีไปต่อยอดประยุกต์ใช้ให้เป็น ให้เหมาะกับงานกับบริบทปัจจัย คิดใหม่และเชื่อมโยงบทเรียนในระดับต่างๆ ได้ มองเห็นภาพรวมและภาพย่อย ตลอดจนการแยกย่อยและบูรณาการร่วมกันได้
ป.เอก…เน้นการบูรณาการทางความคิด ทฤษฏี ปฏิบัติผูกโยงเครือข่ายและเข้าใจธรรมชาติ เข้าถึงใจของสิ่งที่จะทำ เรียนรู้ นำไปใช้ คิดสร้างใหม่บนฐานรากของการแก้ปัญหานั้นๆ หรือคิดใหม่เพื่อวางแผนแนวทางในอนาคต ผูกโยงการวิจัยในทุกๆ ระดับได้ และเข้าถึงกลุ่มคนในทุกๆ ระดับได้ และลงสู่ปริญญาสามัญได้ตลอดเวลา
ที่ยกมาอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่เราอาจจะลองมาทบทวนดูว่า ในระบบการเรียนการสอนของเราทุกวันนี้ เป็นแบบไหน เราเน้นการศึกษาเชิงไหน เชิงพัฒนา เชิงธุรกิจ หรือเชื่อบูรณาการ หรืออื่นๆผสมกัน
การเรียนรู้แบบครูสอนศิษย์ แบบพี่สอนน้อง ยังมีอยู่ไหม แบบให้ฟรีๆ ให้ด้วยใจ ไม่คิดในเชิงธุรกิจ…… คิดแล้วสงสารลูกชาวนา ลูกกรรมกร เกษตรกรจริงๆ ครับ แค่โอกาสจะเข้าโรงเรียนปกติก็ยากอยุ่แล้วนะครับ จะให้ติวเพิ่มแข่งขันกันอย่างไร เรื่องนี้ใครจะทบทวน หากไม่ใช่เรา….
การศึกษา….ที่แท้จริงๆ แล้วมิใช่วัดที่ว่าจบปริญญาใดๆ เลย แต่เป็นการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และไม่ไปขัดต่อหลักทางธรรมชาติ การศึกษาจึงเป็นการเข้าใจเพื่อการอยู่ร่วมอย่างมีความสุข อยู่ร่วมแล้วอาจจะไม่เพียงพอแต่เป็นการคิดเพื่อวางแผนการการเกื้อกูลพึ่งพา อย่างยั่งยืน ดังนั้นการศึกษาในระดับภูมิปัญญาชาวบ้านก็เป็นการศึกษาที่แท้จริง เพราะศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบเพื่อตอบโจทย์ที่ต้องการแก้ไขจริงๆ ผลที่ได้คือการเรียนรู้ คำตอบเหล่านี้จึงสำคัญสำหรับการศึกษา
การสร้างกลไกเงื่อนไขต่างๆ มาบริหารจัดการระบบการเรียนรู้ทางธรรมชาติจึงจำเป็นต้องพิจารณากันให้ดีให้ เหมาะและสอดคล้องกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่นกัน ทุกอย่างใช้เวลาในการพัฒนาทั้งสิ้น …………
แล้วการศึกษาไทยเราละ จะเดินแบบไหน ตามแบบใคร อเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป หรือเดินตามการศึกษาแผนไทย นวดแผนไทยยังมีเลย แล้วใครจะกล้าร่างการศึกษาแผนไทยกันบ้าง ตอนนี้แม้การสะกดภาษาไทย ก็กลายพันธุ์ไปแล้ว จากที่เคยอ่านสะกดตามอักขระวิธีตอนนี้กลายพันธุ์ไปตามภาษาอะไรก็ไม่รู้……. จึงทำให้เกิดการศึกษาในแนวทางใหม่
สมองคนเราฉลาดเสมอหากฝึกให้เป็นระบบ…เอาขยะใส่สมอง สมองก็อืด เฉกเช่นเดียวกันกับคอมพิวเตอร์
จะเอาซีพียูที่มีขยะใส่เข้าไปก็อืดแน่ๆ อยู่ที่ว่าเราจะสอนใส่ตรรก เหตุผลลงไปอย่างไร แต่หากใส่ความขัดแย้งลงไป สมองก็มึนครับ
นี่คือเด็กในเมืองและเด็กต่างจังหวัดไม่ได้ต่างกันเลยในพื้นฐาน แต่ต่างกันที่หลักและระเบียบทางการเรียนรู้ ว่าผู้ให้และสร้างบรรยากาศวางแผนแนวทางในการเรียนรู้ให้เค้ามีฐานพอที่จะ คิดจินตนาการอย่างไร……
อื่นๆ โปรดร่วมพิจารณา แย้งและเสริมได้ตามอักขระวิธีครับ
ด้วยมิตรภาพนะครับ
เม้ง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย เม้ง สมพร ช่วยอารีย์ ใน มิสเตอร์ช่วย
สวัสดีครับ คุณเม้ง ผู้อารีย์ :)
สบายดีนะครับ ...
ก้อ .. ปริญญาในประเทศไทยสำคัญกว่าคุณค่าความเป็นคน นี่ครับ
จึงมีคนเลือกทุกอย่างให้ได้มา .. กวดวิชา คัดลอก คดโกง ทุจริตการสอบ
บันทึกนี้คุณเม้งได้เอากระบี่ที่อยู่ในมือเสียบเข้ากลางอกกระทรวงศึกษาฯ เท่านั้นเองครับ อิ อิ ไม่ตายครับ แค่ "กลางหัวใจ"
ขอบคุณครับ ชอบวิธีคิดอย่างจริงจัง :)