สุขภาพช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคทางระบบ (58) การตรวจเฝ้าระวังโรคในผู้สูงอายุ


 

แผนการตรวจเฝ้าระวังโรคในผู้ป่วยสูงอายุ

  • ปรึกษาแพทย์ประจำตัวผู้ป่วย เกี่ยวกับเรื่อง ข้อจำกัด และข้อควรระวังก่อนให้การรักษา
    ... ให้รู้ว่า คนนี้ มีข้อจำกัดในการทำฟันในเรื่องอะไรบ้าง ควรระวังอะไรบ้าง เช่น เคยทำ Bypass ทำ Balloon ก็อาจจะต้องระมัดระวังกับการที่จะให้ Antibiotics ต้องให้ Amoxycillin ก่อน Premed หรือ Clindamycin แล้วก็หลังจากนั้น เรื่องเกี่ยวกับการให้ Aspirin บางคนก็ให้กินยาป้องกันลิ่มเลือด กินยาก่อน 7 วันเป็นอย่างน้อย หรือ 5 วัน โดยที่ต้องมีส่วนของการห้ามเลือดเตรียมไว้ เช่น Gel foam, Surgicel, หรือการเย็บ หรือ Electro cautery (การจี้ด้วยไฟฟ้า)
  • พูดคุยกับญาติ เพื่อประเมินความร่วมมือ ในการให้การรักษาแบบ Home-care
    ... เพราะว่า ผู้ป่วยรักษาความสะอาดช่องปากตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งญาติเยอะ
    ... ถามว่า ถ้าเราทำให้เขาเชื่อได้ว่า เขาจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของญาติผู้ใหญ่ของเขา อยู่ได้อย่างมีความสุขต่อไปนี่ การร่วมมือของเขาจะทำให้เป็นการสร้างกุศลกับคนไข้ด้วย ต้องโน้มน้าว ต้องใช้วาทะศิลป์ ญาติบางกลุ่มจะร่วมมือดีมาก ญาติบางกลุ่มก็ไม่ร่วมมือเลย เฉยๆ เพราะว่าอยู่คนละบ้าน หรือทิ้งให้ผู้ป้วยสูงอายุอยู่คนเดียว
  • พูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อประเมินความสามารถในการสื่อสารและการให้ความร่วมมือ
    ... ถ้าพุดคุยแล้ว ผู้ป่วยสื่อสารรู้เรื่อง ตาไม่ได้บอด หรือหูไม่ได้หนวกมาก ใส่เครื่องก็ได้ยินได้ และพอจะให้ความร่วมมือ อย่าดูถูกความสามารถ ผมมีความรู้สึกว่า เขาสามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้ ทำความสะอาดช่องปากได้ดี ถ้าเราให้ความเอาใจใส่
  • เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาทางระบบ ควรมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินสภาวะของร่างกายก่อนได้รับยา
    ... ตรวจเลือดเสมอ เพราะไม่อย่างนั้น เราก็ไม่รู้ว่า ร่างกายของเขา จะรับยาที่เราให้ได้หรือเปล่า
  • ควรมีการขูดหินน้ำลายทั้งปากก่อนการตรวจช่องปากโดยละเอียด
    ... แนะนำในทุกรายไป เพราะว่าผู้สูงอายุที่เคี้ยวหมากมาตลอดชีวิต บางทีเรามองไม่เห็นฟันของเขา เราจะเห็นแต่หมาก เพราะฉะนั้น บางทีเขาอาจจะมีมะเร็งอยู่ เป็นมะเร็งที่เหงือก ที่ถูกหมากคลุมอยู่ การเอาหินน้ำลายออกก่อน จะช่วยได้เยอะในการตรวจรอยโรค
  • ถอนหรือรักษารากฟันที่มีการติดเชื้อ หรือกรอแต่งฟันที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก
    ... ถ้าทำได้ ทำ ถ้าผู้ป่วยไม่ไหว ให้พิจารณาถอนไว้ก่อน เพราะว่า ถ้าผู้ป่วยไม่ร่วมมือทีหลัง การลงแรงของเรามันจะปล่าวประโยชน์
  • ให้ทันตสุขศึกษา (Oral Hygine Instruction : OHI) โดยปรับเปลี่ยนวิธีการตามความเหมาะสม และเศรษฐานะของผู้ป่วยแต่ละราย
    ... ผู้ป่วยมีสตังค์ก็แบบหนึ่ง ผู้ป่วยไม่สตังด์ก็แบบหนึ่ง ผู้ป่วยมือใช้ได้ ก็แบบหนึ่ง ผู้ป่วยมือใช้ไม่ได้ก็อีกแบบหนึ่ง
  • ให้การรักษาโดยเรียงลำดับความจำเป็น รวมทั้งพิจารณาจากความต้องการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
  • Recall สม่ำเสมอ
    ... เรียกผู้ป่วยกลับมา ให้ญาติพามา ทักทาย พุดคุย สัมผัส

ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความเจ็บปวดของใบหน้า ซึ่งเกิดขึ้นได้จากผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะเกิดในข้างขวา มากกว่าข้างซ้าย และจะปวดแปล๊บๆ ... ภาษาอีสานบอกว่า ปวดเยี๊ยดๆ สิ่งหนึ่ง คือ กำแพงภาษาก็ข้ามไปได้ ปวดเยี๊ยดๆ ปวดมุ๊บๆ เช่น ปวดมุ๊บๆ ก็คือ ปวดตุ๊บๆ เหมือนตามชีพจรเต้น หรือถ้าคนไข้บอกว่า มีปัญหาเลือดออก ซี๊ดๆ ซิบๆ ต้องรู้จักนะครับ แบบที่ว่า มีเลือดออกแบบซิบๆ นิดหนึ่งออกมา ก็ต้องรู้ด้วย สำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะคำที่ไปแล้วคนกรุงเทพฯ จะตกใจก็คือ ตาคนหนึ่ง ตาเป็นอิหยัง เขี้ยวมันค่วย แปลว่า ฟันมันโยก ... ภาษาอีสาน ตาเขาก็พูดธรรมดาๆ นี่ละครับ ไม่ต้องตกใจ

เพราะฉะนั้น การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ

  • การสื่อสารกับผู้ป่วยให้เน้นสัมผัส ผมแนะนำว่า คนแก่ทุกคน ต้องการการสัมผัส แต่ไม่ใช่ล่วงละเมิดทางเพศนะครับ การสัมผัสนี้แปลว่า จับเพี่อ re-ensuring เพื่อให้เขาได้รู้สึกว่า เราอยู่กับเขา เราตั้งใจจะรักษาเขา จับมือก็ได้ และคุยกับเขาด้วยท่าทีนุ่มนวล และอย่าค้ำหัว เพราะจะทำให้เขารู้สึกด้อย และการได้ยิน สังเกตด้านที่เขาได้ยินด้วย ว่าเขาหันหน้าไหนมาหาเรา เราคุยกับเขาด้านนั้น
    ... เรื่องความจำเสื่อม อย่าโกรธเขานะครับ ถ้าเขาทำไม่ตรงกับที่เราบอก สิ่งที่เราจะต้องแก้ไข ก็คือ 1) ต้องบอกคนที่ดูแลเขา 2) หาทางติดป้ายว่า เขาจะต้องทำอะไรบ้าง ตามที่เราอยากจะให้เขาทำ
    ... ดูความสามารถในการใช้มือ ถ้ามือเขาสั่นมาก ทำไม่ได้ ถามว่า จะใช้แปรงสีฟันธรรมดาได้ไหมครับ ไม่ได้ อาจจะต้องหางบประมาณซื้อแปรงสีฟันไฟฟ้าให้เขา เพราะว่าแปรงสีฟันไฟฟ้าจะช่วยได้เยอะมาก ในแง่ของการทำความสะอาด
  • สื่อสารกับญาติผู้ป่วยให้ดี และ
  • สื่อสารกับแพทย์ให้เรียบร้อย

รวมเรื่อง สุขภาพช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคทางระบบ

 

หมายเลขบันทึก: 248337เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2009 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท